พระธรรมเล่มที่ 19—บทเพลงสรรเสริญ
ผู้เขียน: ดาวิดและคนอื่น ๆ
สถานที่เขียน: ไม่ระบุแน่ชัด
เขียนเสร็จ: ประมาณปี 460 ก.ส.ศ.
1. พระธรรมบทเพลงสรรเสริญคืออะไร และบรรจุอะไรไว้?
พระธรรมบทเพลงสรรเสริญเป็นหนังสือเพลงของเหล่าผู้นมัสการแท้ของพระยะโฮวาในกาลโบราณ ที่มีขึ้นโดยการดลใจ เป็นชุดเพลงศักดิ์สิทธิ์หรือเพลงสรรเสริญ 150 บทซึ่งเรียบเรียงเข้ากับดนตรีและจัดไว้สำหรับการนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าในพระวิหารของพระองค์ที่ยะรูซาเลม. เพลงเหล่านี้เป็นเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา และไม่เพียงเท่านั้น เพลงเหล่านี้ยังมีคำอธิษฐานวิงวอนขอความเมตตาและความช่วยเหลือ รวมทั้งถ้อยคำที่แสดงความไว้วางใจและความมั่นใจด้วย. เพลงเหล่านี้เต็มไปด้วยการขอบพระคุณและการยกย่องอีกทั้งการร้องแสดงความชื่นชมยินดีอย่างใหญ่หลวง. บางบทเป็นการสรุปความประวัติศาสตร์ การใคร่ครวญถึงความรักกรุณาของพระยะโฮวาและราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์. เพลงสรรเสริญเต็มไปด้วยคำพยากรณ์ ซึ่งหลายตอนสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่ง. เพลงเหล่านั้นมีคำสั่งสอนมากมายที่เป็นประโยชน์และเสริมสร้าง ทั้งหมดเขียนด้วยภาษาที่ดีเยี่ยมและให้จินตภาพซึ่งกระตุ้นใจผู้อ่านอย่างลึกซึ้ง. เพลงสรรเสริญเป็นอาหารฝ่ายวิญญาณอันเลิศหรูซึ่งเตรียมไว้อย่างงดงามและจัดเรียงรายไว้อย่างชวนตาชวนใจตรงหน้าเรา.
2. (ก) มีการเรียกบทเพลงสรรเสริญด้วยชื่ออะไรบ้าง และมีความหมายเช่นไร? (ข) เพลงสรรเสริญคืออะไร?
2 ชื่อพระธรรมนี้มีความหมายเช่นไรและใครเขียนบทเพลงสรรเสริญนี้? ในคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรู พระธรรมนี้มีชื่อว่าเซʹเฟอร์ เทฮิลลิมʹ ซึ่งหมายความว่า “หนังสือแห่งคำสรรเสริญ” หรือเพียงแต่เทฮิลลิมʹ ซึ่งก็คือ “คำสรรเสริญ.” คำนี้เป็นรูปพหูพจน์ของคำเทฮิลลาห์ʹ ซึ่งหมายความว่า “คำสรรเสริญ” หรือ “เพลงสรรเสริญ” ซึ่งคำนี้พบในจ่าหน้าของเพลงสรรเสริญบท 145. ชื่อ “คำสรรเสริญ” นับว่าเหมาะสมที่สุด เพราะพระธรรมนี้เน้นการสรรเสริญพระยะโฮวา. ชื่อบทเพลงสรรเสริญในภาษาอังกฤษ (Psalms) มาจากฉบับแปลกรีก เซปตัวจินต์ ที่ใช้คำว่า ซัลมอยʹ ซึ่งบ่งถึงเพลงที่ร้องคลอไปกับดนตรีบรรเลง. คำนี้ยังพบอีกหลายแห่งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก เช่น ที่ลูกา 20:42 และกิจการ 1:20. เพลงสรรเสริญเป็นเพลงหรือบทร้อยกรองศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการสรรเสริญและนมัสการพระเจ้า.
3. จ่าหน้าบทบอกให้เราทราบอะไรเกี่ยวกับผู้เขียน?
3 เพลงสรรเสริญหลายบทมีจ่าหน้าและบ่อยครั้งจ่าหน้าเหล่านั้นบอกชื่อผู้เขียน (ในฉบับแปลโลกใหม่ [ภาษาอังกฤษ] และฉบับแปลใหม่). จ่าหน้าของเจ็ดสิบสามบทมีชื่อดาวิด “ผู้แต่งบทเพลงอันไพเราะในพวกยิศราเอล.” (2 ซามู. 23:1) ไม่ต้องสงสัยว่าเพลงสรรเสริญบท 2, 72, และ 95 ก็เขียนโดยดาวิดเช่นกัน. (ดูกิจการ 4:25, เพลงสรรเสริญ 72:20, และเฮ็บราย 4:7.) นอกจากนั้น เพลงสรรเสริญบท 10 และ 71 ดูเหมือนเป็นตอนต่อจากเพลงสรรเสริญบท 9 และ 70 ตามลำดับและดังนั้นจึงอาจถือได้ว่าดาวิดเป็นผู้เขียน. คาดกันว่าเพลงสรรเสริญสิบสองบทเป็นของอาซาฟ ซึ่งดูเหมือนว่าบ่งถึงวงศ์วานของอาซาฟ เนื่องจากมีบางบทกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากสมัยของอาซาฟ. (เพลง. บท 79, 80; 1 โคร. 16:4, 5, 7; เอษรา 2:41) ถือกันว่าเพลงสรรเสริญสิบเอ็ดบทเขียนโดยบุตรหลานของโครา. (1 โคร. 6:31-38) เพลงสรรเสริญบท 43 ดูเหมือนเป็นส่วนต่อจากเพลงสรรเสริญบท 42 และดังนั้นจึงอาจเขียนโดยบุตรหลานโคราด้วย. นอกจากกล่าวถึง “บุตรหลานของโคราห์” แล้ว เพลงสรรเสริญบท 88 (ล.ม.) ยังกล่าวถึงเฮมานในจ่าหน้าด้วยว่าเป็นผู้เขียน และเพลงสรรเสริญบท 89 บอกชื่อเอธานว่าเป็นผู้เขียน. ถือกันว่าโมเซเป็นผู้เขียนเพลงสรรเสริญบท 90 และก็คงเขียนบท 91 ด้วย. เพลงสรรเสริญบท 127 เป็นของซะโลโม. ดังนั้น มากกว่าสองในสามของเพลงสรรเสริญที่มีการระบุตัวผู้เขียนหลายคน.
4. การเขียนครอบคลุมระยะเวลาใด?
4 พระธรรมบทเพลงสรรเสริญเป็นพระธรรมเล่มเดียวที่ใหญ่ที่สุดในคัมภีร์ไบเบิล. ดังเห็นได้จากเพลงสรรเสริญบท 90, 126 และ 137 เพลงสรรเสริญใช้เวลาเขียนยาวนาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยที่โมเซเขียน (1513-1473 ก.ส.ศ.) จนกระทั่งหลังจากการกลับจากบาบูโลน และอาจเป็นในสมัยเอษรา (537-ประมาณปี 460 ก.ส.ศ.). ดังนั้น การเขียนจึงปรากฏว่ากินเวลานานประมาณหนึ่งพันปี. กระนั้น ช่วงเวลาที่เนื้อหาครอบคลุมยิ่งนานกว่านั้นมาก โดยเริ่มตั้งแต่สมัยแห่งการทรงสร้างและการกล่าวโดยสังเขปถึงประวัติของการที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติกับเหล่าผู้รับใช้ของพระองค์จนถึงเวลาแห่งการเรียบเรียงบทเพลงสรรเสริญส่วนท้าย.
