ชีวิตนิรันดร์เป็นไปได้จริง ๆ ไหม?
“ท่านอาจารย์, ข้าพเจ้าจะต้องทำดีประการใดจึงจะได้ชีวิตนิรันดร์?”—มัดธาย 19:16.
1. อาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวกับช่วงชีวิตของมนุษย์เรา?
กษัตริย์เซอร์เซสที่ 1 แห่งเปอร์เซีย ผู้เป็นที่รู้จักในคัมภีร์ไบเบิลในนามอะหัศวะโรศ กำลังตรวจทัพก่อนทำศึกในปี 480 ก่อนสากลศักราช. (เอศเธระ 1:1, 2) ตามที่เฮโรโดทุสนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกได้กล่าวไว้ กษัตริย์องค์นี้น้ำตาไหลพรากขณะที่มองดูคนของเขา. ทำไมหรือ? เซอร์เซสกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกหดหู่เมื่อใคร่ครวญถึงช่วงชีวิตอันแสนสั้นของมนุษย์. ในบรรดาชายทั้งหมดนี้ ไม่มีสักคนเดียวจะมีชีวิตอยู่ในอีกร้อยปีข้างหน้า.” คุณก็คงสังเกตเหมือนกันว่าชีวิตนี้สั้นอย่างน่าเวทนาและเห็นด้วยว่าไม่มีใครอยากแก่, ป่วย, และตาย. จะวิเศษสักเพียงใดหากเราสามารถมีชีวิตที่สมบูรณ์แข็งแรงอย่างคนหนุ่มและมีความสุข!—โยบ 14:1, 2.
2. หลายคนมีความหวังเช่นไร และเพราะเหตุใด?
2 น่าสังเกตทีเดียวที่วารสาร เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ฉบับ 28 กันยายน 1997 ลงบทความเด่นที่ชื่อ “พวกเขาต้องการมีชีวิตอยู่.” บทความนี้กล่าวถึงนักวิจัยผู้หนึ่งซึ่งกล่าวว่า “ผมเชื่อจริง ๆ ว่าพวกเราอาจเป็นคนชั่วอายุแรกที่สามารถมีชีวิตตลอดไป”! คุณก็อาจเชื่อว่าชีวิตนิรันดร์เป็นไปได้. คุณอาจเชื่อเช่นนั้นเพราะคัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่าเราจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกนี้. (บทเพลงสรรเสริญ 37:29; วิวรณ์ 21:3, 4) แต่บางคนเชื่อว่าชีวิตตลอดไปเป็นไปได้เนื่องด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือจากที่พบในคัมภีร์ไบเบิล. การพิจารณาเหตุผลสองประการจะช่วยเราให้ตระหนักว่าชีวิตนิรันดร์เป็นไปได้จริง ๆ.
ออกแบบไว้ให้มีชีวิตตลอดไป
3, 4. (ก) ทำไมบางคนเชื่อว่าเราน่าจะสามารถมีชีวิตตลอดไป? (ข) ดาวิดกล่าวไว้อย่างไรเกี่ยวกับการก่อกำเนิดตัวท่าน?
3 เหตุผลหนึ่งที่หลายคนเชื่อว่ามนุษย์น่าจะสามารถมีชีวิตตลอดไปนั้นเกี่ยวข้องกับวิธีอันน่าอัศจรรย์ที่เราถูกสร้างขึ้น. ตัวอย่างเช่น วิธีที่เราก่อกำเนิดขึ้นมาภายในครรภ์มารดานับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างแท้จริง. ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำคนหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการแก่ลงเขียนไว้ว่า “หลังจากทำการอัศจรรย์ซึ่งนำพาพวกเราตั้งแต่การปฏิสนธิจนคลอดออกมา แล้วก็เติบโตถึงวัยแรกรุ่นและเป็นผู้ใหญ่แล้ว ธรรมชาติกลับไม่เลือกที่จะคิดค้นสิ่งซึ่งดูเหมือนเป็นกลไกพื้นฐานที่ดูเหมือนว่าง่ายกว่า เพื่อจะธำรงกระบวนการอัศจรรย์ดังกล่าวให้คงอยู่ตลอดไป.” ถูกแล้ว เมื่อพิจารณาโครงสร้างอันน่าอัศจรรย์ของเราแล้ว คำถามนี้ก็ยังคงอยู่ ที่ว่า ทำไมเราจึงต้องตาย?
