“ประกาศิตของพระยะโฮวา” ไม่มีวันล้มเหลว
“เราขออ้างถึงประกาศิตของพระยะโฮวา; พระองค์ตรัสกับเราว่า ‘ท่านเป็นบุตรของเรา . . . จงขอจากเรา เพื่อเราจะมอบชาติทั้งหลายให้เป็นมรดกของท่าน.’ ”—บทเพลงสรรเสริญ 2:7, 8, ล.ม.
1. พระประสงค์ของพระเจ้าต่างกันอย่างไรกับจุดประสงค์ของชาติต่าง ๆ?
พระยะโฮวาพระเจ้ามีพระประสงค์สำหรับมนุษยชาติและแผ่นดินโลก. นานาชาติก็มีจุดประสงค์เช่นกัน. แต่ว่าจุดประสงค์ทั้งสองนั้นต่างกันสักเพียงไร! เราก็ควรคาดว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะพระเจ้าตรัสว่า “ท้องฟ้าสูงกว่าแผ่นดินโลกฉันใด, ทางของเราก็สูงกว่าทางของเจ้า, และความคิดของเราก็สูงกว่าความคิดของเจ้าฉันนั้น.” พระประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จผลอย่างแน่นอน เนื่องจากพระองค์ตรัสต่อไปว่า “ฝนและหิมะตกลงมาจากท้องฟ้า, และไม่ได้กลับไปที่เดิมโดยมิได้รดพื้นแผ่นดิน, และทำให้พื้นแผ่นดินนั้นเกิดดอกออกผล, และทำให้เกิดเมล็ดพืชแก่ผู้หว่านและอาหารแก่ผู้กินฉันใด, ถ้อยคำที่ออกไปจากปากของเราจะไม่ได้กลับมายังเราโดยไร้ผล, และโดยยังมิได้ทำอะไรให้สำเร็จตามความพอใจของเรา, และสัมฤทธิ์ผลสมประสงค์ดังที่เราได้ใช้มันไปทำฉันนั้น.”—ยะซายา 55:9-11.
2, 3. มีการกล่าวอะไรไว้อย่างชัดเจนในเพลงสรรเสริญบทสอง แต่มีคำถามอะไรเกิดขึ้น?
2 ที่ว่าพระประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องกษัตริย์มาซีฮาจะสำเร็จผลนั้น มีการกล่าวไว้อย่างชัดเจนในเพลงสรรเสริญบทสอง. ผู้ประพันธ์บทเพลงนี้ คือดาวิดกษัตริย์อิสราเอลโบราณ ได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้บอกล่วงหน้าว่าจะมีสมัยหนึ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษซึ่งชาติต่าง ๆ จะปั่นป่วน. ผู้ปกครองของชาติเหล่านั้นจะแสดงตัวต่อต้านพระยะโฮวาพระเจ้าและผู้ถูกเจิมของพระองค์. อย่างไรก็ตาม ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญขับร้องด้วยว่า “เราขออ้างถึงประกาศิตของพระยะโฮวา; พระองค์ตรัสกับเราว่า ‘ท่านเป็นบุตรของเรา . . . จงขอจากเรา เพื่อเราจะมอบชาติทั้งหลายให้เป็นมรดกของท่าน และที่สุดปลายแห่งแผ่นดินโลกให้เป็นสมบัติของท่าน.’ ”—บทเพลงสรรเสริญ 2:7, 8, ล.ม.
3 “ประกาศิตของพระยะโฮวา” หมายถึงอะไรสำหรับนานาชาติ? ประกาศิตนั้นมีผลกระทบอย่างไรต่อมนุษยชาติโดยทั่วไป? แท้จริงแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้มีความหมายเช่นไรสำหรับผู้อ่านเพลงสรรเสริญบทสองทุกคนที่ยำเกรงพระเจ้า?
ชาติต่าง ๆ ปั่นป่วน
4. คุณจะสรุปจุดสำคัญของบทเพลงสรรเสริญ 2:1, 2 ว่าอย่างไร?
