โรงเรียนกิเลียดอายุ 50 ปีและเจริญรุดหน้า!
“มีหลายแห่งที่ยังไม่มีการให้คำพยานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอย่างกว้างขวาง” เป็นคำกล่าวของ เอ็น. เอช. นอรร์ ต่อชั้นเรียนที่หนึ่งแห่งโรงเรียนกิเลียดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1943 ซึ่งเป็นวันเปิดโรงเรียนนี้. ท่านกล่าวอีกว่า “จะต้องมีผู้คนอีกหลายร้อยหลายพันคนที่จะไปถึงได้หากมีผู้ทำงานในการประกาศมากขึ้นอีก. โดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับขององค์พระผู้เป็นเจ้า จะต้องมีเพิ่มขึ้นอีกแน่ ๆ.”
และก็มีผู้ทำงานเพิ่มมากขึ้น—อีกหลายล้าน คน! จำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจาก 129,070 คนใน 54 ประเทศในปี 1943 เป็น 4,472,787 คนใน 229 ประเทศในปี 1992! โรงเรียนกิเลียดมีส่วนส่งเสริมอย่างมากทีเดียวต่อการให้คำพยานซึ่งยังผลด้วยการเพิ่มพูนเช่นนี้. หลังจาก 50 ปี โรงเรียนนี้ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการฝึกอบรมผู้ทำงานในฐานะมิชชันนารีให้รับใช้ในเขตซึ่งมีความต้องการทั่วโลก.
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1993 มีแขกที่ได้รับเชิญและสมาชิกครอบครัวเบเธลสหรัฐ 4,798 คนมาชุมนุมกันที่หอประชุมใหญ่เจอร์ซีซิตีในรัฐนิวเจอร์ซีเนื่องในโอกาสสำเร็จการศึกษาของชั้นเรียนที่ 94. โอกาสอันพิเศษยิ่งนี้ยังทำให้มีโอกาสได้รำลึกถึง 50 ปีของโรงเรียนกิเลียดอีกด้วย. คุณอยากทราบเกี่ยวกับระเบียบวาระสักหน่อยไหม?
หลังจากเพลงเปิดการประชุม จอร์จ ดี. แกงกัส แห่งคณะกรรมการปกครองให้คำอธิษฐานที่เร้าใจ. จากนั้นก็เป็นคำกล่าวนำโดยประธานการประชุม แครี ดับเบิลยู. บาร์เบอร์ ผู้สำเร็จการศึกษา—และผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน—ต่างรับฟังอย่างเอาใจใส่ต่อชุดคำบรรยายสั้น ๆ.
โรเบิร์ต ดับเบิลยู. วอลเล็น พูดเป็นคนแรกในอรรถบท “คุณจะไม่โดดเดี่ยวเลย.” ด้วยน้ำเสียงอบอุ่น เขากล่าวว่า ‘ในวันข้างหน้า คงจะมีบางครั้งบางคราวในชีวิตคุณที่คุณรู้สึก เฮ้อ ช่างเดียวดายเสียจริง ไกลเหลือเกินจากบ้านแล้วก็จากเพื่อน ๆ.’ ถ้าเช่นนั้น จะพูดได้อย่างไรว่า “คุณจะไม่โดดเดี่ยวเลย?” เขาอธิบายว่า ‘เพราะคุณทุกคนจะติดต่อสื่อความกับพระเจ้ายะโฮวาได้ทันทีทุกเมื่อ.’ เขากระตุ้นผู้สำเร็จการศึกษาให้ทะนุถนอมสิทธิพิเศษแห่งการอธิษฐานไว้และให้ใช้สิทธิพิเศษนี้ทุกวัน. ครั้นแล้ว พวกเขาก็จะพูดได้เช่นเดียวกับพระเยซูว่า “เราหาได้อยู่ผู้เดียวไม่.” (โยฮัน 16:32) นั่นช่างเป็นถ้อยคำที่หนุนกำลังใจจริง ๆ แก่ผู้สำเร็จการศึกษา!
