“ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดพินิจพิเคราะห์ดูข้าพเจ้า”
“ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดพินิจพิเคราะห์ดูข้าพเจ้า และทรงทราบหัวใจของข้าพเจ้า . . . . โปรดนำข้าพเจ้าไปในหนทางที่ดำเนินสืบไปโดยไม่มีเวลากำหนด.”—บทเพลงสรรเสริญ 139:23, 24, ล.ม.
1. พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อผู้รับใช้ของพระองค์โดยวิธีใด?
พวกเราทุกคนต้องการติดต่อเกี่ยวข้องกับบุคคลซึ่งประกอบด้วยความเข้าใจ เป็นบุคคลที่คำนึงถึงสภาพการณ์ของเรา ช่วยเหลือเมื่อเราพลาดพลั้ง เป็นบุคคลที่ไม่เรียกร้องเอาจากเราเกินกว่าที่เราจะทำได้. พระเจ้ายะโฮวาทรงปฏิบัติต่อผู้รับใช้ของพระองค์ด้วยวิธีนี้. บทเพลงสรรเสริญ 103:14 ว่าดังนี้: “พระองค์ทรงทราบร่างกายของข้าพเจ้าแล้ว; พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน.” และพระเยซูคริสต์ซึ่งสะท้อนพระบารมีคุณของพระบิดาโดยสมบูรณ์แบบก็ได้เชื้อเชิญอย่างอบอุ่นว่า “บรรดาผู้ที่ทำงานหนักและมีภาระมาก จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น. จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลาย และเรียนจากเรา เพราะเรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม และเจ้าจะได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเจ้า. เพราะแอกของเราก็พอเหมาะและภาระของเราก็เบา.”—มัดธาย 11:28-30, ล.ม.
2. จงเปรียบเทียบทัศนะของพระยะโฮวากับของมนุษย์ในเรื่อง (ก) พระเยซูคริสต์ และ (ข) สาวกของพระคริสต์.
2 ทัศนะของพระยะโฮวาเกี่ยวด้วยผู้รับใช้ของพระองค์มักจะต่างกันกับทัศนะของมนุษย์. พระองค์ทรงมองดูเรื่องราวจากแง่มุมที่ต่างออกไปและทรงคำนึงถึงแง่มุมซึ่งคนอื่นอาจไม่รู้เรื่องแม้แต่น้อย. เมื่อพระเยซูคริสต์ดำเนินอยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์ “เป็นที่ดูหมิ่น, และคนไม่คบหา.” คนเหล่านั้นที่ไม่รับพระองค์เป็นพระมาซีฮาก็ ‘หาได้นับถือพระองค์ไม่.’ (ยะซายา 53:3; ลูกา 23:18-21) แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้า พระเยซูทรงเป็น “บุตรที่รักของ [พระเจ้า]” ผู้ซึ่งพระบิดาตรัสกับพระองค์ว่า “เราชอบใจท่านมาก.” (ลูกา 3:22; 1 เปโตร 2:4) ในหมู่สาวกของพระเยซูคริสต์มีผู้คนซึ่งถูกมองว่าเป็นคนต่ำต้อย เนื่องจากพวกเขายากจนด้านวัตถุและทนรับความยากลำบากมากมาย. กระนั้น บุคคลดังกล่าวอาจเป็นคนมั่งมีในสายพระเนตรของพระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์ก็ได้. (โรม 8:35-39; วิวรณ์ 2:9) ทำไมทัศนะจึงแตกต่างกัน?
3. (ก) ทำไมทัศนะของพระยะโฮวาต่อผู้คนมักจะต่างกันลิบลับกับทัศนะของมนุษย์? (ข) ทำไมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพวกเราที่จะตรวจสอบดูว่าเราเป็นบุคคลชนิดใดภายใน?
