บทเรียนจากคำอธิษฐานที่เตรียมอย่างดี
“ขอถวายสรรเสริญแด่พระนามอันสูงส่งของพระองค์.”—นเฮม. 9:5, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
1. เราจะพิจารณาเกี่ยวกับการประชุมอะไรของประชาชนของพระเจ้า และเราควรคิดถึงคำถามอะไร?
“จงยืนขึ้นสรรเสริญ [พระยะโฮวา] พระเจ้าของท่านผู้ทรงดำรงอยู่ตั้งแต่นิรันดร์กาลจวบจนนิรันดร์กาล.” ด้วยคำพูดที่กระตุ้นใจดังกล่าว ชาวเลวีเชิญประชาชนของพระเจ้าให้มาประชุมกันและอธิษฐานถึงพระยะโฮวา. คำอธิษฐานนี้เป็นคำอธิษฐานหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลที่ยาวมาก. (นเฮม. 9:4, 5) การประชุมนี้จัดขึ้นที่กรุงเยรูซาเลมในปี 455 ก่อนสากลศักราช ในวันที่ 24 เดือนเจ็ดของชาวยิว คือทิชรี (กันยายน/ตุลาคม). ขณะที่เราพิจารณาเกี่ยวกับการประชุมนี้ ขอให้คิดถึงคำถามต่อไปนี้: ‘ชาวเลวีทำอะไรเป็นประจำที่ช่วยให้การประชุมนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี? เราเรียนอะไรได้จากคำอธิษฐานของชาวเลวีที่เตรียมอย่างดี?’ ก่อนอื่น ให้เรามาพิจารณาบางสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันพิเศษนี้.—เพลง. 141:2
เดือนพิเศษ
2. ชาวอิสราเอลเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราในทุกวันนี้อย่างไร?
2 ก่อนการประชุมพิเศษนี้หนึ่งเดือน ชาวยิวสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเลมเสร็จ. (นเฮม. 6:15) พวกเขาทำงานนี้สำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 52 วัน. หลังจากนั้นในวันแรกของเดือนถัดมา คือเดือนทิชรี พวกเขาประชุมกันที่ลานเมืองเพื่อฟังเอษราและชาวเลวีคนอื่น ๆ อ่านและอธิบายพระบัญญัติของพระเจ้า. ทุกคนในครอบครัว รวมทั้งเด็ก ๆ ด้วย ยืนฟังตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเที่ยงวัน. ชาวเลวีเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราในทุกวันนี้. แม้ว่าเราประชุมกันในหอประชุมราชอาณาจักรที่สะดวกสบาย แต่บางครั้งเราอาจใจลอยและเริ่มคิดถึงเรื่องอื่นระหว่างที่ประชุมกันอยู่. แต่ชาวอิสราเอลเหล่านั้นตั้งใจฟัง คิดใคร่ครวญสิ่งที่พวกเขาได้ยิน และถึงกับเริ่มร้องไห้เมื่อได้มารู้ว่าพวกเขาไม่ได้ทำตามพระบัญญัติของพระเจ้า.—นเฮม. 8:1-9
3. ชาวอิสราเอลทำตามคำสั่งอะไร?
3 แต่นั่นไม่ใช่เวลาที่จะสารภาพบาป. เนื่องจากวันนั้นเป็นวันเทศกาลเฉลิมฉลอง และพระยะโฮวาประสงค์ให้ประชาชนมีความสุข. (อาฤ. 29:1) ดังนั้น นะเฮมยาจึงบอกพวกเขาว่า “จงไปกินเนื้อและดื่มของหวานเถิด, แล้วแบ่งปันอาหารให้แก่เหล่าคนที่ขัดสนด้วย เพราะวันนี้เป็นวันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเจ้า. อย่าเป็นทุกข์โศกเศร้าเลย ด้วยความโสมนัสยินดีแห่งพระยะโฮวาเป็นกำลังของพวกเจ้าทั้งหลาย.” ประชาชนทำตาม และมี “ใจเบิกบาน” กันในวันนั้น.—นเฮม. 8:10-12
4. (ก) หัวหน้าครอบครัวชาวอิสราเอลทำอะไร? (ข) ชาวเลวีทำอะไรในแต่ละวันของเทศกาลอยู่เพิงครั้งนี้?
