ใครตั้งกฎที่ควบคุมเอกภพของเรา?
“เจ้ารู้จักกฎธรรมชาติแห่งท้องฟ้าแล้วหรือ?” (โยบ 38:33) พระเจ้าตรัสถามโยบเช่นนั้นเพื่อช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ที่กำลังเป็นทุกข์ให้เข้าใจว่ามนุษย์มีความรู้น้อยเพียงไรเมื่อเทียบกับสติปัญญาอันไร้ขีดจำกัดของพระผู้สร้าง. คุณคิดอย่างนั้นด้วยไหม?
มนุษย์ได้เรียนรู้หลายสิ่งเกี่ยวกับกฎที่ควบคุมเอกภพ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่ายังมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมาก. การค้นพบใหม่ ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องทบทวนทฤษฎีต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ตั้งขึ้นเกี่ยวกับเอกภพ. การค้นพบเหล่านี้ทำให้คำถามที่พระเจ้าเคยถามโยบกลายเป็นคำถามที่ใช้ไม่ได้แล้วไหม? หรือการค้นพบเหล่านั้นแท้จริงแล้วกลับพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ตั้งกฎแห่งท้องฟ้า?
คัมภีร์ไบเบิลมีคำกล่าวที่น่าประทับใจซึ่งช่วยตอบคำถามเหล่านี้. จริงอยู่ คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่ตำราวิทยาศาสตร์. แต่สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวล้วนถูกต้องเป็นจริงอย่างน่าทึ่ง และส่วนใหญ่ก็เป็นความรู้ที่ล้ำยุคสำหรับคนในสมัยนั้น.
ความเข้าใจของคนในอดีต
เพื่อจะรู้ว่าผู้คนในอดีตคิดอย่างไร ให้เราย้อนกลับไปในศตวรรษที่สี่ก่อนสากลศักราช ประมาณหนึ่งร้อยปีหลังจากคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรูหรือพันธสัญญาเดิมเขียนเสร็จสิ้น. ในเวลานั้น อาริสโตเติล นักปรัชญากรีกได้สอนเหล่านักปราชญ์ชั้นแนวหน้าในสมัยนั้นเกี่ยวกับจักรวาล. ทุกวันนี้ผู้คนยังถือกันว่าเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก. (ดูกรอบหน้า 25.) สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าวว่า “อาริสโตเติลเป็นนักวิทยาศาสตร์แท้ ๆ คนแรกในประวัติศาสตร์. . . . นักวิทยาศาสตร์ทุกคนเป็นหนี้เขา.”
อาริสโตเติลได้สร้างแบบจำลองจักรวาลขึ้นมา. ในแบบจำลองของเขา เอกภพประกอบด้วยทรงกลมโปร่งใสซ้อนกันอยู่มากกว่า 50 ชั้นโดยมีโลกเป็นศูนย์กลาง. ดาวฤกษ์ติดอยู่กับทรงกลมชั้นนอกสุด ส่วนดาวเคราะห์อยู่ในชั้นต่าง ๆ ที่ใกล้กับโลก. ทุกสิ่งที่อยู่นอกโลกล้วนคงอยู่ถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ. แนวคิดเหล่านี้อาจฟังดูไร้เหตุผลสำหรับเราในทุกวันนี้ แต่ก็เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อนักวิทยาศาสตร์นานเกือบ 2,000 ปีทีเดียว.
แต่คำสอนของอาริสโตเติลเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล? คำสอนไหนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง? ให้เราพิจารณาคำถามสามข้อเกี่ยวกับกฎต่าง ๆ ที่ควบคุมเอกภพของเรา. คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เรามีความเชื่อในพระเจ้าผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิล ผู้ตั้งกฎที่ควบคุม “ธรรมชาติแห่งท้องฟ้า.”—โยบ 38:33
1. เอกภพอยู่ในสภาวะคงที่ไหม?
อาริสโตเติลสอนว่าทรงกลมแต่ละชั้นในจักรวาลอยู่ในสภาวะคงที่. ทรงกลมทุกชั้นรวมถึงชั้นที่มีดาวฤกษ์ติดอยู่ไม่สามารถหดตัวหรือขยายตัวได้.
