ให้เราทั้งหลายประกาศสง่าราศีของพระยะโฮวา
“จงถวายรัศมีและเดชานุภาพแก่พระองค์. จงถวายรัศมีแก่พระยะโฮวาให้สมกับพระนามของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 96:7, 8.
1, 2. การถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวามาจากแหล่งใด และใครได้รับการกระตุ้นให้เข้าร่วม?
ดาวิด บุตรยิซัย โตขึ้นเป็นผู้เลี้ยงแกะในย่านชานเมืองเบทเลเฮม. คงบ่อยครั้งสักเพียงไรที่ท่านจ้องมองท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ที่ดารดาษไปด้วยดวงดาวในคืนสงัดขณะที่เฝ้าดูแลฝูงแกะของบิดาในทุ่งหญ้าเลี้ยงแกะที่ห่างไกลผู้คน! ภาพความประทับใจเช่นนั้นคงผุดขึ้นอย่างแจ่มชัดในใจขณะที่ท่านประพันธ์และร้องเพลงสรรเสริญที่มีถ้อยคำอันไพเราะในเพลงสรรเสริญบท 19 ด้วยการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า ที่ว่า “ฟ้าสวรรค์แสดงพระรัศมีของพระเจ้า; และท้องฟ้าประกาศพระหัตถกิจ. เครื่องวัดของฟ้าทอดออกไปทั่วแผ่นดิน, ถ้อยคำของฟ้านั้นไปถึงปลายพิภพโลก.”—บทเพลงสรรเสริญ 19:1, 4.
2 โดยปราศจากวาจา, ถ้อยคำ, สำเนียง ฟ้าสวรรค์อันน่าเกรงขามที่พระยะโฮวาสร้างขึ้นประกาศสง่าราศีของพระองค์วันต่อวัน คืนต่อคืน. สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างไม่หยุดประกาศสง่าราศีของพระเจ้า และทำให้ต้องเจียมตัวเมื่อตรึกตรองดูว่า การประกาศโดยไร้คำพูดนี้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนที่อาศัยอยู่ “ทั่วแผ่นดิน.” อย่างไรก็ตาม การประกาศโดยไร้ถ้อยคำของสิ่งทรงสร้างที่ปราศจากชีวิตนั้นไม่พอ. มนุษย์ที่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าได้รับการกระตุ้นให้ร่วมการประกาศสง่าราศีของพระองค์ด้วยคำพูดของตน. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญคนหนึ่งที่ไม่ระบุนามบอกแก่ผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ด้วยถ้อยคำที่ได้รับการดลใจต่อไปนี้: “จงถวายรัศมีและเดชานุภาพแก่พระองค์. จงถวายรัศมีแก่พระยะโฮวาให้สมกับพระนามของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 96:7, 8) ผู้ที่มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระยะโฮวาปีติยินดีที่จะสนองตอบคำกระตุ้นดังกล่าว. แต่ว่าการถวายรัศมีหรือพระเกียรติแก่พระเจ้านั้นเกี่ยวข้องกับอะไร?
3. เหตุใดมนุษย์ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า?
3 การถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าไม่ใช่แค่ด้วยคำพูด. ชาวอิสราเอลในสมัยยะซายาถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยริมฝีปากของตน แต่ส่วนใหญ่แล้วขาดความจริงใจ. พระยะโฮวาตรัสผ่านทางยะซายาดังนี้: “พลเมืองเหล่านี้เข้ามาเฝ้าเราแต่เพียงปากของเขา, และถวายเกียรติยศแก่เราแต่เพียงริมฝีปากของเขา, ส่วนใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา.” (ยะซายา 29:13) คำสรรเสริญใด ๆ ที่กล่าวโดยคนเหล่านี้ไม่มีความหมาย. เพื่อจะมีความหมาย คำสรรเสริญจะต้องออกมาจากใจที่เปี่ยมด้วยความรักต่อพระยะโฮวา และมาจากความชื่นชมจากใจจริงต่อสง่าราศีอันหาที่เปรียบไม่ได้ของพระองค์. พระยะโฮวาแต่เพียงผู้เดียวเป็นพระผู้สร้าง. พระองค์เป็นผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ และเป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างอันยอดเยี่ยมในเรื่องความรัก. พระองค์เป็นผู้ริเริ่มจัดเตรียมความรอดสำหรับพวกเราและเป็นองค์บรมมหิศรโดยชอบธรรมที่สิ่งมีชีวิตทั้งปวงในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลกสมควรจะอยู่ใต้อำนาจของพระองค์. (วิวรณ์ 4:11; 19:1) ถ้าเราเชื่อในสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริง ก็ขอให้เราถวายพระเกียรติแด่พระองค์อย่างสิ้นสุดหัวใจ.
