พระธรรมเล่มที่ 12—2 กษัตริย์
ผู้เขียน: ยิระมะยา
สถานที่เขียน: ยะรูซาเลมและอียิปต์
เขียนเสร็จ: ปี 580 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: ประมาณ 920-580 ก.ส.ศ.
1. ประวัติศาสตร์อะไรบ้างที่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสอง และเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของอะไร?
พระธรรมพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองเดินเรื่องต่อไปเกี่ยวกับความวุ่นวายในอาณาจักรยิศราเอลและยูดา. อะลีซาได้รับเอาเสื้อคลุมของเอลียาและได้รับพระพรให้ได้รับพระวิญญาณเป็นสองเท่าของที่เอลียาได้ จึงทำการอัศจรรย์ 16 ครั้ง เมื่อเทียบกับที่เอลียาทำ 8 ครั้ง. ท่านพยากรณ์ต่อไปถึงเรื่องอวสานสำหรับยิศราเอลที่ออกหาก ซึ่งมีแต่เยฮูเท่านั้นที่สำแดงใจแรงกล้าต่อพระยะโฮวาอยู่ชั่วระยะหนึ่ง. เหล่ากษัตริย์แห่งยิศราเอลจมลงในความชั่วช้าหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดอาณาจักรฝ่ายเหนือก็แตกด้วยน้ำมืออัสซีเรียในปี 740 ก.ส.ศ. ส่วนในอาณาจักรยูดาทางใต้ กษัตริย์เด่น ๆ ไม่กี่องค์ โดยเฉพาะอย่างยะโฮซาฟาด, ยะโฮอาศ, ฮิศคียา, และโยซียา ได้ต้านทานคลื่นแห่งการออกหากอยู่ระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดนะบูคัดเนซัรได้ลงโทษตามคำพิพากษาของพระยะโฮวาโดยทำลายกรุงยะรูซาเลม, พระวิหาร, และแผ่นดินยูดาในปี 607 ก.ส.ศ. ดังนั้น คำพยากรณ์ของพระยะโฮวาจึงสำเร็จเป็นจริง และพระคำของพระองค์ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง!
2. อาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวกับผู้เขียนและการที่พงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองเป็นส่วนของสารบบ และพระธรรมนี้ครอบคลุมเวลาช่วงไหน?
2 เนื่องจากพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองนั้นแต่เดิมเป็นม้วนเดียวกับพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้น สิ่งที่กล่าวถึงแล้วเกี่ยวกับการที่ยิระมะยาเป็นผู้เขียนก็ใช้ได้ในที่นี้ด้วยเหมือนกัน เช่นเดียวกับข้อพิสูจน์ในเรื่องการเป็นส่วนของสารบบและความเชื่อถือได้ของพระธรรมนี้. พระธรรมนี้เขียนเสร็จประมาณปี 580 ก.ส.ศ. และครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่รัชกาลของอาฮัศยาแห่งยิศราเอลในปี 920 ก.ส.ศ. และสิ้นสุดลงในปีที่ 37 แห่งการถูกเนรเทศของยะโฮยาคิน คือปี 580 ก.ส.ศ.—1:1; 25:27.
3. การค้นพบทางโบราณคดีที่เด่นอะไรบ้างที่สนับสนุนพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสอง?
3 การค้นพบทางโบราณคดีที่สนับสนุนบันทึกของพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองให้หลักฐานเพิ่มเติมว่าพระธรรมนี้เป็นของแท้. ยกตัวอย่างเช่น มีศิลาจารึกของชาวโมอาบที่มีชื่อเสียง ซึ่งได้จารึกคำพรรณนาของเมซากษัตริย์โมอาบเกี่ยวกับสงครามระหว่างโมอาบกับยิศราเอล. (3:4, 5) นอกจากนี้ มีเสาหินปูนสี่เหลี่ยมสีดำที่ยอดเป็นรูปพีระมิดของกษัตริย์ชาลเมเนสเซอร์ที่สามแห่งอัสซีเรีย ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานบริติช กรุงลอนดอน ซึ่งกล่าวถึงชื่อกษัตริย์เยฮูของยิศราเอล. มีคำจารึกของกษัตริย์ทิกลัธ-พิเลเซอร์ที่สามแห่งอัสซีเรีย (พูละ) ที่กล่าวถึงนามกษัตริย์หลายองค์ของยิศราเอลกับยูดา ซึ่งรวมถึง มะนาเฮ็ม, อาฮาศ, และเพคาด้วย.—15:19, 20; 16:5-8.a
4. อะไรพิสูจน์ว่าพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองเป็นส่วนที่แยกไม่ได้ของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ?
4 ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนประการหนึ่งในเรื่องความเชื่อถือได้ของพระธรรมนี้จะพบในคำพรรณนาอย่างตรงไปตรงมาที่สุดเกี่ยวกับการลงโทษตามคำพิพากษาของพระยะโฮวาต่อไพร่พลของพระองค์. ขณะที่อาณาจักรยิศราเอลพินาศก่อนและต่อมาก็อาณาจักรยูดา เราจึงเข้าใจเต็มที่ถึงอำนาจแห่งการแจ้งคำพิพากษาเชิงพยากรณ์ของพระยะโฮวาในพระบัญญัติ 28:15–29:28. ในการทำลายอาณาจักรทั้งสอง “ความพิโรธแห่งพระยะโฮวาก็ได้เผาแผ่นดินนี้, และพระองค์ได้ทรงพาความแช่งทั้งปวงที่ได้เขียนไว้ในหนังสือมาถึงแผ่นดินนี้.” (บัญ. 29:27; 2 กษัต. 17:18; 25:1, 9-11) เหตุการณ์อื่น ๆ ที่บันทึกในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองมีการอธิบายชัดเจนในที่อื่น ๆ ของพระคัมภีร์. ที่ลูกา 4:24-27 หลังจากที่พระเยซูตรัสถึงเอลียาและหญิงม่ายเมืองซาเร็บตา พระองค์ได้ตรัสถึงอะลีซาและนามานเพื่อเผยให้ทราบสาเหตุที่พระองค์ไม่เป็นที่ยอมรับในฐานะผู้พยากรณ์คนหนึ่งในเขตบ้านเกิดของพระองค์. ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า พงศาวดารกษัตริย์ทั้งฉบับต้นและฉบับสองเป็นส่วนที่แยกไม่ได้ของพระคัมภีร์บริสุทธิ์.
เนื้อเรื่องในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสอง
5. คำตำหนิและคำตัดสินอะไรที่เอลียาแจ้งแก่อาฮัศยา และเพราะเหตุใด?
