คุณมองความยุติธรรมเหมือนที่พระยะโฮวามองไหม?
“ผมจะประกาศชื่อของพระยะโฮวา . . . พระองค์เป็นพระเจ้าที่ซื่อสัตย์และยุติธรรมเสมอ”—ฉธบ. 32:3, 4
1, 2. (ก) นาโบทกับพวกลูกชายต้องเจอความไม่ยุติธรรมอะไร? (ข) เราจะเรียนเกี่ยวกับคุณลักษณะ 2 อย่างอะไรในบทความนี้?
คนเลวสองคนกล่าวหาปรักปรำผู้ชายคนหนึ่งว่าทำความผิดร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่พวกเขาพูดโกหกแต่ผู้ชายคนนั้นกลับถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกลงโทษ ลองคิดดูว่าคนที่รักความยุติธรรมจะรู้สึกอย่างไรที่ต้องทนเห็นผู้บริสุทธิ์และลูก ๆ ของเขาถูกหินขว้างตายต่อหน้าต่อตา นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่า แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับนาโบทผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา นาโบทมีชีวิตอยู่ในสมัยที่กษัตริย์อาหับปกครองอิสราเอล—1 พก. 21:11-13; 2 พก. 9:26
2 ในบทความนี้ เราจะดูเรื่องของนาโบท และเรื่องของผู้ดูแลที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งที่ทำผิดพลาดร้ายแรงในศตวรรษแรก ทั้งสองตัวอย่างนี้จะช่วยเราให้เห็นว่า ความถ่อมตัวและการพร้อมจะให้อภัยเป็นเรื่องสำคัญอย่างไรถ้าเราอยากจะมองความยุติธรรมเหมือนที่พระยะโฮวามอง
ความไม่ยุติธรรมที่ทำให้เกิดผลที่น่าเศร้า
3, 4. นาโบทเป็นคนแบบไหน? และทำไมเขาไม่ยอมขายสวนองุ่นให้กษัตริย์อาหับ?
3 นาโบทซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาในช่วงที่ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ทำตามตัวอย่างที่ไม่ดีของกษัตริย์อาหับและราชินีเยเซเบลที่ชั่วร้าย ทั้งอาหับและเยเซเบลกราบไหว้พระบาอัลและไม่นับถือพระยะโฮวาหรือกฎหมายของพระองค์ แต่นาโบทถือว่าความสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวามีค่ามากกว่าชีวิตของตัวเองด้วยซ้ำ
4 อ่าน 1 พงศ์กษัตริย์ 21:1-3 อาหับยื่นข้อเสนอกับนาโบทว่าจะซื้อสวนองุ่นของนาโบท หรือไม่ก็เอาสวนองุ่นที่ดีกว่าไปแลก แต่นาโบทไม่รับข้อเสนอทั้งสองอย่างนั้น เพราะอะไร? เขาอธิบายด้วยความนับถือว่า “ผมไม่มีวันยกมรดกของบรรพบุรุษให้ท่านแน่ ๆ เพราะพระยะโฮวาไม่ให้ทำอย่างนั้น” นาโบทไม่ยอมรับข้อเสนอเพราะการทำอย่างนั้นผิดกฎหมายของพระยะโฮวา ชาวอิสราเอลจะเอาที่ดินมรดกของครอบครัวมาขายขาดให้คนอื่นไม่ได้ (ลนต. 25:23; กดว. 36:7) เห็นได้ชัดว่านาโบทเชื่อฟังพระยะโฮวาจริง ๆ
5. เยเซเบลทำอะไรเพื่อจะได้สวนองุ่นของนาโบทมาครอบครอง?
5 พอนาโบทไม่ยอมขายสวนองุ่น กษัตริย์อาหับกับภรรยาทำสิ่งที่ชั่วร้ายมาก ราชินีเยเซเบลวางแผนจะยึดสวนองุ่นของนาโบทโดยสั่งให้ผู้ชายสองคนไปกล่าวหาปรักปรำนาโบทว่าทำผิดทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำ ผลคือนาโบทและลูก ๆ ของเขาถูกฆ่า พระยะโฮวาทำอะไรกับความไม่ยุติธรรมที่ทำให้เกิดผลที่น่าเศร้านี้?
