“เชิญบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่”
“มีผู้ใดในพวกท่านป่วยหรือ? จงให้เขาเชิญบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคมมาหาตน.”—ยาโกโบ 5:14, ล.ม.
1, 2. (ก) ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอยู่ในภาวะอันตรายเช่นไรในเวลานี้ และพวกเขาอาจรู้สึกอย่างไร? (ข) บัดนี้ คำถามอะไรบ้างที่ต้องการคำตอบ?
“วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้” เกิดขึ้นแล้ว. ผู้คนปฏิบัติอย่างเห็นแก่ตัว, นิยมวัตถุ, ทะนงตน, ก่อความไม่สงบอยู่เนือง ๆ ใน “สมัยสุดท้าย” นี้. (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) ในฐานะคริสเตียนที่มีชีวิตอยู่ในระบบชั่วสมัยปัจจุบัน เราถูกคุกคามด้วยอันตรายที่หนักหน่วงจากสามทางด้วยกันคือ จากซาตานพญามาร, โลกที่ประกอบด้วยมนุษย์ซึ่งไม่เลื่อมใสพระเจ้า, และแนวโน้มที่ผิดบาปที่ตกทอดมาถึงตัวเราเอง.—โรม 5:12; 1 เปโตร 5:8; 1 โยฮัน 5:19.
2 เพราะถูกคุกคามด้วยภัยเหล่านี้ บางครั้งพวกเราอาจรู้สึกว่าทนแทบไม่ไหว. แล้วเราจะหาแหล่งช่วยเหลือได้ที่ไหนเพื่อเราจะอดทนได้ด้วยความซื่อสัตย์? พวกเราจะหันไปหาใครให้นำทางเมื่อเผชิญกับการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวด้วยกิจกรรมฝ่ายคริสเตียนและการนมัสการของเรา?
การช่วยเหลือมีอยู่พร้อม
3. เราอาจได้รับคำรับรองที่ประโลมใจจากผู้ใด และโดยวิธีใด?
3 ความรู้ที่ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นบ่อเกิดแห่งกำลังของเรานั้นให้การรับรองซึ่งทำให้เรารู้สึกสบายใจ. (2 โกรินโธ 1:3, 4; ฟิลิปปอย 4:13) ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ผู้ซึ่งเคยได้รับการสงเคราะห์จากพระเจ้า แถลงดังนี้: “จงมอบทางประพฤติของตนไว้กับพระยะโฮวา; แถมจงวางใจในพระองค์ด้วย, และพระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จดังประสงค์.” “จงทอดภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา, และพระองค์จะทรงเป็นธุระให้: พระองค์จะไม่ยอมให้คนชอบธรรมแตกฉานซ่านเซ็นไป.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:5; 55:22) พวกเรารู้สึกขอบพระคุณสักเพียงไรสำหรับการสนับสนุนค้ำชูดังกล่าว!
4. ทั้งเปโตรและเปาโลต่างก็เสนอคำปลอบโยนอย่างไร?
4 อนึ่ง พวกเรารู้สึกสบายใจด้วยจากความรู้ที่ว่าไม่ใช่แต่เราเท่านั้นเผชิญการทุกข์ยากลำบากและอันตราย. อัครสาวกเปโตรได้กล่าวเตือนเพื่อนคริสเตียนทั้งหลายดังนี้: “จงยืนหยัดต่อต้านมัน มั่นคงในความเชื่อ โดยรู้ว่าสังคมแห่งพี่น้องของท่านทั่วโลกอดทนความทุกข์ลำบากอย่างเดียวกัน.” (1 เปโตร 5:9, ล.ม.) เป็นที่แน่นอนว่า คริสเตียนทุกคนต้องการยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อ. จริง บ่อยครั้งเราอาจรู้สึกว่า “ถูกขนาบรอบข้าง” อย่างอัครสาวกเปาโลเคยประสบ. กระนั้น มิใช่ว่าท่าน “กระดิกไม่ไหว.” เช่นเดียวกับท่าน เราอาจรู้สึกหดหู่ใจ “แต่ก็ยังไม่ถึงกับหมดมานะ.” แม้กระทั่งถ้าเราถูกข่มเหง เรา “ก็ยังไม่ตกอยู่ในเงื้อมมือเขา.” หากเรา “ถูกตีลง” “แต่ก็ยังไม่ตาย.” เพราะฉะนั้น “เราจึงไม่ย่อท้อ.” เราพยายาม “ไม่เห็นแก่สิ่งของที่แลเห็นอยู่, แต่เห็นแก่สิ่งของที่แลไม่เห็น.” (2 โกรินโธ 4:8, 9, 16, 18) เราจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร?
