“ผู้ที่ทรงให้ไว้”—การจัดเตรียมของพระยะโฮวา
“คนต่างถิ่นจะยืนเลี้ยงฝูงแพะแกะของเจ้าทั้งหลาย.”—ยะซายา 61:5, ฉบับแปลใหม่.
1. เหตุใดคำ “ผู้ให้” อาจทำให้เรานึกถึงพระยะโฮวา?
พระเจ้าทรงเป็นผู้ให้ด้วยพระทัยกว้างขวางอะไรเช่นนั้น! อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] เป็นผู้ได้ทรงโปรดประทานชีวิตและลมหายใจและสิ่งสารพัดแก่คนทั้งปวง.” (กิจการ 17:25) พวกเราแต่ละคนย่อมได้รับประโยชน์จากการตริตรองดู ‘ของประทานอันดีและของประทานอันเลิศ’ หลายอย่างซึ่งเราได้รับจากพระเจ้า.—ยาโกโบ 1:5, 17; บทเพลงสรรเสริญ 29:11; มัดธาย 7:7; 10:19; 13:12; 21:43.
2, 3. (ก) เราควรตอบสนองของประทานจากพระเจ้าโดยวิธีใด? (ข) ในแง่ไหนที่ชาวเลวีเป็น “ผู้ที่ทรงให้ไว้”?
2 ด้วยเหตุผลที่ดี ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอยากรู้ว่าตนจะทดแทนคุณพระยะโฮวาโดยวิธีใด. (บทเพลงสรรเสริญ 116:12) จริง ๆ แล้วพระผู้สร้างของเราไม่จำเป็นต้องได้รับสิ่งใด ๆ ซึ่งมนุษย์มีอยู่ หรือที่สามารถจะให้พระองค์ได้. (บทเพลงสรรเสริญ 50:10, 12) กระนั้น พระยะโฮวาทรงชี้ให้เห็นว่าพระองค์ชอบพระทัยเมื่อคนเรายอมสละตัวเองเพื่อการนมัสการแท้ด้วยความหยั่งรู้ค่า. (เทียบกับเฮ็บราย 10:5-7.) มนุษย์ทุกคนควรเสียสละตัวเองด้วยการอุทิศตนแด่พระผู้สร้าง ผู้ซึ่งอาจจะทรงตอบแทนโดยการเพิ่มสิทธิพิเศษให้หลายประการ ดังในกรณีชาวเลวีสมัยโบราณ. ถึงแม้ชนยิศราเอลทั้งปวงได้อุทิศแล้วแด่พระเจ้า แต่พระองค์ได้เลือกครอบครัวอาโรนซึ่งอยู่ในตระกูลเลวีเป็นปุโรหิตให้ถวายเครื่องบูชา ณ พลับพลาประชุมและที่พระวิหาร. และคนในตระกูลเลวีที่นอกเหนือจากนั้นล่ะ?
3 พระยะโฮวาตรัสแก่โมเซว่า “จงนำตระกูลเลวีเข้ามาใกล้ . . . และเขาทั้งหลายต้องรักษาบรรดาเครื่องใช้สอยของพลับพลาประชุม . . . และเจ้าต้องให้พวกเลวีไว้กับอาโรนแลบุตรชายทั้งหลายของอาโรน. พวกเขาเป็นผู้ที่ทรงให้ไว้, [เนธูนิม, ภาษาฮีบรู] ให้ไว้แก่เขาจากบุตรชายยิศราเอล.” (อาฤธโม 3:6, 8, 9, 41, ล.ม.) พวกเลวีเป็น “ผู้ที่ทรงให้ไว้” กับอาโรนให้ทำหน้าที่ปรนนิบัติในพลับพลาประชุม ดังนั้น พระเจ้าจึงตรัสได้ว่า “เพราะพวกเขาเป็นผู้ทรงให้ไว้, ผู้ทรงให้ไว้แก่เรา, จากท่ามกลางบุตรชายยิศราเอล.” (อาฤธโม 8:16, 19; 18:6, ล.ม.) ชาวเลวีบางคนทำงานง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน บางคนได้รับสิทธิพิเศษดังเช่นการสอนกฎหมายของพระเจ้า. (อาฤธโม 1:50, 51; 1 โครนิกา 6:48; 23:3, 4, 24-32; 2 โครนิกา 35:3-5) ทีนี้ให้เราหันไปพิจารณาบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง “ที่ทรงให้ไว้” และสิ่งที่คล้ายคลึงกันในปัจจุบัน.
ชาวยิศราเอลกลับมาจากบาบูโลน
4, 5. (ก) ชาวยิศราเอลกลุ่มไหนที่พลัดถิ่นได้กลับมาจากบาบูโลน? (ข) การกลับจากต่างแดนของชาวยิศราเอลตรงกับเรื่องอะไรในสมัยนี้?
4 เอษรากับนะเฮมยาพูดถึงการหลุดพ้นจากบาบูโลนแล้วเดินทางกลับสู่ประเทศของตนเพื่อฟื้นฟูการนมัสการแท้ขึ้นมาใหม่ ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการซะรูบาเบล. บันทึกทั้งสองฉบับนั้นแจ้งรายงานพวกที่เดินทางกลับรวมทั้งสิ้น 42,360 คน. จากจำนวนนี้มีหลายพันคนเป็น ‘ผู้ชายในพวกยิศราเอล.’ จากนั้นเป็นบันทึกรายชื่อปุโรหิต. แล้วก็มาถึงรายการชาวเลวี 350 คน นับรวมพวกนักร้องและคนเฝ้าประตูด้วย. อนึ่ง เอษรากับนะเฮมยายังได้จดรายชื่อผู้คนอีกหลายพันซึ่งดูเหมือนเป็นยิศราเอล ถึงกับเป็นปุโรหิตด้วยซ้ำ แต่ไม่อาจพิสูจน์ลำดับวงศ์ตระกูลได้.—เอษรา 1:1,2; 2:2-42, 59-64; นะเฮมยา 7: 7-45, 61-66.
5 ชนที่เหลือแห่งยิศราเอลเหล่านี้ที่พลัดถิ่นอยู่ต่างแดน แล้วในเวลาต่อมาได้กลับไปยังยะรูซาเลมและแผ่นดินยูดาก็ได้สำแดงความเลื่อมใสเด่นชัดในพระเจ้าและตั้งอกตั้งใจทุ่มตัวให้กับการนมัสการแท้. ดังที่กล่าวไว้ พวกเราแลเห็นสิ่งที่ตรงกันอย่างเหมาะเจาะในสมัยปัจจุบันเมื่อชนที่เหลือแห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณได้หลุดพ้นจากการเป็นทาสแก่บาบูโลนใหญ่ในปี 1919.
6. พระเจ้าได้ทรงใช้ยิศราเอลฝ่ายวิญญาณในสมัยของเราอย่างไร?
6 นับตั้งแต่รับการปลดปล่อยในปี 1919 ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมพี่น้องของพระคริสต์ก็ได้รุดหน้าต่อไปด้วยความกระตือรือร้นในการนมัสการแท้. พระยะโฮวาทรงอวยพระพรความพยายามของเขาที่จะรวบรวมชนจำพวก 144,000 คนรุ่นสุดท้าย ซึ่งประกอบกันเป็น “ยิศราเอลของพระเจ้า” เข้ามา. (ฆะลาเตีย 6:16; วิวรณ์ 7:3,4) ในฐานะเป็นกลุ่ม ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมประกอบเป็น “บ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ” ถูกใช้ให้จัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณที่ให้ชีวิตอย่างอุดมบริบูรณ์ ซึ่งเขาได้ทำการนี้ด้วยความขยันขันแข็งเพื่อแจกจ่ายไปทั่วโลก.—มัดธาย 24:45-47.
7. ใครกำลังสมาคมคบหากับผู้ถูกเจิมในการนมัสการแท้?
7 ดังที่บทความก่อนหน้าได้แสดงให้เห็น เวลานี้ไพร่พลของพระยะโฮวารวมเอา “แกะอื่น” จำนวนหลายล้านเข้ามาด้วย ซึ่งมีความหวังที่พระเจ้าประทาน ที่จะผ่านความทุกข์ใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้า. พวกเขาปรารถนาจะรับใช้พระยะโฮวาตลอดไปบนแผ่นดินโลก เขาจะไม่หิวหรือกระหาย ทั้งจะไม่ร้องไห้เนื่องด้วยความโศกเศร้าอีกเลย. (โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 7:9-17; 21:3-5) ในเรื่องราวที่บันทึกไว้เกี่ยวกับพวกที่กลับมาจากบาบูโลนเราพบเห็นอะไรบางสิ่งบางอย่างไหมซึ่งตรงกันกับกลุ่มชนดังกล่าว? ใช่แล้ว!
คนที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอลก็เดินทางกลับเช่นกัน
8. ตอนที่เดินทางกลับจากบาบูโลน ใครได้ร่วมทางมาพร้อมกับชาวยิศราเอล?
8 เมื่อมีการเรียกร้องให้ผู้ที่รักพระยะโฮวาในบาบูโลนกลับแผ่นดินแห่งคำสัญญา พวกต่างชาติที่ไม่ใช่ยิศราเอลนับพัน ๆ คนได้ขานตอบ. จากรายชื่อซึ่งเอษราและนะเฮมยาบันทึกไว้ เราพบคำ “นะธีนิม” (หมายความว่า “ผู้ที่ทรงให้ไว้”) และ “พงศ์พันธุ์ที่เป็นมหาดเล็กของกษัตริย์ซะโลโมรวมกัน 392 คน. อนึ่ง บันทึกยังกล่าวถึงคนอื่นอีกกว่า 7,500 คน: ‘เป็นทาสชายทาสหญิง’ เช่นเดียวกับ “ชายหญิงที่เป็นคนขับร้อง” นอกตระกูลเลวี. (เอษรา 2:43-58, 65; นะเฮมยา 7:46-60, 67) มีอะไรหรือที่กระตุ้นผู้คนมากมายที่ไม่ใช่ชาติยิศราเอลให้เดินทางกลับ?
9. พระวิญญาณของพระเจ้าเกี่ยวข้องอย่างไรกับการกลับจากต่างแดน?
9 เอษรา 1:5 กล่าวถึง “คนทั้งปวงที่พระองค์ได้ทรงบันดาลให้มีน้ำใจขึ้นไปนั้น เพื่อจะไปสร้างโบสถ์วิหารของพระยะโฮวา.” ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงดลใจคนเหล่านั้นทุกคนที่ได้กลับไป. พระองค์ได้ทรงปลุกเร้าใจของเขา คือผลักดันแนวโน้มทางใจของเขา. กระทั่งจากสวรรค์ พระเจ้าสามารถกระทำเช่นนี้ได้โดยการใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ อันเป็นพลังปฏิบัติการของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น บรรดาผู้ที่ “ได้พากันมาสร้างพระวิหารของพระยะโฮวา” จึงได้รับการช่วยเหลือ “โดยพระวิญญาณ [ของพระเจ้า].”—ซะคาระยา 4:1, 6; ฮาฆี 1:14.
ความคล้ายคลึงกันในสมัยปัจจุบัน
10, 11. คนต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอลที่เดินทางกลับจากบาบูโลนเป็นภาพเล็งถึงใคร?
10 พวกต่างชาติที่ไม่ใช่ยิศราเอลซึ่งได้เดินทางกลับแผ่นดินเป็นภาพเล็งถึงใคร? คริสเตียนจำนวนไม่น้อยอาจตอบทำนองนี้: ‘พวกนะธีนิมนั้นตรงกับ “แกะอื่น” ในเวลานี้.’ จริง แต่ไม่เฉพาะพวกนะธีนิมเท่านั้น เพราะทุกคนในจำพวกที่ไม่ใช่ยิศราเอลที่เดินทางกลับนั้น เป็นภาพแสดงถึงคริสเตียนทุกวันนี้ซึ่งไม่ได้เป็นยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ.
11 หนังสือ คุณอาจรอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้าa (ภาษาอังกฤษ) ตั้งข้อสังเกตดังนี้ “ยิศราเอลที่ตกค้าง 42,360 คนไม่ใช่เป็นเพียงพวกเดียวที่ได้ออกไปจากบาบูโลนพร้อมกับซะรูบาเบล ผู้ว่าราชการ . . . มีพวกต่างชาติที่ไม่ใช่ยิศราเอลหลายพันคน . . . นอกจากชาวนะธีนิมยังมีคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยิศราเอล ได้แก่พวกทาส พวกผู้ชายผู้หญิงที่เป็นนักขับร้อง และลูกหลานมหาดเล็กกษัตริย์ซะโลโม.” หนังสือนั้นชี้แจงไว้ดังนี้: “พวกนะธีนิม พวกทาส, พวกนักร้อง, บุตรชายมหาดเล็กของซะโลโม คนต่างชาติที่ไม่ใช่ยิศราเอลทุกคนได้พากันออกจากแผ่นดินที่เขาตกเป็นเชลย แล้วเดินทางกลับพร้อมกับชาวยิศราเอลที่เหลืออยู่ . . . ฉะนั้น ถูกต้องไหมที่จะคิดว่า ทุกวันนี้ผู้คนจากชาติต่าง ๆ ที่ไม่เป็นยิศราเอลฝ่ายวิญญาณนั้นจะพาตัวเองเข้ามาคบหากับยิศราเอลฝ่ายวิญญาณและส่งเสริมการนมัสการพระเจ้ายะโฮวารวมกันกับเขา? ใช่.” บุคคลดังกล่าว ‘ได้กลายเป็นนะธีนิม พวกขับร้องและบุตรชายมหาดเล็กของซะโลโมสมัยนี้ทีเดียว.’
12. พระเจ้าทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์ในแนวพิเศษอย่างไรสำหรับยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ แต่เหตุใดเราแน่ใจได้ว่าบรรดาผู้ที่นมัสการพระองค์ย่อมได้รับพระวิญญาณนั้น?
12 เช่นเดียวกันกับแบบอย่างครั้งกระโน้น พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้พระวิญญาณของพระองค์แก่ชนเหล่านี้ที่มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลกตลอดไป. จริงอยู่ พวกเขาไม่บังเกิดใหม่. แต่ละคนในจำพวก 144,000 มีประสบการณ์อันวิเศษที่ได้บังเกิดใหม่เป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าและถูกเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์. (โยฮัน 3:3, 5; โรม 8:16; เอเฟโซ 1:13, 14) แน่นอน การเจิมอย่างนั้นเป็นการสำแดงพระวิญญาณของพระเจ้าให้ปรากฏเป็นพิเศษเพื่อเห็นแก่แกะฝูงน้อย. แต่พระวิญญาณของพระเจ้าก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันเพื่อปฏิบัติตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. ด้วยเหตุนี้ พระเยซูตรัสว่า ‘พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนที่ทูลขอพระองค์.’ (ลูกา 11:13) ไม่ว่าผู้ที่ขอนั้นมีความหวังฝ่ายสวรรค์หรือว่าอยู่ในจำพวกแกะอื่น พระวิญญาณของพระยะโฮวามีไว้พร้อมอย่างบริบูรณ์เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระองค์.
13. พระวิญญาณสามารถดำเนินการอย่างไรท่ามกลางผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้า?
13 พระวิญญาณของพระเจ้าได้กระตุ้นชาวยิศราเอลและชนต่างชาติที่ไม่ใช่ยิศราเอลให้กลับสู่ยะรูซาเลม และพระวิญญาณนี้แหละที่ให้กำลังและสนับสนุนบรรดาไพร่พลที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ในเวลานี้. ไม่ว่าความหวังซึ่งพระเจ้าได้จัดเตรียมให้แก่คริสเตียนนั้นคือชีวิตในสวรรค์หรือชีวิตทางแผ่นดินโลก เขาต้องประกาศข่าวดี และพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเขาธำรงความซื่อสัตย์ในทางนั้น. พวกเราทุกคน—ไม่ว่าความหวังของเราจัดอยู่ในประเภทใด—ควรพัฒนาผลแห่งพระวิญญาณ ซึ่งจำเป็นที่เราพึงมีไว้ให้เต็มที่.—ฆะลาเตีย 5:22-26.
ทรงให้ไว้สำหรับงานรับใช้พิเศษ
14, 15. (ก) ได้มีการจำแนกคนสองกลุ่มไหนจากคนต่างชาติที่เดินทางกลับที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอล? (ข) ชาวนะธีนิมเป็นใคร และพวกเขาทำอะไร?
14 ท่ามกลางชาวต่างชาติหลายพันคนที่ไม่ใช่ยิศราเอลซึ่งพระวิญญาณกระตุ้นให้กลับไปนั้น พระคำของพระเจ้าจำแนกเขาออกเป็นสองกลุ่มเล็ก ๆ—พวกนะธีนิมและเหล่าบุตรชายมหาดเล็กกษัตริย์ซะโลโม. คนเหล่านี้เป็นใคร? เขาทำหน้าที่อะไร? และสิ่งนี้อาจหมายถึงอะไรในปัจจุบัน?
15 พวกนะธีนิมเป็นกลุ่มชนซึ่งไม่ได้สืบเชื้อสายจากยิศราเอล และได้รับสิทธิพิเศษทำการรับใช้ร่วมกับชาวเลวี. ขอให้นึกถึงชาวคะนาอันที่มาจากฆิบโอนแล้วได้กลายเป็น “ผู้ตัดฟืนและตักน้ำสำหรับพวกยิศราเอลและสำหรับแท่นแห่งพระยะโฮวา.” (ยะโฮซูอะ 9:27) อาจเป็นไปได้ว่าลูกหลานบางคนของพวกเขาอยู่ในกลุ่มนะธีนิมที่ออกไปจากบาบูโลน หรืออาจเป็นคนที่ถูกรับเพิ่มเข้ามาเป็นนะธีนิมในรัชกาลดาวิด หรือในวาระอื่น ๆ. (เอษรา 8:20) พวกนะธีนิมทำงานอะไร? ชาวเลวีเป็นผู้ที่ทรงให้ไว้ช่วยงานปุโรหิต และหลังจากนั้นพวกนะธีนิมเป็นผู้ที่ทรงให้ไว้ช่วยชาวเลวี. แม้กระทั่งสำหรับคนต่างชาติที่รับสุหนัต นี้แหละคือสิทธิพิเศษ.
16. ในกาลต่อมา บทบาทของชาวนะธีนิมเปลี่ยนไปอย่างไร?
16 ในคราวที่กลุ่มนั้นกลับจากบาบูโลน ปรากฏว่ามีพวกเลวีไม่กี่คน เมื่อเทียบกับพวกปุโรหิตหรือพวกนะธีนิมกับ “บุตรชายมหาดเล็กของซะโลโม.” (เอษรา 8:15-20) พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิล เรียบเรียงโดย ดร. เจมส์ เฮสทิงส์ ให้ข้อสังเกตดังนี้: “ชั่วระยะหนึ่งหลังจากนั้น เราพบว่า [พวกนะธีนิม] ถูกตั้งขึ้นเป็นชนชั้นศักดิ์สิทธิ์ทางการ สิทธิพิเศษหลายประการจึงได้มอบแก่พวกเขา.” วารสารเกี่ยวกับพหูสูต ชื่อเวตัส เทสตาเมนตุม กล่าวว่า “มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น. ภายหลังการกลับมาจากการอยู่ต่างถิ่น คน [ต่างชาติ] เหล่านี้ไม่ถูกนับเป็นทาส รับใช้ในพระวิหารอีกต่อไป แต่ถือว่าเขาเป็นผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้ง เพื่อทำงานในพระวิหาร มีสถานภาพคล้าย ๆ กันกับคณะบุคคลฝ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ ณ พระวิหาร.”—ดูในกรอบ “สถานภาพที่เปลี่ยนไป.”
17. เหตุใดชาวนะธีนิมได้รับหน้าที่มากขึ้น และมีหลักฐานอะไรในคัมภีร์ไบเบิลชี้ถึงเรื่องนี้?
17 แน่นอน พวกนะธีนิมหาได้เท่าเทียมกับพวกปุโรหิตและชาวเลวีไม่. พวกหลังเป็นชาวยิศราเอล ผู้ซึ่งพระยะโฮวาทรงสรรไว้ และไม่ทรงยอมให้มีชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ยิศราเอลเข้ามาแทน. กระนั้น ข้อบ่งชี้ทางด้านคัมภีร์ไบเบิลแสดงว่า เนื่องจากจำนวนชาวเลวีลดลง พวกนะธีนิมจึงถูกกำหนดให้ทำงานรับใช้พระเจ้ามากขึ้น. พวกเขาได้รับมอบหมายที่พักอาศัยอยู่ใกล้พระวิหาร. ในสมัยนะเฮมยา เขาทำงานกับปุโรหิตด้วยการซ่อมกำแพงใกล้พระวิหาร. (นะเฮมยา 3:22-26) และกษัตริย์แห่งเปอร์เซียออกคำสั่งให้ยกเว้นเก็บภาษีพวกนะธีนิม เช่นเดียวกันกับพวกเลวีได้รับการยกเว้นเนื่องด้วยปฏิบัติหน้าที่ในพระวิหาร. (เอษรา 7:24) ทั้งนี้แสดงว่า “ผู้ที่ทรงให้ไว้” เหล่านี้ (ชาวเลวี และนะธีนิม) สมัยนั้นมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกันเพียงไรในเรื่องต่าง ๆ ฝ่ายวิญญาณ และวิธีที่พวกนะธีนิมได้รับงานมอบหมายมากขึ้นตามความจำเป็น ถึงแม้พวกเขาไม่เคยถูกนับเป็นชาวเลวี. ในเวลาต่อมา เมื่อเอษรารวบรวมพวกพลัดถิ่นให้กลับแผ่นดิน ในชั้นแรกไม่มีชาวเลวีอยู่ท่ามกลางพวกเขาเลย. ดังนั้น ท่านจึงพยายามมากขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมชาวเลวีบางคน. ผลคือ มีชาวเลวี 38 คน พร้อมด้วยพวกนะธีนิม 220 คนเดินทางกลับในฐานะ “คนสำหรับปรนนิบัติที่พระวิหารของพระเจ้าของเรา.”—เอษรา 8:15-20.
18. ลูกหลานมหาดเล็กของซะโลโม อาจได้ทำหน้าที่อะไร?
18 กลุ่มที่สองซึ่งไม่ใช่ยิศราเอลที่ถูกคัดออกมาได้แก่พวกบุตรชายมหาดเล็กของซะโลโม. พระคัมภีร์ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับพวกเขา. บ้างก็เป็น “พงศ์พันธุ์ของโซเฟเร็ธ.” เอษราเติมคำนำหน้านาม โดยให้ชื่อว่า แฮสโซเฟเร็ธ อันอาจหมายความว่า “อาลักษณ์” ก็เป็นได้. (เอษรา 2:55; นะเฮมยา 7:57) ด้วยเหตุนั้น พวกเขาคงจะเป็นคณะอาลักษณ์หรือคนคัดสำเนา อาจทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการในพระวิหารก็ได้. แม้นเชื้อสายมาจากคนต่างชาติ แต่ลูกหลานมหาดเล็กของซะโลโมได้พิสูจน์แล้วซึ่งความเลื่อมใสของพวกเขาต่อพระยะโฮวาโดยการละบาบูโลนแล้วเดินทางกลับไปร่วมฟื้นฟูการนมัสการพระองค์ขึ้นใหม่.
การเสียสละของเราในสมัยนี้
19. เวลานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกเจิมกับแกะอื่นเป็นอย่างไร?
19 ในสมัยของเรา พระเจ้าทรงใช้ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมทำงานอย่างแข็งขันเป็นหัวหอกในการนมัสการอันบริสุทธิ์และการประกาศข่าวดี. (มาระโก 13:10) ผู้ถูกเจิมเหล่านี้รู้สึกปลาบปลื้มเพียงใดเมื่อได้เห็นแกะอื่นจำนวนนับหมื่น, นับแสน แล้วเพิ่มทวีเป็นหลายล้านคนร่วมสมทบกับเขาในการนมัสการ! และช่างเป็นการร่วมมือที่น่าเบิกบานยินดีเสียจริง ๆ ระหว่างชนที่เหลือกับแกะอื่น!—โยฮัน 10:16.
20. ความเข้าใจใหม่ในเรื่องอะไรที่ถือว่าสมเหตุผล เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชาวนะธีนิมกับเหล่าบุตรมหาดเล็กของซะโลโมเป็นภาพเปรียบเทียบ? (สุภาษิต 4:18)
20 บรรดาคนต่างชาติที่ไม่ใช่ยิศราเอลซึ่งกลับจากต่างแดนในบาบูโลนโบราณเทียบได้กับแกะอื่นในเวลานี้ที่รับใช้ร่วมกับชนที่เหลือแห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ. แต่จะว่าอย่างไรเรื่องข้อเท็จจริงที่ว่าพระคัมภีร์จำแนกพวกนะธีนิมกับพงศ์พันธุ์มหาดเล็กของซะโลโมโดยเฉพาะ? ในสมัยโน้น พวกนะธีนิมและพงศ์พันธุ์มหาดเล็กของซะโลโมได้รับสิทธิพิเศษมากกว่ากลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ยิศราเอลซึ่งเดินทางกลับ. แบบอย่างดังกล่าวอาจใช้เป็นภาพเปรียบเทียบได้เหมาะเจาะทีเดียวว่า ทุกวันนี้พระเจ้าทรงแผ่สิทธิพิเศษหลายประการและเพิ่มหน้าที่ต่าง ๆ ให้แก่แกะอื่นบางคนผู้ประกอบด้วยวุฒิภาวะและสมัครใจ.
21. โดยวิธีใดพี่น้องชายบางคนผู้ซึ่งมีความหวังทางแผ่นดินโลกได้รับเพิ่มหน้าที่และสิทธิพิเศษบางอย่าง?
21 สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่เพิ่มให้กับพวกนะธีนิมล้วนเกี่ยวโยงโดยตรงกับกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ. ลูกหลานแห่งมหาดเล็กของซะโลโมดูเหมือนว่ามีหน้าที่รับผิดชอบด้านอำนวยการ. สมัยนี้ก็เช่นกัน พระยะโฮวาทรงอวยพรไพร่พลของพระองค์ด้วย “ของประทานในลักษณะมนุษย์” เพื่อเอาใจใส่ดูแลตามความจำเป็นของพวกเขา. (เอเฟโซ 4:8, 11, 12) สิ่งที่นับรวมอยู่ในการจัดเตรียมนี้ได้แก่พี่น้องชายที่ประกอบด้วยวุฒิภาวะ มีประสบการณ์ ซึ่งร่วมในงาน ‘บำรุงเลี้ยง’ รับใช้ฐานะเป็นผู้ดูแลหมวดและภาค และอยู่ในคณะกรรมการสาขา ณ สาขาของสมาคมว็อชเทาเวอร์ 98 แห่ง. (ยะซายา 61:5) ณ สำนักงานใหญ่ของสมาคม ภายใต้การชี้นำของ “บ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ” และคณะกรรมการปกครอง บุคคลที่มีความสามารถได้รับการฝึกอบรมให้ช่วยเตรียมการแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณ. (ลูกา 12:42) คนอื่น ๆ ที่เป็นผู้อาสาสมัครซึ่งอุทิศตนมานานปีก็ได้รับการอบรมเพื่อที่จะดำเนินงานในสำนักเบเธลและในโรงงานและที่จะดูแลโครงการด้านการก่อสร้างอาคารสาขาใหม่และหอประชุมสำหรับการนมัสการของคริสเตียน. พวกเขาปฏิบัติได้เยี่ยมในฐานะผู้ช่วยที่ใกล้ชิดของชนผู้ถูกเจิม ซึ่งประกอบกันเป็นส่วนแห่งคณะปุโรหิตหลวง.—เทียบกับ 1 โกรินโธ 4:17; 14:40; 1 เปโตร 2:9.
22. เหตุใดจึงนับว่าเหมาะสมที่ให้บางคนในจำพวกแกะอื่นมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญขณะนี้ และเราน่าจะตอบสนองอย่างไรต่อเรื่องนี้?
22 ในครั้งกระโน้น ปุโรหิตทั้งหลายและชาวเลวีรับใช้ท่ามกลางพวกยิวอย่างต่อเนื่องมิได้ขาด. (โยฮัน 1:19) อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ จำนวนชนที่เหลือแห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณต้องน้อยลงเรื่อย ๆ. (เทียบกับโยฮัน 3:30.) ในที่สุด ภายหลังการทำลายบาบูโลนใหญ่แล้ว ชน 144,000 ซึ่งทุกคน ‘ได้รับตราประทับ’ จะอยู่ในสวรรค์เพื่อการอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก (วิวรณ์ 7:1-3; 19:1-8) แต่ขณะนี้ แกะอื่นจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. ข้อเท็จจริงที่ว่า เวลานี้บางคนในจำนวนนี้คล้าย ๆ กันกับชาวนะธีนิมและพงศ์พันธุ์มหาดเล็กของซะโลโม ได้รับมอบหมายทำหน้าที่สำคัญหลายอย่างภายใต้การดูแลเอาใจใส่ของชนที่เหลือผู้ถูกเจิม ไม่ทำให้พวกเขาถือสิทธิหรือทะนงตน. (โรม 12:3) ทั้งนี้ทำให้เรามั่นใจได้ว่า ขณะที่ไพร่พลของพระเจ้าจะ “ออกมาจากความทุกข์ใหญ่” ก็ย่อมจะมีผู้ช่ำชองผ่านประสบการณ์—“เจ้านาย”—ถูกเตรียมไว้เป็นผู้นำหน้าท่ามกลางบรรดาแกะอื่น.—วิวรณ์ 7:14; ยะซายา 32:1; เทียบกับกิจการ 6:2-7.
23. ทำไมพวกเราทุกคนพึงพัฒนาน้ำใจในการให้เมื่อคำนึงถึงการรับใช้พระเจ้า?
23 ทุกคนที่กลับจากบาบูโลนต่างก็เต็มใจทำงานอย่างขันแข็งและแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคิดคำนึงและใส่ใจเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการนมัสการพระยะโฮวา. ทุกวันนี้ก็เช่นกัน. พร้อมกับชนที่เหลือผู้ถูกเจิม “คนต่างถิ่นจะยืนเลี้ยงฝูงแพะแกะของเจ้าทั้งหลาย.” (ยะซายา 61:5, ฉบับแปลใหม่) ฉะนั้น ไม่ว่าพระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมความหวังประเภทใดให้เรา หรือไม่ว่าพวกผู้ปกครองที่รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณจะให้เรามีสิทธิพิเศษใด ๆ ก็ตามก่อนถึงวันของพระยะโฮวาเพื่อการชันสูตรเชิดชู ณ อาร์มาเก็ดดอน ขอให้พวกเราทุกคนเพาะน้ำใจแบบที่ไม่เห็นแก่ตัวเอง, ที่เสริมสร้าง, น้ำใจในการให้. แม้เราไม่สามารถจะชดใช้หรือทดแทนบุญคุณของพระยะโฮวาสำหรับคุณประโยชน์มหาศาลของพระองค์ แต่สิ่งใด ๆ ที่เรากระทำภายในองค์การของพระองค์ก็จงกระทำอย่างเต็มใจ. (บทเพลงสรรเสริญ 116:12-14; โกโลซาย 3:23) ด้วยเหตุนี้ พวกเราทุกคนจะสามารถสละตัวเองเพื่อการนมัสการแท้ ในฐานะเป็นแกะอื่นที่รับใช้ใกล้ชิดกับชนผู้ถูกเจิมซึ่งจะ “ครอบครองเป็นกษัตริย์เหนือแผ่นดินโลก.”—วิวรณ์ 5:9, 10.
[เชิงอรรถ]
a หน้า 142-148; จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ อ็อฟ นิวยอร์ก.
จุดสำคัญที่ควรจำ
▫ ในชาติยิศราเอลโบราณ ชาวเลวีได้เป็น “ผู้ที่ทรงให้ไว้” ในทางใด?
▫ คนต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอลจำพวกไหนเดินทางกลับจากต่างแดน พวกเขาเป็นภาพเล็งถึงผู้ใด?
▫ การเปลี่ยนแปลงอะไรดูเหมือนได้เกิดขึ้นกับพวกนะธีนิม?
▫ เกี่ยวกับพวกนะธีนิมและลูกหลานมหาดเล็กของซะโลโม มีกรณีอะไรที่คล้ายคลึงกันในเวลานี้ซึ่งเราหยั่งรู้คุณค่ามาก?
▫ การร่วมมือกันระหว่างผู้ถูกเจิมกับแกะอื่นก่อให้เกิดความมั่นใจเช่นไร?
[กรอบหน้า 14]
สถานภาพที่เปลี่ยนไป
พจนานุกรมและสารานุกรมคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับวิจารณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งคนต่างชาติที่ไม่ใช่ชนยิศราเอลได้ประสบตอนเดินทางกลับจากต่างแดน. ยกตัวอย่าง ภายใต้เรื่อง “การเปลี่ยนฐานะของเขา” สารานุกรม บิบลิกา ชี้แจงดังนี้: “ฐานะทางสังคมของเขาจะต้องได้รับการยกระดับขึ้นในเวลาเดียวกัน ดังได้กล่าวมาแล้ว. [ชาวนะธีนิม] ไม่เป็นทาสดังความหมายอันเคร่งครัดของคำนั้นอีกต่อไป.” (เรียบเรียงโดย เชนและแบล็ก, เล่มสาม หน้า 3399) ในสารานุกรมสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล, จอห์น คิตโท เขียนว่า “เป็นเรื่องที่ไม่คาดหวังว่าหลายคนในกลุ่มนี้ [นะธีนิม] จะหวนกลับสู่ฐานะอันต่ำต้อยในดินแดนปาเลสไตน์ . . . ความศรัทธาด้วยใจสมัครซึ่งปรากฏอย่างเด่นชัดโดยบุคคลเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้พวกนะธีนิมได้เลื่อนฐานะตำแหน่ง. (เล่มสอง หน้า 417) สารานุกรมมาตรฐานนานาชาติเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล ชี้แจงอย่างนี้: “โดยอาศัยความรู้ว่าด้วยการคบหาสมาคมและพื้นเพของเขาในสมัยรัชกาลซะโลโม จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่า เหล่ามหาดเล็กของซะโลโมมีหน้าที่รับผิดชอบอันสำคัญในพระวิหารหลังที่สอง.”—เรียบเรียงโดย จี. ดับเบิลยู. บรอมิเลย์, เล่มสี่ หน้า 570.
[รูปภาพหน้า 15]
เมื่อชาวยิศราเอลกลับไปบูรณะกรุงยะรูซาเลมชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอลหลายพันคนได้ร่วมเดินทางไปด้วย
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.
[รูปภาพหน้า 17]
กรรมการสาขาประเทศเกาหลี. ชาวนะธีนิมสมัยโบราณกระทำฉันใด ผู้ชายจำพวกแกะอื่นสมัยนี้ก็มีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญเกี่ยวด้วยการนมัสการแท้ฉันนั้น