ให้พระวจนะของพระเจ้าส่องสว่างทางของคุณ
“พระวจนะของพระองค์ . . . เป็นแสงสว่างตามทางของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:105.
1, 2. พระวจนะของพระยะโฮวาจะส่องสว่างทางของเราเฉพาะในกรณีใดเท่านั้น?
พระวจนะของพระยะโฮวาจะส่องสว่างทางของเราหากเรายอมให้เป็นเช่นนั้น. เพื่อจะได้ประโยชน์จากแสงสว่างฝ่ายวิญญาณเช่นนั้น เราต้องขยันศึกษาพระคำของพระเจ้าที่มีบันทึกไว้และนำคำแนะนำในนั้นไปใช้. เฉพาะแต่เมื่อทำอย่างนั้น เราจึงจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพเจ้า, และเป็นแสงสว่างตามทางของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:105.
2 จากนี้ไป ให้เรามาพิจารณาเพลงสรรเสริญ 119:89-176. บทร้อยกรองซึ่งจัดแบ่งเป็น 11 ตอนนี้ บรรจุความรู้ไว้มากมายทีเดียว! ข้อความเหล่านั้นสามารถช่วยเราคงอยู่บนทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.—มัดธาย 7:13, 14.
เหตุใดจึงชื่นใจยินดีในพระคำของพระเจ้า?
3. บทเพลงสรรเสริญ 119:89, 90 แสดงอย่างไรว่าเราสามารถวางใจคำตรัสของพระเจ้า?
3 ความชื่นใจยินดีในพระคำของพระเจ้าทำให้เกิดความมั่นคงทางฝ่ายวิญญาณ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:89-96) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระวจนะของพระองค์ดำรงอยู่ในสวรรค์ตลอดอนาคตกาล. . . . พระองค์ได้ทรงประดิษฐานแผ่นดินโลกไว้ให้ตั้งมั่นคงอยู่.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:89, 90) โดยคำตรัสของพระองค์—“กฎของฟ้าสวรรค์” ของพระองค์—ดวงดาวต่าง ๆ โคจรไปในวงโคจรของมันอย่างไม่ผิดพลาด และแผ่นดินโลกถูกวางรากอย่างมั่นคงเป็นนิตย์. (โยบ 38:31-33, ฉบับแปลใหม่; บทเพลงสรรเสริญ 104:5) เราสามารถวางใจคำตรัสทุกคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระยะโฮวา คำตรัสของพระองค์จะ “สำเร็จผลเป็นแน่” ตามที่พระองค์ทรงมุ่งหมายไว้.—ยะซายา 55:8-11, ล.ม.
4. ความชื่นใจยินดีในพระคำของพระเจ้าช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ที่ประสบความทุกข์อย่างไร?
4 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ‘คงจะได้พินาศไปแล้วในความทุกข์ ถ้าท่านมิได้ชื่นใจยินดีในกฎหมายของพระเจ้า.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:92) ท่านไม่ได้ประสบความทุกข์เพราะคนต่างชาติ ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายชาวอิสราเอลนั้นต่างหากที่เกลียดชังท่าน. (เลวีติโก 19:17) แต่ความทุกข์นั้นไม่มีชัยเหนือท่าน เนื่องจากท่านรักกฎหมายของพระเจ้าซึ่งให้การค้ำจุน. ที่เมืองโครินท์ อัครสาวกเปาโล “เผชิญภัยท่ามกลางพี่น้องทรยศ” ซึ่งคงรวมถึง “อัครสาวกเท็จ” ที่พยายามตำหนิติเตียนท่าน. (2 โกรินโธ 11:5, 12-14, 26) กระนั้น เปาโลรับมือผ่านพ้นไปได้เนื่องจากท่านชื่นใจยินดีในพระคำของพระเจ้า. เนื่องด้วยเราชื่นใจยินดีในพระคำของพระยะโฮวาที่มีบันทึกไว้และปฏิบัติตามสิ่งที่มีกล่าวไว้ในพระคำนั้น เราจึงรักพี่น้องของเรา. (1 โยฮัน 3:15) แม้ถูกโลกเกลียดชัง เราก็จะไม่ลืมโอวาทใด ๆ ของพระเจ้า. เราทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ร่วมกับพี่น้องของเราอย่างรักใคร่กลมเกลียวกันต่อ ๆ ไป ขณะที่เราคอยท่าจะได้รับใช้พระยะโฮวาอย่างมีความสุขตลอดไป.—บทเพลงสรรเสริญ 119:93.
