บทความศึกษา 13
การนมัสการพระยะโฮวาทำให้มีความสุขมากขึ้น
“พระยะโฮวา พระเจ้าของเรา พระองค์สมควรจะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ความนับถือ และฤทธิ์อำนาจ”—วว. 4:11
เพลง 31 เดินกับพระเจ้า
ใจความสำคัญa
1-2. เราต้องทำอะไรเพื่อจะให้พระยะโฮวายอมรับการนมัสการของเรา?
ตอนที่คุณได้ยินคำว่า “นมัสการ” คุณคิดถึงอะไร? คุณอาจนึกถึงพี่น้องชายคนหนึ่งคุกเข่าอยู่ข้างเตียงอธิษฐานถึงพระยะโฮวาก่อนนอน หรือคุณอาจนึกภาพครอบครัวหนึ่งกำลังนมัสการประจำครอบครัวด้วยกันอย่างมีความสุข
2 ทั้ง 2 อย่างนี้คือการนมัสการพระยะโฮวา แล้วพระองค์ยอมรับการนมัสการของพวกเขาไหม? พระยะโฮวายอมรับแน่นอนถ้าพวกเขาทำด้วยความรักและนับถือพระองค์ และนมัสการพระองค์อย่างที่พระองค์ต้องการ เราทุกคนรักพระยะโฮวามาก เรารู้ว่าพระองค์สมควรได้รับการนมัสการจากเรา และเราอยากนมัสการพระองค์อย่างดีที่สุด
3. เราจะคุยเรื่องอะไรบ้างในบทความนี้?
3 ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าการนมัสการแบบไหนที่พระยะโฮวายอมรับในสมัยคัมภีร์ไบเบิล และเราจะมาดู 8 วิธีที่เราจะนมัสการพระยะโฮวาในแบบที่พระองค์ยอมรับในทุกวันนี้ ตอนที่เราดูแต่ละอย่างให้คิดว่าเราจะปรับปรุงการนมัสการของเราให้ดีขึ้นได้ยังไง และทำไมการนมัสการพระองค์อย่างถูกต้องถึงทำให้เรามีความสุข
การนมัสการที่พระยะโฮวายอมรับในสมัยคัมภีร์ไบเบิล
4. ผู้รับใช้พระยะโฮวาสมัยก่อนพระเยซูแสดงยังไงว่ารักและนับถือพระยะโฮวา?
4 ก่อนสมัยของพระเยซูมีผู้รับใช้พระยะโฮวาหลายคนที่ซื่อสัตย์ เช่น อาเบล โนอาห์ อับราฮัม และโยบ พวกเขาแสดงยังไงว่ารักและนับถือพระยะโฮวา? พวกเขาเชื่อฟัง แสดงความเชื่อ และถวายเครื่องบูชาให้พระองค์ คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกรายละเอียดทุกอย่างว่าพวกเขานมัสการพระยะโฮวายังไง แต่พวกเขาต้องนมัสการพระองค์อย่างดีที่สุดแน่นอนและพระยะโฮวาก็ยอมรับการนมัสการของพวกเขา ในสมัยต่อมาพระยะโฮวาให้กฎหมายของโมเสสกับชาวอิสราเอลที่เป็นลูกหลานของอับราฮัม กฎหมายนั้นมีคำแนะนำอย่างละเอียดว่าจะนมัสการพระยะโฮวายังไงในแบบที่พระองค์ยอมรับ
5. หลังจากพระเยซูตายและฟื้นขึ้นจากตายแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับการนมัสการ?
5 หลังจากพระเยซูตายและฟื้นขึ้นจากตายแล้ว พระยะโฮวาไม่ได้ให้คริสเตียนทำตามกฎหมายของโมเสสอีกต่อไป (รม. 10:4) แต่พวกเขาต้องทำตามกฎหมายใหม่ซึ่งก็คือ “กฎหมายของพระคริสต์” (กท. 6:2) การเชื่อฟัง “กฎหมาย” นี้ไม่ใช่การท่องจำและไม่ใช่การทำตามรายการยาวเหยียดว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ แต่เป็นการเลียนแบบพระเยซูและทำตามคำสอนของท่าน คริสเตียนในทุกวันนี้ก็ต้องทำแบบเดียวกันกับคริสเตียนในยุคแรก พวกเขาต้องเลียนแบบพระเยซูให้ได้มากที่สุดเพื่อจะทำให้พระยะโฮวาพอใจและได้ความ “สดชื่น”—มธ. 11:29
6. เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้ประโยชน์จากบทความนี้?
