“กิจการของท่านจะได้รับบำเหน็จ”
กษัตริย์อาซานำกองทัพเร่งรุดลงไปตามหุบเขาชัน จากที่ราบสูงยูเดียลงไปยังที่ราบชายฝั่งทะเล. เมื่อไปถึงจุดที่หุบเขากว้างขึ้น อาซาก็หยุดชะงักและอ้าปากค้าง. สิ่งที่เขาเห็นอยู่เบื้องล่างคือกองทัพของศัตรู และเป็นกองทัพที่ใหญ่มหึมา! กองทัพของชาวเอธิโอเปียนี้คงต้องมีจำนวนทหารถึงหนึ่งล้านคนจริง ๆ. กองทัพของอาซาทั้งหมดมีจำนวนทหารมากกว่าครึ่งหนึ่งของกองทัพนี้เพียงเล็กน้อย.
เมื่อเผชิญหน้ากับศึกสงครามแบบนี้ อาซาคิดถึงอะไรยิ่งกว่าสิ่งอื่น? เขาคิดถึงคำสั่งที่จะสั่งนายกองทั้งหลายไหม? การกระตุ้นใจกองทัพไหม? จดหมายถึงครอบครัวไหม? ไม่เลย! เมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์นี้ อาซาอธิษฐาน.
ก่อนที่เราจะพิจารณาเกี่ยวกับคำอธิษฐานนั้นและดูว่าเกิดอะไรขึ้นในโอกาสนั้น ขอให้พิจารณาว่าอาซาเป็นคนแบบไหน. อะไรทำให้เขาลงมือทำอย่างที่เขาได้ทำ? อาซามีเหตุผลที่จะเชื่อว่าพระเจ้าจะช่วยเขาไหม? บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับอาซาบอกให้เรารู้อะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาทรงอวยพรกิจการงานของผู้รับใช้ของพระองค์?
ประวัติของอาซา
ในช่วง 20 ปีหลังจากที่ชาติอิสราเอลแบ่งเป็นสองอาณาจักร ทั่วทั้งอาณาจักรยูดาห์เสื่อมทรามด้วยกิจปฏิบัตินอกรีต. เมื่ออาซาขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี 977 ก่อนสากลศักราช แม้แต่ในราชสำนักเองก็เป็นมลทินเนื่องด้วยการนมัสการเทพเจ้าแห่งการเจริญพันธุ์ของชาวคะนาอัน. แต่หนังสือพงศาวดารของคัมภีร์ไบเบิลที่บันทึกเรื่องการครองราชย์ของอาซากล่าวว่าเขา “ทำสิ่งที่ดีและถูกต้องในสายพระเนตร [พระยะโฮวา] พระเจ้า.” อาซา “รื้อแท่นบูชาพระต่างด้าวและปูชนียสถานสูงทั้งหลาย พังเสาศักดิ์สิทธิ์ และโค่นบรรดาเสาอาเชราห์.” (2 โคร. 14:2, 3, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน) อาซายังได้เนรเทศ “โสเภณีชายประจำเทวสถาน” ซึ่งเป็นผู้ชายที่ร่วมสังวาสกับผู้ชายในนามของศาสนา ออกไปจากอาณาจักรยูดาห์. อาซาไม่เพียงแต่จัดการชำระแผ่นดินให้สะอาดเท่านั้น. เขายังกระตุ้นประชาชนให้ “แสวงหาพระยะโฮวาพระเจ้าแห่งปู่ย่าตายาย” และให้ประพฤติตาม “พระบัญญัติและข้อบังคับ” ของพระเจ้า.—1 กษัต. 15:12, 13, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย; 2 โคร. 14:4
ด้วยความพอพระทัยที่เห็นว่าอาซามีใจแรงกล้าเพื่อการนมัสการแท้ พระยะโฮวาประทานบำเหน็จให้แผ่นดินของเขามีสันติสุขอยู่หลายปี. กษัตริย์ผู้นี้จึงกล่าวได้ว่า “เพราะเราทั้งหลายได้แสวงหาพระยะโฮวาพระเจ้าของเรา, พระองค์ได้ทรงโปรดพระราชทานให้พวกเรามีความสงบเงียบทั่วไป.” ประชาชนฉวยประโยชน์จากสภาพบ้านเมืองที่สงบสุขเช่นนี้ด้วยการสร้างป้อมปราการป้องกันเมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรยูดาห์ให้มั่นคงแข็งแกร่ง. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เขาจึงได้พากันสร้างขึ้นเป็นการเจริญดี.”—2 โคร. 14:1, 6, 7
ในสมรภูมิ