4 หลายพันปีมาแล้ว ดาวิดผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลพินิจพิจารณาสิ่งอันน่าอัศจรรย์ดังกล่าว แม้ว่าท่านไม่อาจเห็นถึงภายในครรภ์ได้จริง ๆ ดังที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสามารถเห็น. ดาวิดครุ่นคิดเกี่ยวกับการก่อกำเนิดของตัวท่านเอง เมื่อท่านเขียนว่าท่านถูก ‘ปิดคลุมไว้ในครรภ์มารดาของท่าน.’ ท่านกล่าวว่า ในเวลานั้น ‘ไตของท่านถูกสร้างขึ้น.’ ท่านยังได้กล่าวถึงการสร้าง “กระดูก” ด้วย ซึ่งดังที่ท่านได้กล่าวไว้ “เมื่อข้าพเจ้าถูกสร้างในที่ลับ.” แล้วดาวิดก็กล่าวถึง “ตัวอ่อนของข้าพเจ้า” และกล่าวเกี่ยวกับตัวอ่อนภายในครรภ์มารดาของท่านว่า “ทุกส่วนของตัวอ่อนนั้นถูกเขียนลง.”—บทเพลงสรรเสริญ 139:13-16, ล.ม.
5. มีสิ่งอันน่าอัศจรรย์อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการก่อกำเนิดตัวเราในครรภ์มารดา?
5 เห็นได้ชัดว่า ไม่มีแบบพิมพ์เขียวซึ่งเขียนด้วยมือจริง ๆ ตามตัวอักษรสำหรับการก่อกำเนิดตัวดาวิดภายในครรภ์มารดาท่าน. แต่เมื่อดาวิดใคร่ครวญถึงการสร้าง “ไต,” “กระดูก,” และส่วนประกอบอื่น ๆ ของร่างกายท่าน ท่านรู้สึกว่าการพัฒนาส่วนประกอบเหล่านี้เป็นไปตามแบบ—ราวกับว่า ทุกสิ่งถูก “เขียนลง.” ประหนึ่งว่าเซลล์ที่ปฏิสนธิขึ้นภายในตัวมารดาท่านมีห้องขนาดใหญ่ที่เต็มด้วยหนังสือซึ่งให้คำสั่งอย่างละเอียดเกี่ยวกับวิธีสร้างทารกมนุษย์ และคำสั่งอันซับซ้อนเหล่านี้ก็ถูกส่งต่อ ๆ ไปยังแต่ละเซลล์ที่เกิดขึ้นมาใหม่. ด้วยเหตุนั้น วารสารโลกวิทยาศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) จึงกล่าวโดยใช้ภาษาเป็นนัยดังนี้: ‘แต่ละเซลล์ในตัวอ่อนที่กำลังพัฒนาขึ้นมานั้นมีตู้เอกสารเก็บแบบพิมพ์เขียวที่ครบถ้วน.’
6. ดังที่ดาวิดเขียนไว้ มีหลักฐานอะไรที่แสดงว่าเรา “ถูกสร้างอย่างน่าพิศวง”?