3 ยิระมะยา 11:20 (ล.ม.) ให้คำตอบว่า ‘พระยะโฮวา . . . ทรงตรวจดูกระทั่งไตและหัวใจ.’ พระองค์ทรงเห็นสิ่งที่เราเป็นอยู่ภายใน กระทั่งแง่ต่าง ๆ แห่งบุคลิกภาพของเราซึ่งบังซ่อนไว้จากสายตาคนอื่น. ในการพิจารณาของพระองค์นั้น พระองค์ทรงให้ความสำคัญประการแรกกับคุณสมบัติและสภาพการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต่อสัมพันธภาพอันดีกับพระองค์ สิ่งเหล่านั้นซึ่งเป็นคุณประโยชน์ยืนนานที่สุดต่อพวกเรา. การที่เรารู้เช่นนี้ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น และเป็นเครื่องเตือนสติอีกด้วย. เนื่องจากพระยะโฮวาทรงสนพระทัยสิ่งที่เราเป็นอยู่ภายใน จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเราที่จะตรวจสอบตัวเองว่าเราเป็นอย่างไรภายใน หากเราจะพิสูจน์ตนเป็นบุคคลซึ่งพระองค์ประสงค์ให้อยู่ในโลกใหม่ของพระองค์. พระวจนะของพระองค์ช่วยเราที่จะทำการตรวจสอบดังกล่าว.—เฮ็บราย 4:12, 13.
ความคิดของพระเจ้าช่างประเสริฐสักเพียงไร!
4. (ก) อะไรได้กระตุ้นผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญให้ประกาศว่าความคิดของพระเจ้าเป็นสิ่งประเสริฐแก่ท่าน? (ข) ทำไมความคิดทั้งปวงของพระเจ้าจึงควรเป็นสิ่งประเสริฐแก่พวกเรา?
4 ภายหลังการคิดรำพึงถึงความลึกและความกว้างแห่งความรู้ของพระเจ้าเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระองค์ ตลอดจนพระปรีชาญาณอันเป็นเลิศของพระเจ้าในการจัดเตรียมให้ความช่วยเหลือตามที่พวกเขาจำเป็นได้รับแล้ว ดาวิดผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญเขียนไว้ว่า “ฉะนั้น ความคิดของพระองค์ช่างประเสริฐสักเพียงไรสำหรับข้าพเจ้า!” (บทเพลงสรรเสริญ 139:17ก, ล.ม.) ความคิดเหล่านั้น ซึ่งเปิดเผยและบันทึกลงไว้ในพระวจนะของพระองค์ ช่างเฉียบแหลมเลิศล้ำกว่าความคิดของมนุษย์ ไม่ว่าความคิดเห็นของเขาอาจดูเหมือนว่าฉลาดหลักแหลมก็ตาม. (ยะซายา 55:8, 9) ความคิดของพระเจ้าช่วยให้เรามุ่งความสนใจไปสู่สิ่งสำคัญจริง ๆ ในชีวิตและเป็นคนกระตือรือร้นในการรับใช้พระองค์. (ฟิลิปปอย 1:9-11) ความคิดเหล่านั้นสอนเราให้มองสิ่งต่าง ๆ อย่างที่พระเจ้ามอง ทั้งจะช่วยให้เราซื่อตรงต่อตนเอง ยอมรับกับตัวเองด้วยสุจริตใจว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นคนชนิดไหน. คุณเต็มใจทำอย่างนั้นไหม?
5. (ก) พระคำของพระเจ้าเตือนพวกเราให้ป้องกันอะไร “ยิ่งกว่าสิ่งอื่น”? (ข) บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับคายินนั้นจะเป็นคุณประโยชน์อย่างไรต่อเรา? (ค) แม้นเราไม่ได้อยู่ใต้บัญญัติของโมเซ แต่ข้อบัญญัตินั้นช่วยเราอย่างไรที่จะเข้าใจว่าพระยะโฮวาทรงพอพระทัยในสิ่งใด?
5 มนุษย์มักเอนไปในทางที่จะเน้นอากัปกิริยาภายนอกเกินควร แต่พระคัมภีร์แนะนำเราดังนี้: “จงป้องกันรักษาหัวใจของเจ้าไว้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นที่ควรปกป้อง.” (สุภาษิต 4:23, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้ทำสิ่งนั้นทั้งโดยการสั่งสอนและโดยตัวอย่าง. พระคัมภีร์แจ้งว่าคายินได้ถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าอย่างพอเป็นพิธีขณะที่ในหัวใจของเขาพล่านด้วยความโกรธ แล้วด้วยการเกลียดชัง ต่อเฮเบลน้องชายของตัว. และพระคัมภีร์ได้เตือนมิให้เราเป็นเหมือนคายิน. (เยเนซิศ 4:3-5; 1 โยฮัน 3:11, 12) พระคัมภีร์บันทึกข้อเรียกร้องการเชื่อฟังตามที่ระบุไว้ในกฎหมายของโมเซ. แต่พระคัมภีร์เน้นด้วยว่าข้อเรียกร้องสำคัญที่สุดแห่งกฎหมายนั้นคือให้คนเหล่านั้นซึ่งนมัสการพระยะโฮวาต้องรักพระองค์สุดหัวใจ, สุดความคิด, สุดจิตวิญญาณ, และสุดกำลัง; และระบุว่าสำคัญรองลงมาได้แก่พระบัญญัติที่กำชับให้พวกเขารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง.—พระบัญญัติ 5:32, 33; มาระโก 12:28-31.