คำอธิบายของคัมภีร์ไบเบิลคล้ายกันกับสมมุติฐานนี้ไหม? ไม่เลย คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ให้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเรื่องนี้. แต่ขอสังเกตคำพรรณนาที่น่าสนใจในพระคัมภีร์ที่ว่า “มีผู้หนึ่งซึ่งประทับเหนือวงกลมแห่งแผ่นดินโลก ซึ่งผู้อาศัยก็เหมือนตั๊กแตน ผู้หนึ่งซึ่งกางฟ้าสวรรค์ออกเหมือนกางผ้าเนื้อละเอียด ผู้ทรงกางฟ้าสวรรค์เหมือนกางเต็นท์อยู่อาศัย.”—ยะซายา 40:22, ล.ม.a
แนวคิดใดสอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจในปัจจุบันมากกว่ากัน แบบจำลองของอาริสโตเติลหรือคำพรรณนาในคัมภีร์ไบเบิล? นักจักรวาลวิทยาสมัยใหม่สอนอย่างไรเกี่ยวกับเอกภพ? พอถึงศตวรรษที่ 20 นักดาราศาสตร์รู้สึกทึ่งที่พบว่าเอกภพไม่ได้อยู่ในสภาวะคงที่. ที่จริง กาแล็กซีต่าง ๆ ดูเหมือนจะเคลื่อนที่หนีออกจากกันอย่างรวดเร็ว. แทบไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดเคยคิดมาก่อนว่าเอกภพจะขยายตัวกว้างขึ้น. ทุกวันนี้ นักจักรวาลวิทยาส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเอกภพเริ่มจากสภาวะที่กระจุกตัวแล้วค่อย ๆ แผ่ขยายออกไป. ดังนั้น วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ว่าแบบจำลองของอาริสโตเติลไม่ถูกต้อง.
จะว่าอย่างไรกับคำพรรณนาในคัมภีร์ไบเบิล? คำพรรณนานั้นอาจชวนให้เรานึกภาพชายคนหนึ่ง เช่น ผู้พยากรณ์ยะซายาห์ที่เงยหน้ามองดูท้องฟ้าซึ่งดารดาษไปด้วยดวงดาว แล้วก็คิดว่าท้องฟ้าที่เขาเห็นนั้นช่างเหมือนกับเต็นท์ที่ถูกกางออกเสียจริง ๆ.b เขาอาจถึงกับสังเกตด้วยว่ากาแลกซีทางช้างเผือกของเรานี้ดูคล้ายกับ “ผ้าเนื้อละเอียด” อย่างที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้.
ถ้อยคำของยะซายาห์ยังชวนให้เราจินตนาการต่อไปอีก. เราอาจนึกภาพเต็นท์ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลโดยนึกถึงผ้าม้วนเล็กที่แข็งแรงทนทานซึ่งถูกคลี่และกางออกก่อนจะมัดกับเสาแล้วขึงเป็นเต็นท์พักอาศัย. นอกจากนั้น เราอาจนึกภาพพ่อค้าที่เอาผ้าเนื้อละเอียดม้วนหนึ่งมาคลี่และกางให้ลูกค้าดู. ทั้งสองตัวอย่างนี้ชวนให้คิดถึงอะไรบางอย่างที่เคยอยู่เป็นกลุ่มก้อนแล้วถูกคลี่ออก.
แน่ล่ะ นี่ไม่ได้หมายความว่าคัมภีร์ไบเบิลใช้ภาพเปรียบเทียบเรื่องเต็นท์กับผ้าเนื้อละเอียดนี้เพื่ออธิบายเรื่องการขยายตัวของเอกภพ. แต่ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งมิใช่หรือที่คำพรรณนาเรื่องเอกภพในคัมภีร์ไบเบิลสอดคล้องลงรอยกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่? ยะซายาห์มีชีวิตอยู่ก่อนสมัยอาริสโตเติลมากกว่าสามร้อยปี และก่อนที่วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์เรื่องนี้นานกว่าสองพันปี. ถึงกระนั้น คำพรรณนาที่ผู้พยากรณ์ชาวฮีบรูผู้ถ่อมใจคนนี้จารึกไว้ไม่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขใด ๆ ต่างจากแบบจำลองอันซับซ้อนของอาริสโตเติลที่ต้องถูกแก้ไขใหม่.