5. (ก) พระธรรมบทเพลงสรรเสริญแสดงให้เห็นอย่างไรถึงการจัดระเบียบ? (ข) จ่าหน้าบทยังให้ข้อมูลอะไรอีก? (ค) เหตุใดจึงไม่จำเป็นต้องออกเสียงคำ “เซʹลาห์” เมื่ออ่านบทเพลงสรรเสริญ?
5 พระธรรมบทเพลงสรรเสริญเป็นพระธรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นการจัดระเบียบ. ท่านดาวิดพาดพิงถึง “การเสด็จแห่งพระเจ้าของข้าพเจ้า, พระบรมมหากษัตริย์ของข้าพเจ้าเข้าไปในที่บริสุทธิ์ . . . พวกนักร้องนำหน้า, พวกนักดนตรีเดินตามหลัง. การบรรเลงโทนรำมะนาก็มีในท่ามกลางสตรีสาว . . . จงสรรเสริญพระเจ้า, คือพระยะโฮวา, ในที่ประชุม.” (เพลง. 68:24-26) เรื่องนี้บอกสาเหตุที่มีการกล่าวซ้ำคำว่า “ถึงหัวหน้านักร้อง” บ่อย ๆ ในจ่าหน้าบท รวมทั้งคำร้อยกรองและคำทางดนตรีจำนวนมากมายด้วย. จ่าหน้าของบางบทอธิบายการใช้หรือวัตถุประสงค์ของเพลงสรรเสริญหรือไม่ก็ให้คำแนะนำด้านดนตรี. (ดูจ่าหน้าของเพลงสรรเสริญบท 6, 30, 38, 60, 88, 102, และ 120, ฉบับแปลใหม่.) อย่างน้อยเพลงสรรเสริญของดาวิด 13 บท เช่นบท 18 และ 51 มีการบอกสั้น ๆ ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เรียบเรียงเพลงบทนั้น. เพลงสรรเสริญสามสิบสี่บทไม่มีจ่าหน้า. คำสั้น ๆ ว่า “เซʹลาห์” ที่ปรากฏอยู่ 71 ครั้งในเนื้อความหลักนั้น โดยทั่วไปแล้วคิดกันว่าเป็นศัพท์วิชาการสำหรับดนตรีหรือการอ่านทำนองเสนาะ แม้ว่าไม่มีใครทราบความหมายที่แน่ชัดก็ตาม. บางคนแนะว่า คำนี้ระบุช่วงการหยุดชั่วคราวสำหรับการไตร่ตรองเงียบ ๆ ขณะร้องหรือทั้งในการร้องและบรรเลง. ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องออกเสียงคำนี้เมื่ออ่าน.
6. (ก) พระธรรมบทเพลงสรรเสริญถูกแบ่งเป็นภาค ๆ อะไรบ้าง? (ข) ดูเหมือนใครเป็นผู้จัดพระธรรมบทเพลงสรรเสริญให้อยู่ในรูปแบบปัจจุบัน?
6 ตั้งแต่คราวโบราณ พระธรรมบทเพลงสรรเสริญถูกแบ่งออกเป็นห้าภาคดังต่อไปนี้: (1) เพลงสรรเสริญบท 1-41; (2) เพลงสรรเสริญบท 42-72; (3) เพลงสรรเสริญบท 73-89; (4) เพลงสรรเสริญบท 90-106; (5) เพลงสรรเสริญบท 107-150. ดูเหมือนดาวิดเป็นผู้รวบรวมภาคแรกของเพลงเหล่านี้. ปรากฏว่าเอษรา ปุโรหิตและ “อาลักษณ์ชำนาญในบทพระบัญญัติของโมเซ” เป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงใช้ให้จัดพระธรรมบทเพลงสรรเสริญให้อยู่ในรูปแบบปัจจุบัน.—เอษรา 7:6.
7. ลักษณะอื่นอะไรบ้างของบทเพลงสรรเสริญที่พึงสังเกต?
7 การรวบรวมที่ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นน่าจะอธิบายสาเหตุที่มีเพลงสรรเสริญบางบทซ้ำกันในภาคอื่น เช่น เพลงสรรเสริญบท 14 กับบท 53; บท 40:13-17 กับเพลง. บท 70; บท 57:7-11 กับบท 108:1-5. แต่ละภาคในห้าภาคจบด้วยการกล่าวสรรเสริญพระยะโฮวา คือในสี่ภาคแรกรวมเอาคำร้องรับจากประชาชนไว้ด้วยและในภาคสุดท้ายเป็นเพลงสรรเสริญบท 150 ทั้งบท.—เพลง. 41:13, ล.ม. เชิงอรรถ.
8. จงอธิบายและยกตัวอย่างการเรียบเรียงแบบอะครอสติก.
8 มีการใช้การเรียบเรียงในลักษณะพิเศษมากในเพลงสรรเสริญเก้าบทเรียกว่า “อะครอสติก” เนื่องจากโครงสร้างที่เรียงตามลำดับอักขระ. (เพลงสรรเสริญบท 9, 10, 25, 34, 37, 111, 112, 119 และ 145) ในโครงสร้างแบบนี้บาทแรกหรือบาทต่าง ๆ ของบทแรกเริ่มด้วยอักขระฮีบรูตัวแรก อาʹเลฟ (א), บาทถัดไป (ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งวรรค) เริ่มด้วยอักขระตัวที่สอง เบท (ב), และเป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ ไปจนครบอักขระฮีบรูทุกตัวหรือเกือบทุกตัว. การเรียบเรียงเช่นนี้อาจช่วยความจำ—ลองคิดถึงนักร้องในพระวิหารที่ต้องจำเพลงที่ยาวอย่างเพลงสรรเสริญบท 119 ดูสิ! ที่น่าสนใจคือ เราพบพระนามของพระยะโฮวาในแบบอะครอสติกที่เพลงสรรเสริญบท 96:11. ครึ่งแรกของบาทนี้ในภาษาฮีบรูประกอบด้วยคำสี่คำ และอักขระตัวแรกของสี่คำนี้เมื่ออ่านจากขวาไปซ้าย เป็นอักขระฮีบรูสี่ตัวของเททรากรัมมาทอน คือ ยฮวฮ (יהוה).
9. (ก) เนื่องด้วยภูมิหลังแบบใดที่เพลงสรรเสริญหลายบทดึงดูดจิตใจและหัวใจโดยตรง? (ข) มีอะไรอีกที่ช่วยเสริมพลังและความไพเราะของเพลงเหล่านี้?
