จงรับใช้พระยะโฮวาด้วยใจยินดี
“ความแช่งทั้งปวงนี้จะไล่ตามทันเจ้าทั้งหลาย . . . เพราะเจ้าทั้งหลายมิได้ปฏิบัตินับถือพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าด้วยใจโสมนัสยินดี.”—พระบัญญัติ 28:45-47.
1. มีหลักฐานอะไรแสดงว่าผู้ที่รับใช้พระยะโฮวามีความยินดี ไม่ว่าเขารับใช้พระองค์อยู่ที่ไหน?
ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาปีติยินดี ไม่ว่าพวกเขาทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์อยู่ในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก. ทูตสวรรค์ “หมู่ดาวประจำรุ่ง” พากันเปล่งเสียงร้องออกมาด้วยความยินดีเมื่อมีการวางรากแผ่นดินโลก และไม่เป็นที่สงสัยว่า เหล่าทูตแห่งสรวงสวรรค์หลายหมื่นองค์คง ‘ปฏิบัติตามพระคำของพระเจ้า’ ด้วยความยินดี. (โยบ 38:4-7; บทเพลงสรรเสริญ 103:20) พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระยะโฮวาทรงเป็น “นายช่าง” ผู้ชื่นชมยินดีในสวรรค์และทรงมีความปีติยินดีในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในฐานะมนุษย์เยซูคริสต์บนแผ่นดินโลก. ยิ่งกว่านั้น “เพราะเห็นแก่ความยินดีซึ่งมีอยู่ตรงหน้า พระองค์ยอมทนหลักทรมาน ไม่คำนึงถึงความละอาย แล้วพระองค์ได้เสด็จนั่งเบื้องขวาพระที่นั่งของพระเจ้า.”—สุภาษิต 8:30, 31; เฮ็บราย 10:5-10; 12:2, ล.ม.
2. อะไรได้กำหนดว่าชาวยิศราเอลประสบพระพรหรือความแช่ง?
2 ชาวยิศราเอลประสบความยินดีเมื่อพวกเขาทำให้พระเจ้าพอพระทัย. แต่จะเป็นอย่างไรหากพวกเขาไม่เชื่อฟังพระองค์? พวกเขาได้รับคำเตือนดังนี้: “ความแช่งเหล่านี้จะอยู่กับเจ้าทั้งหลาย เป็นของสำคัญ และเป็นน่าพิศวงแก่เผ่าพันธุ์ของเจ้าเป็นนิตย์. เพราะเจ้าทั้งหลายมิได้ปฏิบัตินับถือพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าด้วยใจโสมนัสยินดี ด้วยมีของบริบูรณ์ทุกอย่าง เหตุฉะนี้เจ้าทั้งหลายจะต้องปฏิบัติศัตรูของเจ้า ซึ่งพระยะโฮวาจะทรงบันดาลให้มาเบียดเบียนเจ้าด้วยความอดอยาก, ความเปลือยเปล่า, และความขัดสนสิ่งทั้งปวง และเขาจะเอาแอกเหล็กมาวางที่คอของเจ้า จนเจ้าทั้งหลายฉิบหายไป.” (พระบัญญัติ 28:45-48) พระพรต่าง ๆ และความแช่งทำให้ชัดแจ้งว่าใครเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาและใครที่ไม่เป็น. ความแช่งเช่นนั้นยังพิสูจน์ด้วยว่า ไม่อาจมีการขาดความนับถือหรือดูถูกหลักการและพระประสงค์ของพระเจ้าได้. เนื่องจากชาวยิศราเอลไม่ยอมเอาใจใส่คำเตือนจากพระยะโฮวาในเรื่องความร้างเปล่าและการถูกเนรเทศ ยะรูซาเลมจึง “เป็นที่แช่งแก่บรรดาประเทศแห่งแผ่นดินโลก.” (ยิระมะยา 26:6) ฉะนั้น ให้เราเชื่อฟังพระเจ้าและได้รับความโปรดปรานจากพระองค์. ความยินดีเป็นพระพรจากพระเจ้าประการหนึ่งในหลายประการซึ่งผู้เลื่อมใสพระเจ้าได้รับ.