5. พระยะโฮวาทรงจัดให้มีสิ่งช่วยเหลือสามประการอะไรบ้าง?
5 พระยะโฮวา “ผู้สดับคำอธิษฐาน” ทรงจัดเตรียมการช่วยเหลือสามต่อ. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2; 1 โยฮัน 5:14) ประการแรก, พระองค์โปรดให้คำแนะนำผ่านคัมภีร์ไบเบิล พระวจนะของพระองค์ที่ได้รับการดลบันดาล. (บทเพลงสรรเสริญ 119:105; 2 ติโมเธียว 3:16) ประการที่สอง, พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ให้พลังแก่เราที่จะกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. (เทียบกับกิจการ 4:29-31.) และประการที่สาม, องค์การของพระยะโฮวาทางแผ่นดินโลกอยู่พร้อมจะช่วยเหลือเรา. เราต้องทำประการใดเพื่อจะได้รับการช่วยเหลือ?
“ของประทานในลักษณะมนุษย์”
6. พระยะโฮวาได้ทรงให้การสงเคราะห์อะไรที่ตับเอรา และโดยวิธีใด?
6 เหตุการณ์หนึ่งในสมัยผู้พยากรณ์โมเซช่วยเราให้หยั่งเห็นถึงความรักของพระยะโฮวาเกี่ยวกับการช่วยเหลือซึ่งทรงจัดให้แก่ผู้รับใช้ของพระองค์. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ตับเอรา หมายความว่า “ลุกไหม้; ไฟไหม้ใหญ่; ไฟโชติช่วง.” ณ ที่แห่งนี้ในป่าทุรกันดารแห่งซีนาย พระเจ้าได้บันดาลไฟลงมาเผาผลาญชาวยิศราเอลที่บ่นพร่ำ. “ฝูงคนที่ติดปนกัน” ที่ติดตามชาวยิศราเอลออกจากประเทศอียิปต์สมทบพวกเขาในการพูดแสดงความไม่พอใจในอาหารซึ่งพระเจ้าทรงประทานแก่เขา. เพราะสังเกตพระพิโรธของพระเจ้าและการที่ท่านตระหนักอย่างเต็มที่ในความรับผิดชอบต่อไพร่พลของพระองค์และความจำเป็นของเขา โมเซได้ทูลอ้อนวอนว่า “ข้าพเจ้าจะทนการคนเหล่านี้คนเดียวไม่ได้, เพราะเป็นการหนักนักแก่ข้าพเจ้า. ถ้าพระองค์จะกระทำดังนี้แก่ข้าพเจ้า, ขอพระองค์จงประหารชีวิตของข้าพเจ้าเสียทีเดียว, ถ้าข้าพเจ้ามีความชอบในคลองพระเนตรของพระองค์, ก็อย่าให้ข้าพเจ้าเห็นซึ่งความทุกข์ลำบากของข้าพเจ้าเลย.” (อาฤธโม 11:1-15) พระยะโฮวาทรงตอบสนองอย่างไร? พระองค์ทรงตั้ง “เจ็ดสิบคนในพวกยิศราเอลที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่” และเอาพระวิญญาณของพระองค์ใส่ให้แก่พวกเขา เพื่อว่าคนเหล่านั้นจะสามารถทำงานร่วมกับโมเซในด้านการดูแลได้อย่างเหมาะสม. (อาฤธโม 11:16, 17, 24, 25) ครั้นได้มอบหมายงานแก่บุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว การช่วยเหลือก็มีอยู่พร้อมมากกว่าแต่ก่อนสำหรับพวกยิศราเอลและ “ฝูงคนที่ติดปนกันมา.”—เอ็กโซโด 12:38.