5 อาฮัศยา กษัตริย์ยิศราเอล (1:1-18). ราชบุตรผู้นี้ของอาฮาบประชวรเนื่องจากการพลัดตกในวังของตนเอง. ท่านส่งคนไปถามบาละซีบูบพระแห่งชาวเอ็คโรนว่าตนจะหายหรือไม่. เอลียาขัดขวางผู้ส่งข่าวและให้พวกเขากลับไปหากษัตริย์ ตำหนิที่ท่านไม่ทูลถามพระเจ้าเที่ยงแท้และบอกท่านว่า เพราะท่านไม่ได้หันเข้าหาพระเจ้าแห่งยิศราเอล ท่านจะตายแน่นอน. เมื่อกษัตริย์ส่งนายทหารกับคน 50 คนไปเพื่อนำตัวเอลียามาเข้าเฝ้ากษัตริย์ เอลียาขอให้ไฟตกลงมาจากสวรรค์เผาผลาญพวกเขา. สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับนายทหารคนที่สองกับคนของเขา 50 คน. นายทหารคนที่สามกับคน 50 คนถูกส่งไปอีก และคราวนี้เอลียาไว้ชีวิตพวกเขา ทั้งนี้เนื่องด้วยนายทหารขอร้องด้วยความนับถือ. เอลียาได้ไปพร้อมกับพวกทหารเพื่อเฝ้ากษัตริย์และแจ้งการลงโทษถึงตายแก่อาฮัศยาอีกครั้งหนึ่ง. กษัตริย์เสียชีวิตดังคำกล่าวของเอลียา. หลังจากนั้นยะโฮรามอนุชาของอาฮัศยาได้เป็นกษัตริย์เหนือยิศราเอล เพราะอาฮัศยาไม่มีราชบุตรสืบตำแหน่ง.
6. ภายใต้สภาพการณ์ใดบ้างที่เอลียาแยกจากอะลีซา และในไม่ช้ามีการแสดงให้เห็นอย่างไรว่า “วิญญาณของเอลียา” ได้อยู่กับอะลีซา?
6 อะลีซาสืบตำแหน่งจากเอลียา (2:1-25). ถึงเวลาที่เอลียาจะถูกรับไป. อะลีซาเดินทางร่วมกับเอลียาจากฆีละฆาลไปยังเบธเอล, ยะริโฮ, และในที่สุดข้ามแม่น้ำยาระเดน. เอลียาได้ทำให้น้ำในแม่น้ำยาระเดนแยกโดยเอาเสื้อประจำตำแหน่งของท่านฟาดน้ำ. ขณะที่อะลีซาเห็นรถรบและม้าที่เป็นเปลวไฟมากั้นระหว่างท่านกับเอลียา และเห็นเอลียาขึ้นไปในลมพายุ อะลีซาได้รับพระวิญญาณเป็นสองเท่าของเอลียาตามคำสัญญา. ในไม่ช้าท่านแสดงให้เห็นว่า “วิญญาณของเอลียา” สถิตอยู่กับท่าน. (2:15, ล.ม.) เมื่อรับเอาเสื้อชั้นนอกของเอลียาที่ตกลงมา ท่านใช้มันแยกแม่น้ำอีก. ครั้นแล้วท่านได้แก้พิษในน้ำเสียที่ยะริโฮ. ระหว่างทางไปเบธเอล พวกเด็กหนุ่มล้อเลียนท่านว่า “อ้ายหัวล้านจงเหาะขึ้นไปเถิด; อ้ายหัวล้านจงเหาะขึ้นไปเถิด.” (2:23) อะลีซาทูลต่อพระยะโฮวา และหมีตัวเมียสองตัวออกจากป่ามาฆ่าเด็กหนุ่มเกเรพวกนั้น 42 คน.
7. เพราะเหตุใดพระยะโฮวาจึงทรงช่วยยะโฮซาฟาดและยะโฮราม?
7 ยะโฮราม กษัตริย์ยิศราเอล (3:1-27). กษัตริย์องค์นี้ทำชั่วเสมอในคลองพระเนตรของพระยะโฮวา โดยยึดตามการบาปของยาระบะอาม. กษัตริย์แห่งโมอาบเคยถวายเครื่องบรรณาการต่อยิศราเอล แต่บัดนี้แข็งข้อ และยะโฮรามได้รับความช่วยเหลือจากกษัตริย์ยะโฮซาฟาดแห่งยูดาและกษัตริย์ของอะโดมในการต่อสู้กับโมอาบ. ระหว่างยกไปโจมตี กองทัพยกมาถึงบริเวณที่แห้งแล้งและจวนจะล้มตาย. กษัตริย์ทั้งสามจึงไปหาอะลีซาเพื่อทูลถามพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน. เนื่องจากยะโฮซาฟาดผู้ซื่อสัตย์ พระยะโฮวาจึงช่วยพวกเขาพ้นจากสภาพย่ำแย่ และให้พวกเขาได้ชัยเหนือพวกโมอาบ.
8. อะลีซาทำการอัศจรรย์อะไรอีกบ้าง?
8 การอัศจรรย์อื่น ๆ ของอะลีซา (4:1–8:15). ขณะที่เจ้าหนี้กำลังจะเอาลูกชายสองคนของนางไปเป็นทาส หญิงม่ายซึ่งเป็นภรรยาของศิษย์พวกผู้พยากรณ์ได้ขอความช่วยเหลือจากอะลีซา. ท่านทำให้น้ำมันในบ้านเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างอัศจรรย์เพื่อนางจะสามารถขายได้มากพอจะใช้หนี้ของนาง. หญิงชาวซูเนมคนหนึ่งยอมรับว่าอะลีซาเป็นผู้พยากรณ์ของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ นางกับสามีจัดห้องให้ท่านพักขณะท่านอยู่ในเมืองซูเนม. เนื่องด้วยความกรุณาของนาง พระยะโฮวาจึงทรงอวยพรให้นางมีบุตรชาย. ไม่กี่ปีต่อมาเด็กนั้นป่วยและตาย. หญิงนั้นตามหาอะลีซาทันที. ท่านไปที่บ้านของนางพร้อมกัน และด้วยฤทธิ์ของพระยะโฮวา ท่านจึงปลุกเด็กคนนั้นให้กลับมีชีวิตอีก. ย้อนกลับมายังเหล่าศิษย์พวกผู้พยากรณ์ที่ฆีละฆาล อะลีซาขจัด “พิษร้าย . . . ในหม้อแกง” อย่างอัศจรรย์โดยทำให้น้ำเต้าพิษปราศจากอันตราย. จากนั้นท่านเลี้ยงอาหารร้อยคนด้วยขนมปังข้าวบาร์เลย์ 20 ก้อน และถึงกระนั้นก็ “ยังมีเหลืออยู่อีก.”—4:40, 44.
9. มีการทำการอัศจรรย์อะไรกับนามาน และกับหัวขวาน?
9 นามานแม่ทัพซีเรียเป็นโรคเรื้อน. เด็กหญิงชาวยิศราเอลที่เป็นเชลยบอกภรรยานามานว่ามีผู้พยากรณ์คนหนึ่งในซะมาเรียที่สามารถรักษาเขาได้. นามานเดินทางไปหาอะลีซา แต่แทนที่อะลีซาจะออกมาพบนามานด้วยตัวเอง ท่านเพียงแต่ฝากบอกนามานให้ไปชำระตัวเจ็ดครั้งในแม่น้ำยาระเดน. นามานขุ่นเคืองต่อการกระทำที่ดูเหมือนขาดความนับถือเช่นนี้. แม่น้ำแห่งดาเมเซ็คไม่ดีกว่าแม่น้ำทั้งปวงในยิศราเอลหรือ? แต่ท่านถูกโน้มน้าวให้เชื่อฟังอะลีซา และจึงหายโรค. อะลีซาไม่ยอมรับของกำนัลเป็นสิ่งตอบแทน แต่ต่อมาเฆฮะซีคนรับใช้ของท่านวิ่งตามนามานและขอของกำนัลในนามของอะลีซา. เมื่อเขากลับมาและพยายามหลอกอะลีซา เฆฮะซีจึงเป็นโรคเรื้อน. ยังมีการทำการอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งเมื่ออะลีซาทำให้หัวขวานลอยน้ำ.