โดยขยายความอรรถบท “จงยึดมั่นอยู่กับความหวังของคุณ” (อาศัยข้อพระคัมภีร์ประจำวันที่ 7 มีนาคม) ไลแมน สวิงเกิล แห่งคณะกรรมการปกครองพูดต่อจากนั้นถึงความจำเป็นที่จะมีคุณลักษณะสองประการ คือความเพียรอดทนและความหวัง. เขากล่าวว่า ‘คำสบประมาท, ความเป็นปฏิปักษ์, ความเกลียดชัง, การถูกจำคุก, แม้แต่ความตาย คือสาเหตุที่คริสเตียนต้องเพียรอดทน. กำลังอันเหนือกว่าปกติซึ่งพยานที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาจะร้องขอได้ในยามจำเป็นนั้นไม่มีขีดจำกัด. แน่นอนนี้ให้ความมั่นใจ โดยเฉพาะสำหรับคุณผู้สำเร็จการศึกษา.’ แล้วความหวังล่ะ? เขาอธิบายว่า ‘ความหวังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้. หมวกเกราะป้องกันศีรษะของผู้สวมฉันใด ความหวังเรื่องความรอดก็พิทักษ์และป้องกันความสามารถในการคิดของคริสเตียนฉันนั้น ทำให้เขาสามารถจะรักษาความภักดีเอาไว้ได้.—1 เธซะโลนิเก 5:8.
ผู้บรรยายคนถัดมา ราล์ฟ อี. วอลส์ เลือกอรรถบทที่ดึงดูดใจ “เราจะหนีไปสู่ความปลอดภัยแห่ง ‘ที่โล่งกว้าง’ ได้อย่างไร? “ที่โล่งกว้าง” คืออะไร? (บทเพลงสรรเสริญ 18:19) ผู้บรรยายอธิบายว่า “คือสภาวะแห่งการช่วยให้รอดที่นำมาซึ่งสันติสุขในใจและความมั่นคงแห่งหัวใจ.” เราต้องได้รับการช่วยให้รอดจากอะไร? ‘จากตัวเราเอง—จุดอ่อนต่าง ๆ ของเราเอง’ เขากล่าวเสริมว่า ‘อีกประการหนึ่ง เราต้องรับการช่วยให้รอดจากสภาพแวดล้อมภายนอกซึ่งซาตานยุยงส่งเสริม.’ (บทเพลงสรรเสริญ 118:5) เราจะหนีไปสู่ความปลอดภัยในที่โล่งกว้างได้อย่างไร? ‘ก็โดยการแสวงหาความเป็นระเบียบของพระยะโฮวาในทุกสิ่งที่เราทำและโดยการทูลวิงวอนด้วยความเชื่อต่อพระยะโฮวาในทุกสิ่งที่เราห่วงใย.’
“อะไรรอคุณอยู่ข้างหน้า?” คือหัวเรื่องที่ ดอน เอ. อะดัมส์ได้เลือก. และอะไรที่รอพวกมิชชันนารีใหม่อยู่ข้างหน้า? เขาชี้แจงว่า ก็คือช่วงแห่งการปรับตัว. “มีพระพรมากมายอยู่ข้างหน้าคุณเช่นกัน.” เพื่อยกตัวอย่าง เขาเล่าถึงมิชชันนารีใหม่คู่หนึ่งซึ่งหลังจากตั้งหลักในเขตมอบหมายของเขาแล้วได้เขียนมาว่า “คิดถึงเวลาอันดีเยี่ยมที่คุณเคยมีในการรับใช้สิ และแต่ละวันก็เป็นอย่างนั้น. เรามักต้องการหนังสือมากกว่าที่เราสามารถเอาไปได้เสมอ และผู้คนก็ขอศึกษาอยู่เสมอ.” ผู้บรรยายให้ข้อคิดเห็นบางอย่างแก่ครอบครัวและเพื่อน ๆ ของผู้สำเร็จการศึกษาว่า ‘คุณไม่ต้องกังวลกับผู้สำเร็จการศึกษาเหล่านี้. คุณช่วยพวกเขาได้โดยเขียนถ้อยคำหนุนกำลังใจถึงเขา.’—สุภาษิต 25:25.
