จงรักษาเอกลักษณ์คริสเตียนของเราไว้
“พระยะโฮวาตรัสว่า, ‘เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา.’ ”—ยะซายา 43:10.
1. พระยะโฮวาทรงชักนำผู้คนแบบใดเข้ามาหาพระองค์?
ขอมองไปรอบ ๆ ตัวคุณเมื่ออยู่ในหอประชุมราชอาณาจักร. คุณเห็นใครบ้างในสถานนมัสการนี้? คุณคงจะเห็นคนหนุ่มสาวที่เอาจริงเอาจังกำลังตั้งอกตั้งใจฟังสติปัญญาจากคัมภีร์ไบเบิล. (บทเพลงสรรเสริญ 148:12, 13) คุณคงเห็นประมุขครอบครัวด้วย ผู้ซึ่งพยายามจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าในโลกที่กำลังเซาะกร่อนชีวิตครอบครัว. บางทีคุณอาจเห็นผู้สูงอายุที่น่ารัก ซึ่งได้ดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ แม้ว่าสุขภาพเสื่อมถอยเนื่องจากวัยชรา. (สุภาษิต 16:31) พวกเขาเหล่านี้ทุกคนล้วนรักพระยะโฮวาอย่างยิ่ง. และพระองค์เห็นควรที่จะชักนำพวกเขาเข้ามามีสัมพันธภาพกับพระองค์. พระบุตรของพระเจ้ายืนยันว่า “ไม่มีผู้ใดจะมาถึงเราได้, เว้นไว้พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาจะชักนำเขา.”—โยฮัน 6:37, 44, 65.
2, 3. เหตุใดจึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะรักษาความสำนึกอย่างแรงกล้าในเอกลักษณ์ความเป็นคริสเตียน?
2 เราชื่นชมยินดีมิใช่หรือที่อยู่ท่ามกลางประชาชนซึ่งพระยะโฮวาทรงโปรดปรานและอวยพระพร? กระนั้น ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้” นี้ การรักษาความสำนึกอย่างแรงกล้าในเอกลักษณ์ความเป็นคริสเตียนของเราอาจทำได้ยาก. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) เรื่องนี้เป็นจริงโดยเฉพาะกับเยาวชนที่โตขึ้นในครอบครัวคริสเตียน. เด็กหนุ่มคริสเตียนคนหนึ่งยอมรับว่า “แม้ผมจะเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน แต่ก็ไม่เคยมีเป้าหมายฝ่ายวิญญาณอะไรที่ชัดเจน และพูดตามตรง ผมไม่ได้พัฒนาความปรารถนาที่จะรับใช้พระยะโฮวา.”
3 บางคน แม้ปรารถนาจากใจจริงที่จะรับใช้พระยะโฮวา ก็อาจเขวไปได้เนื่องจากอิทธิพลจากคนรอบข้าง, แรงจูงใจของโลก, และความโน้มเอียงในทางบาปของตนเอง. เมื่ออิทธิพลเหล่านี้กดดันเรา เราอาจค่อย ๆ สูญเสียเอกลักษณ์คริสเตียน. ตัวอย่างเช่น หลายคนในโลกทุกวันนี้มองว่ามาตรฐานศีลธรรมในคัมภีร์ไบเบิลล้าสมัยหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน. (1 เปโตร 4:4) บางคนรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะนมัสการพระเจ้าตามแนวทางที่พระองค์ชี้นำ. (โยฮัน 4:24) ในจดหมายถึงคริสเตียนที่เมืองเอเฟโซส์ เปาโลกล่าวถึงโลกว่ามี “วิญญาณ” หรือทัศนคติที่ครอบงำอยู่. (เอเฟโซ 2:2) วิญญาณดังกล่าวชักจูงผู้คนให้คล้อยตามกระแสความคิดของสังคมที่ไม่รู้จักพระยะโฮวา.