4 เมื่อกล่าวถึงการกระทำของชาติต่าง ๆ และผู้ปกครองชาติเหล่านั้น ท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเริ่มบทเพลงของท่านด้วยถ้อยคำที่ว่า “เหตุไฉนประเทศทั้งหลายจึงปั่นป่วน และชนประเทศต่าง ๆ รวมกลุ่มคิดการไร้สาระ? บรรดากษัตริย์แห่งแผ่นดินสำแดงตน และพวกเจ้าหน้าที่ชั้นสูงร่วมกันเป็นเอกฉันท์ ต่อต้านพระยะโฮวาและต่อต้านผู้ถูกเจิมของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 2:1, 2, ล.ม.a
5, 6. ชนประเทศต่าง ๆ “คิดการไร้สาระ” อะไร?
5 “การไร้สาระ” อะไรที่ชนประเทศต่าง ๆ ในสมัยปัจจุบัน “คิดการ” กัน? แทนที่ชาติต่าง ๆ จะยอมรับผู้ถูกเจิมของพระเจ้า ซึ่งก็คือพระมาซีฮาหรือพระคริสต์ ชาติเหล่านั้น “คิดการ” หรือคิดหาทางรักษาอำนาจของตนไว้. ถ้อยคำเหล่านี้ในเพลงสรรเสริญบทสองสำเร็จเป็นจริงในศตวรรษแรกสากลศักราชด้วย เมื่อเหล่าผู้ปกครองชาวยิวและชาวโรมันร่วมมือกันประหารพระเยซูคริสต์ ผู้ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ให้เป็นกษัตริย์. อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญในปี 1914 เมื่อพระยะโฮวาแต่งตั้งพระเยซูเป็นกษัตริย์ในสวรรค์. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีรัฐบาลใดเลยบนแผ่นดินโลกที่ยอมรับกษัตริย์ของพระเจ้าที่ได้ขึ้นครองราชย์นั้น.
6 หมายความเช่นไรเมื่อผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญถามว่า ‘เหตุไฉนชนประเทศต่าง ๆ รวมกลุ่มคิดการไร้สาระ?’ จุดประสงค์ของพวกเขานั่นเองที่สูญเปล่า เป็นการเปล่าประโยชน์และจะล้มเหลวอย่างแน่นอน. ชาติต่าง ๆ ไม่สามารถสร้างความสงบสุขและความปรองดองขึ้นบนแผ่นดินโลกได้. กระนั้น พวกเขาก็ดำเนินการถึงขนาดต่อต้านการปกครองของพระเจ้า. ที่จริง พวกเขาพร้อมใจกันแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ และร่วมกันต่อต้านพระผู้สูงสุดกับผู้ถูกเจิมของพระองค์. ช่างโง่เขลาเสียจริง ๆ!
กษัตริย์ผู้มีชัยของพระยะโฮวา
7. เหล่าสาวกของพระเยซูในยุคแรกใช้บทเพลงสรรเสริญ 2:1, 2 อย่างไรในคำอธิษฐาน?
7 เหล่าสาวกของพระเยซูใช้ถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 2:1, 2 กับพระองค์. เมื่อถูกข่มเหงเนื่องจากความเชื่อ พวกเขาอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า [พระยะโฮวา], พระองค์ได้ทรงสร้างฟ้า, แผ่นดิน, ทะเล, และสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น. พระองค์ได้ตรัสไว้โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยปากของดาวิดบรรพบุรุษของเราผู้รับใช้ของพระองค์ว่า, ‘เหตุไฉนพวกต่างประเทศจึงกระทำโกลาหลขึ้น, และชนประเทศต่าง ๆ คิดอ่านในการที่ไร้ประโยชน์? กษัตริย์ทั้งหลายในแผ่นดินโลกได้ตั้งตน, และเจ้านายทั้งหลายประชุมพร้อมกันต่อสู้พระเจ้าและต่อสู้พระคริสต์ของพระองค์’ แท้จริงในเมืองนี้ทั้งเฮโรด [อันทิพาส] และปนเตียวปีลาตกับจำพวกต่างประเทศและพวกยิศราเอลได้ประชุมกันต่อสู้พระเยซูพระบุตรผู้บริสุทธิ์ของพระองค์ซึ่งทรงชโลมไว้แล้ว.” (กิจการ 4:24-27; ลูกา 23:1-12)b ใช่แล้ว ในศตวรรษแรกมีการสมรู้ร่วมคิดกันต่อต้านพระเยซูผู้รับใช้ของพระเจ้าที่ทรงชโลมหรือเจิมไว้. อย่างไรก็ตาม เพลงสรรเสริญบทนี้จะสำเร็จเป็นจริงอีกครั้งในอีกหลายศตวรรษต่อมา.
