พระยะโฮวาสดับคำวอนขอความช่วยเหลือของเรา
ความช่วยเหลือเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน. สิ่งนี้เห็นได้ชัดจากสีหน้าที่เป็นทุกข์หนักของพนักงานรินเหล้าองุ่นถวายกษัตริย์. เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่ผิดปกติไป พนักงานรินเหล้าองุ่นคนนั้นก็ได้ทูลเรื่องความโศกเศร้าของเขาที่มีต่อสภาพรกร้างหักพังของกรุงยะรูซาเลมและกำแพงเมือง. แล้วจึงมีคำถามว่า: ‘เจ้าปรารถนาจะได้สิ่งใดบ้าง?’ ต่อมาภายหลังนะเฮมยาผู้เป็นพนักงานรินเหล้าองุ่นถวายได้เขียนไว้ว่า: “ในทันทีนั้นข้าพเจ้าได้ทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์”. นั่นเป็นคำอธิษฐานวิงวอนความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาอย่างรีบด่วน แบบเงียบ ๆ และรวดเร็ว. และผลล่ะเป็นอย่างไร? ผลคือ อาร์ทาเซอร์เซส กษัตริย์เปอร์เซียทรงพระราชทานอำนาจแก่นะเฮมยาทันทีเพื่อไปบูรณะกำแพงกรุงยะรูซาเลม!—นะเฮมยา 2:1–6.
ถูกแล้ว พระเจ้าทรงสดับคำวอนขออันเร่งด่วนของคนเหล่านั้นซึ่งรักพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) ดังนั้น หากมีการทดลองที่ดูเหมือนว่าหนักเกินกว่าที่คุณจะสามารถทนได้ คุณอาจทูลขอดังที่ดาวิดผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้กระทำในเพลงสรรเสริญบท 70 เมื่อท่านมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าอย่างกะทันหัน. จ่าหน้าเรื่องของเพลงบทนี้แสดงว่าจุดประสงค์ของเพลงบทนี้คือ “เพื่อให้ทรงระลึกถึง.” เพลงสรรเสริญบทนี้กล่าวซ้ำบท 40:13–17 โดยมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย. แต่เพลงสรรเสริญบท 70 นี้อาจช่วยเราซึ่งอยู่ในฐานะไพร่พลของพระยะโฮวาได้อย่างไร?
อ้อนวอนขอการช่วยให้รอดที่รวดเร็ว
ดาวิดเริ่มด้วยคำอ้อนวอน: “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงโปรดรีบมาช่วยข้าพเจ้าให้รอด ข้าแต่พระยะโฮวา ขอทรงโปรดรีบเสด็จมาสงเคราะห์ข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 70:1) เมื่อตกอยู่ในความทุกข์ยาก เราสามารถทูลขอพระเจ้าให้เสด็จมาสงเคราะห์เราโดยเร็ว. พระยะโฮวาไม่ทรงทดลองเราด้วยสิ่งที่เลวร้าย และพระองค์ “ทรงทราบวิธีที่จะช่วยคนที่เลื่อมใสศรัทธาในพระเจ้าให้รอดพ้นจากการทดลอง.” (2 เปโตร 2:9; ยาโกโบ 1:13) แต่จะว่าอย่างไรหากพระองค์ทรงยอมให้การทดลองมีอยู่ต่อไป บางทีเพื่อสอนบางสิ่งบางอย่างแก่เรา? ถ้าเช่นนั้น เราก็สามารถทูลขอสติปัญญาจากพระองค์เพื่อจัดการกับเรื่องนั้น. หากเราทูลขอด้วยความเชื่อ พระองค์ก็จะทรงประทานสติปัญญาแก่เรา. (ยาโกโบ 1:5–8) พระเจ้าทรงประทานกำลังที่จำเป็นแก่เราด้วยเพื่อจะอดทนต่อการทดลองที่บังเกิดแก่เรา. ดังเช่นพระองค์ ‘ทรงค้ำจุนเราไว้ในยามป่วยไข้.’—บทเพลงสรรเสริญ 41:1–3; เฮ็บราย 10:36.
