พระธรรมเล่มที่ 11—1 กษัตริย์
ผู้เขียน: ยิระมะยา
สถานที่เขียน: ยะรูซาเลมและยูดา
เขียนเสร็จ: 580 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: ประมาณ 1040-911 ก.ส.ศ.
1. (ก) ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของยิศราเอลได้ตกต่ำสู่ความหายนะอย่างไร? (ข) กระนั้น เหตุใดจึงอาจกล่าวได้ว่าพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้น ‘มีขึ้นโดยการดลใจและเป็นประโยชน์’?
ดินแดนต่าง ๆ ที่ดาวิดพิชิตได้ทำให้อาณาเขตของยิศราเอลขยายออกไปจนจดเขตที่พระเจ้าทรงประทาน จากแม่น้ำยูเฟรทิสทางเหนือไปถึงแม่น้ำของอียิปต์ซึ่งอยู่ทางใต้. (2 ซามู. 8:3; 1 กษัต. 4:21) พอดาวิดสิ้นชีวิตและซะโลโมราชบุตรของท่านขึ้นปกครองแทน “ชนชาวยูดาและยิศราเอลมีจำนวนเป็นอันมาก, ดุจทรายซึ่งอยู่ริมชายทะเล, เขาก็กินและดื่มและเล่นการสนุก.” (1 กษัต. 4:20) ซะโลโมปกครองด้วยสติปัญญาอันยิ่งใหญ่ สติปัญญาที่เหนือกว่าสติปัญญาของชาวกรีกโบราณอย่างไกลลิบ. ท่านสร้างพระวิหารอันโอ่อ่าโอฬารแด่พระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม แม้แต่ซะโลโมก็ยังหลงไปนมัสการพระเท็จ. พอท่านสิ้นชีวิต อาณาจักรก็ถูกแบ่งออกเป็นสองและกษัตริย์ชั่วช้าองค์ต่าง ๆ ที่สืบบัลลังก์กันในอาณาจักรยูดาและยิศราเอลที่แข่งขันชิงดีกันต่างปฏิบัติอย่างที่ก่อความหายนะ ซึ่งยังความทุกข์เดือดร้อนแก่ประชาชน เหมือนที่ซามูเอลพยากรณ์ไว้. (1 ซามู. 8:10-18) จากกษัตริย์ 14 องค์ซึ่งปกครองในยูดาและยิศราเอลหลังจากซะโลโมสิ้นชีพ และที่มีกล่าวถึงอีกในพระธรรมพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้น มีแค่ 2 องค์เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการทำสิ่งถูกต้องในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. ถ้าเช่นนั้น พระธรรมเล่มนี้เป็นบันทึกที่ ‘มีขึ้นโดยการดลใจและเป็นประโยชน์’ ไหม? แน่นอนที่สุด ดังที่เราจะเห็นจากคำเตือนสติ, คำพยากรณ์และแบบอย่างต่าง ๆ, รวมทั้งความเกี่ยวพันกับอรรถบทสำคัญเรื่องราชอาณาจักรของ “พระคัมภีร์ทุกตอน.”
2. บันทึกในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นและฉบับสองถูกแบ่งออกเป็นสองม้วนอย่างไร และได้รับการรวบรวมอย่างไร?
2 แต่เดิมพระธรรมพงศาวดารกษัตริย์เป็นม้วนเดียวหรือเล่มเดียว และมีชื่อในภาษาฮีบรูว่า เมลาคิมʹ (กษัตริย์). ผู้แปลฉบับเซปตัวจินต์ เรียกพระธรรมนี้ว่า บาซิเลʹอิโอน แปลว่า “ราชอาณาจักร” และเป็นพวกแรกที่แบ่งพระธรรมนี้ออกเป็นสองม้วนเพื่อความสะดวก. ต่อมาพระธรรมเหล่านี้ถูกเรียกเป็นพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสามและสี่ ซึ่งยังคงเรียกเช่นนั้นเรื่อยมาในคัมภีร์ไบเบิลของคาทอลิกจนถึงปัจจุบัน. อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วพระธรรมนี้เป็นที่รู้จักกันในเวลานี้ว่า พระธรรมพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นและฉบับสอง. พระธรรมทั้งสองแตกต่างจากซามูเอลฉบับต้นและฉบับสองตรงที่กล่าวถึงบันทึกฉบับก่อนว่าเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้รวบรวม. ผู้รวบรวมคนเดียวในพระธรรมสองเล่มนี้อ้างถึง “หนังสือพงศาวดารแห่งกษัตริย์ยูดา” 15 ครั้ง, อ้างถึง “หนังสือพงศาวดารแห่งกษัตริย์ยิศราเอล” 18 ครั้ง, และยังอ้างถึง “กิจการของซะโลโม” ด้วย. (1 กษัต. 15:7; 14:19; 11:41) แม้ว่าบันทึกโบราณอื่น ๆ เหล่านี้ได้สูญหายไปสิ้น แต่บันทึกที่รวบรวมโดยการดลใจยังคงอยู่ คือพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นและฉบับสองที่เป็นประโยชน์.
3. (ก) ใครเป็นผู้เขียนพระธรรมพงศาวดารกษัตริย์อย่างไม่ต้องสงสัย และทำไมคุณตอบเช่นนั้น? (ข) การเขียนเสร็จเมื่อไร และพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นครอบคลุมระยะเวลาใด?
3 ใครเขียนพระธรรมพงศาวดารกษัตริย์? การที่พระธรรมสองเล่มนี้เน้นเรื่องการงานของพวกผู้พยากรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเอลียาและอะลีซา บ่งว่าผู้เขียนเป็นผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา. ความคล้ายคลึงกันด้านภาษา, การเรียบเรียง, และแบบการเขียนทำให้เชื่อว่าผู้เขียนคงเป็นคนเดียวกับที่เขียนพระธรรมยิระมะยา. คำและถ้อยคำภาษาฮีบรูจำนวนมากปรากฏเฉพาะในพงศาวดารกษัตริย์และยิระมะยา และไม่ปรากฏในพระธรรมอื่น ๆ เลย. อย่างไรก็ตาม หากยิระมะยาเขียนพระธรรมพงศาวดารกษัตริย์ เหตุใดจึงไม่มีกล่าวถึงท่านในพระธรรมนี้? นั่นไม่จำเป็น เพราะการงานของท่านมีการกล่าวถึงอยู่แล้วในพระธรรมที่เรียกตามชื่อของท่าน. ยิ่งกว่านั้น พงศาวดารกษัตริย์ถูกจารึกไว้เพื่อยกย่องพระยะโฮวาและการนมัสการพระองค์ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มชื่อเสียงให้ยิระมะยา. ที่จริง พงศาวดารกษัตริย์และยิระมะยาเสริมกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ละเล่มเพิ่มเติมส่วนที่อีกเล่มหนึ่งเว้นข้ามไป. นอกจากนั้น มีบันทึกบางตอนเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น 2 กษัตริย์ 24:18–25:30 และยิระมะยา 39:1-10; 40:7–41:10; 52:1-34. คำเล่าสืบปากของพวกยิวยืนยันว่ายิระมะยาเป็นผู้เขียนพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นและฉบับสอง. ไม่มีข้อสงสัยว่าท่านเริ่มรวบรวมพระธรรมทั้งสองเล่มในยะรูซาเลม และปรากฏว่าพระธรรมเล่มที่สองเขียนเสร็จในอียิปต์ประมาณปี 580 ก.ส.ศ. เนื่องจากท่านอ้างถึงเหตุการณ์ในปีนั้นตอนท้ายบันทึกของท่าน. (2 กษัต. 25:27) พงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นเริ่มประวัติศาสตร์ของยิศราเอลตั้งแต่ตอนจบของซามูเอลฉบับสองและดำเนินต่อมาจนถึงปี 911 ก.ส.ศ. เมื่อยะโฮซาฟาดสิ้นชีวิต.—1 กษัต. 22:50.