6 ตอนที่เราดูแต่ละวิธีในการนมัสการพระยะโฮวา ให้เราถามตัวเองว่า ‘ตอนนี้ฉันก้าวหน้าหรือทำได้ดีขึ้นขนาดไหนแล้ว?’ ‘ฉันจะปรับปรุงให้ดีกว่านี้อีกได้ไหม?’ อาจมีบางอย่างที่คุณทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ให้อธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยคุณให้เห็นว่ามีอะไรอีกที่คุณสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้
วิธีต่าง ๆ ที่เรานมัสการพระยะโฮวา
7. พระยะโฮวารู้สึกยังไงกับคำอธิษฐานที่มาจากใจของเรา?
7 เรานมัสการพระยะโฮวาโดยอธิษฐานถึงพระองค์ คัมภีร์ไบเบิลเปรียบเทียบคำอธิษฐานของเราเหมือนกับเครื่องหอมที่เตรียมมาอย่างดีเพื่อจะถวายในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต่อมาก็คือในวิหารของพระเจ้า (สด. 141:2) พระยะโฮวาชอบเครื่องหอมที่มีกลิ่นหอมมาก เหมือนกันถ้าเราอธิษฐานจากใจ พระยะโฮวาจะ “ชอบคำอธิษฐาน” ของเราถึงแม้เราจะใช้คำง่าย ๆ ไม่ใช่คำเลิศหรูอะไร (สภษ. 15:8; ฉธบ. 33:10) เรามั่นใจว่าพระยะโฮวาอยากให้เราอธิษฐานบอกพระองค์ว่าเรารักพระองค์มากแค่ไหน และขอบคุณพระองค์สำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทำให้เรา นอกจากนั้น พระยะโฮวาอยากให้เราระบายความรู้สึกทุกอย่างให้พระองค์ฟังว่าเรากังวลเรื่องอะไร หวังเรื่องอะไร และอยากได้อะไร ก่อนที่จะอธิษฐานเราน่าจะคิดก่อนว่าจะพูดเรื่องอะไรบ้าง ถ้าทำอย่างนั้น เราก็จะถวาย “เครื่องหอม” ที่ดีที่สุดให้กับพ่อของเราในสวรรค์
8. เราจะสรรเสริญพระยะโฮวาได้ยังไงบ้าง?
8 เรานมัสการพระยะโฮวาโดยสรรเสริญพระองค์ (สด. 34:1) เราสรรเสริญพระยะโฮวาโดยพูดเกี่ยวกับคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ยอดเยี่ยมของพระองค์และสิ่งที่พระองค์ทำ ถ้าหัวใจเราขอบคุณพระองค์ เราก็มีเรื่องมากมายที่จะพูดถึงพระองค์ได้ และถ้าเราใช้เวลาคิดถึงสิ่งดีต่าง ๆ ที่พระองค์ทำให้เรา เราก็มีเหตุผลอีกมากมายที่จะสรรเสริญพระองค์ได้ไม่มีวันหมด วิธีหนึ่งที่เราจะสรรเสริญพระยะโฮวาได้ก็คือการประกาศ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ให้เราถวายเครื่องบูชาผ่านทางพระเยซูเสมอซึ่งก็คือคำสรรเสริญพระเจ้า เป็นคำพูดที่ออกจากปากเรา” (ฮบ. 13:15) เหมือนกับที่เราควรจะคิดก่อนว่าเราจะอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเรื่องอะไรบ้าง เราก็น่าจะคิดก่อนว่าเราจะพูดกับคนอื่นยังไงตอนที่ไปประกาศ นอกจากนั้น ให้เราพูดจากใจและกระตือรือร้นในการประกาศ ถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็กำลังถวาย “เครื่องบูชา” ที่ดีที่สุดให้กับพระยะโฮวา
9. คนของพระยะโฮวาได้รับผลดีอะไรบ้างเมื่อพวกเขาไปประชุม? ขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัว
9 เรานมัสการพระยะโฮวาโดยเข้าร่วมประชุม พระยะโฮวาบอกกับชาวอิสราเอลว่า “ผู้ชายทุกคนในพวกคุณจะต้องไปหาพระยะโฮวาพระเจ้าปีละ 3 ครั้งในที่ที่พระองค์เลือกไว้” (ฉธบ. 16:16) เพื่อพวกเขาจะทำอย่างนั้น พวกเขาต้องทิ้งบ้านทิ้งสวนและทิ้งไร่นา แต่พระยะโฮวาก็สัญญาว่า “จะไม่มีใครอยากได้ดินแดนของเจ้าตอนที่เจ้าไปหาพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า” (อพย. 34:24) ชาวอิสราเอลไว้ใจพระยะโฮวาจริง ๆ แล้วพวกเขาก็ไปฉลองเทศกาลประจำปี นี่ทำให้พวกเขาได้รับผลดีหลายอย่าง ชาวอิสราเอลมีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าใจกฎหมายของพระเจ้ามากขึ้น พวกเขามีโอกาสได้คิดถึงสิ่งดีต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทำให้พวกเขา และพวกเขาก็มีโอกาสได้เจอกับคนอื่นที่รักพระยะโฮวาเหมือนกันซึ่งทำให้พวกเขาได้รับกำลังใจมาก (ฉธบ. 16:15) ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเสียสละสิ่งต่าง ๆ เพื่อจะไปประชุมเป็นประจำ เราก็ได้รับผลดีหลายอย่าง นอกจากนั้น ให้เราคิดดูว่าพระยะโฮวาจะมีความสุขมากแค่ไหนเมื่อพระองค์เห็นเราเตรียมการประชุม และออกความคิดเห็นสั้น ๆ ที่คิดมาอย่างดี
10. ทำไมการร้องเพลงถึงเป็นส่วนสำคัญของการนมัสการพระยะโฮวา?