6 คุณเคยคิดถึงการทำงานอย่างน่าอัศจรรย์ของร่างกายเราไหม? นักชีววิทยา จาเรด ไดมอนด์ กล่าวว่า “เราเปลี่ยนเซลล์เยื่อบุลำไส้ของเราใหม่ทุก ๆ สองสามวัน, เซลล์เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะทุก ๆ สองเดือน, และเซลล์เม็ดเลือดแดงทุก ๆ สี่เดือน.” เขากล่าวสรุปดังนี้: “ธรรมชาติถอดเราออกเป็นชิ้น ๆ แล้วประกอบเรากลับเข้าที่ทุกวัน.” ที่แท้แล้ว นั่นหมายความอย่างไร? ก็หมายความว่าไม่ว่าเรามีชีวิตกี่ปีก็ตาม—8 ปี, 80 ปี, หรือแม้แต่ 800 ปี—ร่างกายเราก็ยังคงสภาพหนุ่มแน่นอยู่นั่นเอง. นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งเคยกะประมาณว่า “ในหนึ่งปี อะตอมในตัวเราขณะนี้ประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์จะถูกแทนที่โดยอะตอมอื่นที่เรารับเข้าไปในรูปอากาศ, อาหาร, และน้ำดื่ม.” จริงทีเดียว เป็นดังที่ดาวิดร้องสรรเสริญ เรา “ถูกสร้างอย่างน่าพิศวง.”—บทเพลงสรรเสริญ 139:14, ล.ม.
7. เมื่อคำนึงถึงการออกแบบร่างกายของเรา บางคนได้ลงความเห็นเช่นไร?
7 เมื่อพิจารณาถึงการออกแบบร่างกายของเรา ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการแก่ลงกล่าวดังนี้: “เป็นเรื่องที่ไม่กระจ่างชัดว่าทำไมจึงมีการแก่ลงเกิดขึ้น.” ดูเหมือนว่าเราน่าจะ มีชีวิตตลอดไปจริง ๆ. และนั่นเป็นเหตุที่คนเราพยายามจะบรรลุถึงเป้าหมายนี้ให้ได้โดยอาศัยเทคโนโลยี. เมื่อไม่นานมานี้ ดร. แอลวิน ซิลเวอร์สไตน์ เขียนไว้อย่างมั่นใจในหนังสือของเขาที่ชื่อพิชิตความตาย ดังนี้: “เราจะไขปัญหาที่สำคัญของชีวิตได้. เราจะเข้าใจ . . . ว่าคนเราแก่ลงอย่างไร.” แล้วผลจะเป็นเช่นไร? เขาทำนายไว้ว่า “จะไม่มีคน ‘แก่’ อีกต่อไป เพราะความรู้ที่จะทำให้สามารถพิชิตความตายก็จะนำมาซึ่งความหนุ่มแน่นตลอดกาลด้วย.” เมื่อคำนึงถึงการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างของมนุษย์ ความคิดในเรื่องชีวิตนิรันดร์ฟังดูไกลเกินเอื้อมไหม? มีเหตุผลอีกประการหนึ่งซึ่งหนักแน่นยิ่งกว่านี้อีกที่จะเชื่อว่าชีวิตนิรันดร์เป็นไปได้.
ความปรารถนาที่จะอยู่ตลอดไป
8, 9. ความปรารถนาตามธรรมชาติอะไรที่คนเรามีอยู่ตลอดมาในประวัติศาสตร์?
8 คุณเคยสังเกตไหมว่ามนุษย์เรามีความปรารถนาตามธรรมชาติที่จะมีชีวิตตลอดไป? นายแพทย์ผู้หนึ่งเขียนในวารสารภาษาเยอรมันฉบับหนึ่งว่า “ความใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตนิรันดร์อาจเป็นความฝันที่มีมานานพอ ๆ กับมนุษยชาติ.” สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ พรรณนาถึงความเชื่อของชาวยุโรปบางกลุ่มในสมัยโบราณว่า “คนที่ทำคุณงามความดีเอาไว้จะได้มีชีวิตตลอดไปในคฤหาสน์ที่แพรวพราว หลังคามุงด้วยทองคำ.” เพื่อสนองความปรารถนาพื้นฐานที่จะมีชีวิตนิรันดร์ ผู้คนคิดกันไปไกลถึงเพียงนี้เลยทีเดียว!