4. พระเยซูให้คำแนะนำอะไรถึงวิธีถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า และเราจะทำเช่นนั้นได้โดยวิธีใดบ้าง?
4 พระเยซูคริสต์บอกเราถึงวิธีที่จะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า. พระองค์ตรัสว่า “พระบิดาของเราได้รับเกียรติด้วยสิ่งนี้ คือที่เจ้าทั้งหลายเกิดผลมากอยู่เสมอ และพิสูจน์ตัวว่าเป็นสาวกของเรา.” (โยฮัน 15:8, ล.ม.) เราเกิดผลมากโดยวิธีใด? วิธีแรก คือโดยการเข้าร่วมในการประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร” อย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณ และโดยวิธีนี้ก็เป็นการร่วมกับสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้นในการ “ประกาศ” ถึง “คุณลักษณะต่าง ๆ ของ [พระเจ้า] อันไม่ประจักษ์แก่ตา.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.; โรม 1:20, ล.ม.) นอกจากนั้น โดยวิธีนี้ เราทุกคนต่างมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมในการทำให้คนเป็นสาวก ซึ่งสาวกใหม่เหล่านี้จะร่วมประสานคำสรรเสริญพระยะโฮวาพระเจ้าให้ก้องดังยิ่งขึ้น. วิธีที่สองคือ การที่เราปลูกฝังผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นในตัวเราและพยายามเลียนแบบคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมของพระยะโฮวาพระเจ้า. (ฆะลาเตีย 5:22, 23; เอเฟโซ 5:1; โกโลซาย 3:10) ผลคือ ความประพฤติแต่ละวันของเราเป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า.
“ไปทั่วทั้งแผ่นดินโลก”
5. จงอธิบายวิธีที่เปาโลเน้นถึงหน้าที่รับผิดชอบของคริสเตียนในการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยการแบ่งปันความเชื่อแก่คนอื่น ๆ.
5 ในจดหมายของท่านถึงคริสเตียนในกรุงโรม เปาโลเน้นถึงหน้าที่รับผิดชอบของคริสเตียนในการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยการแบ่งปันความเชื่อแก่คนอื่น ๆ. เนื้อหาหลักของพระธรรมโรมคือ เฉพาะแต่คนที่สำแดงความเชื่อในพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่ได้รับการช่วยให้รอด. ในบท 10 ของพระธรรมนี้ เปาโลแสดงว่า ชาวยิวโดยกำเนิดในสมัยของท่านยังคงพยายามจะบรรลุฐานะอันชอบธรรมด้วยการติดตามพระบัญญัติของโมเซ ทั้ง ๆ ที่ “พระคริสต์ทรงเป็นจุดจบของพระบัญญัติ.” ด้วยเหตุนั้น เปาโลจึงกล่าวว่า “ถ้าท่านประกาศอย่างเปิดเผย ‘คำนั้นในปากของท่านเอง’ ว่า พระเยซูเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และสำแดงความเชื่อในหัวใจของท่านว่า พระเจ้าทรงปลุกพระองค์ขึ้นจากบรรดาคนตาย ท่านก็จะรอด.” ตั้งแต่นั้นมา “ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างชาวยิวกับชาวกรีก ด้วยว่ามีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกันอยู่เหนือทุกคน ผู้ทรงโปรดประทานอย่างบริบูรณ์แก่ทุกคนที่ทูลขอพระองค์. เพราะ ‘ทุกคนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาจะรอด.’ ”—โรม 10:4, 9-13, ล.ม.