4. พระเยซูเน้นอย่างไรถึงความจำเป็นที่เราจะรักษาสิ่งที่บ่งบอกอย่างชัดแจ้งว่าเราเป็นคริสเตียน?
4 อย่างไรก็ตาม ฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวาที่อุทิศตัวแล้ว เราตระหนักว่าจะเป็นเรื่องน่าเศร้าหากใครก็ตามในพวกเรา ไม่ว่าเยาวชนหรือผู้ใหญ่ สูญเสียเอกลักษณ์คริสเตียนไป. การมีสำนึกอย่างเหมาะสมในเอกลักษณ์ความเป็นคริสเตียนอาศัยแต่มาตรฐานและข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาที่กำหนดไว้ให้เราเท่านั้น ซึ่งก็นับว่ามีเหตุผลเนื่องจากเราถูกสร้างตามแบบฉายาของพระองค์. (เยเนซิศ 1:26; มีคา 6:8) คัมภีร์ไบเบิลเปรียบเอกลักษณ์คริสเตียนที่ปรากฏชัดของเราว่าเป็นเหมือนกับเสื้อผ้าซึ่งเราสวมใส่ให้ทุกคนเห็น. เกี่ยวกับสมัยของเรา พระเยซูเตือนว่า “จงดูเถิด, เราจะดอดมาเหมือนขโมย. ผู้ที่เฝ้าระวังให้ดี, และรักษาเสื้อผ้า [“เสื้อชั้นนอก,” ล.ม.] ของตนจะเป็นสุข เกลือกว่าผู้นั้นจะเดินเปลือยกาย, และคนทั้งหลายจะได้เห็นความน่าละอายของเขา.”a (วิวรณ์ 16:15) เราไม่อยากเปลื้องมาตรฐานความประพฤติและคุณลักษณะแบบคริสเตียนทิ้งไป และปล่อยให้โลกของซาตานนวดปั้นเรา. หากเป็นเช่นนั้น เราจะสูญเสีย “เสื้อชั้นนอก.” การตกอยู่ในสภาพดังกล่าวจะเป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าอับอาย.
5, 6. เหตุใดความหนักแน่นมั่นคงทางฝ่ายวิญญาณจึงนับว่าสำคัญ?
5 การมีความสำนึกอย่างแรงกล้าในเอกลักษณ์ความเป็นคริสเตียนส่งผลอย่างมากต่อวิธีที่คนเราดำเนินชีวิต. ทำไมเป็นเช่นนั้น? หากผู้นมัสการพระยะโฮวาสูญเสียความสำนึกที่ว่าตัวเองเป็นใคร สุดท้ายเขาอาจเขวออกไป ไม่มีทิศทางหรือจุดหมายที่แน่นอน. คัมภีร์ไบเบิลย้ำเตือนให้ระวังการเป็นคนสองจิตสองใจอย่างนั้น. สาวกยาโกโบเตือนว่า “ผู้ที่สงสัยนั้นเป็นเหมือนคลื่นแห่งทะเลซึ่งถูกลมพัดซัดไปซัดมา. อย่าให้คนนั้นคิดว่าจะได้รับสิ่งใดจากพระเจ้าเลย เขาเป็นคนสองใจไม่ยั่งยืนในบรรดาทางทั้งหลายที่ตนประพฤตินั้น.”—ยาโกโบ 1:6-8; เอเฟโซ 4:14; เฮ็บราย 13:9.
6 เราจะรักษาเอกลักษณ์คริสเตียนไว้ได้อย่างไร? อะไรจะช่วยเราให้ตระหนักยิ่งขึ้นว่าเป็นเกียรติอันใหญ่หลวงที่เราได้เป็นผู้นมัสการพระผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด? ขอพิจารณาวิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้.
สร้างเอกลักษณ์คริสเตียนของคุณให้มั่นคง
7. เหตุใดจึงเป็นประโยชน์ที่จะขอให้พระยะโฮวาตรวจสอบเรา?