10. มีการแสดงให้เห็นกองกำลังที่เหนือกว่าของพระยะโฮวาอย่างไร และอะลีซาทำอย่างไรให้ชาวซีเรียกลับไป?
10 เมื่ออะลีซาเตือนกษัตริย์ยิศราเอลถึงแผนการที่พวกซีเรียจะสังหารท่าน กษัตริย์ซีเรียจึงส่งกองทหารไปยังเมืองโดธารเพื่อจับอะลีซา. เมื่อเห็นกองทัพซีเรียล้อมเมืองไว้ คนรับใช้ของอะลีซารู้สึกกลัวมาก. อะลีซารับรองกับเขาว่า “อย่ากลัวเลย: ด้วยผู้ที่อยู่ฝ่ายเราก็มากกว่าที่อยู่ฝ่ายเขา.” แล้วอะลีซาอธิษฐานขอพระยะโฮวาทรงโปรดให้คนรับใช้ของท่านเห็นกองทัพใหญ่ที่อยู่ฝ่ายอะลีซา. “ดูเถอะ, ภูเขานั้นเต็มไปด้วยม้าและรถเป็นเปลวไฟล้อมรอบอะลีซา.” (6:16, 17) เมื่อพวกซีเรียโจมตี ผู้พยากรณ์อธิษฐานถึงพระยะโฮวาอีก และพวกซีเรียถูกทำให้จิตใจมืดบอดและถูกนำไปหากษัตริย์ยิศราเอล. แต่แทนที่จะให้พวกเขาถูกประหาร อะลีซาทูลกษัตริย์ให้เลี้ยงอาหารเขาและปล่อยกลับไป.
11. คำพยากรณ์ของอะลีซาที่เกี่ยวกับชาวอัสซีเรียและเบ็นฮะดัดสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
11 ต่อมา กษัตริย์เบ็นฮะดัดของซีเรียยกมาล้อมกรุงซะมาเรีย และเกิดการกันดารอาหารครั้งใหญ่. กษัตริย์ยิศราเอลกล่าวหาว่าอะลีซาเป็นต้นเหตุ แต่ผู้พยากรณ์บอกล่วงหน้าว่าจะมีอาหารมากมายในวันรุ่งขึ้น. ในตอนกลางคืน พระยะโฮวาทรงบันดาลให้ชาวซีเรียได้ยินเสียงกองทัพใหญ่ พวกเขาจึงหนีไป ทิ้งเสบียงทั้งหมดไว้ให้พวกยิศราเอล. หลังจากนั้นระยะหนึ่งเบ็นฮะดัดป่วย. เมื่อทราบว่าอะลีซามายังเมืองดาเมเซ็ค เขาจึงส่งฮะซาเอลไปสอบถามว่าตนจะหายป่วยหรือไม่. อะลีซาตอบว่ากษัตริย์จะต้องสิ้นชีพ และฮะซาเอลจะขึ้นเป็นกษัตริย์แทน. ฮะซาเอลเองทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องแน่นอนโดยฆ่ากษัตริย์และยึดเอาตำแหน่งกษัตริย์.
12. ยะโฮรามโอรสยะโฮซาฟาดปรากฏว่าเป็นกษัตริย์แบบไหน?
12 ยะโฮราม [โยราม] กษัตริย์ยูดา (8:16-29). ขณะเดียวกัน ในยูดา เวลานี้ยะโฮรามราชบุตรของยะโฮซาฟาดได้เป็นกษัตริย์. ท่านแสดงตัวว่าไม่ได้ดีไปกว่ากษัตริย์ยิศราเอลโดยทำสิ่งชั่วในสายพระเนตรพระยะโฮวา. มเหสีของท่านคืออะธัลลาราชธิดาของอาฮาบ ซึ่งพี่ชายของนางที่กำลังครองราชย์ในยิศราเอลก็ชื่อยะโฮรามเหมือนกัน. เมื่อยะโฮรามแห่งยูดาตาย อาฮัศยาราชบุตรของท่านจึงเป็นกษัตริย์ในยะรูซาเลม.
13. ปฏิบัติการรบแบบสายฟ้าแลบอะไรที่เยฮูได้ทำหลังจากได้รับการเจิม?
13 เยฮู กษัตริย์ยิศราเอล (9:1–10:36). อะลีซาส่งคนหนึ่งในเหล่าศิษย์พวกผู้พยากรณ์ไปเจิมเยฮูเป็นกษัตริย์แห่งยิศราเอลและมอบหมายท่านให้ประหารเชื้อวงศ์ทั้งสิ้นของอาฮาบ. เยฮูไม่รอช้า. ท่านออกตามยะโฮรามกษัตริย์แห่งยิศราเอลซึ่งกำลังพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บจากสงครามที่เมืองยิศเรล. ยามเห็นกำลังคนมากมายมุ่งหน้าใกล้เข้ามา และในที่สุดเขารายงานต่อกษัตริย์ว่า “กิริยาของผู้ขับรถนั้นท่าทางเหมือนเยฮูบุตร [“หลาน,” ล.ม.] นิมซี; ด้วยว่าเขาขับมาเร็วยิ่งนัก.” (9:20) ยะโฮรามแห่งยิศราเอลกับอาฮัศยาแห่งยูดาถามเจตนาของเยฮู. เยฮูตอบโดยถามว่า “จะมาดีอย่างไรได้, เมื่อการล่วงประเวณีและการทรงเจ้าเข้าผีของอิซาเบ็ลราชมารดาท่านยังมีมากอยู่?” (9:22) ขณะที่ยะโฮรามหันหนี เยฮูยิงธนูทะลุหัวใจเขา. ศพเขาถูกทิ้งไว้ในสวนของนาโบธ เป็นการตอบแทนสำหรับการที่อาฮาบทำให้โลหิตของผู้ไม่มีความผิดตก. ต่อมาเยฮูและทหารของท่านไล่ตามอาฮัศยา สังหารเขา เขาจึงสิ้นชีวิตที่เมืองมะฆีโด. กษัตริย์ทั้งสองสิ้นชีพในการรบแบบสายฟ้าแลบครั้งแรกของเยฮู.
14. คำพยากรณ์ของเอลียาเกี่ยวกับอีซาเบลสำเร็จอย่างไร?
