กรุงเยรูซาเลมในสมัยคัมภีร์ไบเบิลโบราณคดีเผยให้เห็นอะไร?
กิจกรรมด้านโบราณคดีที่สำคัญซึ่งน่าสนใจได้เกิดขึ้นที่กรุงเยรูซาเลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 1967 เป็นต้นมา. สถานที่หลายแห่งซึ่งได้รับการขุดค้นนั้นบัดนี้มีการเปิดต่อสาธารณชน ดังนั้น ให้เราไปเยือนสถานที่นั้นบางแห่งและดูว่าโบราณคดีตรงกันกับประวัติศาสตร์ของคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร.
กรุงเยรูซาเลมสมัยกษัตริย์ดาวิด
บริเวณที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงว่าเป็นภูเขาซีโอน ซึ่งเมืองโบราณของดาวิดถูกสร้างขึ้นนั้น ดูไม่สลักสำคัญอะไรเลยในนครเยรูซาเลมสมัยปัจจุบัน. การขุดเมืองดาวิด ซึ่งดำเนินการโดยยิกเอล ชีโลห์ ศาสตราจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ระหว่างปี 1978-1985 เผยให้เห็นโครงสร้างมหึมาที่ลาดด้วยหินเป็นขั้น ๆ หรือกำแพงที่รับน้ำหนัก บนด้านตะวันออกของเนินเขา.
ศาสตราจารย์ชีโลห์อ้างว่านั่นคงต้องเป็นซากปรักหักพังของฐานรากมหึมาของกำแพงบนเนินหินซึ่งชาวยะบูศ (ประชากรที่อยู่ก่อนการพิชิตของดาวิด) ได้สร้างป้อมปราการไว้ที่นั่น. เขาชี้แจงว่าโครงสร้างที่ลาดด้วยหินเป็นขั้น ๆ ซึ่งเขาพบบนยอดเนินเหล่านี้เป็นส่วนของป้อมใหม่ที่สร้างโดยดาวิดบนสถานที่ตั้งป้อมปราการของชาวยะบูศ. ที่ 2 ซามูเอล 5:9 (ฉบับแปลใหม่) เราอ่านว่า “ดาวิดก็ทรงประทับอยู่ในที่กำบังเข้มแข็ง และเรียกที่นั้นว่าเมืองของดาวิด และดาวิดทรงสร้างเมืองรอบตั้งแต่มิลโลเข้าไปข้างใน.”
ใกล้สิ่งปลูกสร้างนี้คือทางเข้าระบบประปาเก่าแก่ของเมือง ซึ่งบางส่วนดูเหมือนจะมีอยู่ตั้งแต่สมัยดาวิด. ข้อความบางตอนในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับระบบอุโมงค์ส่งน้ำของกรุงเยรูซาเลมได้ทำให้เกิดปัญหาขึ้น. ตัวอย่างเช่น ดาวิดมีรับสั่งแก่พรรคพวกของท่านว่า “ผู้ใดจะเข้าตีพวกยะบูซี, ก็ให้ผู้นั้นไปทางน้ำไหลต่อสู้” กับศัตรู. (2 ซามูเอล 5:8) โยอาบแม่ทัพของดาวิดได้ทำเช่นนี้. ถ้อยคำที่ว่า “ทางน้ำ [“อุโมงค์ส่งน้ำ,” ล.ม.]” นั้นจริง ๆ แล้วมีความหมายเช่นไร?
ได้มีการยกคำถามอื่นขึ้นมาเกี่ยวกับอุโมงค์ส่งน้ำซีโลอามที่ขึ้นชื่อ ซึ่งดูเหมือนว่าขุดโดยวิศวกรของกษัตริย์ฮิศคียาในศตวรรษที่แปดก่อนสากลศักราช และมีการกล่าวถึงใน 2 กษัตริย์ 20:20 และ 2 โครนิกา 32:30. คนงานขุดอุโมงค์สองทีม ซึ่งขุดจากปลายคนละด้านจะจัดการให้มาบรรจบกันได้อย่างไร? ทำไมพวกเขาเลือกเส้นทางที่คดเคี้ยว ซึ่งทำให้อุโมงค์ยาวกว่าเส้นทางตรงมากทีเดียว? พวกเขาได้อากาศเพียงพอสำหรับหายใจโดยวิธีใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากดูเหมือนว่าพวกเขาคงได้ใช้ตะเกียงน้ำมัน?