ความยุติธรรมของพระเจ้า
6, 7. พระยะโฮวาแสดงอย่างไรว่าพระองค์รักความยุติธรรม? และทำไมเรื่องนี้ช่วยให้ญาติพี่น้องกับเพื่อน ๆ ของนาโบทสบายใจขึ้น?
6 พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น พระยะโฮวาส่งเอลียาห์ไปหาอาหับทันที เอลียาห์พูดว่าอาหับเป็นฆาตกรและขโมย พระยะโฮวาตัดสินโทษอย่างไร? พระองค์บอกว่าอาหับกับภรรยาและพวกลูกชายจะต้องตายเหมือนกับนาโบทและพวกลูกชายของเขา—1 พก. 21:17-25
7 ญาติพี่น้องกับเพื่อน ๆ ของนาโบทเศร้าเสียใจกับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากฝีมือของอาหับ แต่พวกเขาคงสบายใจขึ้นแน่ ๆ ที่รู้ว่าพระยะโฮวาเห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นและรีบจัดการกับเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้อาจเป็นการทดสอบว่าพวกเขาจะถ่อมตัวและวางใจในพระยะโฮวามากแค่ไหน
8. พออาหับได้ยินคำตัดสินของพระยะโฮวา เขาทำอะไร? และผลเป็นอย่างไร?
8 พออาหับได้ยินคำตัดสินของพระยะโฮวา “เขาก็ฉีกเสื้อด้วยความเสียใจ ใส่ผ้ากระสอบ อดอาหาร นอนในชุดกระสอบ และเดินอย่างเศร้าสร้อย” อาหับถ่อมตัวลง ผลเป็นอย่างไร? พระยะโฮวาบอกเอลียาห์ว่า “เพราะเราเห็นว่าเขาถ่อมตัวลง เราจะไม่ทำให้เกิดหายนะตอนเขายังมีชีวิตอยู่ แต่จะทำให้ราชวงศ์ของเขาเจอหายนะในสมัยลูกของเขา” (1 พก. 21:27-29; 2 พก. 10:10, 11, 17) พระยะโฮวาเมตตาอาหับ เพราะพระองค์เป็น “ผู้ตรวจดูหัวใจ” และรู้ว่าพวกเราแต่ละคนเป็นอย่างไรจริง ๆ—สภษ. 17:3
ความถ่อมตัวช่วยปกป้อง
9. ความถ่อมตัวช่วยญาติพี่น้องกับเพื่อน ๆ ของนาโบทอย่างไร?
9 ตอนที่ญาติพี่น้องกับเพื่อน ๆ ของนาโบทได้ยินว่าครอบครัวของอาหับจะไม่ถูกลงโทษในช่วงที่อาหับยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร? นี่อาจเป็นการทดสอบความเชื่อของพวกเขา แต่ความถ่อมตัวจะช่วยให้พวกเขายังมีความเชื่อในพระเจ้าต่อไปได้ ถ้าพวกเขาถ่อมตัว พวกเขาก็จะนมัสการพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปและวางใจว่าพระองค์จะให้ความยุติธรรมเสมอ (อ่านเฉลยธรรมบัญญัติ 32:3, 4) ในอนาคต ญาติพี่น้องของนาโบทจะได้รับพรที่ยอดเยี่ยมที่ได้เห็นคนที่พวกเขารักฟื้นขึ้นจากตาย นาโบทและพวกลูกชายจะได้รับความยุติธรรมจริง ๆ ในตอนนั้น (โยบ 14:14, 15; ยน. 5:28, 29) คนถ่อมตัวรู้ว่า “พระเจ้าเที่ยงแท้จะพิพากษาการกระทำทุกอย่าง รวมทั้งทุกสิ่งที่ทำกันลับ ๆ เพื่อจะตัดสินว่าอะไรดีอะไรชั่ว” (ปญจ. 12:14) ก่อนที่พระยะโฮวาจะตัดสินเรื่องอะไร พระองค์คิดถึงปัจจัยหลายอย่างที่เราไม่รู้ ดังนั้น ถ้าเราถ่อมตัว เราก็จะมีความเชื่อในพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป
10, 11. (ก) อาจมีสถานการณ์อะไรที่ทดสอบความเชื่อของเรา? (ข) ความถ่อมตัวจะช่วยเราอย่างไร?
