“พระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” โดยวิธีใดและเมื่อไร?
“องค์พระผู้เป็นเจ้า [LORD] ได้ตรัสแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า [Lord] ของข้าพเจ้าว่า, จงนั่งเบื้องขวาของเรา, กว่าเราจะปราบศัตรูของท่านให้เป็นม้ารองเท้าของท่าน.” นี้เป็นการแปลบทเพลงสรรเสริญ 110:1 ตามฉบับคิงเจมส์ เวอร์ชัน. “องค์พระผู้เป็นเจ้า [LORD]” ในที่นี้คือใคร และพระองค์ตรัสกับใคร?
การแปลที่ถูกต้องกว่าของต้นฉบับภาษาฮีบรูอาจตอบคำถามแรกได้ทันที. “คำตรัสของพระยะโฮวาถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้ามีว่า: . . . ” “องค์พระผู้เป็นเจ้า [LORD]” หมายถึงพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ พระยะโฮวานั่นเอง. ถึงแม้ฉบับคิงเจมส์ เวอร์ชัน ยอมรับพระนามของพระเจ้าโดยการใช้อักษรตัวใหญ่ “LORD” คนละคำกับ “LORD” ก็ตาม นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความสับสนเกี่ยวกับบรรดาศักดิ์นี้ เนื่องจากฉบับกรีกเซ็ปตัวจินต์ โบราณ ซึ่งแปลจากภาษาฮีบรูนั้น ก็ใช้ “องค์พระผู้เป็นเจ้า [LORD]” แทนยะโฮวาในสำเนาฉบับหลัง ๆ. เพราะเหตุใด? เพราะมีการเขียนบรรดาศักดิ์ “LORD” [องค์พระผู้เป็นเจ้า] แทนพระนาม ของพระเจ้าคืออักษรสี่ตัวของเททรากรัมมาทอน (יהוה). เอ. อี. การ์วี ผู้คงแก่เรียนกล่าวว่า “การใช้บรรดาศักดิ์องค์พระผู้เป็นเจ้า [คีʹรีออส] อาจจะอธิบายได้ง่ายที่สุดจากการใช้บรรดาศักดิ์นั้นในธรรมศาลาของพวกยิวแทนพระนามยาเวห์ [ยะโฮวา] ตามคำสัญญาไมตรี เมื่อมีการอ่านพระคัมภีร์.”
คัมภีร์ไบเบิลระบุว่าพระยะโฮวาเป็น “พระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศร.” (เยเนซิศ 15:2, 8; กิจการ 4:24; วิวรณ์ 6:10, ล.ม.) มีการเรียกพระองค์ด้วยว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าแท้” และ “องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งแผ่นดินโลก.” (เอ็กโซโด 23:17; ยะโฮซูอะ 3:13; วิวรณ์ 11:4, ล.ม.) ดังนั้นแล้ว ใครคือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” อีกองค์หนึ่งในบทเพลงสรรเสริญ 110:1 และพระองค์นั้นเป็นที่ยอมรับจากพระยะโฮวาว่าเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” โดยวิธีใด?
พระเยซูคริสต์ในฐานะ “องค์พระผู้เป็นเจ้า”
มีการพูดกับพระเยซูฐานะ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ในกิตติคุณสี่เล่ม บ่อยที่สุดในพระธรรมลูกาและโยฮัน. ในศตวรรษแรกสากลศักราช นั่นเป็นบรรดาศักดิ์ที่เรียกด้วยความนับถือและนอบน้อม เท่ากับ “ท่านเจ้าข้า”, “นายเจ้าข้า.” (โยฮัน 12:21; 20:15, คิงดอม อินเทอร์ลิเนียร์) ในกิตติคุณของมาระโกมีการใช้คำ “อาจารย์” หรือรับโบʹนี ในการพูดกับพระเยซูบ่อยกว่าคำ “องค์พระผู้เป็นเจ้า”. (เทียบมาระโก 10:51 กับลูกา 18:41.) แม้แต่คำถามของเซาโลขณะเดินทางไปเมืองดาเมเซ็ก “พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงเป็นผู้ใด?” ก็มีความหมายเช่นเดียวกับการถามแบบสุภาพทั่ว ๆ ไป. (กิจการ 9:5, ฉบับแปลใหม่) แต่เมื่อพวกสาวกของพระเยซูรู้จักผู้เป็นนายของเขาแล้ว ดูเหมือนว่าการที่พวกเขาใช้บรรดาศักดิ์ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” นั้นแสดงออกถึงมากกว่าความนับถือธรรมดาเท่านั้น.