วารสารบทวิจารณ์โบราณคดีด้านคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) ได้เสนอคำตอบที่เป็นไปได้สำหรับคำถามดังกล่าว. มีการอ้างถึงคำพูดของแดน กิล ที่ปรึกษาด้านธรณีวิทยาในการขุดค้นซึ่งกล่าวว่า “ข้างใต้เมืองดาวิดมีระบบคาร์สต์ตามธรรมชาติที่สลับซับซ้อน. คาร์สต์ เป็นศัพท์ทางธรณีวิทยาที่พรรณนาถึงบริเวณที่ไม่ปกติซึ่งมีหลุมบ่อ, ถ้ำและร่องน้ำในหินปูนที่เกิดจากน้ำบาดาลที่ซึมและไหลผ่านหินที่อยู่ใต้ดิน. . . . การสำรวจทางธรณีวิทยาของเราเกี่ยวกับระบบประปาใต้ดินข้างล่างเมืองดาวิดนั้นบ่งชี้ว่า โดยเนื้อแท้แล้วระบบนั้นได้สร้างขึ้นจากการที่มนุษย์ผู้เชี่ยวชาญขยายร่องน้ำ และบ่อที่เกิดจากการเซาะกร่อนตามธรรมชาติ ซึ่งเชื่อมเข้าเป็นระบบประปาที่มีประโยชน์ใช้สอย.”
เรื่องนี้อาจช่วยอธิบายวิธีที่มีการขุดอุโมงค์ซีโลอาม. อุโมงค์นั้นอาจขุดไปตามร่องน้ำตามธรรมชาติที่คดเคี้ยวที่อยู่ใต้เนินเขา. ทีมผู้ทำงานที่ทำจากปลายแต่ละด้านอาจได้ขุดอุโมงค์ชั่วคราวโดยการปรับเปลี่ยนถ้ำที่มีอยู่แล้ว. ครั้นแล้วก็ขุดร่องที่เอียงลาดเพื่อน้ำจะไหลจากน้ำพุฆีโฮนไปถึงสระซีโลอาม ซึ่งดูเหมือนจะตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง. นี่เป็นความสำเร็จด้านวิศวกรรมโดยแท้ เพราะความต่างกันด้านระดับระหว่างปลายสองข้างมีเพียง 32 เซนติเมตรเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ร่องนั้นมีความยาวถึง 533 เมตร.
ผู้คงแก่เรียนได้ยอมรับมานานแล้วว่า แหล่งน้ำสำคัญของเมืองโบราณคือน้ำพุฆีโฮน. น้ำพุนั้นอยู่ภายนอกกำแพงเมือง ทว่าอยู่ใกล้พอที่จะสามารถขุดอุโมงค์และบ่อลึก 11 เมตร ซึ่งทำให้ชาวเมืองตักน้ำได้โดยไม่ต้องออกไปนอกกำแพงที่ให้การปกป้องคุ้มครองนั้น. บ่อนี้เป็นที่รู้จักกันว่า บ่อน้ำของวอร์เรน ตั้งชื่อตามชาลส์ วอร์เรนผู้ซึ่งค้นพบระบบนั้นในปี 1867. แต่อุโมงค์และบ่อนั้นถูกสร้างขึ้นเมื่อไร? ทั้งสองมีอยู่ในสมัยของดาวิดไหม? นั่นเป็นอุโมงค์ส่งน้ำที่โยอาบใช้ไหม? แดน กิลตอบว่า “เพื่อทดสอบว่า บ่อน้ำของวอร์เรนที่จริงแล้วเป็นบ่อหินปูนตามธรรมชาติหรือไม่นั้น เราได้วิเคราะห์สะเก็ดของเปลือกนอกที่เป็นหินปูนจากผนังที่ไม่สม่ำเสมอของบ่อนั้นด้วยวิธีคาร์บอน-14. สะเก็ดนั้นไม่มีคาร์บอน-14 บ่งชี้ว่าสะเก็ดนั้นมีอายุมากกว่า 40,000 ปี: นี่ทำให้มีหลักฐานชัดแจ้งว่า บ่อนั้นจะขุดโดยมนุษย์ย่อมไม่ได้.”