ครูประจำโรงเรียนบรรยายถัดจากนั้น. แจ็ก ดี. เรดฟอร์ด เลือกหัวเรื่อง “อย่าคาดหมายอะไรจากผู้ใด.” เขาอธิบายว่าข้อท้าทายประการหนึ่งที่ผู้สำเร็จการศึกษาต้องเผชิญคือการเข้ากันได้กับผู้คน. อะไรจะช่วย? “มองข้ามข้อบกพร่องของคนอื่น. อย่าคาดหมายมากเกินไปจากคนอื่น. อย่าคาดหมายจะได้เต็มที่ในสิ่งที่คุณถือว่าเป็นสิทธิของคุณ. จงยอมให้กับความไม่สมบูรณ์ในคนอื่น ๆ และความกรุณาเช่นนี้จะช่วยให้คุณเข้ากับเขาได้. ความสามารถของคุณที่จะเข้ากับคนอื่น ๆ ได้นั้นจะเป็นเครื่องวัดความอาวุโสของคุณ.” (สุภาษิต 17:9) แน่นอน การนำคำแนะนำอันฉลาดสุขุมนี้ไปใช้ย่อมจะช่วยผู้สำเร็จการศึกษาให้ทำการปรับปรุงอย่างเป็นผลสำเร็จในการเป็นมิชชันนารีในต่างประเทศ!
พระธรรม 2 โกรินโธ 4:7 กล่าวว่า “เรามีทรัพย์นั้นในภาชนะดิน.” ยูลิสซิส วี. กลาสส์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทะเบียนของโรงเรียนกิเลียดอธิบายข้อนี้เมื่อเขาขยายความอรรถบท “จงไว้วางใจพี่น้องของคุณซึ่งได้พิสูจน์ตัวแล้วและซื่อสัตย์.” “ภาชนะดิน” คืออะไร? เขาชี้ว่า “ภาชนะเหล่านั้นคงต้องหมายถึงพวกเราในฐานะมนุษย์ไม่สมบูรณ์.” “ทรัพย์” นั้นล่ะคืออะไร? “นั่นคืองานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนของเรา” เขาอธิบาย. (2 โกรินโธ 4:1) และควรทำอย่างไรกับทรัพย์นั้น? “ทรัพย์ที่พระยะโฮวาทรงฝากไว้กับเรานั้นไม่ใช่ให้เก็บซ่อนไว้. ดังนั้น พวกคุณที่รักทั้งหลายซึ่งจะเป็นมิชชันนารี จงแจกจ่ายทรัพย์นั้นไม่ว่าคุณจะไปที่ใด และสอนคนอื่นให้มาก ๆ ถึงวิธีแจกจ่ายทรัพย์นั้น.”
เป็นช่วงแห่งการรำลึกถึงอดีตเมื่อ อัลเบิร์ต ดี. ชโรเดอร์ เริ่มบรรยาย เนื่องจากเขาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทะเบียนของโรงเรียนกิเลียดในตอนที่โรงเรียนนี้เริ่มดำเนินการ. อรรถบทคือ “ครึ่งศตวรรษแห่งการฝึกอบรมตามระบอบของพระเจ้า.” เขากล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงทราบว่าจะให้การอบรมอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร และนี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงทำ.” อย่างไร? บราเดอร์ชโรเดอร์กล่าวถึงการอบรมที่ได้รับโดยสองโรงเรียนที่ได้ตั้งขึ้นเมื่อ 50 ปีมาแล้ว—คือโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้ากับโรงเรียนกิเลียด. เขาชี้ให้เห็นว่าเครื่องมืออันทรงค่าในการจัดให้มีความรู้ถ่องแท้คือพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่. เขาให้คำรับรองกับผู้สำเร็จการศึกษาว่า “คุณจะไปสู่งานมอบหมายในต่างประเทศได้พร้อมด้วยความมั่นใจอย่างยิ่งว่าสมาคมจะให้คุณได้รับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระยะโฮวาเป็นอย่างดีเสมอ.”