5. กษัตริย์อาซาแสวงหาพระยะโฮวาอย่างไร?
5 ในการแสดงความเลื่อมใสต่อพระยะโฮวานั้น เราอาจทูลอธิษฐานดังนี้: “ข้าพเจ้าเป็นคนของพระองค์, ขอทรงโปรดช่วยให้รอด; ด้วยข้าพเจ้าได้แสวงหาพระโอวาทของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:94) กษัตริย์อาซาได้แสวงหาพระเจ้าและกวาดล้างการออกหากในแผ่นดินยูดาห์. ณ การชุมนุมใหญ่ในปีที่ 15 แห่งรัชกาลของอาซา (ปี 963 ก่อน ส.ศ.) ประชาชนในยูดาห์ “ทำคำสัตย์สาบานว่าจะแสวงหาพระยะโฮวา.” พระเจ้าได้ “ทรงโปรดให้เขาประสบพระองค์” และ “ทรงโปรดให้แผ่นดินมีความสุขสำราญทั่วตลอดไป.” (2 โครนิกา 15:10-15) ตัวอย่างนี้น่าจะกระตุ้นใครก็ตามที่ลอยห่างจากประชาคมคริสเตียนให้แสวงหาพระเจ้าอีกครั้ง. พระองค์จะอวยพรและคุ้มครองทุกคนที่กลับมาร่วมสมทบกับประชาชนของพระองค์.
6. แนวทางการกระทำแบบไหนจะปกป้องเราไว้จากอันตรายฝ่ายวิญญาณ?
6 พระคำของพระยะโฮวาทำให้เรามีสติปัญญาที่สามารถปกป้องเราไว้จากอันตรายฝ่ายวิญญาณ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:97-104) ข้อบัญญัติของพระเจ้าทำให้เราฉลาดกว่าศัตรู. การเชื่อฟังข้อเตือนใจของพระองค์ทำให้เรามีความหยั่งเห็นเข้าใจ และ ‘การถือรักษาพระโอวาทของพระองค์ทำให้เรามีความเข้าใจมากกว่าคนชรา.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:98-100) หากพระดำรัสของพระยะโฮวามีรส “หวานยิ่งกว่าน้ำผึ้ง” สำหรับเรา เราจะเกลียดชังและหลีกเลี่ยง “ทางทุจริตทุกประการ.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:103, 104) นี่จะปกป้องเราจากอันตรายฝ่ายวิญญาณเมื่อเผชิญกับผู้คนในสมัยสุดท้ายนี้ที่จองหอง, ดุร้าย, และขาดความเลื่อมใสพระเจ้า.—2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.
โคมสำหรับเท้าของเรา
7, 8. เราต้องทำอะไรเพื่อให้เป็นไปตามที่กล่าวไว้ในบทเพลงสรรเสริญ 119:105?
7 พระวจนะของพระเจ้าเป็นแหล่งความสว่างฝ่ายวิญญาณที่วางใจได้เสมอ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:105-112) ไม่ว่าเราเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมหรือเป็น “แกะอื่น” สหายของพวกเขา เราประกาศให้คนอื่น ๆ รู้ว่า “พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพเจ้า, และเป็นแสงสว่างตามทางของข้าพเจ้า.” (โยฮัน 10:16; บทเพลงสรรเสริญ 119:105) พระวจนะของพระเจ้าเป็นดุจโคมส่องสว่างทางของเรา เราจึงไม่สะดุดล้มทางฝ่ายวิญญาณ. (สุภาษิต 6:23) กระนั้น เราเองต้องให้พระวจนะของพระยะโฮวาเป็นโคมสำหรับเท้าของเรา.
