พระธรรมเล่มที่ 58—เฮ็บราย
ผู้เขียน: เปาโล
สถานที่เขียน: โรม
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 61
1. สอดคล้องกับงานมอบหมายอะไรที่เปาโลเขียนจดหมายถึงคริสเตียนชาวฮีบรู?
เปาโลเป็นผู้ซึ่งรู้จักกันดีที่สุดในฐานะอัครสาวก “ไปยังชาติต่าง ๆ.” แต่งานรับใช้ของท่านจำกัดไว้เฉพาะคนที่ไม่ใช่ชาวยิวเท่านั้นไหม? เปล่าเลย! ก่อนเปาโลรับบัพติสมาและได้รับมอบหมายงาน พระเยซูเจ้าตรัสแก่อะนาเนียว่า “คนนี้ [เปาโล] เป็นภาชนะที่ถูกเลือกไว้สำหรับเราเพื่อนำนามของเราไปยังชาติต่าง ๆ รวมทั้งเหล่ากษัตริย์และลูกหลานของยิศราเอล.” (กิจ. 9:15, ล.ม.; ฆลา. 2:8, 9) การเขียนพระธรรมเฮ็บรายจึงสอดคล้องอย่างแท้จริงกับงานมอบหมายของเปาโลในการนำพระนามของพระเยซูไปยังลูกหลานของยิศราเอล.
2. ข้อโต้แย้งเรื่องที่เปาโลเป็นผู้เขียนพระธรรมเฮ็บรายถูกหักล้างอย่างไร?
2 อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์พระคัมภีร์บางคนสงสัยเรื่องที่เปาโลเป็นผู้เขียนพระธรรมเฮ็บราย. ข้อแย้งประการหนึ่งคือไม่มีชื่อเปาโลปรากฏในจดหมายนี้. แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด เนื่องจากพระธรรมอื่น ๆ หลายเล่มในสารบบพระคัมภีร์ก็ไม่เอ่ยชื่อผู้เขียน ซึ่งบ่อยครั้งมีการบ่งชี้โดยหลักฐานภายใน. ยิ่งกว่านั้น บางคนเห็นว่าเปาโลอาจจงใจไม่ใช้ชื่อท่านเมื่อเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูในยูเดีย เนื่องจากชื่อของท่านถูกทำให้ตกเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังของชาวยิวที่นั่น. (กิจ. 21:28) อีกทั้งการเปลี่ยนลีลาการเขียนให้ต่างจากจดหมายฉบับอื่น ๆ ของท่านก็ไม่ได้เป็นข้อแย้งเรื่องที่เปาโลเป็นผู้เขียนแต่ประการใด. ไม่ว่าจะเขียนไปถึงคนนอกรีต, ชาวยิว, หรือคริสเตียน เปาโลแสดงให้เห็นเสมอถึงความสามารถของท่านในการ “กลายเป็นทุกอย่างกับผู้คนทุกชนิด.” ในพระธรรมนี้ท่านให้เหตุผลแก่ชาวยิวในฐานะเป็นคนยิวคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุผลที่พวกเขาสามารถเข้าใจและหยั่งรู้ค่าได้อย่างเต็มที่.—1 โก. 9:22, ล.ม.
3. หลักฐานภายในอะไรที่ทั้งสนับสนุนว่าเปาโลเป็นผู้เขียนพระธรรมเฮ็บราย และระบุว่าท่านเขียนถึงชาวยิวเป็นอันดับแรก?
3 หลักฐานภายในพระธรรมนี้สนับสนุนเต็มที่ว่าเปาโลเป็นผู้เขียน. ผู้เขียนอยู่ในอิตาลีและมีติโมเธียวสมทบด้วย. ข้อเท็จจริงนี้ตรงกับตัวเปาโล. (เฮ็บ. 13:23, 24) ยิ่งกว่านั้น หลักคำสอนก็เป็นแบบของเปาโล แม้ว่ามีการให้เหตุผลต่าง ๆ จากทัศนะของชาวยิว แต่นั่นก็เพื่อโน้มน้าวประชาคมที่มีแต่ชาวฮีบรูซึ่งจดหมายนี้ถูกเขียนไปถึง. เกี่ยวกับเรื่องนี้ หนังสืออรรถาธิบาย (ภาษาอังกฤษ) ของคลาร์ก เล่ม 6 หน้า 681 กล่าวเกี่ยวกับพระธรรมเฮ็บรายว่า “โครงสร้างทั้งหมดของจดหมายพิสูจน์ว่าจดหมายนี้ถูกเขียนถึงชาวยิว ซึ่งลักษณะก็เป็นเช่นนั้น. ถ้าจดหมายนี้เขียนถึงคนต่างชาติ จะไม่มีแม้สักหนึ่งในหมื่นคนที่เข้าใจการหาเหตุผลนั้นเพราะไม่คุ้นเคยกับระบบของชาวยิว; ความรู้ที่ผู้เขียนจดหมายนี้คาดหมายให้ผู้รับคุ้นเคยโดยตลอด.” เรื่องนี้ช่วยเราให้เข้าใจความแตกต่างของลีลาการเขียนเมื่อเทียบกับจดหมายฉบับอื่น ๆ ของเปาโล.
4. มีหลักฐานเพิ่มเติมอะไรอีกที่สนับสนุนว่าเปาโลเป็นผู้เขียนพระธรรมเฮ็บราย?
4 การค้นพบเชสเตอร์ บีทตี พาไพรัส หมายเลข 2 (P46) ประมาณในปี 1930 ให้หลักฐานเพิ่มเติมว่าเปาโลเป็นผู้เขียน. เซอร์เฟรเดอริก เคนยอน นักวิจารณ์พระคัมภีร์คนสำคัญของบริเตนกล่าวไว้เมื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับหนังสือพาไพรัสเล่มนี้ซึ่งเขียนหลังจากเปาโลสิ้นชีวิตแค่หนึ่งศตวรรษครึ่งว่า “น่าสังเกตที่พระธรรมเฮ็บรายถูกจัดอยู่ถัดจากพระธรรมโรม (ตำแหน่งที่เกือบไม่เคยอยู่มาก่อน) ซึ่งแสดงว่าในตอนที่มีการเขียนฉบับสำเนานี้ขึ้นนั้นไม่มีข้อสงสัยในเรื่องที่ว่าเปาโลเป็นผู้เขียน.”a ในประเด็นเดียวกันนี้ สารานุกรม ของแมกคลินทอกและสตรองกล่าวเจาะจงว่า “ไม่มีหลักฐานสำคัญใด ๆ ไม่ว่าภายนอกหรือภายในที่สนับสนุนผู้อ้างว่าจดหมายนี้เป็นของผู้เขียนคนอื่นใดเว้นแต่เปาโล.”b
5. เนื้อเรื่องในพระธรรมเฮ็บรายพิสูจน์อย่างไรว่าพระธรรมนี้มีขึ้นโดยการดลใจ?