ความผิดบาปของเราซึ่งได้รับสืบทอดมา เช่นเดียวกับการอยู่ในที่ที่มีแต่การล่อใจตลอดเวลาและความพยายามของพญามารที่จะทำลายสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวา ควรกระตุ้นเราให้อธิษฐานทุกวันเพื่อได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 51:1–5; โรม 5:12; 12:12) ถ้อยคำแห่งคำอธิษฐานของพระเยซูอันเป็นแบบฉบับนี้น่าสนใจยิ่งที่ว่า: “ขออย่าทรงนำข้าพเจ้าเข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พ้นจากซึ่งชั่วร้าย.” (มัดธาย 6:13) ถูกแล้ว เราสามารถทูลขอพระเจ้าเพื่อพระองค์จะไม่ปล่อยเราให้จำนนเมื่อถูกล่อลวงให้ไม่เชื่อฟังพระองค์และเพื่อพระองค์จะป้องกันไม่ให้ซาตาน “ตัวชั่วร้าย” หลอกลวงเราได้. แต่จงให้เราร้องขอการช่วยให้รอดควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ซึ่งจะทำให้เราเผชิญกับการล่อใจและกับดักของซาตานโดยไม่จำเป็น.—2 โกรินโธ 2:11.
คนเหล่านั้นซึ่งพูด “ฮะฮา!”
เราอาจถูกทดลองอย่างรุนแรงเพราะพวกศัตรูจู่โจมเราเนื่องด้วยความเชื่อที่เราปฏิบัติตาม. หากสิ่งนั้นเกิดกับคุณ จงนึกถึงถ้อยคำของดาวิดที่ว่า: “ขอให้คนที่แสวงหาชีวิตข้าพเจ้านั้นได้อับอายและแตกกระจัดกระจายไป. ขอให้คนทั้งหลายที่ยินดีในเหตุร้ายซึ่งเกิดแก่ข้าพเจ้านั้นกลับถอยหลังและได้รับอัปยศ. ให้คนทั้งหลายที่ร้องเย้ยว่า ‘ฮะฮา ๆ’ นั้น หันกลับไปเพราะความละอายอดสูของเขา.” (บทเพลงสรรเสริญ 70:2, 3) พวกศัตรูของดาวิดต้องการเห็นท่านตาย พวกเขา ‘ตามล่าเอาชีวิตท่าน’. ถึงอย่างนั้นก็ตาม แทนที่จะพยายามแก้เผ็ดการกระทำเช่นนั้น ท่านแสดงความเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงทำให้พวกเขาได้รับความอับอาย. ดาวิดอธิษฐานว่าพวกศัตรูของท่านคงจะ “อับอายและกระจัดกระจายไป”—คือมีความยุ่งยากลำบาก, มีอุปสรรคขัดขวางและประสบความล้มเหลวในการพยายามทำตามแผนชั่วของพวกเขา. ใช่แล้ว ให้คนเหล่านั้นซึ่งหาทางทำร้ายท่านและซึ่งถือเอาความทุกข์ลำบากของท่านเป็นความเพลิดเพลินนั้นสับสนอลหม่านและต้องอัปยศอดสูไป.