เมื่อพิจารณาประวัติของอาซา เราคงไม่แปลกใจที่ท่านอธิษฐานเมื่อเผชิญหน้ากับกองทัพที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยกล่าวถึงในพระคัมภีร์. อาซารู้ว่าพระเจ้าประทานบำเหน็จแก่คนที่ปฏิบัติด้วยความเชื่อ. กษัตริย์อาซาทูลอธิษฐานวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. อาซาตระหนักว่าถ้าเขาไว้วางใจพระเจ้าและได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์ ไม่ว่าศัตรูจะมีจำนวนเท่าใดหรือมีอำนาจเพียงไรเขาก็จะรับมือได้. พระนามพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับสงครามในครั้งนี้ อาซาจึงวิงวอนขอต่อพระเจ้าโดยคำนึงถึงเรื่องนี้. กษัตริย์อาซาทูลอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า, ขอพระองค์ทรงโปรดช่วย, เพราะข้าพเจ้ายึดถือพระองค์เป็นที่พึ่ง, และได้ออกมาต่อสู้หมู่คณะใหญ่นี้ในพระนามของพระองค์. ข้าแต่พระยะโฮวา, พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า, ขออย่าให้มนุษย์ได้ชัยชนะต่อพระองค์เลย.” (2 โคร. 14:11) นั่นเป็นเหมือนกับการทูลอธิษฐานว่า ‘ข้าแต่พระยะโฮวา พวกเอธิโอเปียยกมารุกรานและโจมตีพระองค์. ขอพระองค์อย่าปล่อยให้พระนามของพระองค์ถูกดูหมิ่นโดยที่ทรงยอมให้มนุษย์ที่อ่อนแอมาพิชิตประชาชนที่ถูกเรียกตามพระนามของพระองค์เลย.’ ด้วยเหตุนั้น “พระยะโฮวาจึงทรงปราบปรามพวกอายธิโอบต่อหน้าอาซากับกองทัพยูดา; และกองทัพอายธิโอบก็แตกหนีไป.”—2 โคร. 14:12
ปัจจุบัน ประชาชนของพระยะโฮวาเผชิญปรปักษ์มากมายที่มีอำนาจ. เราจะไม่ต่อสู้กับพวกเขาด้วยอาวุธและในสมรภูมิในความหมายตามตัวอักษร. ถึงกระนั้น เราแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาจะประทานบำเหน็จให้เหล่าผู้ซื่อสัตย์ทั้งหมดที่ทำสงครามฝ่ายวิญญาณในพระนามของพระองค์ได้รับชัยชนะ. สงครามส่วนตัวของเราอาจได้แก่การต้านทานน้ำใจที่หย่อนยานด้านศีลธรรมที่แทรกซึมไปทั่ว การต่อสู้กับความอ่อนแอของตัวเราเอง หรือการปกป้องครอบครัวของเราจากอิทธิพลทั้งหลายที่ทำให้เสื่อมเสีย. แต่ไม่ว่าเราจะเผชิญกับความยุ่งยากลำบากเช่นไรก็ตาม เราได้รับกำลังใจจากคำอธิษฐานของอาซา. ชัยชนะที่เขาได้รับเป็นชัยชนะของพระยะโฮวา. ชัยชนะนั้นแสดงให้เห็นว่าทุกคนที่หมายพึ่งพระเจ้าสามารถคาดหมายอะไรได้. ไม่มีอำนาจใด ๆ ของมนุษย์ที่จะต้านทานอำนาจของพระยะโฮวาได้.
การหนุนใจและคำเตือน
ระหว่างเดินทางกลับจากการสู้รบ อาซาพบกับอะซาระยา. ผู้พยากรณ์คนนี้ให้ทั้งกำลังใจและคำเตือนแก่ท่าน โดยทูลว่า “ข้าแต่ [อาซา] และยูดาห์กับเบนยามินทั้งปวง ขอจงฟังข้าพเจ้า. พระเจ้าทรงสถิตกับท่านทั้งหลายต่อเมื่อท่านทั้งหลายอยู่กับพระองค์. ถ้าท่านทั้งหลายแสวงหาพระองค์ท่านก็จะพบพระองค์ แต่ถ้าท่านทั้งหลายทอดทิ้งพระองค์พระองค์จะทรงทอดทิ้งท่านทั้งหลาย. . . . จงกล้าหาญอย่าให้มือของท่านอ่อนลง เพราะว่ากิจการของท่านจะได้รับบำเหน็จ.”—2 โคร. 15:1, 2, 7, ฉบับ R73
คำพูดของอะซาระยาเสริมความเชื่อของเราได้. คำพูดดังกล่าวแสดงว่าพระยะโฮวาจะทรงอยู่กับเราตราบเท่าที่เรารับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์. เมื่อเราร้องทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ เรามั่นใจได้ว่าพระองค์ทรงฟังเรา. อะซาระยากล่าวว่า “จงกล้าหาญ.” เพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้องบ่อยครั้งต้องมีความกล้าหาญอย่างมาก แต่เรารู้ว่าเราสามารถทำได้ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา.
