ทำไมการตัดสัมพันธ์จึงเป็นการจัดเตรียมที่แสดงถึงความรัก?
ฮูเลี่ยนเล่าว่า “ตอนที่มีคำประกาศว่าลูกชายผมถูกตัดสัมพันธ์ ผมรู้สึกเหมือนกับว่าโลกทั้งโลกพังทลาย เขาเป็นลูกชายคนโตและเราใกล้ชิดกันมาก เราทำอะไรหลายอย่างด้วยกัน เขาเองก็เป็นตัวอย่างที่ดีมาโดยตลอด แต่ต่อมา เขาก็เริ่มทำตัวเหลวไหล ภรรยาของผมเสียใจและร้องไห้บ่อย ๆ และผมก็ไม่รู้ว่าจะปลอบเธอยังไง เราถามตัวเองอยู่ตลอดว่าเราทำหน้าที่พ่อแม่บกพร่องตรงไหน”
แม้การตัดสัมพันธ์ทำให้เจ็บปวดมาก แต่ทำไมจึงบอกว่าการตัดสัมพันธ์เป็นการจัดเตรียมด้วยความรัก? และพระคัมภีร์ให้เหตุผลอะไรที่จำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดนี้? จริง ๆ แล้วมีปัจจัยอะไรที่นำไปสู่การตัดสัมพันธ์?
ปัจจัยสองอย่างที่นำไปสู่การตัดสัมพันธ์
มีปัจจัยสองอย่างประกอบกันที่ทำให้พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งถูกตัดสัมพันธ์ ประการแรกคือ พยานฯที่รับบัพติสมาแล้วได้ทำบาปร้ายแรง ประการที่สองคือ เขาไม่กลับใจ
แม้พระยะโฮวาไม่ได้เรียกร้องความสมบูรณ์จากเรา แต่พระองค์ก็มีมาตรฐานเรื่องความบริสุทธิ์สะอาดและคาดหมายให้ผู้รับใช้ของพระองค์ทุกคนทำตาม พระยะโฮวาคาดหมายให้เราหลีกเลี่ยงการทำบาปร้ายแรง เช่น ทำผิดศีลธรรมทางเพศ เล่นชู้ ขโมย ฉ้อโกง ฆ่าคน และถือผี—1 โค. 6:9, 10; วิ. 21:8
คุณเห็นด้วยไหมว่ามาตรฐานด้านความสะอาดของพระยะโฮวามีเหตุผลและยังช่วยปกป้องเรา? ใครล่ะจะไม่อยากอยู่กับผู้คนที่มีสันติสุขและไว้ใจได้? เราพบบรรยากาศแบบนั้นได้ท่ามกลางพี่น้องชายหญิงร่วมความเชื่อของเรา เรารู้สึกขอบคุณที่แต่ละคนทำตามสัญญาที่ให้กับพระเจ้าตอนที่เราอุทิศตัวว่าจะใช้ชีวิตสอดคล้องกับคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล
แต่จะว่าอย่างไรถ้าคริสเตียนทำบาปร้ายแรงเพราะความอ่อนแอ? ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในอดีตหลายคนก็เคยทำผิดแบบนั้น แต่พระเจ้าก็ให้โอกาสเขา เราเห็นตัวอย่างนี้จากเรื่องราวของกษัตริย์ดาวิด เขาเล่นชู้และฆ่าคน แต่ถึงอย่างนั้น ผู้พยากรณ์นาธานก็บอกเขาว่า “พระยะโฮวาทรงโปรดยกโทษแล้ว”—2 ซามู. 12:13
พระเจ้าให้อภัยบาปของดาวิดเพราะเขากลับใจอย่างแท้จริง (เพลง. 32:1-5) ดังนั้น ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในทุกวันนี้จะถูกตัดสัมพันธ์ก็ต่อเมื่อเขาไม่ยอมกลับใจหรือยังทำผิดต่อไปเรื่อย ๆ (กิจ. 3:19; 26:20) และถ้าผู้ปกครองที่รับใช้ในฐานะคณะกรรมการตัดสินความไม่เห็นว่าเขากลับใจจริง ๆ พวกเขาก็จำเป็นต้องตัดสัมพันธ์คนนั้น