5 นอกจากพระธรรมนี้เป็นที่ยอมรับโดยคริสเตียนยุคแรก ๆ แล้ว เนื้อหาของพระธรรมเฮ็บรายยังพิสูจน์ว่ามีขึ้น “โดยการดลใจจากพระเจ้า.” พระธรรมนี้ชี้นำผู้อ่านไปยังคำพยากรณ์ต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูบ่อย ๆ โดยกล่าวหลายครั้งถึงข้อความที่มีอยู่ก่อนนั้น และแสดงให้เห็นว่าข้อความเหล่านั้นสำเร็จทั้งสิ้นอย่างไรในพระคริสต์เยซู. เฉพาะในบทแรก มีการใช้ข้อความที่ยกจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไปกล่าวไม่น้อยกว่าเจ็ดครั้งเมื่อขยายความเรื่องที่ว่า บัดนี้พระบุตรมีตำแหน่งสูงกว่าทูตสวรรค์. พระธรรมนี้เชิดชูพระคำของพระยะโฮวาและพระนามของพระองค์เสมอ โดยชี้ไปยังพระเยซูว่าเป็นผู้นำองค์เอกแห่งชีวิตและชี้ว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าโดยพระคริสต์เป็นความหวังเดียวเท่านั้นสำหรับมนุษยชาติ.
6. หลักฐานระบุอะไรในเรื่องสถานที่และเวลาที่มีการเขียนพระธรรมเฮ็บราย?
6 เกี่ยวกับเวลาที่เขียนก็มีแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าเปาโลเขียนจดหมายขณะอยู่ในอิตาลี. ท่านกล่าวในคำลงท้ายจดหมายว่า “จงรู้ว่าติโมเธียวน้องของเราถูกปล่อยตัวแล้ว ถ้าเขามาเร็วหน่อย ข้าพเจ้าจะมาเยี่ยมท่านทั้งหลายด้วยกันกับเขา.” (13:23, ล.ม.) ข้อนี้ดูเหมือนบ่งว่า เปาโลกำลังคาดหมายว่าจะถูกปล่อยตัวจากการถูกคุมขังโดยเร็วและหวังจะร่วมทางกับติโมเธียวซึ่งก็ถูกคุมขังเหมือนกันแต่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว. ดังนั้น จึงคาดกันว่าปีสุดท้ายของการถูกคุมขังครั้งแรกของเปาโลในโรมเป็นเวลาที่เขียนพระธรรมนี้ นั่นคือในปี ส.ศ. 61.
7. คริสเตียนชาวยิวในยะรูซาเลมประสบการต่อต้านแบบไหน และพวกเขาจำเป็นต้องมีอะไร?
7 ในช่วงสมัยสุดท้ายของระบบยิวเป็นระยะเวลาแห่งการทดลองที่รุนแรงสำหรับคริสเตียนชาวฮีบรูในยูเดีย โดยเฉพาะที่อยู่ในกรุงยะรูซาเลม. เนื่องด้วยการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของข่าวดี ชาวยิวยิ่งต่อต้านชนคริสเตียนอย่างรุนแรงและบ้าคลั่งถึงขีดสุด. เพียงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แค่การปรากฏตัวของเปาโลในยะรูซาเลมก็กระตุ้นให้เกิดจลาจล โดยมีชาวยิวที่เคร่งศาสนาตะโกนสุดเสียงว่า “จงกำจัดคนอย่างนี้จากแผ่นดิน เพราะเขาไม่ควรมีชีวิตอยู่!” ชาวยิว 40 กว่าคนสาบานว่าจะไม่กินหรือดื่มจนกว่าจะฆ่าเปาโลแล้ว นั่นทำให้ต้องมีกองทหารติดอาวุธคุ้มกันหนาแน่นเพื่อพาท่านออกจากเมืองในเวลากลางคืนไปยังซีซาเรีย (กายซาไรอา). (กิจ. 22:22, ล.ม.; 23:12-15, 23, 24) ในบรรยากาศแห่งความคลั่งศาสนาและความเกลียดชังชนคริสเตียน ประชาคมจำต้องอยู่, ประกาศ, และรักษาตัวเองให้มั่นคงในความเชื่อ. พวกเขาจำต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับวิธีที่พระคริสต์ทรงทำให้พระบัญญัติสำเร็จเพื่อพวกเขาจะไม่ถอยกลับไปหาลัทธิยูดายรวมทั้งการถือรักษาพระบัญญัติของโมเซโดยมีการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชา ซึ่งถึงตอนนี้ ทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าพิธีกรรมที่ไร้ประโยชน์.
8. เหตุใดเปาโลจึงมีความเพียบพร้อมสำหรับการเขียนจดหมายนี้ถึงคริสเตียนชาวฮีบรู และท่านเสนอเหตุผลอะไรบ้างตามลำดับ?