9 สารานุกรมอเมริกานา ให้ข้อสังเกตว่า ที่ประเทศจีนเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้ว “จักรพรรดิและสามัญชนทั่วไป ภายใต้การนำของนักบวชลัทธิเต๋า ละเลยการทำงานหันมาแสวงหายาอายุวัฒนะ”—หรือที่เรียกกันว่าน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว. อันที่จริง ตลอดประวัติศาสตร์ ผู้คนเชื่อกันว่าโดยการบริโภคส่วนผสมชนิดต่าง ๆ หรือแม้แต่โดยการดื่มน้ำบางชนิด พวกเขาจะสามารถคงความหนุ่มเอาไว้ได้.
10. มีความพยายามเช่นไรในสมัยปัจจุบันเพื่อยืดอายุให้ยืนยาวออกไป?
10 ความพยายามในสมัยปัจจุบันเพื่อตอบสนองความต้องการฝังลึกของมนุษย์เราที่จะมีชีวิตนิรันดร์ก็เด่นชัดไม่แพ้กัน. ตัวอย่างหนึ่งที่นับว่าเด่นได้แก่วิธีการแช่แข็งคนที่เสียชีวิตเนื่องด้วยโรคบางอย่าง. การทำเช่นนี้ก็ด้วยความหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูชีวิตได้ในวันข้างหน้า เมื่อได้มีการพัฒนาจนสามารถรักษาโรคนั้นได้แล้ว. คนหนึ่งที่เป็นผู้สนับสนุนวิธีการนี้ ซึ่งเรียกกันว่าไครโอนิกส์ เขียนดังนี้: “ถ้าการมองในแง่ดีของเราเกิดเป็นจริงขึ้นมา และได้มีการเรียนรู้วิธีรักษาหรือซ่อมแซมผลเสียหายทุกอย่าง—รวมทั้งความอ่อนเพลียในวัยชราด้วย—คนที่ ‘ตาย’ ในเวลานี้ก็จะมีชีวิตยืนยาวไม่รู้สิ้นสุดในอนาคต.”
11. เหตุใดคนเราปรารถนาจะมีชีวิตตลอดไป?
11 คุณอาจถามว่า เหตุใดความปรารถนาชีวิตนิรันดร์นี้จึงฝังแน่นอยู่ในความคิดของเรา? เป็นเพราะ “[พระเจ้า] ทรงบรรจุนิรันดรกาลไว้ในจิตใจมนุษย์” ไหม? (ท่านผู้ประกาศ 3:11, ฉบับแปลใหม่) นับเป็นเรื่องน่าใคร่ครวญอย่างจริงจังทีเดียว! คิดดูซิ: ทำไมเราจึงมีความปรารถนาตามธรรมชาติที่จะมีชีวิตนิรันดร์หรือชีวิตตลอดไป หากไม่ใช่เพราะพระผู้สร้างทรงประสงค์ให้ความปรารถนานี้เป็นจริง? จะเป็นการแสดงความรักไหมหากพระองค์ทรงสร้างเราพร้อมกับให้มีความปรารถนาจะมีชีวิตนิรันดร์ แต่แล้วก็ทำให้เราผิดหวังโดยไม่ทรงยอมให้เราได้ตามที่เราปรารถนา?—บทเพลงสรรเสริญ 145:16.
เราควรวางใจในผู้ใด?
12. บางคนมีความมั่นใจเช่นไร แต่คุณเชื่อไหมว่าความมั่นใจเช่นนั้นมีรากฐานมั่นคง?
12 เราควรฝากความวางใจไว้ที่ไหนหรือกับสิ่งใด เพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์? กับเทคโนโลยีของมนุษย์ในศตวรรษที่ 20 หรือ 21 นี้ไหม? บทความเรื่อง “คนเราต้องการมีชีวิต” ในนิตยสารเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ กล่าวถึง “เทพเจ้า: เทคโนโลยี” และ “ความกระตือรือร้นในศักยภาพของเทคโนโลยี.” ยิ่งกว่านั้น มีการกล่าวถึงนักวิจัยผู้หนึ่งซึ่ง “มั่นอกมั่นใจมาก . . . ว่าเทคนิคการเสริมพันธุกรรมจะอยู่ในสภาพพร้อมทันเวลาที่จะช่วย [เรา] ไว้ โดยการยับยั้งการแก่ลง และก็อาจเป็นไปได้ด้วยที่จะย้อนกระบวนการนี้.” ทว่า จริง ๆ แล้วความพยายามของมนุษย์ปรากฏว่าไร้ผลโดยสิ้นเชิงในการหยุดยั้งการแก่ลงหรือในการพิชิตความตาย.