เราอาจรู้สึกว่าการตัดสัมพันธ์คนที่ทำผิดเป็นการกระทำที่รุนแรงและไม่กรุณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนนั้น ถึงอย่างนั้น คัมภีร์ไบเบิลก็ให้เหตุผลหนักแน่นว่าการตัดสินแบบนั้นเป็นวิธีหนึ่งที่แสดงถึงความรัก
การตัดสัมพันธ์เป็นประโยชน์แก่ทุกคน
พระเยซูบอกว่า “สติปัญญาก็ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องโดยผลของสติปัญญานั้นเอง” (มัด. 11:19) การตัดสัมพันธ์คนที่ทำผิดและไม่กลับใจเป็นการตัดสินที่ฉลาดเพราะนั่นทำให้เกิดผลดี ขอให้เราพิจารณาผลดี 3 อย่างต่อไปนี้
การตัดสัมพันธ์ทำให้ชื่อของพระยะโฮวาได้รับเกียรติ เนื่องจากเราเป็นพยานของพระยะโฮวา ความประพฤติของเราจึงส่งผลต่อชื่อของพระองค์อย่างแน่นอน (ยซา. 43:10) เหมือนกับที่ความประพฤติของลูกอาจทำให้พ่อแม่ได้รับการยกย่องหรือคำตำหนิก็ได้ ดังนั้น ความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อพระยะโฮวาขึ้นอยู่กับสิ่งที่พวกเขาเห็นจากความประพฤติของประชาชนของพระองค์ด้วย ชื่อของพระยะโฮวาจะได้รับการยกย่องถ้าคนที่เป็นพยานของพระองค์ทำตามมาตรฐานด้านศีลธรรมของพระองค์ เรื่องนี้ค่อนข้างคล้ายกับสมัยของยะเอศเคล ผู้คนจากชาติต่าง ๆ จะมองว่าพระยะโฮวาเป็นอย่างไรก็ดูได้จากความประพฤติของชาวยิวเพราะชาวยิวเป็นตัวแทนของชื่อพระองค์—ยเอศ. 36:19-23
เราจะทำให้ชื่ออันบริสุทธิ์ของพระเจ้าถูกตำหนิถ้าเราทำผิดศีลธรรม อัครสาวกเปโตรแนะนำคริสเตียนว่า “ในฐานะบุตรที่เชื่อฟัง อย่ายอมให้ความปรารถนาที่ท่านทั้งหลายเคยมีในตอนที่ยังเขลาอยู่นั้นครอบงำพวกท่าน แต่ท่านทั้งหลายจงเป็นคนบริสุทธิ์ในการประพฤติทั้งสิ้นตามอย่างพระองค์ผู้บริสุทธิ์ผู้ทรงเรียกพวกท่านนั้น เพราะมีคำเขียนไว้ว่า ‘เจ้าทั้งหลายต้องเป็นคนบริสุทธิ์ เพราะเราเป็นผู้บริสุทธิ์’” (1 เป. 1:14-16) การกระทำที่สะอาดบริสุทธิ์ทำให้ชื่อของพระเจ้าได้รับเกียรติ
ถ้าพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งทำผิดร้ายแรง และดูเหมือนว่าคนอื่นจะรู้เรื่องนี้ การตัดสัมพันธ์คนนั้นแสดงให้เห็นว่าประชาชนของพระยะโฮวายึดมั่นต่อคำแนะนำเรื่องความสะอาดบริสุทธิ์ในคัมภีร์ไบเบิล ชายคนหนึ่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เห็นว่าพยานพระยะโฮวาเป็นอย่างนั้น วันหนึ่ง เขามาประชุมและบอกว่าอยากเป็นพยานพระยะโฮวา เขาเล่าให้ฟังว่าน้องสาวของเขาเคยถูกตัดสัมพันธ์เพราะทำผิดศีลธรรม เขาจึงอยากอยู่ในองค์การที่ “ไม่ยอมให้กับการประพฤติผิด ๆ”
การตัดสัมพันธ์ปกป้องประชาคมคริสเตียนให้สะอาด อัครสาวกเปาโลเตือนคริสเตียนในเมืองโครินท์ถึงอันตรายของการยอมให้คนที่จงใจทำผิดอยู่ในประชาคมต่อไป เขาเปรียบอิทธิพลที่ไม่ดีของคนที่จงใจทำผิดกับเชื้อที่ใส่ในแป้งทำขนมปัง เขาบอกว่า “เชื้อนิดหน่อยทำให้แป้งขึ้นฟูทั้งก้อน?” ดังนั้น เขาจึงแนะนำคริสเตียนเหล่านั้นว่า “จงขับไล่คนชั่วนั้นออกไปจากพวกท่านเถิด”—1 โค. 5:6, 11-13