7, 8. (ก) โดยวิธีใดพระยะโฮวาได้จัดเตรียม ‘ของประทานในลักษณะมนุษย์’ ในสมัยยิศราเอลโบราณ? (ข) เปาโลได้นำเอาบทเพลงสรรเสริญ 68:18 มาใช้อย่างไรในศตวรรษแรก?
7 ภายหลังชาวยิศราเอลได้อยู่ในแผ่นดินแห่งคำสัญญาแล้วหลายปี โดยอุปมาพระยะโฮวาได้เสด็จขึ้นภูเขาซีโอนและจัดตั้งกรุงยะรูซาเลมเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรตัวอย่างและมีดาวิดเป็นกษัตริย์. ในการสรรเสริญพระเจ้า “ผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ” ดาวิดเปล่งเสียงและร้องเพลงว่า “พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปยังที่สูง, พระองค์ทรงนำเอาพวกเชลยไป; พระองค์ได้ทรงรับเครื่องบรรณาการแต่มนุษย์ [ในลักษณะมนุษย์, ล.ม.].” (บทเพลงสรรเสริญ 68:14, 18) เป็นเช่นนั้นจริง คนที่ถูกจับเป็นเชลยในระหว่างการตีได้แผ่นดินแห่งคำสัญญาอยู่พร้อมจะช่วยงานพวกเลวีในหน้าที่ต่าง ๆ ของเขา.—เอษรา 8:20.
8 ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช คริสเตียนอัครสาวกเปาโลได้ให้ความเอาใจใส่ต่อความสำเร็จสมจริงเชิงพยากรณ์เกี่ยวกับถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ. เปาโลเขียนว่า “เราทุกคนจึงได้รับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับตามขนาดที่พระคริสต์ทรงจัดสรรของประทานนั้นให้โดยไม่คิดค่า. ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงตรัสว่า ‘คราวที่พระองค์เสด็จขึ้นเบื้องสูงพระองค์ทรงนำเอาเชลยไป; พระองค์ทรงให้ของประทานในลักษณะมนุษย์.’ บัดนี้คำกล่าวที่ว่า ‘พระองค์เสด็จขึ้นไป’ นั้นจะหมายความอย่างไรนอกจากว่าพระองค์ได้เสด็จลงสู่แดนที่ต่ำกว่าด้วย ได้แก่แผ่นดินโลก? ผู้นั้นแหละซึ่งได้ลงไปก็คือผู้ซึ่งเสด็จขึ้นไปยังที่สูงลิ่วเหนือฟ้าสวรรค์ทั้งปวงเช่นกัน เพื่อพระองค์จะทรงกระทำให้สิ่งสารพัดครบถ้วน.” (เอเฟโซ 4:7-10, ล.ม.) ใครคือ “ผู้นั้นแหละ”? จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากตัวแทนของพระยะโฮวา ซึ่งได้แก่กษัตริย์มาซีฮาพระเยซูคริสต์ ดาวิดผู้ใหญ่กว่านั่นเอง. พระองค์คือผู้นั้นที่พระเจ้าทรงบันดาลให้คืนพระชนม์และทรงยก “ขึ้นให้ดำรงตำแหน่งสูง.”—ฟิลิปปอย 2:5-11, ล.ม.
9. (ก) ของประทานในลักษณะมนุษย์สมัยศตวรรษแรกนั้นได้แก่ใคร? (ข) ของประทานในลักษณะมนุษย์สมัยปัจจุบันได้แก่ใคร?