2. อะไรยึดดวงดาวในเอกภพให้อยู่ในที่ของมัน?
อาริสโตเติลเชื่อว่าเอกภพอัดแน่นไปด้วยสสาร. เขาเข้าใจว่าโลกและชั้นบรรยากาศของโลกประกอบด้วยธาตุสี่ชนิดคือ ดิน น้ำ ลม และไฟ. ไกลออกไปนอกโลกคือทรงกลมซ้อนกันหลายชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยสสารสมบูรณ์ถาวรซึ่งเขาเรียกว่าอีเทอร์. ทรงกลมที่มองไม่เห็นเหล่านี้ช่วยยึดดวงดาวในเอกภพให้อยู่กับที่. แนวคิดของอาริสโตเติลเป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มานานนับพันปี ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากแนวคิดนี้ดูเหมือนสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ว่า วัตถุต้องตั้งหรือยึดอยู่กับอะไรบางอย่าง มิฉะนั้นก็จะตกลงมา.
แล้วคัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลบันทึกถ้อยคำที่ชายผู้ซื่อสัตย์ชื่อโยบได้กล่าวไว้เกี่ยวกับพระยะโฮวาว่า “พระองค์ . . . ทรงให้โลกห้อยอยู่โดยมิได้ติดกับอะไร.” (โยบ 26:7) อาริสโตเติลคงต้องคิดว่าคำกล่าวนี้เป็นเรื่องเหลวไหลแน่ ๆ.
ในศตวรรษที่ 17 ประมาณ 3,000 ปีหลังจากสมัยของโยบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายอยู่ในเวลานั้นคือแนวคิดที่ว่าเอกภพไม่ได้ประกอบด้วยทรงกลมหลายชั้น แต่เต็มไปด้วยของเหลวชนิดหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงปลายศตวรรษนั้น นักฟิสิกส์ชื่อเซอร์ไอแซ็ก นิวตันได้เสนอทฤษฎีที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง. เขากล่าวว่าสิ่งที่ยึดดวงดาวต่าง ๆ ไว้ด้วยกันคือแรงโน้มถ่วง. ความคิดของนิวตันใกล้เคียงกับความเข้าใจที่ว่าโลกและดาวอื่น ๆ ในท้องฟ้าล้วนแต่ลอยอยู่ในอวกาศที่ว่างเปล่า ซึ่งสำหรับมนุษย์แล้วมันดูเหมือน “มิได้ติดกับอะไร.”
ทฤษฎีเรื่องแรงโน้มถ่วงของนิวตันถูกโจมตีอย่างหนัก. สำหรับนักวิทยาศาสตร์หลายคนในสมัยนั้นยังคงเป็นเรื่องยากที่จะนึกภาพดวงดาวและวัตถุอื่น ๆ ในท้องฟ้าลอยอยู่โดยไม่ได้ยึดติดกับอะไรเลย. เป็นไปได้อย่างไรที่ลูกโลกซึ่งมีขนาดใหญ่โตและวัตถุต่าง ๆ ในท้องฟ้าจะลอยอยู่ในอวกาศได้เอง? แนวคิดนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะตั้งแต่สมัยอาริสโตเติล นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันมาตลอดว่าอวกาศจะต้องเต็มไปด้วยอะไรบางอย่าง.
แน่นอนว่าโยบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งยึดโลกเอาไว้และทำให้มันโคจรรอบดวงอาทิตย์ได้อย่างเป็นระบบ. ถ้าเช่นนั้น ทำไมโยบจึงกล่าวว่าโลกของเรา “ห้อยอยู่โดยมิได้ติดกับอะไร”?