มิลตัน จี. เฮ็นเชล นายกสมาคมว็อชเทาเวอร์ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งเพ็นซิลเวเนีย บรรยายในอรรถบท “ชัยชนะเหลือล้น.” บราเดอร์เฮ็นเชลเอาอรรถบทคำบรรยายของเขามาจากข้อพระคัมภีร์ประจำปี 1943 ที่ว่า “ชัยชนะเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ได้ทรงรักเราทั้งหลาย.” (โรม 8:37) เขาอธิบายว่าข้อนี้เป็นข้อพระคัมภีร์ประจำปีที่เหมาะสมทีเดียว เพราะในช่วงกลาง ๆ สงครามโลกที่ 2 พี่น้องของเราในหลายประเทศต้องประสบกับการกดขี่ข่มเหงมากมาย. บราเดอร์เฮ็นเชลอ่านบางตอนที่ยกมาจากว็อชเทาเวอร์ ฉบับที่อธิบายข้อพระคัมภีร์ประจำปีข้อนั้นแล้วชี้แจงว่า “ชั้นเรียนแรกของโรงเรียนกิเลียดได้ศึกษาบทความนี้ในว็อชเทาเวอร์ (ฉบับวันที่ 15 มกราคม 1943) ในเดือนกุมภาพันธ์ และบทความนี้เตรียมพวกเขาไว้สำหรับสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า.” เขาอธิบายว่าผู้สำเร็จการศึกษาตลอดห้าสิบปีที่แล้วได้พิสูจน์ตัวเป็นผู้ชนะแล้ว. ชั้นเรียนที่ 94 ล่ะ? “จงอยู่ใกล้ชิดพระยะโฮวา, ใกล้ชิดความรักของพระองค์ แล้วชัยชนะของคุณจะเป็นเรื่องแน่นอน.”
หลังจากคำบรรยายในช่วงเช้า ประธานการประชุมได้มอบความปรารถนาดีที่ได้รับจากหลายประเทศแก่ผู้เข้าร่วม. แล้วก็ถึงเวลาที่สามีภรรยาทั้ง 24 คู่ได้รอคอยด้วยความกระตือรือร้นคือการแจกประกาศนียบัตร. บัดนี้ นักเรียนกิเลียดทั้งหลายก็เป็นผู้สำเร็จการศึกษาอย่างเป็นทางการ! พวกเขามาจาก 5 ประเทศ แต่งานมอบหมายนำพวกเขาสู่ 17 ประเทศ ซึ่งรวมถึงฮ่องกง, ไต้หวัน, โมซัมบิก, และส่วนต่าง ๆ แห่งยุโรปตะวันออก.
หลังจากหยุดพัก ระเบียบวาระภาคบ่ายเริ่มด้วยการศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์อย่างสั้น ๆ ซึ่งนำโดยโรเบิร์ต แอล. บัตเลอร์. จากนั้นผู้สำเร็จการศึกษาได้แสดงถึงประสบการณ์บางอย่างที่พวกเขาได้ชื่นชมในระหว่างการให้คำพยานใกล้กับวอลล์คิลล์ นิวยอร์ก. ระเบียบวาระนั้นสะท้อนถึงสิ่งหนึ่งในหลาย ๆ สิ่งที่ได้นำเขามายังกิเลียดอย่างไม่ต้องสงสัยนั่นคือความรักอันลึกซึ้งที่พวกเขามีต่องานประกาศ.
ถัดจากระเบียบวาระของนักเรียน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ต่างสงสัยว่าระเบียบวาระจะมีสิ่งพิเศษบางสิ่งเพื่อระลึกถึง 50 ปีของโรงเรียนกิเลียดหรือไม่. พวกเขาไม่ได้ผิดหวัง!—โปรดดูกรอบ “การหวนรำลึกถึง 50 ปีแห่งโรงเรียนกิเลียด.”