9 บทกวีที่เป็นเนื้อเพลงศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เขียนขึ้นเป็นร้อยกรองภาษาฮีบรูแบบไม่มีสัมผัสเสียง และแสดงถึงลักษณะอันล้ำเลิศของการประพันธ์ที่ไพเราะและการหลั่งไหลของความคิดอย่างมีท่วงทำนอง. บทร้อยกรองเหล่านี้พูดตรงถึงจิตใจและหัวใจ. บทร้อยกรองเหล่านี้ให้ภาพที่ชัดเจนมีชีวิตชีวา. ความกว้างขวางและความลึกซึ้งอันยอดเยี่ยมทั้งในด้านเนื้อหาของเรื่องและด้านอารมณ์ที่แรงกล้าซึ่งแสดงออกมานั้นส่วนหนึ่งเนื่องจากประสบการณ์ชีวิตที่ผิดธรรมดาของดาวิด ซึ่งให้ภูมิหลังสำหรับเพลงสรรเสริญหลายบท. มีไม่กี่คนเคยดำรงชีวิตในสภาพที่หลายหลากอย่างนั้นคือ เป็นเด็กเลี้ยงแกะ, เป็นนักรบที่ต่อสู้กับฆาละยัธโดยลำพัง, เป็นนักดนตรีในราชสำนัก, เป็นคนนอกกฎหมายในหมู่เพื่อนที่ภักดีและในหมู่คนทรยศ, เป็นกษัตริย์และผู้พิชิต, เป็นบิดาที่เปี่ยมความรักที่ต้องทุกข์ใจกับความแตกแยกในครัวเรือนของตน, เป็นผู้ประสบความขมขื่นจากบาปร้ายแรงสองครั้งและกระนั้นก็ยังเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาที่กระตือรือร้นและเป็นผู้รักพระบัญญัติของพระองค์เสมอ. ด้วยภูมิหลังเช่นนั้น จึงไม่แปลกที่พระธรรมบทเพลงสรรเสริญแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกทั้งสิ้นของมนุษย์! ที่เสริมเข้ากับพลังและความไพเราะของบทเพลงสรรเสริญคือ ความสอดคล้องและความตรงข้ามกันในบทร้อยกรอง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของร้อยกรองภาษาฮีบรู.—เพลง. 1:6; 22:20; 42:1; 121:3, 4.
10. อะไรยืนยันความเชื่อถือได้ของบทเพลงสรรเสริญ?
10 ความเชื่อถือได้ของบทเพลงโบราณที่สุดเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวาเหล่านี้ได้รับการยืนยันมากพอโดยการที่เพลงเหล่านี้สอดคล้องเต็มที่กับส่วนอื่น ๆ ของพระคัมภีร์. พระธรรมบทเพลงสรรเสริญถูกยกไปกล่าวหลายครั้งโดยผู้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. (เพลง. 5:9 [โรม 3:13]; เพลง. 10:7 [โรม 3:14]; เพลง. 24:1 [1 โก. 10:26]; เพลง. 50:14 [มัด. 5:33]; เพลง. 78:24 [โย. 6:31]; เพลง. 102:25-27 [เฮ็บ. 1:10-12]; เพลง. 112:9 [2 โก. 9:9]) ดาวิดเองกล่าวในเพลงบทสุดท้ายของท่านว่า “พระวิญญาณของพระยะโฮวาทรงตรัสแก่ข้าพเจ้า, และพระดำรัสของพระองค์อยู่ที่ลิ้นของข้าพเจ้า.” พระวิญญาณนี้แหละที่ดำเนินงานเหนือท่านตั้งแต่วันที่ถูกเจิมโดยซามูเอล. (2 ซามู. 23:2; 1 ซามู. 16:13) นอกจากนั้น เหล่าอัครสาวกก็ได้ยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญไปกล่าว. เปโตรกล่าวถึง “พระคัมภีร์ . . . ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ตรัสไว้โดยปากของกษัตริย์ดาวิด” และในการยกข้อความจากเพลงสรรเสริญไปกล่าวหลายตอน ผู้เขียนพระธรรมเฮ็บรายกล่าวถึงเพลงเหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำที่พระเจ้าตรัสหรือไม่ก็กล่าวนำข้อความเหล่านั้นด้วยถ้อยคำว่า “ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัส.”—กิจ. 1:16; 4:25; เฮ็บ. 1:5-14; 3:7; 5:5, 6.
11. คำตรัสของพระเยซูเองให้หลักฐานสนับสนุนอย่างไร?
11 มาถึงข้อพิสูจน์หนักแน่นที่สุดในเรื่องความเชื่อถือได้ เรายกคำตรัสของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งได้คืนพระชนม์มากล่าว เมื่อตรัสกับเหล่าสาวกว่า “นี่เป็นถ้อยคำของเราซึ่งเราได้บอกไว้แก่ท่านทั้งหลาย . . . ว่า ‘บรรดาคำที่เขียนไว้ในบัญญัติของโมเซ, และในคัมภีร์ของเหล่าศาสดาพยากรณ์, และในคัมภีร์เพลงสดุดีกล่าวเล็งถึงเรานั้นจำเป็นจะต้องสำเร็จ.’” ตอนนั้นพระเยซูกำลังจัดหมวดหมู่พระคัมภีร์ภาษาฮีบรูทั้งหมดในวิธีที่พวกยิวยอมรับและรู้จักดี. ที่พระองค์ตรัสถึงเพลงสรรเสริญนั้นหมายรวมถึงพระคัมภีร์ภาคที่สามทั้งหมดที่เรียกว่า ฮากิโอกราฟา (หรือ “ข้อความบริสุทธิ์”) ซึ่งบทเพลงสรรเสริญเป็นพระธรรมเล่มแรก. เรื่องนี้มีการยืนยันโดยสิ่งที่พระองค์ตรัสไม่กี่ชั่วโมงก่อนนั้นกับสาวกสองคนที่กำลังไปเมืองเอ็มมาอู เมื่อ “พระองค์ . . . อธิบายให้เขาฟังในคัมภีร์ทั้งหมด ซึ่งเขียนไว้เล็งถึงพระองค์.”—ลูกา 24:27, 44.
เนื้อเรื่องในบทเพลงสรรเสริญ
12. โดยวิธีใดที่บทเพลงสรรเสริญเข้าถึงอรรถบทเรื่องความสุขอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอรรถบทเรื่องราชอาณาจักรด้วย?
12 ภาคหนึ่ง (เพลงสรรเสริญบท 1-41). เชื่อกันว่าดาวิดเป็นผู้เรียบเรียงเพลงเหล่านี้ทั้งหมดยกเว้นบท 1, 2, 10 และ 33. เพลงสรรเสริญบท 1 เผยจุดสำคัญในตอนเริ่มเรื่อง เนื่องจากบทนี้กล่าวว่าความสุขมีแก่คนที่ยินดีในกฎหมายของพระยะโฮวา ไตร่ตรองกฎหมายนั้นทั้งกลางวันกลางคืนเพื่อจะปฏิบัติตาม ตรงกันข้ามกับคนบาปที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า. นี่เป็นการกล่าวถึงความสุขเป็นครั้งแรกในบทเพลงสรรเสริญ. เพลงสรรเสริญบท 2 เริ่มต้นด้วยคำถามที่ท้าทายและบอกถึงการคบคิดของบรรดากษัตริย์และเจ้านายทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก “ขัดขวางพระยะโฮวาและต่อสู้ผู้ถูกเจิมของพระองค์.” พระยะโฮวาทรงเย้ยหยันพวกเขาและตรัสกับเขาด้วยความพิโรธกล้าว่า “ฝ่ายเราได้ตั้งกษัตริย์ของเราไว้ที่ซีโอนภูเขาบริสุทธิ์ของเรา.” กษัตริย์องค์นั้นแหละคือผู้ซึ่งจะทรงทำลายและบดขยี้ผู้ต่อต้านทั้งปวงให้ย่อยยับ. กษัตริย์และผู้ครอบครองทั้งหลาย “จงปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจเกรงกลัว” และยอมรับพระบุตรของพระองค์ มิฉะนั้นเจ้าจะพินาศ! (ข้อ 2, 6, 11) ดังนั้น เพลงสรรเสริญจึงเข้าถึงอรรถบทเรื่องราชอาณาจักรของคัมภีร์ไบเบิลอย่างรวดเร็ว.