ภายหลังการวายพระชนม์และการกลับฟื้นคืนพระชนม์ทว่าก่อนพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระเยซูทรงปรากฏแก่พวกสาวกของพระองค์และทรงแจ้งคำประกาศที่น่าตื่นตระหนกนี้ว่า “ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี, ในแผ่นดินโลกก็ดี, ทรงมอบไว้แก่เราแล้ว.” (มัดธาย 28:18) ครั้นแล้ว ในวันเพ็นเตคอสเต ภายใต้อำนาจชักจูงแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงเทออก เปโตรอ้างอิงถึงบทเพลงสรรเสริญ 110:1 และกล่าวว่า “เหตุฉะนั้นให้ทั้งชาติยิศราเอลทราบเป็นแน่ว่า พระเจ้าได้ทรงตั้งพระองค์ขึ้นเป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์ คือพระเยซูซึ่งท่านทั้งหลายได้ตรึงไว้นั้น.” (กิจการ 2:34-36, ล.ม.) เนื่องจากความซื่อสัตย์ของพระองค์ถึงขั้นความตายแบบน่าอัปยศอดสูบนหลักทรมาน พระเยซูได้รับการปลุกคืนพระชนม์และได้รับบำเหน็จที่สูงส่ง. ครั้นแล้วพระองค์ทรงเข้าสู่ตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้าในสวรรค์.
อัครสาวกเปาโลยืนยันถ้อยคำของเปโตรเมื่อท่านเขียนว่า พระเจ้า “ทรงให้พระองค์ [พระคริสต์] ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ในสวรรค์สถาน สูงยิ่งเหนือการปกครอง เหนืออำนาจ เหนือฤทธิ์ เหนือตำแหน่งผู้เป็นนาย และเหนือนามชื่อทั้งปวงที่เขาเอ่ยขึ้น มิใช่ในระบบนี้เท่านั้น แต่ในระบบที่จะมีมาด้วย.” (เอเฟโซ 1:20, 21, ล.ม.) ตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของพระเยซูคริสต์อยู่เหนือตำแหน่งเจ้านายอื่น ๆ ทั้งสิ้น และจะคงอยู่ต่อไปเมื่อเข้าสู่โลกใหม่. (1 ติโมเธียว 6:15) พระองค์ได้รับการยกขึ้นสู่ “ตำแหน่งสูง” และได้รับ “พระนามซึ่งเหนือนามอื่นทั้งหมด” เพื่อทุกคนจะยอมรับว่า “พระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อถวายเกียรติยศแด่พระเจ้าพระบิดา.” (ฟิลิปปอย 2:9-11, ล.ม.) ส่วนแรกของบทเพลงสรรเสริญ 110:1 จึงสำเร็จเป็นจริงโดยวิธีนี้ และ “พวกทูตสวรรค์และผู้มีอำนาจและผู้มีฤทธิ์เดชทั้งหลาย” อยู่ใต้ฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้าของพระเยซู.—1 เปโตร 3:22; เฮ็บราย 8:1.
ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ถ้อยคำ “พระองค์เจ้าเหนือเจ้านายทั้งหลาย” ใช้กับพระยะโฮวาเท่านั้น. (พระบัญญัติ 10:17; บทเพลงสรรเสริญ 136:2, 3) แต่เปโตรภายใต้การดลใจกล่าวถึงพระเยซูคริสต์ว่า “ผู้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของคนทั้งปวง [หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทุกคน,” กูดสปีด],” (กิจการ 10:36, ฉบับแปลใหม่) พระองค์เป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้าของคนตายและคนเป็น” อย่างแท้จริง. (โรม 14:8, 9) ชาวคริสเตียนยอมรับพระเยซูคริสต์ด้วยความเต็มใจฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้าและเจ้าของของพวกเขาและแสดงความเชื่อฟังพระองค์ด้วยสมัครใจฐานะประชากรของพระองค์ซึ่งทรงซื้อไว้ด้วยพระโลหิตอันล้ำค่าที่สุดของพระองค์. และพระเยซูคริสต์ทรงปกครองฐานะพระมหากษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย และองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งเจ้านายทั้งปวงเหนือประชาคมตั้งแต่วันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 เป็นต้นมา. ทว่าในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 1914 พระองค์ได้รับขัตติยอำนาจที่จะปกครองในตำแหน่งนั้นโดยมีเหล่าศัตรูของพระองค์เป็น ‘ม้ารองเท้าของพระองค์.’ บัดนี้ถึงเวลาที่พระองค์จะ ‘ไปปราบในท่ามกลางศัตรู’ ซึ่งทั้งหมดนี้สมจริงตามบทเพลงสรรเสริญ 110:1, 2, ล.ม.—เฮ็บราย 2:5-8; วิวรณ์ 17:14; 19:16.
ดังนั้นแล้ว จะเข้าใจคำตรัสของพระเยซูอย่างไรที่ว่า “พระบิดาได้ทรงมอบสารพัดให้แก่ข้าพเจ้า” ซึ่งพระองค์ตรัสก่อน การวายพระชนม์และการคืนพระชนม์ของพระองค์? (มัดธาย 11:25-27; ลูกา 10:21, 22) นี้ไม่ใช่คำแถลงแบบกว้าง ๆ เหมือนกับถ้อยคำเหล่านั้นที่ได้พิจารณามาแล้ว. ทั้งในมัดธายและลูกา บริบทเปิดเผยว่า พระเยซูตรัสเรื่องความรู้ที่ทรงซ่อนไว้จากชนผู้มีปัญญาทางโลก แต่ทรงเปิดเผยผ่านทางพระองค์ เพราะพระองค์ “รู้จัก [อย่างครบถ้วน, ล.ม.]” พระบิดา. เมื่อพระองค์ได้รับบัพติสมาในน้ำและได้รับการกำเนิดเป็นพระบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าแล้ว พระเยซูทรงสามารถหวนรำลึกถึงการดำรงอยู่ของพระองค์ในสวรรค์ก่อนมาเป็นมนุษย์และความรู้ทั้งสิ้นที่มาพร้อมกับสภาพนั้นได้ แต่นี้เป็นสิ่งที่ต่างจากตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของพระองค์ในภายหลัง.—โยฮัน 3:34, 35.
การแยกพระเยซูคริสต์ออกฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้า
ฉบับแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกบางฉบับก่อปัญหาเมื่อแปลข้อความที่ยกมาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่กล่าวพาดพิงชัด ๆ ถึง “องค์พระผู้เป็นเจ้า [LORD]” พระเจ้ายะโฮวา. ตัวอย่างเช่น จงเทียบลูกา 4:19 กับยะซายา 61:2 ในฉบับคิงเจมส์ เวอร์ชัน หรือไม่ก็ฉบับเดอะ นิว เจรูซาเลม ไบเบิล. บางคนยืนยันว่า พระเยซูทรงรับมอบตำแหน่ง “องค์พระผู้เป็นเจ้า” จากพระยะโฮวาและว่า พระเยซูในสภาพเนื้อหนังเป็นพระยะโฮวาจริง ๆ แต่นี้เป็นประเด็นในการโต้แย้งซึ่งไม่มีข้อสนับสนุนตามหลักพระคัมภีร์. มีการแยกพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ต่างหากจากกันอย่างถี่ถ้วนเสมอในพระคัมภีร์. พระเยซูประกาศพระนามของพระบิดาและเป็นตัวแทนของพระองค์.—โยฮัน 5:36, 37.