10 คุณจะทำอย่างไรถ้าพวกผู้ดูแลตัดสินบางอย่างที่คุณไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วย? ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณหรือคนที่คุณรักสูญเสียสิทธิพิเศษในการรับใช้บางอย่างไป คุณจะทำอย่างไร? หรือถ้าคู่สมรส ลูก หรือเพื่อนสนิทของคุณถูกตัดสัมพันธ์และคุณไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของพวกผู้ดูแลล่ะ? หรือคุณจะทำอย่างไรถ้ารู้สึกว่าพวกผู้ดูแลทำไม่ถูกที่ไปแสดงความเมตตาต่อคนที่ทำผิด? สถานการณ์เหล่านี้อาจทดสอบความเชื่อที่เรามีในพระยะโฮวาและในวิธีที่พระองค์จัดระเบียบประชาคมในทุกวันนี้ ความถ่อมตัวจะช่วยคุณถ้าต้องเจอกับสถานการณ์ที่ทดสอบความเชื่อแบบนี้ ขอเราดูด้วยกันว่าความถ่อมตัวจะช่วยคุณใน 2 ทางอะไรบ้าง
11 อย่างแรก ถ้าเราถ่อมตัว เราจะยอมรับว่าเราไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด ถึงแม้เราคิดว่าเรารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นแต่พระยะโฮวาเท่านั้นที่รู้หัวใจคนจริง ๆ (1 ซม. 16:7) การจำเรื่องนี้ไว้จะช่วยให้เรายอมรับอย่างถ่อมตัวว่าเรามีขีดจำกัดและยอมรับว่าเราต้องปรับความคิด อย่างที่สอง ถ้าเราเห็นคนอื่นไม่ได้รับความยุติธรรมหรือเจอความไม่ยุติธรรมกับตัวเอง ความถ่อมจะช่วยให้เราเชื่อฟังและอดทนรอให้พระยะโฮวาจัดการกับเรื่องต่าง ๆ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คนที่เกรงกลัวพระเจ้าเที่ยงแท้จะได้ดี” และยังบอกอีกว่า ‘ส่วนคนชั่วจะต้องเดือดร้อน และเขาจะไม่สามารถทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้นได้’ (ปญจ. 8:12, 13) ถ้าเราถ่อมตัวเสมอ เราเองจะได้ประโยชน์ และทุกคนที่เกี่ยวข้องก็จะได้ประโยชน์ด้วย—อ่าน 1 เปโตร 5:5
ความไม่จริงใจในประชาคม
12. เราจะดูเรื่องอะไรด้วยกัน? และทำไม?
12 คริสเตียนยุคแรกที่อันทิโอกในซีเรียต้องเจอกับสถานการณ์ที่ทดสอบว่าพวกเขาเป็นคนถ่อมตัวและพร้อมจะให้อภัยจริง ๆ ไหม ขอเราดูเรื่องนี้ด้วยกันและตรวจดูตัวเองว่าเรามองการให้อภัยคนอื่นอย่างไร การทำอย่างนั้นจะช่วยเราให้เข้าใจมากขึ้นว่าการให้อภัยเกี่ยวข้องอย่างไรกับวิธีที่พระยะโฮวามองความยุติธรรม
13, 14. อัครสาวกเปโตรได้รับงานมอบหมายอะไร? และเขาแสดงอย่างไรว่าเป็นคนกล้าหาญ?