8 เราต้องยืนหยัดมั่นคงเหมือนอย่างผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 119. ท่านตั้งใจแน่วแน่ที่จะไม่หลงไปจากข้อบังคับของพระเจ้า. ท่านบอกว่า “ข้าพเจ้าปฏิญาณไว้แล้ว, และรับรองไว้แล้ว, ว่าจะประพฤติตามกฎอันยุติธรรมของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:106) ขออย่าให้เราประเมินค่าการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำกับการเข้าร่วมประชุมคริสเตียนไว้ต่ำเกินไป.
9, 10. เราทราบได้อย่างไรว่า มีทางเป็นไปได้ที่ผู้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาจะ “หลงเจิ่นจากข้อบังคับของพระองค์” แต่จะป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
9 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ‘ไม่หลงเจิ่นจากข้อบังคับของพระเจ้า’ แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นได้กับผู้ที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาแล้ว. (บทเพลงสรรเสริญ 119:110, ฉบับแปลใหม่) กษัตริย์ซะโลโมหลงไป แม้ว่าท่านเป็นคนในชาติที่ได้อุทิศแด่พระยะโฮวาและเดิมทีก็เคยได้ประพฤติตามสติปัญญาที่ได้จากพระเจ้า. “ถึงกระนั้นหญิงชาวต่างประเทศยังได้พาท่านให้หลงกระทำผิด” โดยชักจูงท่านให้นมัสการพระเจ้าเทียมเท็จ.—นะเฮมยา 13:26; 1 กษัตริย์ 11:1-6.
10 ซาตาน “พรานดักนก” วางกับดักไว้มากมาย. (บทเพลงสรรเสริญ 91:3, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น ผู้ที่เคยร่วมนมัสการกับเรามาก่อนอาจพยายามชักจูงเราให้หลงออกจากทางแห่งความสว่างฝ่ายวิญญาณไปสู่ความมืดมิดแห่งการออกหาก. ท่ามกลางคริสเตียนในเมืองทิอาทิรา (ธุอาไตระ) มี “หญิงชื่ออีซาเบล” ซึ่งคงเป็นผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ชักนำสมาชิกคนอื่น ๆ ในประชาคมให้บูชารูปเคารพและทำผิดประเวณี. พระเยซูไม่ยอมให้กับความชั่วเหล่านั้น และเราก็ไม่ควรยอมให้เช่นกัน. (วิวรณ์ 2:18-22; ยูดา 3, 4) ฉะนั้น ขอให้เราอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา เพื่อเราจะไม่หลงไปจากข้อบังคับของพระองค์ แต่คงอยู่ในความสว่างของพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 119:111, 112.
ได้รับการค้ำจุนจากพระคำของพระเจ้า
11. ตามที่กล่าวในบทเพลงสรรเสริญ 119:119 พระเจ้าทรงมองคนชั่วอย่างไร?