ห้าสิบปีมาแล้ว บราเดอร์นอรร์ได้แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนมีความเชื่อและมองการณ์ไกล. ความมั่นใจของท่านที่ว่าโรงเรียนกิเลียดจะประสบผลสำเร็จนั้นมีการแสดงออกด้วยคำกล่าวของท่านในการเปิดชั้นเรียนแรก ซึ่งท่านกล่าวว่า “เราเชื่อว่า จะเป็นความจริงกับชื่อของโรงเรียน ‘กองคำพยาน’ จะออกไปจากสถานที่นี้สู่ทุกส่วนของโลกและคำพยานนั้นจะยืนยงประหนึ่งเครื่องเตือนให้รำลึกถึงสง่าราศีของพระเจ้าซึ่งไม่มีวันถูกทำลายได้. พวกคุณซึ่งเป็นผู้รับใช้ที่ได้รับการแต่งตั้งจะมอบความวางใจเต็มที่ในพระผู้สูงสุด โดยรู้อยู่ว่าพระองค์จะทรงนำและชี้แนะคุณในทุกวาระที่มีความจำเป็น และคุณจะทราบด้วยว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้อวยพรเช่นกัน.”a
ห้าสิบปีต่อมา โรงเรียนกิเลียดยังคงเข้มแข็งต่อไป! บัดนี้ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นเรียนที่ 94 มีสิทธิพิเศษแห่งการติดตามผู้สำเร็จการศึกษากว่า 6,500 คนที่ได้ออกไปแล้วก่อนพวกเขา. ขอให้พวกเขามอบความไว้วางใจเต็มที่ในพระผู้สูงสุดขณะที่เขาทำส่วนของเขาในการสะสม “กองคำพยาน” ให้มากขึ้น ซึ่งจะยืนยงเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงสง่าราศีของพระเจ้ายะโฮวา.
[เชิงอรรถ]
a ในภาษาฮีบรู คำ “กิเลียด” หมายความว่า “กองคำพยาน.”—เยเนซิศ 31:47, 48.
[กรอบหน้า 25]
สถิติของชั้นเรียน
จำนวนนักเรียน: 48 คน
มาจาก: 5 ประเทศ
ได้รับมอบหมายให้ไปยัง: 17 ประเทศ
เฉลี่ยอายุ: 32 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่อยู่ในความจริง: 15.3 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่อยู่ในงานรับใช้เต็มเวลา: 9.6 ปี
[กรอบหน้า 26, 27]
การหวนรำลึกถึง 50 ปีของโรงเรียนกิเลียด
เพื่อย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ของกิเลียด มีวิธีใดจะดีไปกว่าโดยอาศัยประสบการณ์ของคนเหล่านั้นที่ผ่านโรงเรียนนี้มาคือ ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรก ๆ, ครู, และคนอื่น ๆ ซึ่งได้ช่วยในการจัดระเบียบโรงเรียนนี้? ผู้ฟังมีความปีติยินดีเมื่อพวกเขาได้ฟังส่วน “การรำลึกถึง 50 ปีของโรงเรียนกิเลียด” ซึ่งนำโดย ทีโอดอร์ จาราซ.
สภาพการณ์อะไรที่ได้นำไปสู่การก่อตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น? บราเดอร์ชโรเดอร์ชี้แจงว่าเขากับครูอีกสองคนมีเวลาแค่สี่เดือนเพื่อจัดตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นมา. แต่เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 1943 เราก็พร้อมสำหรับการอุทิศ.”
มิชชันนารีพวกแรกซึ่งถูกส่งออกไปนั้น ประสบกับสิ่งใด? บราเดอร์เฮ็นเชลเล่าว่า “เราได้ให้แผนกจัดส่งของสมาคมบรรจุสิ่งของทั้งหมดที่พวกมิชชันนารีต้องการนำไปกับเขาไว้ในลังไม้. พอลังไม้ถึงปลายทาง พวกเขาก็เปิดมันด้วยความระมัดระวังแล้วเอาข้าวของของตนออก. แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ใช้ลังไม้ทำเครื่องเรือน.” ท่านชี้แจงว่า ในที่สุด สมาคมก็ได้จัดเตรียมให้มีบ้านมิชชันนารีไว้พร้อมอย่างพอสัณฐานประมาณ.
ในระเบียบวาระถัดไป ผู้สำเร็จการศึกษาบางคนจากชั้นเรียนรุ่นแรก ๆ ของกิเลียดซึ่งในขณะนี้เป็นสมาชิกของครอบครัวเบเธลสหรัฐได้เล่าให้ฟังถึงความทรงจำ, ความรู้สึก, และประสบการณ์ของเขา. คำชี้แจงของพวกเขามีผลกระทบมากทีเดียวต่อหัวใจของผู้เข้าร่วมทั้งหลาย.