เนื่องจากมาอะคา อัยกี (ย่า) ของอาซา ได้สร้าง “เสาเจ้าแม่อาเชราห์อันน่ารังเกียจ” อาซาจึงต้องถอดนางออกจากตำแหน่ง “พระพันปีหลวง” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำอย่างนั้น. เขาลงมือทำเรื่องยากนี้และยังเผาทำลายรูปเคารพของนางด้วย. (1 กษัต. 15:13, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) พระเจ้าทรงอวยพรอาซาที่เขามีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ. เราเองก็ต้องติดสนิทกับพระยะโฮวาและยึดมาตรฐานอันชอบธรรมของพระองค์โดยไม่หวั่นเกรง ไม่ว่าญาติ ๆ ของเราจะภักดีต่อพระเจ้าหรือไม่ก็ตาม. หากเราทำอย่างนั้น พระยะโฮวาจะประทานบำเหน็จแก่เราที่เราประพฤติอย่างซื่อสัตย์.
ส่วนหนึ่งที่นับเป็นบำเหน็จสำหรับอาซาคือการที่ได้เห็นชาวอิสราเอลจำนวนมากจากอาณาจักรทางเหนือที่ออกหากพากันหลั่งไหลเข้ามาในอาณาจักรยูดาห์เมื่อพวกเขาสังเกตเห็นว่าพระยะโฮวาทรงอยู่กับเขา. พวกเขาเห็นคุณค่าการนมัสการบริสุทธิ์มากจนถึงกับละทิ้งบ้านเรือนของตนเพื่อมาอยู่กับผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. หลังจากนั้น อาซาและประชาชนทั้งหมดในอาณาจักรยูดาห์ก็ได้ทำ “คำสัตย์สาบานว่า, จะแสวงหาพระยะโฮวา . . . ด้วยสุดใจสุดวิญญาณจิต.” ผลเป็นเช่นไร? พระเจ้า “จึงทรงโปรดให้เขาประสบพระองค์ แล้วพระยะโฮวาทรงโปรดให้แผ่นดินมีความสุขสำราญทั่วตลอดไป.” (2 โคร. 15:9-15) เราชื่นชมยินดีสักเพียงไรเมื่อเห็นผู้คนที่รักความชอบธรรมตอบรับการนมัสการอันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา!
อย่างไรก็ตาม คำพูดของผู้พยากรณ์อะซาระยามีคำเตือนแฝงอยู่ด้วย. ท่านผู้พยากรณ์เตือนว่า “ถ้าท่านทั้งหลายทอดทิ้ง [พระยะโฮวา] พระองค์จะทรงทอดทิ้งท่านทั้งหลาย.” ขออย่าให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นกับเราเลย เพราะผลที่จะตามมานั้นย่อมเป็นความหายนะ! (2 เป. 2:20-22) พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าทำไมพระยะโฮวาจึงส่งคำเตือนนี้ไปถึงอาซา แต่กษัตริย์ไม่สนใจคำเตือนที่มาจากพระเจ้า.