10 เรานมัสการพระยะโฮวาโดยร้องเพลง (สด. 28:7) ชาวอิสราเอลมองว่าการร้องเพลงเป็นส่วนที่สำคัญในการนมัสการพระยะโฮวา กษัตริย์ดาวิดมอบหมายคนเลวี 288 คนให้ร้องเพลงในวิหาร (1 พศ. 25:1, 6-8) ในทุกวันนี้เรามีโอกาสที่จะแสดงว่ารักพระยะโฮวาโดยการร้องเพลงสรรเสริญพระองค์ ถึงเราจะร้องเพลงไม่เก่งหรือร้องเพลงไม่ค่อยเพราะ ก็ไม่เป็นไร ให้เรานึกแบบนี้ ถึง “เราทุกคนผิดพลาด [ในการพูด] กันอยู่บ่อย ๆ” แต่เราก็ไม่หยุดพูดในงานรับใช้และในการประชุมใช่ไหม (ยก. 3:2) เหมือนกันถึงเราจะร้องเพลงไม่เก่ง แต่เราก็อยากจะร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาต่อไป
11. อย่างที่บอกไว้ในสดุดี 48:13 ทำไมเราควรจัดเวลาเพื่อนมัสการประจำครอบครัว?
11 เรานมัสการพระยะโฮวาโดยศึกษาส่วนตัวและสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องของพระองค์ วันสะบาโตเป็นวันที่ชาวอิสราเอลไม่ต้องทำงานและพวกเขาจะใช้เวลาในวันนั้นเพื่อสนิทกับพระองค์ (อพย. 31:16, 17) และชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาจะสอนลูก ๆ เกี่ยวกับเรื่องของพระองค์และสิ่งดี ๆ ที่พระองค์ทำ พวกเราในทุกวันนี้ก็ต้องจัดเวลาเพื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลและศึกษาส่วนตัว นี่เป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการพระยะโฮวาและจะทำให้เราสนิทกับพระองค์มากขึ้น (สด. 73:28) และถ้าเราจัดให้มีการนมัสการประจำครอบครัวเป็นประจำ เราก็จะช่วยลูกให้สนิทกับพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์มากขึ้น—อ่านสดุดี 48:13
12. พระยะโฮวามองงานสร้างเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และสิ่งของเครื่องใช้ที่อยู่ในนั้นยังไง? และเราได้เรียนอะไรจากเรื่องนี้?
12 เรานมัสการพระยะโฮวาโดยก่อสร้างและดูแลรักษาสถานที่นมัสการพระองค์ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าการทำเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และสิ่งของเครื่องใช้ในนั้นเป็นงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ (อพย. 36:1, 4) ทุกวันนี้พระยะโฮวาก็มองว่าการก่อสร้างหอประชุมและอาคารต่าง ๆ ขององค์การเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการพระองค์และเป็นงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย พี่น้องหลายคนได้ทุ่มเทเวลาอย่างมากเพื่อช่วยในโครงการเหล่านั้น พวกเราเห็นค่าสิ่งที่พวกเขาทำจริง ๆ นอกจากนั้น พี่น้องเหล่านั้นยังจัดเวลาออกไปประกาศตามบ้านด้วย และบางคนถึงกับอยากเป็นไพโอเนียร์ด้วยซ้ำ ถ้าพวกเขามีคุณสมบัติที่จะเป็นไพโอเนียร์ประจำ ผู้ดูแลก็ต้องไม่ลังเลที่จะแต่งตั้งพวกเขาให้เป็นไพโอเนียร์ ซึ่งการทำอย่างนี้แสดงว่าผู้ดูแลกำลังสนับสนุนงานก่อสร้างด้วย และไม่ว่าเราจะเก่งเรื่องงานก่อสร้างหรือไม่ เราทุกคนสามารถดูแลรักษาหอประชุมให้อยู่ในสภาพดีเสมอได้
13. เราควรมองการบริจาคยังไง?