7 จงทำให้สัมพันธภาพระหว่างคุณกับพระยะโฮวาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเรื่อยไป. สมบัติล้ำค่าที่สุดของคริสเตียนคือการมีสัมพันธภาพเป็นส่วนตัวกับพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 25:14; สุภาษิต 3:32) หากเราเริ่มไม่แน่ใจเกี่ยวกับเอกลักษณ์คริสเตียนของเรา เราควรตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนถึงคุณภาพและความลึกซึ้งของสัมพันธภาพที่เรามีกับพระองค์. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญวอนขอพระเจ้าอย่างเหมาะสมดังนี้: “โอ้พระยะโฮวา ขอทรงตรวจดูข้าพเจ้า และทรงทดสอบข้าพเจ้า; ขอทรงกลั่นกรองไตและหัวใจของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 26:2, ล.ม.) ทำไมจะต้องให้พระองค์ตรวจสอบด้วย? ก็เนื่องจากว่าเราไม่สามารถวางใจการประเมินแรงกระตุ้นและความโน้มเอียงที่อยู่ในส่วนลึกที่สุดของเราเองได้. มีแต่พระยะโฮวาเท่านั้นที่สามารถหยั่งรู้เจตนา, ความคิด, และอารมณ์ความรู้สึกในส่วนลึกของคนเรา.—ยิระมะยา 17:9, 10.
8. (ก) การทดสอบจากพระยะโฮวาจะเป็นประโยชน์แก่เราได้อย่างไร? (ข) คุณได้รับความช่วยเหลืออย่างไรให้ก้าวหน้าฐานะคริสเตียน?
8 เมื่อเราขอพระยะโฮวาตรวจสอบเรา เราเชิญให้พระองค์ทดสอบเรา. พระองค์อาจปล่อยให้เกิดสภาพการณ์บางอย่างที่จะเผยเจตนาและสภาพหัวใจที่แท้จริงของเรา. (เฮ็บราย 4:12, 13; ยาโกโบ 1:22-25) เราควรยินดีรับเอาการทดสอบเหล่านั้น เพราะนั่นเปิดโอกาสให้เราสำแดงให้เห็นว่าความภักดีของเราต่อพระยะโฮวาลึกซึ้งแค่ไหน. การทดสอบนั้นจะแสดงให้เห็นว่าเรา “ครบถ้วนและดีพร้อม ไม่ขาดตกบกพร่อง” หรือไม่. (ยาโกโบ 1:2-4, ล.ม.) และเมื่อเราถูกทดสอบ เราจะพัฒนาขึ้นทางฝ่ายวิญญาณ.—เอเฟโซ 4:22-24.
9. การพิสูจน์แก่ตัวเองว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอนเป็นความจริงเป็นเรื่องที่เราจะทำหรือไม่ทำก็ได้อย่างนั้นไหม? จงอธิบาย.
9 พิสูจน์แก่ตัวเองว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอนเป็นความจริง. ความสำนึกในเอกลักษณ์ของเราฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอาจอ่อนลงได้หากเราไม่มีพื้นความรู้จากพระคัมภีร์แน่นพอ. (ฟิลิปปอย 1:9, 10) คริสเตียนทุกคน ไม่ว่าเยาวชนหรือผู้ใหญ่ ต้องพิสูจน์แก่ตัวเองจนจุใจว่าสิ่งที่เขาเชื่อนั้นเป็นความจริงที่มาจากคัมภีร์ไบเบิลจริง ๆ. เปาโลกระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “จงชันสูตรทุกสิ่ง สิ่งที่ดีนั้นจงถือไว้ให้มั่น.” (1 เธซะโลนิเก 5:21) เยาวชนคริสเตียนซึ่งอยู่ในครอบครัวที่เกรงกลัวพระเจ้าต้องตระหนักว่าตนไม่อาจเป็นคริสเตียนแท้ได้โดยเพียงอาศัยความเชื่อของบิดามารดา. ดาวิดกระตุ้นเตือนซะโลโมราชบุตรของท่านว่า “จงรู้จัก พระเจ้าแห่งบิดาของเจ้า, จงปฏิบัติพระเจ้านั้นด้วยสิ้นสุดจิตต์.” (1 โครนิกา 28:9) คงไม่พอที่ซะโลโมวัยหนุ่มจะเฝ้าดูว่าบิดาของท่านพัฒนาความเชื่อในพระยะโฮวาอย่างไร. ท่านจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาด้วยตัวเอง และท่านก็ได้ทำเช่นนั้น. ซะโลโมทูลขอพระเจ้าว่า “บัดนี้ ขอพระองค์ทรงโปรดพระราชทานสติปัญญาให้แก่ข้าพเจ้า, เพื่อข้าพเจ้าจะได้ออกไปและเข้ามาต่อหน้าพลไพร่นั้น.”—2 โครนิกา 1:10.