13 อัครสาวกเปโตรเป็นผู้ดูแลคนหนึ่งที่คริสเตียนในสมัยนั้นรู้จักกันดี เปโตรเป็นเพื่อนสนิทของพระเยซูและได้รับงานมอบหมายที่สำคัญหลายอย่าง (มธ. 16:19) ตัวอย่างเช่น ในปีคริสต์ศักราช 36 เปโตรได้รับมอบหมายให้ไปประกาศกับโคร์เนลิอัสและทุกคนที่อยู่ในบ้านของเขา ทำไมงานนี้ถึงพิเศษ? เพราะโคร์เนลิอัสไม่ใช่คนยิว เขาเป็นคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัต ตอนที่โคร์เนลิอัสและคนที่อยู่ในบ้านของเขาได้รับพลังบริสุทธิ์ เปโตรก็รู้เลยว่าพวกเขาสามารถรับบัพติศมาเป็นคริสเตียนได้ เขาบอกว่า “ใครจะห้ามพวกเขาไม่ให้รับบัพติศมาในน้ำได้ล่ะ เพราะพวกเขาได้รับพลังบริสุทธิ์เหมือนพวกเราด้วย”—กจ. 10:47
14 ในปี ค.ศ. 49 พวกอัครสาวกและผู้ดูแลในเยรูซาเล็มประชุมกันเพื่อตัดสินว่าคริสเตียนต่างชาติจำเป็นต้องเข้าสุหนัตหรือไม่ ในการประชุมครั้งนี้ เปโตรพูดอย่างกล้าหาญว่าเขาเห็นกับตาว่าคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัตเหล่านี้ได้รับพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า สิ่งนี้ช่วยให้คณะกรรมการปกครองตัดสินได้อย่างถูกต้อง (กจ. 15:6-11, 13, 14, 28, 29) ทั้งคริสเตียนชาวยิวและชาวต่างชาติคงต้องรู้สึกขอบคุณเปโตรมากที่กล้าพูดเรื่องนี้ เปโตรทั้งซื่อสัตย์และมีความเป็นผู้ใหญ่ พวกพี่น้องต้องเชื่อใจเขามากแน่ ๆ—ฮบ. 13:7
15. เปโตรทำผิดพลาดอะไรตอนอยู่ที่อันทิโอกในซีเรีย? (ดูภาพแรก)
15 ไม่นานหลังจากการประชุมในเยรูซาเล็ม เปโตรไปที่อันทิโอกในซีเรีย ตอนที่อยู่ที่นั่น เปโตรใช้เวลาอยู่กับพี่น้องต่างชาติ เราคงนึกภาพออกว่าพวกเขาจะชอบเรียนรู้จากเปโตรและชอบฟังประสบการณ์ของเขามากแค่ไหน แต่แล้วพวกเขาก็ต้องรู้สึกแปลกใจและเสียใจที่จู่ ๆ เปโตรก็ไม่ยอมกินอาหารร่วมกับพวกเขาอีก ไม่ใช่แค่นั้น คริสเตียนชาวยิวคนอื่นรวมทั้งบาร์นาบัสก็ทำตามเปโตรด้วย ทำไมคริสเตียนผู้ดูแลที่มีความเป็นผู้ใหญ่คนนี้ถึงทำผิดพลาดร้ายแรงซึ่งอาจทำให้เกิดความแตกแยกในประชาคม? และที่สำคัญ เหตุการณ์นั้นสอนเราอย่างไรถ้ามีผู้ดูแลมาพูดหรือทำบางอย่างที่ทำให้เราเจ็บ?
16. เปโตรถูกต่อว่าอย่างไร? และเกิดคำถามอะไรขึ้น?
16 อ่านกาลาเทีย 2:11-14 เปโตรกลายเป็นคนที่กลัวคน (สภษ. 29:25) ทั้ง ๆ ที่เขารู้ว่าพระยะโฮวาคิดอย่างไรกับคนต่างชาติ แต่เขาก็กลัวว่าคริสเตียนชาวยิวที่เข้าสุหนัตที่มาเยี่ยมเขาจากเยรูซาเล็มจะคิดอย่างไรเมื่อเห็นเขาคบกับคริสเตียนชาวต่างชาติ อัครสาวกเปาโลต่อว่าเปโตรว่าเขาเป็นคนไม่จริงใจ เพราะอะไร? เพราะเปาโลได้ยินเปโตรพูดปกป้องคนต่างชาติในการประชุมที่เยรูซาเล็มในปี ค.ศ. 49 (กจ. 15:12) คริสเตียนต่างชาติที่โดนเปโตรเลิกคบจะมีปฏิกิริยาอย่างไร? พวกเขาจะปล่อยให้ตัวเองสะดุดเพราะสิ่งที่เปโตรทำไหม? เปโตรจะไม่ได้ทำงานมอบหมายของเขาต่อไปเพราะความผิดในครั้งนี้ไหม?