6. เปาโลนำบทเพลงสรรเสริญ 19:4 มาใช้อย่างไร?
6 จากนั้น เปาโลถามตามหลักเหตุผลว่า “เขาจะร้องเรียกพระองค์ผู้ที่เขายังไม่เชื่ออย่างไรกัน? แล้วเขาจะเชื่อในพระองค์ผู้ที่เขาไม่เคยได้ยินถึงพระองค์อย่างไร? แล้วเขาจะได้ยินอย่างไรเมื่อไม่มีใครประกาศ?” (โรม 10:14, ล.ม.) เปาโลกล่าวเกี่ยวกับชาวอิสราเอลว่า “พวกเขาก็ไม่ได้เชื่อฟังข่าวดีทุกคน.” ทำไมชาวอิสราเอลไม่เชื่อฟัง? พวกเขาไม่เชื่อฟังเพราะขาดความเชื่อ ไม่ใช่เพราะขาดโอกาส. เปาโลชี้ให้เห็นว่าเหตุใดพวกเขาจึงไม่ขาดโอกาสโดยยกบทเพลงสรรเสริญ 19:4 ขึ้นมากล่าว และใช้ข้อนี้กับการประกาศของคริสเตียนแทนที่จะใช้กับการประกาศของสิ่งทรงสร้างที่ไร้ชีวิต. ท่านกล่าวว่า “แท้จริงแล้ว ‘เสียงพวกเขาดังออกไปทั่วทั้งแผ่นดินโลก และถ้อยคำของพวกเขาไปถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่.’” (โรม 10:16, 18, ล.ม.) ถูกแล้ว เช่นเดียวกับที่สิ่งทรงสร้างที่ไร้ชีวิตสรรเสริญพระยะโฮวา คริสเตียนในศตวรรษแรกก็ประกาศข่าวดีเรื่องความรอดในทุกหนแห่ง และโดยวิธีนี้ พวกเขาจึงสรรเสริญพระเจ้าไป “ทั่วทั้งแผ่นดินโลก.” ในจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองโกโลซาย เปาโลยังบอกด้วยว่า ข่าวดีได้แผ่กระจายไปกว้างขวางแค่ไหน. ท่านกล่าวว่าข่าวดีได้รับการประกาศแล้ว “แก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.”—โกโลซาย 1:23.
เหล่าพยานฯ ที่กระตือรือร้น
7. ตามคำตรัสของพระเยซู คริสเตียนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร?
7 เปาโลคงเขียนจดหมายของท่านไปถึงคริสเตียนในโกโลซายประมาณ 27 ปีหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์. การประกาศแผ่ไปถึงโกโลซายได้อย่างไรในเวลาที่ค่อนข้างสั้นขนาดนั้น? นั่นเป็นเพราะคริสเตียนในศตวรรษแรกมีใจแรงกล้า และพระยะโฮวาทรงอวยพรความมีใจแรงกล้าของพวกเขา. พระเยซูทรงพยากรณ์ว่าเหล่าสาวกของพระองค์จะเป็นผู้ประกาศที่เอาการเอางานเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ข่าวดีจะต้องได้รับการประกาศในประเทศทั้งปวงก่อน.” (มาระโก 13:10, ล.ม.) นอกจากคำพยากรณ์ดังกล่าว พระเยซูทรงบัญชาดังบันทึกไว้ในสองข้อสุดท้ายของกิตติคุณที่บันทึกโดยมัดธายว่า “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) ไม่นานหลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เหล่าสาวกของพระองค์ก็เริ่มทำให้คำตรัสเหล่านี้สำเร็จเป็นจริง.
