พระธรรมเล่มที่ 15—เอษรา
ผู้เขียน: เอษรา
สถานที่เขียน: ยะรูซาเลม
เขียนเสร็จ: ประมาณ 406 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: 537–ประมาณ 467 ก.ส.ศ.
1. คำพยากรณ์อะไรบ้างที่รับรองเรื่องการบูรณะยะรูซาเลมขึ้นใหม่?
ตอนสิ้นสุดของ 70 ปีแห่งความร้างเปล่าของยะรูซาเลมภายใต้บาบูโลนตามที่พยากรณ์ไว้กำลังใกล้เข้ามา. จริงอยู่ บาบูโลนมีชื่อเสียงว่าไม่เคยปลดปล่อยเชลย แต่คำตรัสของพระยะโฮวาจะปรากฏว่าเข้มแข็งกว่าอำนาจบาบูโลน. การปลดปล่อยไพร่พลของพระยะโฮวาจวนจะถึงแล้ว. พระวิหารของพระยะโฮวาที่ถูกทิ้งให้ตกต่ำจะได้รับการสร้างขึ้นใหม่ และแท่นของพระยะโฮวาจะได้รับเครื่องบูชาไถ่โทษอีก. ยะรูซาเลมจะได้ยินเสียงโห่ร้องและคำสรรเสริญแห่งผู้นมัสการแท้ของพระยะโฮวาอีก. ยิระมะยาได้พยากรณ์ถึงช่วงเวลาแห่งความร้างเปล่า และยะซายาได้พยากรณ์ถึงวิธีที่การปลดปล่อยเชลยจะเกิดขึ้น. ยะซายาถึงกับขนานนามไซรัสแห่งเปอร์เซียว่าเป็น ‘ผู้เลี้ยงแกะของพระยะโฮวา’ ซึ่งจะคว่ำบาบูโลนที่ยโสโอหังลงจากตำแหน่งมหาอำนาจที่สามของโลกตามประวัติศาสตร์ในคัมภีร์ไบเบิล.—ยซา. 44:28; 45:1, 2; ยิระ. 25:12.
2. เมื่อไรและภายใต้สภาพการณ์ใดที่บาบูโลนล่มจม?
2 ความหายนะเกิดแก่บาบูโลนในคืนวันที่ 5 ตุลาคม ปี 539 ก.ส.ศ. (ปฏิทินเกรกอรี) ขณะที่กษัตริย์เบละซาซัรแห่งบาบูโลนกับพวกขุนนางกำลังดื่มเหล้าเพื่อสรรเสริญเหล่าพระภูตผีปิศาจของตน. นอกจากความเสเพลตามแบบนอกรีตแล้ว พวกเขายังใช้ภาชนะบริสุทธิ์จากพระวิหารของพระยะโฮวาเป็นถ้วยสำหรับความเมามายของตน! นับว่าเหมาะจริง ๆ ที่ไซรัสอยู่นอกกำแพงบาบูโลนในคืนนั้นเพื่อทำให้คำพยากรณ์สำเร็จ!
3. คำประกาศใดของไซรัสซึ่งทำให้เป็นไปได้ที่จะฟื้นฟูการนมัสการพระยะโฮวา 70 ปีพอดีหลังจากความร้างเปล่าของยะรูซาเลมเริ่มต้น?
3 ปี 539 ก.ส.ศ. เป็นปีสำคัญยิ่ง เป็นปีที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ทั้งของทางโลกและของคัมภีร์ไบเบิล. ในปีแรกแห่งการเป็นผู้ครองบาบูโลน ไซรัส “มีรับสั่งไปทั่วอาณาเขตของท่าน” อนุมัติให้ชาวยิวไปยังยะรูซาเลมเพื่อสร้างพระวิหารของพระยะโฮวาขึ้นใหม่. ปรากฏว่ากฤษฎีกานี้ออกในตอนปลายปี 538 ก.ส.ศ. หรือไม่ก็ต้นปี 537 ก.ส.ศ.a ชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์เดินทางกลับยะรูซาเลมทันเวลาเพื่อตั้งแท่นและถวายเครื่องบูชาครั้งแรกใน “เดือนเจ็ด” (เดือนทิชรี ซึ่งตรงกับเดือนกันยายน-ตุลาคม) ปี 537 ก.ส.ศ.—ถึงเดือนนั้นก็เป็นเวลา 70 ปีพอดีหลังจากนะบูคัดเนซัรทำให้ยูดาและยะรูซาเลมร้างเปล่า.—เอษรา 1:1-3; 3:1-6.