8 ไม่มีใครสามารถเข้าใจความกดดันและการข่มเหงที่คริสเตียนชาวยิวประสบได้ดีกว่าอัครสาวกเปาโล. ไม่มีใครพร้อมกว่าเปาโล อดีตชาวฟาริซาย ในการให้เหตุผลและข้อพิสูจน์ที่ทรงพลังว่าประเพณีของชาวยิวนั้นไม่ถูกต้อง. โดยอาศัยความรู้อันกว้างขวางเกี่ยวกับพระบัญญัติของโมเซ ซึ่งท่านได้เรียนรู้แทบเท้าของฆามาลิเอล เปาโลเสนอหลักฐานที่ไม่อาจหักล้างได้ในเรื่องที่ว่า พระคริสต์ทรงทำให้พระบัญญัติ, พิธีกรรมและเครื่องบูชาต่าง ๆ ตามพระบัญญัติถึงที่สำเร็จ. ท่านแสดงให้เห็นว่าเวลานั้นสิ่งเหล่านี้ถูกแทนที่อย่างไรโดยตัวจริงซึ่งทรงสง่าราศียิ่งกว่ามาก นำมาซึ่งผลประโยชน์ยิ่งใหญ่กว่าอย่างไม่อาจประมาณได้ภายใต้สัญญาไมตรีที่ใหม่และดีกว่า. ท่านจัดให้มีข้อพิสูจน์ตามลำดับอย่างชัดแจ้งและน่าเชื่อถือด้วยปัญญาหลักแหลม. การสิ้นสุดของสัญญาไมตรีที่ทำโดยทางพระบัญญัติและการทำสัญญาไมตรีใหม่, ฐานะปุโรหิตของพระคริสต์ที่สูงส่งกว่าฐานะปุโรหิตของอาโรน, คุณค่าแท้แห่งเครื่องบูชาของพระคริสต์เมื่อเทียบกับการถวายวัวและแพะ, การที่พระคริสต์ทรงเข้าเฝ้าในที่ประทับของพระยะโฮวาในสวรรค์แทนที่จะเข้าไปในพลับพลาทางแผ่นดินโลก—คำสอนใหม่อันน่าตื่นเต้นทั้งหมดนี้ ซึ่งชาวยิวที่ไม่เชื่อเกลียดชังอย่างยิ่ง มีการเสนอแก่คริสเตียนชาวฮีบรูพร้อมกับหลักฐานมากมายจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูจนชาวยิวที่มีเหตุผลไม่ว่าคนใดต่างก็ต้องเชื่อ.
9. พระธรรมเฮ็บรายได้กลายเป็นอาวุธทรงพลังเช่นไร และพระธรรมนี้แสดงให้เห็นความรักของเปาโลอย่างไร?
9 พร้อมกับจดหมายฉบับนี้ คริสเตียนชาวฮีบรูจึงมีอาวุธใหม่อันทรงพลังที่ทำให้ชาวยิวที่กดขี่ข่มเหงหุบปาก รวมทั้งการหาเหตุผลโน้มน้าวซึ่งทำให้มั่นใจและทำให้ชาวยิวที่สุจริตใจซึ่งแสวงหาความจริงของพระเจ้าเปลี่ยนมาเชื่อถือ. จดหมายนี้แสดงให้เห็นความรักอันลึกซึ้งที่เปาโลมีต่อคริสเตียนชาวฮีบรูรวมทั้งความปรารถนาอันแรงกล้าของท่านที่จะช่วยพวกเขาด้วยวิธีที่ใช้ได้ผลในยามที่พวกเขามีความจำเป็นอย่างยิ่ง.
เนื้อเรื่องในเฮ็บราย
10. คำขึ้นต้นของพระธรรมเฮ็บรายบอกอย่างไรในเรื่องฐานะของพระคริสต์?
10 ตำแหน่งที่ได้รับการยกชูของพระคริสต์ (1:1–3:6). คำขึ้นต้นมุ่งความสนใจที่พระคริสต์ดังนี้: “พระเจ้า ซึ่งได้ตรัสเมื่อนานมาแล้วในหลายโอกาสและหลายวิธีกับบรรพบุรุษของเราโดยทางผู้พยากรณ์ ได้ตรัสแก่เราทั้งหลายในคราวที่สุดแห่งสมัยนี้โดยทางพระบุตร.” พระบุตรองค์นี้เป็นทายาทแห่งสรรพสิ่งซึ่งได้รับการแต่งตั้งและเป็นภาพสะท้อนแห่งสง่าราศีของพระบิดา. เมื่อได้ชำระบาปของพวกเราแล้ว บัดนี้พระองค์ “ทรงประทับเบื้องขวาพระหัตถ์แห่งองค์ทรงเดชานุภาพในที่อันสูงส่ง.” (1:1-3, ล.ม.) เปาโลยกข้อพระคัมภีร์ข้อแล้วข้อเล่ามากล่าวเพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูมีฐานะสูงส่งกว่าเหล่าทูตสวรรค์.
11. (ก) เหตุใดเปาโลจึงแนะนำให้เอาใจใส่สิ่งต่าง ๆ ที่ได้ยินได้ฟังให้มากกว่าปกติ? (ข) เนื่องจากประสบการณ์และฐานะอันสูงส่งของพระองค์ พระเยซูจึงทรงสามารถทำสิ่งใดสำเร็จ?
11 เปาโลเขียนว่า “จำเป็นที่เราจะเอาใจใส่ในสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ยินแล้วนั้นให้มากกว่าปกติ.” เพราะเหตุใด? เปาโลชี้แจงว่า เพราะถ้ามีการลงโทษอย่างรุนแรงเนื่องจากการไม่เชื่อฟัง “ถ้อยคำที่ตรัสโดยทางทูตสวรรค์ . . . เราจะหนีให้พ้นอย่างไรถ้าเราไม่ใส่ใจความรอดอันสำคัญยิ่งเช่นนั้น เพราะว่าความรอดนั้นเริ่มมีการกล่าวถึงโดยองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา?” พระเจ้าทรงทำให้ “บุตรมนุษย์” ต่ำกว่าเหล่าทูตสวรรค์หน่อยหนึ่ง แต่บัดนี้พวกเราเห็นพระเยซูผู้นี้ “ทรงได้รับสง่าราศีและเกียรติยศเนื่องด้วยทรงทนรับความตาย เพื่อว่าโดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า พระองค์จะได้ทรงลิ้มรสความตายเพื่อมนุษย์ทุกคน.” (2:1-3, 6, 9, ล.ม.) ในการนำบุตรหลายคนเข้าสู่สง่าราศีนั้น แรกทีเดียว พระเจ้าทรงทำให้ผู้นำองค์เอกแห่งความรอดของพวกเขา “สมบูรณ์โดยความลำบากต่าง ๆ.” พระองค์คือผู้ที่กำจัดพญามารและปลดปล่อย “คนทั้งปวงซึ่งเนื่องจากกลัวความตายได้ตกเป็นทาสมาตลอดชีวิต.” ดังนั้น พระเยซูจึงทรงเป็น “มหาปุโรหิตที่ทรงเมตตาและซื่อสัตย์.” และที่วิเศษยิ่งก็คือ เนื่องจากพระองค์เองทรงทนลำบากภายใต้การทดลอง “พระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่ถูกทดลอง.” (2:10, 15, 17, 18, ล.ม.) ฉะนั้น จึงถือว่าพระเยซูสมควรมีสง่าราศีมากกว่าโมเซ.