4. ประวัติศาสตร์ทางโลกและโบราณคดียืนยันพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นอย่างไร?
4 พงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นเป็นส่วนแห่งสารบบของพระคัมภีร์บริสุทธิ์อย่างถูกต้อง เป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการทุกคน. ยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์ในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นได้รับการยืนยันจากประวัติศาสตร์ทางโลกของอียิปต์และอัสซีเรีย. โบราณคดีก็สนับสนุนข้อความหลายตอนในพระธรรมนี้ด้วย. ตัวอย่างเช่น ที่ 1 กษัตริย์ 7:45, 46 เราอ่านว่านั่นเป็น “ริมแม่น้ำ [“ในแขวงยาระเดน,” ล.ม.] . . . ระหว่างเมืองซุโคธและเมืองซะระธาร” ที่ฮีรามหล่อภาชนะทองแดงสำหรับพระวิหารที่ซะโลโมสร้าง. นักโบราณคดีที่ขุดในบริเวณที่ตั้งเมืองซุโคธโบราณได้พบหลักฐานเกี่ยวกับการถลุงโลหะในบริเวณนั้น.a นอกจากนั้น ภาพสลักบนกำแพงวิหารที่คาร์นัก (เมืองทีบส์โบราณ) โอ้อวดเรื่องที่กษัตริย์ชีชงก์ (ชีชัก) แห่งอียิปต์บุกรุกยูดา ซึ่งมีกล่าวถึงที่ 1 กษัตริย์ 14:25, 26.b
5. หลักฐานอะไรโดยการดลใจที่พิสูจน์ความเชื่อถือได้ของพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้น?
5 การอ้างอิงโดยผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ รวมทั้งความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ต่าง ๆ ก็สนับสนุนความเชื่อถือได้ของพระธรรมพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้น. พระเยซูตรัสถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเอลียาและหญิงม่ายเมืองซาเร็บตาว่าเป็นเรื่องจริงตามประวัติศาสตร์. (ลูกา 4:24-26) เมื่อตรัสถึงโยฮันผู้ให้บัพติสมา พระเยซูตรัสว่า “โยฮันนี้แหละเป็นเอลียาซึ่งจะมานั้น.” (มัด. 11:13, 14) ในที่นี้พระเยซูทรงพาดพิงถึงคำพยากรณ์ของมาลาคีซึ่งกล่าวถึงกาลภายหน้าเช่นกันว่า “นี่แน่ะ, เราจะใช้เอลียาศาสดาพยากรณ์ให้มาหาเจ้าเสียก่อนจะถึงวันใหญ่ของพระยะโฮวาอันเป็นวันที่น่าสะพรึงกลัว.” (มลคี. 4:5) นอกจากนี้ พระเยซูยังทรงยืนยันการที่พงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นเป็นส่วนของสารบบ โดยตรัสพาดพิงถึงสิ่งที่มีเขียนไว้ในพระธรรมนี้อันเกี่ยวกับซะโลโมรวมทั้งราชินีจากทิศใต้ด้วย.—มัด. 6:29; 12:42; เทียบกับ 1 กษัต. 10:1-9.
เนื้อเรื่องในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้น
6. ภายใต้สภาพการณ์อะไรบ้างที่ซะโลโมขึ้นครองบัลลังก์ และท่านตั้งมั่นคงในอาณาจักรนี้โดยวิธีใด?
6 ซะโลโมเป็นกษัตริย์ (1:1–2:46). บันทึกของพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นเริ่มด้วยตอนที่ดาวิดใกล้จะสิ้นชีพในช่วงท้าย ๆ แห่งการครองราชย์ 40 ปีของท่าน. อะโดนียาราชบุตรของท่าน ด้วยความช่วยเหลือของโยอาบแม่ทัพใหญ่และอะบีอาธารปุโรหิต วางแผนชิงตำแหน่งกษัตริย์. ผู้พยากรณ์นาธานแจ้งเรื่องนี้แก่ดาวิด และเตือนท่านทางอ้อมให้ระลึกว่า ท่านได้แต่งตั้งซะโลโมไว้แล้วเพื่อเป็นกษัตริย์เมื่อท่านสิ้นชีวิต. ฉะนั้น ดาวิดจึงให้ปุโรหิตซาโดคเจิมซะโลโมเป็นกษัตริย์ แม้ในขณะนั้นพวกที่วางแผนชั่วกำลังฉลองการที่อะโดนียาขึ้นสืบบัลลังก์. ตอนนี้ดาวิดรับสั่งกระตุ้นให้ซะโลโมเข้มแข็งและพิสูจน์ตัวเองเป็นลูกผู้ชายและให้ดำเนินในทางของพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน หลังจากนั้นดาวิดก็สิ้นชีวิตและถูกฝังไว้ใน “เมืองแห่งดาวิด.” (2:10) ต่อมาซะโลโมปลดอะบีอาธารออกจากตำแหน่งและประหารอะโดนียาและโยอาบผู้ก่อความยุ่งยาก. จากนั้น ซิมอีถูกสำเร็จโทษเมื่อไม่แสดงความนับถือต่อการจัดเตรียมด้วยความเมตตาเพื่อไว้ชีวิตเขา. บัดนี้อาณาจักรจึงตั้งมั่นคงในหัตถ์ของซะโลโม.
7. พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานอะไรของซะโลโม และยังผลประการใดแก่ยิศราเอล?