วิธีรับใช้ด้วย “ใจโสมนัสยินดี”
3. หัวใจโดยนัยคืออะไร?
3 ชาวยิศราเอลพึงรับใช้พระยะโฮวา “ด้วยใจโสมนัสยินดี.” ผู้รับใช้ในสมัยนี้ของพระเจ้าก็ต้องทำเช่นกัน. โสมนัสคือ “ดีใจ; เปี่ยมด้วยความยินดี.” แม้มีกล่าวถึงหัวใจจริง ๆ ในพระคัมภีร์ หัวใจนั้นก็ไม่ได้คิดหรือหาเหตุผลจริง ๆ. (เอ็กโซโด 28:30) การปฏิบัติงานหลักของหัวใจคือสูบฉีดโลหิตซึ่งเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย. อย่างไรก็ดี ในกรณีส่วนใหญ่ที่มีคำว่าหัวใจ คัมภีร์ไบเบิลพาดพิงถึงหัวใจโดยนัย ซึ่งเป็นยิ่งกว่าศูนย์รวมแห่งความรู้สึกรักใคร่, เจตนา, และสติปัญญา. มีการกล่าวถึงหัวใจว่าหมายถึง “ส่วนที่เป็นศูนย์รวมของทุกด้าน, ส่วนภายใน, และดังนั้นจึงหมายถึงมนุษย์ภายใน ดังที่สำแดงตัวเองในบรรดากิจกรรมของเขา, ในความปรารถนา, ความรักใคร่, อารมณ์, ความชอบ, จุดประสงค์ของเขา, ความคิด, ความรู้สึก, จินตนาการ, สติปัญญา, ความรู้, ความชำนาญ, ความเชื่อและการหาเหตุผลของเขา, ความทรงจำและสำนึกของเขา.” (วารสารของสมาคมหนังสือและอรรถาธิบายเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล, ภาษาอังกฤษ, 1882, หน้า 67) หัวใจโดยนัยของเราเกี่ยวพันกับความรู้สึกและอารมณ์ของเรา ซึ่งรวมถึงความยินดีด้วย.—โยฮัน 16:22.
4. อะไรสามารถช่วยเราให้รับใช้พระยะโฮวาด้วยใจยินดี?
4 อะไรจะช่วยเราให้รับใช้พระยะโฮวาด้วยใจโสมนัสยินดีได้? แง่คิดที่ดีและหยั่งรู้คุณค่าเกี่ยวกับพระพรและสิทธิพิเศษที่พระเจ้าทรงประทานแก่เราย่อมช่วยได้มาก. ตัวอย่างเช่น เราสามารถครุ่นคิดด้วยความยินดีเกี่ยวกับสิทธิพิเศษแห่งการถวาย “การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์” แก่พระเจ้าองค์เที่ยงแท้. (ลูกา 1:74) มีสิทธิพิเศษแห่งการถูกเรียกตามพระนามยะโฮวาในฐานะพยานของพระองค์เกี่ยวพันอยู่ด้วย. (ยะซายา 43:10-12) เราสามารถเพิ่มสิทธิพิเศษนี้ด้วยความยินดีที่ทราบว่า โดยการทำตามพระคำของพระเจ้า เรากำลังทำให้พระองค์พอพระทัย. และช่างมีความยินดีสักเพียงไรในการสะท้อนแสงสว่างฝ่ายวิญญาณออกไปและด้วยวิธีนี้จึงช่วยหลายคนให้ออกมาจากความมืด!—มัดธาย 5:14-16; เทียบกับ 1 เปโตร 2:9.
5. แหล่งแห่งความยินดีเยี่ยงพระเจ้าคืออะไร?