6. ในการใช้สุภาษิต 3:1 อย่างเป็นคุณประโยชน์นั้น เราควรถามตัวเองด้วยคำถามอะไร?
6 ที่สุภาษิต 3:1 เราได้รับการเตือนไม่เพียงแต่จะรักษาข้อกฎหมายต่าง ๆ ของพระเจ้า แต่ต้องแน่ใจว่าการเชื่อฟังเป็นการแสดงถึงสิ่งซึ่งอยู่ภายในหัวใจของเราจริง ๆ. พวกเราแต่ละคนต้องถามตัวเองว่า ‘เป็นอย่างนั้นจริงไหมกับการเชื่อฟังของฉันต่อข้อเรียกร้องของพระเจ้า?’ หากเรารู้ว่าในบางกรณีนั้นเจตนาหรือแนวคิดของเราบกพร่อง—และไม่มีใครในพวกเราจะพูดได้ว่าเราไม่มีข้อบกพร่อง—ดังนั้นแล้วเราจำต้องถามว่า ‘ฉันจะทำประการใดเพื่อแก้ไขปรับปรุงสภาพนั้น?—สุภาษิต 20:9; 1 โยฮัน 1:8.
7. (ก) การที่พระเยซูได้กล่าวประณามพวกฟาริซายดังปรากฏที่มัดธาย 15:3-9 นั้นอาจช่วยเราป้องกันหัวใจของเราได้อย่างไร? (ข) สถานการณ์เช่นไรอาจทำให้เราต้องกวดขันการใช้วินัยกับจิตใจและหัวใจของเรา?
7 เมื่อฟาริซายชาวยิวแสร้งทำเป็นว่าให้เกียรติพระเจ้าในขณะที่ส่งเสริมกิจปฏิบัติอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมโดยแรงกระตุ้นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง พระเยซูทรงประณามพวกเขาว่าเป็นคนหน้าซื่อใจคดและทรงชี้ว่าการนมัสการของเขาหาประโยชน์มิได้. (มัดธาย 15:3-9) นอกจากนั้น พระเยซูทรงเตือนว่าที่จะทำให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้าผู้ทรงหยั่งเห็นในหัวใจนั้น ไม่พอที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรมให้ปรากฏแต่ภายนอก ขณะเดียวกัน เราก็หมกมุ่นกับความคิดอย่างผิดศีลธรรมอยู่เรื่อยไปด้วย โดยคิดถึงความเพลิดเพลินอันร้อนรุ่มทางราคะ. เราอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการอันเข้มงวดตีสอนหัวใจและจิตใจของเรา. (สุภาษิต 23:12; มัดธาย 5:27-29) การตีสอนดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นด้วยถ้าผลสืบเนื่องจากงานอาชีพ, เป้าหมายของการศึกษา, หรือการเลือกความบันเทิง, เรากลายเป็นคนเลียนแบบโลก ยอมให้โลกนวดปั้นเราตามมาตรฐานของมัน. ขออย่าลืมที่สาวกยาโกโบเรียกคนเหล่านั้นที่อ้างตนเป็นคนของพระเจ้าแต่ต้องการเป็นมิตรกับโลกว่า “หญิงเล่นชู้.” เพราะเหตุใด? เพราะว่า “โลกทั้งสิ้นทอดตัวจมอยู่ในมารร้าย.”—ยาโกโบ 4:4, ล.ม.; 1 โยฮัน 2:15-17; 5:19.
8. เพื่อจะได้ประโยชน์เต็มที่จากความคิดอันประเสริฐของพระเจ้า เราจำต้องทำอะไร?