7 การปกครองอย่างฉลาดสุขุมของซะโลโม (3:1–4:34). ซะโลโมทำพันธไมตรีกับอียิปต์โดยอภิเษกสมรสกับราชธิดาฟาโรห์. ท่านอธิษฐานต่อพระยะโฮวาขอให้ตนมีหัวใจที่เชื่อฟัง เพื่อจะตัดสินไพร่พลของพระยะโฮวาด้วยความสังเกตเข้าใจ. เพราะท่านไม่ได้ขอให้มีอายุยืนหรือความมั่งคั่ง พระยะโฮวาจึงทรงสัญญาว่าจะทรงประทานสติปัญญาและหัวใจที่มีความสังเกตเข้าใจ รวมทั้งความมั่งคั่งและเกียรติยศให้ท่าน. ในตอนต้นรัชกาล ซะโลโมสำแดงสติปัญญาเมื่อหญิงสองคนมาเข้าเฝ้าท่าน อ้างสิทธิเหนือเด็กคนเดียวกัน. ซะโลโมสั่งคนของท่านให้ “ตัดทารกซึ่งมีชีวิตอยู่ให้เป็นสองท่อน” และให้แก่หญิงทั้งสองคนละครึ่ง. (3:25) ถึงตอนนี้ หญิงที่เป็นมารดาตัวจริงจึงวิงวอนขอชีวิตเด็ก โดยบอกว่าหญิงอีกผู้หนึ่งควรจะได้ไป. ด้วยวิธีนี้ซะโลโมจึงระบุตัวผู้เป็นมารดาโดยชอบธรรมและนางจึงได้เด็กไป. เนื่องด้วยสติปัญญาที่พระเจ้าประทานให้ซะโลโม ชาวยิศราเอลทั้งปวงจึงเจริญรุ่งเรืองอีกทั้งมีความสุขและความปลอดภัย. ผู้คนจากหลายดินแดนต่างมาเพื่อจะฟังคำกล่าวที่ฉลาดสุขุมของซะโลโม.
8. (ก) ซะโลโมดำเนินการสร้างพระวิหารอย่างไร? จงพรรณนาลักษณะเด่นบางประการของพระวิหาร. (ข) ท่านดำเนินโครงการก่อสร้างอะไรต่อไป?
8 วิหารของซะโลโม (5:1–10:29). ซะโลโมระลึกถึงถ้อยคำซึ่งพระยะโฮวาตรัสแก่ดาวิดราชบิดาของท่านที่ว่า “บุตรของเจ้าที่เราจะตั้งไว้บนพระที่นั่งแทนเจ้า, ผู้นั้นจะสร้างโบสถ์ถวายแก่นามของเรา.” (5:5) ฉะนั้น ซะโลโมจึงเตรียมการสำหรับเรื่องนี้. ฮีรามกษัตริย์เมืองตุโรช่วยเหลือโดยส่งไม้สนซีดาร์และไม้สนจูนิเปอร์จากละบาโนน (เลบานอน) รวมทั้งจัดส่งช่างผู้ชำนาญมาให้. คนเหล่านี้พร้อมกับคนงานที่ซะโลโมเกณฑ์มาได้เริ่มงานสร้างพระวิหารของพระยะโฮวาในปีที่สี่แห่งรัชกาลของซะโลโม คือในปีที่ 480 หลังจากชาวยิศราเอลออกจากอียิปต์. (6:1) ไม่มีการใช้ค้อน, ขวาน, หรือเครื่องมือใด ๆ ที่ทำด้วยเหล็ก ณ สถานที่ก่อสร้าง เพราะหินทุกก้อนถูกเตรียมและทำให้มีขนาดพอดีที่เหมืองหินก่อนนำมาประกอบที่สถานก่อสร้างพระวิหาร. ส่วนภายในทั้งสิ้นของพระวิหารนั้น ทีแรกใช้ไม้สนซีดาร์ปูผนังและใช้ไม้สนจูนิเปอร์ปูพื้น แล้วจึงปูทับด้วยทองคำอย่างงดงาม. รูปคะรูบสองอันทำด้วยไม้มะกอกเทศ แต่ละอันสูง 4.5 เมตรและระยะจากปลายปีกข้างหนึ่งถึงปลายปีกอีกข้างหนึ่งก็ 4.5 เมตร และคะรูบทั้งสองถูกตั้งไว้ในห้องบริสุทธิ์ที่สุด. มีการแกะสลักรูปคะรูบอื่น ๆ กับรูปต้นอินทผลัมและดอกไม้ไว้บนผนังพระวิหาร. ในที่สุดหลังจากงานก่อสร้างกว่าเจ็ดปี พระวิหารอันโอฬารจึงเสร็จสมบูรณ์. ซะโลโมยังคงดำเนินโครงการก่อสร้างต่อไป อันได้แก่ วังสำหรับท่านเอง, ตำหนักในป่าละบาโนน, เฉลียงพร้อมด้วยเสาหาน, ระเบียงบัลลังก์, และวังของธิดาฟาโรห์. นอกจากนี้ท่านยังสร้างเสาทองแดงใหญ่สองต้นสำหรับเฉลียงพระวิหารของพระยะโฮวา, ทะเลหล่อสำหรับลานพระวิหาร, และถังทองแดงมีล้อเลื่อน, รวมทั้งอ่างทองแดงและภาชนะที่ทำด้วยทอง.c
9. การสำแดงอะไรจากพระยะโฮวาและคำอธิษฐานอะไรของซะโลโมที่ทำให้การนำหีบสัญญาไมตรีเข้ามาเป็นเหตุการณ์พิเศษ?
9 บัดนี้ถึงเวลาที่ปุโรหิตจะนำหีบสัญญาไมตรีของพระยะโฮวามาและตั้งไว้ในห้องชั้นในสุด คือห้องบริสุทธิ์ที่สุด ใต้ปีกของคะรูบ. ขณะที่ปุโรหิตออกมา “รัศมีแห่งพระยะโฮวาได้เต็มโบสถ์ของพระองค์.” จนปุโรหิตไม่สามารถยืนปรนนิบัติได้ต่อไป. (8:11) ซะโลโมอวยพรชนยิศราเอลที่ชุมนุมกัน และท่านถวายการยกย่องและสรรเสริญพระยะโฮวา. โดยคุกเข่าพร้อมด้วยชูมือทั้งสองไปยังสวรรค์ ท่านยอมรับด้วยใจจริงว่าฟ้าสวรรค์แห่งฟ้าสวรรค์ทั้งหลายไม่อาจเป็นที่ให้พระองค์สถิตได้ พระวิหารทางแผ่นดินโลกที่ท่านได้สร้างก็ยิ่งเล็กกว่านั้นอีก. ท่านอธิษฐานขอพระยะโฮวาทรงสดับบรรดาผู้เกรงกลัวพระองค์ขณะที่พวกเขาอธิษฐานโดยหันหน้ามาทางพระวิหารนี้ ถูกแล้ว แม้กระทั่งคนต่างประเทศจากแดนไกล “เพื่อบรรดาประเทศทั่วพิภพนี้จะได้รู้จักพระนามของพระองค์, จะกลัวเกรงพระองค์, เหมือนอย่างพวกยิศราเอลพลไพร่ของพระองค์.”—8:43.
10. พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของซะโลโมด้วยคำสัญญาและคำเตือนเชิงพยากรณ์อะไร?
10 ระหว่างงานฉลอง 14 วันต่อจากนั้น ซะโลโมถวายวัว 22,000 ตัว กับแกะ 120,000 ตัว. พระยะโฮวาตรัสแก่ซะโลโมว่าพระองค์ทรงสดับคำอธิษฐานของท่าน และพระองค์ทรงทำให้วิหารบริสุทธิ์แล้วด้วยการประดิษฐาน ‘พระนามของพระองค์ไว้ที่นั่นเป็นนิตย์.’ บัดนี้ ถ้าซะโลโมจะดำเนินด้วยความเที่ยงธรรมเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา ราชบัลลังก์แห่งอาณาจักรของท่านจะคงอยู่ต่อไป. อย่างไรก็ตาม ถ้าซะโลโมและเชื้อวงศ์ของท่านละทิ้งการนมัสการพระยะโฮวาและปฏิบัติพระอื่น พระยะโฮวาได้ตรัสว่า “เราจะตัดพวกยิศราเอลออกจากแผ่นดินซึ่งเราได้ให้แก่เขาแล้ว; และโบสถ์นี้, ซึ่งเราได้รับการฉลองถวายสำหรับนามของเรา ๆ จะผลักออกจากคลองพระเนตรของเรา; และพวกยิศราเอลจะเป็นที่เยาะเย้ย และเป็นที่ติเตียนท่ามกลางชนชาติทั้งปวง: [“และพระนิเวศนี้จะกลายเป็นกองสิ่งสลักหักพัง,” ฉบับแปลใหม่].”—9:3, 7, 8.
11. ความมั่งคั่งและสติปัญญาของซะโลโมมีมากมายขนาดไหน?
11 ซะโลโมใช้เวลา 20 ปีจึงสร้างพระวิหารสำหรับพระยะโฮวาและราชวังจนเสร็จ. ตอนนี้ ท่านตั้งต้นสร้างเมืองหลายเมืองทั่วอาณาเขตของท่าน รวมทั้งเรือสำหรับค้าขายกับต่างแดน. โดยวิธีนี้ราชินีแห่งชีบาจึงได้ยินถึงสติปัญญาอันยิ่งใหญ่ที่พระยะโฮวาทรงประทานแก่ซะโลโม และนางจึงมาทดสอบท่านด้วยปริศนาอันยุ่งยากซับซ้อน. หลังจากได้ฟังท่านและได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองอีกทั้งความสุขของประชาชนของท่าน นางอุทานว่า “ซึ่งข้าพเจ้าได้ยินนั้นมิได้ถึงครึ่งพระสติปัญญา.” (10:7) ขณะที่พระยะโฮวาแสดงความรักต่อชาวยิศราเอลต่อไป ซะโลโม “จึงทรงมีทรัพย์สมบัติและพระสติปัญญายิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งปวงทั่วโลก.”—10:23.
12. (ก) ซะโลโมพลาดในด้านไหน และเชื้ออะไรของการต่อต้านเริ่มปรากฏ? (ข) อะฮียาพยากรณ์เรื่องอะไร?
12 ความไม่ซื่อสัตย์และความตายของซะโลโม (11:1-43). ซะโลโมขัดพระบัญชาของพระยะโฮวา ท่านรับมเหสีมากมายจากชาติอื่น ๆ ท่านมีมเหสี 700 กับนางห้ามอีก 300 คน. (บัญ. 17:17) หัวใจท่านถูกชักจูงไปปฏิบัติพระอื่น. พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่ท่านว่า อาณาจักรจะถูกชิงไปจากท่าน ไม่ใช่ในสมัยของท่าน แต่ในสมัยแห่งราชบุตรของท่าน. กระนั้นก็ตาม ส่วนหนึ่งแห่งอาณาจักร คืออีกหนึ่งตระกูลนอกจากตระกูลยูดา จะถูกปกครองโดยเชื้อวงศ์ของซะโลโม. พระเจ้าทรงเริ่มบันดาลให้มีผู้ต่อต้านซะโลโมจากชาติใกล้เคียง และยาระบะอามแห่งตระกูลเอฟรายิมก็ได้ตั้งตัวต่อต้านกษัตริย์ด้วย. ผู้พยากรณ์อะฮียาบอกยาระบะอามว่าท่านจะเป็นกษัตริย์ปกครองเหนือยิศราเอลสิบตระกูล และยาระบะอามหนีเอาชีวิตรอดไปยังอียิปต์. ซะโลโมตายหลังจากครองราชย์ได้ 40 ปี และระฮับอามราชบุตรของท่านได้เป็นกษัตริย์ในปี 997 ก.ส.ศ.
13. การแตกแยกเกิดขึ้นในอาณาจักรอย่างไรขณะที่ระฮับอามเริ่มครองราชย์ และยาระบะอามพยายามอย่างไรเพื่อทำให้ฐานะกษัตริย์ของตนมั่นคง?
13 อาณาจักรถูกแบ่งแยก (12:1–14:20). ยาระบะอามกลับจากอียิปต์และเข้าเฝ้าระฮับอามพร้อมกับประชาชนเพื่อขอระฮับอามให้ผ่อนผันภาระหนักทั้งปวงที่ซะโลโมวางไว้เหนือพวกเขา. ด้วยการฟังพวกคนหนุ่มแทนที่จะฟังคำแนะนำอันสุขุมของพวกผู้เฒ่าผู้แก่แห่งยิศราเอล ระฮับอามจึงเพิ่มความลำบากให้อีก. ชาวยิศราเอลจึงลุกฮือขึ้นแข็งข้อและตั้งยาระบะอามเป็นกษัตริย์ปกครองสิบตระกูลทางเหนือ. ระฮับอามซึ่งเหลือแค่ตระกูลยูดาและเบนยามินเท่านั้น จึงรวบรวมกองทัพเพื่อต่อสู้พวกกบฏ แต่ด้วยพระบัญชาของพระยะโฮวาท่านจึงได้ถอยกลับ. ยาระบะอามได้สร้างเมืองเซเค็มเป็นเมืองหลวง แต่ท่านก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย. ท่านกลัวว่าประชาชนจะกลับไปยังยะรูซาเลมเพื่อนมัสการพระยะโฮวาและพวกเขาจะตกอยู่ใต้ระฮับอามอีก. เพื่อป้องกันเรื่องนี้ ท่านจึงตั้งรูปวัวทองคำสองตัว ตัวหนึ่งที่เมืองดานและตัวหนึ่งที่เบธเอล และตั้งปุโรหิตซึ่งไม่ใช่จากตระกูลเลวี แต่จากประชาชนทั่ว ๆ ไปเพื่อชี้นำการนมัสการ.d
14. คำเตือนเชิงพยากรณ์อะไรที่มีต่อเชื้อวงศ์ของยาระบะอาม และความทุกข์เดือดร้อนอะไรบ้างเริ่มเกิดขึ้น?