“หลังจากดิฉันได้รับคำเชิญให้เข้าในชั้นเรียนที่หนึ่ง ดิฉันมารู้ว่าคุณแม่เป็นมะเร็ง. แต่เนื่องจากคุณแม่เป็นไพโอเนียร์ตั้งแต่อายุ 16 ปีเป็นต้นมา ท่านแนะนำดิฉันอย่างขันแข็งให้รับคำเชิญนั้น. ดังนั้น ด้วยความรู้สึกสับสนและด้วยความวางใจในพระยะโฮวา ดิฉันจึงเดินทางไปที่เซาท์แลนซิง. ดิฉันชื่นชมยินดีอย่างเต็มที่และหยั่งรู้ค่าลึกซึ้งต่อการอบรมของกิเลียด. คุณแม่ของดิฉันสิ้นชีวิตไม่นานหลังจากดิฉันสำเร็จการศึกษา.”—ชาร์ล็อตต์ ชโรเดอร์ เคยรับใช้ในเม็กซิโกและเอลซัลวาดอร์.
“เนื่องจากพระยะโฮวาได้ทรงดูแลเอาใจใส่ดิฉันอยู่แล้วในส่วนของแผ่นดินโลกที่ดิฉันอยู่ ดิฉันจึงคิดว่าไม่ว่าดิฉันจะไปที่ไหน ก็ยังคงเป็นแผ่นดินโลกของพระองค์ และพระองค์จะทรงใฝ่พระทัยในดิฉัน. ฉะนั้น ดิฉันจึงมีความยินดีมากที่รับคำเชิญมายังชั้นเรียนที่หนึ่งนี้.”—จูเลีย ไวลด์แมน เคยรับใช้ในเม็กซิโกและเอลซัลวาดอร์.
“งานมิชชันนารียอดเยี่ยมมาก! เราพูดได้ทุกบ้าน. ในเดือนแรก ดิฉันจำหน่ายหนังสือ 107 เล่มและนำการศึกษา 19 ราย. เดือนที่สอง ดิฉันมีการศึกษาพระคัมภีร์ 28 ราย. แน่ละ มีบางสิ่งที่เราต้องทำความเคยชินกับมัน เช่น อากาศร้อน, ความชื้น, แมลงต่าง ๆ. แต่เป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่อยู่ที่นั่น. นี่เป็นบางสิ่งที่ดิฉันจะทะนุถนอมไว้เสมอ.”—แมรี อะดัมส์ ชั้นเรียนที่สอง พูดถึงงานมอบหมายของเธอในคิวบา.
“สภาพอากาศเป็นอุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งที่เราต้องต่อสู้ในอะแลสกา. ในภาคเหนือนั้นอากาศหนาวมากจริง ๆ อุณหภูมิลดลงถึง -50 องศาเซลเซียสและหนาวกว่านั้นอีก. หมู่บ้านชาวอินเดียนและสถานที่เล็ก ๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอะแลสกาจะเข้าไปถึงได้ก็โดยทางเรือหรือไม่ก็เครื่องบิน.”—จอห์น เอริเก็ตตี ชั้นเรียนที่สาม.
“สำหรับดิฉัน กิเลียดเป็นคำเชิญจากพระยะโฮวาผ่านทางองค์การภาคพื้นโลกของพระองค์เพื่อเสริมกำลังฝ่ายวิญญาณของเราและแสดงให้เราเห็นวิถีชีวิตอันยอดเยี่ยม.”—มิลเดร็ด บารร์ ชั้นเรียนที่ 11 เคยรับใช้ในไอร์แลนด์.
การสัมภาษณ์ที่ยิ่งน่าเบิกบานยินดีติดตามมา—ลูซีลล์ เฮ็นเชล (ชั้นเรียนที่ 14 เคยรับใช้ในเวเนซูเอลา), มาร์กาเรตา ไคลน์ (ชั้นเรียนที่ 20 เคยรับใช้ในโบลิเวีย), ลูซีลล์ โคลทรัป (ชั้นเรียนที่ 24 เคยรับใช้ในเปรู), ลาเรน วอลเล็น (ชั้นเรียนที่ 27 เคยรับใช้ในบราซิล), วิลเลียมและแซนดรา แมเล็นฟอนต์ (ชั้นเรียนที่ 34 เคยรับใช้ในโมร็อกโก), เกอรัต เลอช (ชั้นเรียนที่ 41 เคยรับใช้ในออสเตรีย), และเดวิด สเปลน (ชั้นเรียนที่ 42 เคยรับใช้ในเซเนกัล).