14 บัดนี้ถึงคราวของอีซาเบล! ขณะเยฮูขับรถด้วยชัยชนะเข้าเมืองยิศเรล อีซาเบลปรากฏตัวที่หน้าต่างในเมืองยิศเรลด้วยการเสริมสวยอย่างทรงเสน่ห์ที่สุด. เยฮูไม่ประทับใจเลย. ท่านสั่งคนรับใช้บางคนว่า “จงทิ้งมันลงมา.” นางถูกทิ้งลงมา เลือดของนางกระเซ็นติดฝาผนังและม้าที่ย่ำนาง. เมื่อพวกเขาจะนำศพนางไปฝังก็พบแต่กะโหลกศีรษะ, เท้า, และฝ่ามือของนาง. การนี้เป็นไปตามคำพยากรณ์ของเอลียา “ฝูงสุนัขจะได้กินเนื้อของอีซาเบ็ล . . . จะเป็นเหมือนปุ๋ยที่ในสวนยิศเรล.”—2 กษัต. 9:33, 36, 37; 1 กษัต. 21:23.
15. การเผชิญหน้าที่แตกต่างกันอะไรบ้างซึ่งเยฮูได้ประสบขณะเดินทางไปซะมาเรีย?
15 ต่อมาเยฮูสั่งประหารโอรส 70 องค์ของอาฮาบ และท่านกองศีรษะของพวกเขาไว้ที่ประตูเมืองยิศเรล. ทุกคนในเมืองยิศเรลที่ชอบสอพลออาฮาบถูกฆ่า. แล้วจึงมาถึงซะมาเรียเมืองหลวงของยิศราเอล! ระหว่างทางท่านพบกับพี่น้อง 42 คนของอาฮัศยาที่กำลังเดินทางไปเมืองยิศเรลโดยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น. พวกเขาถูกจับและประหาร. แต่ตอนนี้มีการพบกันในแบบที่ต่างออกไป. ยะโฮนาดาบบุตรเรคาบออกมาพบเยฮู. สำหรับคำถามของเยฮูที่ว่า “ใจของท่านตรงกับใจของข้า, และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือ?” ยะโฮนาดาบตอบว่า “เป็นดังนั้น.” เยฮูจึงให้เขาขึ้นรถรบไปกับท่านเพื่อจะเห็นกับตาถึง “ความร้อนรน” ของท่าน “ที่จะกระทำฝ่ายพระยะโฮวา.”—2 กษัต. 10:15, 16.
16. ปฏิบัติการของเยฮูต่อเชื้อวงศ์ของอาฮาบและต่อพระบาละเป็นไปอย่างทั่วถึงแค่ไหน?
16 เมื่อมาถึงกรุงซะมาเรีย เยฮูทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของอาฮาบที่เหลืออยู่ ตามถ้อยคำที่พระยะโฮวาตรัสแก่เอลียา. (1 กษัต. 21:21, 22) แต่จะว่าอย่างไรกับศาสนาของพระบาละอันน่าสะอิดสะเอียน? เยฮูประกาศว่า “อาฮาบได้ปรนนิบัติพระบาละแต่เล็กน้อย; แต่เยฮูจะปรนนิบัติให้มาก.” (2 กษัต. 10:18) โดยเรียกทุกคนที่นมัสการผีปิศาจมายังโบสถ์แห่งพระบาละ ท่านได้ให้พวกเขาสวมเสื้อสำหรับระบุตัวและทำให้แน่ใจว่าไม่มีผู้นมัสการพระยะโฮวาอยู่ท่ามกลางพวกเขา. แล้วท่านจึงสั่งคนของท่านสังหารคนเหล่านั้นไม่ให้หนีรอดสักคนเดียว. โบสถ์ของพระบาละถูกทำลาย และสถานที่นั้นถูกเปลี่ยนเป็นที่ถ่ายอุจจาระซึ่งยังอยู่จนถึงสมัยของยิระมะยา. “ดังนั้นแหละเยฮูได้ทำลายบาละออกจากประเทศยิศราเอล.”—10:28.
17. เยฮูพลาดเรื่องใด และพระยะโฮวาทรงเริ่มลงโทษชาวยิศราเอลอย่างไร?
17 อย่างไรก็ตาม แม้แต่เยฮูผู้กระตือรือร้นก็ล้มพลาด. ในเรื่องอะไร? ในเรื่องที่ท่านยังติดตามการนมัสการรูปโคทองคำที่ยาระบะอามตั้งไว้ในเมืองเบธเอลและเมืองดาน. ท่านไม่ได้ “ระวังประพฤติตามข้อกฎหมายแห่งพระยะโฮวาพระเจ้าแห่งยิศราเอลด้วยสุดใจ.” (10:31) แต่เนื่องด้วยสิ่งที่ท่านปฏิบัติต่อราชวงศ์ของอาฮาบ พระยะโฮวาจึงทรงสัญญาว่า เชื้อวงศ์ของท่านจะครองราชย์เหนือยิศราเอลจนถึงสี่ชั่วอายุ. ในสมัยของเยฮู พระยะโฮวาทรงเริ่มตัดเขตแดนส่วนตะวันออกของอาณาจักรออกไป โดยทรงบันดาลให้ฮะซาเอลแห่งซีเรียยกทัพมาตียิศราเอล. ภายหลังการครองราชย์ 28 ปี เยฮูจึงสิ้นชีพและยะโฮอาฮัศราชบุตรของท่านได้สืบตำแหน่ง.
18. การคบคิดของอะธัลยาในยูดาล้มเหลวอย่างไร และการครองราชย์ของยะโฮอาศมีอะไรเป็นที่น่าสังเกต?
18 ยะโฮอาศ [โยอาศ] กษัตริย์ยูดา (11:1–12:21). ราชชนนีอะธัลยาเป็นธิดาอีซาเบลทั้งกายทั้งใจ. เมื่อได้ยินถึงการตายของอาฮัศยาบุตรของนาง นางสั่งประหารราชวงศ์ทั้งสิ้นและขึ้นครองบัลลังก์แทน. มีแต่ยะโฮอาศโอรสน้อยของอาฮัศยาเท่านั้นที่รอดตายเมื่อถูกซ่อนไว้. ในปีที่เจ็ดแห่งการครองราชย์ของอะธัลยา ยะโฮยาดาปุโรหิตเจิมยะโฮอาศเป็นกษัตริย์และให้ประหารอะธัลยา. ยะโฮยาดานำประชาชนในการนมัสการพระยะโฮวา, สั่งสอนกษัตริย์ผู้เยาว์วัยในเรื่องหน้าที่ของท่านต่อพระยะโฮวา, และเตรียมการซ่อมแซมพระวิหารของพระยะโฮวา. ยะโฮอาศใช้ของกำนัลต่าง ๆ ทำให้ฮะซาเอลกษัตริย์ซีเรียล้มเลิกการโจมตี. ภายหลังปกครองในกรุงยะรูซาเลมเป็นเวลา 40 ปี ยะโฮอาศถูกข้าราชการของท่านลอบปลงพระชนม์ และอะมาซียาโอรสของท่านขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองแทน.
19. (ก) การนมัสการเท็จอะไรยังดำเนินต่อไปในรัชกาลของยะโฮอาฮัศและยะโฮอาศในยิศราเอล? (ข) อะลีซาจบชีวิตในฐานะผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาอย่างไร?