ซากปรักหักพังตั้งแต่สมัยของฮิศคียา
กษัตริย์ฮิศคียาทรงพระชนม์อยู่คราวเมื่อชาติอัสซีเรียกวาดล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า. ในปีที่หกแห่งรัชกาลของท่าน ชาวอัสซีเรียได้พิชิตซะมาเรีย เมืองหลวงของอาณาจักรสิบตระกูล. แปดปีให้หลัง (ปี 732 ก่อนสากลศักราช) พวกอัสซีเรียกลับมาอีก ข่มขู่อาณาจักรยูดาและกรุงเยรูซาเลม. โครนิกาฉบับสอง 32:1-8 พรรณนาถึงยุทธศาสตร์การป้องกันของฮิศคียา. มีหลักฐานใด ๆ ที่ประจักษ์แก่ตาจากช่วงเวลานี้ไหม?
ใช่แล้ว ในปี 1969 ศาสตราจารย์นาฮ์มาน อะวีกาดได้ค้นพบซากปรักหักพังจากช่วงเวลานั้น. การขุดค้นเผยให้เห็นส่วนหนึ่งของกำแพงมหึมา ส่วนแรกยาว 40 เมตร กว้าง 7 เมตร และตามการประมาณแล้ว สูง 8 เมตร. กำแพงนี้ส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนฐานหินและบางส่วนตั้งอยู่บนบ้านที่เพิ่งรื้อ. ใครสร้างกำแพงและเมื่อไร? วารสารทางโบราณคดีเล่มหนึ่งรายงานว่า “มีสองตอนในคัมภีร์ไบเบิลได้ช่วยอะวีกาดให้ระบุวันเดือนปีและจุดประสงค์ของกำแพงนั้น.” ตอนเหล่านี้อ่านว่า “ท่านทรงจัดการแข็งแรง, กำแพงที่หักรื้อเสียแล้วก็สร้างขึ้นใหม่, และก่อหอคอยไว้ข้างบน, กับสร้างกำแพงนอกอีกชั้นหนึ่ง.” (2 โครนิกา 32:5) “ท่านก็พังเรือนมาเสริมกำแพงเมือง.” (ยะซายา 22:10, ฉบับแปลใหม่) ปัจจุบัน ผู้มาเยี่ยมชมสามารถเห็นส่วนหนึ่งของกำแพงนี้ที่เรียกว่าบรอดวอลล์ได้ในเขตที่อยู่ของชาวยิวในเมืองเก่า.
การขุดค้นหลายคราวเผยให้เห็นด้วยว่ากรุงเยรูซาเลมในตอนนั้นมีขนาดใหญ่กว่าที่คิดกันก่อนหน้านั้นมากนัก บางทีเนื่องจากการไหลทะลักของผู้ลี้ภัยจากอาณาจักรทางเหนือหลังจากที่ถูกอัสซีเรียพิชิต. ศาสตราจารย์ชีโลห์ประมาณว่า เมืองของชาวยะบูศครอบคลุมพื้นที่ราว ๆ 38 ไร่. ในสมัยของซะโลโม เมืองนั้นครอบคลุมพื้นที่เกือบ 100 ไร่. มาถึงสมัยของกษัตริย์ฮิศคียา 300 ปีต่อมา บริเวณที่มีการสร้างป้อมปราการของเมืองได้ขยายเป็นประมาณ 375 ไร่.