8, 9. ตามที่กล่าวในพระธรรมกิจการ คริสเตียนตอบรับอย่างไรต่อพระบัญชาของพระเยซู?
8 หลังจากการเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ในวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33 สิ่งแรกที่บรรดาสาวกผู้ภักดีของพระเยซูทำคือออกไปประกาศ บอกแก่ฝูงชนในกรุงเยรูซาเลม “ถึงราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า.” การประกาศของพวกเขาบังเกิดผลอย่างยิ่ง และมี “ประมาณสามพันคน” รับบัพติสมา. เหล่าสาวกยังคงสรรเสริญพระเจ้าด้วยใจแรงกล้าต่อ ๆ ไปแก่สาธารณชนและการทำเช่นนั้นเกิดผลที่ดี.—กิจการ 2:4, 11, 41, 46, 47, ล.ม.
9 ในไม่ช้า กิจกรรมการประกาศของคริสเตียนเหล่านี้ก็กลายเป็นที่สังเกตของพวกผู้นำศาสนา. เนื่องจากร้อนใจเพราะการพูดที่ตรงไปตรงมาของเปโตรและโยฮัน พวกเขาสั่งให้อัครสาวกทั้งสองหยุดประกาศ. พวกอัครสาวกตอบดังนี้: “พวกข้าพเจ้าจะหยุดพูดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ได้เห็นและได้ยินนั้นไม่ได้.” หลังจากถูกขู่กำชับและปล่อยตัวไป เปโตรและโยฮันกลับไปหาพี่น้องของท่าน และทุกคนพร้อมใจกันอธิษฐานถึงพระยะโฮวา. พวกเขาทูลขอต่อพระยะโฮวาอย่างกล้าหาญว่า “ขอโปรดให้ผู้ทาสของพระองค์กล่าวคำของพระองค์ต่อไปด้วยใจกล้า.”—กิจการ 4:13, 20, 29, ล.ม.
10. การต่อต้านอะไรเริ่มปรากฏให้เห็น และคริสเตียนแท้มีปฏิกิริยาอย่างไร?
10 คำอธิษฐานดังกล่าวสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา ดังเห็นได้ชัดในเวลาต่อมาไม่นาน. พวกอัครสาวกถูกจับกุม และต่อมาก็ได้รับการปลดปล่อยอย่างอัศจรรย์โดยทูตสวรรค์. ทูตสวรรค์บอกพวกเขาว่า “จงไปยืนในบริเวณพระวิหาร ประกาศบรรดาข้อความแห่งชีวิตใหม่นี้ให้ประชาชนฟัง.” (กิจการ 5:18-20, ฉบับแปลใหม่) เนื่องจากพวกอัครสาวกเชื่อฟัง พระยะโฮวาทรงอวยพรพวกเขาต่อ ๆ ไป. ผลคือ “เขาทั้งหลายจึงทำการสั่งสอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสต์เยซูในพระวิหารและตามบ้านเรือนทุกวันเรื่อยไปมิได้ขาด.” (กิจการ 5:42, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่า การต่อต้านอย่างมุ่งมั่นไม่อาจยับยั้งเหล่าสาวกของพระเยซูไม่ให้ประกาศสง่าราศีของพระเจ้าแก่สาธารณชน.
11. คริสเตียนยุคแรกมีเจตคติเช่นไรต่องานประกาศ?