13. อะไรอีกที่เพลงสรรเสริญภาคแรกเน้นให้เด่นขึ้น?
13 ในภาคแรกนี้ คำอธิษฐานทั้งในแบบวิงวอนและขอบพระคุณเป็นเรื่องเด่น. เพลงสรรเสริญบท 8 เปรียบเทียบความยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวากับความกระจ้อยร่อยของมนุษย์ และเพลงสรรเสริญบท 14 เปิดโปงความโง่เขลาของผู้คนที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า. เพลงสรรเสริญบท 19 เผยให้เห็นว่าสิ่งทรงสร้างอันยอดเยี่ยมของพระยะโฮวาพระเจ้าประกาศสง่าราศีของพระองค์อย่างไร และข้อ 7-14 ยกย่องผลประโยชน์ตอบแทนจากการถือรักษาข้อกฎหมายอันสมบูรณ์ของพระเจ้า ซึ่งได้มีพรรณนาอย่างละเอียดภายหลังในเพลงสรรเสริญบท 119. เพลงสรรเสริญบท 23 เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นหนึ่งในบรรดาวรรณกรรมชิ้นเอก แต่เพลงบทนี้เยี่ยมกว่านั้นอีกในด้านภาษาที่เรียบง่ายไพเราะซึ่งแสดงถึงความไว้วางใจพระยะโฮวาด้วยความภักดี. ขอให้เราทุกคน ‘อาศัยในราชนิเวศของพระยะโฮวาผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่สืบ ๆ ไปเป็นนิตย์’! (23:1, 6) เพลงสรรเสริญบท 37 ให้คำแนะนำอันดีแก่ผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้าซึ่งอาศัยอยู่ท่ามกลางคนชั่ว และเพลงสรรเสริญบท 40 กล่าวแสดงถึงความยินดีในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า เหมือนที่ดาวิดได้ทำ.
14. เพลงสรรเสริญภาคสองกล่าวอย่างไรถึงเรื่องการไถ่ และมีการเน้นคำอธิษฐานอะไรของดาวิด?
14 ภาคสอง (เพลงสรรเสริญบท 42-72). ภาคนี้เริ่มด้วยเพลงสรรเสริญแปดบทของบุตรหลานโครา. เพลงสรรเสริญบท 42 และ 43 ถือกันว่าบุตรหลานโคราเป็นผู้เขียน เพราะจริง ๆ แล้วทั้งสองบทนี้เป็นบทร้อยกรองเดียวซึ่งมีสามบท เชื่อมเข้าด้วยกันโดยบาทที่มีกล่าวซ้ำ. (42:5, 11; 43:5) เพลงสรรเสริญบท 49 เน้นความเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะจัดให้มีผู้ไถ่สำหรับตนเอง และบทนี้ชี้ไปยังพระเจ้าว่าทรงเป็นผู้นั้นแหละที่ทรงฤทธิ์พอจะไถ่มนุษย์ “ให้พ้นอำนาจเมืองผี [“เชโอล,” ล.ม.].” (ข้อ 15) เพลงสรรเสริญบท 51 เป็นคำอธิษฐานของดาวิด ซึ่งกล่าวหลังจากการบาปร้ายแรงที่ท่านได้ทำกับบัธเซบะ ภรรยาของอูรียาชาวเฮธ และแสดงถึงการกลับใจแท้ของท่าน. (2 ซามู. 11:1–12:24) ภาคนี้จบลงด้วยเพลงสรรเสริญ “เกี่ยวกับซะโลโม” (จ่าหน้าบทในฉบับแปลโลกใหม่.) คำอธิษฐานเพื่อการปกครองอันสงบสุขของท่านและเพื่อพระพรของพระยะโฮวาจะอยู่กับท่าน.—เพลง. 72.
15. ภาคสามกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับประวัติของชาติยิศราเอล, คำพิพากษาของพระยะโฮวา, และสัญญาไมตรีเรื่องราชอาณาจักรของพระองค์?
15 ภาคสาม (เพลงสรรเสริญบท 73-89). อย่างน้อยสองบทจากภาคนี้ คือเพลงสรรเสริญบท 74 และ 79 ถูกเรียบเรียงภายหลังความพินาศของยะรูซาเลมในปี 607 ก.ส.ศ. บทเพลงเหล่านั้นคร่ำครวญถึงความหายนะอันใหญ่หลวงคราวนั้นและทูลอ้อนวอนพระยะโฮวาให้ทรงช่วยไพร่พลของพระองค์ “เพราะเห็นแก่พระเกียรติยศแห่งพระนามของพระองค์.” (79:9) เพลงสรรเสริญบท 78 ทบทวนประวัติของยิศราเอลตั้งแต่สมัยของโมเซจนถึงคราวเมื่อดาวิด “อภิบาลเขาไว้ด้วยใจสุจริต” (ข้อ 72) และเพลงสรรเสริญบท 80 ระบุว่าพระยะโฮวาเป็น “ผู้อภิบาลพวกยิศราเอล” อย่างแท้จริง. (ข้อ 1) เพลงสรรเสริญบท 82 และ 83 เป็นคำทูลวิงวอนพระยะโฮวาอย่างเร่าร้อนให้ทรงลงโทษตามคำพิพากษาแก่ศัตรูของพระองค์และศัตรูแห่งไพร่พลของพระองค์. การทูลวิงวอนนี้ไม่ใช่เป็นความตั้งใจจะแก้แค้นเลย แต่เพื่อจุดประสงค์ที่ว่า “เขาจะได้แสวงหาพระนามของพระองค์; . . . เพื่อให้เขารู้ว่าพระองค์ผู้เดียว, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.” (83:16, 18) บทสุดท้ายในภาคนี้คือเพลงสรรเสริญบท 89 ซึ่งเน้นการสำแดง “พระกรุณาคุณของพระยะโฮวา” ดังมีแสดงอย่างเด่นชัดในสัญญาไมตรีที่พระองค์ทรงทำกับดาวิด. ทั้งนี้ก็เพื่อจะมีรัชทายาทถาวรสำหรับราชบัลลังก์ของดาวิด ซึ่งจะปกครองจนถึงเวลาไม่กำหนดเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา!—ข้อ 1, 34-37.
16. โดยวิธีใดที่ภาคสี่ยกย่องฐานะกษัตริย์ของพระยะโฮวา และการที่พระองค์ทรงรักษาสัญญาไมตรี?
