พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมเอษรา
เรื่องราวในพระธรรมเอษราเป็นตอนต่อจากพระธรรมสองโครนิกา. ผู้เขียนพระธรรมนี้ ซึ่งก็คือปุโรหิตเอษรา เริ่มเรื่องด้วยกฤษฎีกาของกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียที่อนุมัติให้ชนที่เหลือชาวยิวซึ่งเป็นเชลยในบาบิโลนกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตนได้. เรื่องราวจบลงในตอนที่เอษรานำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อสะสางปัญหาซึ่งเกิดจากการที่ชาวยิวสมรสกับคนต่างชาติที่อาศัยในแผ่นดินนั้น. รวมแล้ว พระธรรมนี้ครอบคลุมระยะเวลาทั้งหมด 70 ปี—นับตั้งแต่ปี 537 ก่อนสากลศักราชจนถึงปี 467 ก่อน ส.ศ.
เอษราเขียนพระธรรมนี้โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือ เพื่อแสดงให้เห็นวิธีที่พระยะโฮวาทำให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จเป็นจริงโดยการปลดปล่อยประชาชนของพระองค์จากการเป็นเชลยในบาบิโลนและฟื้นฟูการนมัสการแท้ในกรุงเยรูซาเลม. ดังนั้น เอษราจึงเน้นเฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์นี้. พระธรรมเอษราบันทึกเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่า พระวิหารถูกสร้างขึ้นใหม่โดยวิธีใดและการนมัสการพระยะโฮวาได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกอย่างไรแม้มีการต่อต้านและปัญหาจากความไม่สมบูรณ์ของประชาชนของพระเจ้า. เรื่องราวในพระธรรมนี้น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับเรา เนื่องจากเรามีชีวิตอยู่ในยุคแห่งการฟื้นฟูด้วยเช่นกัน. ผู้คนมากมายกำลังหลั่งไหลไปยัง “ภูเขาแห่งพระยะโฮวา” และแผ่นดินโลกทั้งสิ้นกำลังจะ “เต็มบริบูรณ์ด้วยพระรัศมีของพระยะโฮวา.”—ยะซายา 2:2, 3, ล.ม.; ฮะบาฆูค 2:14.
การสร้างพระวิหารขึ้นใหม่
ครั้นไซรัสประกาศกฤษฎีกาปลดปล่อยชาวยิวเป็นอิสระแล้ว เชลยชาวยิวประมาณ 50,000 คนจึงเดินทางกลับสู่กรุงเยรูซาเลมโดยมีผู้สำเร็จราชการซะรูบาเบล หรือเซ็ศบาซัรเป็นผู้นำ. ทันทีที่เดินทางมาถึง ชาวยิวที่กลับสู่มาตุภูมิได้สร้างแท่นบูชาขึ้นและเริ่มถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา.
ปีถัดมา ชาวอิสราเอลวางฐานรากของพระวิหารของพระยะโฮวา. เหล่าปรปักษ์พยายามขัดขวางงานก่อสร้างพระวิหาร และในที่สุดพวกเขาก็ทำสำเร็จโดยอาศัยราชโองการที่สั่งให้หยุดการก่อสร้าง. ผู้พยากรณ์ฮาฆีและซะคาระยาเร้าใจประชาชนจนพวกเขากลับมาเริ่มการสร้างพระวิหารอีกแม้จะถูกสั่งห้าม. พวกปรปักษ์ไม่กล้ามาตอแยเนื่องจากกลัวว่าจะขัดขืนราชกฤษฎีกาของเปอร์เซียที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ซึ่งแต่เดิมออกโดยไซรัส. การสอบสวนอย่างเป็นทางการทำให้พบคำสั่งของไซรัสที่ “โปรดรับสั่งด้วยโบสถ์วิหารของพระเจ้าที่กรุงยะรูซาเลมนั้น.” (เอษรา 6:3) งานก้าวหน้าเป็นอย่างดีและแล้วเสร็จ.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:3-6—ชาวอิสราเอลที่ไม่สมัครใจเดินทางกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนเป็นพวกที่อ่อนแอในความเชื่อไหม? บางคนอาจไม่ยอมกลับไปเยรูซาเลมเพราะนิยมวัตถุหรือขาดความหยั่งรู้ค่าต่อการนมัสการแท้ แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นทุกกรณีไป. เหตุผลแรกที่ทำให้บางคนไม่กลับไปก็คือ การเดินทางไปเยรูซาเลมซึ่งอยู่ไกลออกไป 1,600 กิโลเมตรต้องใช้เวลาเดินทางนานสี่หรือห้าเดือน. นอกจากนั้น การตั้งถิ่นฐานและการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ในดินแดนที่ถูกทิ้งร้างไว้ถึง 70 ปีจะต้องใช้แรงกายอย่างมาก. ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า บางคนที่สภาพการณ์ไม่เอื้ออำนวย เช่น เจ็บป่วย, สูงอายุ, หรือมีหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวจึงไม่ได้เดินทางกลับไป.