11 ต่อมาไม่นาน ซะเตฟาโนถูกจับกุมและถูกหินขว้างจนตาย. การฆ่าท่านจุดชนวนให้เกิดการกดขี่ข่มเหงอย่างหนักในกรุงเยรูซาเลม และสาวกทั้งปวงเว้นแต่พวกอัครสาวกจำต้องกระจัดกระจายไป. การกดขี่ข่มเหงทำให้พวกเขาท้อใจไหม? ไม่เลย. เราอ่านว่า “สานุศิษย์ทั้งหลายซึ่งกระจัดกระจายไปก็ได้เที่ยวประกาศพระคำนั้น.” (กิจการ 8:1, 4) ความมีใจแรงกล้าในการประกาศสง่าราศีของพระเจ้าเช่นนั้นเป็นที่ประจักษ์ครั้งแล้วครั้งเล่า. ในกิจการบท 9 เราอ่านว่า ฟาริซายชื่อเซาโล ชาวเมืองทาร์ซัส ขณะเดินทางไปเมืองดามัสกัสเพื่อข่มเหงสาวกของพระเยซู ได้เห็นนิมิตเกี่ยวกับพระเยซูและตามืดบอดไป. ที่เมืองดามัสกัส อะนาเนียทำให้เซาโลมองเห็นได้อีกโดยการอัศจรรย์. สิ่งแรกที่เซาโล ซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักว่าอัครสาวกเปาโลทำคืออะไร? บันทึกกล่าวว่า “โดยไม่รอช้า ท่านเริ่มประกาศเรื่องพระเยซูตามธรรมศาลาว่าท่านผู้นี้เป็นบุตรของพระเจ้า.”—กิจการ 9:20, ล.ม.
ทุกคนมีส่วนร่วมในการประกาศ
12, 13. (ก) ตามที่นักประวัติศาสตร์กล่าว มีข้อน่าสังเกตอะไรเกี่ยวกับประชาคมคริสเตียนในยุคแรก? (ข) พระธรรมกิจการและคำพูดของเปาโลสอดคล้องกับคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์อย่างไร?
12 เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าทุกคนในประชาคมคริสเตียนยุคแรกต่างมีส่วนร่วมในงานประกาศ. ฟิลิป แชฟฟ์ เขียนเกี่ยวกับคริสเตียนในสมัยนั้นดังนี้: “ทุกประชาคมคือสมาคมของเหล่ามิชชันนารี และคริสเตียนผู้เชื่อถือทุกคนเป็นมิชชันนารี.” (ประวัติศาสตร์คริสตจักรคริสเตียน ภาษาอังกฤษ) ดับเบิลยู. เอส. วิลเลียมส์ กล่าวว่า “หลักฐานโดยทั่วไปแสดงว่า คริสเตียนทุกคนในคริสตจักรยุคแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเหล่านั้นที่ได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณ ทำการประกาศกิตติคุณ.” (พันธกิจอันมีเกียรติของฆราวาส ภาษาอังกฤษ) เขายืนยันด้วยว่า “พระเยซูคริสต์ไม่เคยมุ่งหมายที่จะสงวนสิทธิ์การประกาศไว้ให้เฉพาะบางตำแหน่งของงานรับใช้.” แม้แต่เซลซุส ผู้ต่อต้านศาสนาคริสเตียนครั้งโบราณ ก็เขียนไว้ว่า “ช่างปั่นขนแกะ, ช่างตัดเย็บรองเท้า, ช่างฟอกหนัง, คนไร้การศึกษาและสามัญชน เป็นผู้ประกาศกิตติคุณที่มีใจแรงกล้า.”
13 ความถูกต้องของคำกล่าวข้างต้นเห็นได้จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ในพระธรรมกิจการ. ในวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33 หลังจากการเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ สาวกทุกคน ทั้งชายและหญิง ประกาศราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าแก่สาธารณชน. หลังจากการกดขี่ข่มเหงที่ตามมาหลังการฆ่าซะเตฟาโน คริสเตียนทุกคนที่กระจัดกระจายไปเผยแพร่ข่าวดีออกไปอย่างกว้างไกล. ประมาณ 28 ปีต่อมา เปาโลเขียนไปถึงคริสเตียนชาวฮีบรูทุกคน ไม่ใช่ไปถึงเฉพาะชนชั้นนักเทศน์นักบวชจำนวนไม่กี่คน เมื่อท่านกล่าวว่า “โดยพระองค์นั้นจงให้เราถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย.” (เฮ็บราย 13:15, ล.ม.) เมื่อพรรณนาทัศนะของท่านเองต่องานประกาศ เปาโลกล่าวว่า “ถ้าบัดนี้ข้าพเจ้าจะประกาศข่าวดีก็ไม่มีเหตุที่ข้าพเจ้าจะโอ้อวด ด้วยว่าข้าพเจ้าได้รับมอบหมายหน้าที่. แท้จริงแล้ว วิบัติจะเกิดแก่ข้าพเจ้าถ้าข้าพเจ้ามิได้ประกาศข่าวดี!” (1 โกรินโธ 9:16, ล.ม.) เป็นที่ประจักษ์ว่า คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ทุกคนในศตวรรษแรกรู้สึกเช่นเดียวกับท่าน.