9 ทีนี้ ‘ของประทานในลักษณะมนุษย์’ เหล่านี้ (หรือ “ประกอบด้วยมนุษย์”) ได้แก่ผู้ใด? เปาโลได้ชี้แจงว่าตัวแทนองค์เอกของพระเจ้า “ได้ประทานบางคนให้เป็นอัครสาวก ให้บางคนเป็นผู้พยากรณ์ ให้บางคนเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณ ให้บางคนเป็นผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สอน โดยมุ่งหมายที่จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่อีกเพื่องานรับใช้ เพื่อการก่อร่างสร้างพระกายของพระคริสต์” (เอเฟโซ 4:11, 12, ล.ม.) ทุกคนที่เป็นผู้ติดตามพระคริสต์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นอัครสาวก, ผู้พยากรณ์, ผู้เผยแพร่กิตติคุณ, ผู้บำรุงเลี้ยง, และผู้สอนต่างก็กระทำงานภายใต้การชี้นำตามระบอบของพระเจ้า. (ลูกา 6:12-16; กิจการ 8:12; 11:27, 28; 15:22; 1 เปโตร 5:1-3) ในสมัยของเรา ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อทำหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลในประชาคมพยานพระยะโฮวาทั่วโลกประมาณ 70,000 ประชาคม. บุคคลเหล่านี้เป็นของประทานที่เราได้รับในลักษณะมนุษย์. (กิจการ 20:28) พร้อมกับการขยายตัวในด้านงานประกาศราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง พี่น้องชายมากขึ้นกำลัง “เอื้อมแขนออกไป” และรับเอาหน้าที่รับผิดชอบซึ่งควบคู่กับ “ตำแหน่งผู้ดูแล.” (1 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ครั้นได้รับการแต่งตั้งแล้ว พวกเขาก็เช่นกันกลายมาเป็นของประทานในลักษณะมนุษย์.
10. คำพรรณนาของยะซายาว่าด้วย “เจ้านาย” เหมาะกับบทบาทของคริสเตียนผู้ดูแลสมัยนี้อย่างไร?
10 คริสเตียนผู้ดูแลเหล่านี้ หรือของประทานในลักษณะมนุษย์ ตรงกับคำพรรณนาที่ผู้พยากรณ์ยะซายากล่าวไว้เมื่อพยากรณ์ถึงบทบาทของ “เจ้านาย” ผู้บริหารงานภายใต้การปกครองราชอาณาจักร. แต่ละคนต้องเป็นดั่ง “ที่คุมขังบังล้อมพลเมืองมิให้ต้องลม, และเป็นที่คุ้มภัยมิให้ต้องพายุ, เหมือนหนึ่งห้วยน้ำลำธารในที่กันดาร. เหมือนดังเงื้อมผาอันใหญ่ในประเทศอันแห้งแล้ง.” (ยะซายา 32:1, 2) ข้อนี้เผยให้เห็นว่าการดูแลด้วยความรักโดยผู้ชายที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นน่าจะเป็นการเกื้อหนุนเพียงใด. คุณจะได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือนี้ถึงขนาดโดยวิธีใด?
การเป็นฝ่ายริเริ่ม
11. เมื่อตกต่ำฝ่ายวิญญาณ เราอาจได้รับการช่วยโดยวิธีใด?