16 ภาคสี่ (เพลงสรรเสริญบท 90-106). ภาคนี้มี 17 บทเหมือนภาคสาม. ภาคนี้เริ่มด้วยคำอธิษฐานของโมเซ ซึ่งแสดงความตรงข้ามกันอย่างเด่นชัดระหว่างการดำรงนิรันดร์ของพระเจ้ากับช่วงชีวิตอันสั้นของมนุษย์ที่ต้องตาย. เพลงสรรเสริญบท 92 ยกย่องคุณสมบัติอันเลอเลิศของพระยะโฮวา. จากนั้นก็มีเพลงชุดใหญ่คือ เพลงสรรเสริญบท 93-100 ซึ่งเริ่มด้วยการร้องที่เร้าใจว่า “พระยะโฮวาทรงครอบครองอยู่ [“เป็นพระมหากษัตริย์,” ล.ม.].” ฉะนั้น “ชนชาวแผ่นดินโลกทั้งสิ้น” ถูกเรียกร้องให้ “ร้องเพลงถวายแก่พระยะโฮวา . . . เพราะพระยะโฮวาเป็นใหญ่, สมควรจะได้ความสรรเสริญมากยิ่ง.” “พระยะโฮวาเป็นใหญ่ในเมืองซีโอน.” (93:1; 96:1, 2, 4; 99:2) เพลงสรรเสริญบท 105 และ 106 ขอบพระคุณพระยะโฮวาสำหรับพระราชกิจมหัศจรรย์ต่าง ๆ ที่ได้ทรงทำเพื่อไพร่พลของพระองค์และเพื่อรักษาสัญญาไมตรีของพระองค์กับอับราฮามด้วยความซื่อสัตย์โดยทรงประทานแผ่นดินแก่พงศ์พันธุ์ของท่าน แม้ว่าพวกเขาจะช่างบ่นและล้มพลาดนับครั้งไม่ถ้วน.
17. เพลงสรรเสริญบท 104 น่าสนใจเป็นพิเศษอย่างไร และอรรถบทอะไรที่มีการกล่าวซ้ำนับแต่บทนี้ไป?
17 ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือเพลงสรรเสริญบท 104. บทนี้ยกย่องพระยะโฮวาเนื่องด้วยสง่าราศีและความโชติช่วงที่ทรงใช้หุ้มพระองค์ อีกทั้งพรรณนาพระสติปัญญาที่พระองค์ทรงสำแดงในราชกิจและพระหัตถกิจนานัปการบนแผ่นดินโลก. จากนั้น อรรถบทของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญทั้งหมดจึงได้รับการประกาศอย่างเปี่ยมพลังดังเสียงร้องซึ่งปรากฏเป็นครั้งแรกดังนี้: “ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญพระยะโฮวาเถิด.” (ข้อ 35) เสียงเรียกให้ผู้นมัสการแท้ทั้งหลายถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวาซึ่งสมควรแก่พระนามของพระองค์ ในภาษาฮีบรูใช้เพียงคำเดียวคือ ฮาเลลู–ยาห์ʹ หรือ “ฮัลเลลูยาห์” ซึ่งคำหลังเป็นที่คุ้นเคยของประชาชนทั่วโลกในปัจจุบัน. จากข้อนี้เป็นต้นไป ถ้อยคำดังกล่าวปรากฏถึง 24 ครั้ง เพลงสรรเสริญบางบทใช้คำนี้ทั้งในตอนเริ่มต้นและตอนจบเพลง.
18. (ก) คำร้องรับอะไรที่ทำให้เพลงสรรเสริญบท 107 เด่น? (ข) เพลงสรรเสริญที่เรียกว่าเพลงฮัลเลลคืออะไร?
18 ภาคห้า (เพลง. 107-150). ในเพลงสรรเสริญบท 107 เราพบคำพรรณนาถึงการช่วยให้รอดของพระยะโฮวา พร้อมกับคำร้องรับอันไพเราะที่ว่า “สมควรที่คนทั้งหลายจะได้สรรเสริญพระยะโฮวาเพราะความกรุณาคุณของพระองค์, และเพราะกิจการอัศจรรย์ซึ่งพระองค์ทรงกระทำเพื่อมนุษย์ชาติ!” (ข้อ 8, 15, 21, 31) เพลงสรรเสริญบท 113 ถึง 118 เป็นส่วนที่เรียกกันว่า เพลงฮัลเลล. ตามที่มิชนาห์กล่าว ชาวยิวร้องเพลงสรรเสริญเหล่านี้ในคราวปัศคาและในการฉลองเทศกาลเพนเตคอสเต, เทศกาลตั้งทับอาศัย, และการอุทิศ.
19. เพลงสรรเสริญบท 117 กับบท 119 ต่างกันอย่างไร และอะไรบ้างเป็นจุดเด่นของบท 119?
19 เพลงสรรเสริญบท 117 เปี่ยมพลังด้วยความเรียบง่าย เป็นบทที่สั้นที่สุดในเพลงสรรเสริญทั้งหมดและในคัมภีร์ไบเบิล. เพลงสรรเสริญบท 119 เป็นบทที่ยาวที่สุดในเพลงสรรเสริญทั้งหมดและในคัมภีร์ไบเบิล มีทั้งหมด 176 บาท (ข้อ) ใน 22 บท บทละแปดบาทซึ่งเรียงตามลำดับอักขระ. ทั้งหมดยกเว้นสองบาท (ข้อ) (90 และ 122) ต่างกล่าวถึงคำตรัสหรือกฎหมายของพระเจ้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยกล่าวซ้ำคำเหล่านั้นหลายคำหรือไม่ก็ทั้งหมด (ข้อกฎหมาย, คำโอวาท, ข้อสั่งสอน [หรือโอวาท], ข้อบัญญัติ ข้อพิพากษา) ในเพลงสรรเสริญ 19:7-14 ในแต่ละบท. คำตรัสของพระเจ้าได้รับการกล่าวถึง 170 กว่าครั้ง โดยคำใดคำหนึ่งใน 8 คำต่อไปนี้: ข้อบัญญัติ, ความยุติธรรม (หรือข้อพิพากษา), พระบัญญัติ (หรือกฎหมาย), ข้อสั่งสอน (หรือพระโอวาท), กฎหมาย (หรือข้อกฎหมาย), ข้อปฏิญาณ (หรือข้อเตือนใจ), พระดำรัส, และพระวจนะ (หรือพระดำรัส).
20, 21. (ก) เพลงแห่งการขึ้นสู่ที่สูงคืออะไร? (ข) เพลงเหล่านี้แสดงอย่างไรว่าดาวิดตระหนักถึงความจำเป็นต้องมีการนมัสการร่วมกัน?
20 จากนั้น เราพบเพลงสรรเสริญอีกชุดหนึ่ง เป็นเพลงแห่งการขึ้นสู่ที่สูง 15 บท คือเพลงสรรเสริญบท 120 ถึง 134. ผู้แปลได้แปลคำนี้ในหลายรูปแบบเพราะไม่เข้าใจความหมายของคำอย่างเต็มที่. บางคนบอกว่าคำนี้พาดพิงถึงเนื้อหาที่สูงส่งของเพลงสรรเสริญเหล่านี้ แม้ว่าในเนื้อหาเหล่านั้นดูจะไม่มีเหตุผลชัดเจนที่จะยกย่องเพลงเหล่านี้เหนือเพลงสรรเสริญบทอื่น ๆ ที่มีขึ้นโดยการดลใจ. ผู้ให้คำอธิบายพระคัมภีร์หลายคนแนะว่า ชื่อเพลงได้มาจากการใช้เพลงเหล่านี้โดยพวกผู้นมัสการที่เดินทางขึ้นหรือ “เดินขึ้นที่สูง” สู่กรุงยะรูซาเลมเพื่อการฉลองเทศกาลต่าง ๆ ประจำปี ถือกันว่าการเดินทางสู่เมืองหลวงเป็นการเดินขึ้นที่สูงเพราะกรุงนี้ตั้งอยู่สูงบนภูเขาในยูดา. (เทียบกับเอษรา 7:9.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวิดมีความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องความจำเป็นที่ไพร่พลของพระเจ้าต้องนมัสการร่วมกัน. ท่านปีติยินดีที่ได้ยินคำเชิญ “ให้เราไปยังพระวิหารของพระยะโฮวาเถิด” และตระกูลต่าง ๆ ได้ขึ้นไป “เพื่อให้ไปขอบพระเดชพระคุณแก่พระนามของพระยะโฮวา.” เหตุฉะนั้น ท่านแสวงหาสันติภาพ, ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของยะรูซาเลมอย่างจริงจัง โดยอธิษฐานว่า “เพราะเห็นแก่พระวิหารของพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเราข้าพเจ้าจะแสวงหาความเจริญของท่าน.”—เพลง. 122:1, 4, 9.