13. โครงสร้างของสมองเราบ่งบอกอย่างไรว่าเราถูกกำหนดไว้ให้มีชีวิตตลอดไป?
13 นี่หมายความไหมว่าไม่มีทางที่จะได้ชีวิตนิรันดร์? หามิได้! มีอยู่ทางหนึ่ง! โครงสร้างของสมองอันน่าทึ่งของเรา พร้อมด้วยความสามารถในการเรียนรู้แทบไม่จำกัด ควรทำให้เรามั่นใจในเรื่องนี้. นักชีววิทยาโมเลกุล เจมส์ วัตสัน เรียกสมองของเราว่า “สิ่งซับซ้อนที่สุดเท่าที่เราได้ค้นพบในเอกภพของเรา.” และนักประสาทวิทยาคนหนึ่งชื่อ ริชาร์ด เรสตัก กล่าวดังนี้: “ไม่มีที่ใดในเอกภพที่รู้จักกันซึ่งมีสิ่งใดที่คล้ายคลึงกับสมองแม้แต่นิด.” เหตุใดเราจึงมีสมองที่มีความสามารถเก็บและซึมซับข้อมูลได้เกือบไม่จำกัดและมีร่างกายซึ่งออกแบบไว้ให้ทำหน้าที่ตลอดไป ถ้าไม่มีความมุ่งหมายให้เรามีชีวิตนิรันดร์?
14. (ก) ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลให้ข้อสรุปอะไรเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์? (ข) เหตุใดเราควรไว้วางใจในพระเจ้า ไม่ใช่ในมนุษย์?
14 ดังนั้น ข้อสรุปอย่างเดียวที่สมเหตุผลและตรงความเป็นจริงที่สุดคงต้องเป็นอย่างไร? ก็คงต้องสรุปว่า เราถูกออกแบบและสร้างโดยพระผู้สร้างผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจบริบูรณ์และเชาวน์ปัญญาเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปมิใช่หรือ? (โยบ 10:8; บทเพลงสรรเสริญ 36:9; 100:3; มาลาคี 2:10; กิจการ 17:24, 25) ด้วยเหตุนั้น เราควรจะใส่ใจอย่างสุขุมมิใช่หรือต่อคำสั่งที่เขียนขึ้นโดยการดลใจของท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ท่านทั้งหลายอย่าวางใจในพวกเจ้านาย, หรือในเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ช่วยให้รอดไม่ได้”? ทำไมไม่ควรวางใจในมนุษย์? เพราะดังที่ท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนไว้ “เมื่อลมหายใจเขาขาด, เขาก็กลับคืนเป็นดินอีก; และในวันนั้นทีเดียวความคิดของเขาก็ศูนย์หายไป.” จริงทีเดียว แม้มีศักยภาพที่จะอยู่ได้ตลอดไป แต่มนุษย์เราก็ทำอะไรไม่ได้เลยเมื่อเผชิญกับความตาย. ท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญลงความเห็นในที่สุดว่า ‘ผู้ใดที่ไว้ใจในพระยะโฮวาพระเจ้าของตนก็เป็นสุข.’—บทเพลงสรรเสริญ 146:3-5.
นั่นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าจริง ๆ ไหม?
15. อะไรแสดงว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้เรามีชีวิตตลอดไป?