2:43—ใครคือพวกนะธีนิม? คนพวกนี้ที่ไม่ใช่อิสราเอลโดยกำเนิด เป็นทาสรับใช้ในพระวิหาร. ท่ามกลางพวกเขาอาจมีผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวเมืองกิบโอนในสมัยยะโฮซูอะ และอาจเป็นพวกที่ “ดาวิดกับเจ้านายได้ตั้งไว้ให้เป็นพนักงานรับรองพวกเลวี.”—เอษรา 8:20.
2:55—ใครคือเหล่าบุตรหลานของพวกมหาดเล็กของซะโลโม? พวกเขาไม่ใช่ชาวอิสราเอลแต่มีหน้าที่พิเศษในงานรับใช้พระยะโฮวา. พวกเขาอาจเป็นอาลักษณ์หรือผู้คัดลอกประจำพระวิหารหรืออาจทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการในพระวิหารก็ได้.
2:61-63—อูริมและทูมิมซึ่งมีการใช้เมื่อมีปัญหาที่ต้องการคำตอบจากพระยะโฮวานั้น มีไว้พร้อมสำหรับผู้ถูกเนรเทศที่กลับมาไหม? คนที่อ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากปุโรหิตแต่ไม่มีหลักฐานลำดับวงศ์วานของตน สามารถยืนยันคำกล่าวอ้างได้โดยใช้อูริมและทูมิม. เอษรากล่าวถึงการใช้ในกรณีแบบนี้เท่านั้นซึ่งพอจะเป็นไปได้. ไม่มีบันทึกในพระคัมภีร์ว่าได้มีการใช้อูริมและทูมิมในครั้งนั้นหรือภายหลังจากนั้น. ตามประเพณีที่เล่าสืบปากกันต่อมาของชาวยิว อูริมและทูมิมหายไปเมื่อพระวิหารถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ.
3:12—เหตุใด “คนแก่ชราหลายคนที่ได้เห็นโบสถ์วิหารเดิม” ของพระยะโฮวาจึงร้องไห้? คนชราเหล่านี้อาจนึกถึงพระวิหารอันงดงามที่ซะโลโมสร้างขึ้น. แต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าพวกเขาคือฐานรากของวิหารใหม่ซึ่ง “เปรียบกันไม่ได้เลย” กับวิหารหลังเดิมนั้น. (ฮาฆี 2:2, 3, ฉบับแปลใหม่) พวกเขาจะทำให้วิหารหลังนี้มีสง่าราศีเทียบเท่าวิหารหลังเดิมได้หรือ? พวกเขาคงต้องรู้สึกหดหู่ใจ และจึงร้องไห้ออกมา.
3:8-10; 4:23, 24; 6:15, 16—การสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ใช้เวลากี่ปี? มีการวางรากพระวิหารในปี 536 ก่อน ส.ศ.—“ใน . . . ปีที่สองนับตั้งแต่เวลาที่คนพวกนั้นได้กลับมา.” การสร้างพระวิหารหยุดชะงักในสมัยกษัตริย์อะระธาสัศธาปี 522 ก่อน ส.ศ. การสั่งห้ามนี้มีต่อเนื่องจนถึงปี 520 ก่อน ส.ศ. ซึ่งเป็นปีที่สองแห่งรัชกาลดาระยาศ. การก่อสร้างพระวิหารเสร็จสมบูรณ์ในปีที่หกแห่งการปกครองของดาระยาศหรือในปี 515 ก่อน ส.ศ. (ดูกรอบ “กษัตริย์เปอร์เซียองค์ต่าง ๆ นับตั้งแต่ปี 537 ถึงปี 467 ก่อน ส.ศ.”) ด้วยเหตุนั้น การก่อสร้างพระวิหารจึงใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 20 ปี.