21 เพลงสรรเสริญบท 132 บอกถึงคำปฏิญาณของดาวิดที่จะไม่พักผ่อนจนกว่าท่านจะพบสถานที่หยุดพักอันเหมาะสมสำหรับพระยะโฮวา ตามที่หีบสัญญาไมตรีเป็นสิ่งแสดงถึง. หลังจากตั้งหีบไว้ที่ซีโอน มีพรรณนาถึงพระยะโฮวาด้วยบทร้อยกรองอันไพเราะ ดังที่กล่าวว่า พระองค์ได้เลือกซีโอน “เป็นที่พำนักของเราเป็นนิตย์; เราจะอาศัยที่ตำบลนี้เพราะเราประสงค์แล้ว.” พระองค์ทรงยอมรับศูนย์กลางการนมัสการแห่งนี้ “เพราะว่าพระยะโฮวาได้ทรงประทานพระพรที่นั่น.” “ขอให้พระยะโฮวาทรงอวยพระพรมาแต่เมืองซีโอน ให้แก่ท่านทั้งหลาย.”—132:1-6, 13, 14; 133:3; 134:3; ดูเพลงสรรเสริญบท 48 ด้วย.
22. (ก) มีการยกย่องอย่างไรในเรื่องการที่พระยะโฮวาทรงคู่ควรแก่การสรรเสริญ? (ข) อรรถบทอันรุ่งโรจน์ของพระธรรมนี้ขึ้นถึงจุดสุดยอดอย่างไรในเพลงสรรเสริญบทท้าย ๆ?
22 เพลงสรรเสริญบท 135 ยกย่องพระยะโฮวาว่าเป็นพระเจ้าที่คู่ควรแก่การสรรเสริญผู้ทรงทำทุกสิ่งด้วยความยินดี ไม่เหมือนรูปเคารพที่ไร้ประโยชน์และไร้ค่า ผู้ทำรูปเคารพจะกลายเป็นเหมือนรูปเหล่านั้น. เพลงสรรเสริญบท 136 ใช้สำหรับการร้องรับ แต่ละข้อลงท้ายว่า “เพราะพระกรุณาคุณของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์.” มีแสดงให้เห็นว่าได้มีการใช้คำร้องรับดังกล่าวในหลายโอกาส. (1 โคร. 16:41; 2 โคร. 5:13; 7:6; 20:21; เอษรา 3:11) เพลงสรรเสริญบท 137 กล่าวถึงความคิดถึงซีโอนที่ยังคงอยู่ในหัวใจชาวยิวเมื่อตกเป็นเชลยที่บาบูโลนและยังยืนยันด้วยว่า พวกเขาไม่ลืมบทเพลงหรือเพลงสรรเสริญแห่งซีโอนแม้พวกเขาอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน. เพลงสรรเสริญบท 145 ยกย่องคุณความดีและฐานะกษัตริย์ของพระยะโฮวา เผยให้เห็นว่าพระองค์ “ทรงบำรุงรักษาคนทั้งหลายที่รักพระองค์; แต่ส่วนคนชั่วจะถูกทำลายเสียสิ้น.” (ข้อ 20) จากนั้น เพลงสรรเสริญบท 146 ถึงบท 150 ซึ่งเป็นบทลงท้ายที่เร้าใจ เน้นอรรถบทอันรุ่งโรจน์ของพระธรรมนี้อีกครั้ง แต่ละบทเริ่มต้นและจบด้วยถ้อยคำ “ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญพระยะโฮวาเถิด.” ทำนองของคำสรรเสริญขึ้นถึงจุดสุดยอดอันยิ่งใหญ่ในบท 150 ซึ่งภายในหกข้อนั้นมีการเรียกร้องถึง 13 ครั้งให้สิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างทั้งมวลสรรเสริญพระยะโฮวา.
เหตุที่เป็นประโยชน์
23. (ก) ข่าวสารที่มีชีวิตอะไรมีอยู่ในบทเพลงสรรเสริญ? (ข) พระนามของพระยะโฮวาและพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ได้รับการเชิดชูอย่างไร?
23 เนื่องด้วยความเพียบพร้อมด้วยความไพเราะและรูปแบบการประพันธ์ จึงต้องนับรวมเพลงสรรเสริญในคัมภีร์ไบเบิลไว้ในบรรดาวรรณกรรมชั้นยอดไม่ว่าในภาษาใด. แต่เพลงสรรเสริญเหล่านั้นเป็นยิ่งกว่าวรรณกรรมมากนัก. เพลงสรรเสริญเหล่านั้นเป็นข่าวสารมีชีวิตจากพระยะโฮวาพระเจ้าองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพทั้งสิ้น. เพลงเหล่านั้นช่วยให้หยั่งเห็นเข้าใจลึกซึ้งในคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิล โดยกล่าวถึงพระยะโฮวาผู้ประพันธ์เป็นประการสำคัญที่สุด. มีแสดงไว้อย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างเอกภพและสารพัดสิ่งในเอกภพ. (8:3-9; 90:1, 2; 100:3; 104:1-5, 24; 139:14) พระนามยะโฮวาได้รับการเชิดชูอย่างแท้จริงในพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ ซึ่งมีพระนามนี้ปรากฏราว 700 ครั้ง. นอกจากนั้น คำย่อ “ยาห์” ก็มี 43 ครั้ง ดังนั้น จึงมีกล่าวถึงพระนามของพระเจ้าในบทเพลงสรรเสริญรวมทั้งหมดโดยเฉลี่ยแล้วประมาณบทละ 5 ครั้ง. นอกจากนี้ มีการกล่าวถึงพระยะโฮวาว่าเป็น “เอโลฮิมʹ” หรือ “พระเจ้า” ราว 350 ครั้ง. มีการเผยให้เห็นถึงอำนาจปกครองสูงสุดของพระยะโฮวาด้วยการกล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น “พระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศร” ในเพลงสรรเสริญหลายบท.—68:20; 69:6; 71:5; 73:28; 140:7; 141:8, ล.ม.
24. ในบทเพลงสรรเสริญมีกล่าวไว้อย่างไรเกี่ยวกับมนุษย์ซึ่งต้องตาย และมีการให้คำแนะนำที่ดีอะไร?