11 ถ้าเราไม่หันเหไปจากกฎของพระเจ้า พระองค์จะค้ำจุนเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 119:113-120) เราไม่เห็นชอบกับ “คนสองใจ [“ไม่กระตือรือร้น,” ล.ม.]” เช่นเดียวกับที่พระเยซูไม่เห็นชอบผู้ที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนในทุกวันนี้ที่เป็นแต่อุ่น ๆ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:113; วิวรณ์ 3:16) เนื่องจากเรารับใช้พระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจ พระองค์จึงเป็น ‘ที่กำบังของเรา’ และจะทรงค้ำจุนเรา. พระองค์จะ “โยนทุกคนที่เลี่ยงกฎของพระองค์ทิ้งไป” ด้วยเหตุที่พวกเขาใช้อุบายล่อลวง. (บทเพลงสรรเสริญ 119:114, 117, 118, ล.ม.; สุภาษิต 3:32) พระองค์ถือว่าคนชั่วเหล่านั้นเป็นดุจ “ขี้แร่”—สิ่งไม่บริสุทธิ์ที่ถูกขจัดออกจากโลหะที่มีค่า เช่น เงินและทองคำ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:119; สุภาษิต 17:3) ขอให้เราแสดงให้เห็นเสมอว่าเรารักข้อเตือนใจของพระเจ้า เพราะเราไม่อยากถูกนับรวมเข้ากับคนชั่วในกองขี้แร่ที่จะถูกทำลายนั้นอย่างแน่นอน!
12. ทำไมความเกรงกลัวพระยะโฮวาจึงนับว่าสำคัญ?
12 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “เนื้อหนังของข้าพเจ้าสั่นอยู่เพราะเกรงกลัวพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:120) ความเกรงกลัวพระเจ้าในทางที่ก่อประโยชน์ ซึ่งแสดงออกด้วยการไม่ทำสิ่งที่พระองค์ไม่พอพระทัยนั้นนับว่าสำคัญ หากเราต้องการให้พระองค์ค้ำจุนเราฐานะที่เป็นผู้รับใช้ของพระองค์. ความยำเกรงพระยะโฮวากระตุ้นโยบให้ดำเนินชีวิตด้วยความชอบธรรม. (โยบ 1:1; 23:15) ความเกรงกลัวพระเจ้าสามารถช่วยเราให้ยืนหยัดอยู่ในแนวทางที่พระเจ้าพอพระทัย ไม่ว่าเราจะต้องอดทนกับสิ่งใดก็ตาม. แต่เพื่อจะมีความเพียรอดทน เราต้องอธิษฐานอย่างจริงใจด้วยความเชื่อ.—ยาโกโบ 5:15.
อธิษฐานด้วยความเชื่อ
13-15. (ก) ทำไมเราเชื่อมั่นได้ว่าคำอธิษฐานของเราจะได้รับคำตอบ? (ข) เราจะได้รับการช่วยเหลือเช่นไรหากเราไม่รู้ว่าจะกล่าวอะไรในคำอธิษฐาน? (ค) จงยกตัวอย่างข้อความจากบทเพลงสรรเสริญ 119:121-128 ที่อาจตรงกับ ‘ความคร่ำครวญ’ ของเราที่ “ไม่อาจกล่าวเป็นถ้อยคำ” ในคำอธิษฐาน.
13 เราสามารถอธิษฐานด้วยความเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะช่วยเหลือเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 119:121-128) เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ เรามั่นใจได้ว่าคำอธิษฐานของเราจะได้รับคำตอบ. เพราะเหตุใด? เพราะเรารักข้อบัญญัติของพระเจ้า “ยิ่งกว่าทองคำ ยิ่งกว่าทองบริสุทธิ์.” ยิ่งกว่านั้น ‘เราเห็นว่าข้อบังคับของพระองค์ทุกข้อที่เกี่ยวกับทุกเรื่องล้วนถูกต้อง.’—บทเพลงสรรเสริญ 119:127, 128, ล.ม.
14 พระยะโฮวาสดับคำวิงวอนของเรา เนื่องจากเราอธิษฐานด้วยความเชื่อ อีกทั้งยังประพฤติตามข้อบังคับของพระองค์อย่างถี่ถ้วน. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) แต่หากบางครั้งเรามีปัญหามากมายที่ทำให้สับสนจนเราไม่รู้ว่าจะกล่าวอะไรในคำอธิษฐานล่ะ? ถ้าเป็นอย่างนั้น “พระวิญญาณทรงช่วยขอแทน ด้วยการคร่ำครวญซึ่งไม่อาจกล่าวเป็นถ้อยคำ.” (โรม 8:26, 27, ฉบับแปล 2002) ในโอกาสเช่นนั้น พระเจ้าทรงรับเอาข้อความในพระคัมภีร์เป็นคำอธิษฐานที่ตรงกับความจำเป็นของเรา.
