พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมโครนิกาฉบับสอง
พระธรรมโครนิกาฉบับสองเริ่มต้นด้วยเรื่องที่ซะโลโมกำลังปกครองเป็นกษัตริย์เหนืออิสราเอล. พระธรรมเล่มนี้จบลงด้วยถ้อยคำที่ไซรัสกษัตริย์เปอร์เซียตรัสกับชาวยิวที่ถูกเนรเทศไปยังบาบิโลนดังนี้: “[พระยะโฮวา] ทรงพระดำริให้เราสร้างโบสถ์วิหารสำหรับพระองค์ที่กรุงยะรูซาเลม, ในเขตยูดา. มีผู้ใด ๆ ในท่ามกลางท่านทั้งหลายที่เป็นพลไพร่ของพระองค์? ให้พระยะโฮวาพระเจ้าของเขาทรงสถิตอยู่ด้วยผู้นั้น, และให้ผู้นั้นขึ้นไป [กรุงเยรูซาเลม].” (2 โครนิกา 36:23) ปุโรหิตเอษราเขียนพระธรรมเล่มนี้เสร็จในปี 460 ก่อนสากลศักราช ครอบคลุมระยะเวลา 500 ปี นับตั้งแต่ปี 1037 ก่อน ส.ศ. ถึงปี 537 ก่อน ส.ศ.
กฤษฎีกาของไซรัสทำให้ชาวยิวมีโอกาสกลับไปยังเยรูซาเลมและฟื้นฟูการนมัสการพระยะโฮวาขึ้นที่กรุงนั้นอีก. อย่างไรก็ตาม การเป็นเชลยในบาบิโลนนานหลายปีก่อผลเสียต่อพวกเขา. เหล่าผู้ถูกเนรเทศขาดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านเกิดเมืองนอนของตน. โครนิกาฉบับสองได้สรุปให้พวกเขาเห็นอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่กษัตริย์องค์ต่าง ๆ แห่งเชื้อวงศ์ของดาวิดปกครอง. นอกจากนั้น เรื่องราวในพระธรรมนี้น่าสนใจสำหรับเราเพราะมีการเน้นให้เห็นพระพรต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลจากการเชื่อฟังพระเจ้าเที่ยงแท้และผลที่ตามมาเนื่องจากไม่เชื่อฟังพระองค์.
กษัตริย์องค์หนึ่งสร้างวิหารถวายแด่พระยะโฮวา
พระยะโฮวาประทานสิ่งที่กษัตริย์ซะโลโมปรารถนามากที่สุด นั่นคือ สติปัญญาและความรู้ อีกทั้งยังประทานความมั่งคั่งร่ำรวยและเกียรติยศแก่ท่านด้วย. กษัตริย์สร้างพระวิหารที่สง่างามในกรุงเยรูซาเลมถวายแด่พระยะโฮวา และประชาชน “ต่างก็มีใจรื่นชื่นชม.” (2 โครนิกา 7:10) ซะโลโมทรง “มีทรัพย์สมบัติ, และสติปัญญาเจริญขึ้นยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งหลายทั่วพิภพ.”—2 โครนิกา 9:22.
หลังจากปกครองอิสราเอล 40 ปี ซะโลโมก็ได้ ‘ล่วงลับไปตามปู่ย่าตายายของท่าน ระฮับอามราชบุตรจึงได้ขึ้นเสวยราชย์สมบัติแทนราชบิดา.’ (2 โครนิกา 9:31) เอษราไม่ได้บันทึกเรื่องที่ซะโลโมหันเหออกไปจากการนมัสการแท้. ข้อผิดพลาดของกษัตริย์เพียงเรื่องเดียวที่มีการบันทึกไว้ คือการได้ม้ามากมายจากอียิปต์และการอภิเษกกับราชธิดาฟาโรห์ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดนัก. ด้วยเหตุนั้น ผู้บันทึกพระธรรมนี้จึงหยิบยกเฉพาะแง่คิดที่เสริมสร้างมากล่าว.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
2:14—เหตุใดเชื้อสายของช่างฝีมือที่กล่าวถึงในข้อนี้จึงต่างจากใน 1 กษัตริย์ 7:14? พระธรรมหนึ่งกษัตริย์กล่าวถึงมารดาของช่างฝีมือว่าเป็น “แม่ม่ายคนหนึ่งในตระกูลนัพธาลี” เนื่องจากนางแต่งงานกับชายคนหนึ่งในตระกูลนั้น. แต่ตัวนางเองมาจากตระกูลดาน. หลังจากสามีเสียชีวิต นางแต่งงานใหม่กับชาวเมืองตุโร และช่างฝีมือคนนี้ก็เป็นบุตรที่เกิดจากการสมรสครั้งนี้.
