ภูมิศาสตร์ในคัมภีร์ไบเบิลถูกต้องไหม?
ดวงตะวันเพิ่งลับขอบฟ้าในปาเลสไตน์. ปีสากลศักราช 1799. หลังจากการเดินทัพในวันที่ร้อนระอุ กองทัพฝรั่งเศสก็ได้ตั้งค่าย และนโปเลียน แม่ทัพกำลังพักผ่อนอยู่ในกระโจมของเขา. จากแสงเทียนระยิบระยับ ข้ารับใช้คนหนึ่งของเขากำลังอ่านคัมภีร์ไบเบิลภาษาฝรั่งเศสด้วยเสียงดัง.
ดูเหมือนว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างยุทธการทางทหารของนโปเลียนในปาเลสไตน์. ภายหลังเขาเขียนในบันทึกความทรงจำของเขาว่า “เมื่อตั้งค่ายบนซากปรักหักพังของเมืองโบราณเหล่านั้น พวกเขาอ่านพระคัมภีร์ด้วยเสียงดังทุก ๆ เย็น . . . ความคล้ายคลึงกันและความจริงเกี่ยวกับคำพรรณนานั้นเป็นเรื่องโดดเด่น: คำพรรณนานั้นยังคงเข้ากันได้กับประเทศนี้หลังจากผ่านไปหลายศตวรรษและมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย.”
ที่จริง นักท่องเที่ยวที่ไปยังตะวันออกกลางพบว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้เหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลสอดคล้องกับสถานที่ตั้งในสมัยปัจจุบัน. ก่อนกองทัพฝรั่งเศสพิชิตอียิปต์ ดินแดนโบราณนั้นไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าไรนักโดยชาวต่างชาติ. ครั้นแล้วพวกนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการซึ่งนโปเลียนได้พาไปยังอียิปต์ เริ่มเปิดเผยต่อโลกถึงรายละเอียดเกี่ยวกับความโอ่อ่ามโหฬารของอียิปต์ในอดีต. นี้ทำให้ง่ายขึ้นที่จะนึกภาพ “การหนัก” ที่พวกยิศราเอลเคยประสบครั้งหนึ่งนั้น.—เอ็กโซโด 1:13, 14.
ในคืนที่พวกเขาได้รับการปลดปล่อยจากอียิปต์นั้น พวกยิศราเอลได้รวมตัวกันที่เมืองราเมเสสและต่อจากนั้นก็เดินขบวนไปถึง “ชายป่ากันดาร.” (เอ็กโซโด 12:37; 13:20) ณ บริเวณนี้ พระเจ้าทรงรับสั่งให้พวกเขา “ย้อนกลับไป” และ “ตั้งค่ายตรงนั้นอยู่ใกล้ทะเล.” ชาวอียิปต์คิดว่าการเคลื่อนย้ายที่แปลกนี้เป็นการ “หลงติดอยู่” และกษัตริย์อียิปต์ออกไปข้างหน้าพร้อมกับกองทัพของเขาและรถรบ 600 คันเพื่อชิงตัวอดีตทาสของเขากลับคืนมาอีก.—เอ็กโซโด 14:1-9.