ถ้าเรามีความรู้สึกที่อาจเรียกว่าความชื่นชมสมน้ำหน้าเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นกับศัตรู เราจำต้องให้การต่อพระยะโฮวาสำหรับความบาปของเรา. (สุภาษิต 17:5; 24:17, 18) แต่เมื่อศัตรูเยาะเย้ยพระเจ้าและพลไพร่ของพระองค์ เราก็สามารถอธิษฐาน เพื่อเห็นแก่พระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ว่า ขอพระยะโฮวาทรง ‘ให้พวกเขากลับถอยหลังและได้รับอัปยศ’ ในสายตาของเหล่าพลไพร่ซึ่งพวกเขาแสวงหาเกียรติยศ. (บทเพลงสรรเสริญ 106:8) การแก้แค้นเป็นของพระเจ้า และพระองค์ทรงสามารถทำให้ศัตรูของพระองค์และของเราพ่ายแพ้และอัปยศอดสู. (พระบัญญัติ 32:35) ตัวอย่างเช่น อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีได้หาหนทางจะกวาดล้างเหล่าพยานพระยะโฮวาในประเทศเยอรมนี. เขาล้มเหลวอย่างน่าอับอายเพียงไร เนื่องจากบัดนี้มีพยานหลายหมื่นคนประกาศข่าวสารราชอาณาจักรอยู่ที่นั่น!
ด้วยการดูหมิ่นเย้ยหยัน พวกศัตรูของเราอาจพูด: “ฮะฮา ฮะฮา!” เนื่องจากพวกเขาเยาะเย้ยสบประมาทพระเจ้าและพลไพร่ของพระองค์ ก็ให้คนบาปเหล่านั้น “หันกลับไปเพราะความละอายอดสูของเขา” โดยได้รับความอับอายขายหน้า. ขณะที่อธิษฐานขอสิ่งนี้ ให้เรารักษาไว้ซึ่งความภักดีของเราและทำให้พระทัยของพระยะโฮวาชื่นชมยินดี ซึ่งพระองค์จะให้คำตอบแก่ซาตานและคนใด ๆ ก็ตามที่สบประมาทพระองค์. (สุภาษิต 27:11) และอย่าให้เรากลัวพวกศัตรูที่โอหัง เพราะ “ผู้ที่วางใจในพระยะโฮวาจะได้รับการคุ้มครอง.” (สุภาษิต 29:25, ล.ม.) กษัตริย์นะบูคัดเนซัรแห่งบาบุโลนผู้หยิ่งยโสผู้ซึ่งจับพลไพร่ของพระเจ้าไปเป็นเชลย ได้ประสบกับความอับอายอดสูและจำต้องยอมรับว่า ‘พระมหากษัตริย์แห่งสรวงสวรรค์ทรงสามารถเหยียดคนที่ยโสโอหังลงได้.’—ดานิเอล 4:37.
“ขอให้พระเจ้าเป็นใหญ่ยิ่ง!”
แม้พวกศัตรูอาจทำให้เราลำบาก ให้เรายกย่องสรรเสริญพระยะโฮวาร่วมกับเพื่อนร่วมนมัสการอยู่เสมอ. แทนที่จะยอมให้ตนเองถูกกลืนลงไปโดยความทุกข์ลำบากจนพลาดไปไม่ได้ยกย่องพระเจ้า ดาวิดตรัสว่า: “ให้คนทั้งหลายที่แสวงหาพระองค์มีความยินดีปรีดาในพระองค์ และให้ผู้ที่รักความรอดของพระองค์กล่าวเสมอว่า ‘ขอให้พระเจ้าเป็นใหญ่ยิ่ง’” (บทเพลงสรรเสริญ 70:4) พลไพร่ของพระยะโฮวามีความชื่นบานอย่างยิ่งเรื่อยไปเนื่องจากพวกเขามีความ “ยินดีปรีดา” ในพระองค์. ในฐานะพยานที่อุทิศตัวและรับบัพติสมาแล้วของพระองค์ พวกเขามีความยินดีมากมายอันเป็นผลสืบเนื่องจากสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 25:14) แต่พวกเขาจะได้รับการมองดูว่าเป็นผู้แสวงหาพระเจ้าด้วยความถ่อมใจ. โดยเป็นผู้เชื่อถือซึ่งปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า พวกเขาแสวงหาความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระองค์และพระคำของพระองค์ต่อ ๆ ไป.—ท่านผู้ประกาศ 3:11; 12:13, 14; ยะซายา 54:13.