4. (ก) ฉากเหตุการณ์ในพระธรรมเอษราเป็นเช่นไร และใครเป็นผู้เขียน? (ข) พระธรรมเอษราถูกเขียนเมื่อไร และครอบคลุมระยะเวลาใด?
4 การฟื้นฟู! นี่เป็นฉากเหตุการณ์ในพระธรรมเอษรา. การใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งในการเล่าเรื่องตั้งแต่บท 7 ข้อ 27 ไปจนตลอดบท 9 บ่งชัดว่าผู้เขียนคือเอษรา. ในฐานะ “อาลักษณ์ชำนาญในบทพระบัญญัติของโมเซ” และบุรุษแห่งความเชื่อซึ่ง “สำรวมตั้งใจแสวงหาในบทพระบัญญัติของพระยะโฮวาเพื่อจะได้ประพฤติตาม, และเพื่อจะ . . . สอน” เอษราจึงมีคุณวุฒิเหมาะที่จะบันทึกประวัติศาสตร์นี้ เช่นเดียวกับที่ท่านได้บันทึกพระธรรมโครนิกา. (เอษรา 7:6, 10) เนื่องจากพระธรรมเอษราเป็นตอนต่อจากโครนิกา จึงเชื่อกันโดยทั่วไปว่าพระธรรมนี้ถูกเขียนขึ้นในเวลาเดียวกัน คือประมาณปี 460 ก.ส.ศ. พระธรรมนี้ครอบคลุมระยะ 70 ปีนับจากเวลาที่ชาวยิวเป็นชนชาติที่แตกฉานซ่านเซ็นเหมือน “บุตรแห่งความตาย” จนถึงเวลาที่พระวิหารหลังที่สองสร้างเสร็จรวมทั้งการชำระสะสางคณะปุโรหิตหลังจากเอษรากลับยะรูซาเลม.—เอษรา 1:1; 7:7; 10:17; เพลง. 102:20, ล.ม., เชิงอรรถ.
5. พระธรรมเอษราเกี่ยวพันอย่างไรกับพระธรรมนะเฮมยา และเขียนด้วยภาษาใดบ้าง?
5 ชื่อเอษราในภาษาฮีบรูหมายความว่า “ความช่วยเหลือ.” แต่เดิมพระธรรมเอษราและนะเฮมยาเป็นม้วนเดียวกัน. (นเฮม. 3:32, ล.ม., เชิงอรรถ) ต่อมา ชาวยิวได้แบ่งม้วนหนังสือนี้ออกและเรียกว่าเอษราฉบับต้นและเอษราฉบับสอง. คัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรูสมัยใหม่เรียกพระธรรมสองเล่มนี้ว่าเอษราและนะเฮมยา เช่นเดียวกับคัมภีร์ไบเบิลสมัยปัจจุบันเล่มอื่น ๆ. บางส่วนของพระธรรมเอษรา (4:8 ถึง 6:18 และ 7:12-26) ถูกเขียนด้วยภาษาอาระเมอิกและส่วนที่เหลือเขียนด้วยภาษาฮีบรู เอษราชำนาญทั้งสองภาษา.
6. อะไรยืนยันความถูกต้องแม่นยำของพระธรรมเอษรา?