8. บทเพลงสรรเสริญ 2:3 สำเร็จเป็นจริงอย่างไรกับชาติต่าง ๆ ในทุกวันนี้?
8 เมื่อชาวอิสราเอลสมัยโบราณมีกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ เช่นดาวิด ชาติและผู้ปกครองของชาติต่าง ๆ ที่นมัสการพระเท็จร่วมกันต่อต้านพระเจ้าและผู้ถูกเจิมของพระองค์ที่ขึ้นครองราชย์. ในสมัยของเราล่ะ? ชาติต่าง ๆ ในทุกวันนี้ไม่ต้องการทำตามข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาและพระมาซีฮา. ด้วยเหตุนั้น มีการพรรณนาประหนึ่งว่าพวกเขากล่าวดังนี้: “ให้เราทั้งหลายหักเครื่องจำจองของเขาเสียและจงทิ้งเชือกมัดของเขาเสียจากเราเถิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 2:3) เหล่าผู้ปกครองและชาติต่าง ๆ ขัดขืนไม่ยอมอยู่ใต้กฎข้อบังคับของพระเจ้าและผู้ถูกเจิมของพระองค์. แน่ล่ะ ความเพียรพยายามใด ๆ ที่จะหักเครื่องจำจองและทิ้งเชือกมัดเช่นนั้นจะเปล่าประโยชน์.
พระยะโฮวาทรงเย้ยหยันเขาเหล่านั้น
9, 10. พระยะโฮวาทรงเย้ยหยันชาติต่าง ๆ เพราะเหตุใด?
9 ความเพียรพยายามใด ๆ ของผู้ปกครองชาติต่าง ๆ ที่จะไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวาไม่สร้างความหวั่นวิตกอะไรแก่พระองค์. เพลงสรรเสริญบทสองกล่าวต่อไปว่า “พระองค์ผู้ทรงประทับบนฟ้าสวรรค์จะทรงพระสรวล: และพระเจ้าจะทรงเย้ยหยันเขาเหล่านั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 2:4) พระเจ้าทรงดำเนินตามพระประสงค์ของพระองค์ต่อไปราวกับว่าผู้ปกครองเหล่านั้นไม่มีความหมายอะไร. พระองค์ทรงพระสรวลในความอวดดีของพวกเขาและทรงเย้ยหยันพวกเขา. พระองค์ปล่อยให้พวกเขาโอ้อวดในสิ่งที่พวกเขาตั้งใจจะทำ. พวกเขาเป็นตัวตลกในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. พระองค์ทรงหัวเราะเยาะการต่อต้านขัดขวางของพวกเขาที่เปล่าประโยชน์.
10 ในเพลงสรรเสริญอีกบทหนึ่งที่ท่านประพันธ์ ดาวิดกล่าวถึงผู้คนและชาติต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูและขับร้องว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระเจ้าของพลโยธา, พระเจ้าของพวกยิศราเอล, ขอเสด็จมาเยี่ยมเยียนชนประเทศทั้งปวง; ขออย่าทรงเมตตาแก่คนชั่วใด ๆ ที่ล่วงพระบัญญัติเลย. เขาทั้งหลายกลับมาเวลาพลบค่ำ, เห่าหอนเหมือนสุนัข, และเที่ยวไปรอบบ้านรอบเมือง. ดูเถิดปากของเขาคำรามออก; ดาบอยู่ในริมฝีปากของเขา; แล้วใครจะได้ยิน? ข้าแต่พระยะโฮวา, พระองค์จะทรงพระสรวลเยาะเขา; พระองค์จะทรงให้บรรดาประเทศถูกล้อเลียน.” (บทเพลงสรรเสริญ 59:5-8) พระยะโฮวาทรงหัวเราะเยาะคำโอ้อวดและความสับสนของชาติต่าง ๆ ในการดำเนินการอันโฉดเขลาของพวกเขาเพื่อต่อต้านพระองค์.
11. จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อชาติต่าง ๆ พยายามต่อต้านขัดขวางพระประสงค์ของพระเจ้า?
11 ถ้อยคำในเพลงสรรเสริญบท 2 เสริมความเชื่อมั่นแก่เราว่าพระเจ้าสามารถจัดการกับข้อท้าทายใด ๆ ก็ตาม. เรามั่นใจได้อย่างเต็มเปี่ยมว่าพระองค์ทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จผลเสมอ และจะไม่ทอดทิ้งผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 94:14) ดังนั้นแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อชาติต่าง ๆ พยายามต่อต้านขัดขวางพระประสงค์ของพระยะโฮวา? ตามที่กล่าวในเพลงสรรเสริญบทนี้ พระเจ้า “จะตรัสแก่เขาโดยความพิโรธของพระองค์” ดุจเสียงฟ้าคำราม. ยิ่งกว่านั้น “ด้วยความกริ้วอันใหญ่หลวง” ราวกับสายฟ้าฟาด พระองค์ “จะทรงกระทำให้เขาแตกตื่นไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 2:5.
กษัตริย์ของพระเจ้าได้รับการแต่งตั้ง
12. บทเพลงสรรเสริญ 2:6 ใช้กับการขึ้นครองราชย์ของใครและที่ไหน?
12 คำตรัสต่อไปของพระยะโฮวาผ่านทางผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญทำให้ชาติต่าง ๆ ปั่นป่วนใจแน่ ๆ. พระเจ้าประกาศว่า “ฝ่ายเราได้ตั้งกษัตริย์ของเราไว้ที่ซีโอนภูเขาบริสุทธิ์ของเรา.” (บทเพลงสรรเสริญ 2:6) ภูเขาซีโอนเป็นเนินเขาในกรุงเยรูซาเลม ที่ซึ่งดาวิดถูกแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ปกครองชาวอิสราเอลทั้งสิ้น. แต่กษัตริย์มาซีฮาจะไม่ประทับบัลลังก์ในกรุงนี้หรือที่อื่นใดในโลก. ที่จริง พระยะโฮวาได้แต่งตั้งพระเยซูคริสต์เป็นกษัตริย์มาซีฮาที่ทรงเลือกไว้ ให้ครอบครองบนภูเขาซีโอนฝ่ายสวรรค์.—วิวรณ์ 14:1.
13. พระยะโฮวาได้ทำสัญญาอะไรกับพระบุตรของพระองค์?
13 ทีนี้เป็นคำตรัสของกษัตริย์มาซีฮา. พระองค์ตรัสว่า “เราขออ้างถึงประกาศิตของพระยะโฮวา [ผู้ได้ทำสัญญากับพระบุตรเรื่องราชอาณาจักร]; พระองค์ [พระยะโฮวาพระเจ้า] ตรัสกับเราว่า ‘ท่านเป็นบุตรของเรา; วันนี้เราได้เป็นบิดาของท่าน.’ ” (บทเพลงสรรเสริญ 2:7, ล.ม.) พระคริสต์อ้างถึงสัญญาเรื่องราชอาณาจักรนี้ในตอนที่พระองค์บอกพวกอัครสาวกว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นผู้ที่ได้ติดสนิทกับเราในเวลาที่เราถูกทดลอง; และเราทำสัญญาเรื่องราชอาณาจักรกับเจ้าทั้งหลาย เช่นเดียวกับที่พระบิดาของเราได้ทำสัญญากับเรา.”—ลูกา 22:28, 29, ล.ม.
14. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าพระเยซูมีสิทธิ์ที่จะดำรงตำแหน่งกษัตริย์อย่างที่ไม่มีใครโต้แย้งได้?
14 ตามที่มีการบอกไว้ล่วงหน้าที่บทเพลงสรรเสริญ 2:7 พระยะโฮวาทรงรับรองพระเยซูว่าเป็นบุตรของพระองค์ตอนที่พระบุตรรับบัพติสมาและโดยการปลุกพระองค์ให้คืนพระชนม์เป็นกายวิญญาณ. (มาระโก 1:9-11; โรม 1:4; เฮ็บราย 1:5; 5:5) ใช่แล้ว กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรในสวรรค์ก็คือพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้านั่นเอง. (โยฮัน 3:16) เนื่องจากเป็นผู้สืบเชื้อวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด พระเยซูจึงมีสิทธิ์ที่จะดำรงตำแหน่งกษัตริย์อย่างที่ไม่มีใครโต้แย้งได้. (2 ซามูเอล 7:4-17; มัดธาย 1:6, 16) ตามที่กล่าวในเพลงสรรเสริญบทนี้ พระเจ้าทรงบอกพระบุตรว่า “จงขอจากเรา เพื่อเราจะมอบชาติทั้งหลายให้เป็นมรดกของท่าน และที่สุดปลายแห่งแผ่นดินโลกให้เป็นสมบัติของท่าน.”—บทเพลงสรรเสริญ 2:8, ล.ม.
15. ทำไมพระเยซูจึงทูลขอให้ประทานชาติทั้งปวงเป็นมรดกของพระองค์?
15 กษัตริย์ผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้าองค์นี้อยู่ในตำแหน่งรองจากพระยะโฮวาเท่านั้น. พระเยซูเป็นผู้ที่วางใจได้, ภักดี, และผ่านการทดสอบแล้วสำหรับพระยะโฮวา. นอกจากนั้น พระเยซูรับมรดกฐานะบุตรหัวปีของพระเจ้าด้วย. ที่จริงแล้ว พระเยซูคริสต์ “เป็นภาพสะท้อนของพระเจ้าผู้ซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตา เป็นผู้แรกที่บังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง.” (โกโลซาย 1:15, ล.ม.) สิ่งเดียวที่พระองค์ต้องทำคือทูลขอจากพระเจ้า และพระเจ้าจะ ‘มอบชาติทั้งหลายให้เป็นมรดกของพระองค์ และที่สุดปลายแห่งแผ่นดินโลกให้เป็นสมบัติของพระองค์.’ พระเยซูทูลขอสิ่งนี้เนื่องจากทรง ‘ชอบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหล่าบุตรของมนุษย์’ และปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้พระทัยประสงค์ของพระบิดาฝ่ายสวรรค์ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินโลกและมนุษยชาติสำเร็จ.—สุภาษิต 8:30, 31, ล.ม.
ประกาศิตของพระยะโฮวาต่อชาติต่าง ๆ
16, 17. ตามที่กล่าวในบทเพลงสรรเสริญ 2:9 ชาติต่าง ๆ จะประสบกับอะไร?
16 เนื่องจากเพลงสรรเสริญบทสองกำลังสำเร็จเป็นจริงอยู่ในปัจจุบันระหว่างช่วงการประทับที่ไม่ปรากฏแก่ตาของพระเยซูคริสต์ ชาติต่าง ๆ จะประสบกับอะไรในวันข้างหน้า? อีกไม่ช้า กษัตริย์องค์นี้จะดำเนินการตามที่พระเจ้าประกาศไว้ว่า “ท่านจะไปทำลายชนเหล่านั้น [ชาติต่าง ๆ] ด้วยกระบองเหล็ก; จะตีเขาให้แตกแหลกไปดุจภาชนะของช่างหม้อ.”—บทเพลงสรรเสริญ 2:9.