ขณะที่พยานพระยะโฮวาประกาศข่าวดี ผลที่เกิดขึ้นจริงก็คือ พวกเขากล่าวอยู่เสมอ ๆ ว่า “ขอให้พระเจ้าเป็นใหญ่ยิ่ง!” พวกเขายกย่องสรรเสริญพระยะโฮวา ให้พระองค์อยู่ในฐานะที่ได้รับความยกย่องสูงสุด. ด้วยความชื่นชมยินดี พวกเขาช่วยผู้แสวงความจริงให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและถวายพระเกียรติแด่พระองค์ด้วย. ไม่เหมือนกับผู้รักความสนุกสนานฝ่ายโลก ไพร่พลของพระยะโฮวา ‘รักการช่วยให้รอดของพระองค์.’ (2 ติโมเธียว 3:1–5) ด้วยความสำนึกถึงความบาปที่ได้รับตกทอดมา พวกเขารู้สึกขอบพระคุณอย่างลึกซึ้งสำหรับการจัดเตรียมด้วยความรักของพระยะโฮวาเพื่อการรอดพ้นสู่ชีวิตนิรันดร์ ซึ่งเป็นไปได้โดยทางเครื่องบูชาของพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ซึ่งระงับพระพิโรธของพระองค์. (โยฮัน 3:16; โรม 5:8; 1 โยฮัน 2:1, 2) คุณยกย่องพระเจ้าและแสดงว่าคุณ ‘รักการช่วยให้รอดของพระองค์’ ไหมโดยปฏิบัติการนมัสการแท้เพื่อการยกย่องสรรเสริญแด่พระองค์?—โยฮัน 4:23,24.
จงวางใจในพระองค์ผู้ช่วยให้รอด
เมื่อดาวิดเขียนเพลงสรรเสริญบทนี้ ท่านรู้สึกถึงความจำเป็นสุดขีดท่านจึงกล่าวว่า: “ฝ่ายข้าพเจ้าเป็นคนอนาถาและขัดสน พระองค์เจ้าข้า ขอโปรดรีบเสด็จมายังข้าพเจ้า. พระองค์เป็นผู้อุปถัมภ์และเป็นผู้ช่วยให้รอดของข้าพเจ้า. ข้าแต่พระยะโฮวา ขออย่าทรงเนิ่นช้าเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 70:5) เมื่อเราประสบการทดลองซึ่งรุมล้อมผู้มีความเชื่อ—อย่างเช่นความทุกข์ลำบากเมื่อได้รับการกดขี่ข่มเหง, การล่อใจ, และการโจมตีโดยซาตาน—เราอาจดูเหมือนเป็นคน “อนาถา.” แม้ว่าเราอาจไม่ใช่เป็นคนยากจนข้นแค้นก็ตาม เราก็ดูเหมือนไม่มีการป้องกันต่อเหล่าศัตรูที่ไร้ยางอายนั้น. อย่างไรก็ตาม เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงสามารถและจะช่วยเหลือเราในฐานะที่เป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 9:17–20.
พระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้ช่วยให้รอด” ในยามที่เรามีความจำเป็น. ข้อบกพร่องต่าง ๆ ของเราเองอาจนำเราเข้าสู่สภาพการณ์ยุ่งยากได้. แต่หาก ‘ความเขลาของเราได้ทำให้ทางของเราเขวไป’ จงอย่าให้หัวใจของเรา ‘ขุ่นเคืองพระยะโฮวา.’ (สุภาษิต 19:3) พระองค์ไม่ใช่ฝ่ายผิดและพระองค์พร้อมจะช่วยเราหากเราอธิษฐานขอต่อพระองค์ด้วยความเชื่อ. (บทเพลงสรรเสริญ 37:5) หากเรากำลังต่อสู้เพื่อหลีกเว้นการบาปล่ะจะทำอย่างไร? ถ้าเช่นนั้น ให้เรากล่าวถึงสิ่งนั้นโดยเฉพาะในคำอธิษฐาน ขอการช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อติดตามแนวทางอันชอบธรรมต่อ ๆ ไป. (มัดธาย 5:6; โรม 7:21–25) พระเจ้าจะทรงตอบคำอธิษฐานอันจริงใจของเรา และเราก็จะเจริญขึ้นทางฝ่ายวิญญาณหากเรายอมเชื่อฟังการชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 51:17; เอเฟโซ 4:30.