นอกจากนั้น แนวคิดที่ว่าไม่มีอะไรยึดโลกเอาไว้ยังทำให้เกิดข้อสงสัยอีกว่า อะไรทำให้โลกและดวงดาวอื่น ๆ โคจรอยู่ได้? ขอให้สังเกตถ้อยคำที่น่าประทับใจซึ่งพระเจ้าตรัสกับโยบดังนี้: “เจ้าจะมัดกลุ่มดาวคีมาห์ไว้ได้หรือ หรือเจ้าจะคลายเชือกที่มัดกลุ่มดาวเคซิลได้หรือ?” (โยบ 38:31, ล.ม.) คืนแล้วคืนเล่าตลอดชีวิตของโยบ ท่านได้เห็นดาวกลุ่มเดิม ๆ ปรากฏขึ้นและเคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้าตามทิศทางโคจรของมัน.c แต่ทำไมดาวเหล่านั้นจึงเรียงตัวกันในรูปลักษณะเดิมทุกวัน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปีหรือกี่สิบปีก็ตาม? อะไรที่มัดหรือยึดกลุ่มดาวเหล่านั้น รวมทั้งวัตถุทั้งหลายในเอกภพไว้ในที่ของมัน? การนึกถึงเรื่องนี้คงทำให้โยบรู้สึกครั่นคร้ามยิ่งนัก.
ถ้าดาวต่าง ๆ ติดอยู่กับทรงกลมแต่ละชั้นในจักรวาลจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีอะไรมัดมันไว้. หลังจากหลายพันปีผ่านไป นักวิทยาศาสตร์เพิ่งมาเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับ “เชือก” ที่มองไม่เห็นซึ่ง “มัด” ดวงดาวในท้องฟ้าไว้ด้วยกันขณะที่มันค่อย ๆ เคลื่อนไปในอวกาศที่มืดมิดตลอดเวลาอันยาวนาน. การค้นพบของไอแซ็ก นิวตันและต่อมาก็อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ได้ทำให้พวกเขากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในสาขานี้. จริงอยู่ โยบไม่รู้เลยว่าพระเจ้าทรงใช้อะไรมัดดวงดาวในท้องฟ้าไว้ด้วยกัน. ถึงกระนั้น ถ้อยคำที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือของโยบก็พิสูจน์แล้วว่าน่าเชื่อถือยิ่งกว่าทฤษฎีของผู้รอบรู้อย่างอาริสโตเติลมากนัก. ใครจะรู้เรื่องดวงดาวเหล่านี้ดียิ่งไปกว่าผู้ที่ตั้งกฎแห่งท้องฟ้า?
3. คงอยู่ถาวรหรือเสื่อมสลายได้?
อาริสโตเติลเชื่อว่าโลกกับเอกภพมีความแตกต่างกันอย่างลิบลับ. เขากล่าวว่าโลกเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลายได้ ในขณะที่เอกภพและดวงดาวซึ่งก่อตัวขึ้นจากสสารที่เรียกว่าอีเทอร์จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่คงสภาพอยู่อย่างถาวร. ตามทฤษฎีของอาริสโตเติล ทรงกลมที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้นและดวงดาวที่ติดกับทรงกลมเหล่านั้นจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เสื่อมสภาพ หรือดับสูญไป.
คัมภีร์ไบเบิลสอนเช่นนั้นไหม? บทเพลงสรรเสริญ 102:25-27 กล่าวว่า “เมื่อเดิมพระองค์ได้ทรงตั้งรากแห่งแผ่นดินโลกไว้; และฟ้าสวรรค์เป็นพระหัตถกิจของพระองค์. สิ่งเหล่านั้นจะเสื่อมศูนย์ไป, แต่พระองค์ทรงดำรงยั่งยืนอยู่จริง, พระเจ้าค่ะ, สิ่งสารพัตรเหล่านั้นจะเก่าไปดุจเสื้อผ้า; พระองค์คงจะทรงผลัดเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นเหมือนเปลี่ยนเสื้อ: แต่พระองค์ไม่ทรงแปรปรวนไป, และพระพรรษาของพระองค์ไม่รู้สิ้นสุดเลย.”