การอพยพ
ตามที่โจซีฟุส นักประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษแรกสากลศักราชแจ้งไว้นั้น กองทัพอียิปต์ได้ขับไล่พวกยิศราเอล “ไปยังบริเวณแคบ ๆ” และทำให้พวกเขาติดกับอยู่ “ระหว่างเงื้อมผาที่ไปถึงยากกับทะเล.” จุดที่พวกยิศราเอลข้ามทะเลแดงนั้นไม่เป็นที่ทราบกันอย่างแน่นอนในทุกวันนี้. อย่างไรก็ดี นับว่าง่ายที่จะนึกภาพเหตุการณ์จากบนยอดภูเขาเป็นแนวตั้งตระหง่านทางปลายสุดด้านเหนือของทะเลแดง. เป็นที่น่าสนใจ ภูเขานั้นมีชื่อว่าเจเบล อะทาคา หมายถึง “ภูเขาแห่งการช่วยให้รอดพ้น.” ระหว่างเทือกเขานี้กับทะเลแดงเป็นที่ราบเล็ก ๆ ซึ่งแคบจนตีนเขาเกือบจะยื่นลงไปในทะเลทีเดียว. ฝั่งตรงข้ามของทะเลแดงเป็นโอเอซิส ที่มีน้ำพุหลายบ่อ มีชื่อว่า ‘อายุน มูซา’ ซึ่งหมายความว่า “บ่อน้ำของโมเซ.” ท้องทะเลระหว่างสองจุดนี้ค่อย ๆ ลาดลง ขณะที่ที่อื่นนั้นลึกลงทันทีจนถึงความลึกระหว่าง 9–18 เมตร.
นักเทววิทยาที่ไร้ความเชื่อแห่งคริสต์ศาสนจักรได้พยายามจะทำให้การอัศจรรย์ของพระเจ้าที่ทรงกระทำเมื่อพระองค์แยกน้ำในทะเลแดงออกจากกันแล้วทำให้พวกยิศราเอลสามารถหนีรอดไปบนดินแห้งนั้นเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อถือ. พวกเขากำหนดตำแหน่งของเหตุการณ์นั้นใหม่ที่หนองน้ำหรือบึงซึ่งตื้นทางเหนือของทะเลแดง. แต่นั่นไม่ตรงกับบันทึกของคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งแจ้งหลายครั้งว่าการข้ามนั้นมีขึ้นในทะเลแดง ณ บริเวณที่มีน้ำพอที่จะทำให้ฟาโรห์และกองทัพทั้งสิ้นของเขาจม ใช่แล้ว เพื่อทำให้พวกเขาจมหายไป.—เอ็กโซโด 14:26-31; บทเพลงสรรเสริญ 136:13-15; เฮ็บราย 11:29.
ถิ่นทุรกันดารซีนาย
สภาพการณ์ที่ทารุณซึ่งประสบกันในแหลมซีนายนั้นมีการพรรณนาไว้ชัดราวกับตาเห็นในเรื่องราวจากคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการพเนจรของพวกยิศราเอล. (พระบัญญัติ 8:15) ดังนั้น คนทั้งชาติจะชุมนุมกัน ณ เชิงภูเขาซีนายเพื่อรับพระบัญญัติของพระเจ้า และต่อมาก็ถอยไปยืนอยู่ “แต่ไกล” ได้หรือ? (เอ็กโซโด 19:1, 2; 20:18) มีบริเวณอันกว้างใหญ่พอไหมที่อำนวยให้มีการเคลื่อนไหวดังกล่าวของฝูงชนที่กะประมาณว่ามีจำนวนสามล้านคน?
อาเทอร์ สแตนลีย์ นักทัศนาจรและผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลในศตวรรษที่ 19 ได้ไปเยือนบริเวณภูเขาซีนาย และพรรณนาภาพที่คณะผู้ติดตามของเขาได้เห็นหลังจากที่ปีนยอดเขาราส ซาฟซาฟาว่า “ผลกระทบที่มีต่อเรา เช่นเดียวกับที่มีต่อทุก ๆ คนที่ได้เห็นและพรรณนาภาพนั้น เป็นแบบฉับพลันทันที . . . . ที่นี่เป็นที่ราบสีเหลืองกว้างลาดลงไปจนถึงฐานของหน้าผา . . . เมื่อนึกถึงว่าแทบจะไม่มีเลยที่พื้นราบกับภูเขามาบรรจบกันเช่นนั้นในภูมิภาคนี้ นั่นเป็นหลักฐานที่สำคัญมากต่อความจริงของการบรรยายที่ว่าการบรรจบกันเช่นนั้นจะพบได้แห่งหนึ่ง และอยู่ภายในบริเวณใกล้เคียงภูเขาซีนายตามคำเล่าลือนั้น.”