15 แต่คุณอาจถามว่า เป็นพระประสงค์ของพระยะโฮวาจริง ๆ ไหมที่จะให้เรามีชีวิตนิรันดร์? ใช่ เป็นเช่นนั้นจริง ๆ! พระคำของพระองค์สัญญาไว้อย่างนั้นหลายต่อหลายครั้ง. คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่า “ของประทานของพระเจ้าก็คือชีวิตนิรันดร์.” โยฮันผู้รับใช้ของพระเจ้าเขียนว่า “นี่แหละเป็นคำสัญญาซึ่ง [พระเจ้า] ได้ทรงสัญญาไว้แก่เรา, คือโปรดให้มีชีวิตนิรันดร์.” ไม่แปลกที่ชายหนุ่มผู้หนึ่งถามพระเยซูว่า “ท่านอาจารย์, ข้าพเจ้าจะต้องทำดีประการใดจึงจะได้ชีวิตนิรันดร์?” (โรม 6:23; 1 โยฮัน 2:25; มัดธาย 19:16) ที่จริง อัครสาวกเปาโลเขียนถึง “ความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร์, ซึ่งพระเจ้าผู้ตรัสมุสาไม่ได้ได้ตรัสสัญญาไว้ตั้งแต่ก่อนดึกดำบรรพ์.”—ติโต 1:2.
16. พระเจ้าอาจได้ทรงสัญญาเรื่องชีวิตนิรันดร์ “ตั้งแต่ก่อนดึกดำบรรพ์” ในความหมายเช่นไร?
16 การที่พระเจ้าทรงสัญญาเรื่องชีวิตนิรันดร์ “ตั้งแต่ก่อนดึกดำบรรพ์” นั้นหมายความอย่างไร? บางคนคิดว่าอัครสาวกเปาโลหมายความว่าก่อนมนุษย์คู่แรก คืออาดามกับฮาวา ถูกสร้างขึ้นมา พระเจ้าก็ทรงมีพระประสงค์ให้มนุษย์มีชีวิตตลอดไปอยู่แล้ว. อย่างไรก็ตาม หากเปาโลหมายถึงเวลาใดเวลาหนึ่งหลังจากที่มนุษย์ถูกสร้างแล้วและเป็นเวลาที่พระยะโฮวาทรงประกาศถึงพระประสงค์ของพระองค์ ก็ยังชัดอยู่ดีว่าพระทัยประสงค์ของพระเจ้านั้นย่อมต้องมีเรื่องชีวิตนิรันดร์สำหรับมนุษย์รวมอยู่ด้วย.
17. เหตุใดอาดามกับฮาวาจึงถูกขับออกไปจากสวนเอเดน และทำไมจึงมีการตั้งเครูบให้ประจำการตรงทางเข้า?
17 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า ในสวนเอเดน ‘พระเจ้าทรงให้ต้นไม้แห่งชีวิตงอกขึ้นจากดิน.’ เหตุผลที่ทรงให้อาดามออกไปจากสวนนั้นก็เพื่อเขาจะไม่สามารถ “ยื่นมือไปหยิบผลต้นไม้แห่งชีวิตมากินแล้วมีอายุยืน”—ชั่วนิรันดร์! หลังจากขับไล่อาดามและฮาวาออกจากสวนเอเดนแล้ว พระยะโฮวาทรงตั้ง “พวกเครูบ . . . และตั้งกระบี่เพลิงอันหนึ่งที่หมุนได้รอบทิศ ไว้เฝ้าทางที่จะเข้าไปสู่ต้นไม้แห่งชีวิตนั้น.”—เยเนซิศ 2:9; 3:22-24, ฉบับแปลใหม่.
18. (ก) การกินผลจากต้นไม้แห่งชีวิตคงจะหมายถึงอะไรสำหรับอาดามและฮาวา? (ข) การกินผลจากต้นไม้นั้นหมายถึงอะไร?