24 ตรงกันข้ามกับพระเจ้าองค์ถาวร มีการเผยให้เห็นว่ามนุษย์ที่ต้องตายนั้นเกิดในความบาปและจำเป็นต้องมีผู้ไถ่ และมีบอกว่าเขาจะตายและกลับเป็น “ผงคลีดิน” ลงสู่เชโอล หลุมฝังศพทั่วไปของมนุษยชาติ. (6:4, 5; 49:7-20; 51:5, 7; 89:48; 90:1-5; 115:17; 146:4) พระธรรมเพลงสรรเสริญเน้นความจำเป็นของการปฏิบัติตามกฎหมายของพระเจ้าและการไว้วางใจพระยะโฮวา. (1:1, 2; 62:8; 65:5; 77:12; 115:11; 118:8; 119:97, 105, 165) พระธรรมนี้เตือนเรื่องความเย่อหยิ่งและเรื่อง “ความผิดอันลับลี้” (19:12-14; 131:1) อีกทั้งสนับสนุนการคบหาที่จริงใจและดีงาม. (15:1-5; 26:5; 101:5) พระธรรมนี้แสดงว่า ความประพฤติที่ถูกต้องทำให้ได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวา. (34:13-15; 97:10) พระธรรมนี้เสนอความหวังอันรุ่งโรจน์โดยกล่าวว่า “ความรอดย่อมมาแต่พระยะโฮวา” และในกรณีของผู้ที่เกรงกลัวพระองค์ พระองค์จะ “ช่วยดวงจิตต์ของเขาทั้งหลายให้พ้นจากความตาย.” (3:8; 33:19) เรื่องนี้นำเราสู่ลักษณะเชิงพยากรณ์.
25. (ก) บทเพลงสรรเสริญเต็มด้วยอะไร? (ข) เปโตรใช้บทเพลงสรรเสริญอย่างไรเพื่อระบุตัวดาวิดองค์ยิ่งใหญ่?
25 พระธรรมบทเพลงสรรเสริญเต็มไปด้วยคำพยากรณ์ที่ชี้ไปยังพระเยซูคริสต์ “เชื้อสายของดาวิด” และบทบาทที่พระองค์จะทรงดำเนินในฐานะผู้ถูกเจิมและกษัตริย์ของพระยะโฮวา.a (มัด. 1:1) ขณะที่ประชาคมคริสเตียนกำเนิดในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 พระวิญญาณบริสุทธิ์เริ่มให้ความกระจ่างแก่เหล่าอัครสาวกเกี่ยวกับความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์เหล่านี้. ในวันนั้นทีเดียว เปโตรยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญไปกล่าวครั้งแล้วครั้งเล่าในการขยายความอรรถบทแห่งคำบรรยายอันลือชื่อของท่าน. เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะคือ “พระเยซูชาวนาซาเร็ธ.” ตอนท้ายในการหาเหตุผลของท่านอาศัยข้อความที่ยกจากบทเพลงสรรเสริญเกือบทั้งหมดเพื่อพิสูจน์ว่าพระคริสต์เยซูเป็นดาวิดองค์ยิ่งใหญ่ และพระยะโฮวาจะไม่ทรงละทิ้งจิตวิญญาณของพระเยซูไว้ในฮาเดสแต่จะปลุกพระองค์ให้เป็นขึ้นจากตาย. เปล่า ‘ดาวิดไม่ได้ขึ้นสวรรค์’ แต่ดังที่ท่านพยากรณ์ไว้ที่บทเพลงสรรเสริญ 110:1 องค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านได้ขึ้นไป. ใครคือองค์พระผู้เป็นเจ้าของดาวิด? เปโตรบรรลุจุดสุดยอดในคำบรรยายของท่านและตอบอย่างหนักแน่นว่า “คือพระเยซูซึ่งท่านทั้งหลายได้ตรึงไว้นั้น”!—กิจ. 2:14-36; เพลง. 16:8-11; 132:11, ล.ม.
26. คำบรรยายของเปโตรปรากฏว่าเป็นประโยชน์อย่างไร?
26 คำบรรยายของเปโตรซึ่งอาศัยบทเพลงสรรเสริญเป็นประโยชน์ไหม? การรับบัพติสมาของคนราว 3,000 คนซึ่งมาสมทบกับประชาคมคริสเตียนในวันเดียวกันนั้นบอกชัดอยู่ในตัว.—กิจ. 2:41.
27. “พระวิญญาณบริสุทธิ์” ได้ตีความเพลงสรรเสริญบท 2 อย่างไร?
27 ณ การประชุมพิเศษไม่นานหลังจากนั้น พวกสาวกทูลวิงวอนพระยะโฮวาและยกเพลงสรรเสริญ 2:1, 2 มากล่าว. พวกเขากล่าวว่าข้อนี้สำเร็จเป็นจริงด้วยการที่พวกเจ้าหน้าที่ปกครองร่วมกันต่อต้าน “พระเยซูพระบุตรผู้บริสุทธิ์ของพระองค์ซึ่งทรงชโลมไว้.” และบันทึกนั้นกล่าวต่อไปว่า พวกเขา “ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.”—กิจ. 4:23-31.
28. (ก) โดยใช้บทเพลงสรรเสริญ เปาโลขยายการหาเหตุผลอะไรในเฮ็บรายบท 1 ถึง 3? (ข) บทเพลงสรรเสริญ 110:4 ให้พื้นฐานอย่างไรสำหรับการที่เปาโลพิจารณาเรื่องฐานะปุโรหิตอย่างมัลคีเซเด็ค?
28 บัดนี้ มาดูจดหมายถึงคริสเตียนชาวเฮ็บราย. ในสองบทแรก เราพบข้อความที่ยกมาจากบทเพลงสรรเสริญหลายตอนซึ่งเกี่ยวข้องกับความสูงส่งของพระเยซูในฐานะพระบุตรของพระเจ้าซึ่งครองราชย์ในสวรรค์เหนือพวกทูตสวรรค์. เปาโลแสดงให้เห็นจากเพลงสรรเสริญ 22:22 และข้ออ้างอิงอื่น ๆ ว่า พระเยซูทรงมีประชาคมแห่ง “พวกพี่น้อง” ซึ่งเป็นส่วนแห่งพงศ์พันธุ์ของอับราฮามและ “ผู้เข้าส่วนด้วยกันในการทรงเรียกซึ่งมาจากสวรรค์นั้น.” (เฮ็บ. 2:10-13, 16; 3:1) ครั้นแล้ว โดยเริ่มจากเฮ็บราย 6:20 และต่อไปจนจบบท 7 ท่านอัครสาวกขยายความเกี่ยวกับตำแหน่งที่พระเยซูมีเพิ่มขึ้นในฐานะ “มหาปุโรหิตเป็นนิตย์ตามอย่างมัลคีเซเด็ก.” ข้อนี้พาดพิงถึงคำปฏิญาณของพระยะโฮวาที่บทเพลงสรรเสริญ 110:4 ซึ่งเปาโลอ้างอิงถึงหลายครั้งในการพิสูจน์ว่าตำแหน่งปุโรหิตของพระเยซูเหนือกว่าของอาโรน. เปาโลชี้แจงว่า โดยคำปฏิญาณของพระยะโฮวา พระเยซูคริสต์จึงเป็นปุโรหิต ไม่ใช่บนแผ่นดินโลก แต่ในสวรรค์และพระองค์ “ดำรงอยู่เป็นปุโรหิตชั่วกัปชั่วกัลป์” ผลประโยชน์จากการรับใช้ของพระองค์ในฐานะปุโรหิตจะมีอยู่ชั่วนิรันดร์.—เฮ็บ. 7:3, 15-17, 23-28.
29. ตัวอย่างอันโดดเด่นอะไรในเรื่องการอุทิศตนที่เราควรเอาใจใส่ ตามที่กล่าวไว้ในบทเพลงสรรเสริญและที่มีอธิบายไว้ในเฮ็บราย 10:5-10?