14 ขณะที่ยาระบะอามถวายเครื่องบูชาที่แท่นในเมืองเบธเอล พระยะโฮวาทรงส่งผู้พยากรณ์คนหนึ่งมาเตือนว่า พระองค์จะทรงบันดาลกษัตริย์องค์หนึ่งจากตระกูลดาวิดชื่อโยซียา ซึ่งจะปฏิบัติการอย่างรุนแรงต่อแท่นบูชาของการนมัสการเท็จนี้. เพื่อเป็นเครื่องบอกเหตุ แท่นดังกล่าวจึงแตกเป็นเสี่ยง ๆ. ตัวผู้พยากรณ์เองต่อมาก็ถูกสิงโตฆ่าเพราะไม่เชื่อฟังพระบัญชาของพระยะโฮวาที่ไม่ให้กินหรือดื่มขณะปฏิบัติหน้าที่ของตน. ตอนนี้ความหายนะเริ่มก่อความทุกข์เดือดร้อนแก่เชื้อวงศ์ของยาระบะอาม. บุตรของท่านตายตามการพิพากษาจากพระยะโฮวา และอะฮียาผู้พยากรณ์ของพระเจ้าพยากรณ์ว่า เชื้อวงศ์ของยาระบะอามจะถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิงเพราะความบาปใหญ่หลวงที่ตั้งพระเทียมเท็จขึ้นในยิศราเอล. หลังจากครองราชย์ได้ 22 ปี ยาระบะอามเสียชีวิตและนาดาบราชบุตรของเขาได้เป็นกษัตริย์แทน.
15. เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างระหว่างการครองราชย์ของกษัตริย์ยูดาอีกสามองค์ต่อมา?
15 ในยูดา: ระฮับอาม, อะบียาม, และอาซา (14:21–15:24). ในเวลาเดียวกัน ยูดาภายใต้ระฮับอามก็ทำสิ่งชั่วในสายพระเนตรของพระยะโฮวาเช่นกันด้วยการนมัสการรูปเคารพ. กษัตริย์ของอียิปต์รุกรานและชิงเอาสิ่งมีค่าจากพระวิหารไปจำนวนมาก. หลังจากปกครองได้ 17 ปี ระฮับอามก็สิ้นชีวิต และอะบียามราชบุตรได้เป็นกษัตริย์. ท่านก็ทำชั่วต่อพระยะโฮวาเสมอเช่นกันและท่านสิ้นชีพหลังจากครองราชย์ได้สามปี. ตอนนี้อาซาราชบุตรของท่านได้ปกครอง และตรงกันข้ามกับท่าน อาซาปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยหัวใจครบถ้วนและกำจัดรูปเคารพที่โสมมจากแผ่นดิน. มีสงครามอยู่ตลอดเวลาระหว่างยิศราเอลกับยูดา. อาซาได้รับการช่วยเหลือจากซีเรีย และยิศราเอลถูกบีบให้ถอยกลับ. อาซาปกครองเป็นเวลา 41 ปี และยะโฮซาฟาดราชบุตรเป็นผู้สืบตำแหน่งจากท่าน.
16. ตอนนี้เกิดเหตุวุ่นวายอะไรในยิศราเอล และเพราะเหตุใด?
16 ในยิศราเอล: นาดาบ, บาอะซา, เอลา, ซิมรี, ธิบนี, อัมรี, และอาฮาบ (15:25–16:34). ช่างเป็นกลุ่มคนที่ชั่วช้าจริง ๆ! บาอะซาลอบสังหารนาดาบหลังจากนาดาบปกครองได้แค่สองปีและตามด้วยการกวาดล้างเชื้อวงศ์ทั้งสิ้นของยาระบะอาม. บาอะซาดำเนินการนมัสการเท็จต่อไปรวมทั้งการต่อสู้กับยูดา. พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าว่าพระองค์จะกวาดล้างเชื้อวงศ์ของบาอะซาเช่นเดียวกับที่ท่านได้ทำกับราชวงศ์ของยาระบะอาม. หลังจากบาอะซาครองราชย์ได้ 24 ปี เอลาราชบุตรของท่านได้สืบตำแหน่งและถูกลอบสังหารโดยซิมรีข้าราชการของตนหลังจากครองราชย์ได้สองปี. ทันทีที่ได้ครองบัลลังก์ ซิมรีสังหารเชื้อวงศ์ของบาอะซาทั้งหมด. เมื่อประชาชนได้ยินเรื่องนี้ พวกเขาจึงตั้งอัมรีแม่ทัพใหญ่ให้เป็นกษัตริย์และยกมาต่อสู้เมืองธิรซาเมืองหลวงของซิมรี. เมื่อซิมรีเห็นว่าแพ้แน่ จึงเผาราชวังพร้อมกับตนเอง เขาจึงสิ้นชีวิต. บัดนี้ ธิบนีพยายามจะตั้งตัวเป็นกษัตริย์คู่แข่ง แต่ไม่นานพรรคพวกของอัมรีก็เอาชนะและฆ่าธิบนี.
17. (ก) การครองราชย์ของอัมรีเด่นอย่างไร? (ข) เหตุใดการนมัสการแท้จึงตกต่ำถึงขีดสุดระหว่างรัชกาลของอาฮาบ?
17 อัมรีซื้อภูเขาซะมาเรียและสร้างกรุงซะมาเรียที่นั่น. ท่านดำเนินตามแนวทางทั้งสิ้นของยาระบะอาม ทำให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัยด้วยการบูชารูปเคารพ. ที่จริง ท่านชั่วกว่าใคร ๆ ทั้งหมดก่อนหน้านั้น. หลังจากครองราชย์ 12 ปี ท่านก็ตายและอาฮาบราชบุตรของท่านได้เป็นกษัตริย์. อาฮาบสมรสกับอีซาเบลราชธิดากษัตริย์ซีโดน และหลังจากนั้นได้ตั้งแท่นบูชาสำหรับบาละในกรุงซะมาเรีย. อาฮาบทำชั่วยิ่งกว่าทุกคนที่อยู่ก่อนตน. ในช่วงนี้ฮีเอลชาวเบธเอลได้สร้างเมืองยะริโฮขึ้นใหม่และสูญเสียบุตรหัวปีและบุตรคนสุดท้อง. การนมัสการแท้อยู่ในช่วงที่ตกต่ำถึงขีดสุด.