17 กระบองหรือคทาของกษัตริย์สมัยโบราณเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงราชอำนาจ. คทาบางอันทำด้วยเหล็ก เช่นอันที่กล่าวถึงในเพลงสรรเสริญบทนี้. การใช้ภาพพจน์ตามที่กล่าวในที่นี้บ่งชี้ว่า พระคริสต์ผู้เป็นกษัตริย์จะทำลายชาติต่าง ๆ ให้ย่อยยับได้อย่างง่ายดาย. การทุบตีอย่างแรงด้วยคทาเหล็กจะทำให้ภาชนะดินเผาของช่างหม้อแหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สุดจะกู้คืนสู่สภาพเดิมได้.
18, 19. บรรดาผู้ปกครองบนแผ่นดินโลกต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า?
18 ผู้ปกครองชาติต่าง ๆ จำต้องประสบการทำลายย่อยยับเช่นนั้นไหม? ไม่เลย เนื่องจากผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญวิงวอนพวกเขาด้วยถ้อยคำต่อไปนี้: “บัดนี้ โอท่านผู้เป็นกษัตริย์ จงมีความเข้าใจลึกซึ้งเถิด; โอท่านผู้พิพากษาที่แผ่นดินโลก จงรับการแก้ไข.” (บทเพลงสรรเสริญ 2:10, ล.ม.) มีการขอให้ผู้ปกครองทั้งหลายใส่ใจอย่างจริงจัง เข้าใจลึกซึ้งในเรื่องนี้. พวกเขาควรจะพิจารณาถึงความสูญเปล่าของแผนการของพวกเขา ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะทำเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ.
19 เพื่อจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า บรรดาผู้ปกครองบนแผ่นดินโลกจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางของตน. พวกเขาได้รับคำเตือนให้ “ปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจเกรงกลัว, และจงยินดีด้วยตัวสั่นเถิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 2:11) ผลจะเป็นเช่นไรหากพวกเขาได้ทำเช่นนั้น? แทนที่จะปั่นป่วนหรือวุ่นวายใจ พวกเขาจะร่าเริงด้วยความหวังที่กษัตริย์มาซีฮาให้ไว้ต่อหน้าพวกเขา. บรรดาผู้ปกครองบนแผ่นดินโลกจะต้องเลิกแสดงความหยิ่งทะนงในการปกครอง. นอกจากนี้ พวกเขาจะต้องรีบทำการเปลี่ยนแปลงและแสดงความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับความเหนือกว่าแห่งการครอบครองของพระยะโฮวา และเกี่ยวกับอำนาจของพระเจ้าและกษัตริย์มาซีฮาที่ไม่อาจต้านทานได้.
“จงจูบพระบุตร”
20, 21. การ “จูบพระบุตร” มีความหมายเช่นไร?
20 ถัดจากนั้น เพลงสรรเสริญบท 2 แผ่คำเชิญด้วยความเมตตาไปยังผู้ปกครองของชาติต่าง ๆ. แทนที่จะร่วมกันต่อต้าน พวกเขาได้รับคำแนะนำว่า “จงจูบพระบุตร เพื่อพระองค์ [พระยะโฮวาพระเจ้า] จะไม่พิโรธ และท่านทั้งหลายจะไม่พินาศจากทางนั้น เพราะความพิโรธของพระองค์พลุ่งขึ้นโดยเร็ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 2:12ก, ล.ม.) พระยะโฮวาเจ้าองค์บรมมหิศรควรได้รับการเชื่อฟังเมื่อพระองค์ประกาศประกาศิต. ตอนที่พระเจ้าได้ตั้งพระบุตรของพระองค์ให้ครองบัลลังก์นั้น บรรดาผู้ปกครองบนแผ่นดินโลกควรเลิก “คิดการไร้สาระ.” พวกเขาควรยอมรับกษัตริย์องค์นี้โดยเร็วและสวามิภักดิ์ต่อพระองค์อย่างเต็มที่.
21 ทำไมพวกเขาควร “จูบพระบุตร”? ในสมัยที่เพลงสรรเสริญบทนี้ได้รับการประพันธ์ การจูบเป็นการแสดงความเป็นมิตร และใช้เพื่อต้อนรับแขกเข้าสู่บ้าน ที่ซึ่งพวกเขาจะเพลิดเพลินกับการเลี้ยงต้อนรับ. การจูบยังใช้สำหรับแสดงความจงรักภักดีอีกด้วย. (1 ซามูเอล 10:1) ในข้อนี้ของเพลงสรรเสริญบทสอง พระเจ้ากำลังบัญชาชาติทั้งปวงให้จูบหรือต้อนรับพระบุตรของพระองค์ในฐานะกษัตริย์ผู้ได้รับการเจิม.
22. ผู้ปกครองของชาติต่าง ๆ ควรใส่ใจคำเตือนอะไร?
22 บรรดาผู้ไม่ยอมรับอำนาจของกษัตริย์ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้นี้ก็ดูถูกพระยะโฮวา. พวกเขาปฏิเสธสิทธิอำนาจของพระยะโฮวาพระเจ้าในการครอบครองเอกภพทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ยอมรับสิทธิและพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการเลือกสรรกษัตริย์ที่จะปกครองมนุษย์ได้ดีที่สุด. ผู้ปกครองของชาติต่าง ๆ จะประจักษ์ว่าพระพิโรธกล้าของพระเจ้าจะตกแก่พวกเขาอย่างฉับพลัน ขณะที่พวกเขากำลังพยายามดำเนินตามแผนการของตน. “ความพิโรธของพระองค์พลุ่งขึ้นโดยเร็ว” หรือเดือดดาลอย่างที่ไม่อาจยับยั้งได้. ผู้ปกครองของชาติต่าง ๆ ควรยอมรับคำเตือนนี้ด้วยความรู้สึกขอบคุณและปฏิบัติตาม. การทำเช่นนั้นจะหมายถึงการรอดชีวิต.
23. ยังมีเวลาสำหรับปัจเจกบุคคลที่จะทำอะไร?
23 เพลงสรรเสริญที่น่าตื่นเต้นเร้าใจบทนี้จบด้วยข้อความที่ว่า “บรรดาคนที่เอาพระองค์ [พระยะโฮวา] เป็นที่คุ้มภัยก็เป็นสุข.” (บทเพลงสรรเสริญ 2:12ข, ล.ม.) ยังมีเวลาสำหรับแต่ละคนที่จะแสวงหาความปลอดภัย. เป็นเช่นนั้นแม้กระทั่งสำหรับผู้ปกครองเป็นรายบุคคลที่ได้ร่วมส่งเสริมแผนการของชาติต่าง ๆ. พวกเขาสามารถหนีไปหาพระยะโฮวา ผู้ซึ่งให้ที่คุ้มภัยภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักร. แต่ว่าพวกเขาต้องหนีไปก่อนที่ราชอาณาจักรมาซีฮาจะทำลายชาติต่าง ๆ ที่ต่อต้าน.
24. เราจะมีชีวิตที่อิ่มใจพอใจมากขึ้นได้อย่างไรแม้กระทั่งในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาในปัจจุบัน?