13 เรานมัสการพระยะโฮวาโดยบริจาคเพื่อสนับสนุนงานรัฐบาลของพระองค์ ตอนที่ชาวอิสราเอลไปฉลองเทศกาล พวกเขาต้องไม่ไปมือเปล่าแต่ต้องเอาของไปถวายพระยะโฮวาเท่าที่ให้ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเห็นค่าการจัดเตรียมทุกอย่างที่พระยะโฮวาให้กับพวกเขา (ฉธบ. 16:16) แล้วเราล่ะ เราจะแสดงยังไงว่ารักพระยะโฮวาและเห็นค่าทุกอย่างที่พระองค์ให้กับเรา? วิธีหนึ่งก็คือโดยการบริจาคเพื่อสนับสนุนประชาคมและบริจาคเพื่องานทั่วโลกเท่าที่เราจะให้ได้ อัครสาวกเปาโลบอกว่า “ถ้าใครมีใจพร้อมอยู่แล้วและให้เท่าที่เขาให้ได้ พระเจ้าก็พอใจ พระองค์ไม่ได้คาดหมายเกินกว่าที่เขาจะให้ได้” (2 คร. 8:4, 12) พระยะโฮวาจะมีความสุขมากถ้าเราเต็มใจบริจาค ถึงแม้มันจะไม่มากอะไร—มก. 12:42-44; 2 คร. 9:7
14. อย่างที่บอกไว้ในสุภาษิต 19:17 พระยะโฮวาคิดยังไงถ้าเราช่วยพี่น้องที่กำลังเดือดร้อน?
14 เรานมัสการพระยะโฮวาโดยช่วยพี่น้องที่กำลังเดือดร้อน พระยะโฮวาสัญญาว่าถ้าชาวอิสราเอลคนไหนช่วยคนที่ยากจน พระองค์จะตอบแทนสิ่งที่พวกเขาทำ (ฉธบ. 15:7, 10) ทุกครั้งที่เราช่วยพี่น้องที่กำลังลำบาก พระยะโฮวาก็มองว่านี่เป็นของขวัญที่เราให้กับพระองค์ (อ่านสุภาษิต 19:17) ตัวอย่างเช่น ตอนที่คริสเตียนในฟีลิปปีฝากของไปให้เปาโลที่เป็นนักโทษ เปาโลบอกว่า “ของเหล่านั้นเป็นเหมือนเครื่องบูชาที่พระเจ้ายอมรับ เป็นกลิ่นหอมที่ทำให้พระองค์พอใจ” (ฟป. 4:18) ดังนั้น ขอให้คิดถึงพี่น้องในประชาคมของคุณและถามตัวเองว่า ‘มีใครที่ฉันพอจะช่วยเขาได้ไหม?’ พระยะโฮวาจะดีใจถ้าเราใช้เวลา กำลัง ความสามารถ และเงินของเราเพื่อช่วยคนที่กำลังเดือดร้อน พระองค์มองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการพระองค์—ยก. 1:27
การนมัสการพระยะโฮวาทำให้เรามีความสุข
15. ทำไมการนมัสการพระยะโฮวาถึงไม่เป็นภาระสำหรับเรา?
15 การนมัสการพระยะโฮวาต้องใช้ทั้งเวลาและความพยายาม แต่มันไม่ได้เป็นภาระสำหรับเราเลย (1 ยน. 5:3) ทำไม? ที่เรานมัสการพระยะโฮวาก็เพราะเรารักพระองค์มาก ลองนึกถึงเด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่อยากทำอะไรบางอย่างให้พ่อของเขา ลูกชายคนนี้ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการวาดรูปให้พ่อ เขาไม่รู้สึกเสียดายเวลาเลยเพราะเขารักพ่อและมีความสุขที่ได้ให้ของขวัญกับพ่อ เหมือนกันเรารักพระยะโฮวามาก เราเลยมีความสุขที่ได้ใช้เวลาและความพยายามเพื่อจะนมัสการพระองค์
16. อย่างที่บอกไว้ในฮีบรู 6:10 พระยะโฮวารู้สึกยังไงที่เราพยายามทำเพื่อพระองค์?