18. เอลียาเริ่มงานพยากรณ์ในยิศราเอลด้วยถ้อยแถลงอะไร และท่านชี้ตรงจุดอย่างไรถึงสาเหตุแท้จริงแห่งความทุกข์ลำบากของยิศราเอล?
18 งานพยากรณ์ของเอลียาในยิศราเอล (17:1–22:40). ทันใดนั้น ผู้ส่งข่าวจากพระยะโฮวาก็ปรากฏตัว. ผู้นั้นคือเอลียาชาวทิศบี.e ถ้อยแถลงเริ่มต้นของท่านแก่กษัตริย์อาฮาบช่างน่าตื่นตระหนกเสียจริง ที่ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งยิศราเอลซึ่งข้าพเจ้าได้ปฏิบัติทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด, จะไม่มีน้ำค้างหรือน้ำในปีเหล่านี้, เว้นแต่ข้าพเจ้าจะทูลขอ.” (17:1) ในทันทีนั้นเอง เอลียาก็ถอนตัวหลบไปตามคำบัญชาของพระยะโฮวาที่ให้ไปยังหุบเขาทางตะวันออกของแม่น้ำยาระเดน. เกิดความแห้งแล้งในยิศราเอล แต่พวกอีกานำอาหารมาให้เอลียา. เมื่อลำธารในหุบเขาแห้ง พระยะโฮวาส่งผู้พยากรณ์ของพระองค์ไปอยู่ที่เมืองซาเร็บตาในกรุงซีโดน. เนื่องจากความกรุณาที่แม่ม่ายคนหนึ่งมีต่อเอลียา พระยะโฮวาจึงทรงบันดาลให้แป้งและน้ำมันจำนวนเล็กน้อยของนางมีอยู่เรื่อยไปอย่างอัศจรรย์เพื่อนางและลูกชายจะไม่อดตาย. ต่อมาบุตรชายของนางป่วยและตาย แต่ด้วยการวิงวอนของเอลียา พระยะโฮวาจึงทรงให้เด็กคนนั้นกลับมีชีวิตอีก. ครั้นแล้วในปีที่สามแห่งความแห้งแล้ง พระยะโฮวาทรงส่งเอลียาไปเฝ้าอาฮาบอีก. อาฮาบกล่าวหาเอลียาว่านำการแช่งสาปมาสู่ยิศราเอล แต่เอลียาตอบอาฮาบอย่างกล้าหาญว่า “ท่านและเชื้อวงศ์ของท่านต่างหาก” เพราะติดตามพระบาละ.—18:18, ล.ม.
19. ประเด็นเรื่องความเป็นพระเจ้าถูกตั้งขึ้นอย่างไร และมีการพิสูจน์อย่างไรถึงฐานะสูงสุดของพระยะโฮวา?
19 เอลียาขอให้อาฮาบเรียกประชุมผู้พยากรณ์ทั้งสิ้นของบาละที่ภูเขาคาระเม็ล. เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปที่จะดำเนินแบบเหยียบเรือสองแคม. ประเด็นถูกตั้งขึ้น: พระยะโฮวาหรือบาละ! ต่อหน้าประชาชนทั้งหมด ปุโรหิตของบาละ 450 คน เตรียมวัวหนึ่งตัว วางไว้บนฟืนที่แท่นบูชา และอธิษฐานขอให้ไฟลงมาเผาเครื่องบูชา. จากเช้าถึงเที่ยง พวกเขาร้องขอบาละโดยไร้ผล ท่ามกลางเสียงเยาะเย้ยจากเอลียา. พวกเขาร้องตะโกนและเชือดเนื้อตัวเอง แต่ก็ไม่มีคำตอบ! ต่อมา เอลียาผู้พยากรณ์คนเดียวจึงสร้างแท่นในพระนามของพระยะโฮวาและเตรียมฟืนกับวัวเพื่อถวายเป็นเครื่องบูชา. ท่านให้ประชาชนเอาน้ำเทราดเครื่องบูชาและฟืนจนเปียกโชกสามเที่ยว แล้วท่านทูลอธิษฐานถึงพระยะโฮวาดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงสดับฟังคำกราบทูลของข้าพเจ้า, ขอทรงสดับฟังข้าพเจ้า, เพื่อไพร่พลเหล่านี้จะได้รู้ว่าพระองค์คือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้า [“เที่ยงแท้,” ล.ม.].” ตอนนั้นเอง ไฟพุ่งลงมาจากสวรรค์ เผาเครื่องบูชา, ฟืน, และหินที่ใช้ก่อแท่น, ผงคลีดิน, และน้ำจนสิ้น. เมื่อประชาชนทั้งปวงเห็นเช่นนั้น พวกเขาซบหน้าลงถึงดินทันทีและกล่าวว่า “พระยะโฮวา, พระองค์นั้นเป็นพระเจ้า [“เที่ยงแท้,” ล.ม.]; พระยะโฮวา, พระองค์นั้นเป็นพระเจ้า [“เที่ยงแท้,” ล.ม.].” (18:37, 39) ผู้พยากรณ์ของบาละต้องตาย! เอลียาดูแลการสังหารด้วยตนเองเพื่อไม่ให้มีใครหนีรอด. ครั้นแล้วพระยะโฮวาจึงประทานฝนให้ ซึ่งยุติความแห้งแล้งในยิศราเอล.
20. (ก) พระยะโฮวาทรงปรากฏแก่เอลียาที่ภูเขาโฮเร็บอย่างไร และพระองค์ทรงมีพระบัญชาอะไรและทรงให้การปลอบโยนอย่างไร? (ข) อาฮาบทำบาปและก่ออาชญากรรมอะไร?