6 ทุกวันนี้เหล่าผู้คงแก่เรียนส่วนใหญ่ยอมรับความถูกต้องแม่นยำของพระธรรมเอษรา. เกี่ยวกับการที่เอษราเป็นส่วนแห่งสารบบ ดับเบิลยู. เอฟ. อัลไบรต์ เขียนในบทความของเขาเรื่องคัมภีร์ไบเบิลหลังจากยี่สิบปีแห่งโบราณคดี (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “ข้อมูลทางโบราณคดีแสดงชัดถึงการเป็นของแท้ดั้งเดิมของพระธรรมยิระมะยาและยะเอศเคล, ของเอษราและนะเฮมยาโดยปราศจากข้อสงสัย; ข้อมูลเหล่านั้นยืนยันภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่บอกเล่าสืบต่อกันมา รวมทั้งลำดับเหตุการณ์ด้วย.”
7. มีการแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระธรรมเอษราเป็นส่วนแห่งบันทึกที่มาจากพระเจ้าอย่างแท้จริง?
7 แม้ว่าผู้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกอาจไม่ได้ยกพระธรรมเอษราไปกล่าวหรืออ้างถึงโดยตรง แต่ก็ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องการที่พระธรรมนี้เป็นส่วนแห่งสารบบของคัมภีร์ไบเบิล. พระธรรมนี้มีบันทึกเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติกับพวกยิวจนถึงเวลารวบรวมพระธรรมต่าง ๆ ของคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งตามที่ชาวยิวบอกต่อกันมานั้น งานนี้ส่วนใหญ่เอษราเป็นผู้ทำจนเสร็จ. ยิ่งกว่านั้น พระธรรมเอษราพิสูจน์ความถูกต้องของคำพยากรณ์ทั้งสิ้นที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟู และดังนั้นจึงพิสูจน์ว่า เอษราเป็นส่วนที่ขาดไปไม่ได้แห่งบันทึกที่มาจากพระเจ้า ซึ่งพระธรรมนี้สอดคล้องอย่างสมบูรณ์กับบันทึกนั้น. นอกจากนี้ พระธรรมนี้ยังยกย่องการนมัสการบริสุทธิ์และทำให้พระนามอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.
เนื้อเรื่องในพระธรรมเอษรา
8. จงพรรณนาลำดับเหตุการณ์ที่นำไปสู่ตอนสิ้นสุดการร้างเปล่า 70 ปี.
8 ชนที่เหลือคืนถิ่น (1:1–3:6). ไซรัสกษัตริย์แห่งเปอร์เซียได้รับการกระตุ้นใจจากพระยะโฮวา จึงมีราชโองการให้ชาวยิวกลับไปและสร้างพระวิหารของพระยะโฮวาในยะรูซาเลม. ท่านกระตุ้นชาวยิวที่ยังอยู่ในบาบูโลนต่อไปให้บริจาคอย่างไม่อั้นแก่โครงการนั้น และเตรียมการให้ชาวยิวที่กลับไปนั้นนำภาชนะของพระวิหารหลังเดิมกลับไปด้วย. ผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้นำจากราชตระกูลยูดาและเป็นผู้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิดคือซะรูบาเบล (เซ็ศบาซัร) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สำเร็จราชการเพื่อนำหน้าผู้ถูกปลดปล่อยทั้งหลาย และมียะโฮซูอะเป็นมหาปุโรหิต. (เอษรา 1:8; 5:2; ซคา. 3:1) ชนที่เหลือซึ่งอาจมีผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาจำนวน 200,000 คนซึ่งรวมทั้งชาย, หญิง, และเด็ก ๆ ได้เดินทางไกล. พอถึงเดือนที่เจ็ดตามปฏิทินยิว พวกเขาก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ของตน แล้วจึงมาชุมนุมกันที่ยะรูซาเลมเพื่อถวายบูชา ณ ที่ตั้งแท่นของพระวิหารและเพื่อฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัยในฤดูใบไม้ร่วงปี 537 ก.ส.ศ. ดังนั้น ความร้างเปล่า 70 ปีจึงสิ้นสุดลงตรงเวลาพอดี!b
9. งานสร้างพระวิหารเริ่มต้นอย่างไร แต่เกิดอะไรขึ้นในปีต่อ ๆ มา?