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนข้อความนี้ก่อนสมัยของอาริสโตเติลนานถึงสองร้อยปี และขอให้สังเกตว่าเขาไม่ได้เปรียบโลกกับดวงดาวในทำนองว่าโลกเสื่อมสลายได้ แต่ดวงดาวจะคงอยู่ถาวร. แทนที่จะกล่าวเช่นนั้น เขากำลังเทียบให้เห็นว่าเอกภพและ แผ่นดินโลกแตกต่างอย่างมากกับพระเจ้าผู้เป็นองค์วิญญาณที่มีฤทธิ์ซึ่งสร้างโลกและดาวเหล่านั้น.d เพลงสรรเสริญข้อนี้บอกเป็นนัย ๆ ว่าดวงดาวทั้งสิ้นล้วนเสื่อมสลายได้เช่นเดียวกับทุกสิ่งบนแผ่นดินโลก. แล้ววิทยาศาสตร์สมัยใหม่ค้นพบอะไร?
ความรู้ทางธรณีวิทยาได้สนับสนุนทั้งคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลและของอาริสโตเติลในประเด็นที่ว่าโลกเสื่อมสลายได้. ที่จริง หินบนโลกของเราสึกกร่อนไปตามธรรมชาติเมื่อถูกกัดเซาะ และเกิดขึ้นใหม่เนื่องจากภูเขาไฟระเบิดหรือปรากฏการณ์อื่น ๆ ทางธรณีวิทยา.
แต่จะว่าอย่างไรกับดวงดาวต่าง ๆ? ดาวเหล่านั้นเสื่อมสลายได้อย่างที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้หรือคงอยู่ถาวรอย่างที่อาริสโตเติลสอน? ในศตวรรษที่ 16 นักดาราศาสตร์ชาวยุโรปเริ่มสงสัยแนวคิดของอาริสโตเติลที่ว่าดวงดาวคงอยู่อย่างถาวร เมื่อพวกเขาเห็นปรากฏการณ์ซูเปอร์โนวาหรือการระเบิดของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่เป็นครั้งแรก. นับแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตว่าดาวต่าง ๆ อาจระเบิดอย่างรุนแรงและดับไป หรือค่อย ๆ ลุกไหม้จนมอดดับหมดทั้งดวง หรือไม่ก็ยุบตัวไปเอง. อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังได้สังเกตด้วยว่าเมื่อดวงดาวระเบิดแล้วก็จะเหลือกลุ่มแก๊สซึ่งกลายเป็น ‘สถานอนุบาล’ ที่ดาวดวงใหม่จะก่อตัวขึ้นมา. ดังนั้น การที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลเปรียบดวงดาวที่เสื่อมสภาพกับเสื้อผ้าที่เก่าไปและถูกผลัดเปลี่ยนนั้นนับว่าเหมาะสมจริง ๆ.e ช่างน่าทึ่งเหลือเกินที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในสมัยโบราณคนนี้สามารถเขียนถ้อยคำที่สอดคล้องกับความรู้ที่เพิ่งมีการค้นพบในปัจจุบัน!
แต่คุณอาจสงสัยว่า ‘คัมภีร์ไบเบิลสอนไหมว่าสักวันหนึ่งโลกและดวงดาวทั้งหมดในเอกภพจะดับสูญหรือถูกแทนที่ใหม่?’ ไม่เลย คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่าโลกและเอกภพจะคงอยู่ตลอดไป. (บทเพลงสรรเสริญ 104:5; 119:90) ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะตัวมันเองสามารถคงอยู่ได้อย่างถาวร แต่พระเจ้าผู้ทรงสร้างสิ่งเหล่านั้นได้สัญญาว่าพระองค์จะดูแลรักษามัน. (บทเพลงสรรเสริญ 148:4-6) พระองค์ไม่ได้บอกว่าจะทำโดยวิธีใด แต่นับว่าสมเหตุสมผลมิใช่หรือที่จะสรุปว่าพระเจ้าผู้ทรงสร้างเอกภพย่อมมีฤทธิ์อำนาจที่จะดูแลรักษาสิ่งที่พระองค์สร้าง? เช่นเดียวกับนายช่างที่เต็มใจดูแลรักษาบ้านที่เขาสร้างขึ้นเพื่อตัวเองและครอบครัว.