พร้อมที่จะให้อภัย
17. เปโตรได้ประโยชน์อะไรจากการที่พระยะโฮวาให้อภัยเขา?
17 เปโตรถ่อมตัวและยอมรับการว่ากล่าวแก้ไขของเปาโล ไม่มีข้อคัมภีร์ไหนที่บอกว่าเปโตรต้องออกจากงานมอบหมายของเขา ที่จริง ต่อมาเขาได้รับการดลใจให้เขียนจดหมายสองฉบับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิล ในจดหมายฉบับที่ 2 เขาถึงกับพูดถึงเปาโลว่าเป็น “พี่น้องที่รักของเรา” (2 ปต. 3:15) ความผิดของเปโตรต้องทำให้คริสเตียนต่างชาติเสียใจมากแน่ ๆ แต่พระเยซูผู้นำประชาคมยังใช้เขาต่อไป (อฟ. 1:22) พี่น้องชายหญิงในประชาคมนั้นมีโอกาสเลียนแบบพระเยซูและพระเจ้าโดยการให้อภัยเปโตร เราหวังว่าจะไม่มีใครปล่อยให้ตัวเองสะดุดเพราะความผิดพลาดที่ผู้ชายที่ไม่สมบูรณ์คนนี้ได้ทำ
18. เราอาจต้องเลียนแบบความยุติธรรมของพระยะโฮวาในสถานการณ์ไหน?
18 ในศตวรรษแรกไม่มีผู้ดูแลในประชาคมคริสเตียนคนไหนที่สมบูรณ์แบบ ทุกวันนี้ก็ไม่มีผู้ดูแลที่สมบูรณ์แบบเหมือนกัน คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เราทุกคนผิดพลาดกันอยู่บ่อย ๆ” (ยก. 3:2) เรื่องนี้เราก็รู้กันอยู่แล้ว แต่ถ้าตัวเราเองต้องเจอกับความไม่สมบูรณ์ของพี่น้องชายล่ะ เราจะทำอย่างไร? เราจะเลียนแบบความยุติธรรมของพระยะโฮวาไหม? ตัวอย่างเช่น คุณจะทำอย่างไรถ้าผู้ดูแลพูดบางอย่างที่ดูเหมือนว่าเขามีอคติ? คุณจะปล่อยให้ตัวเองสะดุดเมื่อผู้ดูแลพูดบางอย่างที่ไม่คิดซึ่งทำให้คุณโกรธหรือเสียใจไหม? แทนที่จะด่วนสรุปว่าคนที่ทำอย่างนี้ไม่น่าเป็นผู้ดูแลอีกต่อไป คุณจะอดทนรอให้พระเยซูผู้นำของประชาคมจัดการกับเรื่องนี้ไหม? แทนที่จะเอาแต่คิดถึงความผิดพลาดของพี่น้องคนนี้ คุณจะคิดถึงงานรับใช้ที่เขาทำอย่างซื่อสัตย์มาเป็นเวลาหลายปีไหม? ถ้าพี่น้องที่ทำผิดกับคุณยังได้เป็นผู้ดูแลต่อไป หรือถึงกับได้สิทธิพิเศษมากขึ้น คุณจะรู้สึกดีใจกับเขาไหม? ถ้าคุณเต็มใจให้อภัย คุณก็กำลังเลียนแบบความยุติธรรมของพระยะโฮวา—อ่านมัทธิว 6:14, 15
19. เราควรตั้งใจจะทำอะไร?
19 เนื่องจากเรารักความยุติธรรม เราจึงรอคอยวันที่พระยะโฮวาจะจัดการกับความไม่ยุติธรรมทุกอย่างที่มาจากซาตานและโลกชั่วนี้ (อสย. 65:17) แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ถ้าเราต้องเจอกับความไม่ยุติธรรม ขอเรายอมรับอย่างถ่อมตัวว่าเราอาจไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด และเต็มใจให้อภัยคนที่ทำผิดกับเรา ถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็กำลังมองความยุติธรรมเหมือนที่พระยะโฮวามอง