29 ต่อจากนั้น ที่เฮ็บราย 10:5-10 เราได้รับทราบถึงความหยั่งรู้ค่าที่พระเยซูทรงมีต่อแนวทางแห่งการสละตนเป็นเครื่องบูชาซึ่งเป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำหรับพระองค์ รวมทั้งความแน่วแน่ของพระองค์ในการทำให้พระทัยประสงค์นั้นสำเร็จ. เรื่องนี้อาศัยคำตรัสของดาวิดที่เพลงสรรเสริญ 40:6-8. น้ำใจแห่งการทุ่มเทตนอันเป็นแบบอย่างนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เราทุกคน ให้ใคร่ครวญและเลียนแบบเพื่อจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า.—ดูบทเพลงสรรเสริญ 116:14-19 ด้วย.
30. บทเพลงสรรเสริญพยากรณ์โดยละเอียดอย่างไรถึงแนวทางชีวิตของพระเยซู และพระองค์คงต้องได้รับการปลอบประโลมจากเพลงสรรเสริญเหล่านั้นอย่างไร?
30 แนวทางชีวิตที่พระเยซูทรงรับเอาซึ่งถึงจุดสุดยอดเมื่อพระองค์ทรงเพียรอดทนรับความทุกข์สาหัสบนหลักทรมานนั้นมีพยากรณ์ไว้อย่างละเอียดน่าทึ่งในบทเพลงสรรเสริญ. เรื่องนี้รวมถึงการส่งน้ำส้มสายชูให้พระองค์ดื่ม, การจับสลากเพื่อแบ่งเสื้อชั้นนอกของพระองค์, การทำกับมือและเท้าของพระองค์อย่างทารุณ, การเยาะเย้ย, และความขมขื่นปวดร้าวพระทัยยิ่งกว่านั้นอีกในเสียงร้องด้วยพระทัยที่เป็นทุกข์สาหัสว่า “เหตุไฉนพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเสีย?” (มัด. 27:34, 35, 43, 46; เพลง. 22:1, 7, 8, 14-18; 69:20, 21) ดังที่ระบุในโยฮัน 19:23-30 แม้ในช่วงเวลานั้นพระเยซูคงต้องได้รับการปลอบประโลมและการชี้นำมากมายจากบทเพลงสรรเสริญ โดยที่ทรงรู้ว่าข้อคัมภีร์ทั้งหมดนี้ต้องสำเร็จเป็นจริงจนครบถ้วน. พระเยซูทรงทราบว่าบทเพลงสรรเสริญยังกล่าวถึงการปลุกพระองค์ให้คืนพระชนม์และการยกฐานะพระองค์ขึ้นด้วย. ไม่ต้องสงสัยว่าพระองค์ทรงคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เมื่อทรงนำในการ “ร้องเพลงสรรเสริญ” กับเหล่าอัครสาวกของพระองค์ในคืนสุดท้ายก่อนการสิ้นพระชนม์ของพระองค์.—มัด. 26:30.
31. พระธรรมบทเพลงสรรเสริญบอกล่วงหน้าถึงเรื่องอะไรซึ่งเกี่ยวกับพงศ์พันธุ์แห่งราชอาณาจักรและประชาคมของพระเยซู?
31 ดังนั้น บทเพลงสรรเสริญจึงระบุชัดว่า “บุตรดาวิด” และพงศ์พันธุ์ราชอาณาจักรคือพระคริสต์เยซู ซึ่งบัดนี้ได้รับการยกย่องเป็นทั้งกษัตริย์และปุโรหิตในซีโอนฝ่ายสวรรค์. เนื้อที่มีไม่พอสำหรับคำอธิบายโดยละเอียดจากทุกข้อความในบทเพลงสรรเสริญที่มีการยกไปกล่าวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ตามที่ได้สำเร็จเป็นจริงในตัวผู้ถูกเจิมองค์นี้ของพระยะโฮวา แต่ก็ได้ลงบางตัวอย่างเพิ่มเติมดังต่อไปนี้: เพลง. 78:2—มัด. 13:31-35; เพลง. 69:4—โย. 15:25; เพลง. 118:22, 23—มโก. 12:10, 11 และกิจ. 4:11; เพลง. 34:20—โย. 19:33, 36; เพลง. 45:6, 7—เฮ็บ. 1:8, 9. นอกจากนั้น ในบทเพลงสรรเสริญยังมีบอกล่วงหน้าถึงประชาคมแห่งเหล่าสาวกแท้ของพระเยซูด้วย ไม่ใช่เป็นรายบุคคล แต่เป็นกลุ่มที่ถูกพามาจากทุกชาติเข้ามาสู่ความโปรดปรานของพระเจ้าเพื่อมีส่วนในงานสรรเสริญพระนามของพระยะโฮวา.—เพลง. 117:1—โรม 15:11; เพลง. 68:18—เอเฟ. 4:8-11; เพลง. 95:7-11—เฮ็บ. 3:7, 8; 4:7.
32. (ก) การศึกษาบทเพลงสรรเสริญเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับการพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาเป็นฝ่ายถูกและจุดประสงค์แห่งราชอาณาจักรของพระองค์? (ข) ด้วยความหยั่งรู้ค่าฐานะกษัตริย์ของพระองค์ เราควรแสดงความภักดีและความขอบพระคุณอย่างไร?
32 การที่เราศึกษาบทเพลงสรรเสริญเสริมความเข้าใจของเราอย่างมากในเรื่องฐานะกษัตริย์ของพระยะโฮวาพระเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงสำแดงผ่านทางพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญาและรัชทายาทแห่งราชอาณาจักร เพื่อพระเกียรติของพระองค์และเพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์เป็นฝ่ายถูก. ขอให้เราอยู่ในหมู่ผู้ภักดีที่ยกย่องสรรเสริญ ‘ความสง่างามรุ่งโรจน์แห่งความทรงเกียรติของพระยะโฮวา’ และผู้ที่มีการพูดถึงในเพลงสรรเสริญบท 145 ซึ่งมีกล่าวถึงว่าเป็น “คำสรรเสริญของดาวิด” ดังนี้: “เขาทั้งหลายจะพูดถึงสง่าราศีแห่งฐานะกษัตริย์ของพระองค์ และเขาจะเล่าถึงฤทธานุภาพของพระองค์ เพื่อประกาศให้บุตรทั้งหลายของมนุษย์ทราบถึงการอิทธิฤทธิ์ของพระองค์ และสง่าราศีแห่งความสง่างามแห่งฐานะกษัตริย์ของพระองค์. ฐานะกษัตริย์ของพระองค์เป็นฐานะกษัตริย์ตลอดเวลาไม่กำหนด. และพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ดำรงตลอดทุกชั่วอายุสืบเนื่องกันไป.” (เพลง. 145:5, 11-13, ล.ม.) จริงตามเพลงสรรเสริญเชิงพยากรณ์บทนี้ ความรุ่งเรืองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าโดยพระคริสต์ที่ได้รับการสถาปนานั้นกำลังมีการแจ้งแก่ชนทุกชาติแม้ในขณะนี้. เราควรรู้สึกขอบพระคุณสักเพียงไรต่อราชอาณาจักรและพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรนั้น! คำลงท้ายของบทเพลงสรรเสริญนับว่าเหมาะสมจริง ๆ ที่ว่า “ทุกสิ่งที่หายใจ ให้สรรเสริญยาห์. จงสรรเสริญยาห์!”—150:6, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 710-711.