14. การประกาศมีความเกี่ยวพันกันอย่างไรกับความเชื่อ?
14 อันที่จริง คริสเตียนแท้ต้องมีส่วนร่วมในงานประกาศเพราะการประกาศเกี่ยวพันกับความเชื่ออย่างแยกกันไม่ออก. เปาโลกล่าวว่า “ด้วยหัวใจ คนเราสำแดงความเชื่อเพื่อความชอบธรรม แต่ด้วยปาก คนเราประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อความรอด.” (โรม 10:10, ล.ม.) เพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ภายในประชาคมเท่านั้นไหม—คล้าย ๆ กับชนชั้นนักเทศน์นักบวช—ที่แสดงความเชื่อ และด้วยเหตุนั้นจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการประกาศ? ไม่ใช่อย่างแน่นอน! คริสเตียนแท้ทุกคนปลูกฝังความเชื่อที่มีชีวิตในพระเยซูคริสต์เจ้า และปรารถนาจะประกาศความเชื่อนั้นอย่างเปิดเผยแก่คนอื่น ๆ. มิฉะนั้น ความเชื่อของพวกเขาก็ตายแล้ว. (ยาโกโบ 2:26) เนื่องจากคริสเตียนผู้ภักดีทุกคนในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราชสำแดงความเชื่อด้วยวิธีนี้ เสียงสรรเสริญพระนามพระยะโฮวาจึงเป็นที่ได้ยินอย่างกึกก้อง.
15, 16. จงยกตัวอย่างที่แสดงว่างานประกาศยังคงรุดหน้าต่อไปทั้ง ๆ ที่มีปัญหา.
15 ในศตวรรษแรก พระยะโฮวาทรงอวยพรให้ประชาชนของพระองค์เติบโตขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีปัญหาภายในและภายนอกประชาคม. ตัวอย่างเช่น กิจการบท 6 บันทึกเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้ที่เข้ามาเป็นคริสเตียนที่พูดภาษาฮีบรูกับที่พูดภาษากรีก. ปัญหานั้นได้รับการจัดการแก้ไขโดยพวกอัครสาวก. ผลเป็นดังที่เราอ่านนี้: “พระคำของพระเจ้าจึงจำเริญขึ้น และจำนวนสาวกก็เพิ่มขึ้นมากมายตลอดเวลาในเยรูซาเลม และปุโรหิตจำนวนมากเริ่มปฏิบัติตามความเชื่อนั้น.”—กิจการ 6:7, ล.ม.
16 ต่อมา เกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างเฮโรด อะกริปปากษัตริย์แคว้นยูเดียกับชาวเมืองไทร์และเมืองไซดอน. ชาวเมืองทั้งสองพยายามประจบประแจงเพื่อขอกลับเป็นไมตรี และเฮโรดกล่าวปราศรัยตอบแก่พวกเขา. ฝูงชนที่มาชุมนุมกันนั้นเริ่มร้องตะโกนว่า “เป็นพระสุรเสียงของพระ, มิใช่เสียงของมนุษย์.” ทันใดนั้น ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาทำให้เฮโรด อะกริปปาเกิดโรคร้าย และถึงแก่ความตาย “เพราะท่านมิได้ถวายเกียรติยศแก่พระเจ้า.” (กิจการ 12:20-23) ช่างเป็นเรื่องน่าตกตะลึงสักเพียงไรสำหรับคนเหล่านั้นที่ฝากความหวังไว้กับผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์! (บทเพลงสรรเสริญ 146:3, 4) แต่คริสเตียนยังคงถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวาต่อ ๆ ไป. ผลคือ “พระคำของพระยะโฮวาเจริญขึ้นและแพร่หลายต่อไป” ทั้งที่ขาดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างนั้น.—กิจการ 12:24, ล.ม.