19 ยะโฮอาฮัศและยะโฮอาศ กษัตริย์ยิศราเอล (13:1-25). ยะโฮอาฮัศราชบุตรของเยฮูยังคงนมัสการรูปเคารพต่อไป และยิศราเอลตกอยู่ใต้อำนาจของซีเรียถึงแม้ยะโฮอาฮัดไม่ได้ถูกถอดจากบัลลังก์ก็ตาม. ต่อมาพระยะโฮวาทรงปล่อยพวกเขาเป็นอิสระ แต่พวกเขาก็ยังคงนมัสการรูปโคของยาระบะอามต่อไป. เมื่อยะโฮอาฮัศสิ้นชีพ ยะโฮอาศราชบุตรของท่านขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งยิศราเอลแทน ขณะที่ยะโฮอาศอีกองค์หนึ่งกำลังครองราชย์ในยูดา. ยะโฮอาศแห่งยิศราเอลยังคงนมัสการรูปเคารพของราชบิดาท่านต่อไป. เมื่อท่านสิ้นพระชนม์ยาระบะอามราชบุตรของท่านขึ้นเป็นกษัตริย์. ระหว่างรัชกาลของยะโฮอาศนี่แหละที่อะลีซาล้มป่วยและสิ้นชีวิต หลังจากที่ท่านกล่าวคำพยากรณ์ครั้งสุดท้ายที่ว่า ยะโฮอาศจะตีกองทัพซีเรียให้แตกพ่ายไปสามครั้ง ซึ่งคำพยากรณ์สำเร็จเป็นจริงตามกำหนด. การอัศจรรย์ครั้งสุดท้ายที่ถือว่าอะลีซาทำนั้นเกิดขึ้นภายหลังท่านสิ้นชีวิต เมื่อศพชายคนหนึ่งถูกทิ้งลงไปในหลุมฝังศพเดียวกัน ศพนั้นกลับมีชีวิตลุกขึ้นทันทีที่กระทบกระดูกของอะลีซา.
20. จงพรรณนาการปกครองของอะมาซียาในยูดา.
20 อะมาซียา กษัตริย์ยูดา (14:1-22). อะมาซียาทำสิ่งถูกต้องในสายพระเนตรของพระยะโฮวา แต่ท่านไม่ได้ทำลายที่สูงสำหรับการนมัสการ. ท่านถูกยะโฮอาศแห่งยิศราเอลพิชิตในสงคราม. ภายหลังการครองราชย์ 29 ปี ท่านถูกปลงพระชนม์ในคราวที่มีการคบคิดกันยึดอำนาจ. อะซาระยาโอรสของท่านถูกตั้งให้เป็นกษัตริย์แทน.
21. เกิดอะไรขึ้นระหว่างรัชกาลของยาระบะอามที่สองในยิศราเอล?
21 ยาระบะอามที่สอง กษัตริย์ยิศราเอล (14:23-29). ยาระบะอามที่สองขึ้นเป็นกษัตริย์ในอาณาจักรยิศราเอลยังคงนมัสการพระเท็จของปู่ย่าตายายของท่านต่อไป. ท่านครองราชย์ในกรุงซะมาเรียเป็นเวลา 41 ปี และประสบความสำเร็จในการตีเอาเขตแดนของยิศราเอลที่เสียไปกลับคืนมา. ซะคาเรียโอรสของท่านได้ขึ้นครองบัลลังก์สืบต่อจากท่าน.
22. มีกล่าวถึงการปกครองของอะซาระยาในยูดาอย่างไร?
22 อะซาระยา [อุซียา] กษัตริย์ยูดา (15:1-7). อะซาระยาปกครองเป็นเวลา 52 ปี. ท่านเป็นคนซื่อตรงในสายพระเนตรพระยะโฮวา แต่ท่านไม่ได้ทำลายที่สูงนั้น. ต่อมาพระยะโฮวาทรงบันดาลให้ท่านเป็นโรคเรื้อน และโยธามโอรสของท่านดูแลราชภารกิจต่าง ๆ ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่ออะซาระยาสิ้นชีพ.
23. ยิศราเอลประสบความชั่วร้ายอะไรบ้างในขณะที่เกิดการคุกคามจากอัสซีเรีย?
23 ซะคาเรีย, ซาลุม, มะนาเฮ็ม, พคายาและเพคา กษัตริย์ยิศราเอล (15:8-31). ตามคำสัญญาของพระยะโฮวา ราชบัลลังก์แห่งยิศราเอลอยู่กับเชื้อวงศ์ของเยฮูจนถึงชั่วอายุที่สี่ คือ ซะคาเรีย. (10:30) ดังนั้น ท่านได้เป็นกษัตริย์ในซะมาเรีย และหกเดือนต่อมาท่านก็ถูกปลงพระชนม์. ซาลุมผู้ชิงอำนาจได้ครองราชย์เพียงหนึ่งเดือน. การนมัสการเท็จ, การลอบปลงพระชนม์, และการใช้เล่ห์ร้ายยังคงก่อวิบัติแก่ยิศราเอลขณะที่กษัตริย์มะนาเฮ็ม, พคายา, และเพคา สิ้นชีพไปตามลำดับ. ระหว่างการครองราชย์ของเพคา อัสซีเรียเริ่มมาคุกคาม. โฮเซอาลอบปลงพระชนม์เพคาเพื่อเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งยิศราเอล.
24. หลังจากโยธาม อาฮาศแห่งยูดาได้ทำบาปอย่างไรเกี่ยวกับการนมัสการ?
24 โยธามและอาฮาศ กษัตริย์แห่งยูดา (15:32–16:20). โยธามดำเนินการนมัสการบริสุทธิ์ แต่ปล่อยให้ที่นมัสการบนเนินสูงมีอยู่ต่อไป. อาฮาศโอรสของท่านเลียนแบบกษัตริย์แห่งยิศราเอลอาณาจักรเพื่อนบ้านโดยประพฤติสิ่งชั่วในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. เมื่อถูกกษัตริย์ยิศราเอลและซีเรียโจมตี ท่านขอร้องกษัตริย์อัสซีเรียให้ช่วย. กองทัพอัสซีเรียมาช่วยท่าน โดยยึดเมืองดาเมเซ็ค และอาฮาศไปที่นั่นเพื่อพบกษัตริย์ของอัสซีเรีย. เมื่อเห็นแท่นบูชาที่นั่น อาฮาศได้ให้สร้างแท่นแบบเดียวกันในกรุงยะรูซาเลม และท่านเริ่มถวายเครื่องบูชาบนแท่นนั้นแทนการถวายบนแท่นทองแดงที่พระวิหารของพระยะโฮวา. ฮิศคียาโอรสของท่านขึ้นเป็นกษัตริย์ยูดาต่อจากท่าน.
25. ยิศราเอลตกเป็นเชลยอย่างไร และเพราะเหตุใด?