15 พระคัมภีร์บรรจุคำอธิษฐานและถ้อยคำพรรณนาความรู้สึกไว้มากมาย ซึ่งอาจตรงกับ ‘ความคร่ำครวญ’ ของเราที่ “ไม่อาจกล่าวเป็นถ้อยคำ.” ขอพิจารณาบทเพลงสรรเสริญ 119:121-128 (ล.ม.) เป็นตัวอย่าง. ถ้อยคำเหล่านั้นอาจนำมาใช้ได้กับสภาพการณ์ของเรา. ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากลัวจะถูกหลอกลวง เราอาจทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าแบบเดียวกับที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ทำ. (ข้อ 121-123) หากเราต้องทำการตัดสินใจที่ยาก เราก็อาจอธิษฐานขอพระวิญญาณของพระยะโฮวาช่วยเราระลึกถึงข้อเตือนใจต่าง ๆ ของพระองค์เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ. (ข้อ 124, 125) แม้ว่าเรา “เกลียดชังแนวทางทุจริตทุกอย่าง” ก็ตาม แต่เรายังอาจต้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าไม่ให้เราพ่ายต่อการล่อใจให้ละเมิดกฎหมายของพระองค์. (ข้อ 126-128) หากเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน ข้อความที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นอาจผุดขึ้นมาในความคิดของเราขณะที่ทูลอธิษฐานต่อพระยะโฮวา.
รับประโยชน์จากข้อเตือนใจของพระยะโฮวา
16, 17. (ก) เหตุใดเราจำเป็นต้องได้รับข้อเตือนใจจากพระเจ้า และเราควรมีทัศนะเช่นไรต่อข้อเตือนใจดังกล่าว? (ข) คนอื่นอาจคิดอย่างไรกับเรา แต่สิ่งที่สำคัญจริง ๆ คืออะไร?
16 เพื่อพระเจ้าจะสดับคำอธิษฐานและพอพระทัยเรา เราต้องเชื่อฟังข้อเตือนใจของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 119:129-136) เนื่องจากเราลืมสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย เราจึงจำเป็นต้องได้รับข้อเตือนใจอันดียิ่งจากพระยะโฮวา ซึ่งทำให้เราระลึกถึงโอวาทและข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระองค์. แน่นอน เราชื่นชอบความสว่างฝ่ายวิญญาณที่มาจากการได้รับความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับพระคำของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 119:129, 130) เราหยั่งรู้ค่าด้วยที่พระยะโฮวา ‘ให้แสงสว่างแห่งพระพักตร์ของพระองค์ส่องมาแก่เรา’ ด้วยความโปรดปราน แม้ว่า ‘น้ำตาของเราไหลออกมากมาย’ ที่เห็นคนอื่น ๆ ฝ่าฝืนกฎหมายของพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 119:135, 136; อาฤธโม 6:25.