8 เพื่อที่จะได้ประโยชน์จากความคิดของพระเจ้าต่อเรื่องดังกล่าวและต่อเรื่องอื่น ๆ อย่างเต็มที่ เราต้องจัดเวลาไว้เฉพาะที่จะอ่านหรือฟังความคิดเหล่านั้น. ยิ่งกว่านั้น จำเป็นที่เราจะศึกษา, พูด, และคิดรำพึงถึงสิ่งเหล่านั้น. หลายคนที่อ่านวารสารหอสังเกตการณ์ เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ของประชาคมพยานพระยะโฮวาเป็นประจำ ซึ่งที่นั่นมีการพิจารณาคัมภีร์ไบเบิล. คนเหล่านั้นได้ซื้อเวลาจากงานประจำอื่น ๆ เพื่อจะทำเช่นนั้น. (เอเฟโซ 5:15-17) และสิ่งที่เขาได้รับมีคุณค่ายิ่งกว่าความมั่งคั่งด้านวัตถุ. คุณรู้สึกอย่างนั้นไหม?
9. เพราะเหตุใดบางคนที่ร่วมการประชุมคริสเตียนจึงก้าวหน้าเร็วกว่าคนอื่น?
9 อย่างไรก็ตาม บางคนที่เข้าร่วมการประชุมเหล่านี้ได้ก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณเร็วกว่าคนอื่น ๆ. เขานำเอาความจริงไปปฏิบัติในชีวิตของตัวเองได้เต็มที่มากกว่าคนอื่น. เพราะอะไร? บ่อยครั้ง ปัจจัยสำคัญก็เนื่องจากเขาขยันศึกษาเป็นส่วนตัว. เขาสำนึกว่าคนเราไม่อาจดำรงชีวิตด้วยอาหารแต่อย่างเดียว; อาหารฝ่ายวิญญาณทุกวันก็สำคัญพอ ๆ กันกับการรับประทานอาหารสำหรับร่างกายเป็นประจำ. (มัดธาย 4:4; เฮ็บราย 5:14) ดังนั้น พวกเขาเพียรพยายามจะใช้อย่างน้อยบางเวลาทุกวันเพื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลหรือหนังสือที่อธิบายพระคัมภีร์. เขาเตรียมสำหรับการประชุมประชาคม ศึกษาบทเรียนต่าง ๆ ล่วงหน้าและตรวจค้นดูข้อคัมภีร์ต่าง ๆ. เขาไม่เพียงแต่อ่านเอาเรื่องเท่านั้น แต่เขาคิดรำพึงเรื่องนั้น ๆ. แบบแผนการศึกษาของเขารวมเอาการคิดอย่างจริงจังว่าสิ่งที่เขาเรียนรู้น่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตของตนเอง. ขณะที่เขาเติบโตฝ่ายวิญญาณ พวกเขาเริ่มมีความรู้สึกเช่นเดียวกันกับผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญที่เขียนไว้ดังนี้: “ข้าพเจ้ารักข้อกฎหมายของพระองค์มากเพียงใด! . . . และข้อเตือนใจของพระองค์น่าอัศจรรย์.”—บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3; 119:97, 129, ล.ม.
10. (ก) เป็นประโยชน์ที่จะใช้เวลายาวนานสักแค่ไหนศึกษาพระคำของพระเจ้า? (ข) คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นอย่างไรในเรื่องนี้?
10 แม้นเราได้ศึกษาพระคำของพระเจ้าเป็นเวลาหนึ่งปี, 5 ปี, หรือ 50 ปี การเรียนรู้นั้นจะไม่ถือว่าเป็นเรื่องซ้ำซาก—จะไม่เป็นเช่นนั้นเลยหากความคิดของพระเจ้ามีค่าล้ำเลิศสำหรับเรา. ไม่ว่าเราเคยเรียนจากคัมภีร์ไบเบิลมาแล้วมากแค่ไหนก็ตาม ยังมีอีกมากที่เราไม่รู้. ดาวิดกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า รวมยอดของความคิดเหล่านั้นก็มากสักเท่าไร! ถ้าหากข้าพเจ้าพยายามจะนับความคิดเหล่านั้น นั้นก็มีมากกว่าเม็ดทรายด้วยซ้ำ.” ความคิดของพระเจ้ามากเกินความสามารถของเราจะนับได้. หากเราจะนับความคิดของพระเจ้าตลอดทั้งวันจนหลับไป เมื่อตื่นขึ้นในยามเช้า ก็ยังจะมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายให้เราคิด. ดังนั้น ดาวิดเขียนไว้อย่างนี้: “ข้าพเจ้าตื่นแล้ว และกระนั้น ข้าพเจ้าก็ยังอยู่กับพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:17, 18, ล.ม.) ตลอดนิรันดรกาลก็จะมีให้เราเรียนอีกมากเกี่ยวกับพระยะโฮวาและทางทั้งหลายของพระองค์. พวกเราจะไม่ลุถึงจุดที่ว่าเรารู้ทุกสิ่ง.—โรม 11:33.
เกลียดสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเกลียด
11. เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่เพียงแต่จะรู้ความคิดทั้งหลายของพระเจ้า แต่ที่จะร่วมความรู้สึกของพระองค์ด้วย?
11 เราศึกษาพระคำของพระเจ้ามิใช่เพียงแต่เพื่อจะใส่ข้อเท็จจริงไว้เต็มหัวสมอง. ขณะเรายอมให้ความคิดของพระเจ้าซึมซาบเข้าในหัวใจของเรา เราเองเริ่มมีความรู้สึกเหมือนพระเจ้า. นั่นเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงใด! ถ้าเราไม่พัฒนาความรู้สึกเช่นนั้นขึ้นมา อาจมีผลอะไร? ถึงแม้เราสามารถจะพูดซ้ำสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าว กระนั้นก็ดี เราอาจรู้สึกว่าสิ่งต้องห้ามเป็นสิ่งน่าปรารถนา หรือเราอาจรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องกลายเป็นภาระที่ต้องแบก. จริงอยู่ แม้เราเกลียดสิ่งไม่ถูกต้อง เราอาจต้องดิ้นรนต่อสู้เนื่องด้วยความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์. (โรม 7:15) แต่หากเราไม่พยายามอย่างจริงจังจะนำสิ่งที่เราเป็นอยู่ภายในผสานกับสิ่งที่ถูกต้อง เราจะคาดหวังได้ไหมว่าพระยะโฮวา ‘ผู้ทรงพิจารณาดูหัวใจ’ จะพอพระทัยในตัวเรา?—สุภาษิต 17:3.
12. ความรักแบบพระเจ้าและความเกลียดแบบเดียวกับพระเจ้าสำคัญอย่างไร?
12 การเกลียดแบบที่พระเจ้าทรงเกลียดเป็นเครื่องป้องกันที่มีพลังต้านทานการทำผิด เฉกเช่นความรักแบบพระเจ้าก่อให้เกิดความเพลิดเพลินเมื่อได้กระทำสิ่งถูกต้อง. (1 โยฮัน 5:3) คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราหลายครั้งหลายหนให้ปลูกฝังทั้งความรักและความเกลียด. “ท่านทั้งหลายผู้รักพระยะโฮวา จงเกลียดสิ่งชั่ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 97:10, ล.ม.) “จงเกลียดชังสิ่งที่ชั่ว จงยึดถือสิ่งที่ดีไว้.” (โรม 12:9, ล.ม.) เราทำอย่างนั้นไหม?
13. (ก) พวกเราเห็นพ้องด้วยเต็มที่กับคำอธิษฐานอะไรของดาวิดที่เกี่ยวกับความพินาศของคนชั่ว? (ข) ดังแจ้งในคำอธิษฐานของดาวิด ใครคือคนชั่วที่ท่านได้ทูลอธิษฐานขอให้พระเจ้าทำลาย?
13 พระยะโฮวาทรงแถลงไว้ชัดแจ้งว่าพระองค์มีจุดมุ่งหมายที่จะกำจัดคนชั่วให้หมดไปจากแผ่นดิน และจะทรงนำแผ่นดินโลกใหม่เข้ามาซึ่งเป็นที่ที่ความชอบธรรมจะดำรงอยู่. (บทเพลงสรรเสริญ 37:10, 11; 2 เปโตร 3:13) บุคคลที่รักความชอบธรรมต่างก็ปรารถนาให้เวลานั้นมาถึง. พวกเขาเห็นพ้องเต็มที่กับดาวิดผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญซึ่งอธิษฐานดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้า หากพระองค์จะประหารคนชั่ว! ถ้าเช่นนั้นแม้แต่เหล่าผู้ที่มีความผิดฐานทำให้โลหิตตกก็จะไปจากข้าพเจ้าเป็นแน่ ผู้ซึ่งกล่าวสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับพระองค์ตามความคิดเห็นของเขา; พวกเขาใช้พระนามของพระองค์ในทางที่ไร้ค่า—พวกปรปักษ์ของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:19, 20, ล.ม.) โดยส่วนตัวแล้ว ดาวิดไม่ได้คอยท่าจะสังหารคนชั่วดังกล่าว. ท่านอธิษฐานทูลขอให้การตอบแทนนั้นมาจากพระหัตถ์พระยะโฮวา. (พระบัญญัติ 32:35; เฮ็บราย 10:30) คนเหล่านี้หาใช่เป็นผู้ที่เพียงทำให้ดาวิดโกรธในทางส่วนตัวไม่. พวกเขาได้ทำให้พระเจ้าเสียชื่อ โดยการอ้างนามของพระองค์ในทางที่ไม่สมควร. (เอ็กโซโด 20:7) เขากล่าวอ้างอย่างไม่ซื่อสัตย์ว่าปฏิบัติพระองค์ แต่เขากลับใช้พระนามของพระองค์ส่งเสริมกลอุบายต่าง ๆ ของเขา. ดาวิดไม่มีความรักสำหรับคนเหล่านั้นซึ่งเลือกที่จะเป็นปรปักษ์ของพระเจ้า.