18 หากอาดามและฮาวาได้รับอนุญาตให้กินผลของต้นไม้แห่งชีวิตนั้น นั่นจะหมายถึงอะไรสำหรับเขา? ก็หมายถึงสิทธิพิเศษที่จะมีชีวิตตลอดไปในอุทยานนะซิ! ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งทึกทักว่า “ต้นไม้แห่งชีวิตคงต้องมีฤทธิ์บางอย่างซึ่งจะทำให้ร่างกายมนุษย์ได้รับการปกป้องไว้จากความทรุดโทรมของวัยชรา หรือจากความเสื่อมซึ่งนำไปถึงความตายในที่สุด.” เขาถึงกับอ้างว่า “มีสรรพคุณทางสมุนไพรในอุทยานซึ่งทำให้สามารถต้านผล” ของการแก่ชราได้. อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าต้นไม้แห่งชีวิตมีคุณสมบัติในการให้ชีวิตอยู่ในตัวเอง. แทนที่จะเป็นดังนั้น ต้นไม้นั้นเป็นเพียงเครื่องหมายที่แสดงถึงการรับรองจากพระเจ้าที่จะประทานชีวิตนิรันดร์แก่คนที่พระองค์จะทรงอนุญาตให้กินผลของต้นนั้น.—วิวรณ์ 2:7.
พระประสงค์ของพระเจ้าไม่เปลี่ยน
19. เหตุใดอาดามจึงตาย และทำไมพวกเราซึ่งเป็นลูกหลานของเขาจึงตายด้วยเหมือนกัน?
19 เมื่ออาดามทำบาป เขาสูญเสียสิทธิที่จะมีชีวิตนิรันดร์ทั้งสำหรับตัวเขาเองและสำหรับลูกหลานทั้งสิ้นที่จะเกิดมา. (เยเนซิศ 2:17) เมื่อเขากลายเป็นคนบาปอันเนื่องจากการไม่เชื่อฟัง เขากลายเป็นคนไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่อง. นับแต่นั้นมา ร่างกายของอาดามก็เหมือนกับถูกกำหนดไว้ให้พบกับความตาย. ดังที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ “ค่าจ้างของความบาปนั้นคือความตาย.” (โรม 6:23) นอกจากนั้น ลูกหลานที่ไม่สมบูรณ์ของอาดามก็เหมือนกับถูกกำหนดเอาไว้ว่าต้องพบกับความตายเช่นเดียวกัน มิใช่ชีวิตนิรันดร์. คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า “ความผิดได้เข้ามาในโลกเพราะคน ๆ เดียว [อาดาม], และความตายก็เกิดมาเพราะความผิดนั้น อย่างนั้นแหละความตายจึงได้ลามไปถึงคนทั้งปวง, เพราะคนทั้งปวงเป็นคนผิดอยู่แล้ว.”—โรม 5:12.
20. อะไรที่ชี้ว่ามนุษย์ถูกออกแบบไว้ให้มีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก?
20 แต่จะเป็นอย่างไรหากอาดามไม่ได้ทำบาป? จะเป็นอย่างไรถ้าเขาเชื่อฟังพระเจ้าและเขาได้รับอนุญาตให้กินผลจากต้นไม้แห่งชีวิต? เขาจะมีชีวิตนิรันดร์อันเป็นของประทานจากพระเจ้าที่ไหน? ในสวรรค์หรือ? ไม่ใช่! พระเจ้าไม่ได้ตรัสเลยว่าอาดามจะถูกรับไปที่สวรรค์. เขาได้รับมอบหมายให้ทำงานบนแผ่นดินโลก. คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า “พระยะโฮวาเจ้าได้ทรงบันดาลให้ต้นไม้ทุกอย่างที่งามน่าดูและที่เป็นอาหารรับประทานดีงอกขึ้นจากดิน” และบอกว่า “พระยะโฮวาเจ้าจึงให้มนุษย์นั้นอยู่ในสวนเอเดน, ให้ทำงานรักษาสวน.” (เยเนซิศ 2:9, 15) หลังจากทรงสร้างฮาวาให้เป็นคู่เคียงของอาดามแล้ว ทั้งสองก็ได้รับงานมอบหมายเพิ่มเติมบนแผ่นดินโลกนี้. พระเจ้าทรงมีพระบัญชาแก่เขาทั้งสองว่า “จงบังเกิดทวีมากขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน; จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน; จงครอบครองฝูงปลาในทะเลและฝูงนกในอากาศ, กับบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตไหวกายได้ซึ่งอยู่บนแผ่นดิน.”—เยเนซิศ 1:28.