17 เรามั่นใจได้ว่าจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าเรื่อยไป หากเราเชื่อฟังข้อเตือนใจอันชอบธรรมของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 119:137-144) ฐานะผู้รับใช้พระยะโฮวา เรายอมรับว่าพระองค์มีสิทธิ์ที่จะให้ข้อเตือนใจอันชอบธรรมแก่เราและคาดหมายให้เราเชื่อฟังข้อบัญญัติเหล่านี้. (บทเพลงสรรเสริญ 119:138, ล.ม.) เนื่องจากผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้เชื่อฟังข้อบัญญัติของพระเจ้า แล้วทำไมท่านจึงกล่าวว่า “ข้าพระองค์ต่ำต้อยและเป็นที่ดูถูก”? (บทเพลงสรรเสริญ 119:141, ฉบับแปลใหม่) ดูเหมือนว่าท่านพาดพิงถึงทัศนะที่พวกศัตรูมีต่อท่าน. หากเราไม่อะลุ่มอล่วยจุดยืนเพื่อยืนหยัดในความชอบธรรม คนอื่น ๆ อาจดูหมิ่นเหยียดหยามเรา. ถึงกระนั้น สิ่งที่สำคัญจริง ๆ ก็คือ พระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรเราด้วยความโปรดปราน เนื่องจากเราดำเนินชีวิตประสานกับข้อเตือนใจอันชอบธรรมของพระองค์.
ปลอดภัยและมีสันติสุข
18, 19. การถือรักษาข้อเตือนใจของพระเจ้าจะก่อผลเช่นไร?
18 การถือรักษาข้อเตือนใจของพระเจ้าช่วยให้เราใกล้ชิดพระองค์อยู่เสมอ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:145-152) เนื่องจากเราเอาใจใส่ข้อเตือนใจของพระยะโฮวา เราจึงรู้ว่าเราสามารถร้องทูลพระองค์ด้วยสุดหัวใจ และคาดหวังได้ว่าพระองค์จะสดับฟัง. เราอาจตื่นขึ้น “ก่อนรุ่งเช้า” และทูลขอความช่วยเหลือ. นั่นเป็นเวลาที่เหมาะเสียจริง ๆ สำหรับอธิษฐาน! (บทเพลงสรรเสริญ 119:145-147) พระเจ้าทรงสถิตอยู่ใกล้เราด้วย เนื่องจากเราหลีกเลี่ยงความประพฤติที่หละหลวมและเรามองว่าพระคำของพระองค์เป็นความจริงเช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงมอง. (บทเพลงสรรเสริญ 119:150, 151; โยฮัน 17:17) สัมพันธภาพระหว่างเรากับพระยะโฮวาค้ำจุนเราในโลกที่วุ่นวายนี้และจะช่วยเหลือเราผ่านพ้นสงครามใหญ่ของพระองค์ ณ อาร์มาเก็ดดอน.—วิวรณ์ 7:9, 14; 16:13-16.
19 เนื่องจากเรามีความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อพระคำของพระเจ้า เราจึงประสบความปลอดภัยแท้. (บทเพลงสรรเสริญ 119:153-160) ต่างจากคนชั่ว เรา ‘ไม่เขวไปจากข้อเตือนใจของพระยะโฮวา.’ เรารักข้อบังคับของพระเจ้า เราจึงรู้สึกปลอดภัยอยู่ภายใต้ความกรุณารักใคร่ของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 119:157-159, ล.ม.) ข้อเตือนใจของพระยะโฮวากระตุ้นความจำของเราให้ระลึกขึ้นได้ถึงข้อเรียกร้องของพระองค์สำหรับสถานการณ์เฉพาะแต่ละอย่าง. ในอีกด้านหนึ่ง ข้อบังคับหรือพระบัญชาของพระเจ้าก็คือคำชี้นำจากผู้มีอำนาจ และเราเต็มใจยอมรับสิทธิ์ของพระผู้สร้างที่จะชี้นำเรา. เนื่องจากหยั่งเห็นว่า ‘ลักษณะสำคัญแห่งพระคำของพระเจ้าคือความจริง’ และตระหนักว่าเรากำหนดก้าวเท้าของเราเองไม่ได้ เราจึงรับการชี้นำจากพระองค์ด้วยความเต็มใจ.—บทเพลงสรรเสริญ 119:160, ล.ม.; ยิระมะยา 10:23.
20. เหตุใดเราจึงมี “สันติสุขมากมาย”?