สุสานในช่วงสมัยพระวิหารหลังแรก
สุสานตั้งแต่ช่วงสมัยพระวิหารหลังแรก นั่นคือก่อนชาวบาบูโลนทำลายกรุงเยรูซาเลมในปี 607 ก.ส.ศ. เป็นแหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่ง. มีการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจเมื่อมีการขุดค้นอุโมงค์ฝังศพกลุ่มหนึ่งตามลาดเขาในหุบเขาฮินโนมในปี 1979/1980. นักโบราณคดีกาเบรียล บาร์เคบอกว่า “ในประวัติทั้งสิ้นของการค้นคว้าด้านโบราณคดีเกี่ยวกับกรุงเยรูซาเลม นี่เป็นหนึ่งในที่เก็บของที่เกี่ยวกับพระวิหารหลังแรกซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งที่ยังพบของทุกอย่างที่อยู่ในนั้น. อุโมงค์ฝังศพนี้มีสิ่งของมากกว่าหนึ่งพันชิ้น.” เขาบอกต่อไปว่า “ความใฝ่ฝันอันชื่นชอบที่สุดของนักโบราณคดีทุกคนที่ทำงานในอิสราเอล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเยรูซาเลม ก็คือ ค้นพบเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร.” มีการพบม้วนหนังสือเล็ก ๆ สองม้วนทำด้วยเงิน มีอะไรอยู่ในสองม้วนนั้น?
บาร์เคอธิบายว่า “เมื่อผมดูแผ่นเงินที่คลี่ออกและวางแผ่นนั้นใต้แว่นขยายแล้ว ผมสามารถเห็นว่าบนพื้นผิวของแผ่นนั้นมีอักษรที่เขียนอย่างบรรจง เขียนด้วยอุปกรณ์แหลมคมบนแผ่นเงินที่บางและฉีกขาดง่าย. . . . พระนามของพระเจ้าปรากฏอย่างชัดเจนในคำจารึกที่ประกอบด้วยอักษรฮีบรูสี่ตัวเขียนด้วยตัวหนังสือฮีบรูโบราณที่อ่านว่า ยอด-เฮ-วอ-เฮ.” ในหนังสือเล่มหนึ่งที่จัดพิมพ์ภายหลัง บาร์เคกล่าวเสริมว่า “ที่ทำให้เราประหลาดใจก็คือ แผ่นเงินทั้งสองได้รับการจารึกด้วยถ้อยคำที่นิยมใช้ในการอวยพรที่เกือบเหมือนกันกับคำอวยพรของปุโรหิตในคัมภีร์ไบเบิล.” (อาฤธโม 6:24-26) นี่เป็นครั้งแรกที่พบพระนามของพระยะโฮวาในคำจารึกที่ค้นพบในกรุงเยรูซาเลม.
ผู้คงแก่เรียนกำหนดอายุของม้วนเงินเหล่านี้โดยวิธีใด? ส่วนใหญ่โดยอาศัยสภาพแวดล้อมทางโบราณคดีซึ่งมีการค้นพบแผ่นนั้น. มีการพบเครื่องปั้นดินเผาที่พอจะกำหนดอายุได้มากกว่า 300 ชิ้นในอุโมงค์ฝังศพนั้นซึ่งชี้ถึงศตวรรษที่เจ็ดและศตวรรษที่หกก่อนสากลศักราช. ตัวหนังสือบนม้วนนั้น เมื่อเทียบกับคำจารึกอื่น ๆ ที่มีการกำหนดอายุแล้ว ชี้ถึงยุคสมัยเดียวกัน. ได้มีการตั้งแสดงม้วนหนังสือนั้นไว้ในพิพิธภัณฑ์อิสราเอลที่กรุงเยรูซาเลม.
ความพินาศของกรุงเยรูซาเลม ในปี 607 ก.ส.ศ.
คัมภีร์ไบเบิลบรรยายถึงความพินาศของกรุงเยรูซาเลมในปี 607 ก.ส.ศ. ใน 2 กษัตริย์บท 25, 2 โครนิกาบท 36, และยิระมะยาบท 39, รายงานว่ากองทัพของนะบูคัดเนซัรได้จุดไฟเผาเมืองเปลวไฟลุกเหมือนคบเพลิง. การขุดค้นเมื่อไม่นานมานี้ยืนยันเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตอนนี้ไหม? ตามที่ศาสตราจารย์ยิเกล ชีโลห์กล่าวนั้น “หลักฐาน [ของการทำลายล้างโดยชาวบาบูโลน] ในคัมภีร์ไบเบิล . . . ได้รับการเสริมให้สมบูรณ์โดยหลักฐานทางโบราณคดีที่ชัดแจ้ง; ความพินาศอย่างสิ้นเชิงของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ, และอัคคีภัยซึ่งเผาผลาญส่วนต่าง ๆ ของบ้านเรือนที่ทำด้วยไม้.” เขาอธิบายต่อไปว่า “ร่องรอยของความพินาศนี้ปรากฏให้เห็นในการขุดค้นกรุงเยรูซาเลมแต่ละครั้ง.”