9 การสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ (3:7–6:22). มีการรวบรวมวัสดุต่าง ๆ และในปีที่สองแห่งการคืนถิ่นจึงมีการวางฐานรากพระวิหารของพระยะโฮวาท่ามกลางเสียงโห่ร้องด้วยความยินดีและเสียงร่ำไห้ของผู้สูงวัยซึ่งเคยเห็นพระวิหารหลังก่อน. ชนชาติเพื่อนบ้าน เหล่าปรปักษ์ เสนอจะช่วยเหลือในการก่อสร้างโดยกล่าวว่าพวกเขาแสวงหาพระเจ้าองค์เดียวกัน แต่ชนที่เหลือชาวยิวปฏิเสธพันธไมตรีกับพวกนั้นอย่างเด็ดขาด. พวกศัตรูยังพยายามต่อไปเพื่อทำให้ชาวยิวท้อถอยและหมดกำลังใจอีกทั้งขัดขวางงานของพวกเขา ตั้งแต่รัชกาลของไซรัสจนถึงรัชกาลของดาระยาศ. ในที่สุด ในสมัยของ “อะระธาสัศธา” (บาร์ดียาหรืออาจเป็นนักบวชเปอร์เซียคนหนึ่งที่รู้จักกันว่า เกามาตา, ปี 522 ก.ส.ศ.) พวกนั้นอาศัยราชโองการบังคับให้งานสร้างหยุดชะงัก. การสั่งห้ามนี้มีต่อเนื่อง “จนถึงปีที่สองแห่งรัชกาลดาระยาศกษัตริย์ประเทศฟารัศ” (ปี 520 ก.ส.ศ.) ซึ่งนานกว่า 15 ปีหลังจากการวางราก.—4:4-7, 24.
10. (ก) การชูใจจากผู้พยากรณ์ของพระเจ้าประกอบเสริมเข้ากับบัญชาของกษัตริย์อย่างไรในการทำให้งานเสร็จสมบูรณ์? (ข) เกิดความยินดีเช่นไรในการอุทิศวิหารหลังที่สอง?
10 บัดนี้ พระยะโฮวาทรงส่งฮาฆีและซะคาระยาผู้พยากรณ์ของพระองค์มาเพื่อเร้าใจซะรูบาเบลและยะโฮซูอะ และงานก่อสร้างได้เริ่มต้นด้วยความตั้งใจแรงกล้าที่มีขึ้นอีก. อีกครั้งที่พวกปรปักษ์ฟ้องกษัตริย์ แต่งานดำเนินไปด้วยความแข็งขันไม่ละลด. หลังจากอ้างราชโองการฉบับแรกของไซรัส ดาระยาศที่ 1 (ฮิสตาสพิส) ได้บัญชาให้งานดำเนินต่อไปโดยไม่มีการแทรกแซง ทั้งยังบัญชาให้พวกต่อต้านจัดหาวัสดุให้อีกด้วยเพื่องานก่อสร้างจะง่ายขึ้น. ด้วยการชูใจที่ต่อเนื่องจากผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา พวกช่างจึงสร้างพระวิหารเสร็จในเวลาไม่ถึงห้าปี. นั่นคือในเดือนอะดาร์ในปีที่หกของดาระยาศหรือตอนที่จวนถึงฤดูใบไม้ผลิปี 515 ก.ส.ศ. และงานก่อสร้างทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 20 ปี. (6:14, 15) บัดนี้ พระวิหารของพระเจ้าถูกเปิดใช้ด้วยความยินดีมากมายและด้วยเครื่องบูชาอย่างเหมาะสม. จากนั้น ประชาชนได้ฉลองปัศคาและดำเนินต่อไปจนถึงการ “ถือศีลกินเลี้ยงขนมไม่มีเชื้อนั้นถึงเจ็ดวันด้วยความยินดี.” (6:22) ถูกแล้ว มีความชื่นชมและความปีติยินดีในการอุทิศวิหารหลังที่สองนี้เพื่อถวายเกียรติพระยะโฮวา.