16 พ่อแม่ที่รักลูกจะไม่คาดหมายให้ลูก ๆ ทุกคนให้ของขวัญกับพ่อแม่เหมือนกันเพราะเขารู้ว่าลูกแต่ละคนไม่เหมือนกันและทำได้ไม่เท่ากัน พระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ของเราก็รู้ว่าเราแต่ละคนทำได้ไม่เท่ากัน คุณอาจทำได้มากกว่าหลายคนที่คุณรักและรู้จัก หรือคุณอาจทำได้น้อยกว่าคนอื่นเพราะอายุมาก สุขภาพไม่ดี หรือมีภาระหน้าที่ต้องดูแลครอบครัว ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อย่าเพิ่งท้อ (กท. 6:4) ไม่ว่าคุณจะทำได้มากแค่ไหน พระยะโฮวาไม่ลืมสิ่งที่คุณทำแน่นอนถ้าคุณให้พระองค์สุดความสามารถและทำด้วยเจตนาที่ถูกต้อง พระองค์ก็จะพอใจ (อ่านฮีบรู 6:10) พระยะโฮวารู้หัวใจคุณและรู้ว่าคุณอยากทำเพื่อพระองค์มากจริง ๆ แต่พระองค์ก็อยากให้คุณมีความสุขกับสิ่งที่คุณทำได้เพื่อนมัสการพระองค์ด้วย
17. (ก) ถ้าเรารู้สึกว่าการนมัสการบางอย่างทำได้ยาก เราควรทำยังไง? (ข) การนมัสการแต่ละอย่างที่คุณเห็นในกรอบ “คุณจะมีความสุขมากขึ้น” ช่วยคุณให้มีความสุขยังไง?
17 เราจะทำยังไงถ้ารู้สึกว่าการนมัสการพระยะโฮวาบางอย่างทำได้ยาก เช่น การศึกษาส่วนตัวหรือการประกาศ? ถ้าเรายิ่งพยายามทำสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น เราก็จะยิ่งชอบ แล้วก็ยิ่งเห็นว่าได้ประโยชน์ เราอาจเปรียบเทียบการนมัสการกับการออกกำลังกายหรือการเล่นเครื่องดนตรีบางอย่าง ถ้าเราไม่ฝึกบ่อย ๆ เราก็จะไม่เก่ง แต่ถ้าเราตั้งใจว่าจะฝึกทุกวันเป็นประจำ ช่วงแรก ๆ เราอาจใช้เวลาแค่ไม่นานแต่เราก็ค่อย ๆ ยืดเวลาในการฝึกออกไป แล้วพอเห็นว่าเราเริ่มทำได้ดีขึ้น เราก็จะชอบและรอว่าเมื่อไหร่จะได้ทำอีก คุณคิดว่าเรื่องนี้เอามาใช้กับการนมัสการได้ไหม?
18. เราถูกสร้างมาให้ทำอะไร? และถ้าเราทำอย่างนั้นจะมีผลดีอะไรกับชีวิตเรา?
18 เราถูกสร้างมาให้นมัสการพระเจ้า พอเราทำแบบนั้น เราเลยมีความสุข มีชีวิตที่มีความหมาย และมีความหวังที่จะได้นมัสการพระยะโฮวาตลอดไป (สภษ. 10:22) นอกจากนั้น ตอนนี้เรารู้สึกสงบใจเพราะรู้ว่าพระยะโฮวากำลังช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ที่เจอปัญหา (อสย. 41:9, 10) เรามีเหตุผลที่ดีหลายอย่างจริง ๆ ที่จะมีความสุขเพราะเรานมัสการพระยะโฮวาพ่อที่รักเรา พระองค์ “สมควรจะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ความนับถือ” จากทุกสิ่งที่พระองค์สร้างจริง ๆ—วว. 4:11
เพลง 24 ไปที่ภูเขาของพระยะโฮวา
a พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่สร้างทุกสิ่ง เราเลยต้องนมัสการพระองค์ พระยะโฮวาจะยอมรับการนมัสการของเราถ้าเราเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์และใช้ชีวิตตามหลักการของพระองค์ ในบทความนี้เราจะมาดู 8 วิธีที่เราจะนมัสการพระองค์ได้ และจะดูด้วยว่าการทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นได้ยังไง