4:8–6:18—เหตุใดข้อเหล่านี้ของพระธรรมเอษราจึงเขียนโดยใช้ภาษาอาระเมอิก? โดยมากแล้ว ส่วนนี้เป็นสำเนาจดหมายของข้าราชการที่ส่งถึงกษัตริย์และจดหมายที่กษัตริย์ตอบมา. เอษราคัดลอกจากบันทึกของราชการซึ่งเขียนเป็นภาษาอาระเมอิก เนื่องจากสมัยนั้นมีการใช้ภาษานี้ในวงราชการและในการติดต่อทำการค้า. ส่วนอื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลที่เขียนโดยใช้ภาษาเซมีติกโบราณเช่นนี้ได้แก่ เอษรา 7:12-26, ยิระมะยา 10:11, และดานิเอล 2:4ข–7:28.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:2. สิ่งที่ยะซายาได้พยากรณ์ไว้เมื่อประมาณ 200 ปีก่อนหน้านี้เกิดขึ้นจริง. (ยะซายา 44:28) คำพยากรณ์ต่าง ๆ ในพระคำของพระยะโฮวาไม่เคยล้มเหลว.
1:3-6. เช่นเดียวกับชาวอิสราเอลบางคนที่ยังคงอยู่ในบาบิโลนต่อไป พยานพระยะโฮวาหลายคนไม่สามารถทำงานรับใช้เต็มเวลาหรือทำงานรับใช้ในเขตที่มีความต้องการมากกว่าได้. กระนั้น พวกเขาก็สนับสนุนและหนุนใจคนที่สามารถทำได้ และยังสามารถบริจาคเงินด้วยใจสมัครเพื่อช่วยเหลืองานประกาศราชอาณาจักรและงานทำคนให้เป็นสาวก.
3:1-6. ในเดือนที่เจ็ดปี 537 ก่อน ส.ศ. (เดือนทิชรี ซึ่งตรงกับเดือนกันยายน/ตุลาคม) ผู้ซื่อสัตย์เดินทางกลับไปถวายเครื่องบูชาเป็นครั้งแรก. ชาวบาบิโลนบุกเข้ากรุงเยรูซาเลมในเดือนห้า (เดือนอับ ซึ่งตรงกับเดือนกรกฎาคม/สิงหาคม) ของปี 607 ก่อน ส.ศ. และสองเดือนต่อมา กรุงนี้ก็ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง. (2 กษัตริย์ 25:8-17, 22-26) กรุงเยรูซาเลมซึ่งถูกทิ้งให้ร้างเปล่าเป็นเวลา 70 ปีตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้านั้น สิ้นสุดตรงเวลาพอดี. (ยิระมะยา 25:11; 29:10) สิ่งใดก็ตามที่พระคำของพระยะโฮวาบอกไว้ล่วงหน้าจะเป็นจริงเสมอ.
4:1-3. ชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์ปฏิเสธข้อเสนอที่หมายถึงการสร้างสัมพันธไมตรีทางศาสนากับผู้นมัสการพระเท็จ. (เอ็กโซโด 20:5; 34:12) ในทำนองเดียวกัน ผู้นมัสการพระยะโฮวาในทุกวันนี้ไม่มีส่วนร่วมในขบวนการรวมความเชื่อใด ๆ ก็ตาม.
5:1-7; 6:1-12. พระยะโฮวาสามารถพลิกผันสถานการณ์เพื่อให้ประชาชนของพระองค์ประสบผลสำเร็จ.
6:14, 22. การทำงานรับใช้พระยะโฮวาด้วยใจแรงกล้าจะทำให้พระองค์พอพระทัยและนำมาซึ่งพระพร.
6:21. การเห็นงานของพระยะโฮวาก้าวรุดหน้ากระตุ้นให้ชาวซะมาเรียซึ่งอาศัยอยู่ในแผ่นดินของชาวยิวรวมถึงผู้ที่เดินทางกลับมาซึ่งคล้อยตามอิทธิพลของพวกนอกรีต ทำการปรับเปลี่ยนชีวิตตามที่จำเป็น. เราก็ควรกระตือรือร้นในการทำงานมอบหมายจากพระเจ้า รวมทั้งงานประกาศราชอาณาจักรด้วยมิใช่หรือ?
เอษรากลับถึงเยรูซาเลม
ห้าสิบปีผ่านไปนับตั้งแต่การเปิดใช้พระนิเวศของพระยะโฮวาที่สร้างขึ้นใหม่อย่างเป็นทางการ. ตอนนั้นเป็นปี 468 ก่อน ส.ศ. เอษรากับประชาชนของพระเจ้าที่ยังเหลืออยู่ได้เดินทางจากบาบิโลนสู่กรุงเยรูซาเลมพร้อมกับนำเงินบริจาคไปด้วย. ท่านเห็นอะไรเมื่อไปถึงที่นั่น?