11 คนที่กำลังจมน้ำโดยสัญชาตญาณแล้วจะร้องขอความช่วยเหลือ. ไม่มีการรั้งรอ. เมื่อชีวิตตกอยู่ในอันตราย ไม่มีใครต้องได้รับการกระตุ้นเตือนให้ร้องขอความช่วยเหลือ. กษัตริย์ดาวิดได้ทูลขอการสงเคราะห์จากพระยะโฮวาครั้งแล้วครั้งเล่ามิใช่หรือ? (บทเพลงสรรเสริญ 3:4; 4:1; 5:1-3; 17:1, 6; 34:6, 17-19; 39:12) เมื่อสภาพฝ่ายวิญญาณตกต่ำ บางทีอาจทรุดถึงขีดสิ้นหวัง พวกเราก็เช่นกันควรหันมาหาพระยะโฮวาโดยการอธิษฐานและวิงวอนพระองค์ทรงนำทางพวกเราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 55:22; ฟิลิปปอย 4:6, 7) พวกเราแสวงหาการปลอบโยนจากพระคัมภีร์. (โรม 15:4) พวกเราสืบค้นหาคำแนะนำที่ใช้การได้จากสรรพหนังสือฝ่ายคริสเตียนของสมาคมว็อชเทาเวอร์. บ่อยครั้ง การทำเช่นนี้จะช่วยเราแก้ปัญหาของตัวเองได้. กระนั้น ถ้าเรารู้สึกว่ามีความทุกข์ลำบากเหลือกำลัง เราก็อาจขอคำแนะนำได้จากผู้ปกครองที่รับการแต่งตั้งในประชาคม. ที่จริง ในบางครั้งเรามีความจำเป็นอย่างแท้จริงที่ต้อง “เชิญผู้เฒ่าผู้แก่.” เพราะเหตุใดจึงต้องเรียกหาคริสเตียนผู้ปกครอง? บุคคลเหล่านี้จะช่วยผู้ที่จำต้องได้รับการช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณโดยวิธีใด?
12-14. (ก) อะไรเป็นแนวทางอันสุขุมที่พึงติดตามเมื่อคนเราเจ็บป่วย? (ข) ตามที่กล่าวในยาโกโบ 5:14 คริสเตียนที่ “ป่วย” ได้รับคำแนะนำให้ทำประการใด? (ค) ยาโกโบ 5:14 กล่าวพาดพิงถึงการป่วยแบบไหน? และทำไมคุณตอบอย่างนั้น?
12 เมื่อเราป่วยลง เราพักผ่อนเพื่อร่างกายจะมีโอกาสสร้างพละกำลังกลับคืนสามารถฟื้นตัวได้. แต่ถ้าเจ็บป่วยเรื้อรัง เราแสวงหาความช่วยเหลือจากแพทย์ที่มีคุณวุฒิ. ไม่สมควรหรือที่เราพึงกระทำเช่นเดียวกันถ้าเราอ่อนลงฝ่ายวิญญาณ?
13 โปรดสังเกตสิ่งที่ยาโกโบได้แนะนำพวกเราในเรื่องนี้. ท่านบอกว่า “มีผู้ใดในพวกท่านป่วยหรือ? จงให้เขาเชิญบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคมมาหาตน และให้คนเหล่านั้นอธิษฐานเพื่อเขา เอาน้ำมันทาเขาในนามของพระยะโฮวา.” (ยาโกโบ 5:14, ล.ม.) ณ ที่นี้ ยาโกโบกล่าวอ้างถึงการป่วยแบบไหน? ผู้วิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลบางคนลงความเห็นว่าเป็นการป่วยด้านร่างกาย โดยให้เหตุผลว่าการทาน้ำมันก็เป็นการรักษาทางแพทย์ที่ทำกันอยู่ในสมัยนั้น. (ลูกา 10:34) พวกเขายังเชื่อด้วยว่ายาโกโบนึกถึงเรื่องรักษาโรคโดยการอัศจรรย์ ซึ่งอาศัยของประทานทำการรักษาโรค. ทว่า ท้องเรื่องระบุถึงสิ่งใด?