12. คริสเตียนต้องหลีกเลี่ยงแนวทางเช่นไรหากพวกเขาจะเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้า?
12 การเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าโดยความเชื่อและการเชื่อฟัง (3:7–4:13). คริสเตียนทุกคนควรเอาใจใส่คำเตือนจากตัวอย่างความไม่ซื่อสัตย์ของชาวยิศราเอล ด้วยเกรงว่าจะเกิด “มีหัวใจชั่ว ซึ่งขาดความเชื่อโดยเอาตัวออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (เฮ็บ. 3:12, ล.ม.; เพลง. 95:7-11) เนื่องจากการไม่เชื่อฟังและการขาดความเชื่อ ชาวยิศราเอลที่ออกจากอียิปต์จึงไม่ได้เข้าสู่การหยุดพักหรือซะบาโตของพระเจ้า คือช่วงที่พระองค์ทรงหยุดจากงานทรงสร้างที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินโลก. อย่างไรก็ตาม เปาโลอธิบายว่า “การหยุดพักซะบาโตสำหรับไพร่พลของพระเจ้ายังมีอยู่. เพราะคนที่ได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าก็ได้หยุดพักจากงานของตนเองด้วย เหมือนที่พระเจ้าได้ทรงหยุดพักจากงานของพระองค์เอง.” ต้องหลีกเลี่ยงแบบอย่างการไม่เชื่อฟังของชาวยิศราเอล. “เพราะพระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง และคมกว่าดาบสองคม . . . ทั้งสามารถสังเกตเข้าใจความคิดและความมุ่งหมายแห่งหัวใจ.”—เฮ็บ. 4:9, 10, 12, ล.ม.
13. (ก) พระคริสต์ได้เป็น “ปุโรหิตตลอดกาล” ซึ่งรับผิดชอบเรื่องความรอดนิรันดร์โดยวิธีใด? (ข) เหตุใดเปาโลจึงกระตุ้นคริสเตียนชาวฮีบรูให้รุดหน้าสู่ความอาวุโส?
13 ทัศนะที่อาวุโสในเรื่องความสูงส่งแห่งฐานะปุโรหิตของพระคริสต์ (4:14–7:28). เปาโลกระตุ้นชาวฮีบรูให้ยึดมั่นกับการประกาศการยอมรับพระเยซู มหาปุโรหิตองค์ยิ่งใหญ่ซึ่งผ่านฟ้าสวรรค์ เพื่อพวกเขาจะประสบความเมตตา. พระคริสต์มิได้ยกย่องตนเอง แต่เป็นพระบิดาซึ่งตรัสว่า “เจ้าเป็นปุโรหิตตลอดกาลตามอย่างเมลคีเซเด็ก.” (เฮ็บ. 5:6, ล.ม.; เพลง. 110:4) แรกทีเดียว พระคริสต์ถูกทำให้สมบูรณ์สำหรับตำแหน่งมหาปุโรหิตโดยเรียนรู้การเชื่อฟังด้วยความลำบากเพื่อจะสามารถรับผิดชอบเรื่องความรอดนิรันดร์สำหรับคนทั้งปวงที่เชื่อฟังพระองค์. เปาโลมี “เรื่องมากมายจะกล่าวและยากจะอธิบาย” แต่คริสเตียนชาวฮีบรูยังคงเป็นทารกที่ต้องการนม ซึ่งอันที่จริงพวกเขาน่าจะเป็นผู้สอนได้แล้ว. “อาหารแข็งเป็นของผู้อาวุโส คือผู้ซึ่งด้วยการใช้จึงฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจเพื่อแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.” ท่านอัครสาวกกระตุ้นพวกเขาให้ “รุดหน้าสู่ความอาวุโส.”—เฮ็บ. 5:11, 14; 6:1, ล.ม.
14. ผู้เชื่อถือจะได้รับมรดกคำสัญญาอย่างไร และความหวังของพวกเขาได้รับการยืนยันอย่างไร?
14 เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ซึ่งรู้จักพระคำของพระเจ้าแล้วและถอยห่างไปจะได้รับการฟื้นสติอีกเพื่อกลับใจเสียใหม่ “เพราะพวกเขาตรึงพระบุตรของพระเจ้าอีกเพื่อตนเองและทำให้พระองค์อับอายต่อธารกำนัล.” เฉพาะแต่โดยความเชื่อและความอดทนเท่านั้นที่ผู้เชื่อถือสามารถได้รับมรดกคำสัญญาที่ทำกับอับราฮาม—คำสัญญาที่ได้รับการรับรองและยืนยันด้วยสองสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นคือ พระคำของพระเจ้าและคำปฏิญาณของพระองค์. ความหวังของพวกเขาซึ่งเป็นดุจ “สมอสำหรับจิตวิญญาณ ทั้งแน่นอนและมั่นคง” ได้รับการยืนยันโดยการที่พระเยซูทรงเสด็จเข้าไป “ข้างหลังม่าน” ในฐานะผู้ไปล่วงหน้าและมหาปุโรหิตตามอย่างเมลคีเซเด็ก.—6:6, 19, ล.ม.
15. อะไรแสดงว่าตำแหน่งปุโรหิตของพระเยซูตามอย่างเมลคีเซเด็กเหนือกว่าตำแหน่งปุโรหิตของตระกูลเลวี?
15 เมลคีเซเด็กผู้นี้เป็นทั้ง “กษัตริย์แห่งซาเลม” และ “ปุโรหิตของพระเจ้าสูงสุด.” แม้แต่อับราฮามซึ่งเป็นหัวหน้าตระกูลก็ถวายส่วนหนึ่งในสิบแก่ท่าน และโดยผ่านทางอับราฮาม เลวีซึ่งยังอยู่ในบั้นเอวของอับราฮามก็ได้ถวายแก่ท่านเช่นกัน. พรที่เมลคีเซเด็กให้แก่อับราฮามจึงแผ่ไปถึงเลวีที่ยังไม่เกิด และเรื่องนี้แสดงว่าตำแหน่งปุโรหิตของเลวีต่ำกว่าของเมลคีเซเด็ก. นอกจากนั้น ถ้าความสมบูรณ์มีมาทางปุโรหิตตระกูลเลวีของอาโรน ยังจำเป็นไหมที่ต้องมีปุโรหิตอีกคนหนึ่ง “ตามอย่างเมลคีเซเด็ก”? ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงคณะปุโรหิต “จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงพระบัญญัติด้วย.”—7:1, 11, 12, ล.ม.