21. มนุษย์คู่แรกมีความคาดหวังอันยอดเยี่ยมเช่นไร?
21 ขอให้คิดดูถึงความหวังอันยอดเยี่ยมบนแผ่นดินโลกนี้ที่พระบัญชาดังกล่าวของพระเจ้าเปิดโอกาสให้สำหรับอาดามและฮาวา! เขาจะเลี้ยงบุตรชายหญิงที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงให้เติบโตขึ้นในอุทยานบนแผ่นดินโลก. ขณะที่ลูก ๆ ผู้เป็นที่รักเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาก็จะร่วมกับเขาทั้งสองในการให้กำเนิดบุตรและในงานดูแลสวนที่ให้ความเพลิดเพลินเพื่อรักษาอุทยานนั้น. โดยมีสัตว์ทุกชนิดอยู่ใต้อำนาจของเขา มนุษย์เราจะอิ่มใจอย่างยิ่ง. ขอให้คิดถึงความยินดีในการขยายขอบเขตของสวนเอเดนออกไปจนในที่สุดทั่วทั้งแผ่นดินโลกกลายเป็นอุทยาน! คุณจะรู้สึกชื่นชมยินดีไหมกับการมีชีวิตอยู่กับลูก ๆ ที่สมบูรณ์ในบ้านอันสวยงามบนแผ่นดินโลกนี้ โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องการแก่ลงและความตาย? ขอให้แนวโน้มตามธรรมชาติแห่งหัวใจของคุณตอบคำถามนี้ก็แล้วกัน.
22. เหตุใดเราจึงแน่ใจได้ว่าพระเจ้าไม่ทรงเปลี่ยนพระประสงค์ของพระองค์สำหรับแผ่นดินโลก?
22 เอาละ เมื่ออาดามและฮาวาไม่เชื่อฟังและถูกขับไล่ออกจากสวนเอเดน พระเจ้าทรงเปลี่ยนพระประสงค์สำหรับมนุษย์ที่จะมีชีวิตตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลกไหม? ไม่เลย! เพราะหากพระเจ้าทรงทำเช่นนั้น ย่อมเท่ากับเป็นการยอมรับว่าพระองค์ไม่สามารถทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ดั้งเดิมของพระองค์. เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์ เพราะพระองค์เองทรงประกาศไว้ว่า “ถ้อยคำที่ออกไปจากปากของเราจะไม่ได้กลับมายังเราโดยไร้ผล, และโดยยังมิได้ทำอะไรให้สำเร็จตามความพอใจของเรา, และสัมฤทธิ์ผลสมประสงค์ดังที่เราได้ใช้มันไปทำฉันนั้น.”—ยะซายา 55:11.
23. (ก) อะไรที่ยืนยันอีกชั้นหนึ่งว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่คนที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความต่อไป?
23 ในข้อที่ว่าพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับแผ่นดินโลกไม่เคยเปลี่ยนนั้นเห็นได้ชัดจากคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งพระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่า “คนสัตย์ธรรมจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และจะอาศัยอยู่ที่นั่นต่อไปเป็นนิตย์.” แม้แต่พระเยซูคริสต์ก็ตรัสไว้ในคำเทศน์บนภูเขาว่าคนอ่อนโยนจะได้แผ่นดินโลกเป็นมรดก. (บทเพลงสรรเสริญ 37:29; มัดธาย 5:5) ทว่า เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์ได้โดยวิธีใด และเราต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตเช่นนั้น? เรื่องนี้จะมีการพิจารณากันในบทความต่อไป.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมหลายคนเชื่อว่าชีวิตนิรันดร์เป็นไปได้?
▫ อะไรน่าจะทำให้เรามั่นใจว่าเราถูกออกแบบไว้ให้มีชีวิตตลอดไป?
▫ พระประสงค์ดั้งเดิมของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติและแผ่นดินโลกคืออะไร?
▫ ทำไมเราจึงแน่ใจว่าพระเจ้าจะทรงทำให้พระประสงค์ดั้งเดิมของพระองค์สำเร็จเป็นจริง?