14 มีการเทียบ “รู้สึกเบิกบานใจ” กับ “ทนรับความชั่วร้าย.” ข้อนี้แสดงนัยว่ายาโกโบพูดถึงความเจ็บป่วยฝ่ายวิญญาณ. (ยาโกโบ 5:13, ล.ม.) “บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคม” ไม่ใช่นายแพทย์หรือแม้แต่คนที่ได้รับของประทานทำการรักษาโรคโดยการอัศจรรย์ได้จะได้รับเชิญมา. และบุคคลเหล่านี้พึงทำอะไร? ยาโกโบบอกว่า “ให้คนเหล่านั้นอธิษฐานเพื่อเขา . . . และคำอธิษฐานด้วยความเชื่อจะทำให้ผู้ที่ไม่สบายหาย.” (ยาโกโบ 5:14, 15, ล.ม.; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 119:9-16.) ข้อพิสูจน์ที่ชัดแจ้งที่ว่ายาโกโบหมายถึงความเจ็บป่วยฝ่ายวิญญาณนั้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าท่านสนับสนุนให้สารภาพบาปเกี่ยวข้องกับการรักษาให้หายตามที่คาดหวัง. ท่านเขียนว่า “จงสารภาพความบาปของท่านทั้งหลายอย่างเปิดเผยต่อกันและกัน และอธิษฐานเพื่อกันและกัน เพื่อท่านจะได้รับการรักษาให้หาย.” หากความผิดร้ายแรงเป็นสาเหตุของการป่วยฝ่ายวิญญาณ ผู้ป่วยสามารถคาดหวังได้ว่าจะหายถ้าเขาตอบรับอย่างเต็มใจต่อคำตักเตือนที่ยึดพระวจนะของพระเจ้าเป็นหลัก, กลับใจ, และหันกลับจากแนวทางของตนอันเป็นบาปนั้นเสีย.—ยาโกโบ 5:16; กิจการ 3:19.
15. ที่ยาโกโบ 5:13, 14 มีการสนับสนุนให้ทำแบบไหน?
15 มีอีกบางสิ่งที่พึงรับรู้จากคำแนะนำที่ยาโกโบให้ไว้. เมื่อทนรับความชั่วร้ายคริสเตียนควร ‘อธิษฐานอยู่เสมอ.’ หากเขารู้สึกเบิกบานใจ ก็จง “ถวายสดุดีแด่พระเจ้า.” แต่ละสภาพการณ์—ไม่ว่าคนเราทนรับความชั่วร้ายหรือรู้สึกเบิกบานใจ—ต้องลงมือปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง. ส่วนหนึ่งต้องอธิษฐาน อีกส่วนหนึ่งก็ต้องกล่าวแสดงความเบิกบานยินดี. ดังนั้นแล้ว เราควรคาดหมายอะไรเมื่อยาโกโบถามว่า “มีใครในพวกท่านป่วยหรือ?” อีกครั้งหนึ่งท่านพูดถึงการกระทำในเชิงบวก ใช่แล้ว โดยเป็นฝ่ายริเริ่ม. “จงให้เขาเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคมมาหาตน.”—บทเพลงสรรเสริญ 50:15; เอเฟโซ 5:19; โกโลซาย 3:16.
วิธีที่ “ผู้เฒ่าผู้แก่” ช่วยเหลือ
16, 17. ผู้เฒ่าผู้แก่ช่วยเราอย่างไรที่จะนำหลักการของคัมภีร์ไบเบิลไปใช้?
16 บางครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะรู้จักวิธีใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลกับสภาพการณ์ส่วนตัวของเรา. ตรงนี้เองปรากฏว่าผู้ปกครองคริสเตียนเป็นแหล่งให้การช่วยเหลืออันประมาณค่าไม่ได้. อาทิ ผู้ปกครองเหล่านี้อธิษฐานเพื่อคนป่วยฝ่ายวิญญาณและ ‘ทาเขาด้วยน้ำมันในพระนามของพระยะโฮวา’ ด้วยการใช้คำแนะนำอันยังความสดชื่นนั้นอย่างช่ำชองจากพระวจนะของพระเจ้า. ฉะนั้น พวกผู้ปกครองจึงสามารถมีส่วนช่วยได้มากต่อการหายป่วยของเราฝ่ายวิญญาณ. (บทเพลงสรรเสริญ 141:5) บ่อยครั้ง สิ่งที่เราต้องการคือคำยืนยันว่าเรากำลังหาเหตุผลอย่างถูกทาง. การนำเรื่องขึ้นปรึกษากับผู้ปกครองคริสเตียนที่มีประสบการณ์จะเสริมความตั้งใจแน่วแน่ของเราในการทำสิ่งที่ถูกต้อง.—สุภาษิต 27:17.