พวกเจ้านายบอกเอษราว่า “พลไพร่ในพวกยิศราเอล, และพวกปุโรหิต, และพวกเลวี, หลายคนไม่ได้แยกรักษาตัวให้ปราศจากคนต่างประเทศยอมประพฤติตามธรรมเนียมอันน่าเกลียดของเขา.” ยิ่งกว่านั้น “ผู้เป็นเจ้านายและผู้ครองเมืองได้เป็นหัวหน้าในการหลงนั้น.” (เอษรา 9:1, 2) เอษราตกตะลึง. ท่านได้รับการหนุนใจให้ “มีน้ำใจกล้าขึ้นและกระทำ.” (เอษรา 10:4) เอษราดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้และประชาชนก็ตอบรับด้วยความเต็มใจ.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
7:1, 7, 11—ข้อคัมภีร์เหล่านี้ทุกข้อบ่งชี้ถึงอะระธาสัศธาผู้สั่งระงับงานก่อสร้างไหม? ไม่. อะระธาสัศธาเป็นชื่อหรือตำแหน่งที่ใช้กับกษัตริย์สององค์ของเปอร์เซีย. องค์หนึ่งคือบาร์ดิยาหรือไม่ก็เกามาตา ซึ่งเป็นผู้สั่งระงับงานสร้างพระวิหารในปี 522 ก่อน ส.ศ. อะระธาสัศธาซึ่งเป็นกษัตริย์ในช่วงที่เอษรากลับมายังกรุงเยรูซาเลมคืออะระธาสัศธา ลอนกีมานุส.
7:28–8:20—เหตุใดชาวยิวหลายคนในบาบิโลนจึงไม่ค่อยเต็มใจกลับไปเยรูซาเลมพร้อมกับเอษรา? แม้ชาวยิวกลุ่มแรกกลับไปยังบ้านเกิดเมื่อ 60 กว่าปีมาแล้ว แต่กรุงเยรูซาเลมก็มีคนอาศัยอยู่ไม่มากนัก. การกลับไปเยรูซาเลมหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ภายใต้สภาพการณ์ที่ยากลำบากและอันตราย. สภาพของกรุงเยรูซาเลมในตอนนั้นไม่มีอะไรให้หวังได้เลยทางด้านวัตถุสำหรับชาวยิวที่อาจเป็นคนมั่งคั่งในบาบิโลน. นอกจากนี้ การเดินทางยังเต็มไปด้วยอันตราย. คนที่เดินทางกลับมาต้องมีความเชื่อเข้มแข็งในพระยะโฮวา, มีใจแรงกล้าเพื่อการนมัสการแท้, และมีความกล้าที่จะย้ายถิ่นฐาน. แม้แต่เอษราเองก็เข้มแข็งเนื่องจากพระหัตถ์ของพระยะโฮวาอยู่กับท่าน. ด้วยการหนุนใจจากเอษรา 1,500 ครอบครัวซึ่งอาจมีจำนวนถึง 6,000 คน ย้ายตามท่านไป. หลังจากที่เอษราดำเนินการต่อไป มีชาวเลวี 38 คนและนะธีนิมอีก 220 คนตอบรับ.
9:1, 2—การแต่งงานกับคนต่างชาติเป็นภัยคุกคามร้ายแรงขนาดไหน? ชาติที่ได้รับการฟื้นฟูนี้จะต้องปกป้องการนมัสการของพระยะโฮวาจนกว่ามาซีฮาจะมา. การแต่งงานกับคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินนั้นเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อการนมัสการแท้. เนื่องจากบางคนแต่งงานกับคนที่ไหว้รูปเคารพ ในที่สุดทั้งชาติอาจถูกกลืนหายไปในชาตินอกรีต. การนมัสการบริสุทธิ์อาจสูญหายไปจากโลกนี้. แล้วมาซีฮาจะมาหาใคร? ไม่แปลกเลยที่เอษรารู้สึกตกตะลึงเมื่อเห็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้น!
10:3, 44—เหตุใดจึงต้องขับไล่ลูกไปพร้อมกับภรรยาต่างชาติ? ถ้าให้เด็ก ๆ อยู่ต่อไป เป็นไปได้มากทีเดียวว่าภรรยาที่ถูกขับออกไปอาจกลับมาหาลูกของตนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. นอกจากนั้น ตามปกติแล้ว เด็กเล็กต้องการการเอาใจใส่จากมารดา.