ใครสมควรได้รับเกียรติและการสรรเสริญ?
การพิจารณากฎเพียงไม่กี่ข้อในเอกภพทำให้เราได้คำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามนี้. เราคงรู้สึกเกรงขามมิใช่หรือเมื่อนึกถึงผู้ที่สร้างดวงดาวจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนซึ่งดารดาษทั่วเอกภพอันกว้างใหญ่ ผู้ที่ยึดมันไว้ในที่ของมันด้วยแรงโน้มถ่วง และผู้ที่ค้ำจุนมันด้วยวัฏจักรอันไม่รู้สิ้นสุด?
บางทีคำพรรณนาที่ยะซายา 40:26 อาจสะท้อนได้อย่างดีที่สุดถึงเหตุผลที่เรารู้สึกเกรงขามเช่นนั้น. ข้อนั้นกล่าวว่า “จงเงยหน้ามองขึ้นไปดูท้องฟ้า, และพิจารณาดูว่าใครได้สร้างสิ่งเหล่านี้? พระองค์ผู้ทรงนำดาวออกมาเป็นหมวดหมู่, และทรงเรียกมันออกมาตามชื่อ.” นับว่าเหมาะจริง ๆ ที่จะเปรียบดวงดาวทั้งหลายเหมือนกับกองทัพซึ่งประกอบด้วยทหารจำนวนมากมาย. หากไม่มีแม่ทัพคอยบัญชาการ กองทัพนี้คงจะโกลาหลวุ่นวายแน่ ๆ. ในทำนองเดียวกัน ถ้าไม่มีกฎที่พระยะโฮวาทรงตั้งขึ้น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ รวมทั้งกาแล็กซีก็จะไม่สามารถโคจรได้อย่างเป็นระเบียบ แต่จะเกิดความโกลาหลวุ่นวายไปทั่ว. แล้วลองนึกภาพกองทัพที่มีทหารจำนวนนับพัน ๆ ล้านและมีแม่ทัพผู้ซึ่งไม่เพียงบังคับบัญชาการเคลื่อนทัพ แต่ยังรู้จักชื่อทหารทุกนาย ตลอดจนความเคลื่อนไหวและสภาพการณ์ของพวกเขาเป็นอย่างดี!
กฎต่าง ๆ ในเอกภพเป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่ทำให้เราเห็นว่าผู้บัญชาการองค์ยิ่งใหญ่ทรงมีความรู้ความเข้าใจที่ไร้ขีดจำกัดจริง ๆ. จะมีใครอีกหรือที่สามารถตั้งกฎเหล่านั้นและดลใจมนุษย์ให้เขียนเกี่ยวกับดวงดาวและเอกภพได้อย่างถูกต้องก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะเข้าใจเรื่องดังกล่าวนานหลายร้อยหรือกระทั่งหลายพันปีด้วยซ้ำ? ดังนั้น เรามีเหตุผลทุกประการที่จะถวาย ‘เกียรติยศและความนับถือ’ แด่พระยะโฮวาพระผู้สร้างเอกภพของเรา.—วิวรณ์ 4:11
[เชิงอรรถ]
a น่าสังเกต คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าโลกมีลักษณะเป็นวงกลม ซึ่งในภาษาฮีบรูคำ “วงกลม” นี้อาจแปลได้ด้วยว่าทรงกลม. อาริสโตเติลและชาวกรีกในสมัยโบราณตั้งทฤษฎีที่ว่าโลกมีรูปทรงกลม แต่ทฤษฎีนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อมาอีกนานนับพันปี.
b มีหลายครั้งที่คัมภีร์ไบเบิลใช้การเปรียบเทียบเช่นนี้.—โยบ 9:8; บทเพลงสรรเสริญ 104:2; ยะซายา 42:5; 44:24; 51:13; ซะคาระยา 12:1
c “กลุ่มดาวคีมาห์” อาจหมายถึงกระจุกดาวลูกไก่. ส่วน “กลุ่มดาวเคซิล” อาจหมายถึงกลุ่มดาวนายพราน. ต้องใช้เวลานานนับหมื่นนับแสนปีกว่าที่การเรียงตัวของดาวเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด.
d เนื่องจากพระยะโฮวาทรงใช้พระบุตรองค์เดียวของพระองค์ให้สร้างสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด ดังนั้น ข้อคัมภีร์นี้จึงใช้กับพระบุตรได้ด้วย.—สุภาษิต 8:30, 31; โกโลซาย 1:15-17; ฮีบรู 1:10.
e ในศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์ชื่อวิลเลียม ทอมสันหรือที่รู้จักกันว่าลอร์ดเคลวิน ได้ค้นพบกฎข้อที่สองของอุณหพลศาสตร์ซึ่งอธิบายว่าเหตุใดเมื่อเวลาผ่านไประบบต่าง ๆ ในธรรมชาติจึงมักเสื่อมสภาพและหยุดทำงานไปในที่สุด. สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เขาได้ข้อสรุปเช่นนั้นคือการได้ศึกษาข้อความในบทเพลงสรรเสริญ 102:25-27 อย่างถี่ถ้วน.
[กรอบ/ภาพหน้า 24, 25]
บุรุษผู้ทรงอิทธิพล
“อาริสโตเติลเป็นนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งโลกโบราณ” ตามที่หนังสือ100 อันดับผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) ได้กล่าวไว้. เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมจึงมีการกล่าวถึงบุรุษผู้ไม่ธรรมดาคนนี้อย่างให้เกียรติเช่นนั้น. อาริสโตเติล (ปี 384-322 ก่อนสากลศักราช) เป็นศิษย์ของเพลโตนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียง และภายหลังเขาได้เป็นอาจารย์ของเจ้าชายกรีกผู้ซึ่งต่อมารู้จักกันว่าอะเล็กซานเดอร์มหาราช. ตามบันทึกสมัยโบราณ อาริสโตเติลมีผลงานมากมายรวมถึงหนังสือ 170 เล่ม ซึ่งในจำนวนนี้มี 47 เล่มที่ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน. เขาเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ชีววิทยา เคมี สัตววิทยา ฟิสิกส์ ธรณีวิทยา และจิตวิทยา. รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางเรื่องที่เขาบันทึกไว้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสังเกตและศึกษาค้นคว้าจนกระทั่งอีกหลายร้อยปีหลังจากนั้น. หนังสือ 100 อันดับ ยังกล่าวอีกว่า “อาริสโตเติลมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อแนวคิดทุกอย่างของโลกตะวันตกในสมัยต่อมา.” หนังสือนี้กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม “กระแสความนิยมที่มีต่ออาริสโตเติลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปลายยุคกลาง ถึงขนาดที่มีการยกย่องบูชาเขาราวกับเป็นเทพเจ้า.”
[ที่มาของภาพ]
Royal Astronomical Society/Photo Researchers Inc.
From the book A General History for Colleges and High Schools 1900
[ภาพหน้า 26, 27]
แรงโน้มถ่วงยึดดวงดาวทั้งหลายไว้ในที่ของมัน
[ที่มาของภาพ]
NASA and The Hubble Heritage Team (AURA/STScl)
[ภาพหน้า 26, 27]
กระจุกดาวลูกไก่
[ภาพหน้า 28]
ดาวฤกษ์บางดวงดับไปเมื่อเกิดซูเปอร์โนวา
[ที่มาของภาพ]
ESA/Hubble
[ภาพหน้า 28]
ดาวดวงใหม่ก่อตัวขึ้นใน “สถานอนุบาล”
[ที่มาของภาพ]
J. Hester and P. Scowen (AZ State Univ.) NASA
[ที่มาของภาพหน้า 24]
© Peter Arnold Inc./Alamy