ในตัวอย่างต่อไปนี้ โปรดสังเกตข้อความที่ยกจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก. มีการกล่าวถึงทั้งพระเจ้ายะโฮวากับผู้ถูกเจิมของพระองค์ หรือพระมาซีฮา ที่กิจการ 4:24-27 ซึ่งยกมาจากบทเพลงสรรเสริญ 2:1, 2. บริบทของโรม 11:33, 34 กล่าวพาดพิงอย่างชัดแจ้งถึงพระเจ้า บ่อเกิดแห่งสติปัญญาและความรู้ทั้งสิ้น พร้อมกับข้อความที่ยกมาจากยะซายา 40:13, 14. เมื่อเขียนถึงประชาคมโกรินโธ เปาโลพูดซ้ำข้อความที่ยกมากล่าวนั้น “ใครเล่าได้รู้จักพระทัยของพระเจ้า” และครั้นแล้วก็เสริมว่า “แต่เรามีพระทัยของพระคริสต์.” องค์พระผู้เป็นเจ้าเยซูทรงเปิดเผยพระดำริของพระยะโฮวาในเรื่องสำคัญหลายเรื่องทีเดียวแก่พวกสาวกของพระองค์.—1 โกรินโธ 2:16.
บางครั้งข้อความในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูกล่าวพาดพิงถึงพระยะโฮวา แต่เนื่องจากพระองค์ทรงมอบฤทธิ์เดชและอำนาจของพระองค์ให้ ข้อนั้นจึงสำเร็จเป็นจริงในพระเยซูคริสต์. ตัวอย่างเช่น บทเพลงสรรเสริญ 34:8 เชิญเราให้ “ชิมดูจึงจะรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ประเสริฐ.” แต่เปโตรนำข้อนี้มาใช้กับองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเยซูคริสต์เมื่อท่านกล่าวว่า “หากว่าท่านทั้งหลายได้ชิมดูรู้แล้วว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าประกอบด้วยพระกรุณา.” (1 เปโตร 2:3, ล.ม.) เปโตรนำหลักการมาใช้และแสดงว่า เรื่องนั้นเป็นจริงอย่างไรกับพระเยซูคริสต์ด้วย. โดยการรับเอาความรู้เกี่ยวกับทั้งพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์และปฏิบัติตามความรู้นั้น คริสเตียนจะได้รับพระพรอันอุดมจากทั้งพระบิดาและพระบุตรได้. (โยฮัน 17:3) วิธีที่เปโตรนำข้อคัมภีร์นั้นมาใช้มิได้ทำให้พระยะโฮวาพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศรนั้นเป็นองค์เดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าเยซูคริสต์.—โปรดดูเชิงอรรถที่ 1 เปโตร 2:3, ล.ม.
อัครสาวกเปาโลทำให้ตำแหน่งที่เกี่ยวพันกันของพระเจ้ายะโฮวากับพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ชัดแจ้งทีเดียวเมื่อท่านกล่าวว่า “แท้จริง สำหรับเรามีพระเจ้าองค์เดียวคือพระบิดา ซึ่งทุกสิ่งเกิดจากพระองค์ และเราเป็นอยู่เพื่อพระองค์; และมีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว คือพระเยซูคริสต์ ซึ่งทุกสิ่งเกิดมาโดยทางพระองค์ และเราก็เป็นอยู่โดยทางพระองค์.” (1 โกรินโธ 8:6, ล.ม.; 12:5, 6) เมื่อเขียนถึงประชาคมคริสเตียนในเมืองเอเฟโซ เปาโลได้ระบุ “องค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว” พระเยซูคริสต์ว่าแยกต่างหากทีเดียวจาก “พระเจ้าองค์เดียวผู้เป็นพระบิดาของคนทั้งปวง.”—เอเฟโซ 4:5, 6.