แผ่นดินแห่งคำสัญญา
ในปีที่ 40 แห่งการพเนจรของพวกยิศราเอลในถิ่นทุรกันดาร โมเซได้ให้คำพรรณนานี้เกี่ยวกับลักษณะพิเศษของแผ่นดินที่พวกเขากำลังจะเข้าไปนั้นว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะพาเจ้าทั้งหลายเข้ามาในประเทศที่ดี ที่มีลำธารและน้ำพุ ซึ่งไหลมาจากหุบเขา และภูเขาทั้งหลาย.”—พระบัญญัติ 8:7.
ไม่นานคนทั้งชาติก็ได้ประสบความเป็นจริงแห่งคำสัญญานี้เมื่อมาชุมนุมกัน ทั้งชาย, หญิง, เด็ก ๆ, และคนต่างชาติในหุบเขาเซเค็มที่มีน้ำบริบูรณ์ระหว่างภูเขาเอบาลกับภูเขาฆะรีซิม. หกตระกูลอยู่ตรงเชิงเขาฆะรีซิม. อีกหกตระกูลชุมนุมกันอยู่ทางด้านตรงข้ามของหุบเขา ณ เชิงภูเขาเอบาลเพื่อฟังคำอวยพรของพระเจ้าซึ่งชาตินั้นจะประสบหากพวกเขาเชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวา และคำสาปแช่งที่จะเกิดขึ้นหากพวกเขาไม่ได้รักษากฎหมายของพระเจ้า. (ยะโฮซูอะ 8:33-35) แต่มีพื้นที่พอเพียงที่ชาตินั้นจะเข้าไปอยู่ในหุบเขาแคบ ๆ นี้ไหม? และพวกเขาทั้งหมดจะได้ยินโดยไม่มีเครื่องขยายเสียงสมัยปัจจุบันได้อย่างไร?
พระเจ้ายะโฮวาอาจขยายเสียงของพวกเลวีอย่างอัศจรรย์ก็ได้. อย่างไรก็ดี ดูเหมือนการอัศจรรย์ดังกล่าวไม่จำเป็น. การถ่ายทอดเสียงในหุบเขานี้นับว่าดีเยี่ยม. อัลเฟรด เอเดอร์ไชม์ ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลในศตวรรษที่ 19 ได้เขียนว่า “นักทัศนาจรทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันในสองประเด็น: 1. ข้อที่ว่าไม่มีความลำบากใด ๆ ในการได้ยินชัดถึงสิ่งใด ๆ ที่มีการพูดในหุบเขานั้นทั้งจากภูเขาเอบาลและฆะรีซิม. 2. ภูเขาสองลูกนี้มีพื้นที่ในการยืนเพียงพอสำหรับชาติยิศราเอลทั้งหมด.”
วิลเลียม ทอมสัน ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลในศตวรรษที่ 19 อีกคนหนึ่งได้พรรณนาถึงประสบการณ์ของเขาในหุบเขานั้นในหนังสือแผ่นดินและหนังสือ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ผมได้ตะโกนเพื่อจะได้ยินเสียงสะท้อน และจากนั้นก็จินตนาการว่าคงต้องเป็นเช่นไรเมื่อพวกเลวีที่เปล่งเสียงดังแถลงว่า . . . ‘ความแช่งจงมีแก่คนที่ทำรูปปั้นแกะสลักใด ๆ สิ่งที่น่าเกลียดชังต่อพระยะโฮวา.’ และคนทั้งปวงตอบว่า อาเมน! เสียงดังขึ้นสิบเท่าจากฝูงชนจำนวนมหาศาล เพิ่มขึ้นและดังขึ้น และสะท้อนกลับไปมาจากภูเขาเอบาลถึงฆะรีซิม และจากภูเขาฆะรีซิมถึงเอบาล.”—เทียบกับพระบัญญัติ 27:11-15.