20 ความรักต่อกฎหมายของพระยะโฮวาทำให้เรามีสันติสุขมากมาย. (บทเพลงสรรเสริญ 119:161-168) การข่มเหงไม่ได้ทำให้เราสูญเสีย “สันติสุขแห่งพระเจ้า” ซึ่งหาอะไรเปรียบมิได้. (ฟิลิปปอย 4:6, 7) เราหยั่งรู้ค่ากฎของพระยะโฮวามากจนเราสรรเสริญพระองค์บ่อยครั้ง—“วันละเจ็ดครั้ง.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:161-164) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงว่า “คนที่รักกฎหมายของพระองค์มีสันติสุขมากมาย และไม่มีสิ่งใดทำให้เขาสะดุดล้ม.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:165, ล.ม.) ถ้าเราแต่ละคนรักและปฏิบัติตามกฎหมายของพระยะโฮวา เราจะไม่สะดุดทางฝ่ายวิญญาณเพราะสิ่งที่คนอื่นทำหรือจะด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม.
21. ตัวอย่างอะไรบ้างจากพระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องสะดุดหากมีปัญหาเกิดขึ้นในประชาคม?
21 หลายคนที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลไม่ยอมให้สิ่งใดทำให้พวกเขาสะดุดหยุดลงกลางคัน. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนที่ชื่อฆาโยไม่สะดุด แต่ “ดำเนินอยู่ในความจริงต่อ ๆ ไป” ทั้ง ๆ ที่ดิโอเตรเฟประพฤติอย่างที่ไม่มีความนับถือต่อพระเจ้า. (3 โยฮัน 1-3, 9, 10, ล.ม.) เปาโลเตือนสตรีคริสเตียนชื่อยุโอเดียกับซุนตุเคให้ “มีจิตต์ใจปรองดองกันในองค์พระผู้เป็นเจ้า” เพราะดูเหมือนทั้งคู่มีปัญหาระหว่างกันอยู่. ดูเหมือนว่าพวกเขาได้รับความช่วยเหลือให้แก้ปัญหาและทั้งสองรับใช้พระยะโฮวาต่อไปอย่างซื่อสัตย์. (ฟิลิปปอย 4:2, 3) ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องสะดุดหากมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นในประชาคม. ขอให้เรามุ่งความสำคัญไปที่การปฏิบัติตามข้อบังคับของพระยะโฮวา และระลึกเสมอว่า ‘ทางประพฤติทั้งปวงของเราอยู่ตรงพระพักตร์ของพระองค์.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:168; สุภาษิต 15:3) ฉะนั้น จึงไม่มีสิ่งใดจะทำให้เราสูญเสีย “สันติสุขมากมาย” ไปอย่างถาวร.
22. (ก) ถ้าเราเชื่อฟังพระเจ้า เราจะมีสิทธิพิเศษอะไร? (ข) เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อบางคนที่หลงไปจากประชาคมคริสเตียน?
22 ถ้าเราเชื่อฟังพระยะโฮวาเสมอ เราจะมีสิทธิพิเศษที่จะได้สรรเสริญพระองค์ต่อ ๆ ไป. (บทเพลงสรรเสริญ 119:169-176) เมื่อดำเนินชีวิตประสานกับกฎของพระเจ้า เราไม่เพียงแต่จะประสบความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณ แต่ ‘ริมฝีปากของเราพร่ำกล่าวคำสรรเสริญพระยะโฮวาอยู่เสมอ.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:169-171, 174, ล.ม.) นี่เป็นสิทธิพิเศษยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เราจะมีได้ในสมัยสุดท้ายนี้. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญต้องการจะมีชีวิตอยู่ต่อ ๆ ไปและสรรเสริญพระยะโฮวาเรื่อยไป แต่ในทางใดทางหนึ่งที่ไม่ได้บอกไว้ ท่าน “หลงไปดุจแกะหลง.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:175, 176) บางคนซึ่งหลงไปจากประชาคมคริสเตียนอาจยังคงรักพระเจ้าและอาจต้องการสรรเสริญพระองค์อยู่. ดังนั้น ขอให้เราทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือคนเหล่านั้น เพื่อพวกเขาจะกลับมาประสบความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณอีกครั้ง และได้รับความยินดีจากการสรรเสริญพระยะโฮวาร่วมกับประชาชนของพระองค์.—เฮ็บราย 13:15; 1 เปโตร 5:6, 7.