25 โฮเซอา กษัตริย์ยิศราเอลองค์สุดท้าย (17:1-41). บัดนี้ยิศราเอลตกอยู่ใต้อำนาจอัสซีเรีย. โฮเซอาแข็งข้อและขอความช่วยเหลือจากอียิปต์ แต่ในปีที่เก้าแห่งรัชกาลของท่าน ยิศราเอลถูกอัสซีเรียพิชิตและถูกกวาดไปเป็นเชลย. ดังนั้น อาณาจักรยิศราเอลสิบตระกูลจึงถึงกาลอวสาน. เพราะเหตุใด? “เพราะพวกยิศราเอลได้ทำผิดต่อพระยะโฮวาพระเจ้าของตน . . . เขาได้ไหว้รูปพระ, ซึ่งพระยะโฮวาได้สั่งเขาแล้วว่า, ‘อย่าทำการนี้เลย.’ . . . เหตุฉะนี้พระยะโฮวาได้ทรงพระพิโรธพวกยิศราเอลเป็นอันมาก, จึงทรงขับไล่เขาไปให้พ้นจากคลองพระเนตรของพระองค์.” (17:7, 12, 18) พวกอัสซีเรียนำประชาชนจากทางตะวันออกมาตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินนี้ และคนเหล่านี้ได้มา “กลัวเกรงพระยะโฮวา” แม้ว่าจะยังนมัสการพระต่าง ๆ ของตนเอง.—17:33.
26, 27. (ก) ฮิศคียาแห่งยูดาได้ทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระยะโฮวาอย่างไร? (ข) พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของฮิศคียาอย่างไรในการทำให้พวกอัสซีเรียกลับไป? (ค) คำพยากรณ์ของยะซายาสำเร็จเป็นจริงต่อไปอย่างไร?
26 ฮีศคียา กษัตริย์ยูดา (18:1–20:21). ฮีศคียาทำสิ่งถูกต้องในสายพระเนตรของพระยะโฮวา ตามสิ่งทั้งปวงที่ดาวิดบรรพบุรุษของท่านได้ทำ. ท่านได้ถอนรากถอนโคนการนมัสการเท็จ และทำลายที่นมัสการบนเนินสูง และยังทำลายงูทองแดงที่โมเซได้ทำไว้ด้วยเนื่องจากตอนนี้ประชาชนไปนมัสการมัน. ตอนนี้ซันเฮริบกษัตริย์อัสซีเรียรุกรานยูดาและยึดได้หลายหัวเมือง. ฮีศคียาพยายามยับยั้งเขาด้วยการถวายเครื่องบรรณาการมากมาย แต่ซันเฮริบส่งรับซาเคทูตของตนมา ผู้ซึ่งมายังกำแพงยะรูซาเลมและเรียกร้องให้ยอมจำนนอีกทั้งเยาะเย้ยพระยะโฮวาให้ผู้คนทั้งปวงได้ยิน. ผู้พยากรณ์ยะซายาทำให้ฮีศคียาผู้ซื่อสัตย์รู้สึกมั่นใจด้วยการแจ้งข่าวความวิบัติอันจะเกิดแก่ซันเฮริบ. “พระยะโฮวาได้ตรัสว่า, ‘อย่ากลัวเลย.’” (19:6) ขณะที่ซันเฮริบข่มขู่ต่อไป ฮีศคียาทูลวิงวอนพระยะโฮวาดังนี้: “โอ้พระยะโฮวาพระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย, บัดนี้ขอพระองค์โปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายรอดจากหัตถ์ของท่าน, เพื่อแผ่นดินทั้งปวงทั่วพิภพจะได้รู้ว่าพระองค์เป็นพระยะโฮวาพระเจ้าองค์เดียว.”—19:19.
27 พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานที่ไม่เห็นแก่ตัวนี้ไหม? แรกทีเดียว พระองค์ทรงส่งข่าวผ่านยะซายาว่า “พระทัยอันแรงกล้าของพระยะโฮวาแห่งพลโยธานั่นเอง” จะทำให้ศัตรูถอนทัพกลับ. (19:31, ล.ม.) แล้วในคืนนั้นเองพระองค์ทรงส่งทูตสวรรค์ออกไปสังหาร 185,000 คนในค่ายอัสซีเรีย. ในเวลาเช้า “คนทั้งหลายเหล่านั้นเป็นแต่ซากศพ.” (19:35) ซันเฮริบยกกลับไปด้วยความพ่ายแพ้และอยู่ในกรุงนีนะเว. ที่นั่น พระนิศโรดของท่านทำให้ท่านผิดหวังอีกครั้ง เพราะขณะที่ท่านก้มลงนมัสการ โอรสท่านเองได้ปลงพระชนม์ท่าน ซึ่งสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ของยะซายา.—19:7, 37.
28. ฮิศคียามีชื่อเสียงเนื่องด้วยอะไร แต่ท่านได้ทำผิดในข้อใด?
28 ฮีศคียาประชวรหนักเกือบสิ้นพระชนม์ แต่อีกครั้งหนึ่งพระยะโฮวาทรงสดับคำอธิษฐานของท่านและยืดชีวิตท่านอีก 15 ปี. กษัตริย์แห่งบาบูโลนส่งทูตมาพร้อมกับของกำนัล และฮิศคียาถือสิทธิ์อวดสิ่งมีค่าทุกอย่างในท้องพระคลังแก่ทูตเหล่านั้น. ยะซายาจึงพยากรณ์ว่าวันหนึ่งทุกสิ่งทุกอย่างในราชวังของท่านจะถูกนำไปบาบูโลน. ต่อมาฮีศคียาสิ้นพระชนม์ ท่านมีชื่อเสียงเนื่องด้วยความยิ่งใหญ่และเนื่องด้วยอุโมงค์ที่ท่านสร้างเพื่อส่งน้ำเข้าในกรุงยะรูซาเลม.
29. มะนาเซตั้งการไหว้รูปเคารพอะไรขึ้น พระยะโฮวาทรงพยากรณ์ถึงความหายนะอะไร และมะนาเซได้ทำบาปอะไรอีก?
29 มะนาเซ, เอโมน, และโยซียา กษัตริย์ยูดา (21:1–23:30). มะนาเซครองราชย์ต่อจากฮิศคียาราชบิดาและครองราชย์ 55 ปี ท่านทำการชั่วมากมายในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. ท่านได้บูรณะที่นมัสการเท็จบนเนินสูง, สร้างแท่นบูชาบาละ, สร้างเสาศักดิ์สิทธิ์อย่างที่อาฮาบได้สร้าง, และทำให้วิหารของพระยะโฮวาเป็นที่ไหว้รูปเคารพ. พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าว่าพระองค์จะนำความหายนะมาสู่กรุงยะรูซาเลมดังที่พระองค์ได้ทำแก่ซะมาเรียคือ “เช็ดให้สะอาดแล้วคว่ำเสีย.” นอกจากนั้นมะนาเซยังทำให้โลหิตของผู้ไม่มีผิดไหลออก “เป็นอันมาก.” (21:13, 16, ล.ม.) ท่านมีผู้สืบตำแหน่งคือเอโมนราชบุตร ซึ่งยังทำชั่วต่อไปสองปีจนกระทั่งถูกลอบปลงพระชนม์.
30. เพราะเหตุใดและโดยวิธีใดที่โยซียาหันเข้าหาพระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจ?