4 ในวันถัดมา หัวหน้าครอบครัวทั้งหลายมาประชุมกันและศึกษาพระบัญญัติเพื่อจะตรวจดูให้แน่ใจว่าพวกเขาทำตามพระบัญชาทุกอย่างของพระเจ้า. ระหว่างที่ศึกษาพระบัญญัติกันอยู่นั้น พวกเขาก็ได้มารู้ว่าชาติอิสราเอลต้องฉลองเทศกาลอยู่เพิง (เทศกาลตั้งทับอาศัย) และปิดท้ายด้วยการประชุมศักดิ์สิทธิ์ ในเดือนนั้น ตั้งแต่วันที่ 15 จนถึงวันที่ 22. ดังนั้น ประชาชนเริ่มเตรียมฉลองเทศกาลนี้ทันที. เทศกาลที่จัดในครั้งนี้เป็นเทศกาลอยู่เพิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดนับตั้งแต่สมัยของยะโฮซูอะเป็นต้นมา และประชาชนทั้งหลายต่างก็ “มีความยินดีเป็นอันมาก.” ในแต่ละวันของเทศกาลนี้ ชาวเลวีอ่านพระบัญญัติของพระเจ้าให้ประชาชนทั้งหมดฟัง.—นเฮม. 8:13-18
วันสารภาพบาป
5. ประชาชนของพระเจ้าทำอะไรก่อนที่ชาวเลวีจะเริ่มต้นอธิษฐาน?
5 สองวันหลังจากเทศกาลนี้ ในวันที่ 24 เดือนทิชรี เป็นเวลาที่เหมาะสมที่ประชาชนของพระเจ้าจะสารภาพบาปของตน. นี่ไม่ใช่วันที่พวกเขาจะกินดื่มและรื่นเริง แต่เป็นวันที่พวกเขาต้องอดอาหารและนุ่งผ้าเนื้อหยาบเพื่อแสดงว่าพวกเขาเสียใจที่ไม่เชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้า. อีกครั้งหนึ่งที่ชาวเลวีอ่านพระบัญญัติของพระเจ้าให้ประชาชนฟังประมาณสามชั่วโมงในตอนเช้า. ในตอนบ่าย ประชาชน ‘สารภาพผิดและนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าของตน.’ หลังจากนั้น ชาวเลวีก็เริ่มอธิษฐานเพื่อประชาชนทั้งหมด. —นเฮม. 9:1-4
6. อะไรช่วยชาวเลวีให้อธิษฐานอย่างมีความหมาย และเราเรียนอะไรได้จากพวกเขา?
6 ชาวเลวีอ่านพระบัญญัติของพระเจ้าเป็นประจำ และการทำอย่างนี้ช่วยพวกเขาเตรียมคำอธิษฐานที่มีความหมายนี้. ส่วนแรกของคำอธิษฐานเน้นสิ่งต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาได้ทำและคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์. ในส่วนที่เหลือของคำอธิษฐาน ชาวเลวีพรรณนาถึงบาปมากมายที่ประชาชนได้ทำและอธิบายอย่างชัดเจนว่าทำไมชาวอิสราเอลจึงไม่คู่ควรที่จะได้รับ “ความเมตตากรุณาอันใหญ่หลวง” จากพระเจ้า. (นเฮม. 9:19, 27, 28, 31) เราเรียนอะไรได้จากชาวเลวี? เราควรอ่านและใคร่ครวญพระคำของพระเจ้าทุกวัน. เมื่อเราทำอย่างนี้ก็เหมือนกับเราฟังพระยะโฮวาพูด. และเมื่อเราอธิษฐาน เราจะมีเรื่องพูดกับพระยะโฮวามากขึ้น และคำอธิษฐานของเราก็จะมีความหมายมากขึ้น.—เพลง. 1:1, 2
7. ชาวเลวีทูลขออะไรจากพระเจ้า และเราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของพวกเขา?
7 ในคำอธิษฐานของชาวเลวี พวกเขาทูลขอเรื่องง่าย ๆ เพียงเรื่องเดียว. เมื่อใกล้จะจบคำอธิษฐาน พวกเขาทูลขอว่า “เหตุฉะนั้นโอ้พระเจ้าข้า, พระองค์เป็นใหญ่, และทรงฤทธานุภาพอันน่ากลัว, ได้ทรงรักษาคำมั่นสัญญา, และคำไมตรีของพระองค์ไว้, ขออย่าให้ความทุกข์ยากลำบากของพวกข้าพเจ้านั้นเป็นการเล็กน้อยต่อพระเนตรของพระองค์, ที่ได้สวมทับอยู่กับพวกข้าพเจ้าทั้งเหล่ากษัตริย์, เจ้านาย, พวกปุโรหิต, พวกผู้ทำนาย, และเชื้อวงศ์บิดาทั้งหลายของพวกข้าพเจ้า, และชาวชนทั้งปวง, ตั้งแต่คราวเหล่ากษัตริย์แผ่นดินอาซูริยะนั้น, ตราบเท่าถึงทุกวันนี้.” (นเฮม. 9:32) ชาวเลวีวางตัวอย่างที่ดีไว้ให้เราในทุกวันนี้. เมื่อเราอธิษฐาน เราควรสรรเสริญและขอบพระคุณพระยะโฮวาก่อนที่จะทูลขอสิ่งใดก็ตามจากพระองค์.
พวกเขาสรรเสริญพระนามอันสูงส่งของพระองค์
8, 9. (ก) ชาวเลวีเริ่มอธิษฐานอย่างถ่อมใจอย่างไร? (ข) ชาวเลวีกล่าวถึงสองสิ่งอะไรในคำอธิษฐาน?
8 ชาวเลวีมีความถ่อมใจ. แม้ว่าพวกเขาเตรียมตัวอย่างดี แต่พวกเขารู้สึกว่าคำพูดของตนยังไม่ดีพอที่จะสรรเสริญพระยะโฮวาได้อย่างที่พระองค์คู่ควรจะได้รับ. ดังนั้น พวกเขาเริ่มอธิษฐานเพื่อชาติอิสราเอลทั้งหมดด้วยการทูลวิงวอนอย่างถ่อมใจต่อพระยะโฮวาว่า “ขอถวายสรรเสริญแด่พระนามอันสูงส่งของพระองค์ ขอให้เป็นที่เทิดทูนเหนือการยกย่องสรรเสริญทั้งปวง.”—นเฮม. 9:5, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
9 พวกเขาอธิษฐานต่อไปอีกว่า “พระองค์เจ้าข้า, พระองค์เป็นพระเจ้าองค์เดียว; ที่ได้ทรงสร้างท้องฟ้าและชั้นฟ้าทั้งปวง, กับบรรดาดวงดาวและแผ่นดินโลก, และสิ่งสารพัตรอยู่ในที่เหล่านั้น, และทะเลทั้งปวงกับสิ่งสารพัตรซึ่งอยู่ในทะเลนั้น, พระองค์ได้ทรงทะนุบำรุงไว้ทั้งสิ้น; ทูตสวรรค์ทั้งปวงก็ย่อมไหว้นมัสการพระองค์.” (นเฮม. 9:6) ในที่นี้ ชาวเลวีกล่าวถึงสิ่งทรงสร้างของพระยะโฮวาบางอย่างที่น่าทึ่ง. พระองค์สร้างฟ้าสวรรค์และ “บรรดาดวงดาว” ซึ่งประกอบกันเป็นกาแล็กซีต่าง ๆ. นอกจากนั้น พระองค์ยังสร้างทุกสิ่งบนโลกอันสวยงามของเรา และทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่แตกต่างหลากหลายสามารถแพร่พันธุ์ตามชนิดของมัน. คำอธิษฐานของชาวเลวียังกล่าวถึง “ทูตสวรรค์ทั้งปวง.” ทูตสวรรค์เหล่านี้ถ่อมใจทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยการรับใช้มนุษย์ที่ต่ำต้อย. (ฮีบรู 1:14) ปัจจุบัน เราก็รับใช้พระยะโฮวาอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเช่นเดียวกับกองทัพที่ได้รับการฝึกเป็นอย่างดี. เราควรเลียนแบบเหล่าทูตสวรรค์ด้วยการรับใช้พระเจ้าอย่างถ่อมใจ.—1 โค. 14:33, 40
10. เราเรียนรู้อะไรได้จากสิ่งที่พระเจ้าทำเพื่ออับราฮาม?
10 ต่อมา ชาวเลวีกล่าวถึงสิ่งที่พระเจ้าทำเพื่ออับราม. พระยะโฮวาเปลี่ยนชื่อของท่านเป็นอับราฮาม ซึ่งหมายถึง “บิดาของชนหลายประเทศ” แม้ว่าท่านอายุ 99 ปีแล้วและยังไม่มีบุตร. (เย. 17:1-6, 15, 16) พระเจ้าบอกอับราฮามด้วยว่าผู้สืบเชื้อสายของท่านจะได้รับแผ่นดินคะนาอันเป็นมรดก. ชาวเลวีพรรณนาวิธีที่พระยะโฮวารักษาสัญญาของพระองค์ว่า “พระองค์เป็นพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงเลือกท่านอับราม, และทรงนำออกมาจากเมืองอูระในแผ่นดินเคเซ็ด, กับได้ทรงประทานนามให้ว่าอับราฮาม; เมื่อได้ทรงทดลองนั้นพระองค์ทรงเห็นว่าท่านมีใจสัตย์ซื่อ, จึงได้ทรงทำสัญญาไว้กับท่านว่าจะทรงพระราชทานแผ่นดินชาวคะนาอัน . . . ให้แก่พงศ์พันธุ์ของท่าน, พระองค์ได้ทรงกระทำตามคำสัญญานั้นแล้วทุกประการ; ด้วยว่าพระองค์เป็นผู้ชอบธรรม.” (นเฮม. 9:7, 8) ขอให้เราเลียนแบบพระเจ้าผู้ชอบธรรมด้วยการพยายามรักษาสัญญาเสมอ.—มัด. 5:37
สิ่งต่าง ๆ อันยอดเยี่ยมที่พระยะโฮวาทำเพื่อประชาชนของพระองค์
11, 12. (ก) พระนามยะโฮวามีความหมายว่าอย่างไร? (ข) พระยะโฮวาทำอะไรเพื่อประชาชนของพระองค์ที่แสดงว่าพระองค์คู่ควรกับพระนามของพระองค์?
11 พระนามยะโฮวาหมายความว่า “พระองค์ทำให้เป็น.” นี่หมายความว่าพระเจ้าทำให้คำสัญญาของพระองค์เป็นจริงเสมอ. ตัวอย่างหนึ่งที่ดีเยี่ยมในเรื่องนี้ก็คือวิธีที่พระองค์รักษาสัญญาที่พระองค์ให้ไว้กับชาติอิสราเอล ลูกหลานของอับราฮาม. เมื่อพวกเขาเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ พระเจ้าสัญญาว่าพวกเขาจะถูกปล่อยให้เป็นอิสระและได้อยู่ในแผ่นดินที่พระองค์สัญญา. ในเวลานั้น ดูเหมือนว่าเรื่องนี้ไม่มีทางเป็นไปได้เลย. แต่พระเจ้าทำสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นจนกระทั่งคำสัญญาของพระองค์สำเร็จเป็นจริงในที่สุด. โดยวิธีนี้ พระองค์พิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์คู่ควรกับพระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ คือยะโฮวา.
12 ชาวเลวีพรรณนาบางสิ่งที่พระยะโฮวาทำเพื่อประชาชนของพระองค์ในคำอธิษฐานของพวกเขาว่า “[พระองค์] ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากลำบากแห่งเชื้อวงศ์บิดาทั้งหลายของพวกข้าพเจ้าในเมืองอายฆุบโต, กับได้ทรงสดับฟังคำอ้อนวอนที่เขาได้ทูลขอที่ทะเลแดงนั้น; กับได้ทรงสำแดงการอิทธิฤทธิ์อันแปลกประหลาดให้สวมทับฟาโรและข้าราชการทั้งปวง, กับบรรดาพลไพร่ของท่านทั่วแผ่นดิน ด้วยว่าพระองค์ทรงทราบว่าพวกนั้นได้ประพฤติในทางหยิ่งดูหมิ่นต่อพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม. และเพราะฉะนั้นพระองค์ได้ทรงบันดาลให้พระนามของพระองค์เลื่องลือไปเช่นทุกวันนี้. พระองค์ทรงบันดาลให้ทะเลแยกออกเป็นทางต่อหน้าเขาเช่นนั้น, เขาจึงได้เดินไประหว่างกลางทะเลนั้นดุจที่แผ่นดินแห้ง; และศัตรูทั้งปวงของเขาพระองค์ได้ทรงทิ้งลงในที่อันลึก, ดุจโยนหินทิ้งลงไปในทะเลใหญ่.” หลังจากนั้น พวกเขาก็อธิษฐานต่อไปโดยกล่าวถึงสิ่งอื่นที่พระยะโฮวาได้ทำเพื่อช่วยประชาชนของพระองค์: “พระองค์ทรงกำจัดชาวแผ่นดินคะนาอันต่อหน้าเขา . . . [และพวกเขา] ได้ตีเอาเหล่าเมืองที่เข้มแข็ง, กับริบเอาแผ่นดินคะนาอันและบ้านเรือน, ที่เต็มด้วยของดีทุกอย่าง, มีบ่อน้ำที่ขุดไว้เสร็จ, กับสวนองุ่น, สวนมะกอกเทศ, และต้นผลไม้หลายอย่างเป็นอันมาก. เช่นนั้นเขาจึงได้กินอิ่มหนำอ้วนพี, มีใจชื่นชมยินดีในความเมตตากรุณาของพระองค์.”—นเฮม. 9:9-11, 24, 25
13. หลังจากชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ได้ไม่นาน พระยะโฮวาทำอะไรเพื่อพวกเขา แต่พวกเขาทำอะไรในภายหลัง?
13 พระยะโฮวาทำสิ่งอื่นอีกหลายอย่างเพื่อทำให้เป็นไปตามคำสัญญาของพระองค์. ตัวอย่างเช่น ไม่นานหลังจากชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ พระยะโฮวาให้กฎหมายและสอนวิธีนมัสการแก่พวกเขา. ชาวเลวีกล่าวในคำอธิษฐานว่า “พระองค์ได้ทรงตรัสแก่เขาจากสวรรค์, กับเสด็จลงมาบนยอดเขาซีนาย, ได้ทรงประทานข้อพิพากษาอันยุติธรรม, และข้อกฎหมายที่เที่ยงตรง, กับข้อตัดสินและพระบัญญัติล้วนแต่ที่ดีให้แก่เขา.” (นเฮม. 9:13) พระยะโฮวาเลือกชาวอิสราเอลเป็นประชาชนของพระองค์และจะให้แผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาแก่พวกเขา. ดังนั้น พระองค์สอนให้พวกเขาประพฤติอย่างที่คู่ควรกับพระนามของพระองค์. แต่พวกเขาเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าได้ไม่นาน.—อ่านนะเฮมยา 9:16-18
ชาวอิสราเอลต้องถูกตีสอน
14, 15. (ก) พระยะโฮวาแสดงความเมตตาต่อชาวอิสราเอลอย่างไร? (ข) เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่พระเจ้าปฏิบัติต่อชาวอิสราเอล?
14 คำอธิษฐานของชาวเลวีกล่าวถึงความผิดสองอย่างที่ชาวอิสราเอลทำหลังจากที่พวกเขาสัญญาว่าจะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าที่ภูเขาไซนายได้ไม่นาน. เนื่องจากความผิดดังกล่าว ชาวอิสราเอลสมควรถูกทิ้งให้ตายในถิ่นทุรกันดาร. แต่พระยะโฮวาแสดงความเมตตาต่อพวกเขาและดูแลพวกเขาต่อไปให้มีสิ่งจำเป็น. ดังนั้น คำอธิษฐานนี้จึงยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวาว่า “โดยความเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงของพระองค์ยังหาได้ทรงละทิ้งเขาไว้ที่ป่ากันดารนั้นไม่. . . . พระองค์ได้ทรงบำรุงเลี้ยงเขาไว้ในที่ป่ากันดารนั้นถึงสี่สิบปี, มิได้ขัดสนสิ่งใด; ทั้งผ้าผ่อนก็มิให้เก่าไป, และเท้าก็มิให้บวม.” (นเฮม. 9:19, 21) ปัจจุบัน พระยะโฮวาดูแลเราให้มีสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ด้วยเพื่อเราจะรับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์ได้. เราไม่ต้องการเป็นคนขาดความเชื่อและไม่เชื่อฟังพระองค์เหมือนกับชาวอิสราเอลจำนวนมากที่ตายในถิ่นทุรกันดาร. ตัวอย่างที่ไม่ดีของพวกเขาเป็นข้อเตือนใจสำหรับเรา.—1 โค. 10:1-11
15 น่าเสียดาย ชาวอิสราเอลที่ได้เข้าในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาไม่ได้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์. พวกเขาเริ่มนมัสการพระต่าง ๆ ของชาวคะนาอัน ทำผิดศีลธรรม และแม้กระทั่งถวายเด็กเป็นเครื่องบูชายัญ. พระยะโฮวาจึงปล่อยให้ชาติอื่นปฏิบัติต่อชาวอิสราเอลอย่างโหดร้าย. แต่เมื่อชาวอิสราเอลกลับใจ พระยะโฮวาให้อภัยพวกเขาและช่วยพวกเขาให้ชนะศัตรู. เป็นอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า. (อ่านนะเฮมยา 9:26-28, 31 ) ชาวเลวีสารภาพว่า “พระองค์ทรงอดกลั้นพระทัยไว้หลายปี, ได้สั่งสอนห้ามปรามเขาโดยประทานให้พระวิญญาณของพระองค์ทรงสถิตอยู่ในพวกผู้ทำนาย แต่เขาไม่เงี่ยหูฟังเลย. เหตุฉะนั้นพระองค์จึงทรงมอบพวกเขาไว้ในมือชาวชนต่างประเทศ.”—นเฮม. 9:30
16, 17. (ก) ผลเป็นอย่างไรเมื่อชาวอิสราเอลเริ่มไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา? (ข) ชาวอิสราเอลยอมรับผิดอย่างไร และพวกเขาสัญญาว่าจะทำอะไร?
16 หลังจากที่กลับจากบาบิโลน ชาวอิสราเอลเริ่มไม่เชื่อฟังพระยะโฮวาอีก. ผลเป็นอย่างไร? ชาวเลวีอธิษฐานต่อไปว่า “ดูเถิด, ทุกวันนี้พวกข้าพเจ้าก็ได้ตกเป็นทาส, ฝ่ายแผ่นดินที่พระองค์ได้ทรงยกให้กับปู่ย่าตายายทั้งปวงของพวกข้าพเจ้าประสงค์จะให้ได้กินผลไม้และรับความดีแต่ที่นั้น, บัดนี้พวกข้าพเจ้าได้ตกเป็นทาสอยู่ในแผ่นดินนั้นแล้ว แผ่นดินย่อมเกิดผลประโยชน์เป็นอันมากแก่เหล่ากษัตริย์ที่พระองค์ได้ทรงตั้งไว้ให้ครอบครองพวกข้าพเจ้าเพราะเหตุความผิดของข้าพเจ้า . . . พวกข้าพเจ้าได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนนัก.”—นเฮม. 9:36, 37
17 ชาวเลวีคิดว่าพระเจ้าปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมต่อประชาชนของพระองค์ไหม? พวกเขาไม่คิดอย่างนั้นแน่! พวกเขายอมรับผิดว่า “พระองค์ทรงลงโทษให้พวกข้าพเจ้าได้รับความทุกข์ยากลำบากนั้นเป็นการสมควรแล้ว ด้วยว่าการที่พระองค์ทรงกระทำนั้นล้วนเป็นการชอบธรรม, แต่ที่พวกข้าพเจ้าได้ประพฤตินั้นเป็นการชั่วช้านัก.” (นเฮม. 9:33) พวกเขาจบคำอธิษฐานด้วยการให้สัตย์สาบานว่าจากนี้ไปพวกเขาทั้งชาติจะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า. (อ่านนะเฮมยา 9:38; 10:29) พวกเขาเขียนคำสัตย์สาบานเป็นลายลักษ์อักษรและหัวหน้าในหมู่ชาวยิว 84 คนได้ประทับตราในคำสาบานนั้น.—นเฮม. 10:1-27
18, 19. (ก) เราต้องทำอะไรถ้าเราต้องการรอดชีวิตเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้า? (ข) เราควรอธิษฐานขออะไรต่อ ๆ ไป และทำไม?
18 เราจำเป็นต้องรับการตีสอนจากพระยะโฮวาเพื่อจะคู่ควรที่จะรอดชีวิตเข้าสู่โลกใหม่อันชอบธรรมของพระองค์. อัครสาวกเปาโลถามว่า “มีบุตรคนไหนบ้างที่บิดาไม่ตีสอน?” (ฮีบรู 12:7) ถ้าเรายอมรับการตีสอนจากพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป นั่นแสดงให้เห็นว่าเรายอมให้พระองค์ขัดเกลาเรา. และถ้าเราทำผิดร้ายแรง เราแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาจะให้อภัยเราหากเรากลับใจอย่างแท้จริงและยอมรับการตีสอนจากพระองค์อย่างถ่อมใจ.
19 ไม่ช้า พระยะโฮวาจะทำทุกสิ่งที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ที่พระองค์เคยทำตอนที่ช่วยชาวอิสราเอลให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์. เมื่อถึงตอนนั้น ทุกคนจะรู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าองค์ยิ่งใหญ่. (ยเอศ. 38:23) เมื่อพระเจ้าทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ ทุกคนที่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์จะได้เข้าในโลกใหม่ของพระองค์อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่ชาวอิสราเอลได้เข้าในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา. (2 เป. 3:13) ดังนั้น ขอให้เราอธิษฐานขอต่อ ๆ ไปให้พระนามอันสูงส่งของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. บทความถัดไปจะพิจารณาอีกคำอธิษฐานหนึ่งที่จะช่วยเราให้ทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อจะได้รับพระพรจากพระเจ้าทั้งในเวลานี้และตลอดไป.