5 แต่การรับใช้พระยะโฮวาด้วยใจยินดีไม่ใช่เพียงเรื่องของการมีแนวคิดที่ดีเท่านั้น. การมีแง่คิดที่ดีนับว่าเป็นประโยชน์. แต่ความยินดีเยี่ยงพระเจ้าไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำให้เกิดขึ้นโดยการพัฒนาบุคลิกลักษณะ. ความยินดีเป็นผลแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวา. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ถ้าเราไม่มีความยินดีเช่นนั้น เราคงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อจะหลีกเว้นการคิดหรือการกระทำในบางวิธีที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ซึ่งอาจทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าเสียพระทัยได้. (เอเฟโซ 4:30) อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา ขออย่าให้เรากลัวว่า การขาดความยินดีจากใจจริงในบางโอกาสนั้นเป็นหลักฐานถึงความไม่พอพระทัยจากพระเจ้า. เราเป็นคนไม่สมบูรณ์และมักประสบความเจ็บปวด, ความเศร้าโศก, และแม้แต่ความซึมเศร้าเป็นบางครั้ง แต่พระยะโฮวาเข้าพระทัยเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 103:10-14) ฉะนั้น ให้เราอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยระลึกว่า ความยินดีอันเป็นผลแห่งพระวิญญาณนั้นเป็นของประทานจากพระเจ้า. พระบิดาภาคสวรรค์องค์เปี่ยมด้วยความรักจะทรงตอบคำอธิษฐานเช่นนั้นและจะทรงช่วยให้เราสามารถรับใช้พระองค์ได้ด้วยใจยินดี.—ลูกา 11:13.
เมื่อขาดความยินดี
6. ถ้าเราขาดความยินดีในการรับใช้พระเจ้า เราควรทำอะไร?
6 ถ้าเราขาดความยินดีในงานรับใช้ เราอาจเงื่องหงอยในการรับใช้พระยะโฮวาหรือไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ในที่สุด. ฉะนั้น คงเป็นการสุขุมที่จะใคร่ครวญด้วยความถ่อมใจและอย่างจริงจังถึงเจตนาของเรา แล้วทำการปรับปรุงที่จำเป็น. เพื่อจะมีความยินดีอันเป็นของประทานจากพระเจ้า เราต้องรับใช้พระยะโฮวาด้วยความรักและด้วยสิ้นสุดหัวใจ, สิ้นสุดจิตวิญญาณ, และสิ้นสุดจิตใจ. (มัดธาย 22:37) เราต้องไม่รับใช้ด้วยเจตคติจะแข่งขันกัน เพราะเปาโลเขียนไว้ดังนี้: “ถ้าเรามีชีวิตอยู่โดยพระวิญญาณ ให้เราดำเนินอย่างมีระเบียบต่อไปโดยพระวิญญาณด้วย. อย่าให้เรากลายเป็นคนถือดี ยั่วยุให้มีการแข่งขันชิงดีกัน, ริษยากันและกันเลย.” (ฆะลาเตีย 5:25, 26, ล.ม.) เราจะไม่มีความยินดีแท้หากเรากำลังรับใช้เพราะเราต้องการจะดีเด่นเกินหน้าคนอื่นหรือแสวงหาคำยกย่อง.
7. เราจะฟื้นฟูใจยินดีของเราได้อย่างไร?
7 ความยินดีมีอยู่ในการดำเนินชีวิตประสานกับการที่เราอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. เมื่อเราอุทิศตัวแด่พระเจ้าใหม่ ๆ เราดำเนินในวิถีชีวิตคริสเตียนด้วยความกระตือรือร้นอันแรงกล้า. เราศึกษาพระคัมภีร์และมีส่วนในการประชุมเป็นประจำ. (เฮ็บราย 10:24, 25) การทำเช่นนั้นทำให้เรามีความยินดีจะร่วมในงานรับใช้. แต่จะว่าอย่างไรถ้าความยินดีของเราลดลง? การศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, การเข้าร่วมประชุม, การมีส่วนในงานประกาศ—แท้จริง การมีส่วนเกี่ยวข้องเต็มที่ในทุกแง่ของกิจปฏิบัติตามหลักการคริสเตียน—น่าจะทำให้เรามีความมั่นคงฝ่ายวิญญาณในชีวิตของเรา และกระตุ้นทั้งความรักที่เรามีในตอนแรกและใจยินดีที่เราเคยมีนั้นขึ้นมาใหม่. (วิวรณ์ 2:4) แล้วเราจะไม่เป็นอย่างบางคนซึ่งไม่ค่อยมีความยินดีและมักต้องได้รับความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณบ่อย ๆ. ผู้ปกครองยินดีจะช่วย แต่เราแต่ละคนต้องดำเนินชีวิตตามที่เราอุทิศตัวแด่พระเจ้า. ไม่ว่าใครก็ไม่อาจทำสิ่งนี้แทนเราได้. ฉะนั้น ให้เราตั้งเป้าจะทำตามกิจวัตรปกติของคริสเตียนเพื่อดำเนินชีวิตตามที่เราอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและมีความยินดีแท้.