30 ตอนนี้ประชาชนตั้งโยซียาราชบุตรของเอโมนเป็นกษัตริย์. ระหว่างการครองราชย์ 31 ปี ท่านทำให้การถลำสู่ความหายนะของยูดาเปลี่ยนไปชั่วขณะโดย “ประพฤติตามทางแห่งดาวิดผู้ต้นวงศ์.” (22:2) ท่านเริ่มซ่อมแซมพระวิหารของพระยะโฮวา และมหาปุโรหิตได้พบหนังสือพระบัญญัติที่นั่น. พระบัญญัตินี้ยืนยันว่าความพินาศจะเกิดแก่ชาตินี้เนื่องจากการไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา แต่โยซียาได้รับคำรับรองว่า เนื่องด้วยความซื่อสัตย์ของท่าน ความพินาศนั้นจะไม่เกิดขึ้นในสมัยของท่าน. ท่านชำระพระวิหารของพระยะโฮวาและทำให้ดินแดนทั้งสิ้นปราศจากการนมัสการผีปิศาจและขยายการทำลายรูปเคารพไปจนถึงเบธเอล ซึ่งที่นั่นท่านได้ทำลายแท่นของยาระบะอาม สำเร็จเป็นจริงดังคำพยากรณ์ที่ 1 กษัตริย์ 13:1, 2. ท่านตั้งการเลี้ยงปัศคาขึ้นใหม่แด่พระยะโฮวา. “ก่อนนั้นไม่มีกษัตริย์เหมือนอย่างท่าน, ที่ได้กลับหาพระยะโฮวาด้วยสุดใจสุดจิตต์, และด้วยสุดกำลัง, ตามข้อต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในพระธรรม [“กฎหมาย,” ล.ม.] ของโมเซ.” (23:25) กระนั้น พระพิโรธของพระยะโฮวายังคงพลุ่งขึ้นเนื่องด้วยการล่วงละเมิดของมะนาเซ. โยซียาสิ้นพระชนม์ในการรบกับกษัตริย์อียิปต์ที่มะฆีโด.
31. เกิดการเสื่อมถอยอะไรแก่ยูดาหลังจากโยซียาสิ้นพระชนม์?
31 ยะโฮอาฮัศ, ยะโฮยาคิม, และยะโฮยาคิน กษัตริย์ยูดา (23:31–24:17). ภายหลังครองราชย์ได้สามเดือน ยะโฮอาฮัศราชบุตรของโยซียาก็ถูกกษัตริย์อียิปต์จับเป็นเชลย และพระอนุชาคือเอ็ลยาคิม ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นยะโฮยาคิม ถูกตั้งเป็นกษัตริย์. ท่านดำเนินตามแนวทางผิดของบรรพบุรุษและตกอยู่ใต้อำนาจนะบูคัดเนซัรกษัตริย์บาบูโลน แต่ได้กบฏต่อเขาเมื่อสามปีให้หลัง. พอยะโฮยาคิมเสียชีวิต ยะโฮยาคินราชบุตรของท่านจึงขึ้นครองราชย์. นะบูคัดเนซัรได้ล้อมยะรูซาเลม ยึดกรุงและนำทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จากพระวิหารของพระยะโฮวาไปยังบาบูโลน “ตามที่พระยะโฮวาได้ตรัสไว้แล้ว” โดยยะซายา. (24:13; 20:17) ยะโฮยาคินและราษฎรนับหมื่นถูกเนรเทศไปยังบาบูโลน.
32. เหตุการณ์เด่น ๆ อะไรบ้างที่นำไปสู่ความร้างเปล่าของกรุงยะรูซาเลมและแผ่นดินนั้น?
32 ซิดคียา กษัตริย์ยูดาองค์สุดท้าย (24:18–25:30). นะบูคัดเนซัรแต่งตั้งมาธันยาพระปิตุลาของยะโฮยาคินเป็นกษัตริย์และเปลี่ยนนามเป็นซิดคียา. ท่านครองราชย์ในยะรูซาเลมได้ 11 ปีและยังคงทำชั่วในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. ท่านแข็งข้อต่อบาบูโลน ดังนั้นในปีที่เก้าแห่งรัชกาลซิดคียา นะบูคัดเนซัรกับกองทัพทั้งสิ้นของท่านได้ยกมาและสร้างกำแพงล้อมกรุงยะรูซาเลม. หลังจาก 18 เดือน กรุงนี้ประสบความทุกข์สาหัสเนื่องจากขาดแคลนอาหาร. แล้วกำแพงก็ถูกทำลาย และซิดคียาถูกจับขณะพยายามหนี. โอรสทั้งหลายถูกสังหารต่อหน้าและท่านเองถูกทำให้ตาบอด. ในเดือนต่อมาอาคารสำคัญ ๆ ทั้งหมดของยะรูซาเลมรวมทั้งพระวิหารของพระยะโฮวาและราชวังของกษัตริย์ก็ถูกเผาและกำแพงเมืองถูกทำลาย. ผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่ถูกพาไปเป็นเชลยที่บาบูโลน. ฆะดัลยาถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการปกครองพวกคนต่ำต้อยจำนวนไม่มากที่ยังอยู่ในแถบชนบทของยูดา. อย่างไรก็ตาม เขาถูกลอบสังหารและประชาชนหนีไปยังอียิปต์. ดังนั้น ตั้งแต่เดือนที่เจ็ดในปี 607 ก.ส.ศ. แผ่นดินจึงร้างเปล่าอย่างสิ้นเชิง. ข้อความสุดท้ายในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองกล่าวถึงความโปรดปรานที่กษัตริย์บาบูโลนสำแดงต่อยะโฮยาคินในปีที่ 37 แห่งการเป็นเชลยของท่าน.
เหตุที่เป็นประโยชน์
33. มีตัวอย่างอันดีอะไรบ้างในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองซึ่งเราพึงดำเนินตาม?
33 แม้ว่าพระธรรมนี้ครอบคลุมช่วงเสื่อมจนถึงความพินาศของอาณาจักรยิศราเอลและยูดา แต่พงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองก็น่าสนใจด้วยตัวอย่างของหลายคนซึ่งได้รับพระพรจากพระยะโฮวาเนื่องจากเขาแสดงความรักต่อพระองค์และหลักการที่ชอบธรรมของพระองค์. เช่นเดียวกับหญิงม่ายแห่งเมืองซาเร็บตาที่อยู่ก่อนนาง หญิงชาวเมืองซูเนมก็ได้รับพระพรอันอุดมเนื่องด้วยน้ำใจต้อนรับที่นางสำแดงต่อผู้พยากรณ์ของพระเจ้า. (4:8-17, 32-37) พระปรีชาสามารถของพระยะโฮวาที่จะทรงจัดหาให้อยู่เสมอมีแสดงให้เห็นในคราวที่อะลีซาเลี้ยงหนึ่งร้อยคนด้วยขนมปัง 20 ก้อน เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์ที่คล้ายกันนั้นภายหลัง. (2 กษัต. 4:42-44; มัด. 14:16-21; มโก. 8:1-9) จงสังเกตวิธีที่ยะโฮนาดาบได้รับพระพรโดยได้รับเชิญให้ร่วมทางไปในรถรบของเยฮูเพื่อดูการทำลายผู้นมัสการบาละ. เพราะเหตุใด? เพราะท่านลงมือทำอย่างชัดเจนด้วยการออกมาหาเยฮูผู้มีใจแรงกล้า. (2 กษัต. 10:15, 16) ในตอนท้ายก็มีตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของฮิศคียาและโยซียาในเรื่องความถ่อมและความนับถืออย่างสมควรต่อพระนามและพระบัญญัติของพระยะโฮวา. (19:14-19; 22:11-13) เหล่านี้เป็นตัวอย่างอันดีเยี่ยมที่เราพึงทำตาม.
34. พงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองสอนอะไรแก่เราในเรื่องความนับถือต่อผู้รับใช้ที่ได้รับการแต่งตั้ง และเรื่องความผิดฐานทำให้โลหิตตก?
34 พระยะโฮวาไม่ทรงอดทนกับการขาดความนับถือต่อผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง. เมื่อคนเกเรเยาะเย้ยอะลีซาซึ่งเป็นผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา พระองค์ทรงตอบโต้ทันที. (2:23, 24) นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงนับถือโลหิตของผู้ไม่มีความผิด. คำพิพากษาที่พระองค์มีต่อเชื้อวงศ์ของอาฮาบอย่างหนักนั้นไม่เพียงเนื่องจากการนมัสการบาละเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากการทำให้เลือดตกอันเกี่ยวข้องกับการนมัสการนั้นด้วย. ดังนั้น เยฮูจึงได้รับการเจิมให้แก้แค้น “โลหิตแห่งผู้ทาสทั้งปวงของพระยะโฮวา, ซึ่งมือของอิซาเบ็ลได้กระทำไว้นั้น.” เมื่อสำเร็จโทษยะโฮรามตามคำพิพากษา เยฮูระลึกถึงคำแถลงของพระยะโฮวาที่ว่า นั่นเป็นเพราะ “โลหิตของนาโบธ, และบุตรชายทั้งหลายของเขา.” (9:7, 26) เช่นเดียวกัน ความผิดของมะนาเซฐานทำให้เลือดตกนั่นเองที่ทำให้ยูดาต้องพินาศในที่สุด. นอกจากความบาปของท่านเรื่องการนมัสการเท็จ มะนาเซได้ “กระทำให้โลหิตตกเป็นอันมาก, จนท่วมกรุงยะรูซาเลม.” แม้ภายหลังมะนาเซได้กลับใจจากแนวทางชั่ว ความผิดฐานทำให้เลือดตกก็ยังอยู่. (2 โคร. 33:12, 13) แม้การปกครองที่ดีของโยซียาและการกวาดล้างรูปเคารพทั้งสิ้น ก็ไม่อาจลบล้างความผิดของชุมชนฐานทำให้เลือดตกที่มีมาตั้งแต่รัชกาลของมะนาเซได้เลย. หลายปีต่อมา เมื่อพระยะโฮวาทรงเริ่มนำผู้สำเร็จโทษมาต่อสู้กรุงยะรูซาเลม พระองค์ทรงประกาศว่าเป็นเพราะมะนาเซ “ได้ทำให้ยะรูซาเลมเต็มไปด้วยโลหิตของคนไม่มีผิด . . . ซึ่งพระยะโฮวาไม่ทรงยอมยกโทษเลย.” (2 กษัต. 21:16; 24:4) เช่นเดียวกัน พระเยซูทรงประกาศว่ายะรูซาเลมในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราชต้องถูกทำลายเพราะพวกปุโรหิตเป็นลูกหลานของผู้ทำให้เลือดของผู้พยากรณ์ตก ‘บรรดาโลหิตของผู้ชอบธรรมซึ่งตกที่แผ่นดินโลกจะตกลงบนพวกเขา.’ (มัด. 23:29-36) พระเจ้าทรงเตือนโลกว่าพระองค์จะแก้แค้นแทนเลือดของผู้ไม่มีผิดที่ถูกทำให้ไหลออก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเลือดของ “คนเหล่านั้นที่ถูกฆ่าฟันเนื่องด้วยพระคำของพระเจ้า.”—วิ. 6:9, 10, ล.ม.
35. (ก) เอลียา, อะลีซา, และยะซายาได้รับการยืนยันอย่างไรว่าเป็นผู้พยากรณ์แท้? (ข) เปโตรพูดอย่างไรในเรื่องคำพยากรณ์อันเกี่ยวข้องกับเอลียา?
35 ความแน่นอนไม่ผิดพลาดที่พระยะโฮวาทรงทำให้คำพิพากษาเชิงพยากรณ์สำเร็จเป็นจริงมีแสดงไว้เช่นกันในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสอง. ผู้พยากรณ์ชั้นแนวหน้าสามท่านถูกนำมาสู่ความสนใจของเราคือ เอลียา, อะลีซา, และยะซายา. คำพยากรณ์ต่าง ๆ ของแต่ละคนมีแสดงให้เห็นว่าได้สำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่ง. (2 กษัต. 9:36, 37; 10:10, 17; 3:14, 18, 24; 13:18, 19, 25; 19:20, 32-36; 20:16, 17; 24:13) อนึ่ง เอลียายังได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้พยากรณ์แท้ในการปรากฏตัวร่วมกับผู้พยากรณ์โมเซและพระเยซูคริสต์ผู้พยากรณ์องค์ยิ่งใหญ่ในคราวการจำแลงพระกายบนภูเขา. (มัด. 17:1-5) เปโตรกล่าวถึงความสง่างามของโอกาสนั้นดังนี้ “เหตุฉะนั้น เรามีคำกล่าวเชิงพยากรณ์แน่นอนยิ่งขึ้น; และท่านทั้งหลายกำลังทำดีในการเอาใจใส่คำกล่าวนั้นเสมือนตะเกียงส่องสว่างในที่มืด ในหัวใจของท่านทั้งหลาย จนกระทั่งรุ่งอรุณและดาวประกายพรึกขึ้นมา.”—2 เป. 1:19, ล.ม.
36. เหตุใดพระยะโฮวาทรงสำแดงความเมตตาแก่ไพร่พลของพระองค์ และความมั่นใจของเราในราชอาณาจักรของพงศ์พันธุ์ได้รับการทำให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอย่างไร?
36 เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสองเปิดเผยอย่างชัดเจนว่า การพิพากษาของพระยะโฮวาต่อผู้ปฏิบัติศาสนาเท็จทั้งสิ้นและทุกคนที่จงใจทำให้เลือดผู้ไม่มีผิดตกนั้นคือโทษประหาร. กระนั้น พระยะโฮวาทรงแสดงความโปรดปรานและความเมตตาต่อประชาชนของพระองค์ “เพราะเห็นแก่คำสัญญาไมตรีของพระองค์กับอับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบ.” (2 กษัต. 13:23) พระองค์ทรงปกปักรักษาพวกเขาไว้ “เพราะเห็นแก่ดาวิดผู้ทาสของพระองค์.” (8:19) พระองค์จะทรงแสดงความเมตตาแบบเดียวกันต่อผู้ที่หันมาหาพระองค์ในสมัยนี้. ขณะที่เราทบทวนบันทึกเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลและคำสัญญาต่าง ๆ ด้วยความมั่นใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจริง ๆ ที่เราคอยท่าราชอาณาจักรของ “เชื้อสายของดาวิด” พระเยซูคริสต์ผู้เป็นพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญา ซึ่งการนองเลือดและความชั่วช้าจะไม่มีอีกเลย!—มัด. 1:1; ยซา. 2:4; เพลง. 145:20.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 152, 325; เล่ม 2 หน้า 908, 1101.