16. เหตุใดตำแหน่งปุโรหิตของพระเยซูเหนือกว่าตำแหน่งปุโรหิตภายใต้พระบัญญัติ?
16 ที่จริง พระบัญญัติไม่ได้ทำอะไรให้สมบูรณ์แต่กลับปรากฏว่าอ่อนแอและไร้ผล. ปุโรหิตตามพระบัญญัติมีหลายคนเพราะพวกเขาต้องตายอยู่เรื่อย ๆ แต่พระเยซูนั้นเนื่องจาก “ทรงพระชนม์อยู่ตลอดกาลจึงทรงดำรงตำแหน่งปุโรหิตของพระองค์โดยไม่มีผู้สืบทอดใด ๆ. ฉะนั้น พระองค์จึงทรงสามารถช่วยคนที่เข้าเฝ้าพระเจ้าโดยทางพระองค์ให้รอดได้อย่างครบถ้วนด้วย เพราะว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่เสมอเพื่อวิงวอนแทนพวกเขา.” พระเยซู มหาปุโรหิตองค์นี้ “ทรงภักดี, ไม่มีอุบาย, ไม่มีมลทิน, แยกต่างหากจากคนบาป” ขณะที่มหาปุโรหิตซึ่งถูกแต่งตั้งโดยพระบัญญัตินั้นอ่อนแอ ต้องถวายเครื่องบูชาสำหรับความบาปของตนเองก่อนที่เขาจะขอร้องแทนคนอื่นได้. ดังนั้น คำปฏิญาณของพระเจ้าจึง “แต่งตั้งพระบุตรผู้ได้รับการทำให้สมบูรณ์ตลอดกาล.”—7:24-26, 28, ล.ม.
17. สัญญาไมตรีใหม่เหนือกว่าในด้านใด?
17 ความเหนือกว่าของสัญญาไมตรีใหม่ (8:1–10:31). มีการแสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงเป็น “ผู้กลางแห่งสัญญาไมตรีที่ประเสริฐกว่าเช่นกัน . . . ซึ่งถูกตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยคำสัญญาที่ดีกว่า.” (8:6) เปาโลยกยิระมะยา 31:31-34 มากล่าวทั้งหมด ซึ่งแสดงว่า ผู้ที่อยู่ในสัญญาไมตรีใหม่มีกฎหมายของพระเจ้าเขียนไว้ที่จิตใจและหัวใจของพวกเขา, ทุกคนจะรู้จักพระยะโฮวา, และพระยะโฮวาจะ “ไม่ระลึกถึงการบาปของพวกเขาอีกเลย.” “สัญญาไมตรีใหม่” นี้ทำให้สัญญาไมตรีเดิม (สัญญาไมตรีโดยทางพระบัญญัติ) ถูกยกเลิกและ “ใกล้จะสูญไป.”—เฮ็บ. 8:12, 13, ล.ม.
18. เปาโลเปรียบเทียบอะไรในเรื่องเครื่องบูชาอันเกี่ยวข้องกับสัญญาไมตรีทั้งสอง?
18 เปาโลพรรณนาการถวายเครื่องบูชาประจำปีที่พลับพลาตามสัญญาไมตรีเดิมว่าเป็น “ข้อเรียกร้องตามกฎหมาย . . . บัญญัติไว้จนกระทั่งถึงเวลากำหนดเพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย.” อย่างไรก็ตาม เมื่อพระคริสต์เสด็จมาในฐานะมหาปุโรหิต พระองค์เสด็จมาพร้อมกับโลหิตอันล้ำค่าของพระองค์เอง ไม่ใช่ด้วยเลือดของแพะหรือลูกวัว. การที่โมเซประพรมเลือดสัตว์ทำให้สัญญาไมตรีเดิมมีผลและทำให้พลับพลาโดยนัยนั้นสะอาด แต่เครื่องบูชาที่ดีกว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งที่เป็นจริงฝ่ายสวรรค์ซึ่งเกี่ยวข้องกับสัญญาไมตรีใหม่. “ด้วยว่าพระคริสต์เสด็จเข้าไป ไม่ใช่ในสถานที่บริสุทธิ์ซึ่งทำด้วยมืออันเป็นแบบจำลองจากของจริง แต่ในสวรรค์นั้นเองเพื่อปรากฏเบื้องหน้าองค์พระเจ้าเพื่อเราทั้งหลาย.” พระคริสต์ไม่ต้องถวายเครื่องบูชาทุก ๆ ปีดังที่มหาปุโรหิตชาวยิศราเอลทำ เพราะ “บัดนี้ พระองค์ทรงสำแดงพระองค์ ครั้งเดียวตลอดกาลในช่วงอวสานของระบบต่าง ๆ เพื่อกำจัดความบาปโดยทางเครื่องบูชาของพระองค์เอง.”—9:10, 24, 26, ล.ม.
19. (ก) พระบัญญัติไม่สามารถทำอะไรได้ และเพราะเหตุใด? (ข) พระทัยประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับการทำให้บริสุทธิ์คืออะไร?
19 ในการสรุปเปาโลกล่าวว่า “เนื่องจากพระบัญญัติมีเงาของสิ่งดีที่จะมีมา” เครื่องบูชาที่ถวายซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่อาจขจัด “ความสำนึกถึงบาป.” อย่างไรก็ตาม พระเยซูเสด็จเข้ามาในโลกเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. เปาโลกล่าวว่า “โดย ‘พระทัยประสงค์’ ดังกล่าว เราทั้งหลายจึงถูกทำให้บริสุทธิ์แล้วโดยการถวายพระกายของพระเยซูคริสต์ครั้งเดียวสำหรับตลอดกาล.” ฉะนั้น ให้ชาวฮีบรูยึดมั่นกับการประกาศอย่างเปิดเผยถึงความเชื่อของตนโดยไม่หวั่นไหวและให้ “พิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี” ไม่ละการประชุมร่วมกัน. หากพวกเขายังเจตนาทำบาปต่อไปหลังจากได้รับความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง “จะไม่มีเครื่องบูชาแก้บาปใด ๆ เหลืออยู่เลย.”—10:1, 2, 10, 24, 26, ล.ม.