20 เมื่อข่าวความอัปยศอดสูของพระบาละล่วงรู้ถึงอีซาเบล นางจึงหาทางฆ่าเอลียาเสีย. ด้วยความกลัว เอลียากับคนรับใช้หนีไปยังถิ่นทุรกันดาร และพระยะโฮวาทรงนำท่านไปยังโฮเร็บ. พระยะโฮวาทรงปรากฏแก่ท่านที่นั่น—ไม่ใช่ด้วยลมหรือแผ่นดินไหว หรือไฟอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ด้วย “เสียงเบา ๆ.” (19:11, 12) พระยะโฮวาทรงบอกท่านให้เจิมฮะซาเอลเป็นกษัตริย์ซีเรีย, เจิมเยฮูให้เป็นกษัตริย์ยิศราเอล, และเจิมอะลีซาเป็นผู้พยากรณ์แทนท่าน. พระองค์ทรงปลอบโยนเอลียาด้วยข่าวที่ว่า ยังมีอีก 7,000 คนในยิศราเอลที่ไม่ได้คุกเข่าแก่พระบาละ. เอลียาจึงไปเจิมอะลีซาทันทีโดยโยนเสื้อคลุมประจำตำแหน่งของท่านลงบนอะลีซา. ตอนนี้อาฮาบได้ชัยชนะสองครั้งเหนือพวกซีเรีย แต่ถูกพระยะโฮวาตำหนิที่ทำสัญญาไมตรีกับกษัตริย์ของพวกนั้นแทนที่จะฆ่าเสีย. จากนั้นก็เป็นเรื่องของนาโบธซึ่งอาฮาบต้องการสวนองุ่นของเขาเป็นอย่างยิ่ง. อีซาเบลวางแผนให้พยานเท็จใส่ร้ายนาโบธและให้ถูกประหารเพื่ออาฮาบจะยึดเอาสวนองุ่นนั้นได้. ช่างเป็นอาชญากรรมที่ไม่อาจให้อภัยได้จริง ๆ!
21. (ก) เอลียาแถลงว่าความวิบัติอะไรจะเกิดแก่อาฮาบกับเชื้อวงศ์ของท่าน รวมทั้งอีซาเบลด้วย? (ข) คำพยากรณ์อะไรที่สำเร็จเป็นจริงในคราวการตายของอาฮาบ?
21 เอลียาปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่ง. ท่านบอกอาฮาบว่าในที่ที่นาโบธตาย สุนัขจะเลียเลือดของท่านด้วย และเชื้อวงศ์ของท่านจะถูกกำจัดเสียสิ้นเหมือนของยาระบะอามและบาอะซา. สุนัขจะกินเนื้ออีซาเบลในที่ดินของเมืองยิศเรล. “ไม่มีใครเหมือนอย่างอาฮาบผู้ได้ขายตัวเอง, ทำการชั่วร้ายในคลองพระเนตรแห่งพระยะโฮวา, และประพฤติตามอีซาเบลมเหสีที่ได้ยุยงนั้น.” (21:25) อย่างไรก็ตาม เพราะอาฮาบถ่อมตัวลงเมื่อได้ยินคำของเอลียา พระยะโฮวาจึงตรัสว่าภัยพิบัติจะไม่มาในสมัยของท่านแต่จะมาในสมัยของราชบุตรของท่าน. ตอนนี้อาฮาบร่วมมือกับยะโฮซาฟาดกษัตริย์ยูดาเพื่อต่อสู้ซีเรีย และตรงกันข้ามกับคำเตือนของมีคายาผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา ทั้งสองออกไปสู้รบ. อาฮาบตายเนื่องจากได้รับบาดเจ็บในการรบ. ขณะที่รถรบของท่านถูกล้างที่สระในซะมาเรีย สุนัขเลียเลือดของท่าน ตรงกับที่เอลียาพยากรณ์ไว้. อาฮัศยาราชบุตรของท่านได้เป็นกษัตริย์ยิศราเอลแทน.
22. การปกครองของยะโฮซาฟาดแห่งยูดาและอาฮัศยาแห่งยิศราเอลเป็นเช่นไร?
22 ยะโฮซาฟาดครองราชย์ในยูดา (22:41-53). ยะโฮซาฟาดซึ่งร่วมไปกับอาฮาบเพื่อรบกับซีเรียเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเหมือนกับอาซาราชบิดา แต่ท่านไม่ได้กวาดล้างที่สูงสำหรับการนมัสการเทียมเท็จให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง. หลังจากปกครองได้ 25 ปีท่านก็เสียชีวิต และยะโฮรามราชบุตรของท่านได้เป็นกษัตริย์. ในยิศราเอลซึ่งอยู่ทางเหนือ อาฮัศยาได้ติดตามแนวทางของราชบิดา ทำให้พระยะโฮวาขุ่นเคืองพระทัยด้วยการนมัสการบาละ.
เหตุที่เป็นประโยชน์
23. พงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นให้คำรับรองและการหนุนกำลังใจอะไรอันเกี่ยวข้องกับการอธิษฐาน?
23 เราได้รับประโยชน์มากมายจากคำสั่งสอนของพระเจ้าในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้น. ประการแรก ขอให้พิจารณาเรื่องของการอธิษฐานซึ่งปรากฏบ่อยมากในพระธรรมนี้. เมื่อซะโลโมเผชิญหน้าที่รับผิดชอบใหญ่หลวงในตำแหน่งกษัตริย์ยิศราเอล ท่านอธิษฐานด้วยใจถ่อมต่อพระยะโฮวาด้วยท่าทีอย่างเด็ก. ท่านทูลขอเพียงความสังเกตเข้าใจและหัวใจที่เชื่อฟัง แต่นอกเหนือจากสติปัญญาอันล้ำเลิศแล้ว พระยะโฮวายังประทานความมั่งคั่งและเกียรติยศให้ท่านอีกด้วย. (3:7-9, 12-14) ขอให้พวกเราในทุกวันนี้มั่นใจว่า การที่เราอธิษฐานด้วยใจถ่อมเพื่อทูลขอสติปัญญาและการชี้นำในการรับใช้พระยะโฮวาย่อมจะได้รับคำตอบ! (ยโก. 1:5) ขอให้เราอธิษฐานด้วยความเร่าร้อนจากหัวใจเสมอ ด้วยความหยั่งรู้ค่าสุดซึ้งในคุณความดีทุกประการของพระยะโฮวา เช่นเดียวกับที่ซะโลโมได้ทำ ณ การอุทิศพระวิหาร! (1 กษัต. 8:22-53) ขอให้คำอธิษฐานของเราสำแดงตลอดเวลาถึงความไว้วางใจและความมั่นใจเต็มที่ในพระยะโฮวา เช่นเดียวกับคำอธิษฐานของเอลียาในยามถูกทดลองและในคราวเผชิญหน้ากับชาติที่นมัสการผีปิศาจ! พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอย่างมหัศจรรย์สำหรับผู้ที่แสวงหาพระองค์ด้วยการอธิษฐาน.—1 กษัต. 17:20-22; 18:36-40; 1 โย. 5:14.
24. มีตัวอย่างเตือนสติอะไรบ้างในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้น และเหตุใดพวกผู้ดูแลควรเอาใจใส่โดยเฉพาะ?