24 ถ้าเราขยันขันแข็งศึกษาพระคัมภีร์และนำคำแนะนำจากพระคัมภีร์ไปใช้ในชีวิต เราจะมีชีวิตที่อิ่มใจพอใจมากขึ้นแม้กระทั่งในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาในปัจจุบัน. การใช้คำแนะนำที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์จะยังผลให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น รวมทั้งพ้นจากความวิตกกังวลและความหวาดกลัวหลายอย่างที่โหมกระหน่ำโลกนี้. การปฏิบัติตามคำชี้นำในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เกิดความมั่นใจว่าเรากำลังทำให้พระผู้สร้างพอพระทัย. ไม่มีใครอื่นนอกจากองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพที่สามารถให้คำรับรองเกี่ยวกับ “ชีวิตปัจจุบันนี้และชีวิตในอนาคต” ที่จะมีมาหลังจากผู้ต่อต้านสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรมโดยปฏิเสธการปกครองแห่งราชอาณาจักรได้ถูกพระองค์กวาดล้างให้หมดไปแล้วจากแผ่นดินโลก.—1 ติโมเธียว 4:8.
25. เนื่องจาก “ประกาศิตของพระยะโฮวา” ไม่มีวันล้มเหลว เราจึงคาดหมายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสมัยของเรา?
25 “ประกาศิตของพระยะโฮวา” ไม่มีวันล้มเหลว. ฐานะพระผู้สร้างของเรา พระเจ้าทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับมวลมนุษย์ และจะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จผลเพื่ออำนวยพรให้มนุษย์ที่เชื่อฟังมีความสงบสุข, ความอิ่มใจพอใจ, และความมั่นคงปลอดภัยที่ยั่งยืนภายใต้การปกครองของพระบุตรที่รักของพระองค์. เกี่ยวกับสมัยของเรา ผู้พยากรณ์ดานิเอลเขียนว่า “ในสมัยเมื่อกษัตริย์เหล่านั้นกำลังเสวยราชย์อยู่, พระเจ้าแห่งสรวงสวรรค์จะทรงตั้งอาณาจักรอันหนึ่งขึ้น, ซึ่งจะไม่มีวันทำลายเสียได้ . . . อาณาจักรนี้จะทำลายอาณาจักรอื่น ๆ ลงให้ย่อยยับและเผาผลาญเสียสิ้น, และอาณาจักรนี้จะดำรงอยู่เป็นนิจ.” (ดานิเอล 2:44) ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีข้อสงสัยว่าบัดนี้เป็นเวลาเร่งด่วนที่จะ “จูบพระบุตร” และปรนนิบัติพระยะโฮวาองค์บรมมหิศร!
[เชิงอรรถ]
a แต่เดิม กษัตริย์ดาวิดคือ “ผู้ถูกเจิม” และ “บรรดากษัตริย์แห่งแผ่นดิน” คือบรรดาผู้ปกครองชาวฟิลิสตินที่ร่วมกันทำสงครามต่อต้านดาวิด.
b ข้อคัมภีร์อื่น ๆ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกแสดงให้เห็นเช่นกันว่าพระเยซูคือผู้ถูกเจิมของพระเจ้าตามที่กล่าวถึงในเพลงสรรเสริญบทสอง. สิ่งนี้เห็นได้ชัดจากการเปรียบเทียบบทเพลงสรรเสริญ 2:7 กับกิจการ 13:32, 33 และ เฮ็บราย 1:5; 5:5. ดูบทเพลงสรรเสริญ 2:9 และวิวรณ์ 2:27 ด้วย.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ชนประเทศต่าง ๆ “คิดการไร้สาระ” อะไร?
• พระยะโฮวาทรงเย้ยหยันชาติต่าง ๆ เพราะเหตุใด?
• พระยะโฮวาประกาศประกาศิตอะไรต่อชาติต่าง ๆ?
• การ “จูบพระบุตร” หมายความเช่นไร?
[ภาพหน้า 16]
ดาวิดร้องเพลงเกี่ยวกับกษัตริย์มาซีฮาผู้มีชัย
[ภาพหน้า 17]
เหล่าผู้ปกครองและประชาชนชาวอิสราเอลสมรู้ร่วมคิดกันต่อต้านพระเยซูคริสต์
[ภาพหน้า 18]
พระคริสต์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์บนภูเขาซีโอนฝ่ายสวรรค์