20. (ก) ความเชื่อคืออะไร? (ข) เปาโลพรรณนาอย่างมีชีวิตชีวาถึงความเชื่ออย่างไร?
20 การอธิบายและยกตัวอย่างความเชื่อ (10:32–12:3). บัดนี้เปาโลบอกชาวฮีบรูว่า “จงระลึกเสมอถึงสมัยก่อน ๆ ซึ่ง หลังจากท่านทั้งหลายได้รับความสว่างแล้ว ท่านทั้งหลายได้เพียรอดทนการต่อสู้อย่างหนักด้วยความลำบาก.” อย่าให้พวกเขาสลัดทิ้งเสรีภาพในการพูดซึ่งมีบำเหน็จมาก แต่ให้พวกเขาเพียรอดทนเพื่อจะได้รับตามคำทรงสัญญาและ “มีความเชื่อที่จะรักษาจิตวิญญาณให้มีชีวิตอยู่.” ความเชื่อ! ถูกแล้ว นี่แหละคือสิ่งจำเป็น. แรกทีเดียว เปาโลนิยามความเชื่อว่า “ความเชื่อคือความคาดหมายที่แน่นอนในสิ่งซึ่งหวังไว้ เป็นการแสดงออกเด่นชัดถึงสิ่งที่เป็นจริง ถึงแม้ไม่ได้เห็นสิ่งนั้นก็ตาม.” ต่อจากนั้น ในบทที่ให้แรงดลใจบทหนึ่ง ท่านใช้ถ้อยคำที่รวบรัดพรรณนาภาพบุคคลในสมัยโบราณซึ่งมีชีวิต, ทำงาน, ต่อสู้, เพียรอดทน, และได้มาเป็นผู้รับมรดกแห่งความชอบธรรมโดยความเชื่อ. “โดยความเชื่อ” อับราฮามอาศัยในเต็นท์กับยิศฮาคและยาโคบ คอยท่า “เมืองที่มีรากฐานแท้” ซึ่งพระเจ้าทรงเป็นผู้ก่อสร้าง. “โดยความเชื่อ” โมเซยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไป “ประหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา.” เปาโลถามว่า “แล้วข้าพเจ้าจะบอกอะไรอีก? ด้วยว่าเวลาจะไม่พอให้ข้าพเจ้าเล่าต่อเกี่ยวกับฆิดโอน, บาราค, ซิมโซน, และยิพธา, ดาวิด อีกทั้งซามูเอล, และพวกผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ ซึ่งโดยความเชื่อจึงรบชนะอาณาจักรต่าง ๆ, ทำให้เกิดความชอบธรรม, ได้รับคำสัญญา.” คนอื่น ๆ เช่นกันถูกทดลองโดยคำเยาะเย้ย, การเฆี่ยน, พันธนาการ และการทรมานแต่ไม่ยอมรับการปลดปล่อย “เพื่อว่าพวกเขาจะได้รับการกลับเป็นขึ้นจากตายที่ดีกว่า.” จริงทีเดียว “โลกไม่คู่ควรกับพวกเขา.” คนเหล่านี้มีคำพยานแก่ตัวโดยความเชื่อของเขา แต่พวกเขายังจะต้องได้รับตามคำทรงสัญญาอีก. เปาโลกล่าวต่อไปว่า “ดังนั้น เมื่อเรามีเมฆใหญ่แห่งพยานล้อมรอบเรา ให้เราปลดของหนักทุกอย่างและบาปที่เข้าติดพันเราโดยง่ายนั้น และให้เราวิ่งด้วยความเพียรอดทนในการวิ่งแข่งซึ่งอยู่ต่อหน้าเรา ขณะที่เรามองเขม้นไปที่พระเยซู ผู้นำองค์เอกและผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์ขึ้น.”—10:32, 39, ล.ม.; 11:1, 8, 10, 27, 32, 33, 35, 38, ล.ม.; 12:1, 2, ล.ม.
21. (ก) คริสเตียนจะเพียรอดทนอย่างไรในการสู้รบเพื่อความเชื่อ? (ข) เปาโลให้เหตุผลที่หนักแน่นกว่าเช่นไรสำหรับการฟังคำเตือนจากพระเจ้า?
21 ความเพียรอดทนในการสู้รบเพื่อความเชื่อ (12:4-29). เปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนชาวฮีบรูให้เพียรอดทนในการสู้รบเพื่อความเชื่อ เพราะพระยะโฮวากำลังตีสอนพวกเขาเหมือนอย่างลูก. เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่จะเสริมกำลังแก่มือและหัวเข่าที่อ่อนเปลี้ย และทำทางให้ตรงเสมอสำหรับเท้าพวกเขา. พวกเขาต้องระวังป้องกันอย่างเข้มงวดไม่ให้รากที่มีพิษหรือความเสื่อมเสียใด ๆ เข้ามาซึ่งอาจทำให้พวกเขาละทิ้งความเชื่อ ดังในกรณีของเอซาวผู้ไม่หยั่งรู้ค่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์. ที่ภูเขา โมเซกล่าวว่า “ข้าพเจ้ากลัวยิ่งนักและตัวสั่นเทิ้ม” เนื่องจากการสำแดงอันน่ากลัวซึ่งมีไฟ, เมฆ, และพระสุรเสียง. แต่พวกเขาได้เข้ามาใกล้สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวกว่ามากนัก นั่นคือภูเขาซีโอนและยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์, ทูตสวรรค์จำนวนมากเหลือคณนา, ประชาคมแห่งบุตรหัวปี, พระเจ้าผู้พิพากษาสรรพสิ่ง, และพระเยซูผู้กลางแห่งสัญญาไมตรีใหม่ที่ดีกว่า. ฉะนั้น จึงมีเหตุผลสมควรยิ่งที่จะฟังคำเตือนจากพระเจ้า! ในสมัยโมเซ พระสุรเสียงของพระเจ้าทำให้แผ่นดินโลกสั่นสะเทือน แต่บัดนี้ พระองค์ทรงสัญญาว่าจะทำให้ทั้งสวรรค์และแผ่นดินโลกปั่นป่วน. เปาโลทำให้เข้าใจโดยกล่าวว่า “เหตุฉะนั้น เมื่อเห็นว่าเราจะได้ราชอาณาจักรซึ่งหวั่นไหวไม่ได้ ขอให้เรา . . . ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้าอย่างที่ทรงยอมรับ ด้วยความเกรงกลัวและเกรงขามพระองค์. ด้วยพระเจ้าของเราเป็นไฟที่เผาผลาญดุจกัน.”—12:21, 28, 29, ล.ม.