หุบเขายิศเรล
หุบเขาที่อุดมสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของเซเค็ม หุบเขาที่สูงขึ้นจากใต้ระดับพื้นทะเลและเปิดออกไปสู่ที่ราบอันกว้างใหญ่ไพศาล. บริเวณนี้ทั้งสิ้นมีชื่อว่าหุบเขายิศเรล ตั้งชื่อตามเมืองยิศเรล. ทางเหนือของหุบเขานี้คือเนินเขาฆาลิลายที่นาซาเร็ธบ้านเกิดของพระเยซูตั้งอยู่. จอร์จ สมิท อธิบายไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์ทางประวัติศาสตร์แห่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “นาซาเร็ธตั้งอยู่ในแอ่งระหว่างเนินเขาต่าง ๆ แต่ทันทีที่คุณปีนขึ้นไปถึงขอบแอ่งนี้ . . . คุณเห็นทัศนียภาพที่น่าดูเสียนี่กระไร! [หุบเขายิศเรล] ตั้งอยู่ตรงหน้าคุณ พร้อมกับ . . . สมรภูมิของหุบเขานั้น . . . นั่นเป็นแผนที่ของประวัติศาสตร์แห่งพระคริสตธรรมเดิม.”
ในที่ราบของหุบเขานี้ พวกนักโบราณคดีได้ขุดซากปรักหักพังของอาณาจักรเมืองต่าง ๆ ที่พวกยิศราเอลได้พิชิตในสมัยของยะโฮซูอะ กล่าวคือเมืองทาอานาค, เมกิดโด, โยกเนอัม และบางทีอาจจะเมืองเคเดชก็ได้. (ยะโฮซูอะ 12:7, 21, 22, ฉบับแปลใหม่) ในภูมิภาคเดียวกันนี้ ในสมัยของผู้วินิจฉัยบาราคและฆิดโอน พระยะโฮวาทรงช่วยไพร่พลของพระองค์อย่างมหัศจรรย์ให้พ้นจากชาติศัตรูที่มีอานุภาพล้นเหลือ.—วินิจฉัย 5:1, 19-21; 6:33; 7:22.
หลายศตวรรษต่อมา กษัตริย์เยฮูทรงขี่รถม้าขึ้นไปทางหุบเขายังเมืองยิศเรลเพื่อสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระยะโฮวาต่ออีซาเบลกับเชื้อวงศ์ของอาฮาบที่ออกหาก. จากหอสังเกตการณ์ในเมืองยิศเรล คงง่ายที่จะมองเห็นการคืบใกล้เข้ามาทางทิศตะวันออกของกองทหารของเยฮูในระยะห่าง 19 กิโลเมตร. เนื่องจากเหตุนี้ คงจะมีเวลามากพอสำหรับกษัตริย์ยะโฮรามที่จะใช้ทหารส่งข่าวคนแรก และต่อมาก็ทหารส่งข่าวคนที่สองขี่ม้าออกไป และในที่สุดก็กษัตริย์ยะโฮรามแห่งยิศราเอลกับกษัตริย์อาฮัศยาแห่งยูดารีบดึงรถรบออกไปและพบเยฮูก่อนที่ท่านไปถึงเมืองยิศเรล. เยฮูประหารชีวิตยะโฮรามทันที. อาฮัศยาหนีไป แต่ภายหลังได้รับบาดเจ็บและท่านสิ้นพระชนม์ ณ เมืองเมกิดโด. (2 กษัตริย์ 9:16-27) จอร์จ สมิทเขียนเกี่ยวกับสถานที่สู้รบดังกล่าวข้างต้นว่า “เป็นเรื่องเด่นชัดที่ว่าไม่มีสักตอนเดียวในการบรรยายนั้น . . . ที่มีความเป็นไปไม่ได้ใด ๆ ทางด้านภูมิศาสตร์.”