24 นอกจากนั้น เราน่าจะได้รับการเตือนจากตัวอย่างของผู้ที่ไม่ถ่อมตัวเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา. “พระเจ้าทรงต่อต้านผู้ที่หยิ่งยโส” จริง ๆ! (1 เป. 5:5, ล.ม.) มีอะโดนียาซึ่งคิดว่าตนสามารถมองข้ามการแต่งตั้งตามระบอบของพระเจ้า (1 กษัต. 1:5; 2:24, 25); ซิมอีซึ่งคิดว่าตนสามารถข้ามพรมแดนและกลับมาอีกได้. (2:37, 41-46); ซะโลโมในช่วงหลัง ๆ ซึ่งการไม่เชื่อฟังของท่านได้ทำให้เกิดผู้ต่อต้านที่มาจากพระยะโฮวา (11:9-14, 23-26); และเหล่ากษัตริย์ของยิศราเอลซึ่งศาสนาเท็จของพวกเขาได้ก่อความหายนะ (13:33, 34; 14:7-11; 16:1-4). นอกจากนั้นยังมีอีซาเบลที่โลภโมโทสันอย่างชั่วช้า ผู้กุมอำนาจอยู่เบื้องหลังบัลลังก์ของอาฮาบ ซึ่งตัวอย่างอันฉาวโฉ่ของนางมีการใช้อีกหนึ่งพันปีให้หลังเพื่อเตือนประชาคมธุอาทิราที่ว่า “แต่กระนั้น เรามีข้อต่อว่าเจ้า คือเจ้าทนกับอีซาเบลหญิงคนนั้นซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นผู้พยากรณ์ และนางสอนและชักนำพวกทาสของเราให้หลงทำผิดประเวณีและกินของที่บูชาแก่รูปเคารพแล้ว.” (วิ. 2:20, ล.ม.) พวกผู้ดูแลต้องรักษาประชาคมให้สะอาดพ้นจากอิทธิพลทั้งปวงแบบอีซาเบล!—เทียบกับกิจการ 20:28-30.
25. คำพยากรณ์อะไรบ้างในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นที่สำเร็จเป็นจริงอย่างโดดเด่น และการจดจำสิ่งเหล่านี้ช่วยเราได้อย่างไรในปัจจุบัน?
25 ฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวาในการพยากรณ์มีแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์หลายตอนที่มีบอกไว้ในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้น. ยกตัวอย่าง มีคำพยากรณ์ที่เด่นซึ่งบอกไว้ 300 กว่าปีล่วงหน้าว่า โยซียาจะเป็นผู้รื้อทำลายแท่นบูชาของยาระบะอามที่เบธเอล. โยซียาได้ทำจริง ๆ! (1 กษัต. 13:1-3; 2 กษัต. 23:15) อย่างไรก็ตาม ที่เด่นที่สุดก็คือคำพยากรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระวิหารของพระยะโฮวาที่ซะโลโมได้สร้างไว้. พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่ซะโลโมว่า การถอยห่างไปหาพระเท็จจะยังผลด้วยการที่พระองค์ทรงตัดพวกยิศราเอลออกจากแผ่นดินและทรงสลัดทิ้งพระวิหารที่พระองค์ได้ทรงทำให้บริสุทธิ์เพื่อพระนามของพระองค์. (1 กษัต. 9:7, 8) ที่ 2 โครนิกา 36:17-21 เราเห็นว่าคำพยากรณ์นี้ปรากฏว่าเป็นจริงเพียงใด. ยิ่งกว่านั้น พระเยซูทรงเผยให้ทราบว่า พระวิหารที่เฮโรดมหาราชสร้างขึ้นภายหลังบนสถานที่เดียวกันก็จะประสบชะตากรรมเดียวกันและเพราะเหตุผลเดียวกัน. (ลูกา 21:6) เรื่องนี้ก็ปรากฏว่าเป็นจริงสักเพียงใด! เราควรจดจำเรื่องความหายนะเหล่านี้รวมทั้งเหตุแห่งความหายนะนั้น และความหายนะเหล่านั้นควรเตือนใจเราให้ดำเนินในวิถีทางของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้เสมอ.
26. ภาพล่วงหน้าที่กระตุ้นใจอะไรเกี่ยวกับพระวิหารของพระยะโฮวาและราชอาณาจักรมีให้ไว้ในพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้น?
26 ราชินีแห่งชีบาได้มาจากประเทศของตนที่อยู่ห่างไกลเพื่อจะประสบความประหลาดใจในสติปัญญาของซะโลโม, ความเจริญรุ่งเรืองของประชาชน, และสง่าราศีแห่งอาณาจักรของซะโลโม, รวมทั้งพระวิหารอันสง่างามของพระยะโฮวา. อย่างไรก็ดี แม้แต่ซะโลโมก็สารภาพกับพระยะโฮวาว่า “นี่แน่ะ, ท้องฟ้าและสวรรค์แวดล้อมพระองค์ไว้ไม่ได้; โบสถ์นี้ข้าพเจ้าได้สร้างไว้เล็กกว่านั้นอีกมากสักเท่าใด?” (1 กษัต. 8:27; 10:4-9) แต่หลายศตวรรษต่อมา พระคริสต์เยซูได้เสด็จมาดำเนินงานสร้างฝ่ายวิญญาณโดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับการฟื้นฟูการนมัสการแท้ ณ พระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา. (เฮ็บ. 8:1-5; 9:2-10, 23) สำหรับพระองค์ผู้นี้ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าซะโลโม คำสัญญาของพระยะโฮวาเป็นจริงที่ว่า “เราจะตั้งพระที่นั่งแห่งแผ่นดินของเจ้าให้ครอบครองพวกยิศราเอลเป็นนิจ.” (1 กษัต. 9:5; มัด. 1:1, 6, 7, 16; 12:42; ลูกา 1:32) พงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นให้ภาพล่วงหน้าที่กระตุ้นใจเกี่ยวกับสง่าราศีแห่งพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวารวมทั้งความรุ่งเรือง, ความปีติยินดี, และความสุขเบิกบานของบรรดาผู้ที่มาอาศัยภายใต้การปกครองอันชาญฉลาดแห่งราชอาณาจักรของพระยะโฮวาโดยทางพระคริสต์เยซู. ความหยั่งรู้ค่าที่เรามีต่อความสำคัญแห่งการนมัสการแท้และการจัดเตรียมอันวิเศษของพระยะโฮวาเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระองค์โดยพงศ์พันธุ์นั้นทวีขึ้นเรื่อย ๆ!
[เชิงอรรถ]
a สารานุกรม ดิ อินเตอร์แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล เล่ม 4 1988 (ภาษาอังกฤษ) เรียบเรียงโดย จี. ดับเบิลยู. บรอมิลีย์ หน้า 648.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 149, 952.
c การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 750-751.
d การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 947-948.
e การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 949-950.