17 เมื่อคริสเตียนผู้ปกครองได้รับการขอร้องให้เยี่ยม จำเป็นที่เขาจะ “พูดปลอบโยนผู้ที่หดหู่ใจ.” อนึ่ง เขาจะ “เกื้อหนุนคนที่อ่อนแอ อดกลั้นทนทานต่อคนทั้งปวง” ด้วย. (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและเข้าใจกันระหว่าง “ผู้เฒ่าผู้แก่” และ “คนที่อ่อนแอ” ย่อมเป็นแววส่อถึงการฟื้นตัวคืนสู่สุขภาพที่ดีฝ่ายวิญญาณดังเดิม.
หน้าที่รับผิดชอบส่วนตัวและการอธิษฐาน
18, 19. คริสเตียนผู้ปกครองมีบทบาทอะไรเกี่ยวกับฆะลาเตีย 6:2, 5?
18 ผู้ปกครองคริสเตียนต้องแบกความรับผิดชอบของตนที่มีต่อฝูงแกะของพระเจ้า. พวกเขาต้องให้การสนับสนุน. ยกตัวอย่าง เปาโลกล่าวดังนี้: “พี่น้องทั้งหลาย ถ้าแม้นผู้ใดก้าวพลาดไปประการใดก่อนที่เขารู้ตัว ท่านทั้งหลายผู้มีคุณวุฒิทางฝ่ายวิญญาณจงพยายามปรับคนเช่นนั้นให้เข้าที่ด้วยน้ำใจอ่อนสุภาพ ขณะที่ท่านแต่ละคนเฝ้าระวังตนเอง เกรงว่าท่านอาจถูกล่อใจด้วย. จงแบกภาระหนักของกันและกันต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงบรรลุบัญญัติของพระคริสต์.” นอกจากนั้น ท่านอัครสาวกได้เขียนว่า “เพราะแต่ละคนจะแบกภาระของตนเอง.”—ฆะลาเตีย 6:1, 2, 5, ล.ม.
19 พวกเราจะแบกภาระของกันและกันได้อย่างไรและในขณะเดียวกันก็ต้องแบกภาระของตนเอง? ความแตกต่างกันในความหมายของคำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ภาระหนัก” และ “ภาระ” เป็นข้อเฉลย. ถ้าคริสเตียนตกอยู่ในความยุ่งยากฝ่ายวิญญาณซึ่งทำให้เขามีภาระหนัก ผู้ปกครองและเพื่อนร่วมความเชื่อจะช่วยเหลือเขา ฉะนั้น เป็นการช่วยเขาแบก “ภาระหนัก” ของเขา. อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดหมายว่าปัจเจกบุคคลจะแบก “ภาระ” ความรับผิดชอบของตนเองจำเพาะพระเจ้า.a พวกผู้ปกครองยินดีแบก “ภาระหนัก” ของพวกพี่น้องโดยการให้กำลังใจ, การแนะนำตามหลักการของพระคัมภีร์, และการอธิษฐาน. กระนั้น ก็ใช่ว่าผู้ปกครองจะรับแบก “ภาระ” ความรับผิดชอบส่วนตัวของเราฝ่ายวิญญาณ.—โรม 15:1.
20. ทำไมจึงไม่ควรละเลยการอธิษฐาน?