11. กษัตริย์ทรงอนุญาตเอษรา “ทุกประการ” อย่างไร และเอษราตอบรับอย่างไร?
11 เอษรากลับถึงยะรูซาเลม (7:1–8:36). เกือบ 50 ปีผ่านไป ซึ่งนำเรามาถึงปี 468 ก.ส.ศ. ปีที่เจ็ดแห่งกษัตริย์อะระธาสัศธาของเปอร์เซีย (รู้จักกันในนาม “ลอนกีมานุส” เพราะมือขวายาวกว่ามือซ้าย). กษัตริย์ทรงอนุญาตเอษราอาลักษณ์ผู้เชี่ยวชาญ “ทุกประการ” อันเกี่ยวกับการเดินทางสู่ยะรูซาเลมเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งจำเป็นมากที่นั่น. (7:6) ในการมอบอำนาจแก่เอษรา กษัตริย์สนับสนุนชาวยิวให้ไปด้วยและประทานภาชนะเงินและทองสำหรับใช้ในพระวิหาร อีกทั้งสิ่งจำเป็นต่าง ๆ เช่น ข้าวสาลี, เหล้าองุ่น, น้ำมัน, และเกลือ. กษัตริย์ยกเว้นภาษีให้พวกปุโรหิตและคนงานประจำพระวิหาร ท่านยังให้เอษรารับผิดชอบการสอนไพร่พลและประกาศให้คนใด ๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของพระยะโฮวาและกฎหมายของกษัตริย์มีโทษถึงตาย. ด้วยความขอบพระคุณพระยะโฮวาที่ทรงสำแดงความรักกรุณาผ่านทางกษัตริย์ เอษราลงมือปฏิบัติหน้าที่มอบหมายนั้นทันที.
12. ปรากฏอย่างไรว่าพระยะโฮวาสถิตอยู่กับกลุ่มของเอษราระหว่างการเดินทาง?
12 ถึงตอนนี้ เอษราเริ่มบันทึกในฐานะประจักษ์พยาน โดยเขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง. ท่านรวบรวมชาวยิวที่จะคืนถิ่น ณ แม่น้ำอาฮะวาเพื่อให้คำแนะนำครั้งสุดท้าย และรวมชาวเลวีบางคนเข้ากับกลุ่มผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ประมาณ 1,500 คนที่ชุมนุมกันอยู่แล้ว. เอษราตระหนักถึงอันตรายของเส้นทางที่จะใช้ แต่ก็ไม่ได้ขอทหารคุ้มกันจากกษัตริย์ ด้วยเกรงว่าจะแสดงถึงการขาดความเชื่อในพระยะโฮวา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านประกาศให้อดอาหารและนำฝูงชนในการวิงวอนพระเจ้า. คำอธิษฐานนี้ได้รับคำตอบ และปรากฏว่าพระหัตถ์ของพระยะโฮวาอยู่เหนือพวกเขาตลอดการเดินทางอันยาวนาน. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงสามารถนำทรัพย์สมบัติของตน (มูลค่ากว่า 43 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) ไปยังพระวิหารของพระยะโฮวาในยะรูซาเลมได้อย่างปลอดภัย.—8:26, 27, ล.ม., เชิงอรรถ.
13. เอษราลงมือทำอย่างไรในการขจัดความไม่สะอาดจากท่ามกลางพวกยิว?
13 การชำระคณะปุโรหิต (9:1–10:44). แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งดำเนินไปอย่างดีระหว่าง 69 ปีที่อยู่ในดินแดนที่ได้รับการฟื้นฟู! เอษราเรียนรู้ถึงสภาพการณ์ที่รบกวนใจ คือประชาชน, ปุโรหิต, และพวกเลวีได้สมรสกับชาวคะนาอันนอกรีต. เอษราผู้ซื่อสัตย์ตกตะลึง. ท่านเสนอเรื่องนี้ต่อพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน. ประชาชนสารภาพการผิดของตนและขอเอษราให้ “มีน้ำใจกล้าขึ้นและกระทำ.” (10:4) ท่านให้ชาวยิวเลิกกับภรรยาต่างชาติที่พวกเขาได้มาด้วยการไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า และความไม่สะอาดจึงถูกขจัดออกไปในเวลาราวสามเดือน.—10:10-12, 16, 17.
เหตุที่เป็นประโยชน์
14. พระธรรมเอษราแสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับคำพยากรณ์ต่าง ๆ ของพระยะโฮวา?
14 พระธรรมเอษราเป็นประโยชน์ ประการแรก ด้วยการแสดงถึงความแม่นยำไม่ผิดพลาดของการสำเร็จเป็นจริงแห่งคำพยากรณ์ของพระยะโฮวา. ยิระมะยา ซึ่งพยากรณ์อย่างถูกต้องแม่นยำถึงความร้างเปล่าของยะรูซาเลม ยังพยากรณ์ด้วยถึงการฟื้นฟูเมืองนี้หลังจาก 70 ปี. (ยิระ. 29:10) ตรงตามเวลา พระยะโฮวาทรงสำแดงความรักกรุณาของพระองค์ด้วยการนำไพร่พลของพระองค์ซึ่งเป็นชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์กลับสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญาอีกเพื่อทำการนมัสการแท้ต่อไป.
15. (ก) พระวิหารที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ทำหน้าที่ตามพระประสงค์ของพระยะโฮวาอย่างไร? (ข) ในประการใดบ้างที่พระวิหารหลังนี้ขาดสง่าราศีของพระวิหารหลังแรก?
15 พระวิหารที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ได้เชิดชูการนมัสการพระยะโฮวาขึ้นอีกท่ามกลางไพร่พลของพระองค์ และพระวิหารนั้นยืนหยัดเป็นพยานหลักฐานว่า พระองค์ทรงอวยพรอย่างยอดเยี่ยมและด้วยพระเมตตาเปี่ยมล้นแก่ผู้ที่หันมาหาพระองค์ด้วยความปรารถนาการนมัสการแท้. แม้พระวิหารหลังนี้จะไร้สง่าราศีแห่งพระวิหารของซะโลโม แต่ก็ทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ซึ่งสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระวิหารนี้ไม่มีความสง่างามอีกแล้ว. อีกประการ พระวิหารนี้ด้อยกว่าในด้านทรัพย์ฝ่ายวิญญาณ นอกจากสิ่งอื่นแล้ว ยังขาดหีบสัญญาไมตรี.c การเปิดใช้พระวิหารในสมัยซะรูบาเบลก็เทียบไม่ได้กับการเปิดใช้พระวิหารในสมัยซะโลโม. การถวายวัวและแกะก็ยังไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่ถวาย ณ พระวิหารของซะโลโม. ไม่มีสง่าราศีดั่งเมฆที่ปกคลุมพระวิหารหลังที่สองดังที่เคยมีกับหลังแรก อีกทั้งไม่มีไฟลงมาจากพระยะโฮวาเพื่อเผาเครื่องบูชา. อย่างไรก็ตาม พระวิหารทั้งสองมีเพื่อจุดประสงค์สำคัญในการเชิดชูการนมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าเที่ยงแท้.
16. พระวิหารหลังอื่นใดที่มีสง่าราศียิ่งกว่าพระวิหารทางแผ่นดินโลก?
16 พระวิหารที่ซะรูบาเบลสร้าง, พลับพลาที่โมเซสร้าง, และพระวิหารที่ซะโลโมและเฮโรดสร้าง, พร้อมกับลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งเหล่านี้ ต่างมีความหมายเป็นนัย หรือเป็นภาพโดยนัย. สิ่งเหล่านี้หมายถึง “พลับพลาแท้, ซึ่งพระเจ้าได้ทรงสร้าง ไม่ใช่มนุษย์สร้าง.” (เฮ็บ. 8:2) พระวิหารฝ่ายวิญญาณนี้เป็นการจัดเตรียมสำหรับการเข้าเฝ้าพระยะโฮวาในการนมัสการโดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์. (เฮ็บ. 9:2-10, 23) พระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวามีสง่าราศีอันสูงส่งและทรงความงดงามและความน่าปรารถนาไม่มีใดเทียมเทียบ; ความเลอเลิศของพระวิหารนี้ไม่มีวันเสื่อมสลายและเหนือกว่าสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ที่เป็นวัตถุ.
17. บทเรียนทรงค่าอะไรบ้างที่พบในพระธรรมเอษรา?
17 พระธรรมเอษรามีบทเรียนที่ทรงค่ายิ่งสำหรับคริสเตียนทุกวันนี้. เราอ่านพบในพระธรรมนี้เกี่ยวกับการที่ไพร่พลของพระยะโฮวาเต็มใจเสนอตัวเพื่อทำงานของพระองค์. (เอษรา 2:68; 2 โก. 9:7) เราได้รับกำลังใจจากการเรียนรู้เรื่องการจัดเตรียมที่ไม่ล้มเหลวของพระยะโฮวารวมทั้งการที่พระองค์ทรงอวยพรเหล่าผู้ที่มาชุมนุมเพื่อสรรเสริญพระองค์. (เอษรา 6:16, 22) เราเห็นตัวอย่างที่ดีของพวกนะธีนิมและชาวต่างชาติผู้เชื่อถือคนอื่น ๆ ขณะที่พวกเขาไปพร้อมกับชนที่เหลือเพื่อสนับสนุนการนมัสการพระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจ. (2:43, 55) จงพิจารณาเช่นกันถึงการกลับใจด้วยใจถ่อมของประชาชนเมื่อได้รับคำแนะนำเรื่องแนวทางที่ผิดในการสมรสกับชนนอกรีตที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง. (10:2-4) การคบหาที่ไม่ดีนำไปสู่ความไม่พอพระทัยของพระเจ้า. (9:14, 15) การมีใจแรงกล้าด้วยความยินดีเพื่อราชกิจของพระองค์นำมาซึ่งความพอพระทัยและพระพรจากพระองค์.—6:14, 21, 22.
18. เหตุใดการฟื้นฟูไพร่พลของพระยะโฮวาจึงเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การปรากฏตัวของพระมาซีฮา พระมหากษัตริย์?
18 แม้จะไม่มีกษัตริย์ประทับบนพระที่นั่งของพระยะโฮวาที่กรุงยะรูซาเลมอีกต่อไป การฟื้นฟูก็เร้าใจให้คาดหมายว่า ในเวลาอันควร พระยะโฮวาจะทรงทำให้กษัตริย์ตามคำสัญญาของพระองค์กำเนิดในเชื้อวงศ์ของดาวิด. ชาติที่ได้รับการฟื้นฟูนั้นบัดนี้อยู่ในฐานะที่จะเฝ้าระวังรักษาคำแถลงอันศักดิ์สิทธิ์และการนมัสการพระเจ้าจนกว่าจะถึงเวลาที่พระมาซีฮาปรากฏ. ถ้าชนที่เหลือเหล่านี้ไม่ตอบรับด้วยความเชื่อด้วยการกลับสู่ดินแดนของตน พระมาซีฮาจะมาหาใคร? จริงทีเดียว เหตุการณ์ต่าง ๆ ในพระธรรมเอษราเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ซึ่งนำไปสู่การปรากฏตัวของพระมาซีฮาและพระมหากษัตริย์! ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การศึกษาของเราในทุกวันนี้.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 452-454, 458.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 332.
c การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 1079.