10. เหตุใดจึงไม่ผิดที่จะถามตรงไปตรงมาด้วยเจตนาที่ถูกต้อง?
10 ความเชื่อที่มั่นคงอาศัยความรู้. เปาโลกล่าวว่า “ความเชื่อได้เกิดขึ้นก็เพราะได้ฟัง.” (โรม 10:17) ท่านหมายความอย่างไรที่กล่าวเช่นนั้น? ท่านหมายความว่า โดยการหล่อเลี้ยงตัวด้วยพระคำของพระเจ้า เราเสริมสร้างความเชื่อและความมั่นใจในพระยะโฮวา, คำสัญญา, และองค์การของพระองค์ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น. การถามคำถามตรงไปตรงมาเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยให้เราได้รับคำตอบที่เสริมความมั่นใจ. นอกจากนั้น ที่ โรม 12:2 (ล.ม.) เราพบคำแนะนำของเปาโลที่ให้ “พิสูจน์แก่ตัวเองในเรื่องพระทัยประสงค์อันดี ที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า.” เราจะทำเช่นนั้นได้โดยวิธีใด? ก็โดยการรับเอา “ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับความจริง.” (ติโต 1:1, ล.ม.) พระวิญญาณของพระยะโฮวาสามารถช่วยเราให้เข้าใจแม้แต่ในเรื่องที่ยาก. (1 โกรินโธ 2:11, 12) เราควรอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเมื่อรู้สึกยากที่จะเข้าใจบางเรื่อง. (บทเพลงสรรเสริญ 119:10, 11, 27) พระยะโฮวาปรารถนาให้เราเข้าใจพระคำของพระองค์, เชื่อ, และปฏิบัติตามพระคำนั้น. พระองค์ยินดีรับฟังคำถามตรงไปตรงมาของเราเมื่อถามด้วยเจตนาที่ถูกต้อง.
ตั้งใจจะทำให้พระเจ้าพอพระทัย
11. (ก) ความปรารถนาตามธรรมชาติในเรื่องใดที่อาจเป็นบ่วงแร้วแก่เรา? (ข) เราจะมีความกล้ามากขึ้นได้อย่างไรเพื่อต้านทานแรงกดดันจากคนรอบข้าง?