เมื่อตกอยู่ในสภาพลำบากยิ่งของการทดลองความเชื่อ เราอาจรู้สึกว่าเราไม่สามารถอดทนต่อไปได้อีกแล้ว. เนื่องจากเนื้อหนังที่ผิดบาปของเรานั้นอ่อนแอ เราคงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว. (มาระโก 14:38) ฉะนั้น เราอาจวิงวอนว่า: “ข้าแต่พระยะโฮวา ขออย่าทรงเนิ่นช้าเลย.” โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรากังวลเกี่ยวกับคำตำหนิที่มีต่อพระนามพระเจ้า เราอาจถูกกระตุ้นให้อธิษฐานดังที่ผู้พยากรณ์ดานิเอลได้ทำคือ: “ข้าแต่พระยะโฮวา ขอทรงสดับฟัง. ข้าแต่พระยะโฮวา ขอทรงอภัยโทษให้. โอ้พระยะโฮวา ขอทรงเงี่ยพระโสตและโปรดกระทำเถอะ. ขออย่าได้เนิ่นช้าไว้เลยพระเจ้าค่ะ โอ้พระเจ้าของข้าพเจ้า นึกว่าเห็นแก่พระนามของพระองค์เถอะ ด้วยว่า . . . พลเมืองของพระองค์ก็ถูกขนานนามตามพระนามของพระองค์.” (ดานิเอล 9:19) เราอาจมีความเชื่อที่พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราจะไม่ทรงเนิ่นช้า ด้วยว่าอัครสาวกเปาโลได้ให้คำรับรองไว้ว่า: “ . . . ให้เราทั้งหลายเข้าไปถึงพระที่นั่งแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและพูดอย่างสะดวกใจ เพื่อเราจะได้รับความเมตตาและประสบพระกรุณาอันไม่พึงได้รับมาช่วยในเวลาอันควร.”—เฮ็บราย 4:16.
จงอย่าลืมว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้ช่วยให้รอด.” ในฐานะผู้รับใช้ของพระองค์ การจดจำสิ่งนี้และความรู้สึกจากน้ำใสใจจริงของเพลงสรรเสริญบท 70 ไว้ จะเป็นผลดีแก่เรา. บางครั้ง เราอาจจำเป็นต้องอธิษฐานซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับเรื่องที่เราเป็นห่วงอย่างลึกซึ้ง. (1 เธซะโลนิเก 5:17) อาจดูเหมือนว่าไม่มีทางแก้ปัญหาบางอย่างโดยเฉพาะ ไม่มีทางออกจากสภาพอับจนของเรา. แต่พระบิดาในสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรักใคร่จะชูกำลังเราและจะไม่ทรงยอมให้เราถูกทดลองเกินกว่าที่เราจะทนได้. ฉะนั้น อย่าเลื่อยล้าในการเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์องค์ทรงเจริญนิรันดร์ในคำอธิษฐานด้วยน้ำใสใจจริง. (1 โกรินโธ 10:13; ฟิลิปปอย 4:6, 7, 13; วิวรณ์ 15:3) จงอธิษฐานด้วยความเชื่อ และจงวางใจในพระองค์อย่างเต็มที่ ด้วยว่าพระยะโฮวาทรงสดับคำวอนขอความช่วยเหลือจากเรา.