บทเรียนสำหรับเรา:
7:10. เอษราวางตัวอย่างที่ดีสำหรับเราในเรื่องการเป็นนักศึกษาพระคำของพระเจ้าที่ขยันขันแข็งและเป็นครูที่มีความชำนาญ. โดยการอธิษฐาน ท่านเตรียมหัวใจไว้เพื่อพิจารณาพระบัญญัติของพระยะโฮวา. เมื่อท่านพิจารณาพระบัญญัติของพระยะโฮวา เอษราเอาใจใส่อย่างจริงจังในสิ่งที่พระยะโฮวาตรัส. เอษรานำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้และพยายามสอนคนอื่น ๆ.
7:13. พระยะโฮวาปรารถนาผู้รับใช้ที่เต็มใจ.
7:27, 28; 8:21-23. เอษรายกคุณความดีทั้งหมดให้แก่พระยะโฮวา ท่านวิงวอนต่อพระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจก่อนจะออกเดินทางไกลไปเยรูซาเลมซึ่งเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตราย และท่านเต็มใจเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงวางตัวอย่างที่ดีแก่เรา.
9:2. เราต้องเอาใจใส่คำเตือนที่ให้สมรส “เฉพาะในองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น.”—1 โกรินโธ 7:39, ล.ม.
9:14, 15. การคบหาสมาคมที่ไม่ดีอาจทำให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัย.
10:2-12, 44. คนที่รับหญิงต่างชาติมาเป็นภรรยาแสดงความถ่อมใจโดยการกลับใจและแก้ไขความผิดของตน. ทัศนะและการกระทำของพวกเขาเป็นตัวอย่างที่ดี.
พระยะโฮวารักษาคำสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์
พระธรรมเอษราเป็นประโยชน์ต่อเราสักเพียงไร! เมื่อถึงเวลากำหนด พระยะโฮวาทรงทำให้คำสัญญาของพระองค์เป็นจริงโดยปลดปล่อยประชาชนของพระองค์จากการเป็นเชลยในบาบิโลนและฟื้นฟูการนมัสการแท้ในเยรูซาเลม. เหตุการณ์นั้นเสริมความเชื่อในพระยะโฮวาและคำสัญญาของพระองค์มิใช่หรือ?
ลองนึกถึงตัวอย่างต่าง ๆ ในพระธรรมเอษรา. ตัวอย่างความเลื่อมใสในพระเจ้าเห็นได้จากเอษราและชนที่เหลือที่กลับไปเพื่อมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์ในเยรูซาเลม. พระธรรมนี้ยังเน้นความเชื่อของคนต่างชาติที่เลื่อมใสในพระเจ้าและความถ่อมใจของคนทำผิดที่กลับใจ. จริงทีเดียว ถ้อยคำของเอษราที่มีขึ้นโดยการดลใจเป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง.”—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
กษัตริย์เปอร์เซียองค์ต่าง ๆ นับตั้งแต่ปี 537 ถึงปี 467 ก่อน ส.ศ.
ไซรัสมหาราช (เอษรา 1:1) สิ้นพระชนม์ในปี 530 ก่อน ส.ศ.
แคมบีซิส หรืออะหัศวะโรศ (เอษรา 4:6) ปี 530-522 ก่อน ส.ศ.
อะระธาสัศธา—บาร์ดิยาหรือเกามาตา (เอษรา 4:7) ปี 522 ก่อน ส.ศ. (ถูกลอบสังหารหลังครองราชย์ได้เพียงเจ็ดเดือน)
ดาระยาศที่ 1 (เอษรา 4:24) ปี 522-486 ก่อน ส.ศ.
เซอร์เซส หรืออะหัศวะโรศa ปี 486-475 ก่อน ส.ศ. (ปกครองร่วมกับดาระยาศที่ 1 ตั้งแต่ปี 496-486 ก่อน ส.ศ.)
อะระธาสัศธาลอนกีมานุส (เอษรา 7:1) ปี 475-424 ก่อน ส.ศ.
[เชิงอรรถ]
a ไม่มีการกล่าวถึงกษัตริย์เซอร์เซสในพระธรรมเอษรา. มีการกล่าวถึงกษัตริย์องค์นี้ในพระธรรมเอศเธระในชื่อกษัตริย์อะหัศวะโรศ.
[รูปภาพ]
อะหัศวะโรศ
[ภาพหน้า 17]
ไซรัส
[ภาพหน้า 17]
กระบอกดินเหนียวของไซรัสกล่าวถึงนโยบายการปล่อยเชลยกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน
[ที่มาของภาพ]
Cylinder: Photograph taken by courtesy of the British Museum
[ภาพหน้า 20]
คุณรู้ไหมว่าอะไรทำให้เอษราเป็นครูที่มีความชำนาญ?