8. เพราะเหตุใดสติรู้สึกผิดชอบที่หมดจดจึงสำคัญถ้าเราต้องการมีความยินดี?
8 เพื่อเราจะมีความยินดีอันเป็นผลประการหนึ่งแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า เราจำต้องมีสติรู้สึกผิดชอบที่หมดจด. ตราบที่กษัตริย์ดาวิดแห่งยิศราเอลพยายามปกปิดความบาปของท่าน ท่านรู้สึกทุกข์ใจอย่างยิ่ง. แท้จริง ดูเหมือนความชุ่มชื่นในชีวิตท่านเหือดแห้งไป และท่านอาจเจ็บป่วยทางร่างกาย. ท่านรู้สึกโล่งใจเพียงไรเมื่อได้กลับใจและสารภาพความผิด! (บทเพลงสรรเสริญ 32:1-5) เราไม่อาจปีติยินดีได้ถ้าเรากำลังปกปิดความผิดร้ายแรงบางอย่างไว้. การทำเช่นนั้นอาจทำให้เรามีชีวิตที่เป็นทุกข์. เป็นที่แน่นอนว่า นั่นไม่ใช่แนวทางที่จะประสบความยินดี. แต่การสารภาพและการกลับใจจะทำให้คลายทุกข์และฟื้นฟูน้ำใจยินดี.—สุภาษิต 28:13.
การรอคอยด้วยความยินดี
9, 10. (ก) อับราฮามได้รับคำสัญญาอะไร แต่ความเชื่อและความยินดีของท่านอาจถูกทดลองอย่างไร? (ข) เราสามารถได้รับประโยชน์อย่างไรจากตัวอย่างของอับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบ?
9 การมีความยินดีเมื่อเราเรียนรู้พระประสงค์ของพระเจ้าเป็นครั้งแรกนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะรักษาไว้ซึ่งความยินดีเมื่อหลายปีผ่านไปนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง. กรณีของอับราฮามผู้ซื่อสัตย์แสดงให้เห็นเรื่องนี้ได้. หลังจากท่านพยายามถวายยิศฮาคบุตรของท่านตามพระบัญชาของพระเจ้า ทูตสวรรค์องค์หนึ่งได้ส่งข่าวนี้: “พระยะโฮวาตรัสว่า เราคือยะโฮวา เราเองได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณด้วยนามของเราว่า, เพราะเจ้าได้กระทำการนี้, คือไม่หวงลูกชายคนเดียวของเจ้าไว้, เหตุฉะนั้นเราคงจะอวยพรเจ้า. ให้พงศ์พันธุ์ของเจ้ามากทวีขึ้นดุจดวงดาวบนฟ้า, และดุจเม็ดทรายที่ฝั่งมหาสมุทร; และพงศ์พันธุ์ของเจ้าจะตั้งอยู่ในประตูเมืองแห่งพวกข้าศึก; ชนทุกชาติทั่วโลกจะได้พรเพราะพงศ์พันธุ์ของเจ้า, เพราะเจ้าได้เชื่อฟังเสียงของเรา.” (เยเนซิศ 22:15-18) ไม่ต้องสงสัย อับราฮามปีติยินดีเป็นล้นพ้นด้วยคำสัญญานี้.
10 อับราฮามอาจคาดหมายว่า ยิศฮาคจะเป็น “พงศ์พันธุ์” ซึ่งเป็นช่องทางที่พระพรตามคำสัญญาไว้จะมีมา. แต่การที่หลายปีผ่านไปโดยไม่มีสิ่งอัศจรรย์ใดสำเร็จเป็นจริงโดยทางยิศฮาคอาจทดลองความเชื่อและความยินดีของอับราฮามและครอบครัวของท่าน. การที่พระเจ้าทรงยืนยันกับยิศฮาคและต่อมากับยาโคบบุตรของท่านเกี่ยวกับคำสัญญานั้นให้คำรับรองแก่พวกท่านว่า การมาของพงศ์พันธุ์นั้นยังอยู่ในวันข้างหน้า และเรื่องนี้ช่วยพวกท่านให้รักษาความเชื่อและความยินดีเอาไว้. กระนั้น อับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบตายไปโดยไม่เห็นคำสัญญาของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริงกับพวกท่าน แต่พวกท่านก็ไม่ได้เป็นผู้รับใช้ที่ไร้ความยินดีของพระยะโฮวา. (เฮ็บราย 11:13) เราก็เช่นกันสามารถรับใช้พระยะโฮวาต่อ ๆ ไปด้วยความเชื่อและความยินดีได้ในขณะที่คอยท่าความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำสัญญาของพระองค์.
ยินดีแม้ถูกข่มเหง
11. ทำไมเราสามารถมีความยินดีทั้ง ๆ ที่ถูกกดขี่ข่มเหง?
11 ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา เราสามารถรับใช้พระยะโฮวาด้วยใจโสมนัสยินดี แม้เราต้องทนรับการกดขี่ข่มเหงก็ตาม. พระเยซูทรงแถลงถึงความสุขของคนที่ได้รับการข่มเหงเพราะเห็นแก่พระองค์ และอัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “จงยินดีต่อ ๆ ไปเนื่องด้วยท่านทั้งหลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทนทุกข์ทรมานของพระคริสต์ เพื่อท่านจะยินดีและชื่นชมเหลือล้นด้วยระหว่างการปรากฏแห่งสง่าราศีของพระองค์. ถ้าท่านทั้งหลายถูกตำหนิเพราะพระนามของพระคริสต์ ท่านก็เป็นสุข เพราะพระวิญญาณแห่งสง่าราศี คือพระวิญญาณของพระเจ้าก็สถิตอยู่บนท่านทั้งหลาย.” (1 เปโตร 4:13, 14, ล.ม.; มัดธาย 5:11, 12) หากคุณกำลังเพียรอดทนการกดขี่ข่มเหงและทนทุกข์เพื่อเห็นแก่ความชอบธรรม คุณก็ได้รับพระวิญญาณและความพอพระทัยจากพระยะโฮวา และนั่นย่อมส่งเสริมความยินดีอย่างแน่นอน.
12. (ก) ทำไมเราจึงรับมือการทดลองความเชื่อด้วยความยินดีได้? (ข) อาจเรียนรู้บทเรียนสำคัญอะไรจากกรณีของชาวเลวีคนหนึ่งที่เป็นเชลยในต่างแดน?
12 เราสามารถรับมือกับการทดลองความเชื่อด้วยความยินดีเพราะพระเจ้าทรงเป็นที่คุ้มภัยของเรา. เพลงสรรเสริญบท 42 และ 43 ทำให้เห็นชัดถึงเรื่องนี้. เนื่องด้วยสาเหตุบางประการ ชาวเลวีคนหนึ่งเป็นเชลยในต่างแดน. เขาคิดถึงการนมัสการ ณ สถานศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้ามากจนเขารู้สึกเสมือนกวางตัวเมียที่กระหายน้ำในเขตแห้งแล้งกันดาร. เขา “กระหาย” หรือใฝ่หาพระยะโฮวาและสิทธิพิเศษแห่งการนมัสการพระเจ้า ณ สถานศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 42:1, 2) ประสบการณ์ของชาวเลวีคนนี้น่าจะกระตุ้นเราให้แสดงความขอบคุณต่อการคบหาที่เรามีกับไพร่พลของพระยะโฮวา. ถ้าสภาพการณ์เช่นการถูกจำกัดเนื่องจากการกดขี่ข่มเหงชั่วคราวเช่นนั้นกีดกันไม่ให้เราอยู่กับพวกเขา ก็ให้เราใคร่ครวญถึงความยินดีที่เคยมีร่วมกันในอดีตในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์และอธิษฐานขอความเพียรอดทนในขณะที่เรา “คอยท่าพระเจ้า” ให้ทรงนำเรากลับคืนสู่กิจกรรมที่ทำเป็นประจำกับเหล่าผู้นมัสการพระองค์อีก.—บทเพลงสรรเสริญ 42:4, 5, 11; 43:3-5.
“จงปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจชื่นชม”
13. บทเพลงสรรเสริญ 100:1, 2 แสดงอย่างไรว่า ความยินดีต้องเป็นลักษณะเด่นแห่งงานรับใช้ที่เราทำถวายพระเจ้า?
13 ความยินดีต้องเป็นลักษณะเด่นแห่งงานรับใช้ที่เราทำถวายพระเจ้า. สิ่งนี้มีแสดงออกในเพลงขอบพระคุณซึ่งผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องดังนี้: “บรรดาชาวแผ่นดินโลก, จงชื่นใจโห่ร้องถวายพระยะโฮวา. จงปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจชื่นชม: จงเข้ามาเฝ้าพระองค์ด้วยร้องเพลง.” (บทเพลงสรรเสริญ 100:1, 2) พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข” และทรงประสงค์ให้ผู้รับใช้ของพระองค์พบความยินดีในการปฏิบัติภาระหน้าที่อันเกี่ยวเนื่องกับการที่พวกเขาอุทิศตัวแด่พระองค์นั้นให้สำเร็จ. (1 ติโมเธียว 1:11) ผู้คนจากชาติทั้งปวงพึงชื่นชมยินดีในพระยะโฮวา และคำสรรเสริญที่เรากล่าวนั้นต้องมีพลัง เหมือนกองทัพที่รบชนะ ‘โห่ร้องอวยชัย.’ เนื่องจากงานรับใช้พระเจ้าเป็นสิ่งน่าชื่นใจ งานนี้จึงควรทำพร้อมด้วยความชื่นชมยินดี. ดังนั้น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญจึงกระตุ้นผู้คนให้เข้ามาเฝ้าพระเจ้า “ด้วยร้องเพลง.”
14, 15. บทเพลงสรรเสริญ 100:3-5 ใช้กับไพร่พลที่มีความยินดีของพระยะโฮวาในทุกวันนี้อย่างไร?
14 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเสริมว่า “จงรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้า: พระองค์ได้ทรงสร้างเรา, เราจึงเป็นพรรคพวกของพระองค์; เราเป็นไพร่พลของพระองค์, และเป็นฝูงแกะที่พระองค์ทรงบำรุงเลี้ยง.” (บทเพลงสรรเสริญ 100:3) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นพระผู้สร้างเรา พระองค์จึงทรงเป็นเจ้าของเราเช่นเดียวกับผู้เลี้ยงแกะเป็นเจ้าของแกะของตน. พระเจ้าทรงเอาพระทัยใส่พวกเราเป็นอย่างดีถึงขนาดที่เราสรรเสริญพระองค์ด้วยความขอบพระคุณ. (เพลงสรรเสริญบท 23) นอกจากนั้น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญยังได้ร้องเพลงเกี่ยวด้วยพระยะโฮวาอีกด้วยว่า “จงพากันเข้าประตูของพระองค์โดยสนองพระเดชพระคุณ, จงเข้าในบริเวณของพระองค์โดยร้องเพลงสรรเสริญ: จงขอบพระเดชพระคุณและสรรเสริญพระนามของพระองค์. เพราะพระยะโฮวาประกอบไปด้วยพระเมตตา; พระกรุณาคุณของพระองค์ยั่งยืนถาวรเป็นนิตย์, และความสัตย์ซื่อของพระองค์ถาวรตลอดทุก ๆ ชั่วอายุคน.”—บทเพลงสรรเสริญ 100:4, 5.
15 ปัจจุบัน ผู้คนที่ปีติยินดีจากชาติทั้งปวงกำลังเข้าสู่ลานแห่งสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวาเพื่อถวายคำขอบพระคุณและคำสรรเสริญ. เราสรรเสริญพระนามของพระเจ้าด้วยความยินดีโดยการพูดถึงพระยะโฮวาในแง่ดีเสมอ และคุณลักษณะอันเลิศล้ำของพระองค์กระตุ้นเราให้สรรเสริญพระองค์. พระองค์ทรงคุณความดีทุกประการ และความรักกรุณาหรือความเมตตาที่พระองค์ทรงมีต่อผู้รับใช้ของพระองค์ก็เป็นที่วางใจได้เสมอ เพราะสิ่งนี้มีอยู่เรื่อยไปไม่สิ้นสุด. จนถึง “ทุก ๆ ชั่วอายุคน” พระยะโฮวาทรงซื่อสัตย์ในการแสดงความรักต่อผู้ที่ทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. (โรม 8:38, 39) ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนว่า เรามีเหตุผลอันดีจะ “ปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจชื่นชม.”
จงยินดีในความหวังของคุณ
16. คริสเตียนสามารถปีติยินดีในความหวังเช่นไร?
16 เปาโลเขียนไว้ดังนี้: “จงยินดีในความหวัง.” (โรม 12:12) สาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซูคริสต์ปีติยินดีในความหวังอันรุ่งโรจน์แห่งการมีชีวิตอมตะในสวรรค์ซึ่งพระเจ้าทรงจัดไว้สำหรับพวกเขาโดยทางพระบุตรของพระองค์. (โรม 8:16, 17; ฟิลิปปอย 3:20, 21) คริสเตียนที่มีความหวังจะมีชีวิตนิรันดรในอุทยานบนแผ่นดินโลกก็มีสาเหตุแห่งความปีติยินดีเช่นกัน. (ลูกา 23:43) ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ทั้งปวงของพระยะโฮวาต่างมีเหตุผลจะปีติยินดีในความหวังเรื่องราชอาณาจักร เพราะพวกเขาจะเป็นส่วนแห่งรัฐบาลภาคสวรรค์หรือไม่ก็อาศัยอยู่ในอาณาเขตแผ่นดินโลกของราชอาณาจักรนั้น. ช่างเป็นพระพรที่น่ายินดีจริง ๆ!—มัดธาย 6:9, 10; โรม 8:18-21.
17, 18. (ก) ยะซายา 25:6-8 พยากรณ์ถึงเรื่องอะไร? (ข) คำพยากรณ์นี้ของยะซายาสำเร็จเป็นจริงอย่างไรในขณะนี้ และจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับความสำเร็จในอนาคต?
17 ยะซายาก็พยากรณ์เช่นกันถึงอนาคตอันน่ายินดีสำหรับมนุษยชาติที่เชื่อฟัง. ท่านจารึกว่า “บนภูเขานี้พระยะโฮวาจอมพลโยธาจะจัดแจงการเลี้ยงสำหรับประชาชนทั่วไป ด้วยอาหารอันปรุงขึ้นด้วยมันสัตว์, ด้วยเหล้าองุ่นอย่างดีที่นอนก้นแล้ว, ด้วยอาหารอันปรุงขึ้นด้วยไขมัน, และเหล้าองุ่นที่นอนก้นกลั่นอย่างดี. และบนภูเขานี้พระองค์จะทรงทำลายความทุกข์ที่ปิดหน้าประชาชนทั่วไป, และทรงทำลายยองใยแห่งความทุกข์ที่ทอดคลุมประชาชาติทั้งหลายไว้. และพระองค์จะทรงทำลายความตายให้สาบศูนย์; และพระยะโฮวาจะทรงเช็ดน้ำตาจากหน้าของคนทั่วไป, และจะทรงกำจัดความอับอายขายหน้าของประชาชนของพระองค์เสียจากพื้นพิภพโลก; ด้วยพระยะโฮวาได้ตรัสไว้เช่นนั้น.”—ยะซายา 25:6-8.
18 การเลี้ยงฝ่ายวิญญาณที่เรามีส่วนร่วมในปัจจุบันในฐานะผู้นมัสการพระยะโฮวาเป็นการเลี้ยงที่น่ายินดีจริง ๆ. แท้จริงแล้ว ความยินดีของเรามีล้นเหลือเมื่อเรารับใช้พระเจ้าด้วยความกระตือรือร้นแรงกล้าด้วยความคาดหมายล่วงหน้าถึงการเลี้ยงด้วยสิ่งดีทั้งหลายจริง ๆ ดังที่พระองค์ทรงสัญญาไว้สำหรับโลกใหม่. (2 เปโตร 3:13) โดยอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู พระยะโฮวาจะทรงกำจัด “ยองใยแห่งความทุกข์” ที่ครอบคลุมมนุษยชาติอยู่เนื่องจากความบาปของอาดาม. จะเป็นที่น่ายินดีสักเพียงไรที่ได้เห็นความบาปและความตายถูกกำจัด! ช่างน่าปลาบปลื้มจริง ๆ ที่จะต้อนรับผู้เป็นที่รักซึ่งกลับเป็นขึ้นจากตาย, ที่จะสังเกตเห็นว่าน้ำตาแห้งหาย และที่จะมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน ซึ่งไพร่พลของพระยะโฮวาจะไม่ถูกตำหนิ แต่จะให้พระเจ้าทรงมีคำตอบแก่ผู้สบประมาทตัวเอ้ คือซาตานพญามาร!—สุภาษิต 27:11.
19. เราควรมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความหวังซึ่งพระยะโฮวาทรงจัดเตรียมไว้ให้เราในฐานะพยานของพระองค์?
19 คุณเต็มไปด้วยความยินดีและความขอบพระคุณมิใช่หรือที่รู้ถึงสิ่งที่พระยะโฮวาจะทรงทำเพื่อผู้รับใช้ของพระองค์? แท้จริง ความหวังอันเยี่ยมยอดเช่นนั้นเสริมความยินดีของเรา! ยิ่งกว่านั้น ความหวังที่ทำให้มีความสุขซึ่งเรามีนั้นทำให้เรามองไปยังพระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข, เปี่ยมด้วยความรัก, มีพระทัยกว้างขวางของเราด้วยความรู้สึกในใจเช่นนี้: “นี่แน่ะ! นี่แหละคือพระเจ้าของเรา. เราได้หวังในพระองค์ และพระองค์จะทรงช่วยเราให้รอด. นี่แหละคือพระยะโฮวา. เราได้หวังในพระองค์. ให้เรายินดีและชื่นชมในความรอดจากพระองค์เถิด.” (ยะซายา 25:9, ล.ม.) ด้วยความหวังอันรุ่งโรจน์ฝังแน่นในจิตใจ ขอให้เรามุ่งพยายามทุกอย่างเพื่อรับใช้พระยะโฮวาด้วยใจยินดี.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เราจะรับใช้พระยะโฮวาด้วย “ใจโสมนัสยินดี” ได้อย่างไร?
▫ เราจะทำอะไรได้ถ้าขาดความยินดีในงานรับใช้พระเจ้า?
▫ ไพร่พลของพระยะโฮวาสามารถมีความยินดีได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่ถูกกดขี่ข่มเหง?
▫ เรามีเหตุผลอะไรที่จะปีติยินดีในความหวังของเรา?
[รูปภาพหน้า 17]
การมีส่วนร่วมในทุกแง่มุมแห่งชีวิตแบบคริสเตียนจะเพิ่มพูนความยินดีของเรา