แล้วพี่น้องที่ทำหน้าที่เป็นครูล่ะเป็นอย่างไร? มีการสัมภาษณ์พวกเขาบางคนด้วยเช่น รัสเซล เคอร์เซ็น, คาร์ล อะดัมส์, แฮรัลด์ แจ็กสัน, เฟรด รัสก์, แฮรี พาโลยัน, แจ็ก เรดฟอร์ด, และยูลิสซิส กลาสส์. พวกเขาต่างก็สำนึกถึงสิทธิพิเศษของเขา แสดงออกมาว่าสิทธิพิเศษนั้นส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไรจนถึงทุกวันนี้.
พยานหลักฐานอันน่าตื่นเต้นต่อประสิทธิภาพของมิชชันนารีซึ่งได้รับการอบรมจากกิเลียดมีการเสนอโดยลอยด์ แบร์รี ผู้ซึ่งเคยรับใช้ในญี่ปุ่น. ในปี 1949 เมื่อมิชชันนารี 15 คนถูกส่งไปที่นั่น มีผู้ประกาศไม่ถึง 10 คนในญี่ปุ่นทั้งประเทศ. แต่ 44 ปีต่อมา มีผู้ประกาศราชอาณาจักรกว่า 175,000 คนในประเทศนี้! จากนั้น โรเบิร์ต วอลเล็น บอกถึงความสำเร็จอันโดดเด่นที่มิชชันนารีบางคนได้ประสบในการช่วยผู้คนเข้ามาในความจริง รวมทั้งพี่น้องหญิงมิชชันนารีคนหนึ่งซึ่งเคยอยู่ในปานามาเป็นเวลากว่า 45 ปีและได้ช่วย 125 คนจนถึงขั้นอุทิศตัวและรับบัพติสมา.
จุดสุดยอดของระเบียบวาระทั้งหมดมาถึงเมื่อผู้ฟังทั้งหลายซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากกิเลียดได้รับเชิญให้ขึ้นบนเวที. นั่นเป็นช่วงเวลาอันประทับใจจริง ๆ. แถวพี่น้องชายหญิงไม่ขาดสาย—นอกจากผู้สำเร็จการศึกษาที่มาเยี่ยมแล้วก็มี 89 คนในครอบครัวเบเธล—เดินตามทางเดินในหอประชุมและบนบันไดทางขึ้นเวที. พี่น้องที่ทำหน้าที่เป็นครูตลอดหลายปีรวมอยู่กับพวกเขาด้วย และแล้วก็ชั้นเรียนที่ 94—ทั้งหมดประมาณ 160 คน!
“การงานของโรงเรียนกิเลียดในการฝึกอบรมมิชชันนารีสำหรับต่างประเทศสัมฤทธิ์ผลไหม?” บราเดอร์จาราซถาม. “หลักฐานตลอด 50 ปีที่ผ่านไปส่งเสียงก้องว่าใช่แล้ว!”
[รูปภาพหน้า 25]
ชั้นเรียนที่ 94 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด
รายชื่อข้างล่าง แถวนับจากข้างหน้าไปข้างหลัง และชื่อนับจากซ้ายไปขวาในแต่ละแถว.
(1) De La Garza, C.; Borg, E.; Arriaga, E.; Chooh, E.; Purves, D.; Fosberry, A.; Delgado, A.; Drescher, L. (2) Scott, V.; Fridlund, L.; Kettula, S.; Copeland, D.; Arriaga, J.; Thidé, J.; Olsson, E.; Widegren, S. (3) Delgado, F.; Keegan, S.; Leinonen, A.; Finnigan, E.; Fosberry, F.; Halbrook, J.; Berglund, A.; Jones, P. (4) Watson, B.; Frias, C.; Chooh, B.; Halbrook, J.; Purves, J.; Finnigan, S.; Jones, A.; Cuccia, M. (5) Scott, G.; Copeland, D.; Drescher, B.; De La Garza, R.; Leinonen, I.; Keegan, D.; Watson, T.; Kettula, M. (6) Widegren, J.; Borg, S.; Cuccia, L.; Berglund, A.; Olsson, B.; Frias, J.; Fridlund, T.; Thidé, P.