14. มีคนชั่วที่อาจได้รับการช่วยไหม? ถ้ามี โดยวิธีใด?
14 มีผู้คนนับพัน ๆ ล้านที่ไม่รู้จักพระยะโฮวา. โดยความเขลา ผู้คนจำนวนมากมายเหล่านี้แหละทำการต่าง ๆ ซึ่งพระคำของพระเจ้าแจ้งว่าเป็นการชั่ว. หากพวกเขายืนกรานในแนวทางนี้ เขาก็จะอยู่ท่ามกลางคนที่จะพินาศในช่วงที่เกิดความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่. กระนั้น พระยะโฮวาก็ไม่ยินดีในการตายของคนชั่ว และเราก็ไม่ควรยินดีเหมือนกัน. (ยะเอศเคล 33:11) ตราบใดที่ยังมีเวลาอยู่ พวกเราบากบั่นช่วยผู้คนเหล่านั้นให้เรียนรู้และรับประโยชน์จากแนวทางของพระยะโฮวา. แต่จะว่าอย่างไรถ้าบางคนแสดงตัวจงเกลียดจงชังพระยะโฮวาอย่างรุนแรง?
15. (ก) พวกนั้นได้แก่ใครซึ่งท่านผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญเห็นว่าเป็น “ศัตรูจริง ๆ”? (ข) พวกเราสมัยนี้จะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรา “เกลียด” คนเหล่านั้นที่กบฏต่อพระยะโฮวา?
15 เกี่ยวกับคนจำพวกนี้ ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา ข้าพเจ้าเกลียดคนเหล่านั้นที่เกลียดพระองค์อย่างยิ่งมิใช่หรือ และข้าพเจ้ารู้สึกสะอิดสะเอียนคนเหล่านั้นที่กบฏต่อพระองค์มิใช่หรือ? ข้าพเจ้าเกลียดพวกเขาด้วยความเกลียดเต็มที่. พวกเขากลายเป็นศัตรูจริง ๆ สำหรับข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:21, 22, ล.ม.) เป็นเพราะว่าพวกเขาเกลียดพระยะโฮวาเป็นที่ยิ่ง ดาวิดจึงมองเขาด้วยความรู้สึกสะอิดสะเอียน. พวกออกหากอยู่ในจำพวกนี้ด้วยที่แสดงตนเกลียดชังพระยะโฮวาโดยการที่เขากระด้างกระเดื่องต่อต้านพระองค์. โดยแท้แล้ว การออกหากเป็นการกบฏต่อพระยะโฮวา. ผู้ออกหากบางคนอ้างว่ารู้จักและรับใช้พระเจ้า แต่เขาปฏิเสธคำสอนหรือข้อเรียกร้องที่กำหนดไว้ในพระคำของพระองค์. บางคนอ้างว่าเชื่อคัมภีร์ไบเบิล แต่ก็ปฏิเสธองค์การของพระยะโฮวาและพยายามอย่างขันแข็งที่จะขัดขวางกิจการขององค์การ. ครั้นพวกเขาเจตนาเลือกการชั่วร้ายดังกล่าวหลังจากการเรียนรู้ว่าอะไรถูกต้องแล้ว เมื่อการชั่วเกาะกุมนิสัยของเขาจนไม่อาจจะแกะให้หลุดออกได้เช่นนั้น ตอนนั้นแหละคริสเตียนจึงต้องเกลียด (ตามความหมายในคัมภีร์ไบเบิล) คนที่จมอยู่ในทางชั่วร้ายจนไม่อาจแยกออกมาได้. คริสเตียนแท้ร่วมในความรู้สึกของพระยะโฮวาที่แสดงต่อพวกออกหาก; พวกเขาไม่อยากรู้อยากเห็นอะไรทั้งสิ้นที่เป็นความคิดของพวกออกหาก. ตรงกันข้าม พวกเขา “รู้สึกสะอิดสะเอียน” คนเหล่านั้นที่ทำตัวเองเป็นปรปักษ์ของพระเจ้า แต่เขาก็ละให้เป็นพระธุระของพระยะโฮวาที่จะแก้แค้น.—โยบ 13:16; โรม 12:19; 2 โยฮัน 9, 10.