“ท่านได้ประพฤติเป็นโฉดเขลา”
ในปีที่ 36 แห่งรัชกาลของอาซา บาอะซากษัตริย์อิสราเอลได้ยกทัพมาต่อสู้อาณาจักรยูดาห์. อาจเป็นได้ที่บาอะซาต้องการป้องกันไม่ให้ราษฎรของเขามาสวามิภักดิ์ต่ออาซาและภักดีต่อการนมัสการบริสุทธิ์ เขาจึงเริ่มสร้างป้อมปราการที่เมืองรามาห์ เมืองชายแดนซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงเยรูซาเลมขึ้นไปแปดกิโลเมตร. แทนที่จะขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเช่นเดียวกับตอนที่ถูกกองทัพเอธิโอเปียรุกราน อาซาหันไปขอความช่วยเหลือจากมนุษย์. เขาส่งของกำนัลไปให้กษัตริย์ซีเรีย และขอให้ช่วยโจมตีอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือ. เมื่อชาวซีเรียจัดการโจมตีเมืองต่าง ๆ ของอิสราเอล บาอะซาก็ถอนตัวจากเมืองรามาห์.—2 โคร. 16:1-5
พระยะโฮวาไม่พอพระทัยอาซาและทรงส่งผู้พยากรณ์ฮะนานีให้แจ้งเรื่องนี้แก่เขา. เนื่องจากอาซารู้ว่าพระเจ้าทรงจัดการทหารชาวเอธิโอเปียอย่างไร เขาน่าจะได้เรียนรู้แล้วว่า “พระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรไปทั่วพิภพโลก, เพื่อจะสำแดงว่าพระองค์ทรงฤทธานุภาพสถิตอยู่กับคนทั้งปวงที่มีใจซื่อสัตย์สุจริตต่อพระองค์.” อาซาอาจได้รับคำแนะนำที่ไม่ดี หรือเขาอาจถือว่าบาอะซากับกองทัพไม่ใช่ภัยคุกคามใหญ่โตและคิดว่าเขาสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง. ไม่ว่าจะเป็นเช่นไรจริง ๆ อาซาคิดหาเหตุผลแบบมนุษย์และไม่ได้หมายพึ่งพระยะโฮวา. ฮะนานีกล่าวว่า “ในสิ่งนี้ท่านได้ประพฤติเป็นโฉดเขลาไป เหตุฉะนั้นจะมีการศึกสงครามแก่ท่านตั้งแต่นี้ต่อไป.”—2 โคร. 16:7-9
อาซาแสดงปฏิกิริยาที่ไม่ดี. ด้วยความโกรธ เขาจับผู้พยากรณ์ฮะนานีไปขังไว้ในคุก. (2 โคร. 16:10) อาซาอาจคิดไหมว่า ‘ข้ารับใช้อย่างซื่อสัตย์มาตั้งหลายปี สมควรแล้วหรือที่ต้องถูกว่ากล่าวอย่างนี้?’ ขณะนั้นเขาอายุมากแล้ว เขาสูญเสียความสามารถในการหาเหตุผลไหม? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกไว้.
ในปีที่ 39 แห่งการครองราชย์ อาซาเป็นโรคที่เท้าและอาการหนักมาก. บันทึกกล่าวว่า “ในการประชวรนั้นท่านมิได้แสวงหาพระยะโฮวา, หาแต่พวกแพทย์หลวง.” ในเวลานั้น ดูเหมือนว่าอาซาไม่ใส่ใจสายสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า. อาจเป็นได้ว่าเขาสิ้นชีวิตในปีที่ 41 แห่งการครองราชย์ในสภาพร่างกายและจิตใจเช่นนั้น.—2 โคร. 16:12-14
อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะที่ดีของอาซาและความมีใจแรงกล้าเพื่อการมนัสการอันบริสุทธิ์ดูเหมือนจะมีมากกว่าข้อผิดพลาดของเขา. เขาไม่เคยเลิกรับใช้พระยะโฮวา. (1 กษัต. 15:14) เมื่อพิจารณาจากมุมมองนี้ เราเรียนอะไรได้จากเรื่องราวชีวิตของเขา? เรื่องของอาซาช่วยเราให้ตระหนักว่า เราควรใคร่ครวญวิธีที่พระยะโฮวาเคยช่วยเราในอดีต เพราะความทรงจำที่ล้ำค่าเหล่านั้นจะกระตุ้นเราให้อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระองค์เมื่อเราเผชิญการทดสอบใหม่ ๆ. กระนั้น เราไม่ควรทึกทักว่าเราไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากพระคัมภีร์เพราะเราได้รับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์มานานหลายปีแล้ว. ไม่ว่าประวัติการรับใช้ของเราจะเป็นอย่างไร พระยะโฮวาก็จะทรงว่ากล่าวแก้ไขเราหากเราทำผิด. เราต้องยอมรับการแก้ไขเช่นนั้นอย่างถ่อมใจเพื่อการแก้ไขนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อเรา. ที่สำคัญที่สุด พระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์จะสถิตอยู่กับเราตราบใดที่เราไม่ละทิ้งพระองค์. พระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรไปทั่วพิภพโลกเพื่อเสาะหาคนที่ประพฤติตัวซื่อสัตย์ต่อพระองค์. พระองค์ประทานบำเหน็จแก่พวกเขาโดยการใช้อำนาจของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่พวกเขา. พระยะโฮวาทรงทำอย่างนั้นกับอาซา และพระองค์สามารถทำเช่นนั้นกับเราด้วย.
[คำโปรยหน้า 9]
พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่เหล่าผู้ซื่อสัตย์ที่อยู่ในสงครามฝ่ายวิญญาณ
[คำโปรยหน้า 10]
ต้องมีความกล้าเพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระยะโฮวา