พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมเอศเธระ
แผนการที่วางไว้จะต้องสำเร็จแน่ ๆ. แผนการที่ว่านี้คือการสังหารหมู่ชาวยิวทั้งหมดไม่ให้เหลือแม้แต่คนเดียว. เมื่อถึงวันที่กำหนดไว้ ชาวยิวทุกคนที่อาศัยอยู่ในเขตแดนของจักรวรรดิ ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงเอธิโอเปีย จะต้องถูกกำจัดให้สิ้นซากภายในวันเดียว. นั่นคือสิ่งที่ผู้วางแผนคิดเอาไว้. แต่เขาคงจะลืมสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งไป. พระเจ้าแห่งสรวงสวรรค์สามารถช่วยประชาชนที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้ให้หลุดพ้นจากสภาพการณ์ใด ๆ ก็ตามที่คุกคามชีวิตได้. การช่วยให้รอดดังกล่าวได้บันทึกไว้ในพระธรรมเอศเธระ.
ผู้เขียนพระธรรมเอศเธระคือมาระดะคาย ชาวยิวผู้สูงวัย พระธรรมนี้ครอบคลุมระยะเวลาราว 18 ปีแห่งรัชกาลของอะหัศวะโรศ กษัตริย์เปอร์เซีย หรือเซอร์เซสที่ 1. เรื่องราวที่น่าตื่นเต้นนี้แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาปกป้องประชาชนของพระองค์อย่างไรให้พ้นจากแผนชั่วของศัตรู ถึงแม้ผู้รับใช้ของพระองค์จะกระจายอยู่ทั่วจักรวรรดิอันกว้างใหญ่นี้. ความรู้ดังกล่าวช่วยเสริมความเชื่อจริง ๆ สำหรับประชาชนของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ซึ่งกำลังทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่พระองค์ใน 235 ดินแดน. ยิ่งกว่านั้น บุคคลต่าง ๆ ที่พรรณนาในพระธรรมเอศเธระมีทั้งตัวอย่างที่เราควรเลียนแบบและที่ไม่ควรเลียนแบบ. จริงทีเดียว “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง.”—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
ราชินีต้องยื่นมือเข้าช่วย
ในปีที่สามแห่งรัชกาลของกษัตริย์อะหัศวะโรศ (ปี 493 ก่อนสากลศักราช) ท่านได้จัดงานเลี้ยงใหญ่. ราชินีวัศธี ซึ่งเลื่องลือในเรื่องความงาม ทำให้กษัตริย์ไม่พอพระทัยอย่างมากและทำให้พระนางถูกถอดจากตำแหน่ง. ฮะดัดซา หญิงสาวชาวยิวได้รับเลือกเป็นราชินีคนใหม่จากบรรดาหญิงพรหมจารีที่งดงามทั่วทั้งจักรวรรดิ. โดยการชี้นำจากมาระดะคายซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง เธอปกปิดเรื่องที่ตนเป็นชาวยิวและใช้ชื่อเปอร์เซียว่า เอศเธระ.
ต่อมา ฮามาน ชายผู้หยิ่งยโสได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี. ฮามานรู้สึกโกรธแค้นที่มาระดะคายไม่ยอม “กราบหรือแสดงความเคารพ” เขาจึงวางแผนกำจัดชาวยิวทุกคนในจักรวรรดิเปอร์เซีย. (เอศเธระ 3:2, ฉบับแปลใหม่) ฮามานโน้มน้าวอะหัศวะโรศให้เห็นด้วยกับเขาและประสบความสำเร็จในการให้กษัตริย์ออกกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการสังหารหมู่ดังกล่าว. มาระดะคาย “เอาผ้าเนื้อหยาบนุ่งห่มอันคลุกด้วยขี้เถ้าใส่ตัว.” (เอศเธระ 4:1) มาถึงตอนนี้ เอศเธระต้องยื่นมือเข้าช่วย. พระนางทูลเชิญกษัตริย์และนายกรัฐมนตรีมายังงานเลี้ยงส่วนตัวที่พระนางจัดขึ้น. เมื่อเห็นว่าพวกเขายินดีมาร่วม เอศเธระจึงเชิญมางานเลี้ยงที่จะจัดอีกในวันรุ่งขึ้น. ฮามานรู้สึกเบิกบานใจ. อย่างไรก็ตาม เขาโกรธมากที่มาระดะคายไม่ยอมทำความเคารพ. ก่อนจะถึงงานเลี้ยงวันรุ่งขึ้น ฮามานจึงวางแผนสังหารมาระดะคาย.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:3-5—งานเลี้ยงกินเวลา 180 วันจริงหรือ? ข้อคัมภีร์ไม่ได้กล่าวว่างานเลี้ยงใช้เวลานานขนาดนั้น แต่กล่าวว่ากษัตริย์อวดให้ข้าราชการเห็นความมั่งคั่งและความงดงามแห่งอาณาจักรอันรุ่งเรืองของท่านเป็นเวลา 180 วัน. กษัตริย์อาจจะใช้การชุมนุมที่ยาวนานนั้นอวดสง่าราศีแห่งอาณาจักรของท่านเพื่อทำให้เหล่าขุนนางประทับใจและมั่นใจในพระปรีชาสามารถของท่านที่จะทำให้แผนการสำเร็จลุล่วง. ถ้าเป็นกรณีนั้นจริง ๆ ข้อ 3 และ 5 อาจหมายถึงงานเลี้ยง 7 วันที่จัดขึ้นในช่วงสุดท้ายของ 180 วันแห่งการชุมนุม.
1:8—วลีที่ว่า ‘ไม่มีใครบังคับเกี่ยวกับการรับประทานน้ำองุ่นตามกฎหมาย’ หมายความอย่างไร? ในคราวนั้น กษัตริย์อะหัศวะโรศทำการยกเว้นสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นธรรมเนียมเปอร์เซียเกี่ยวกับการคะยั้นคะยอให้ดื่มตามปริมาณที่กำหนดไว้ ณ การชุมนุมแบบนั้น. แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า “พวกเขาสามารถดื่มได้มากหรือน้อยตามใจชอบ.”
1:10-12—เหตุใดราชินีวัศธีจึงขัดรับสั่งที่ให้มาเข้าเฝ้ากษัตริย์? ผู้คงแก่เรียนบางคนแนะว่า ที่ราชินีขัดรับสั่งก็เพราะพระนางไม่อยากลดตัวลงมาปรากฏโฉมต่อหน้าแขกที่เมามาย. หรือบางที ราชินีที่งดงามแต่ภายนอกไม่ได้แสดงความอ่อนน้อมต่อพระสวามีจริง ๆ. ขณะที่คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวว่าเจตนาของพระนางเป็นอย่างไร แต่ชายที่ฉลาดสุขุมในสมัยนั้นคิดว่าการเชื่อฟังสามีเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งและตัวอย่างที่ไม่ดีของวัศธีจะมีอิทธิพลต่อภรรยาทั้งหลายในมณฑลต่าง ๆ ของเปอร์เซีย.
2:14-17—เอศเธระได้มีความสัมพันธ์ทางเพศอย่างผิดศีลธรรมกับกษัตริย์ไหม? คำตอบคือไม่. บันทึกกล่าวว่าในตอนเช้า ผู้หญิงคนอื่นที่เข้าเฝ้ากษัตริย์จะถูกนำกลับมาพักในตำหนักที่สองและอยู่ภายใต้การดูแลของขันทีซึ่ง “เป็นผู้รักษานางห้าม.” ผู้หญิงที่ได้อยู่กับกษัตริย์คืนหนึ่งจะกลายเป็นนางห้ามหรืออนุภรรยา. อย่างไรก็ตาม เอศเธระไม่ได้ถูกนำตัวไปไว้ที่ตำหนักนางห้ามหลังจากเข้าเฝ้ากษัตริย์แล้ว. เมื่อเอศเธระเข้าเฝ้ากษัตริย์อะหัศวะโรศ “กษัตริย์ได้รักนางเอศเธระมากกว่าหญิงทั้งปวง, และนางเอศเธระนั้นได้รับความชอบและความโปรดปรานในพระเนตรของกษัตริย์มากยิ่งกว่าหญิงพรหมจารีทั้งหลายเหล่านั้น.” (เอศเธระ 2:17) เธอทำอย่างไรจึงได้รับ “ความชอบและความโปรดปราน” จากอะหัศวะโรศ? ก็ทำวิธีเดียวกันกับที่เธอชนะใจคนอื่น ๆ นั่นเอง. “ฝ่ายเฮฆายนั้นชอบใจเอศเธระ, และได้สงเคราะห์นางเป็นอันมาก.” (เอศเธระ 2:8, 9) เฮฆายรู้สึกเอ็นดูเอศเธระเป็นพิเศษเนื่องจากสิ่งที่เขาสังเกตเห็น ซึ่งก็คือ การปรากฏตัวและคุณลักษณะที่ดีในตัวเธอนั่นเอง. ที่จริง “เอศเธระนั้นได้เป็นที่ชอบตาของคนทั้งปวงที่ได้เห็นนางนั้น.” (เอศเธระ 2:15) ในทำนองเดียวกัน กษัตริย์รู้สึกประทับใจสิ่งที่ท่านเห็นในตัวเอศเธระและจึงทำให้ท่านรักเธอ.
3:2; 5:9—เหตุใดมาระดะคายไม่ยอมโค้งคำนับฮามาน? ไม่ผิดที่ชาวอิสราเอลจะแสดงการยอมรับบุคคลสำคัญที่ได้รับการยกให้มีตำแหน่งที่สูงกว่าโดยการหมอบตัวลง. อย่างไรก็ตาม กรณีของฮามานมีสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย. ฮามานเป็นชาวอะฆาฆ หรืออาจเป็นชาวอะมาเลค และพระยะโฮวาเคยมีรับสั่งให้ทำลายพวกอะมาเลคให้สิ้นซาก. (พระบัญญัติ 25:19) สำหรับมาระดะคายแล้ว การก้มหัวให้กับฮามานย่อมหมายถึงการไม่ภักดีต่อพระยะโฮวา. ท่านจึงปฏิเสธเด็ดขาดและบอกว่าท่านเป็นชาวยิว.—เอศเธระ 3:3, 4.
บทเรียนสำหรับเรา:
2:10, 20; 4:12-16. เอศเธระยอมรับการชี้แนะและคำแนะนำของผู้นมัสการพระยะโฮวาที่อาวุโส. นับว่าฉลาดสุขุมที่เราจะ “เชื่อฟังและยอมอยู่ในโอวาทของคนเหล่านั้นที่ปกครอง [เรา].”—เฮ็บราย 13:17.
2:11; 4:5. เราไม่ควร “เห็นแก่ประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ให้เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น ๆ ด้วย.”—ฟิลิปปอย 2:4, ล.ม.
2:15. เอศเธระแสดงความเจียมตัวและการรู้จักบังคับตนโดยไม่เรียกร้องเครื่องประดับหรือเสื้อผ้าที่งดงามเกินกว่าที่เฮฆายได้จัดเตรียมไว้ให้. การเป็น “บุคคลที่ซ่อนเร้นไว้แห่งหัวใจ ด้วย [เครื่องแต่งกาย] ที่เปื่อยเน่าไม่ได้แห่งน้ำใจสงบเสงี่ยมและอ่อนโยน” นั่นเองที่ทำให้เอศเธระเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์.—1 เปโตร 3:4, ล.ม.
2:21-23. เอศเธระและมาระดะคายวางแบบอย่างที่ดีในการ “ยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า.”—โรม 13:1, ล.ม.
3:4. ในบางสถานการณ์ อาจเป็นเรื่องฉลาดสุขุมที่จะปกปิดฐานะของเราไว้เป็นความลับดังเช่นที่เอศเธระได้ทำ. แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องยืนหยัดเพื่อประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น พระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาและความซื่อสัตย์มั่นคงของเรา เราต้องไม่กลัวที่จะประกาศตัวว่าเป็นพยานพระยะโฮวา.
4:3. เมื่อเผชิญความยากลำบาก เราควรหันเข้าหาพระยะโฮวาโดยการอธิษฐานขอกำลังและสติปัญญา.
4:6-8. มาระดะคายแสวงหาทางแก้ไขอย่างที่ชอบด้วยกฎหมายในคราวที่ฮามานวางแผนทำลายล้างพวกยิว.—ฟิลิปปอย 1:7, ล.ม.
4:14. มาระดะคายเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการมั่นใจในพระยะโฮวา.
4:16. ด้วยการไว้วางใจในพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ เอศเธระเผชิญสถานการณ์ที่ต้องเสี่ยงชีวิตด้วยความซื่อสัตย์และกล้าหาญ. นับว่าสำคัญที่เราต้องเรียนที่จะวางใจในพระยะโฮวา ไม่ใช่ตัวเราเอง.
5:6-8. เพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากอะหัศวะโรศ เอศเธระเชิญท่านมางานเลี้ยงครั้งที่สอง. เธอลงมือทำอย่างฉลาด เราก็ควรทำอย่างนั้นเช่นกัน.—สุภาษิต 14:15.
เหตุการณ์พลิกผันเป็นลำดับ
ดังที่เรื่องราวเผยให้เห็น เหตุการณ์กลับพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ. ฮามานถูกแขวนคอบนขาหยั่งที่ตนเองเตรียมไว้สำหรับมาระดะคาย และคนที่ถูกหมายไว้ว่าจะเป็นเหยื่อกลับได้เป็นนายกรัฐมนตรี! แล้วแผนการสังหารหมู่ชาวยิวล่ะ? แผนการนั้นก็จะเปลี่ยนไปอย่างน่าทึ่งเช่นกัน.
เอศเธระผู้ซื่อสัตย์เอ่ยปากอีกครั้ง. เธอยอมเสี่ยงชีวิตเข้าเฝ้ากษัตริย์พร้อมด้วยคำขอเพื่อหาหนทางล้มล้างแผนการของฮามาน. อะหัศวะโรศรู้ว่าจะต้องทำอะไร. ดังนั้น เมื่อวันแห่งการสังหารมาถึงในที่สุด คนที่ถูกฆ่าไม่ใช่พวกยิว แต่เป็นคนที่ต้องการจะฆ่าพวกเขา. มาระดะคายมีคำสั่งให้จัดเทศกาลฉลองฟูริมขึ้นทุกปีเพื่อระลึกถึงการช่วยให้รอดครั้งยิ่งใหญ่นี้. มาระดะคายซึ่งได้รับตำแหน่งสูง จะเป็นรองก็แต่กษัตริย์อะหัศวะโรศเท่านั้น ได้ “แสวงหาความสุขให้ชนชาติของท่านและพูดให้เกิดสันติสุขแก่พงศ์พันธุ์ทั้งปวงของท่าน.”—เอศเธระ 10:3, ฉบับแปลใหม่.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
7:4 (ฉบับแปลใหม่)—การสังหารชาวยิวจะเกิด “ผลเสียหาย” แก่กษัตริย์อย่างไร? เอศเธระใช้ไหวพริบชี้ให้กษัตริย์เห็นความเป็นไปได้ที่จะขายพวกยิวเป็นทาส เธอเน้นว่ากษัตริย์จะได้รับผลเสียถ้าพวกยิวถูกสังหาร. เงิน 10,000 ตะลันต์ที่ฮามานสัญญาจะจ่ายก็ยังน้อยกว่ากำไรที่กษัตริย์จะได้หากฮามานวางแผนจะขายพวกยิวเป็นทาส. นอกจากนั้น ถ้าแผนการของฮามานสำเร็จนั่นย่อมหมายความว่ากษัตริย์ต้องสูญเสียราชินีอีกด้วย.
7:8—เหตุใดข้าราชสำนักจึงคลุมหน้าฮามานไว้? ดูเหมือนว่า นี่บ่งชี้ถึงความอับอายหรือกำลังจะถูกนำตัวไปประหาร. ตามที่แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวไว้ “การคลุมหน้าในสมัยโบราณบางครั้งหมายถึงการตัดสินประหารชีวิต.”
8:17—“คนเป็นอันมากทั่วแผ่นดินนั้นได้เข้าจารีตพรรคพวกยูดาย [“ประกาศตัวเป็นพวกยิว,” ฉบับแปลใหม่]” ในแง่ใด? เห็นได้ชัดว่า ชาวเปอร์เซียหลายคนได้เปลี่ยนมาถือศาสนายิว โดยคิดว่ากฤษฎีกาที่ให้ผลกลับกันบ่งชี้ว่าพระเจ้าทรงโปรดปรานชาวยิว. ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ที่พบในพระธรรมซะคาระยาก็เป็นไปตามหลักการเดียวกันนี้. ข้อนั้นกล่าวว่า “สิบคนแต่บรรดาภาษาประเทศเมืองทั้งปวงจะยึดชายเสื้อแห่งคนชาติยูดายว่า เราจะไปด้วยท่าน เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.”—ซะคาระยา 8:23.
9:10, 15, 16—แม้กฤษฎีกานั้นจะให้สิทธิแก่ชาวยิวที่จะยึดเอาของที่ริบมา แต่เหตุใดพวกเขาไม่ทำเช่นนั้น? เห็นได้ชัดว่า ที่พวกเขาไม่ทำก็เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพวกเขาไม่ได้หวังความร่ำรวย แต่ต้องการปกป้องพวกพ้องของตน.
บทเรียนสำหรับเรา:
6:6-10. “ความเย่อหยิ่งนำไปถึงความพินาศ, และจิตต์ใจที่จองหองนำไปถึงการล้มลง.”—สุภาษิต 16:18.
7:3, 4. เรากล้าเปิดเผยตัวเองว่าเป็นพยานพระยะโฮวาไหม แม้ว่าการทำเช่นนั้นอาจทำให้เราถูกข่มเหง?
8:3-6. เราสามารถทำได้และน่าจะทำในเรื่องการอุทธรณ์ต่อรัฐบาลและศาล เพื่อขอการคุ้มครองให้พ้นภัยศัตรู.
8:5. ด้วยความสุขุม เอศเธระไม่ได้เอ่ยว่ากษัตริย์ต้องรับผิดชอบต่อกฤษฎีกาที่หมายจะกำจัดเพื่อนร่วมชาติของพระนาง. เราต้องระมัดระวังเช่นกันเมื่อให้คำพยานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง.
9:22. เราไม่ควรลืมคนยากจนในหมู่พวกเรา.—ฆะลาเตีย 2:10.
พระยะโฮวาจะจัดเตรียม “การบรรเทาทุกข์และความรอด”
มาระดะคายพูดเป็นนัยว่า การที่เอศเธระได้มาเป็นราชินีนั้นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า. เมื่อถูกคุกคาม ชาวยิวพากันอดอาหารและอธิษฐานขอการช่วยเหลือ. ราชินีปรากฏตัวต่อพระพักตร์กษัตริย์โดยมิได้รับเชิญ และแต่ละครั้งก็ได้รับความโปรดปราน. ในคืนที่จะเกิดเหตุการณ์ร้ายนั้น กษัตริย์บรรทมไม่หลับพอดี. จริงทีเดียว พระธรรมเอศเธระคือบันทึกเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงเข้าแทรกแซงเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของประชาชนของพระองค์.
เรื่องราวที่น่าตื่นเต้นในพระธรรมเอศเธระให้การหนุนใจพวกเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “เวลาอวสาน” นี้. (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) “ในช่วงสุดท้ายแห่งสมัย” หรือช่วงสุดท้ายของเวลาอวสาน โกกแห่งมาโกก—ซาตานพญามาร—จะทำทุกวิถีทางเพื่อโจมตีประชาชนของพระยะโฮวา. จุดประสงค์ของมันก็คือกำจัดผู้นมัสการแท้ให้สิ้นซาก. แต่เช่นเดียวกับในสมัยของเอศเธระ พระยะโฮวาจะจัดเตรียม “ความโปรด [“การบรรเทาทุกข์,” ล.ม.] และความรอด” แก่ผู้นมัสการพระองค์.—ยะเอศเคล 38:16-23, ล.ม.; เอศเธระ 4:14.
[ภาพหน้า 10]
เอศเธระและมาระดะคายเข้าเฝ้าอะหัศวะโรศ