เมื่อพระเจ้าทรงพินิจพิเคราะห์ดูตัวเรา
16. (ก) เหตุใดดาวิดต้องการให้พระยะโฮวาพินิจพิเคราะห์ตัวท่าน? (ข) มีอะไรเกี่ยวข้องกับหัวใจของเราที่เราควรจะขอพระเจ้าช่วยให้เรามองเห็น?
16 ดาวิดไม่ต้องการเป็นเหมือนคนชั่วไม่ว่าในทางใดทั้งสิ้น. คนจำนวนไม่น้อยพยายามปิดซ่อนสิ่งซึ่งเขาเป็นอยู่ภายใน แต่ดาวิดได้อธิษฐานด้วยความถ่อมดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดพินิจพิเคราะห์ดูข้าพเจ้า และทรงทราบหัวใจของข้าพเจ้า. ขอโปรดตรวจสอบดูข้าพเจ้า และทรงทราบความคิดที่ปั่นป่วนของข้าพเจ้า และทอดพระเนตรดูว่ามีวิถีที่ก่อความปวดร้าวใด ๆ ในตัวข้าพเจ้าหรือไม่ และโปรดนำข้าพเจ้าไปในหนทางที่ดำเนินสืบไปโดยไม่มีเวลากำหนด.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:23, 24, ล.ม.) เมื่อพูดถึงหัวใจของท่าน ดาวิดไม่ได้หมายถึงอวัยวะของร่างกาย. ตรงกันกับความหมายโดยนัยแห่งคำกล่าวนั้น ท่านได้พาดพิงถึงสิ่งที่ท่านเป็นอยู่ภายใน บุคคลภายใน. พวกเราก็เช่นกันควรต้องการจะให้พระเจ้าพินิจพิเคราะห์หัวใจของเรา ว่าเรามีความปรารถนา, หรือความรักชอบ, อารมณ์, ความมุ่งหมาย, ความคิด, หรือเจตนาไปในทางที่ไม่ถูกต้องหรือไม่. (บทเพลงสรรเสริญ 26:2) พระยะโฮวาทรงเชิญเราดังนี้: “บุตรชายของเรา จงมอบหัวใจของเจ้าให้เรา และจงให้ดวงตาของเจ้าชื่นชมในทางทั้งหลายของเรา.”—สุภาษิต 23:26, ล.ม.
17. (ก) แทนที่จะปกปิดความคิดที่ทำให้กระวนกระวาย เราน่าจะทำประการใด? (ข) เราน่าจะรู้สึกแปลกใจไหมที่จะพบแนวโน้มไปในทางผิดภายในหัวใจของเรา และเกี่ยวกับเรื่องนี้เราควรทำอย่างไร?
17 หากว่าภายในตัวเรามีความปวดร้าวใด ๆ หรือความคิดที่ทำให้กระวนกระวายเนื่องมาจากความปรารถนาที่ผิดหรือเจตนาไม่ถูกต้อง หรือเพราะเราประพฤติผิดบางประการเช่นนั้นแล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่าเราต้องการให้พระยะโฮวาช่วยเราจัดเรื่องราวต่าง ๆ ให้เป็นไปโดยดี. แทนที่จะใช้คำว่า “ความปวดร้าวใด ๆ” ฉบับแปลของมอฟฟัตต์ใช้คำ “แนวทางที่ผิด”; ฉบับเดอะนิวอิงลิชไบเบิล กล่าวว่า “แนวทางใด ๆ ที่ทำให้พระองค์ [พระเจ้า] เศร้าพระทัย.” ตัวเราเองอาจไม่เข้าใจความคิดที่ปั่นป่วนของเราได้อย่างชัดเจนและจึงไม่รู้ว่าจะทูลพระเจ้าอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาของเรา ทว่าพระองค์ทรงเข้าใจสภาพการณ์ของเรา. (โรม 8:26, 27) เราไม่ควรรู้สึกแปลกใจหากหัวใจของเราเกิดมีแนวโน้มในทางไม่ดี กระนั้น เราไม่ควรแก้ตัว. (เยเนซิศ 8:21) เราพึงแสวงการช่วยเหลือจากพระเจ้าที่จะสลัดแนวคิดเช่นนั้นให้หมดไป. ถ้าเรารักพระยะโฮวาและทางทั้งหลายของพระองค์จริง ๆ เราก็จะขอรับการช่วยเหลือดังกล่าวจากพระองค์ โดยมีความมั่นใจว่า “พระเจ้าทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเราและยังทรงทราบสารพัดทุกสิ่ง.”—1 โยฮัน 3:19-21.