22. เปาโลลงท้ายจดหมายถึงคริสเตียนชาวฮีบรูด้วยคำแนะนำอะไรที่เสริมสร้าง?
22 คำกระตุ้นเตือนเกี่ยวกับการนมัสการ (13:1-25). เปาโลลงท้ายด้วยคำแนะนำที่เสริมสร้าง เช่น ให้ความรักฉันพี่น้องดำเนินต่อไป, อย่าลืมน้ำใจต้อนรับแขก, ให้การสมรสเป็นที่นับถือท่ามกลางคนทั้งปวง, จงรักษาตัวให้พ้นจากการรักเงิน, จงเชื่อฟังผู้ที่นำหน้าท่ามกลางท่าน, และอย่าถูกชักนำให้หลงไปกับคำสอนแปลก ๆ. ท้ายที่สุด “โดยพระองค์นั้น [พระเยซู] จงให้เราถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย.”—13:15, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
23. เปาโลโต้แย้งอะไรเกี่ยวกับพระบัญญัติ และท่านสนับสนุนการหาเหตุผลของท่านอย่างไร?
23 ในฐานะเป็นข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่สนับสนุนพระคริสต์ จดหมายถึงคริสเตียนชาวฮีบรูเป็นข้อเขียนชิ้นเยี่ยมอย่างไม่อาจโต้แย้งได้ ถูกเรียบเรียงไว้อย่างสมบูรณ์และได้รับการสนับสนุนมากมายด้วยข้อพิสูจน์จากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. พระธรรมนี้กล่าวถึงลักษณะเด่นหลายประการจากพระบัญญัติของโมเซ เช่น สัญญาไมตรี, เลือด, ผู้กลาง, พลับพลานมัสการ, คณะปุโรหิต, เครื่องบูชา และแสดงว่าสิ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงแบบอย่างที่พระเจ้าทรงจัดตั้งไว้เพื่อชี้ถึงสิ่งที่ดีกว่ามากนักซึ่งจะมีมา ทั้งหมดนั้นบรรลุจุดสุดยอดในพระคริสต์เยซูและเครื่องบูชาของพระองค์ ซึ่งทำให้พระบัญญัติสำเร็จ. เปาโลกล่าวว่า พระบัญญัติ “ที่ถูกยกเลิกและเก่าลงก็ใกล้จะสูญไป.” แต่ “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเช่นเดิมเมื่อวันวานและวันนี้และตลอดกาล.” (8:13; 13:8; 10:1, ล.ม.) คริสเตียนชาวฮีบรูเหล่านั้นคงต้องยินดีจริง ๆ เมื่ออ่านจดหมายที่มีถึงพวกเขา!
24. พระธรรมเฮ็บรายอธิบายการจัดเตรียมอะไรซึ่งก่อประโยชน์อันประมาณมิได้แก่พวกเราในทุกวันนี้?
24 แต่เรื่องนี้มีคุณค่าอะไรแก่พวกเราทุกวันนี้ซึ่งอยู่ในสภาพการณ์ที่ต่างกัน? เนื่องจากเราไม่อยู่ใต้พระบัญญัติ เราจะพบอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ไหมในการหาเหตุผลของเปาโล? พบแน่นอน. ในพระธรรมนี้มีคำชี้แจงแก่เราเกี่ยวกับการจัดเตรียมอันยิ่งใหญ่เรื่องสัญญาไมตรีใหม่โดยอาศัยคำสัญญากับอับราฮามที่ว่า ทุกครอบครัวบนแผ่นดินโลกจะทำให้ตัวเองได้รับพรโดยทางพงศ์พันธุ์ของท่าน. สิ่งนี้เป็นความหวังของเราในเรื่องชีวิต เป็นความหวังเดียวของเรา เป็นความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำสัญญาของพระยะโฮวาในกาลโบราณเรื่องพระพรที่มีมาทางพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม คือพระเยซูคริสต์. แม้ไม่ได้อยู่ใต้พระบัญญัติ พวกเราก็เกิดมาในความบาปฐานะลูกหลานของอาดามและเราจำต้องมีมหาปุโรหิตที่มีความเมตตา, ผู้มีเครื่องบูชาไถ่บาปที่ใช้การได้, ผู้ซึ่งเข้าไปในที่ประทับของพระยะโฮวาในสวรรค์ได้และวิงวอนแทนเราที่นั่น. ในพระธรรมนี้ เราพบพระองค์ มหาปุโรหิตผู้ซึ่งสามารถนำเราไปถึงชีวิตในโลกใหม่ของพระยะโฮวา, ผู้ซึ่งสามารถร่วมรู้สึกในข้ออ่อนแอของเรา, ผู้ซึ่ง “ได้ผ่านการทดลองมาแล้วทุกประการเหมือนพวกเรา” และผู้ซึ่งเชิญเราให้ “เข้าไปถึงราชบัลลังก์แห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและพูดอย่างสะดวกใจ เพื่อเราจะได้รับความเมตตาและประสบพระกรุณาอันไม่พึงได้รับมาช่วยในเวลาอันควร.”—4:15, 16, ล.ม.
25. เปาโลใช้พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเพื่อให้ความกระจ่างในเรื่องอะไร?