11 แสวงหาความพอพระทัยจากพระเจ้า ไม่ใช่จากมนุษย์. เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนเราจะกำหนดเอกลักษณ์ของตัวเองส่วนหนึ่งโดยการเข้ากลุ่ม. ทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อน และการได้รับการยอมรับทำให้เรามีความสุขและรู้สึกมั่นคงปลอดภัย. ในช่วงวัยรุ่น—รวมทั้งช่วงหลังของชีวิต—แรงกดดันจากคนรอบข้างอาจมีพลังมาก ทำให้เราปรารถนาที่จะทำตามคนอื่นหรือทำให้คนอื่นพอใจ. แต่เพื่อนฝูงหรือคนรอบข้างไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับเราเสมอไป. บางครั้งพวกเขาเพียงแต่ต้องการคนมาร่วมกันทำสิ่งที่ไม่ดี. (สุภาษิต 1:11-19) เมื่อคริสเตียนพ่ายต่อแรงกดดันจากคนรอบข้าง เขาก็มักจะพยายามปิดบังว่าตัวเองเป็นคริสเตียน. (บทเพลงสรรเสริญ 26:4) อัครสาวกเปาโลเตือนว่า “อย่าประพฤติตามอย่างที่โลกแวดล้อมท่าน.” (โรม 12:2, เดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล) พระยะโฮวาทรงประทานความแข็งแกร่งภายในที่จำเป็นเพื่อเราจะสามารถต้านทานอิทธิพลใด ๆ จากภายนอกที่กดดันเราให้ทำตาม.—เฮ็บราย 13:6.
12. มีหลักการอะไรและตัวอย่างของใครที่จะช่วยเสริมกำลังเราให้ยืนหยัดมั่นคงเมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องความวางใจพระเจ้า?
12 เมื่อแรงกดดันจากคนรอบข้างเป็นภัยคุกคามต่อความสำนึกในเอกลักษณ์ความเป็นคริสเตียนของเรา เราควรระลึกว่าความภักดีของเราต่อพระเจ้ามีความสำคัญยิ่งกว่าความเห็นของผู้คนทั่วไปหรือกระแสของคนส่วนใหญ่มากนัก. ข้อความที่เอ็กโซโด 23:2 (ล.ม.) ให้หลักการที่ปกป้องเรา ซึ่งกล่าวว่า “อย่าติดตามคนหมู่มากที่มีเป้าหมายชั่ว.” เมื่อเพื่อนร่วมชาติชาวอิสราเอลส่วนใหญ่สงสัยความสามารถของพระยะโฮวาที่จะทำให้สำเร็จได้ตามคำสัญญาของพระองค์ คาเลบปฏิเสธอย่างแข็งขันที่จะติดตามกระแสของคนหมู่มาก. ท่านมั่นใจว่าคำสัญญาของพระเจ้าวางใจได้ และท่านได้รับพระพรมากมายจากการยืนหยัดเช่นนั้น. (อาฤธโม 13:30; ยะโฮซูอะ 14:6-11) คุณพร้อมจะทำคล้าย ๆ กันนั้นไหมที่จะต้านทานแรงกดดันจากทัศนคติของคนส่วนใหญ่เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่คุณมีกับพระเจ้า?
13. เหตุใดจึงเป็นแนวทางแห่งสติปัญญาที่จะให้คนอื่นรู้จุดยืนของเราฐานะคริสเตียน?
13 ให้คนอื่นรู้ว่าคุณเป็นคริสเตียน. สำนวนที่ว่า ‘การรุกเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด’ เป็นความจริงเมื่อเรายืนหยัดรักษาเอกลักษณ์คริสเตียนของเรา. เมื่อความพยายามที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาถูกขัดขวาง ชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์ในสมัยเอษรากล่าวว่า “เราเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก.” (เอษรา 5:11, ฉบับแปลใหม่) หากเราหวั่นไหวเนื่องจากปฏิกิริยาและคำวิจารณ์ของผู้คนที่เป็นปฏิปักษ์ เราอาจชะงักงันด้วยความกลัว. การพยายามทำให้ทุกคนพอใจอยู่เสมอจะทำให้การบังเกิดผลของเราลดลง. ฉะนั้น จงอย่ากลัว. ดีเสมอที่จะบอกให้คนอื่นรู้ชัดเจนว่าคุณเป็นพยานพระยะโฮวา. คุณอาจอธิบายด้วยความนับถือแต่ว่าหนักแน่นให้คนอื่นทราบถึงค่านิยม, ความเชื่อ, และจุดยืนของคุณฐานะคริสเตียน. ให้คนอื่นรู้ว่าคุณตั้งใจจะรักษามาตรฐานที่สูงส่งของพระยะโฮวาในด้านศีลธรรม. ทำให้เป็นที่กระจ่างชัดว่าความปรารถนาของคุณที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงฐานะคริสเตียนไม่ใช่เรื่องอะลุ่มอล่วยกันได้. จงแสดงให้เห็นว่าคุณภูมิใจในมาตรฐานศีลธรรมที่คุณยึดมั่น. (บทเพลงสรรเสริญ 64:10) การแสดงตัวชัดเจนว่าคุณเป็นคริสเตียนที่ยืนหยัดมั่นคงจะช่วยเสริมกำลังคุณ, ปกป้องคุณ, และอาจถึงกับกระตุ้นบางคนให้สนใจอยากรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและประชาชนของพระองค์.