18. (ก) พระยะโฮวาทรงนำเราไปในหนทางที่ไม่มีเวลากำหนดโดยวิธีใด? (ข) ถ้าเราติดตามการชี้นำของพระยะโฮวาตลอดไป เราย่อมคาดหวังว่าจะได้รับคำชมเชยที่อบอุ่นอะไร?
18 เพื่อให้ประสานกับคำอธิษฐานของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญที่ว่าพระยะโฮวาจะทรงนำท่านไปโดยไม่มีเวลากำหนด แน่นอน พระยะโฮวาทรงนำผู้รับใช้ของพระองค์ซึ่งมีใจถ่อมและเชื่อฟัง. พระองค์ทรงนำเขาไม่เพียงในหนทางซึ่งอาจหมายถึงชีวิตอันยืนนานเนื่องจากเขาจะไม่ถูกตัดขาดเสียก่อนเวลาอันควรเพราะการทำชั่ว แต่ในหนทางที่จะนำไปถึงชีวิตนิรันดรด้วย. พระองค์ทรงทำให้เราฝังใจในเรื่องความจำเป็นที่ต้องมีพระเยซูคริสต์เป็นเครื่องบูชาอันมีคุณค่าชดเชยบาป. โดยทางพระคำและองค์การของพระองค์ พระองค์ทรงจัดให้มีคำแนะนำที่จำเป็นเพื่อเราจะสามารถกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ได้. พระองค์ทรงตอกย้ำให้เราทราบความสำคัญที่พึงตอบสนองการช่วยเหลือของพระองค์ เพื่อภายในเราจะเป็นบุคคลชนิดที่เราอ้างว่าภายนอกเป็นอย่างนั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 86:11) และพระองค์ทรงหนุนใจพวกเราด้วยความคาดหวังเกี่ยวด้วยสุขภาพสมบูรณ์ในโลกใหม่ที่ชอบธรรม พร้อมด้วยชีวิตยืนนานตลอดไป เพื่อใช้ในการรับใช้พระองค์ พระเจ้าแท้แต่องค์เดียว. ถ้าเราตอบรับการชี้นำของพระองค์อย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป แล้วพระองค์จะตรัสกับพวกเรา ดังที่ได้ตรัสกับพระบุตรของพระองค์ว่า “เราชอบใจท่านมาก.”—ลูกา 3:22; โยฮัน 6:27; ยาโกโบ 1:12.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมทัศนะของพระยะโฮวาต่อผู้รับใช้ของพระองค์จึงมักจะต่างไปจากทัศนะของมนุษย์?
▫ อะไรจะช่วยเราให้หยั่งเห็นสิ่งที่พระเจ้าทรงเห็นเมื่อทรงพิเคราะห์หัวใจของเรา?
▫ การศึกษาประเภทไหนช่วยเราเรียนรู้ข้อเท็จจริงและป้องกันหัวใจของเรา?
▫ เหตุใดเป็นสิ่งสำคัญไม่เพียงแต่รู้สิ่งที่พระเจ้าตรัส แต่ที่จะร่วมความรู้สึกของพระองค์ด้วย?
▫ เหตุใดเราควรอธิษฐานเป็นส่วนตัวว่า: “ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดพินิจพิเคราะห์ดูข้าพเจ้า และทรงทราบหัวใจของข้าพเจ้า”?
[รูปภาพหน้า 16]
ขณะศึกษา จงพยายามทำให้ความคิดและความรู้สึกของพระเจ้ามาเป็นความคิดและความรู้สึกของตัวเอง
[รูปภาพหน้า 18]
ความคิดทั้งหลายของพระยะโฮวา “มากกว่าเม็ดทรายด้วยซ้ำ”
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.