พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากภาคที่สองของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ
ฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา เราคาดหมายได้ว่าจะประสบความยากลำบากและการทดลองต่าง ๆ. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “บรรดาคนที่ตั้งใจประพฤติตามธรรมในพระเยซูคริสต์ก็จะต้องอดทนการข่มเหงด้วยกันทั้งนั้น.” (2 ติโมเธียว 3:12) อะไรจะช่วยเราให้อดทนต่อความยากลำบากและการข่มเหงซึ่งจะพิสูจน์ว่าเราซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้า?
ภาคที่สองของบทเพลงสรรเสริญทั้งห้าภาคช่วยเราได้ในเรื่องนี้. บทเพลงสรรเสริญบท 42 ถึง 72 แสดงให้เห็นว่าถ้าเราต้องการจะอดทนความยากลำบากอย่างประสบผลสำเร็จ เราต้องมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมในพระยะโฮวาและเรียนรู้ที่จะคอยท่าการช่วยให้รอดจากพระองค์. ช่างเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับเราสักเพียงไร! เช่นเดียวกับพระคำของพระเจ้าส่วนอื่น ๆ ข่าวสารในพระธรรมบทเพลงสรรเสริญภาคที่สอง “มีชีวิตและทรงพลัง” จริง ๆ แม้กระทั่งในทุกวันนี้.—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
พระยะโฮวาเป็น “ที่พึ่งพำนักและเป็นกำลัง” ของเรา
ชาวเลวีคนหนึ่งถูกเนรเทศไปอยู่ต่างแดน. เขารู้สึกเศร้าใจที่ไม่สามารถเดินทางไปที่สถานศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวาเพื่อนมัสการพระองค์ได้ เขาปลอบใจตัวเองว่า “จิตต์ของข้าพเจ้าเอ๋ย, เหตุไฉนจิตต์ต้องฝ่อลง? เหตุไรจิตต์ต้องกระสับกระส่ายอยู่ในตัวของข้าพเจ้า? จงคอยท่าพระเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 42:5, 11; 43:5) ถ้อยคำเชิงกวีเหล่านี้ซึ่งปรากฏซ้ำกันถึงสามครั้งเชื่อมบทเพลงสรรเสริญบท 42 และ 43 ให้เป็นบทร้อยกรองเดียวกัน. บทเพลงสรรเสริญบท 44 เป็นคำขอร้องเพื่อเห็นแก่ยูดาห์—ชาติซึ่งประสบความทุกข์เดือดร้อนเพราะอาจถูกคุกคามจากการบุกรุกของอัสซีเรียในสมัยของกษัตริย์ฮิศคียา.
บทเพลงสรรเสริญบท 45 ซึ่งเป็นเพลงเกี่ยวกับการอภิเษกสมรส เป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับกษัตริย์มาซีฮา. บทเพลงสรรเสริญสามบทถัดมาพรรณนาว่าพระยะโฮวาเป็น “ที่พึ่งพำนักและเป็นกำลัง,” “พระบรมมหากษัตริย์ทั่วแผ่นดินโลก,” และ “เป็นปราการที่มั่นคง.” (บทเพลงสรรเสริญ 46:1; 47:2; 48:3, ฉบับแปลใหม่) บทเพลงสรรเสริญบท 49 ช่างเป็นบทเพลงที่น่าคิดจริง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีมนุษย์คนใด “ไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใด ๆ ก็ไถ่ชีวิตน้องชายของเขาไม่ได้”! (บทเพลงสรรเสริญ 49:7) เชื่อกันว่าเหล่าบุตรของโคราเป็นผู้แต่งเพลงสรรเสริญแปดบทแรกของภาคที่สอง. ส่วนบทที่เก้าซึ่งก็คือบทเพลงสรรเสริญบท 50 อาซาฟเป็นผู้แต่ง.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
44:19—“ที่หมาป่าอยู่” หมายถึงอะไร? บางทีผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอาจหมายถึงสนามรบซึ่งผู้เสียชีวิตกลายเป็นอาหารของหมาป่า.
45:13, 14ก—ใครคือ “ราชธิดา” ซึ่งจะ “เข้าเฝ้าพระบรมมหากษัตริย์”? เธอคือธิดาของ “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดร์กาล” พระยะโฮวาพระเจ้า. (วิวรณ์ 15:3, ล.ม.) เธอเป็นภาพเล็งถึงกลุ่มคริสเตียน 144,000 คนผู้ได้รับสง่าราศีที่พระยะโฮวาทรงรับเป็นบุตรของพระองค์โดยการเจิมด้วยพระวิญญาณ. (โรม 8:16) “ราชธิดา” ของพระยะโฮวาถูก “เตรียมไว้แล้ว, เหมือนอย่างเจ้าสาวตกแต่งตัวไว้สำหรับสามี” และจะถูกพาไปหาเจ้าบ่าวซึ่งก็คือกษัตริย์มาซีฮา.—วิวรณ์ 21:2.
45:14ข, 15—“พวกพรหมจารี” เป็นภาพเล็งถึงใคร? พวกเขาคือ “ชนฝูงใหญ่” แห่งผู้นมัสการแท้ ซึ่งเข้าร่วมและช่วยเหลือชนที่เหลือผู้ถูกเจิม. เนื่องจากพวกเขารอดชีวิต “จากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” พวกเขาจะอยู่บนแผ่นดินโลกเมื่อการอภิเษกสมรสของกษัตริย์มาซีฮาเสร็จสมบูรณ์ในสวรรค์. (วิวรณ์ 7:9, 13, 14, ล.ม.) ในโอกาสนั้น พวกเขาจะเปี่ยมด้วย “ความชื่นชมยินดี.”
45:16—โดยวิธีใดที่บรรพบุรุษของกษัตริย์จะกลับกลายเป็นบุตรหลาน? เมื่อพระเยซูบังเกิดมาบนแผ่นดินโลก พระองค์มีบรรพบุรุษที่เป็นมนุษย์. พวกเขาจะกลายเป็นบุตรของพระองค์เมื่อพระองค์ปลุกพวกเขาให้เป็นขึ้นจากตายระหว่างรัชสมัยพันปีของพระองค์. บางคนในหมู่พวกเขาจะอยู่ในกลุ่มผู้ที่ถูกตั้งให้เป็น “เจ้าเป็นนายทั่วพื้นพิภพ.”
50:2—เหตุใดเยรูซาเลมถูกเรียกว่า “เมืองงดงามหมดจด”? นี่ไม่ใช่เพราะความสวยงามของเมืองนั้น. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เมืองนั้นงดงามเพราะพระยะโฮวาทรงใช้และประทานความสง่างามให้โดยให้เป็นที่ตั้งของพระวิหารและเป็นเมืองหลวงของกษัตริย์ผู้ได้รับการเจิมของพระองค์.
บทเรียนสำหรับเรา:
42:1-3. เช่นเดียวกับกวางตัวเมียในที่แห้งแล้งซึ่งกระหายหาน้ำ ชาวเลวีคนนี้โหยหาพระยะโฮวา. เขารู้สึกเศร้าใจอย่างสุดซึ้งเนื่องจากไม่สามารถนมัสการพระยะโฮวาในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ได้ จนเขา “ต้องกินน้ำตาต่างอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน” คือไม่อยากรับประทานอาหาร. ไม่ควรหรอกหรือที่เราจะปลูกฝังความหยั่งรู้ค่าอย่างสุดซึ้งที่เรามีโอกาสนมัสการพระยะโฮวาร่วมกับเพื่อนร่วมความเชื่อ?
42:4, 5, 11; 43:3-5. หากด้วยเหตุผลบางประการซึ่งเกินที่เราจะควบคุมได้เป็นเหตุให้เราไม่ได้อยู่ร่วมคบหากับพี่น้องในประชาคมคริสเตียนชั่วคราว การระลึกถึงความยินดีที่เราได้ร่วมคบหากับพี่น้องในอดีตจะค้ำจุนเรา. แม้การระลึกถึงเช่นนี้ในตอนแรกอาจทำให้ความรู้สึกเศร้าใจเนื่องจากความโดดเดี่ยวมีมากขึ้น แต่ก็เตือนใจเราด้วยว่าพระเจ้าทรงเป็นที่พึ่งของเราและเราจำเป็นต้องคอยท่าการบรรเทาทุกข์จากพระองค์.
46:1-3. ไม่ว่าจะประสบเหตุร้ายใด ๆ เราต้องเชื่อมั่นอย่างไม่สั่นคลอนว่า “พระเจ้าเป็นที่พึ่งพำนักและเป็นกำลัง” ของเรา.
50:16-19. คนที่โป้ปดหลอกลวงและทำความชั่วไม่มีสิทธิ์เป็นตัวแทนของพระเจ้า.
50:20. แทนที่จะรีบประจานความผิดของคนอื่น เราควรมองข้ามเสีย.—โกโลซาย 3:13.
“จิตใจของข้าพเจ้าสงบคอยท่าพระเจ้า”
บทเพลงสรรเสริญชุดนี้เริ่มต้นด้วยคำอธิษฐานจากหัวใจของดาวิดหลังจากที่ท่านได้ทำบาปกับนางบัธเซบะ. บทเพลงสรรเสริญบท 52 ถึง 57 แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาจะทรงช่วยเหลือคนที่มอบภาระไว้กับพระองค์และรอคอยความรอดจากพระองค์. ดังที่กล่าวไว้ในบทเพลงสรรเสริญบท 58-64 ระหว่างที่ดาวิดประสบความยากลำบากต่าง ๆ นานา ท่านหมายพึ่งพระยะโฮวา. ท่านร้องเพลงว่า “จิตใจของข้าพเจ้าสงบคอยท่าพระเจ้าแต่องค์เดียวเพราะความหวังของข้าพเจ้ามาจากพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 62:5, ฉบับแปลใหม่.
การมีสัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับพระผู้ช่วยให้รอดของเราควรกระตุ้นเราให้ “ร้องเพลงถวายเกียรติยศแก่พระนามของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 66:2) พระยะโฮวาได้รับการสรรเสริญเนื่องจากทรงเป็นผู้จัดเตรียมด้วยพระทัยกว้างในบทเพลงสรรเสริญบท 65, เป็นพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดในวิธีต่าง ๆ ในบทเพลงสรรเสริญบท 67 และ 68, และเป็นผู้ช่วยให้พ้นภัยในบทเพลงสรรเสริญบท 70 และ 71.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
51:12—ดาวิดขอให้พระเจ้าสนับสนุนท่านด้วย “ความสมัครใจ” ของใคร? นี่ไม่ได้หมายถึงความสมัครใจของพระเจ้าที่จะช่วยเหลือดาวิดทั้งไม่ได้หมายถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา แต่หมายถึงความสมัครใจ หรือแนวโน้มแห่งความคิดจิตใจของดาวิดเอง. ท่านกำลังขอให้พระเจ้าประทานความปรารถนาจะทำสิ่งที่ถูกต้องให้แก่ท่าน.
53:1—คนที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระเจ้า “โฉดเขลา” ในทางใด? ความโฉดเขลาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการขาดความฉลาด. ข้อเท็จจริงที่ว่าคนเช่นนั้นโฉดเขลาทางศีลธรรมเห็นได้จากความเสื่อมทางศีลธรรมดังที่พรรณนาไว้ในบทเพลงสรรเสริญบท 53:1-4.
58:3-5—คนชั่วเป็นเหมือนงูในทางใด? เรื่องโกหกที่พวกเขาพูดเกี่ยวกับผู้อื่นเป็นเหมือนพิษของงู. เขาใส่ร้ายคนที่มีชื่อเสียงดี. เช่นเดียวกับ “งูเห่าชนิดหูหนวกที่ได้อุดหูของมันเสีย” คนชั่วก็ไม่ยอมฟังคำแนะนำหรือการว่ากล่าวแก้ไข.
58:7—คนชั่ว “อันตรธานไปเหมือนน้ำที่ไหลเชี่ยว” อย่างไร? ดาวิดอาจคิดถึงลำธารในหุบเขาแห่งใดแห่งหนึ่งในแผ่นดินที่สัญญาไว้. แม้ว่าน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันจะเพิ่มระดับน้ำในหุบเขาดังกล่าว แต่ก็จะแห้งลงอย่างรวดเร็วและอันตรธานไป. ดาวิดกำลังอธิษฐานขอให้คนชั่วหมดไปอย่างรวดเร็ว.
68:13—“ปีกนกพิราบที่อาบด้วยเงิน, และขนเหลืองดังทองทา” เป็นเช่นไร? นกพิราบบางชนิดซึ่งมีสีเทาแกมฟ้า มีขนบางส่วนเป็นสีเหลือบ. ขนของมันเป็นประกายเมื่อต้องแสงตะวันสีทอง. บางทีดาวิดอาจกำลังเปรียบกองทัพอิสราเอลที่ได้รับชัยชนะกลับมาจากสงครามว่าเป็นเหมือนนกพิราบ ซึ่งบินด้วยความแข็งแรงและปรากฏให้เห็นเป็นประกายสดใส. ดังที่ผู้คงแก่เรียนบางคนชี้แนะ คำพรรณนานี้อาจหมายถึงงานศิลปะหรือของที่ยึดมาได้เช่นเดียวกัน. ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ดาวิดกำลังกล่าวถึงชัยชนะต่อเหล่าศัตรูซึ่งพระยะโฮวาประทานแก่ประชาชนของพระองค์.
68:18—ใครคือ “เครื่องบรรณาการแต่มนุษย์ [“ของประทานในลักษณะมนุษย์,” ล.ม.]”? ชายเหล่านี้อยู่ในหมู่เชลยที่จับได้ระหว่างการพิชิตแผ่นดินที่สัญญาไว้. ภายหลัง พวกเขาได้รับมอบหมายให้ช่วยงานพวกเลวี.—เอษรา 8:20.
68:30—คำขอที่ว่า “ขอพระองค์ทรงห้ามปรามเหล่าสัตว์ที่อยู่ในพงอ้อ” หมายความเช่นไร? โดยการพูดเป็นนัยถึงศัตรูของประชาชนของพระยะโฮวาว่าเป็นสัตว์ป่า ดาวิดขอให้พระเจ้าทรงว่ากล่าวห้ามปรามหรือควบคุมกำลังของพวกเขาไว้ไม่ให้ก่อความเสียหาย.
69:23—อะไรคือความหมายของวลีที่ว่า ‘ให้บั้นเอว [“สะโพก,” ล.ม.] ของศัตรูสั่น’? กล้ามเนื้อบริเวณสะโพกเป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญสำหรับการทำงานหนัก เช่น การยกและแบกของหนัก. สะโพกที่สั่นบ่งชี้ถึงการหมดกำลัง. ดาวิดอธิษฐานขอพระยะโฮวาทำให้ศัตรูของท่านหมดกำลัง.
บทเรียนสำหรับเรา:
51:1-4, 17. การทำบาปไม่จำเป็นต้องทำให้เราสูญเสียสัมพันธภาพกับพระยะโฮวาพระเจ้า. ถ้าเรากลับใจ เราสามารถมั่นใจในพระเมตตาของพระองค์ได้.
51:5, 7-10. ถ้าเราทำบาป เราสามารถวิงวอนขอการให้อภัยจากพระยะโฮวาได้ เนื่องจากเราได้รับบาปเป็นมรดก. นอกจากนั้น เราควรอธิษฐานขอให้พระองค์ชำระเราให้สะอาด, ฟื้นฟูเราขึ้นใหม่, ช่วยขจัดความโน้มเอียงในทางบาปจากหัวใจ และทำให้เรามีจิตใจที่มั่นคง.
51:18. บาปของดาวิดเป็นภัยคุกคามสวัสดิภาพของชนทั้งชาติ. ดังนั้น ท่านจึงอธิษฐานขอให้พระเจ้ากรุณาเมืองซีโอน. เมื่อเราทำบาปร้ายแรง บ่อยครั้งการทำเช่นนั้นก่อความเสื่อมเสียต่อพระนามของพระยะโฮวาและต่อประชาคม. เราต้องอธิษฐานขอให้พระเจ้าแก้ไขความเสียหายที่เราอาจเป็นต้นเหตุ.
52:8. เราอาจเป็น ‘เหมือนต้นมะกอกเทศเขียวสดขึ้นอยู่ในพระราชวังของพระเจ้า’ ซึ่งหมายถึงการเข้าใกล้พระยะโฮวาและเกิดผลในงานรับใช้พระองค์ โดยการเชื่อฟังและเต็มใจรับการตีสอนจากพระองค์.—เฮ็บราย 12:5, 6.
55:4, 5, 12-14, 16-18. การคิดกบฏของอับซาโลมราชบุตรของท่านเองกับการทรยศของอะฮีโธเฟลที่ปรึกษาซึ่งท่านไว้วางใจ เป็นเหตุให้ดาวิดปวดร้าวใจแสนสาหัส. อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้ทำให้ดาวิดวางใจในพระยะโฮวาน้อยลง. เราไม่ควรให้ความทุกข์มาทำให้ความวางใจในพระเจ้าของเราลดน้อยลง.
55:22. เราจะทอดภาระไว้กับพระยะโฮวาโดยวิธีใด? เราทำเช่นนั้นโดย (1) อธิษฐานถึงพระองค์เกี่ยวกับเรื่องที่เราเป็นห่วง, (2) หมายพึ่งพระคำและองค์การของพระองค์เพื่อการชี้นำและการช่วยเหลือ, และ (3) ทำสิ่งที่เราทำได้ตามสมควรเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง.—สุภาษิต 3:5, 6; 11:14; 15:22; ฟิลิปปอย 4:6, 7.
56:8. พระยะโฮวาทรงทราบไม่เพียงสถานการณ์ของเราเท่านั้น แต่ทรงทราบว่าเราได้รับผลกระทบทางอารมณ์อย่างไรด้วย.
62:11. พระเจ้าไม่จำเป็นต้องพึ่งแหล่งพลังงานจากภายนอก. พระองค์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งพลังทั้งสิ้นอยู่แล้ว. ‘ฤทธานุภาพสิทธิ์ขาดอยู่ที่พระองค์.’
63:3. ‘พระกรุณาคุณของพระเจ้าประเสริฐยิ่งกว่าชีวิต’ เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้ชีวิตก็ไร้ความหมาย. นับว่าสุขุมที่เราจะปลูกฝังสัมพันธภาพกับพระยะโฮวา.
63:6. เวลากลางคืน—ช่วงเวลาที่เงียบสงบและไม่มีสิ่งใดมาทำให้วอกแวก—อาจเป็นเวลาที่ดีมากสำหรับการคิดใคร่ครวญ.
64:2-4. การนินทาที่สร้างความเสียหายอาจทำลายชื่อเสียงของผู้บริสุทธิ์. เราไม่ควรฟังคำนินทาเช่นนั้นทั้งไม่นำไปพูดต่อ.
69:4. เพื่อที่เราจะรักษาสันติสุขไว้ บางครั้งอาจนับว่าสุขุมที่จะ “คืนให้” โดยการขอโทษแม้จะแน่ใจว่าเราไม่ได้เป็นฝ่ายผิด.
70:1-5. พระยะโฮวาทรงสดับคำวิงวอนขอความช่วยเหลืออย่างไม่ละลดของเรา. (1 เธซะโลนิเก 5:17; ยาโกโบ 1:13; 2 เปโตร 2:9) พระเจ้าอาจปล่อยให้ความทุกข์ลำบากเกิดขึ้นต่อไป แต่พระองค์จะทรงประทานสติปัญญาเพื่อช่วยให้เรารับมือกับสภาพการณ์นั้นและเสริมกำลังเราเพื่อจะอดทนได้. พระองค์จะไม่ปล่อยให้เราถูกทดลองเกินที่เราจะทนได้.—1 โกรินโธ 10:13; เฮ็บราย 10:36; ยาโกโบ 1:5-8.
71:5, 17. ดาวิดพัฒนาความกล้าและความเข้มแข็งโดยหมายพึ่งพระยะโฮวาตั้งแต่เป็นหนุ่ม—แม้แต่ก่อนที่จะมาสู้กับฆาละยัธร่างยักษ์ชาวฟิลิสตินด้วยซ้ำ. (1 ซามูเอล 17:34-37) เยาวชนควรหมายพึ่งพระยะโฮวาในทุกสิ่งที่กระทำ.
“ให้แผ่นดินโลกทั้งสิ้นเต็มด้วยรัศมีของพระองค์”
บทเพลงสรรเสริญบทสุดท้ายของภาคที่สองซึ่งก็คือบท 72 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปกครองของซะโลโม สภาพการณ์ในตอนนั้นเล็งถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้การปกครองของมาซีฮา. สิ่งที่พรรณนาในที่นี้นับเป็นพระพรอันยอดเยี่ยมจริง ๆ—ความสงบสุขอย่างเหลือล้น, การกดขี่และความรุนแรงจะสิ้นสุดลง, ธัญญาหารจะมีบริบูรณ์บนแผ่นดินโลก! เราจะอยู่ท่ามกลางผู้ที่จะชื่นชมยินดีกับสภาพการณ์เหล่านี้และพระพรอื่น ๆ ที่ราชอาณาจักรจะนำมาไหม? นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ถ้าเราพอใจยินดีคอยท่าพระยะโฮวาและให้พระองค์เป็นที่พึ่งและเป็นกำลังของเรา เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ.
“เพลงอธิษฐานของดาวิด . . . จบ” ด้วยถ้อยคำที่ว่า “ความบรมสุขจงมีแก่พระยะโฮวาเจ้า, พระเจ้าของพวกยิศราเอล, พระองค์ผู้เดียวทรงกระทำการอัศจรรย์: ความบรมสุขจงมีแก่พระนามอันรุ่งเรืองของพระองค์เป็นนิตย์; ให้แผ่นดินโลกทั้งสิ้นเต็มด้วยรัศมีของพระองค์. อาเมนและอาเมน.” (บทเพลงสรรเสริญ 72:18-20) ขอเราสรรเสริญพระยะโฮวาและพระนามอันรุ่งโรจน์ของพระองค์สุดหัวใจเช่นเดียวกัน.
[ภาพหน้า 9]
คุณรู้ไหมว่า “ราชธิดา” เป็นภาพเล็งถึงใคร?
[ภาพหน้า 10, 11]
เยรูซาเลมถูกเรียกว่า “เมืองงดงามหมดจด.” คุณรู้ไหมว่าเพราะเหตุใด?