2:18; 8:10—ทั้งสองข้อนี้กล่าวว่าจำนวนของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลและหัวหน้าคนงานมีจำนวน 3,600 และ 250 คน แต่ที่ 1 กษัตริย์ 5:16; 9:23 กล่าวว่ามีจำนวน 3,300 และ 550 คน. เหตุใดจึงต่างกัน? ความแตกต่างนี้ดูเหมือนเกิดจากวิธีแบ่งประเภทเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่. อาจเป็นได้ว่าสองโครนิกาแบ่งระหว่างคนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอล 3,600 คนและชาวอิสราเอล 250 คน ขณะที่พระธรรมหนึ่งกษัตริย์แบ่งระหว่างหัวหน้าคนงาน 3,300 คนกับผู้ควบคุมดูแลที่มีตำแหน่งสูงกว่า 550 คน. ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่มีจำนวนทั้งสิ้น 3,850 คน.
4:2-4—เหตุใดจึงใช้รูปโคเป็นฐานของทะเลหล่อ? ในคัมภีร์ไบเบิล โคเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง. (ยะเอศเคล 1:10; วิวรณ์ 4:6, 7) การเลือกรูปโคจึงนับว่าเหมาะเนื่องจากรูปโคทองแดง 12 ตัวหนุน “ทะเลหล่อ” ซึ่งมีขนาดใหญ่มากโดยมีน้ำหนักประมาณ 30 ตัน. การสร้างรูปโคเพื่อวัตถุประสงค์นี้ไม่ขัดต่อพระบัญญัติข้อสองที่ห้ามการสร้างรูปเคารพ.—เอ็กโซโด 20:4, 5.
4:5—ทะเลหล่อบรรจุน้ำเต็มที่ได้เท่าใด? ทะเลหล่อสามารถจุน้ำได้สามพันปี๊บ (ถัง) หรือประมาณ 66,000 ลิตร. แต่ตามปกติแล้วอาจมีการใส่น้ำเพียงสองในสามของความจุเท่านั้น. หนึ่งกษัตริย์ 7:26 กล่าวว่า “จุน้ำได้สองพันถัง.”
5:4, 5, 10—ของสิ่งใดจากพลับพลาเดิมถูกนำมาเก็บไว้ในวิหารของซะโลโม? ของสิ่งเดียวจากพลับพลาประชุมหลังเดิมที่ถูกนำมาเก็บไว้ในวิหารของซะโลโมคือหีบสัญญาไมตรี. หลังจากสร้างพระวิหารเสร็จแล้ว มีการย้ายพลับพลาจากกิบโอน (ฆิบโอน) มายังเยรูซาเลมและดูเหมือนว่า มีการเก็บพลับพลาไว้ที่นั่น.—2 โครนิกา 1:3, 4.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:11, 12. คำขอของซะโลโมทำให้พระยะโฮวาทราบว่า กษัตริย์องค์นี้ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้รับสติปัญญาและความรู้. ที่จริง คำอธิษฐานของเราทำให้พระเจ้ารู้ว่าอะไรอยู่ในใจของเรา. นับว่าสุขุมที่จะตรวจสอบคำอธิษฐานของเรา.
6:4. ความหยั่งรู้ค่าจากหัวใจสำหรับความกรุณารักใคร่และคุณความดีของพระยะโฮวาน่าจะกระตุ้นเราให้ถวายพระพรแด่พระยะโฮวา นั่นคือ สรรเสริญพระองค์ด้วยความรักและสำนึกบุญคุณ.
6:18-21. แม้พระเจ้าไม่ได้สถิตอยู่ในสิ่งปลูกสร้างใด ๆ แต่วิหารก็เป็นศูนย์กลางแห่งการนมัสการพระยะโฮวา. ทุกวันนี้หอประชุมราชอาณาจักรของพยานพระยะโฮวาเป็นศูนย์กลางแห่งการนมัสการแท้ในชุมชน.