ไม่ต้องสงสัยว่าพระเยซูทรงมองลงไปยังหุบเขายิศเรลบ่อยครั้ง และทรงคิดรำพึงถึงชัยชนะที่น่าตื่นเต้นซึ่งได้เกิดขึ้นที่นั่น โดยทราบว่าพระองค์ มาซีฮาที่ทรงสัญญาไว้ ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าให้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่ยิ่งกว่ายะโฮซูอะ, บาราค, ฆิดโอน, และเยฮูนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปในการเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลใช้เมกิดโด เมืองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์มากที่สุดในที่ราบของหุบเขานี้ เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่แห่งสงครามฮาร์–มาเกดอน (หมายถึง “ภูเขาแห่งเมกิดโด”). นั่นจะเป็นการสู้รบทั่วแผ่นดินโลกซึ่งพระเยซูคริสต์ ในฐานะพระมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายจะทำลายบรรดาศัตรูของพระเจ้าและของประชาคมคริสเตียน ไพร่พลแท้ของพระเจ้า.—วิวรณ์ 16:16; 17:14.
คัมภีร์ไบเบิลบรรยายว่าชาวยิวที่โกรธแค้นของเมืองนาซาเร็ธครั้งหนึ่งได้พยายามจะเหวี่ยงพระเยซูจาก “เงื้อมเขาที่เมืองของเขาตั้งอยู่บนเนินนั้น” ให้ถึงแก่ความตาย. (ลูกา 4:29) เป็นที่น่าสนใจ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองนาซาเร็ธในปัจจุบันมีหน้าผาสูง 12 เมตรที่เหตุการณ์นี้อาจได้เกิดขึ้น. พระเยซูได้รอดพ้นจากพวกศัตรู และคัมภีร์ไบเบิลเสริมว่า “พระองค์เสด็จลงไปถึงเมืองกัปเรนาอูม.” (ลูกา 4:30, 31) ที่จริง เมืองกัปเรนาอูม บนฝั่งทะเลฆาลิลาย อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก.
รายละเอียดเหล่านี้และรายละเอียดอื่น ๆ หลายอย่างได้ทำให้คนอื่นนอกเหนือจากนโปเลียนแสดงความประหลาดใจในความถูกต้องทางภูมิศาสตร์ในคัมภีร์ไบเบิล. ทอมสันเขียนไว้ในหนังสือแผ่นดินและหนังสือว่า “การอ้างอิง [ของคัมภีร์ไบเบิล] ถึงลักษณะภูมิประเทศนั้นมีจำนวนมากมายทีเดียว และเป็นที่จุใจทั้งสิ้น.” สแตนลีย์อธิบายไว้ในหนังสือซีนายและปาเลสไตน์ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้สึกประทับใจเนื่องจากความสอดคล้องกันเสมอระหว่างประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้กับภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติของทั้งพระคริสตธรรมเดิมกับพระคริสตธรรมใหม่.”
ความถูกต้องที่น่าประหลาดของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเรื่องราวทางภูมิศาสตร์นั้นเป็นแค่หลักฐานเดียวเท่านั้นที่ว่านั่นมิใช่เป็นเพียงหนังสือที่มีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์. หอสังเกตการณ์สามฉบับก่อนมีบทความที่เกี่ยวข้องกันในเรื่องคัมภีร์ไบเบิล. เราเชิญคุณให้รับและเพลิดเพลินกับอีกสามตอนในบทความชุดนี้.
[แผนที่หน้า 7]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
หุบเขายิศเรล
ยิศเรล
นาซาเร็ธ
ทาอานาค
เมกิดโด
โยกเนอัม
เคเดช
น
ทะเลฆาลิลาย
ทะเลใหญ่
ไมล์
กิโลเมตร
5
10
10
20
[ที่มาของภาพ]
Base on a map copyrighted by Pictorial Archive (Near Eastern History) Est. and Survey of Israel.
[รูปภาพหน้า 5]
ชาติยิศราเอลได้รับพระบัญญัติ ณ ภูเขาซีนาย
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.