พระยะโฮวาสูงสุดเหนือสรรพสิ่ง
ตั้งแต่ปี 1914 ถ้อยคำในวิวรณ์ 11:15 ได้ปรากฏเป็นจริงว่า “ราชอาณาจักรของโลกได้กลายเป็นราชอาณาจักรขององค์พระผู้เป็นเจ้า [พระเจ้ายะโฮวา] ของเราและของพระคริสต์ของพระองค์ และพระองค์จะทรงปกครองเป็นกษัตริย์ตลอดไปเป็นนิตย์.” พจนานุกรมนานาชาติฉบับใหม่เกี่ยวกับเทววิทยาของพระคริสตธรรมใหม่ (เล่ม 2, หน้า 514 ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “เมื่อพระคริสต์ได้พิชิตอำนาจทุกอย่าง (1 โก. 15:25) แล้ว พระองค์จะทรงยอมตัวให้อยู่ใต้พระเจ้าพระบิดา. ดังนั้น ตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของพระเยซูจะได้บรรลุเป้าประสงค์ของตำแหน่งนั้นและพระเจ้าจะเป็นเอกเป็นใหญ่ในสิ่งสารพัด (1 โก. 15:28).” ในตอนสิ้นสุดของรัชสมัยพันปี พระเยซูคริสต์ทรงคืนฤทธิ์เดชและอำนาจที่ทรงมอบหมายแก่พระองค์ในตอนก่อนนั้นให้กับพระบิดา. เนื่องจากเหตุนี้ จึงมีการมอบสง่าราศีและการนมัสการทั้งสิ้นให้แก่พระยะโฮวา “พระเจ้าแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา” อย่างถูกต้อง.—เอเฟโซ 1:17.
ถึงแม้ขณะนี้พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเหนือเจ้านายทั้งปวง พระองค์ไม่เคยถูกเรียกว่าพระเจ้าเหนือพระทั้งหลาย. พระยะโฮวายังทรงสูงสุดเหนือสรรพสิ่ง. โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาจะทรง “เป็นเอกเป็นใหญ่ในสิ่งสารพัดทั้งปวง.” (1 โกรินโธ 15:28) ตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของพระเยซูทำให้พระองค์มีฐานะอันชอบด้วยสิทธิเป็นประมุขของประชาคมคริสเตียน. ถึงแม้เราอาจเห็น “เจ้านาย” ที่มีอำนาจหลายคนอยู่ในตำแหน่งสูงในโลกนี้ก็ตาม เรามีความมั่นใจเสมอในพระองค์ผู้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเหนือเจ้านายทั้งหลาย. ถึงกระนั้น พระเยซูคริสต์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงและได้รับการยกขึ้น ก็ยังคงอยู่ใต้อำนาจพระบิดา “เพื่อพระเจ้าจะปกครองเหนือสิ่งสารพัด.” (1 โกรินโธ 15:28, พระคริสตธรรมใหม่สำหรับผู้แปล) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีงามเสียจริง ๆ ในเรื่องความถ่อมใจที่พระเยซูทรงวางไว้ให้พวกสาวกของพระองค์ติดตาม ขณะที่พวกเขายอมรับพระองค์ฐานะเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา!
[กรอบหน้า 30]
“เมื่อผู้เขียนพระคริสตธรรมใหม่พูดถึงพระเจ้าพวกเขาหมายถึงพระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา. เมื่อพวกเขาพูดถึงพระเยซูคริสต์ พวกเขาไม่ได้พูดถึงพระองค์หรือคิดถึงพระองค์ฐานะเป็นพระเจ้า. พระองค์เป็นพระคริสต์ของพระเจ้า, พระบุตรของพระเจ้า, พระปัญญาของพระเจ้า, พระวาทะของพระเจ้า. แม้แต่อารัมภบทของนักบุญโยฮันซึ่งใกล้เคียงที่สุดกับหลักคำสอนของสภาไนซีนก็ต้องอ่านโดยคำนึงถึงคำสอนอันชัดแจ้งตลอดกิตติคุณของโยฮันที่ว่าพระคริสต์อยู่ในตำแหน่งรองจากพระบิดา และอารัมภบทในภาษากรีกพร้อมกับศัพท์ the·osʹ ที่ไม่มีคำนำหน้าไม่ให้รายละเอียดดังที่ปรากฏในภาษาอังกฤษ.”—“ลักษณะเยี่ยงพระเจ้าของพระเยซูคริสต์” โดยจอห์น มาร์ติน ครีด.