6:19, 22, 32. พระยะโฮวาสดับฟังคำอธิษฐานของทุกคน ตั้งแต่กษัตริย์ไปจนถึงคนที่ต่ำต้อยที่สุดในชาติ และแม้แต่คนต่างชาติที่เข้ามาหาพระองค์ด้วยความจริงใจ.a—บทเพลงสรรเสริญ 65:2.
การครองราชย์สืบต่อกันของกษัตริย์ต่าง ๆ ในเชื้อวงศ์ดาวิด
อาณาจักรอิสราเอลที่เป็นหนึ่งเดียวถูกแบ่งเป็นสอง คือ อาณาจักรสิบตระกูลทางเหนือ และอาณาจักรสองตระกูลทางใต้คือยูดาห์และเบนยามิน. พวกปุโรหิตและชาวเลวีทั่วทั้งอิสราเอลแสดงความภักดีต่อสัญญาไมตรีเรื่องราชอาณาจักรมากกว่าชาตินิยมและเลือกอยู่ข้างระฮับอามราชบุตรของซะโลโม. 30 ปีเศษหลังจากสร้างเสร็จ ทรัพย์สมบัติของพระวิหารก็ถูกปล้น.
ในบรรดากษัตริย์ 19 องค์ภายหลังระฮับอาม มี 5 องค์ที่ซื่อสัตย์, 3 องค์เริ่มต้นอย่างดีแต่ภายหลังกลับไม่ซื่อสัตย์, และมีองค์หนึ่งที่หันกลับจากแนวทางชั่ว. ส่วนกษัตริย์องค์ที่เหลือล้วนแต่ทำชั่วในสายพระเนตรของพระยะโฮวา.b พระธรรมนี้เน้นการงานของกษัตริย์ห้าองค์ที่วางใจในพระยะโฮวา. เรื่องราวที่ฮิศคียาฟื้นฟูงานรับใช้ในพระวิหารและโยซียาจัดการฉลองปัศคาอย่างใหญ่โต คงต้องเป็นการหนุนใจอย่างมากสำหรับชาวยิวที่สนใจการฟื้นฟูการนมัสการพระยะโฮวาในกรุงเยรูซาเลม.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
13:5—คำว่า “คำสัญญาใช้เกลือ” หมายความอย่างไร? เนื่องจากเกลือมีคุณสมบัติถนอมอาหาร เกลือจึงเป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืนและไม่เปลี่ยนแปลง. ด้วยเหตุนั้น “คำสัญญาใช้เกลือ” จึงหมายถึงข้อตกลงที่มีผลผูกมัด.
14:2-5; 15:17—กษัตริย์อาซาทำลาย “ที่นมัสการบนเนินสูง” ทั้งหมดไหม? ดูเหมือนว่าท่านไม่ได้ทำอย่างนั้น. อาจเป็นได้ว่า อาซาทำลายที่นมัสการบนเนินสูงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการพระเท็จ แต่ไม่ได้ทำลายในส่วนที่ประชาชนใช้นมัสการพระยะโฮวา. นอกจากนั้น อาจเป็นไปได้ว่า ที่นมัสการบนเนินสูงเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นอีกในช่วงหลังแห่งการปกครองของอาซา. ยะโฮซาฟาดราชบุตรของท่านได้ทำลายสถานที่เหล่านี้. ที่จริง ที่นมัสการบนเนินสูงก็ไม่ได้หมดไปเสียเลยทีเดียว แม้แต่ในช่วงการปกครองของยะโฮซาฟาด.—2 โครนิกา 17:5, 6; 20:31-33.
15:9; 34:6—ตระกูลซีโมนเลือกอยู่ฝ่ายใดในคราวการแบ่งอาณาจักรอิสราเอล? เนื่องจากแผ่นดินที่ซีโมนได้รับเป็นมรดกอยู่ในเขตแดนของตระกูลยูดาห์ ดังนั้น ในทางภูมิศาสตร์แล้วตระกูลซีโมนจึงอยู่ภายในอาณาจักรยูดาห์และเบนยามิน. (ยะโฮซูอะ 19:1) อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงการนมัสการและการเมือง ตระกูลนี้เลือกที่จะอยู่ฝ่ายอาณาจักรทางเหนือ. (1 กษัตริย์ 11:30-33; 12:20-24) ฉะนั้น ตระกูลซีโมนจึงถูกนับอยู่ในอาณาจักรสิบตระกูล.
16:13, 14—พระศพของอาซาถูกเผาไหม? ไม่. “การถวายเพลิงเป็นการใหญ่หลวง” ไม่ได้หมายถึงการเผาพระ-ศพของอาซา แต่หมายถึงการเผาเครื่องหอม.—หมายเหตุในฉบับแปลโลกใหม่ที่มีข้ออ้างอิง (ภาษาอังกฤษ).
35:3—โยซียานำหีบศักดิ์สิทธิ์จากที่ไหนมาไว้ในพระวิหาร? ไม่ว่าหีบจะถูกย้ายออกไปก่อนหน้านี้แล้วโดยกษัตริย์ที่ชั่วร้ายองค์ใดองค์หนึ่ง หรือไม่ก็โยซียาอาจสั่งให้มีการย้ายหีบไปเก็บไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัยในช่วงการซ่อมแซมพระวิหาร คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวถึง. มีประวัติบันทึกอ้างถึงหีบดังกล่าวเพียงครั้งเดียวหลังจากสมัยซะโลโมก็คือในคราวที่โยซียานำหีบเข้ามาในพระวิหาร.
บทเรียนสำหรับเรา:
13:13-18; 14:11, 12; 32:9-23. ช่างเป็นบทเรียนสำหรับเราเสียจริง ๆ เกี่ยวกับความสำคัญของการหมายพึ่งพระยะโฮวา!
16:1-5, 7; 18:1-3, 28-32; 21:4-6; 22:10-12; 28:16-22. การสร้างสัมพันธไมตรีกับคนต่างชาติหรือผู้ไม่มีความเชื่อทำให้เกิดผลอันน่าเศร้าตามมา. นับว่าสุขุมที่เราจะหลีกเลี่ยงการเกี่ยวข้องกับโลกโดยไม่จำเป็น.—โยฮัน 17:14, 16; ยาโกโบ 4:4.
16:7-12; 26:16-21; 32:25, 26. ความหยิ่งทะนงทำให้กษัตริย์อาซาประพฤติชั่วในช่วงบั้นปลายของชีวิต. น้ำใจหยิ่งยโสทำให้อุซียาสูญเสียอำนาจ. ฮิศคียาปฏิบัติอย่างไม่ฉลาด และอาจนึกลำพองใจเมื่อท่านพาทูตของบาบิโลนไปชมทรัพย์สมบัติอันมีค่าของท่าน. (ยะซายา 39:1-7) คัมภีร์ไบเบิลเตือนว่า “ความเย่อหยิ่งนำไปถึงความพินาศ, และจิตต์ใจที่จองหองนำไปถึงการล้มลง.”—สุภาษิต 16:18.
16:9. พระยะโฮวาทรงช่วยคนที่มีหัวใจซื่อสัตย์สุจริตต่อพระองค์ และพระองค์เต็มพระทัยใช้ฤทธิ์เดชของพระองค์เพื่อเห็นแก่คนเช่นนี้.
18:12, 13, 23, 24, 27. เช่นเดียวกับมีคา เราควรประกาศเรื่องพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์อย่างกล้าหาญ.
19:1-3. พระยะโฮวามองหาส่วนดีในตัวเราแม้บางครั้งเราจะทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย.
20:1-28. เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะโปรดให้เราประสบพระองค์เมื่อเราหันเข้าหาพระองค์อย่างถ่อมใจเพื่อแสวงหาการชี้นำ.—สุภาษิต 15:29.
20:17 (ล.ม.). เพื่อจะเห็น “การช่วยให้รอดจากพระยะโฮวา” เราต้อง “เข้าประจำที่” โดยสนับสนุนราชอาณาจักรของพระเจ้าอย่างขยันขันแข็ง. แทนที่จะจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยตัวเราเอง เราต้อง “ยืนนิ่ง” ซึ่งหมายถึงการวางใจในพระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจ.
24:17-19; 25:14. การบูชารูปเคารพกลายเป็นบ่วงแร้วแก่โยอาศและอะมาซียาราชบุตรของท่าน. ทุกวันนี้อาจมีการล่อลวงให้บูชารูปเคารพในทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจเป็นในรูปของการโลภวัตถุเงินทองและชาตินิยม ซึ่งเป็นรูปแบบอันแฝงเร้นอย่างหนึ่งของการบูชารูปเคารพ.—โกโลซาย 3:5; วิวรณ์ 13:4.
32:6, 7. เราต้องกล้าหาญและเข้มแข็งเช่นเดียวกัน เมื่อเรา “สวมยุทธภัณฑ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า” และเข้าในการสู้รบทางฝ่ายวิญญาณ.—เอเฟโซ 6:11-18.
33:2-9, 12, 13, 15, 16. คนเราจะแสดงการกลับใจอย่างแท้จริงได้โดยละทิ้งทางชั่วและตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง. โดยการกลับใจอย่างแท้จริง แม้แต่คนที่ทำชั่วอย่างกษัตริย์มะนาเซก็สามารถได้รับความเมตตาจากพระยะโฮวา.
34:1-3. สภาพแวดล้อมที่ไม่ดีในวัยเด็กไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งกีดขวางเราที่จะรู้จักพระเจ้าและรับใช้พระองค์. ในช่วงที่เป็นเด็ก โยซียาอาจเห็นตัวอย่างที่ดีของมะนาเซ พระอัยกาผู้กลับใจ. ไม่ว่าโยซียาอาจได้รับแรงจูงใจในทางดีจากใครก็ตาม ในที่สุดสิ่งนั้นก็ส่งผลดีต่อท่าน. นั่นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราได้เช่นกัน.
36:15-17. พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่เมตตากรุณาและอดทน. อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความกรุณาและความอดทนของพระองค์จะมีอยู่เรื่อยไป. ประชาชนต้องตอบรับต่องานประกาศเรื่องราชอาณาจักรหากพวกเขาต้องการรอดชีวิตเมื่อพระยะโฮวานำอวสานมาสู่ระบบชั่วนี้.
36:17, 22, 23. พระคำของพระยะโฮวาเป็นจริงเสมอ.—1 กษัตริย์ 9:7, 8; ยิระมะยา 25:9-11.
หนังสือที่กระตุ้นให้ลงมือปฏิบัติ
สองโครนิกา 34:33 กล่าวว่า “โยซียาจึงได้กวาดของอันน่าเกลียดทั้งปวงนั้นไปเสียทั่วอาณาเขตชาติยิศราเอล, ได้เป็นเหตุให้คนทั้งปวงที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินยิศราเอลให้ปฏิบัติพระยะโฮวาพระเจ้าของตน.” อะไรกระตุ้นโยซียาให้ทำเช่นนี้? เมื่อซาฟาน ราชเลขาของกษัตริย์นำหนังสือพระบัญญัติของพระยะโฮวาที่ค้นพบใหม่มาถวาย กษัตริย์โยซียาให้ซาฟานอ่านด้วยเสียงอันดัง. โยซียาประทับใจอย่างยิ่งในสิ่งที่ท่านได้ยินจนถึงกับส่งเสริมการนมัสการแท้อย่างกระตือรือร้นตลอดชีวิตของท่าน.
การอ่านพระคำของพระเจ้าและใคร่ครวญสิ่งที่เราอ่านอาจส่งผลต่อเราอย่างลึกซึ้ง. การใคร่ครวญเรื่องราวของกษัตริย์องค์ต่าง ๆ ในเชื้อวงศ์ของดาวิดหนุนใจเราให้เลียนแบบผู้ที่วางใจในพระยะโฮวา และหลีกเลี่ยงการกระทำแบบเดียวกันกับกษัตริย์องค์ต่าง ๆ ที่ไม่วางใจพระเจ้ามิใช่หรือ? พระธรรมสองโครนิกากระตุ้นเราให้ถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระเจ้าเที่ยงแท้และรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์. ข่าวสารในพระธรรมนี้มีชีวิตและทรงพลังจริง ๆ.—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับคำถามเกี่ยวกับการอุทิศพระวิหารและบทเรียนอื่น ๆ ที่ได้จากคำอธิษฐานของซะโลโมในโอกาสดังกล่าว ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กรกฎาคม 2005 หน้า 28-31.
b สำหรับรายชื่อกษัตริย์ของยูดาห์ตามลำดับเวลา ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 สิงหาคม 2005 หน้า 12.
[ภาพหน้า 18]
คุณทราบไหมว่า เหตุใดรูปโคจึงเหมาะที่จะใช้เป็นฐานของทะเลหล่อ?
[ภาพหน้า 21]
แม้โยซียาไม่ค่อยได้รับการอบรมสั่งสอนเท่าที่ควร แต่ท่านก็ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเมื่อโตขึ้น