ฉบับแปลโลกใหม่ ฉบับปรับปรุงปี 2013
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการปรับปรุงคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ เป็นครั้งคราว แต่ในปี 2013 มีการปรับปรุงขนานใหญ่ ตัวอย่างเช่น ฉบับแปลนี้มีจำนวนคำภาษาอังกฤษน้อยลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับคำหลัก ๆ บางคำที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล และมีการปรับรูปแบบของบางบทให้เป็นลักษณะบทกวี นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มเชิงอรรถที่เป็นคำอธิบายในฉบับปกติด้วย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในบทความนี้ แต่ให้เรามาดูการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ บางอย่างด้วยกัน
มีการปรับคำหลัก ๆ คำไหนบ้าง? บทความก่อนได้พูดถึงการปรับคำว่า “เชโอล” “ฮาเดส” และ “จิตวิญญาณ” นอกจากนั้น ยังมีการปรับคำอื่น ๆ ด้วย
ตัวอย่างเช่น คำว่า “อดกลั้นไว้นาน” ปรับเป็น “อดทนอดกลั้น” เพราะคำว่า “อดกลั้นไว้นาน” ถ่ายทอดความรู้สึกของการทนทุกข์เป็นเวลานาน หรือคำว่า “การเลี้ยงเฮฮาอย่างเลยเถิด” ปรับเป็น “การเลี้ยงเฮฮาจนสุดเหวี่ยง” เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น (กลา. 5:19-22) นอกจากนั้น คำว่า “ความกรุณารักใคร่” ปรับเป็น “ความรักที่มั่นคง” ซึ่งให้ความหมายที่ถูกต้องกว่าและคำนี้มักใช้คู่กับ “ความซื่อสัตย์”—เพลง. 36:5; 89:1
คำบางคำที่เคยแปลโดยใช้คำเดิมตลอด ตอนนี้แปลตามท้องเรื่อง ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้ในฉบับแปลภาษาอังกฤษ มีการแปลคำภาษาฮีบรู “โอห์ลาม” ว่า “เวลาที่ไม่กำหนด” แต่คำนี้หมายถึง “ตลอดกาล” หรือ “นานแสนนาน” ได้ด้วย ขอให้สังเกตดูการใช้คำนี้ในบทเพลงสรรเสริญ 90:2 และมีคา 5:2
คำว่า “เมล็ด” ในภาษาฮีบรูและภาษากรีกมีอยู่หลายครั้งในพระคัมภีร์ คำนี้หมายถึงเมล็ดที่ใช้เพาะปลูกและยังมีความหมายแฝงที่หมายถึง “ผู้สืบเชื้อสาย” ด้วย ในฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษฉบับเดิม มีการใช้คำว่า “เมล็ด” อย่างสม่ำเสมอ เช่น ในเยเนซิศ 3:15 แต่ในตอนนี้ ภาษาอังกฤษไม่ค่อยมีการใช้คำว่า “เมล็ด” ในความหมายแฝงที่หมายถึง “ผู้สืบเชื้อสาย” หรือ “ลูกหลาน” ดังนั้น ฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษฉบับปรับปรุงจึงเปลี่ยนคำที่ใช้ในเยเนซิศ 3:15 และข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (เย. 22:17, 18; วิ. 12:17) ส่วนในที่อื่น ๆ ก็มีการแปลคำนี้ตามท้องเรื่อง—เย. 1:11; เพลง. 22:30; ยซา. 57:3
ทำไมต้องปรับการแปลแบบตรงตัวในหลาย ๆ ที่? ภาคผนวก ก1 (A1) ของฉบับปรับปรุงปี 2013 บอกว่าการแปลคัมภีร์ไบเบิลที่ดีจะต้อง “ถ่ายทอดความหมายของคำหรือสำนวนออกมาให้ถูกต้อง ถ้าการแปลแบบตรงตัวทำให้ความหมายผิดเพี้ยนหรือเข้าใจยาก” แต่ถ้าสำนวนในภาษาเดิมเข้าใจได้ในภาษาอื่น ผู้แปลก็จะแปลตรงตัว ตัวอย่างเช่น สำนวนหนึ่งในวิวรณ์ 2:23 ที่บอกว่า “ตรวจดูหัวใจ” ในหลายภาษาเข้าใจได้ แต่อีกสำนวนหนึ่งในข้อเดียวกันคือ “ตรวจดูไต” เป็นสำนวนที่เข้าใจยาก จึงมีการปรับเป็น “ตรวจดูส่วนลึกที่สุดของความคิดจิตใจ” เพื่อถ่ายทอดความหมายที่ตรงกับภาษาเดิมมากกว่า คล้ายกัน ในพระบัญญัติ 32:14 สำนวนภาษาเดิมที่ว่า “ไขมันหุ้มไตของข้าวสาลี” แปลให้ชัดเจนขึ้นเป็น “ข้าวสาลีที่ดีที่สุด” อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สำนวนภาษาเดิมที่ว่า “ผมมีริมฝีปากที่ไม่ได้รับสุหนัต” ในหลายภาษาก็เข้าใจยาก ดังนั้น จึงแปลให้ชัดเจนขึ้นเป็น “ผมเป็นคนพูดไม่คล่อง”—เอ็ก. 6:12
ทำไมแปลคำว่า “ลูกชายของอิสราเอล” และ “ลูกชายกำพร้าพ่อ” เป็น “ชาวอิสราเอล” และ “ลูกกำพร้าพ่อ”? ในภาษาฮีบรู มีคำระบุเพศที่บ่งบอกว่ากำลังพูดถึงผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ก็มีคำระบุเพศชายบางคำที่ใช้ได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิงด้วย ตัวอย่างเช่น ท้องเรื่องของพระคัมภีร์บางข้อช่วยให้เรารู้ว่า “ลูกชายของอิสราเอล” เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วจึงมีการแปลคำนี้เป็น “ชาวอิสราเอล” แทน—เอ็ก. 1:7; 35:29; 2 กษัต. 8:12
ทำนองเดียวกัน ที่เยเนซิศ 3:16 คำระบุเพศชายในภาษาฮีบรูที่หมายถึง “ลูกชาย” ได้รับการแปลว่า “ลูก” ในฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษฉบับเดิมอยู่แล้ว แต่ในเอ็กโซโด 22:24 เพิ่งมีการปรับใหม่ว่า “ลูก ๆ [คำภาษาฮีบรูคือ “ลูกชาย”] ของเจ้าจะกำพร้าพ่อ” หลักการนี้ยังใช้ได้ในกรณีอื่น ๆ ด้วย เช่น คำว่า “ลูกชายกำพร้าพ่อ” ถูกปรับเป็น “ลูกกำพร้าพ่อ” หรือ “เด็กกำพร้า” (บัญ. 10:18; โยบ 6:27) วิธีการแปลแบบนี้เหมือนกับการแปลฉบับกรีกเซปตัวจินต์
ทำไมจึงมีการแปลคำกริยาภาษาฮีบรูในแบบง่าย ๆ? คำกริยาภาษาฮีบรูมี 2 ชนิดหลัก ๆ คือ คำกริยาแบบไม่สมบูรณ์ซึ่งบ่งชี้ถึงการกระทำที่ต่อเนื่อง และคำกริยาแบบสมบูรณ์ซึ่งบ่งชี้ถึงการกระทำที่สิ้นสุดแล้ว ในฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษฉบับเดิม มักมีการแปลคำกริยาภาษาฮีบรูแบบไม่สมบูรณ์โดยใช้คำกริยาหลักร่วมกับคำช่วย เช่น คำว่า “ต่อไป” เพื่อแสดงถึงการกระทำที่ต่อเนื่องหรือทำซ้ำ ๆa นอกจากนั้น ในฉบับแปลโลกใหม่ ฉบับเดิมยังมีการใช้คำที่ช่วยเน้นด้วย เช่น “แน่นอน” “ต้อง” และ “ที่จริง” เพื่อแสดงถึงการกระทำที่สิ้นสุดลงแล้วของคำกริยาแบบสมบูรณ์
ในฉบับปรับปรุงปี 2013 ไม่มีการใช้คำช่วยนอกจากคำช่วยนั้นจะเพิ่มความหมายให้ครบถ้วนขึ้น ตัวอย่างเช่น ไม่จำเป็นต้องเน้นว่าพระเจ้าพูดซ้ำ ๆ ว่า “ให้ความสว่างเกิดขึ้น” ดังนั้น ข้อคัมภีร์นี้ในฉบับปรับปรุง จึงไม่มีการใช้คำกริยาแบบไม่สมบูรณ์เพื่อเน้นการพูดอย่างต่อเนื่อง (เย. 1:3) อีกด้านหนึ่ง พระยะโฮวาเรียกอาดามซ้ำ ๆ หลายครั้ง ซึ่งการเรียกแบบนี้เป็นจุดสำคัญในเยเนซิศ 3:9 จึงมีการแปลข้อนี้ว่า “เรียกหาผู้ชายคนนั้นหลายครั้ง” สรุปแล้ว มีการแปลคำกริยาภาษาฮีบรูในแบบง่าย ๆ และมุ่งความสนใจไปที่การกระทำ แทนที่จะสนใจว่าคำกริยานั้นเป็นแบบสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ ประโยชน์อย่างหนึ่งของการแปลแบบนี้ก็คือ ช่วยผู้อ่านให้เห็นความกระชับของภาษาฮีบรู
ทำไมจึงมีการใช้รูปแบบกวีในหลายบท? ตอนที่มีการเขียนคัมภีร์ไบเบิล หลายส่วนเขียนแบบบทกวี ถึงแม้ว่าหลายภาษาในปัจจุบันนี้ บทกวีจะเน้นที่สัมผัสระหว่างประโยค แต่สำหรับบทกวีภาษาฮีบรู ส่วนสำคัญที่สุดคือการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง รูปแบบของบทกวีภาษาฮีบรูไม่ได้เน้นที่การสัมผัสคำ แต่เน้นที่การเรียบเรียงความคิดของเรื่อง
ในฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษฉบับเดิม มีการจัดรูปแบบหนังสือโยบและบทเพลงสรรเสริญเพื่อแสดงให้เห็นว่าหนังสือสองเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อร้องเป็นเพลงหรือเพื่ออ่านออกเสียง การจัดรูปแบบเป็นกวีอย่างนี้ช่วยเน้นและช่วยในการจดจำ ในฉบับปรับปรุงปี 2013 หนังสือสุภาษิต เพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม และหลาย ๆ บทของหนังสือผู้พยากรณ์ มีการใช้รูปแบบกวีเพื่อเน้นการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างด้วย ตัวอย่างเช่น ในแต่ละบรรทัดของยะซายา 24:2 มีการใช้คำที่แตกต่างกันแต่สนับสนุนกันและเน้นว่าไม่มีใครสักคนที่จะรอดพ้นการพิพากษาของพระเจ้าได้ เมื่อผู้อ่านเห็นข้อความที่เป็นแบบบทกวีจะช่วยให้รู้ว่าผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เน้นข่าวสารที่มาจากพระเจ้าโดยใช้คำซ้ำ ๆ แต่ใช้วิธีเขียนแบบบทกวีแทน
ในภาษาฮีบรู บางครั้งก็ดูออกยากว่าข้อเขียนตอนหนึ่งเป็นบทกวีหรือไม่ ข้อเขียนบางตอนมีลักษณะคล้ายบทกวี เพราะมีการใช้ภาษาที่ช่วยให้เห็นภาพ การเล่นคำ และการเปรียบเทียบความเหมือนเพื่อเน้นจุดสำคัญ นี่ทำให้ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลมีความเห็นแตกต่างกัน ผู้แปลจึงมีส่วนตัดสินใจว่าข้อความที่แปลนั้นควรเป็นบทกวีหรือไม่
ใจความสำคัญที่อยู่ตอนเริ่มต้นของหนังสือแต่ละเล่มเป็นลักษณะเด่นใหม่อีกอย่างหนึ่ง ลักษณะเด่นนี้เป็นประโยชน์มากในส่วนที่เป็นคำกลอนโบราณซึ่งมีคนพูดสลับกันไปมาหลายคน เช่น ในหนังสือเพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม
การศึกษาสำเนาภาษาเดิมมีผลอย่างไรกับฉบับปรับปรุงนี้? มีการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ฉบับเดิมโดยอาศัยข้อความภาษาฮีบรูของพวกมาโซเรตและข้อความภาษากรีกที่น่าเชื่อถือของเวสต์คอตต์และฮอร์ต หลังจากนั้น ก็มีการศึกษาสำเนาเก่าแก่ของคัมภีร์ไบเบิลมาเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เข้าใจข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น สำเนาม้วนหนังสือทะเลตายก็หาอ่านได้ง่ายกว่าเดิม มีการศึกษาสำเนาภาษากรีกมากขึ้น และมีสำเนาชิ้นใหม่ ๆ ให้ค้นคว้าได้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้ง่ายขึ้นที่จะวิเคราะห์ดูความแตกต่างระหว่างสำเนาภาษาฮีบรูและภาษากรีกฉบับต่าง ๆ เพื่อจะรู้ว่าสำเนาไหนจะช่วยในการแปลได้ดีที่สุด คณะกรรมการการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เพื่อศึกษาค้นคว้าซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงบางข้อในฉบับปรับปรุงปี 2013
ตัวอย่างเช่น ที่ 2 ซามูเอล 13:21 ในฉบับกรีกเซปตัวจินต์ มีประโยคที่บอกว่า “แต่เขาไม่อยากทำให้อัมโนนเสียใจเพราะอัมโนนเป็นลูกชายคนโตที่เขารักมาก” แต่ในฉบับแปลโลกใหม่ ฉบับเดิมไม่มีประโยคนี้เพราะข้อความของพวกมาโซเรตไม่มีประโยคนี้อยู่ แต่ม้วนหนังสือทะเลตายมีประโยคนี้ซึ่งถูกใส่กลับเข้าไปในฉบับปรับปรุงปี 2013 ด้วย ด้วยเหตุผลเดียวกัน ในหนังสือ 1 ซามูเอล ชื่อของพระเจ้า 5 ครั้งจึงถูกใส่ไว้ที่เดิม การศึกษาข้อความในภาษากรีกยังทำให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่มัดธาย 21:29-31 ด้วย การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาศัยหลักฐานที่มีน้ำหนักจากสำเนาต่าง ๆ แทนที่จะยึดอยู่กับข้อความภาษากรีกแค่ฉบับเดียวเท่านั้น
ที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงไม่กี่อย่างที่ช่วยให้ผู้คนจำนวนมากอ่านและเข้าใจฉบับแปลโลกใหม่ ง่ายขึ้น เพื่อพวกเขาจะมองฉบับแปลนี้ว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้าที่ชอบติดต่อสื่อสาร
a ดูพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่—มีข้ออ้างอิง (ภาษาอังกฤษ) ในส่วนของภาคผนวก 3C เรื่อง “คำกริยาฮีบรูซึ่งแสดงถึงการกระทำที่ต่อเนื่องหรือกำลังดำเนินอยู่”