20 การอธิษฐานเป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรละเลย. แต่คริสเตียนหลายคนซึ่งป่วยฝ่ายวิญญาณมีความรู้สึกว่าการอธิษฐานเป็นเรื่องยาก. เมื่อผู้ปกครองเสนอคำอธิษฐานด้วยความเชื่อเพื่อเห็นแก่ผู้ป่วยฝ่ายวิญญาณ ความมุ่งหมายที่แท้คืออะไร? “พระยะโฮวาจะทรงพยุงเขาขึ้น” ประหนึ่งช่วยให้หลุดพ้นความเศร้าโศก และจะทรงชูกำลังเขาให้มุ่งไปในทางความจริงและความชอบธรรม. คริสเตียนที่ป่วยฝ่ายวิญญาณอาจมีทัศนะในทางผิด แต่อาจจะไม่ถึงกับได้ทำบาปร้ายแรง เพราะยาโกโบกล่าวว่า “และหากเขาได้กระทำบาปเขาจะได้รับการอภัย.” การที่ผู้ปกครองได้แนะนำตามหลักคัมภีร์ควบไปกับคำอธิษฐานอย่างจริงจังบางครั้งก็กระตุ้นผู้ที่ป่วยฝ่ายวิญญาณให้สารภาพบาปอันร้ายแรงซึ่งเขาได้กระทำไป และให้สำแดงการกลับใจ. ทั้งนี้ก็จะก่อให้มีการอภัยโทษจากพระเจ้า.—ยาโกโบ 5:15, 16, ล.ม.
21. (ก) เหตุใดคริสเตียนบางคนรั้งรอไม่เรียกหาผู้เฒ่าผู้แก่? (ข) บทความต่อไปจะพิจารณาเรื่องอะไร?
21 เมื่อเผชิญกับสิ่งท้าทายด้านการดูแลฝูงชนซึ่งประกอบด้วยคนใหม่ที่หลั่งไหลมายังประชาคมคริสเตียน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่สำนึกถึงความรับผิดชอบมีงานที่ต้องทำมากมายเกี่ยวกับการจัดเตรียมเพื่อดูแลอย่างเพียงพอ. จริงทีเดียว ของประทานในลักษณะมนุษย์เหล่านี้เป็นการจัดเตรียมที่ดียิ่งจากพระยะโฮวา เพื่อช่วยพวกเราให้อดทนในสมัยวิกฤตนี้. แต่คริสเตียนบางคนรั้งรออยู่ไม่เรียกหาการช่วยเหลือจากผู้ปกครอง โดยคิดเอาว่าพวกพี่น้องเหล่านี้มีธุระยุ่งเกินไป หรือไม่ก็มีปัญหาหนักพออยู่แล้ว. บทความต่อไปจะช่วยให้เราหยั่งรู้ว่าที่บุคคลเหล่านี้ยินดีให้ความช่วยเหลือ เพราะพวกเขาปฏิบัติงานด้วยความเต็มใจในฐานะเป็นรองผู้บำรุงเลี้ยงภายในประชาคมคริสเตียน.
[เชิงอรรถ]
a หนังสือคำอธิบายทางภาษาศาสตร์สำหรับคัมภีร์ภาคภาษากรีกพันธสัญญาใหม่ โดยฟริตส์ รีเนเคอร์ให้คำจำกัดความ โฟร์ทีออน ว่า “ภาระซึ่งคนเราได้รับการคาดหมายให้แบก” และกล่าวเพิ่มเติมดังนี้: “คำนี้ใช้เป็นศัพท์ทางทหารหมายถึงเครื่องหลังหรือถุงสัมภาระของทหาร.”
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ พระยะโฮวาได้จัดเตรียมเครื่องช่วยสามประการอะไรบ้าง?
▫ ของประทานในลักษณะมนุษย์สมัยนี้ได้แก่ใคร?
▫ เราควรจะเรียกหาผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อไร?
▫ เราสามารถคาดหมายการช่วยเหลือเช่นไรจากคริสเตียนผู้ปกครอง?
[รูปภาพหน้า 15]
คุณได้รับผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณไหมจากการอธิษฐาน, การศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, และการช่วยเหลือจากคริสเตียนผู้ดูแล?