ผู้มาเยี่ยมชมสามารถมองเห็นซากปรักหักพังจากความพินาศนี้ได้ซึ่งเกิดขึ้น 2,500 กว่าปีมาแล้ว. หอยิศราเอล, อาคารที่เรียกว่าเบิร์นรูม (ห้องไหม้เกรียม), และอาคารที่มีชื่อว่า บุลลาเฮ้าส์ เป็นชื่อของสถานที่ทางโบราณคดีที่เลื่องลือซึ่งได้รับการรักษาไว้และเปิดต่อสาธารณชน. นักโบราณคดีเจน เอ็ม. เคฮิลและเดวิด ทาร์เลอร์ได้สรุปไว้ในหนังสือกรุงเยรูซาเลมโบราณถูกเปิดเผย (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ความพินาศอย่างใหญ่หลวงของกรุงเยรูซาเลมโดยชาวบาบูโลนนั้นปรากฏชัดไม่เฉพาะแต่ในซากปรักหักพังที่ไหม้เกรียมเป็นชั้นหนาที่ขุดพบในอาคาร เช่น เบิร์นรูมและบุลลาเฮ้าส์เท่านั้น แต่ในเศษหินที่อยู่ลึกลงไปซึ่งมาจากอาคารที่พังทลายปกคลุมอยู่ตามลาดเขาทางตะวันออก. คำพรรณนาของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับความพินาศของเมืองนั้น . . . เสริมหลักฐานทางโบราณคดีให้สมบูรณ์.”
ฉะนั้น ภาพของกรุงเยรูซาเลมในคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่สมัยของดาวิดจนถึงความพินาศของกรุงนั้นในปี 607 ก.ส.ศ. ได้รับการยืนยันในหลายประการจากการขุดค้นด้านโบราณคดีที่ได้ดำเนินการไประหว่าง 25 ปีที่แล้ว. แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับกรุงเยรูซาเลมในศตวรรษแรกสากลศักราช?
กรุงเยรูซาเลมในสมัยของพระเยซู
การขุดค้น, คัมภีร์ไบเบิล, โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวในศตวรรษแรก, และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ช่วยผู้คงแก่เรียนให้วาดภาพกรุงเยรูซาเลมสมัยของพระเยซู ก่อนพวกโรมันทำลายกรุงนั้นใน ส.ศ. 70. ภาพจำลองที่นำออกแสดงข้างหลังโรงแรมขนาดใหญ่ในกรุงเยรูซาเลมนั้น ได้รับการทำให้ทันสมัยอยู่เสมอตามที่การขุดค้นใหม่ ๆ เผยให้เห็น. ลักษณะเด่นของเมืองนั้นคือ ภูเขาที่พระวิหารตั้งอยู่ ซึ่งเฮโรดได้ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับวิหารในสมัยของซะโลโม. นั่นเป็นที่ราบบนเนินเขาขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นในโลกโบราณ กว้างราว ๆ 480 เมตร ยาว 280 เมตร. หินที่นำมาใช้ในการก่อสร้างบางก้อนหนัก 50 ตัน, ก้อนหนึ่งหนักเกือบ 400 ตัน และตามที่ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งบอกไว้นั้น “เป็นขนาดที่ไม่มีใดเท่าเทียมไม่ว่าจากที่ไหนในโลกโบราณ.”
ไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนตกตะลึงเมื่อพวกเขาได้ยินพระเยซูตรัสว่า “ถ้าทำลายโบสถ์นี้เสีย, เราจะสร้างขึ้นในสามวัน.” พวกเขาคิดว่าพระองค์หมายถึงอาคารวิหารที่ใหญ่โต ถึงแม้พระองค์ทรงหมายถึง “พระวิหารแห่งพระกายของพระองค์.” เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงบอกว่า “พระวิหารหลังนี้ใช้เวลาสร้างสี่สิบหกปีจึงเสร็จ, และท่านจะสร้างขึ้นใหม่ในสามวันหรือ?” (โยฮัน 2:19-21, ล.ม.) ผลจากการขุดค้นบริเวณรอบ ๆ ภูเขาที่พระวิหารตั้งอยู่ ตอนนี้ผู้มาเยี่ยมชมสามารถมองเห็นส่วนต่าง ๆ ของกำแพงและลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยของพระเยซูและอาจถึงกับเดินบนบันไดที่พระองค์ดูเหมือนว่าเคยดำเนินขึ้นไปทางประตูในกำแพงด้านใต้ของพระวิหาร.
ไม่ไกลจากกำแพงด้านตะวันตกของภูเขาที่พระวิหารตั้งอยู่ ในเขตที่อยู่ของชาวยิวในเมืองเก่านั้น บริเวณที่มีการขุดค้นซึ่งได้รับการบูรณะอย่างดีสองแห่งตั้งแต่ศตวรรษแรกสากลศักราช ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าเบิร์นเฮ้าส์ และเฮโรเดียนควอเตอร์. หลังจากการค้นพบเบิร์นเฮ้าส์แล้ว นักโบราณคดีนาฮ์มาน อะวีกาดได้เขียนว่า “ปัจจุบันเป็นเรื่องชัดแจ้งทีเดียวว่า อาคารนี้ถูกพวกโรมันเผาในปี ค.ศ. 70 ระหว่างการทำลายกรุงเยรูซาเลม. เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการขุดค้นในเมืองนั้น ที่มีการเปิดเผยหลักฐานทางโบราณคดีที่ชัดราวกับตาเห็นและแจ่มแจ้งเกี่ยวกับการเผาเมืองนั้น.”—โปรดดูภาพหน้า 12.
การค้นพบเหล่านี้บางอย่างอธิบายเหตุการณ์บางเรื่องในชีวิตของพระเยซู. อาคารเหล่านั้นตั้งอยู่ในเมืองส่วนบน ที่ชนผู้มั่งคั่งของกรุงเยรูซาเลมอาศัยอยู่ รวมทั้งพวกมหาปุโรหิต. มีการพบอ่างชำระกายตามพิธีกรรมจำนวนมากทีเดียวในอาคารเหล่านั้น. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “อ่างจำนวนมากมายนั้นพิสูจน์การปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายว่าด้วยความบริสุทธิ์ทางพิธีกรรมซึ่งผู้ที่อาศัยในเมืองตอนบนได้ถือรักษากันระหว่างช่วงสมัยพระวิหารหลังที่สอง. (กฎหมายเหล่านี้ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือมิชนาห์ ซึ่งสงวนสิบบทไว้สำหรับรายละเอียดของมิกเวห์.)” ข้อมูลนี้ช่วยเราเข้าใจคำอธิบายของพระเยซูเรื่องพิธีกรรมเหล่านี้ที่ให้แก่พวกฟาริซายและอาลักษณ์.—มัดธาย 15:1-20; มาระโก 7:1-15.
มีการพบภาชนะหินจำนวนมากมายอย่างน่าแปลกใจในกรุงเยรูซาเลมด้วย. นาฮ์มาน อะวีกาดให้ข้อสังเกตว่า “ถ้าเช่นนั้น ทำไมสิ่งเหล่านั้นจู่ ๆ ก็มีขึ้นมาในปริมาณมากอย่างนั้นในครัวเรือนของกรุงเยรูซาเลม? คำตอบมีอยู่ในส่วนของฮาลักคาห์ ซึ่งเป็นกฎว่าด้วยความบริสุทธิ์ทางพิธีกรรมของชาวยิว. หนังสือมิชนาห์ บอกเราว่า ภาชนะหินอยู่ในบรรดาวัตถุที่ไม่สกปรกง่าย . . . หินเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้มีการแปดเปื้อนทางพิธีกรรมได้.” นั่นบ่งชี้ว่า เรื่องนี้อธิบายเหตุผลที่น้ำซึ่งพระเยซูทรงทำให้กลายเป็นเหล้าองุ่นนั้นถูกเก็บไว้ในภาชนะหินแทนที่จะเป็นภาชนะดิน.—เลวีติโก 11:33; โยฮัน 2:6.
การไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อิสราเอลจะมีการแสดงให้เห็นกระปุกเก็บอัฐิสองใบที่ผิดธรรมดา. หนังสือบทวิจารณ์โบราณคดีด้านคัมภีร์ไบเบิล อธิบายว่า “เดิมทีมีการใช้กระปุกเก็บอัฐิประมาณหนึ่งร้อยปีก่อนพวกโรมันทำลายกรุงเยรูซาเลมในปี ส.ศ. 70. . . . ผู้ตายถูกวางไว้ในช่องที่เจาะเข้าไปในผนังของอุโมงค์ฝังศพ; หลังจากเนื้อหนังเน่าเปื่อยไปแล้ว กระดูกได้ถูกรวบรวมและเก็บไว้ในกระปุกอัฐิ ซึ่งปกติเป็นภาชนะที่เป็นหินปูนที่ได้รับการแตกแต่ง.” กระปุกที่ตั้งแสดงไว้ทั้งสองใบนี้มีผู้พบในเดือนพฤศจิกายน 1990 ในอุโมงค์ฝังศพแห่งหนึ่ง. นักโบราณคดีซวี กรีนฮัท รายงานว่า “คำ . . . ‘กายะฟา’ ที่อยู่บนกระปุกสองใบในอุโมงค์ฝังศพปรากฏที่นี่เป็นครั้งแรกในสภาพแวดล้อมด้านโบราณคดี. บางทีอาจเป็นชื่อตระกูลของมหาปุโรหิตกายะฟา ที่มีการกล่าวถึง . . . ในพระคริสตธรรมใหม่ . . . จากบ้านของเขาในกรุงเยรูซาเลมนั่นเองที่พระเยซูถูกส่งตัวให้กับปอนเตียวปีลาต ผู้สำเร็จราชการชาติโรมัน.” กระปุกหนึ่งบรรจุกระดูกผู้ชายอายุราว ๆ 60 ปี. ผู้คงแก่เรียนคาดเดาว่า กระดูกเหล่านี้เป็นของกายะฟาอย่างแท้จริง. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งได้เอาสิ่งที่ค้นพบนั้นเกี่ยวโยงกับสมัยของพระเยซู “เหรียญที่พบในกระปุกอีกอันหนึ่งซึ่งผลิตโดยเฮโรดอะฆะริปา (ปี ส.ศ. 37-44). กระปุกอัฐิของกายะฟาทั้งสองใบอาจมีอายุย้อนไปถึงตอนเริ่มต้นของศตวรรษ.”
วิลเลียม จี. เดฟเวอร์ ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีของตะวันออกใกล้ ณ มหาวิทยาลัยแอริโซนา อรรถาธิบายเกี่ยวกับกรุงเยรูซาเลมว่า “ไม่ใช่เป็นการพูดเกินความจริงที่บอกว่า เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้านโบราณคดีของสถานที่สำคัญนี้ใน 15 ปีที่แล้วมากกว่าในตลอดช่วง 150 ปีก่อน.” กิจกรรมด้านโบราณคดีที่สำคัญหลายรายในกรุงเยรูซาเลมระหว่างไม่กี่ทศวรรษมานี้ได้เสนอสิ่งที่ค้นพบซึ่งอธิบายประวัติศาสตร์ในคัมภีร์ไบเบิลอย่างชัดแจ้ง.
[รูปภาพหน้า 9]
ภาพจำลองของกรุงเยรูซาเลมในสมัยวิหารหลังที่สอง—ตั้งอยู่ในบริเวณโรงแรมโฮลีแลนด์, เยรูซาเลม
[รูปภาพหน้า 10]
บน: มุมทางตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขาที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลมตั้งอยู่
ขวา: เดินผ่านอุโมงค์ของฮิศคียา