14. เราควรท้อใจเพราะการเยาะเย้ยหรือการต่อต้านไหม? จงอธิบาย.
14 จริงอยู่ บางคนอาจเยาะเย้ยหรือต่อต้านคุณ. (ยูดา 18) หากคนอื่นตอบสนองอย่างไม่น่าพอใจต่อความพยายามของคุณเพื่อชี้แจงค่านิยมของคุณแก่พวกเขา ก็อย่าท้อใจ. (ยะเอศเคล 3:7, 8) ไม่ว่าคุณตั้งใจดีแค่ไหน คุณก็ไม่อาจโน้มน้าวผู้คนที่ไม่ต้องการให้ใครเปลี่ยนความคิดของตน. ขอนึกถึงฟาโรห์. ไม่ว่าภัยพิบัติหรือการอัศจรรย์ หรือแม้กระทั่งการสูญเสียบุตรหัวปี ก็ไม่สามารถทำให้ฟาโรห์ยอมรับว่าโมเซคือผู้พูดแทนพระยะโฮวา. ฉะนั้น ขออย่าปล่อยให้ความกลัวมนุษย์หยุดยั้งคุณ. ความวางใจและความเชื่อมั่นในพระเจ้าจะช่วยเราเอาชนะความกลัว.—สุภาษิต 3:5, 6; 29:25.
มองย้อนอดีตเพื่อเสริมสร้างอนาคต
15, 16. (ก) มรดกฝ่ายวิญญาณของเราคืออะไร? (ข) เราจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการไตร่ตรองเรื่องมรดกฝ่ายวิญญาณของเราโดยอาศัยพระคำของพระเจ้า?
15 ทะนุถนอมมรดกฝ่ายวิญญาณของคุณ. โดยอาศัยพระคำของพระเจ้า คริสเตียนจะได้ประโยชน์จากการไตร่ตรองเรื่องมรดกฝ่ายวิญญาณอันอุดมของพวกเขา. มรดกนี้รวมถึงความจริงจากพระคำของพระยะโฮวา, ความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์, และเกียรติที่ได้เป็นตัวแทนของพระเจ้าในการเป็นผู้ประกาศข่าวดี. คุณเห็นบทบาทที่คุณมีท่ามกลางเหล่าพยานของพระองค์ไหม ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีสิทธิพิเศษได้รับมอบหมายให้ทำงานประกาศข่าวสารราชอาณาจักรเพื่อช่วยชีวิตผู้คน? ขออย่าลืมว่าพระยะโฮวานั่นเองที่เป็นผู้แถลงว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา.”—ยะซายา 43:10.
16 คุณอาจถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้: ‘มรดกฝ่ายวิญญาณนี้มีค่าสำหรับฉันแค่ไหน? ฉันถือว่ามรดกนี้มีค่ามากพอที่จะจัดให้การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้ามีความสำคัญสูงสุดในชีวิตของฉันไหม? ความหยั่งรู้ค่าของฉันมีมากพอที่จะเสริมกำลังให้ฉันสามารถต้านทานการล่อใจใด ๆ ที่อาจทำให้ฉันสูญมรดกนั้นไปไหม?’ นอกจากนี้ มรดกฝ่ายวิญญาณของเรายังก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยฝ่ายวิญญาณอย่างลึกล้ำ ซึ่งจะประสบได้แต่ในองค์การของพระยะโฮวาเท่านั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 91:1, 2) การทบทวนเหตุการณ์อันโดดเด่นต่าง ๆ จากประวัติขององค์การของพระยะโฮวาสมัยปัจจุบันจะย้ำให้เราเห็นว่าไม่มีใครหรือสิ่งใดจะสามารถกำจัดประชาชนของพระยะโฮวาให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดินโลกนี้ได้.—ยะซายา 54:17; ยิระมะยา 1:19.
17. มีอะไรอีกที่จำเป็นนอกจากการพึ่งอาศัยมรดกฝ่ายวิญญาณของเรา?
17 แน่นอน การพึ่งอาศัยมรดกฝ่ายวิญญาณของเราอย่างเดียวไม่พอ. เราแต่ละคนต้องพัฒนาสัมพันธภาพแนบแน่นกับพระเจ้า. หลังจากพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเสริมสร้างความเชื่อของคริสเตียนในเมืองฟิลิปปี เปาโลเขียนถึงพวกเขาว่า “เหตุฉะนี้พวกที่รักของข้าพเจ้า, เหมือนท่านทั้งหลายได้ยอมฟังทุกเวลา, และไม่ใช่เมื่อข้าพเจ้าอยู่ด้วยเท่านั้น, เดี๋ยวนี้เมื่อข้าพเจ้าไม่อยู่ด้วยท่านทั้งหลายจงอุสส่าห์ประพฤติให้ความรอดของตนบริบูรณ์ด้วยความเกรงกลัวตัวสั่น.” (ฟิลิปปอย 2:12) ไม่มีใครอื่นที่เราจะหมายพึ่งได้เพื่อความรอดของเรา.
18. กิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียนอาจช่วยเราให้สำนึกยิ่งขึ้นในเอกลักษณ์ความเป็นคริสเตียนได้อย่างไร?
18 เข้าส่วนร่วมเต็มที่ในกิจกรรมฝ่ายคริสเตียน. มีผู้กล่าวว่า “งานเป็นตัวหล่อหลอมเอกลักษณ์ของบุคคล.” คริสเตียนในทุกวันนี้ได้รับมอบหมายให้ทำงานที่สำคัญยิ่งในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรที่สถาปนาขึ้นแล้วของพระเจ้า. เปาโลบอกว่า “เพราะข้าพเจ้าเป็นอัครสาวกมายังพวกต่างประเทศ, ข้าพเจ้าจึงยกย่องหน้าที่ [“งานรับใช้,” ล.ม.] ของข้าพเจ้า.” (โรม 11:13) งานประกาศของเราทำให้เราต่างจากโลก และการเข้าส่วนร่วมในงานนี้เสริมเอกลักษณ์คริสเตียนของเราให้เด่นชัดขึ้น. การเข้าส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกิจกรรมอื่น ๆ ตามระบอบของพระเจ้า เช่น การประชุมคริสเตียน, โครงการก่อสร้างสถานที่นมัสการ, ความพยายามในการช่วยผู้ที่ขัดสน, และอะไรอื่น ๆ ทำนองนี้ จะช่วยให้เราสำนึกยิ่งขึ้นในเอกลักษณ์ความเป็นคริสเตียนของเรา.—ฆะลาเตีย 6:9, 10; เฮ็บราย 10:23, 24.
เอกลักษณ์ที่ชัดเจนนำพระพรแท้จริงมาให้
19, 20. (ก) คุณเองได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการเป็นคริสเตียน? (ข) เอกลักษณ์ที่แท้จริงของเราอาศัยอะไรเป็นพื้นฐาน?
19 ขอใช้เวลาสักครู่คิดใคร่ครวญถึงผลประโยชน์และข้อได้เปรียบหลายอย่างที่เราได้รับจากการเป็นคริสเตียนแท้. เรามีสิทธิพิเศษจากการที่พระยะโฮวาทรงยอมรับเราเป็นส่วนตัว. ผู้พยากรณ์มาลาคีกล่าวว่า “คนเหล่านั้นที่เกรงกลัวพระเจ้าจึงพูดกันและกัน พระเจ้าทรงฟังและทรงได้ยิน และมีหนังสือม้วนหนึ่งสำหรับบันทึกความจำหน้าพระพักตร์ ได้บันทึกชื่อผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้าและที่ตรึกตรองในพระนามของพระองค์ไว้.” (มาลาคี 3:16, ฉบับแปลใหม่) เราได้รับโอกาสที่พระเจ้าจะนับเราเป็นมิตรของพระองค์. (ยาโกโบ 2:23) เรามีชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีความเข้าใจชัดเจนในเรื่องจุดมุ่งหมายและความหมายที่แท้จริงของชีวิต, และมีเป้าหมายที่ดีงามก่อผลประโยชน์. และเราได้รับความหวังในเรื่องอนาคตยืนยาวไม่รู้สิ้นสุด.—บทเพลงสรรเสริญ 37:9.
20 จำไว้ว่า เอกลักษณ์และคุณค่าที่แท้จริงของคุณขึ้นอยู่กับการที่พระเจ้าประเมินค่าตัวคุณ ไม่ใช่จากสิ่งที่คนอื่นอาจคิดเกี่ยวกับตัวคุณ. คนอื่น ๆ อาจตัดสินเราตามมาตรฐานที่บกพร่องของมนุษย์. แต่ความรักและความใฝ่พระทัยจากพระเจ้าให้พื้นฐานที่แท้จริงแก่เราที่จะรู้สึกว่าเรามีค่า คือที่เราเป็นของพระองค์. (มัดธาย 10:29-31) ส่วนความรักที่เราเองมีต่อพระเจ้าก็จะช่วยให้เรามีความสำนึกอันแรงกล้ายิ่งในเรื่องที่ว่าเราเป็นใครและช่วยให้เราได้รับการชี้นำที่กระจ่างชัดที่สุดในชีวิตของเรา. “ถ้าคนใดรักพระเจ้า พระเจ้าก็ทรงรู้จักคนนั้น.”—1 โกรินโธ 8:3.
[เชิงอรรถ]
a ถ้อยคำเหล่านี้อาจพาดพิงถึงหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลเนินพระวิหาร ณ กรุงเยรูซาเลม. ช่วงการเฝ้ายามตอนกลางคืน เขาจะเดินตรวจไปตามจุดเวรยามทุกจุดเพื่อดูว่ายามชาวเลวีตื่นหรือหลับอยู่ขณะเข้าเวร. ยามคนใดที่พบว่าหลับอยู่จะถูกตีด้วยไม้เท้า และเสื้อชั้นนอกของผู้นั้นอาจถูกเผาไฟเป็นการลงโทษอย่างน่าอับอาย.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดการรักษาเอกลักษณ์ฝ่ายวิญญาณจึงนับว่าสำคัญสำหรับคริสเตียน?
• เราจะสร้างเอกลักษณ์คริสเตียนให้มั่นคงได้อย่างไร?
• เมื่อเผชิญกับประเด็นว่าเราควรทำให้ใครพอใจ ปัจจัยอะไรบ้างจะช่วยเราตัดสินใจอย่างถูกต้อง?
• การมีความสำนึกอันแรงกล้าในเอกลักษณ์จะกำหนดอนาคตของเราฐานะคริสเตียนได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 21]
การเข้าส่วนร่วมเต็มที่ในกิจกรรมฝ่ายคริสเตียนจะส่งเสริมเอกลักษณ์คริสเตียนของเรา