แสงสว่างตลอดทางของเรา
23, 24. คุณได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากเพลงสรรเสริญบท 119?
23 เพลงสรรเสริญบท 119 เป็นประโยชน์แก่เราหลายทาง. ตัวอย่างเช่น สามารถกระตุ้นเราให้วางใจพระเจ้ายิ่งขึ้น เนื่องจากเพลงสรรเสริญบทนี้แสดงให้เห็นว่า ความสุขแท้เกิดจาก ‘การดำเนินในกฎหมายของพระยะโฮวา.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:1, ล.ม.) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเตือนใจเราว่า ‘ลักษณะสำคัญแห่งพระคำของพระเจ้าคือความจริง.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:160, ล.ม.) และข้อเท็จจริงนี้น่าจะทำให้เราหยั่งรู้ค่าพระคำของพระเจ้าที่มีบันทึกไว้ทั้งหมดมากยิ่งขึ้น. การไตร่ตรองเพลงสรรเสริญบท 119 น่าจะกระตุ้นเราให้ขยันศึกษาพระคัมภีร์. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ทูลขอพระเจ้าครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้รู้ข้อกฎหมายของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:12, 68, 135) ท่านทูลขอด้วยว่า “ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้มีปัญญาและความรู้อันดี; เพราะข้าพเจ้าเชื่อมั่นในข้อบัญญัติของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:66) เราควรอธิษฐานในทำนองเดียวกันนั้น.
24 คำสอนของพระยะโฮวาทำให้เป็นไปได้ที่เราจะมีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระองค์. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึงตนเองหลายต่อหลายครั้งว่าเป็นผู้ทาสหรือผู้รับใช้ของพระเจ้า. ที่จริง ท่านตรัสถึงพระยะโฮวาด้วยถ้อยคำที่จับใจว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:17, 65, 94, 122, 125; โรม 14:8) การได้รับใช้และสรรเสริญพระยะโฮวาฐานะที่เป็นพยานคนหนึ่งของพระองค์นับว่าเป็นเกียรติอย่างแท้จริง! (บทเพลงสรรเสริญ 119:7) คุณกำลังรับใช้พระเจ้าด้วยความชื่นชมยินดีในฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักรไหม? ถ้าใช่ คุณก็มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะค้ำจุนและอวยพรคุณต่อ ๆ ไปในงานอันมีเกียรตินี้ หากว่าคุณวางใจพระคำของพระองค์และให้พระคำนั้นส่องสว่างทางของคุณเสมอ.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ทำไมเราควรชื่นใจยินดีในพระคำของพระเจ้า?
• พระคำของพระเจ้าค้ำจุนเราอย่างไร?
• เราได้ประโยชน์ในทางใดบ้างจากข้อเตือนใจของพระยะโฮวา?
• เหตุใดประชาชนของพระยะโฮวาจึงปลอดภัยและมีสันติสุข?
[ภาพหน้า 16]
พระวจนะของพระเจ้าเป็นแหล่งความสว่างฝ่ายวิญญาณ
[ภาพหน้า 17]
ถ้าเรารักข้อเตือนใจของพระยะโฮวา พระองค์จะไม่ถือว่า เราเป็นดุจ “ขี้แร่”
[ภาพหน้า 18]
หากเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน ข้อความที่เป็นประโยชน์อาจผุดขึ้นมาในความคิดได้ไม่ยากขณะเมื่อเราทูลอธิษฐาน