25 ยิ่งกว่านั้น ในจดหมายของเปาโลถึงคริสเตียนชาวฮีบรู เราพบหลักฐานที่น่าตื่นเต้นที่ว่า คำพยากรณ์ต่าง ๆ ซึ่งบันทึกไว้นานมาแล้วในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูได้สำเร็จเป็นจริงในเวลาต่อมาอย่างน่าอัศจรรย์. ทั้งหมดนั้นก็เพื่อสั่งสอนและปลอบโยนพวกเราในทุกวันนี้. ตัวอย่างเช่น ในพระธรรมเฮ็บราย เปาโลใช้ข้อความเกี่ยวกับคำพยากรณ์เรื่องราชอาณาจักรที่บทเพลงสรรเสริญ 110:1 ถึงห้าครั้งกับพระเยซูคริสต์ในฐานะพงศ์พันธุ์แห่งราชอาณาจักร ซึ่งได้ “เสด็จนั่งเบื้องขวาราชบัลลังก์ของพระเจ้า” เพื่อคอย “จนกว่าศัตรูของพระองค์จะถูกวางเป็นม้ารองพระบาทพระองค์.” (เฮ็บ. 12:2; 10:12, 13; 1:3, 13; 8:1, ล.ม.) นอกจากนั้น เปาโลยกบทเพลงสรรเสริญ 110:4 มากล่าวในการอธิบายถึงตำแหน่งสำคัญที่พระบุตรของพระเจ้ารับเอาในฐานะเป็น “ปุโรหิตตลอดกาลตามอย่างเมลคีเซเด็ก.” เหมือนเมลคีเซเด็กในสมัยโบราณ ซึ่งตามบันทึกของคัมภีร์ไบเบิล เป็นผู้ที่ “ไม่มีบิดา, ไม่มีมารดา, ไม่มีวงศ์ตระกูล, ไม่มีวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของชีวิต” พระเยซูจึงเป็นทั้งกษัตริย์และ “ปุโรหิตตลอดกาล” เพื่อบริหารผลประโยชน์นิรันดร์จากเครื่องบูชาไถ่ของพระองค์แก่คนทั้งปวงที่ยอมตัวอยู่ใต้การปกครองของพระองค์ด้วยความเชื่อฟัง. (เฮ็บ. 5:6, 10, ล.ม.; 6:20, ล.ม.; 7:1-21, ล.ม.) เปาโลกล่าวถึงผู้เป็นทั้งกษัตริย์และปุโรหิตองค์เดียวกันนี้โดยยกบทเพลงสรรเสริญ 45:6, 7 มากล่าวที่ว่า “พระเจ้าเป็นราชบัลลังก์ของพระองค์ตลอดกาล และธารพระกรแห่งราชอาณาจักรของพระองค์เป็นธารพระกรแห่งความเที่ยงตรง. พระองค์ทรงรักความชอบธรรม และทรงเกลียดการละเลยกฎหมาย. เหตุฉะนั้นพระเจ้า คือพระเจ้าของพระองค์ จึงทรงเจิมพระองค์ด้วยน้ำมันแห่งความยินดียิ่งกว่าเหล่าพระสหายของพระองค์.” (เฮ็บ. 1:8, 9, ล.ม.) ขณะที่เปาโลยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมากล่าวและแสดงให้เห็นความสำเร็จเป็นจริงในพระคริสต์เยซู เราจึงเห็นส่วนต่าง ๆ แห่งการจัดเตรียมของพระเจ้าประกอบเข้าด้วยกันเพื่อความกระจ่างของเรา.
26. พระธรรมเฮ็บรายให้การหนุนกำลังใจเช่นไรแก่การวิ่งแข่งด้วยความเชื่อและด้วยความเพียรอดทน?
26 ดังที่พระธรรมเฮ็บรายแสดงให้เห็นชัดเจน อับราฮามคอยท่าราชอาณาจักร “เมืองที่มีรากฐานแท้ ซึ่งผู้ก่อสร้างและผู้ทำคือพระเจ้า” เมืองนี้ “อยู่ฝ่ายสวรรค์.” “โดยความเชื่อ” ท่านแสวงหาราชอาณาจักรและท่านได้ถวายเครื่องบูชาอันยิ่งใหญ่เพื่อท่านจะได้รับพระพรโดย “การกลับเป็นขึ้นจากตายที่ดีกว่า.” เราได้เห็นแบบอย่างที่น่าประทับใจจริง ๆ ในอับราฮามและในชายหญิงผู้มีความเชื่อเหล่านั้นทั้งหมด—“เมฆใหญ่แห่งพยาน” ที่เปาโลพรรณนาไว้ในพระธรรมเฮ็บรายบท 11! ขณะที่เราอ่านบันทึกนี้ เรารู้สึกปลาบปลื้มยินดีในหัวใจด้วยความหยั่งรู้ค่าสิทธิพิเศษและความหวังที่เรามีร่วมกับผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงเหล่านั้น. เราจึงได้รับการหนุนกำลังใจให้ “วิ่งด้วยความเพียรอดทนในการวิ่งแข่งซึ่งอยู่ต่อหน้าเรา.”—11:8, 10, 16, 35, ล.ม.; 12:1, ล.ม.
27. ความหวังอันรุ่งโรจน์อะไรเกี่ยวกับราชอาณาจักรที่มีการเน้นในพระธรรมเฮ็บราย?
27 โดยยกข้อความจากคำพยากรณ์ของฮาฆีมากล่าว เปาโลชี้ให้สนใจคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่า “อีกครั้งหนึ่งเราจะทำให้ปั่นป่วนไม่เพียงแผ่นดินโลกแต่สวรรค์ด้วย.” (เฮ็บ. 12:26, ล.ม.; ฮาฆี 2:6) อย่างไรก็ตาม ราชอาณาจักรของพระเจ้าโดยพระคริสต์เยซูผู้เป็นพงศ์พันธุ์จะดำรงตลอดไป. “เหตุฉะนั้น เมื่อเห็นว่าเราจะได้ราชอาณาจักรซึ่งหวั่นไหวไม่ได้ ขอให้เราได้รับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับต่อไป เพื่อโดยทางนั้นเราจะถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้าอย่างที่ทรงยอมรับ ด้วยความเกรงกลัวและเกรงขามพระองค์.” บันทึกที่กระตุ้นใจนี้รับรองกับเราว่าพระคริสต์ปรากฏเป็นครั้งที่สอง “ไม่เกี่ยวกับบาปและปรากฏแก่คนที่คอยท่าพระองค์ด้วยความจริงใจเพื่อความรอดของเขา.” ฉะนั้น โดยทางพระองค์ “ให้เราถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย.” ขอให้พระนามอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาพระเจ้าได้รับการทำให้เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ตลอดกาลโดยพระเยซูคริสต์ผู้เป็นพระมหากษัตริย์และมหาปุโรหิตของพระองค์!—เฮ็บ. 12:28, ล.ม.; 9:28, ล.ม.; 13:15, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a เรื่องราวเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) 1964 หน้า 91.
b ฉบับพิมพ์ใหม่ 1981 เล่ม 4 หน้า 147.