เห็นได้ชัดว่า “คนชั่ว” ที่เปาโลกล่าวถึงได้ทำผิดศีลธรรมอย่างโจ่งแจ้ง และสมาชิกคนอื่น ๆ ในประชาคมก็เริ่มเห็นดีเห็นงามกับการกระทำของคนนั้น (1 โค. 5:1, 2) ถ้าไม่มีการลงโทษคนที่ทำบาปร้ายแรง คริสเตียนคนอื่น ๆ อาจเลียนแบบการผิดศีลธรรมที่ทำกันอย่างแพร่หลายในเมืองที่เต็มไปด้วยราคะตัณหาที่พวกเขาอาศัยอยู่ และการมองข้ามการทำบาปที่จงใจอาจเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ลดหย่อนมาตรฐานของพระเจ้า (ผู้ป. 8:11) ยิ่งกว่านั้น คนที่ทำบาปและไม่กลับใจอาจกลายเป็น “หินโสโครก” ที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำและทำให้ความเชื่อของคนอื่น ๆ ในประชาคมเป็นเหมือนเรืออับปาง—ยูดา 4, 12
การตัดสัมพันธ์อาจทำให้คนที่ทำผิดสำนึกตัว ครั้งหนึ่งพระเยซูเล่าเรื่องชายหนุ่มที่ออกจากบ้านของพ่อและได้ผลาญเงินมรดกของเขาไปกับชีวิตที่เสเพล ลูกชายที่สุรุ่ยสุร่ายเรียนรู้อย่างเจ็บปวดว่าชีวิตข้างนอกนั้นเต็มไปด้วยความว่างเปล่าและไร้ความเมตตา ในที่สุด ลูกชายสำนึกตัว กลับใจ และเริ่มหาทางกลับไปหาครอบครัวของเขา (ลูกา 15:11-24) คำพรรณนาของพระเยซูเกี่ยวกับพ่อที่มีความรักซึ่งรู้สึกยินดีที่เห็นลูกชายของเขากลับใจช่วยเราให้เข้าใจความรู้สึกของพระยะโฮวา เราเห็นเรื่องนี้ได้จากคำยืนยันของพระยะโฮวาที่ว่า “เราไม่ยินดีในความตายของคนชั่วร้าย แต่ยินดีในการกลับใจของคนชั่วร้ายที่ละทิ้งความประพฤติของตนและมีชีวิต”—ยเอศ. 33:11, ฉบับคาทอลิก
เช่นเดียวกับลูกชายสุรุ่ยสุร่ายคนนั้น คนที่ถูกตัดสัมพันธ์อาจรู้สึกสูญเสียที่เขาไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัวแห่งความเชื่อซึ่งก็คือประชาคมคริสเตียน การคิดทบทวนถึงผลอันขมขื่นจากแนวทางที่ผิดบาปกับความทรงจำที่มีความสุขตอนที่เขาเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวาและประชาชนของพระองค์อาจทำให้เขาสำนึกตัวได้
ความรักและความเด็ดเดี่ยวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อทำให้เกิดผลดี ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบอกว่า “ขอให้คนชอบธรรมเฆี่ยนตีข้าพเจ้า จะเป็นคุณ และให้เขาตักเตือนข้าพเจ้า จะเป็นเหมือนน้ำมันชโลมศีรษะของข้าพเจ้า” (เพลง. 141:5) เพื่อเป็นตัวอย่าง ลองนึกภาพในวันที่อากาศหนาวเย็นและมีหิมะ นักไต่เขาคนหนึ่งหมดแรงจนเดินต่อไปไม่ไหว อุณหภูมิในร่างกายของเขาเริ่มต่ำลงกว่าปกติจนทำให้เขาง่วง ถ้าเขาเผลอหลับไปในตอนนี้เขาจะตายแน่ ๆ ขณะที่คอยทีมกู้ภัยเพื่อนของเขาต้องตบหน้าเขาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เขาตื่นอยู่เสมอ การถูกตบหน้าอาจทำให้เจ็บแต่ก็ช่วยชีวิตเขาได้ คล้ายกัน ดาวิดสำนึกว่าจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำที่เจ็บปวดจากคนชอบธรรมเพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง
ในหลายกรณี การตัดสัมพันธ์เป็นการตีสอนที่คนทำผิดจำเป็นต้องได้รับ ดังที่กล่าวในตอนต้น หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี ลูกชายของฮูเลี่ยนได้เปลี่ยนแปลงชีวิตแล้วกลับมาสู่ประชาคม และตอนนี้เขารับใช้เป็นผู้ปกครอง เขายอมรับว่า “การถูกตัดสัมพันธ์ทำให้ผมได้เห็นผลจากการใช้ชีวิตแบบผิด ๆ จริง ๆ แล้ว ผมสมควรได้รับการตีสอนแบบนี้แหละ”—ฮีบรู 12:7-11
วิธีปฏิบัติต่อคนที่ถูกตัดสัมพันธ์ด้วยความรัก
แม้การตัดสัมพันธ์เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคริสเตียนแต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้ร้ายแรงจนแก้ไขไม่ได้ และเราทุกคนต่างก็มีส่วนส่งเสริมให้การตัดสัมพันธ์บรรลุตามวัตถุประสงค์
คณะผู้ปกครอง พยายามสะท้อนความรักของพระยะโฮวาเมื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาการตัดสัมพันธ์แม้ต้องทำหน้าที่นี้ด้วยความเศร้าใจก็ตาม ดังนั้น เมื่อบอกผลการตัดสิน พวกเขาจะบอกคนที่ทำผิดอย่างกรุณาและชัดเจนถึงขั้นตอนที่ต้องทำเพื่อจะกลับสู่ฐานะเดิมในประชาคม หลังจากถูกตัดสัมพันธ์ ถ้าผู้ปกครองสังเกตว่าคนที่ทำผิดได้แสดงให้เห็นว่าเขาเปลี่ยนแปลงแนวทางการประพฤติ ผู้ปกครองอาจไปเยี่ยมคนนั้นเป็นระยะ ๆ เพื่อบอกให้เขารู้วิธีกลับมาหาพระยะโฮวาa
สมาชิกครอบครัว สามารถแสดงความรักต่อประชาคมและคนที่ทำผิดได้โดยนับถือการตัดสินของผู้ปกครองเรื่องการตัดสัมพันธ์ ฮูเลี่ยนบอกว่า “เขาก็ยังเป็นลูกผมอยู่ แต่การใช้ชีวิตแบบผิด ๆ ของเขาต่างหากที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นระหว่างเรา”
ทุกคนในประชาคม สามารถแสดงความรักตามหลักการ โดยหลีกเลี่ยงการติดต่อพูดคุยกับคนที่ถูกตัดสัมพันธ์ (1 โค. 5:11; 2 โย. 10, 11) สนับสนุนการตีสอนของพระยะโฮวาผ่านทางผู้ปกครอง แสดงความรักและให้กำลังใจเป็นพิเศษแก่ครอบครัวของคนที่ถูกตัดสัมพันธ์ซึ่งคงเจ็บปวดมาก และไม่ควรทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกตัดออกจากการคบหากับพี่น้องร่วมความเชื่อไปด้วย—โรม 12:13, 15
ฮูเลี่ยนสรุปว่า “การตัดสัมพันธ์เป็นการจัดเตรียมที่จำเป็น เพราะนั่นช่วยเราให้ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระยะโฮวา แม้การทำอย่างนั้นจะทำให้เจ็บปวดก็ตามแต่ในระยะยาวจะเกิดผลที่ดีกว่า ถ้าผมอะลุ่มอล่วยกับการกระทำผิดของลูกชาย เขาคงไม่สำนึกตัวและกลับมา”