สมัยนั้นกับสมัยนี้
17. คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในศตวรรษแรกเข้ามาร่วมกันในการทำอะไร?
17 ใช่แล้ว ประชาคมคริสเตียนทั่วโลกในศตวรรษแรกประกอบด้วยเหล่าผู้สรรเสริญพระยะโฮวาพระเจ้าที่มีใจแรงกล้าและเอาการเอางาน. คริสเตียนผู้ภักดีทุกคนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข่าวดี. บางคนพบผู้ที่ตอบรับ และอย่างที่พระเยซูตรัส พวกเขาสอนคนเหล่านั้นให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่พระองค์ทรงบัญชาไว้. (มัดธาย 28:19, 20) ผลคือประชาคมเติบโตขึ้น และมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีส่วนร่วมกับกษัตริย์ดาวิดสมัยโบราณในการถวายคำสรรเสริญพระยะโฮวา. ทุกคนกล่าวซ้ำถ้อยคำที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะยกย่องพระองค์สุดหัวใจ และจะถวายเกียรติยศแด่พระนามของพระองค์จนเวลาที่ไม่กำหนด เพราะความกรุณารักใคร่ที่พระองค์มีต่อข้าพเจ้าก็ยิ่งใหญ่.”—บทเพลงสรรเสริญ 86:12, 13, ล.ม.
18. (ก) มีการให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับความแตกต่างอะไรระหว่างประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรกกับคริสต์ศาสนจักรในปัจจุบัน? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
18 เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ คำกล่าวของ อลิสัน เอ. ไทรส์ ศาสตราจารย์ทางเทววิทยานั้นชวนให้คิด. เมื่อเปรียบเทียบคริสต์ศาสนจักรในปัจจุบันกับศาสนาคริสเตียนในศตวรรษแรก เขากล่าวว่า “คริสตจักรต่าง ๆ ในทุกวันนี้มักเติบโตขึ้นโดยทางชีววิทยา (เมื่อลูก ๆ ของสมาชิกคริสตจักรประกาศยอมรับความเชื่อ) หรือเติบโตขึ้นโดยการโอนย้าย (เมื่อสมาชิกใหม่โอนย้ายมาจากคริสตจักรอื่น). แต่ในพระธรรมกิจการ การเติบโตขึ้นเป็นการเติบโตจากการเปลี่ยนความเชื่อ เพราะคริสตจักรเพิ่งเริ่มงานของตน.” นี่หมายความว่าศาสนาคริสเตียนแท้ไม่มีการเติบโตขึ้นในแบบที่พระเยซูกล่าวว่าควรจะเป็นอีกแล้วไหม? หามิได้. คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ถวายคำสรรเสริญแด่พระเจ้าต่อสาธารณชนด้วยใจแรงกล้าเหมือนกันในทุกทางกับคริสเตียนในศตวรรษแรก. เราจะพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
คุณอธิบายได้ไหม?
• เราถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยวิธีใดบ้าง?
• เปาโลนำบทเพลงสรรเสริญ 19:4 มาใช้อย่างไร?
• การประกาศมีความเกี่ยวพันกันอย่างไรกับความเชื่อ?
• มีข้อน่าสังเกตอะไรเกี่ยวกับประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรก?
[ภาพหน้า 8, 9]
ฟ้าสวรรค์ ประกาศสง่าราศีของพระยะโฮวาไม่หยุด
[ที่มาของภาพหน้า 8]
Courtesy of Anglo-Australian Observatory, photograph by David Malin
[ภาพหน้า 10]
งานประกาศเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการอธิษฐาน