บท 6
“พระองค์ได้ทรงเรียนรู้การเชื่อฟัง”
1, 2. ทำไมพ่อผู้เปี่ยมด้วยความรักจึงรู้สึกพอใจที่เห็นว่าลูกชายเชื่อฟัง และความรู้สึกของเขาสะท้อนถึงความรู้สึกของพระยะโฮวาอย่างไร?
พ่อมองออกไปนอกหน้าต่าง เฝ้าดูลูกชายวัยเยาว์ของตนเล่นอยู่กับเพื่อน ๆ. ลูกบอลของพวกเขากระดอนจากสนามไปที่ถนน. เด็กน้อยมองตามลูกบอลด้วยความอยากได้คืนมาเหลือเกิน. เพื่อนคนหนึ่งบอกให้เขาวิ่งออกไปเก็บลูกบอลที่ถนน แต่เด็กน้อยสั่นหัวแล้วพูดว่า “ไม่ได้หรอก พ่อห้ามไม่ให้ฉันทำแบบนั้น.” พ่อยิ้มด้วยความพอใจ.
2 ทำไมผู้เป็นพ่อจึงรู้สึกพอใจอย่างนั้น? เพราะเขาได้สั่งลูกชายไว้ไม่ให้ออกไปที่ถนนตามลำพัง. เมื่อลูกเชื่อฟัง ถึงแม้ไม่รู้ว่าพ่อเฝ้าดูอยู่ ผู้เป็นพ่อย่อมรู้ว่าลูกชายกำลังเรียนรู้เรื่องการเชื่อฟังและผลก็คือลูกจะปลอดภัยมากขึ้น. พ่อคนนี้รู้สึกเหมือนกับพระยะโฮวา พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์. พระเจ้าทรงทราบว่าที่เราจะรักษาความซื่อสัตย์และมีชีวิตอยู่เพื่อจะเห็นอนาคตอันยอดเยี่ยมที่พระองค์เตรียมไว้ให้เรา เราต้องเรียนที่จะวางใจและเชื่อฟังพระองค์. (สุภาษิต 3:5, 6) เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ พระองค์ทรงส่งครูที่ดีที่สุดในบรรดาครูที่เป็นมนุษย์มาให้เรา.
3, 4. โดยวิธีใดที่พระเยซู “เรียนรู้การเชื่อฟัง” และ “ถูกทำให้สมบูรณ์”? จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบ.
3 คัมภีร์ไบเบิลบอกอะไรบางอย่างที่น่าทึ่งเกี่ยวกับพระเยซูว่า “ถึงแม้พระองค์ทรงเป็นพระบุตร พระองค์ได้ทรงเรียนรู้การเชื่อฟังจากสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทนเอา; และครั้นภายหลังพระองค์ถูกทำให้สมบูรณ์ พระองค์จึงได้เป็นผู้รับผิดชอบต่อความรอดนิรันดร์แก่คนทั้งปวงที่เชื่อฟังพระองค์.” (เฮ็บราย 5:8, 9, ล.ม.) พระบุตรองค์นี้ทรงดำรงอยู่ในสวรรค์เป็นเวลานานจนไม่อาจนับได้. พระองค์ทรงเห็นซาตานและเพื่อนทูตสวรรค์ที่กบฏของมันไม่เชื่อฟัง แต่พระบุตรหัวปีไม่เคยเข้าร่วมกับพวกมันเลย. คำพยากรณ์ที่มีขึ้นโดยการดลใจได้นำถ้อยคำต่อไปนี้มาใช้กับพระองค์ที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ขัดขืน.” (ยะซายา 50:5) ถ้าเช่นนั้น ถ้อยคำที่ว่า “พระองค์ได้ทรงเรียนรู้การเชื่อฟัง” จะนำมาใช้กับพระบุตรองค์นี้ผู้ซึ่งเชื่อฟังอย่างไม่ขาดตกบกพร่องได้อย่างไร? บุคคลที่สมบูรณ์เช่นนั้นจะ “ถูกทำให้สมบูรณ์” ได้อย่างไร?
4 ขอพิจารณาตัวอย่างนี้. ทหารมีดาบเหล็กอยู่เล่มหนึ่ง. แม้ไม่เคยมีการทดลองใช้ดาบนี้ในการสู้รบ แต่ก็เป็นดาบที่ทำขึ้นมาอย่างประณีตเพื่อจะใช้ได้โดยไม่มีที่ติ. อย่างไรก็ดี เขาเอาดาบเล่มนี้ไปเปลี่ยนกับดาบอีกเล่มหนึ่งซึ่งทำจากโลหะที่แข็งกว่า เป็นเหล็กกล้าที่แข็งแรงทนทาน. ดาบเล่มใหม่นี้ได้ถูกใช้มาแล้วอย่างมีประสิทธิภาพในการสู้รบ. นี่เป็นการแลกเปลี่ยนที่แสดงถึงความฉลาดมิใช่หรือ? คล้ายกัน พระเยซูได้แสดงให้เห็นการเชื่อฟังอย่างไม่มีที่ติก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก. แต่หลังจากพระองค์อยู่บนแผ่นดินโลกนี้ การเชื่อฟังของพระองค์มีลักษณะที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง. ตอนนี้การเชื่อฟังนั้นถูกทดสอบ ประหนึ่งว่าถูกทำให้แข็งแรงทนทานขึ้น และได้รับการพิสูจน์โดยการทดลองต่าง ๆ ซึ่งพระเยซูไม่มีวันได้ประสบในสวรรค์เลย.
5. เหตุใดการเชื่อฟังของพระเยซูสำคัญจริง ๆ และเราจะพิจารณาอะไรในบทนี้?
5 การเชื่อฟังเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับงานมอบหมายของพระเยซูในการเสด็จมายังแผ่นดินโลก. ในฐานะ “อาดามผู้ซึ่งมาภายหลัง” พระเยซูเสด็จมายังแผ่นดินโลกนี้เพื่อทำสิ่งที่บิดามารดาคู่แรกของเราไม่ได้ทำ นั่นคือการเชื่อฟังพระยะโฮวาพระเจ้าต่อ ๆ ไป แม้อยู่ภายใต้การทดลอง. (1 โกรินโธ 15:45) กระนั้น การเชื่อฟังของพระเยซูมิใช่แบบพอเป็นพิธี. พระเยซูทรงเชื่อฟังอย่างสุดจิตใจ, หัวใจ, และชีวิต. และพระองค์ทรงเชื่อฟังด้วยความยินดี. การทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระองค์ยิ่งกว่าการรับประทานอาหารเสียอีก! (โยฮัน 4:34) อะไรจะช่วยเราให้เลียนแบบการเชื่อฟังของพระเยซู? ทีแรกให้เราพิจารณาแรงกระตุ้นของพระองค์. การปลูกฝังแรงกระตุ้นเหมือนพระองค์จะช่วยเราให้ทั้งต้านทานการล่อใจและทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ. ต่อจากนั้น เราจะพิจารณาผลตอบแทนบางอย่างที่เกิดจากการสำแดงการเชื่อฟังแบบพระคริสต์.
แรงกระตุ้นของพระเยซูในการเชื่อฟัง
6, 7. แรงกระตุ้นในการเชื่อฟังของพระเยซูมีอะไรบ้าง?
6 การเชื่อฟังของพระเยซูเกิดจากคุณลักษณะที่ดีต่าง ๆ ในหัวใจของพระองค์. ดังที่เราได้เห็นในบท 3 พระคริสต์มีหัวใจถ่อม. ความหยิ่งยโสทำให้ผู้คนรู้สึกว่าการเชื่อฟังทำให้เขาเสียเกียรติ ขณะที่ความถ่อมใจช่วยเราให้เชื่อฟังพระยะโฮวาด้วยความเต็มใจ. (เอ็กโซโด 5:1, 2; 1 เปโตร 5:5, 6) ยิ่งกว่านั้น การเชื่อฟังของพระเยซูได้รับการกระตุ้นจากสิ่งที่พระองค์ทรงรักและเกลียด.
7 สำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด พระเยซูทรงรักพระยะโฮวา พระบิดาของพระองค์ทางภาคสวรรค์. จะมีการพิจารณาความรักดังกล่าวอย่างละเอียดมากขึ้นในบท 13. ความรักดังกล่าวทำให้พระเยซูพัฒนาความเกรงกลัวพระเจ้า. พระองค์มีความรักอย่างแรงกล้าต่อพระยะโฮวา มีความเคารพอย่างสุดซึ้งจนกลัวว่าจะทำให้พระบิดาของพระองค์ไม่พอพระทัย. ความเกรงกลัวพระเจ้าเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่คำอธิษฐานของพระเยซูได้รับการสดับด้วยความพอพระทัย. (เฮ็บราย 5:7) ความเกรงกลัวพระยะโฮวายังเป็นลักษณะเด่นแห่งการปกครองของพระเยซูฐานะพระมหากษัตริย์มาซีฮา.—ยะซายา 11:3.
8, 9. ดังที่พยากรณ์ไว้ พระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความชอบธรรมและความชั่ว และพระองค์ทรงทำให้ความรู้สึกดังกล่าวปรากฏชัดอย่างไร?
8 ความรักต่อพระยะโฮวายังเกี่ยวข้องกับความเกลียดชังสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเกลียดด้วย. ตัวอย่างเช่น โปรดสังเกตคำพยากรณ์ข้อนี้ที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์มาซีฮาว่า “พระองค์ทรงรักความชอบธรรมและทรงเกลียดความชั่ว. เหตุฉะนั้นพระเจ้า พระเจ้าของพระองค์ จึงทรงเจิมพระองค์ด้วยน้ำมันแห่งความยินดียิ่งกว่าเหล่าพระสหายของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 45:7, ล.ม.) “พระสหาย” ของพระเยซูได้แก่กษัตริย์องค์อื่น ๆ ในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด. มีเหตุที่ทำให้พระเยซูมีความยินดี หรือปลาบปลื้มอย่างยิ่งในการเจิมนั้น มากกว่ากษัตริย์องค์ใด ๆ ในราชวงศ์นี้. เพราะเหตุใด? บำเหน็จของพระองค์ใหญ่ยิ่งกว่าบำเหน็จที่กษัตริย์เหล่านั้นได้รับ ตำแหน่งกษัตริย์ของพระองค์อำนวยประโยชน์ให้มากกว่าอย่างสุดคณานับ. พระองค์ได้รับบำเหน็จเพราะความรักที่พระองค์มีต่อความชอบธรรมและความเกลียดชังที่มีต่อความชั่วนั้นกระตุ้นพระองค์ให้เชื่อฟังพระเจ้าในทุกสิ่ง.
9 พระเยซูทรงทำให้ความรู้สึกที่พระองค์มีต่อความชอบธรรมและความชั่วปรากฏชัดอย่างไร? ตัวอย่างเช่น เมื่อเหล่าสาวกของพระองค์เชื่อฟังการชี้แนะของพระองค์ในเรื่องงานประกาศและได้รับผลดี พระเยซูทรงมีปฏิกิริยาอย่างไร? พระองค์ทรงยินดีอย่างยิ่ง. (ลูกา 10:1, 17, 21) และเมื่อประชาชนชาวเยรูซาเลมแสดงน้ำใจขัดขืนหลายครั้งหลายหน โดยปฏิเสธความพยายามด้วยความรักของพระองค์ที่จะช่วยพวกเขา พระเยซูทรงรู้สึกอย่างไร? พระองค์ทรงกันแสงเนื่องจากแนวทางที่กบฏขัดขืนของเมืองนั้น. (ลูกา 19:41, 42) พระเยซูทรงห่วงใยอย่างยิ่งในเรื่องความประพฤติที่ดีและไม่ดี.
10. เราจำเป็นต้องปลูกฝังความรู้สึกเช่นไรต่อการกระทำที่ชอบธรรมและการประพฤติผิด และอะไรจะช่วยเราให้ทำเช่นนั้น?
10 การไตร่ตรองดูความรู้สึกของพระเยซูช่วยเราให้ตรวจสอบดูแรงกระตุ้นของเราเองในการเชื่อฟังพระยะโฮวา. แม้เราเป็นคนไม่สมบูรณ์ เราก็ยังสามารถปลูกฝังความรักอย่างแรงกล้าต่อการกระทำดีและความเกลียดชังอย่างจริงจังต่อความประพฤติผิด. เราต้องอธิษฐานถึงพระยะโฮวา ทูลขอพระองค์ให้ช่วยเราพัฒนาความรู้สึกเหมือนพระองค์และพระบุตรของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 51:10) ขณะเดียวกัน เราต้องหลีกเลี่ยงอิทธิพลต่าง ๆ ที่จะเซาะกร่อนความรู้สึกดังกล่าว. การเลือกความบันเทิงและการคบหาสมาคมอย่างรอบคอบนับว่าสำคัญ. (สุภาษิต 13:20; ฟิลิปปอย 4:8) หากเราพัฒนาแรงกระตุ้นเหมือนพระคริสต์ การเชื่อฟังของเราจะไม่เป็นเพียงการทำพอเป็นพิธี. เราจะทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะเราอยากทำสิ่งนั้น. เราจะหลีกเลี่ยงการกระทำผิด ไม่ใช่เพราะเรากลัวถูกจับได้ แต่เพราะเราเกลียดความประพฤติเช่นนั้น.
“พระองค์ไม่ได้ทรงกระทำบาปประการใด”
11, 12. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับพระเยซูในช่วงต้นแห่งงานรับใช้ของพระองค์? (ข) ซาตานล่อใจพระเยซูครั้งแรกโดยวิธีใด โดยใช้อุบายที่มีเล่ห์เหลี่ยมอย่างไร?
11 ในเรื่องความเกลียดชังต่อบาปนั้น พระเยซูถูกทดสอบในช่วงต้น ๆ แห่งงานรับใช้ของพระองค์. ภายหลังพระองค์รับบัพติสมาแล้ว พระองค์อยู่ในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 40 วัน 40 คืน โดยไม่ได้เสวยพระกระยาหาร. ในตอนจบของช่วงเวลานั้น ซาตานได้มาล่อใจพระองค์. ขอสังเกตว่าพญามารมีเล่ห์เหลี่ยมเพียงใด.—มัดธาย 4:1-11.
12 ทีแรกซาตานบอกว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้าจงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นพระกระยาหาร.” (มัดธาย 4:3) พระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรหลังอดอาหารมานาน? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างชัดเจนว่า “พระองค์ก็ทรงอยากพระกระยาหาร.” (มัดธาย 4:2) ดังนั้น ซาตานฉวยโอกาสจากความปรารถนาตามธรรมชาติในเรื่องอาหาร ไม่ต้องสงสัยว่ามันจงใจรอจนกระทั่งพระเยซูอยู่ในสภาพที่ร่างกายอ่อนแอ. สังเกตคำพูดเหน็บแนมของซาตานด้วยที่ว่า “ถ้า ท่านเป็นบุตรของพระเจ้า.” ซาตานรู้ว่าพระเยซูเป็น “ผู้แรกที่บังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง.” (โกโลซาย 1:15, ล.ม.) กระนั้น พระเยซูก็ไม่ยอมให้ซาตานยั่วยุพระองค์ให้ไม่เชื่อฟังพระเจ้า. พระเยซูทรงทราบว่าพระเจ้ามิได้มีพระทัยประสงค์ที่จะให้พระองค์ใช้อำนาจด้วยจุดมุ่งหมายที่เห็นแก่ตัว. พระองค์ไม่ยอมทำเช่นนั้น พระองค์ทรงถ่อมพระทัยพึ่งอาศัยพระยะโฮวาเพื่อได้รับการค้ำจุนและการชี้นำ.—มัดธาย 4:4.
13-15. (ก) ซาตานทำเช่นไรในการล่อใจพระเยซูครั้งที่สองและสาม และพระเยซูตอบสนองอย่างไร? (ข) เรารู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูไม่เคยหยุดเฝ้าระวังซาตานเลย?
13 ในการล่อใจครั้งที่สอง ซาตานพาพระเยซูไปยังบริเวณที่สูงบนเชิงเทินพระวิหาร. โดยบิดเบือนพระคำของพระเจ้าอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม ซาตานได้ล่อพระเยซูให้แสดงการโอ้อวดโดยกระโจนลงมาจากที่สูงนั้นจนทูตสวรรค์ต้องมาช่วยเหลือพระองค์. หากฝูงชนที่พระวิหารได้เห็นการอัศจรรย์เช่นนั้น หลังจากนั้น ใครหรือจะกล้ายกข้อสงสัยขึ้นมาในเรื่องที่ว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮาตามคำสัญญาหรือไม่? และถ้าฝูงชนยอมรับพระเยซูฐานะพระมาซีฮาโดยอาศัยการแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจดังกล่าว พระเยซูก็จะหลีกเลี่ยงความยุ่งยากลำบากมากมายได้มิใช่หรือ? อาจเป็นไปได้. แต่พระเยซูทรงทราบว่าพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาคือให้พระมาซีฮาทำงานของพระองค์ในลักษณะที่ไม่โอ้อวด ไม่ใช่เพื่อชักจูงผู้คนให้เชื่อพระองค์โดยการแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจ. (ยะซายา 42:1, 2) อีกครั้งหนึ่ง พระเยซูปฏิเสธการไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา. การมีชื่อเสียงมิได้ดึงดูดใจพระองค์.
14 แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับการล่อใจเรื่องอำนาจ? ในความพยายามครั้งที่สาม ซาตานได้เสนออาณาจักรทั้งสิ้นของโลกให้พระเยซู หากพระองค์จะนมัสการซาตานครั้งเดียว. พระองค์ต้องคิดแล้วคิดอีกอย่างจริงจังถึงข้อเสนอของซาตานไหม? พระองค์ตอบว่า “ซาตาน! จงไปเสียให้พ้น!” พระองค์ตรัสต่อไปอีกว่า “เพราะมีคำเขียนไว้ว่า ‘พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้านั่นแหละที่เจ้าต้องนมัสการ และแด่พระองค์ผู้เดียวที่เจ้าต้องถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์.’” (มัดธาย 4:10, ล.ม.) ไม่มีสิ่งใดจะชักชวนพระเยซูให้นมัสการพระอื่นได้เลย. การเสนออำนาจหรืออิทธิพลในโลกนี้จะไม่ชักนำพระองค์ให้กระทำการใด ๆ ที่เป็นการไม่เชื่อฟัง.
15 ซาตานยอมแพ้ไหม? มันจากไปตามพระบัญชาของพระเยซู. อย่างไรก็ดี กิตติคุณของลูกากล่าวว่าพญามาร “จึงไปจากพระองค์จนกว่าจะถึงเวลาอื่นที่เหมาะ.” (ลูกา 4:13, ล.ม.) ที่จริง ซาตานจะหาโอกาสอื่นที่จะทดลองและล่อใจพระเยซูจนถึงที่สุด. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า พระเยซู “ได้ทรงถูกทดลอง . . . ทุกประการ.” (เฮ็บราย 4:15) ดังนั้น พระเยซูไม่เคยหยุดเฝ้าระวังเลย เราก็เช่นกัน.
16. ซาตานล่อใจผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวันนี้โดยวิธีใด และเราจะปฏิเสธความพยายามของมันได้อย่างไร?
16 ซาตานยังคงล่อใจผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวันนี้อยู่ต่อไป. น่าเศร้า บ่อยครั้งความไม่สมบูรณ์ของเราทำให้เราตกเป็นเป้าอย่างง่ายดาย. ซาตานฉวยโอกาสอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมจากความเห็นแก่ตัว, ความหยิ่ง, และความกระหายอำนาจ. โดยใช้การล่อใจด้วยลัทธิวัตถุนิยม ซาตานอาจถึงกับใช้ปัจจัยทั้งหมดนี้รวมกันด้วยซ้ำ! นับว่าสำคัญที่เราจะหยุดเพื่อตรวจสอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งคราว. เราควรไตร่ตรองถ้อยคำใน 1 โยฮัน 2:15-17. ในการไตร่ตรองนั้นเราอาจถามตัวเองว่า ความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังของระบบนี้, ความอยากได้ใคร่มีสมบัติวัตถุ, และความปรารถนาที่จะให้คนอื่นประทับใจเซาะกร่อนความรักที่เรามีต่อพระบิดาของเราทางภาคสวรรค์บ้างหรือไม่. เราต้องจำไว้ว่าโลกนี้กำลังจะผ่านพ้นไป เช่นเดียวกับซาตานผู้ปกครองของโลก. ขอให้เราปฏิเสธความพยายามอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมของมันที่จะล่อเราเข้าสู่บาป! ขอให้เราได้แรงบันดาลใจจากผู้เป็นนายของเรา เพราะ “พระองค์ไม่ได้ทรงกระทำบาปประการใด.”—1 เปโตร 2:22.
“เราทำตามชอบพระทัยพระองค์เสมอ”
17. พระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรเรื่องการเชื่อฟังพระบิดา แต่บางคนอาจแย้งว่าอย่างไร?
17 การเชื่อฟังเกี่ยวข้องไม่เพียงแต่การละเว้นจากบาป; พระคริสต์ทรงปฏิบัติตามพระบัญชาทุกประการของพระบิดาอย่างแข็งขัน. พระองค์แถลงว่า “เราทำตามชอบพระทัยพระองค์เสมอ.” (โยฮัน 8:29) การเชื่อฟังเช่นนี้นำความยินดีมากมายมาให้พระเยซู. แน่นอน บางคนอาจแย้งว่าการเชื่อฟังเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพระเยซู. เขาอาจคิดว่าพระองค์ต้องให้การเฉพาะแต่กับพระยะโฮวาซึ่งเป็นผู้ที่สมบูรณ์ ขณะที่บ่อยครั้งเราต้องให้การต่อมนุษย์ไม่สมบูรณ์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ. แต่ความจริงคือว่าพระเยซูทรงเชื่อฟังมนุษย์ไม่สมบูรณ์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ.
18. ตอนเป็นเด็ก พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ดีอะไรในเรื่องการเชื่อฟัง?
18 ขณะที่ทรงเติบโต พระเยซูอยู่ใต้อำนาจของโยเซฟกับมาเรีย บิดามารดาของพระองค์ซึ่งเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์. พระองค์อาจจะมองเห็นข้อบกพร่องในตัวบิดามารดาของพระองค์ได้มากกว่าที่เด็กส่วนใหญ่จะมองเห็นในตัวบิดามารดาของพวกเขา. พระองค์ขืนอำนาจไหม โดยทำเกินขอบเขตของหน้าที่ที่พระเจ้าประทานให้และสั่งบิดามารดาว่าควรจัดการเรื่องในครอบครัวอย่างไร? ขอสังเกตสิ่งที่ลูกา 2:51 (ล.ม.) กล่าวถึงพระเยซูตอนพระชนมายุ 12 พรรษาว่า “พระองค์ . . . อยู่ใต้การปกครองของพวกเขาต่อไป.” โดยการเชื่อฟังเช่นนี้ พระองค์ทรงวางตัวอย่างที่ดีเลิศไว้สำหรับเยาวชนคริสเตียน ผู้ซึ่งพยายามจะเชื่อฟังบิดามารดาและแสดงความนับถือที่สมควรต่อท่าน.—เอเฟโซ 6:1, 2.
19, 20. (ก) พระเยซูเผชิญสภาพการณ์ยุ่งยากที่ไม่มีใดเหมือนเช่นไรเกี่ยวกับการเชื่อฟังมนุษย์ไม่สมบูรณ์? (ข) ทำไมคริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ควรเชื่อฟังคนเหล่านั้นที่นำหน้าในท่ามกลางพวกเขา?
19 ในเรื่องการเชื่อฟังมนุษย์ไม่สมบูรณ์ พระเยซูเผชิญสภาพการณ์ยุ่งยากที่คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ไม่ต้องเผชิญเลย. ขอพิจารณาช่วงเวลาที่พระองค์ทรงมีชีวิตอยู่ซึ่งไม่มีใดเหมือน. ระบบศาสนาของยิวพร้อมกับพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมและตำแหน่งปุโรหิตได้รับการเห็นชอบจากพระยะโฮวามาเป็นเวลานาน แต่กำลังจะถูกปฏิเสธและถูกแทนที่ด้วยประชาคมคริสเตียน. (มัดธาย 23:33-38) ระหว่างนั้น ผู้นำศาสนาหลายคนสอนความเท็จที่ได้มาจากปรัชญากรีก. ในพระวิหาร การทุจริตมีอยู่ดาษดื่นเสียจนพระเยซูเรียกที่นั่นว่า “ถ้ำของพวกโจร.” (มาระโก 11:17) พระเยซูหลีกเลี่ยงการไปที่พระวิหารและธรรมศาลาไหม? เปล่าเลย! พระยะโฮวายังทรงใช้สิ่งเหล่านั้นอยู่. พระเยซูไปฉลองเทศกาลต่าง ๆ ณ พระวิหารและไปที่ธรรมศาลาด้วยความเชื่อฟัง จนกว่าพระเจ้าจะทรงลงมือจัดการและทำการเปลี่ยนแปลง.—ลูกา 4:16; โยฮัน 5:1.
20 หากพระเยซูทรงเชื่อฟังภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว ยิ่งกว่านั้นสักเท่าไรที่คริสเตียนแท้ควรจะเชื่อฟังต่อ ๆ ไปในทุกวันนี้! ที่จริง เรามีชีวิตอยู่ในสมัยที่ต่างกันมาก เป็นยุคแห่งการฟื้นฟูการนมัสการอันบริสุทธิ์ที่มีการบอกไว้ล่วงหน้านานมาแล้ว. พระเจ้าทรงรับรองกับเราว่าพระองค์จะไม่ปล่อยให้ซาตานทำให้ประชาชนของพระองค์ที่ได้รับการฟื้นฟูแล้วนั้นเสื่อมเสีย. (ยะซายา 2:1, 2; 54:17) จริงอยู่ เราเผชิญกับบาปและความไม่สมบูรณ์ภายในประชาคมคริสเตียน. แต่เราควรใช้ข้อบกพร่องของคนอื่นเป็นข้อแก้ตัวที่จะไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา บางทีโดยไม่เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนหรือโดยวิจารณ์ผู้ปกครองไหม? ไม่เลย! แทนที่จะทำเช่นนั้น เราสนับสนุนอย่างจริงใจต่อคนเหล่านั้นที่นำหน้าในประชาคม. ด้วยความเชื่อฟัง เราเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนและการประชุมใหญ่ต่าง ๆ และเอาคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ที่เราได้รับที่นั่นไปใช้.—เฮ็บราย 10:24, 25; 13:17.
21. พระเยซูตอบสนองอย่างไรต่อการที่มนุษย์กดดันพระองค์ไม่ให้เชื่อฟังพระเจ้า เป็นการวางตัวอย่างอะไรไว้สำหรับเรา?
21 พระเยซูไม่เคยยอมให้ประชาชน—แม้แต่เพื่อน ๆ ที่มีเจตนาดี ทำให้พระองค์เลิกเชื่อฟังพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปโตรพยายามจะโน้มน้าวนายของตนว่าไม่จำเป็นที่จะต้องทนทุกข์และสิ้นพระชนม์. พระเยซูทรงปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่เปโตรให้คำแนะนำด้วยเจตนาดีแต่เป็นการชักนำไปในทางผิด ที่บอกให้พระเยซูกรุณาตัวเอง. (มัดธาย 16:21-23) ปัจจุบัน บ่อยครั้งเหล่าสาวกของพระเยซูรับมือกับญาติพี่น้องที่มีเจตนาดีซึ่งอาจพยายามยับยั้งเขาไว้ไม่ให้เชื่อฟังกฎหมายและหลักการต่าง ๆ ของพระเจ้า. เช่นเดียวกับเหล่าสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรก เรายึดมั่นกับจุดยืนของเราที่ว่า “ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์.”—กิจการ 5:29.
บำเหน็จของการเชื่อฟังแบบพระคริสต์
22. พระเยซูทรงให้คำตอบสำหรับคำถามอะไร และโดยวิธีใด?
22 เมื่อพระเยซูเผชิญกับความตาย การเชื่อฟังของพระองค์ได้รับการทดสอบถึงที่สุด. ระหว่างวันที่น่าหดหู่นั้นแหละที่ “พระองค์ได้ทรงเรียนรู้การเชื่อฟัง” ในความหมายครบถ้วนที่สุด. พระองค์ทรงทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดา ไม่ใช่ตามพระทัยของพระองค์เอง. (ลูกา 22:42) ในระหว่างนั้น พระองค์ได้สร้างประวัติความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง. (1 ติโมเธียว 3:16) พระองค์ทรงให้คำตอบสำหรับคำถามที่มีมานานแล้วที่ว่า มนุษย์สมบูรณ์จะยังคงเชื่อฟังพระยะโฮวาต่อไปไหม ถึงแม้ประสบการทดลอง? อาดามได้ล้มเหลว และฮาวาก็เช่นกัน. ครั้นแล้วพระเยซูเสด็จมา, มีชีวิตอยู่, สิ้นพระชนม์, และทรงให้คำตอบที่หนักแน่นจริง ๆ. บุคคลสำคัญที่สุดในบรรดาสรรพสิ่งทรงสร้างของพระยะโฮวาได้ให้คำตอบหนักแน่นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้. พระองค์เชื่อฟังแม้ว่าการทำเช่นนั้นทำให้พระองค์ทนทุกข์อย่างมากและกระทั่งสิ้นพระชนม์.
23-25. (ก) การเชื่อฟังเกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างไร? จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบ. (ข) อะไรคือเนื้อหาสาระของบทถัดไป?
23 ความซื่อสัตย์มั่นคงหรือความเลื่อมใสสุดหัวใจต่อพระยะโฮวา แสดงออกโดยการเชื่อฟัง. เนื่องจากพระเยซูเชื่อฟัง พระองค์ได้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงและอำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ. (โรม 5:19) พระยะโฮวาทรงประทานบำเหน็จให้พระเยซูอย่างบริบูรณ์. หากเราเชื่อฟังพระคริสต์ ผู้เป็นนายของเรา พระยะโฮวาก็จะประทานบำเหน็จแก่เราเช่นกัน. การเชื่อฟังพระคริสต์นำไปสู่ “ความรอดนิรันดร์”!—เฮ็บราย 5:9.
24 นอกจากนั้น ความซื่อสัตย์มั่นคงก็เป็นบำเหน็จอยู่แล้ว. สุภาษิต 10:9 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “ผู้ใดที่ดำเนินในความสัตย์ซื่อก็ดำเนินอย่างมั่นคงดี.” หากความซื่อสัตย์มั่นคงเทียบได้กับคฤหาสน์ใหญ่หลังหนึ่งที่สร้างด้วยอิฐชั้นเลิศ การเชื่อฟังแต่ละครั้งก็อาจเทียบได้กับอิฐแต่ละก้อน. อิฐก้อนหนึ่งอาจดูเหมือนไม่สำคัญ ทว่าแต่ละก้อนก็อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและมีคุณค่า. และเมื่อเอาอิฐหลายก้อนมาต่อกัน สิ่งที่มีค่ามากกว่าได้ถูกสร้างขึ้น. เมื่อเอาการเชื่อฟังแต่ละครั้งมารวมกัน การเชื่อฟังครั้งหนึ่งเพิ่มเข้ากับอีกครั้งหนึ่ง วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า เราก็ได้สร้างความซื่อสัตย์มั่นคงของเราดุจดังบ้านที่สวยงามขึ้น.
25 แนวทางของการเชื่อฟังเป็นเวลายาวนานทำให้เรานึกถึงคุณลักษณะอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือความอดทน. ตัวอย่างของพระเยซูในแง่มุมนี้เป็นเนื้อหาสาระของบทถัดไป.