คำตอบของพระยะโฮวาต่อคำอธิษฐานหนึ่งที่แรงกล้า
“เพื่อให้เขารู้ว่าพระองค์ผู้เดียว, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.”—เพลง. 83:18.
1, 2. หลายคนมีประสบการณ์อะไร และอาจมีคำถามอะไรที่จะถามได้?
หลายปีมาแล้ว สตรีคนหนึ่งรู้สึกทุกข์ใจอย่างมากเพราะโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในละแวกบ้าน. เนื่องจากเกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาโรมันคาทอลิก เธอจึงไปขอความช่วยเหลือจากบาทหลวงในท้องถิ่น แต่เขาไม่เต็มใจแม้แต่จะพูดกับเธอ. เธอจึงอธิษฐานถึงพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าพระองค์เป็นใคร . . . แต่ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์ทรงอยู่ที่นั่น. ขอโปรดช่วยให้ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์ด้วยเถิด!” ไม่นานหลังจากนั้น พยานพระยะโฮวามาเยี่ยมเธอ และปลอบโยนเธอรวมทั้งให้ความรู้ที่เธอแสวงหา. พวกเขาสอนเธอหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งก็คือพระเจ้าทรงมีพระนามเฉพาะ คือยะโฮวา. เธอประทับใจมากเมื่อได้เรียนรู้เรื่องนี้. เธอกล่าวว่า “คิดดูสิว่านี่แหละคือพระเจ้าที่ดิฉันอยากรู้จักมาตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว!”
2 หลายคนมีประสบการณ์คล้าย ๆ กัน. บ่อยครั้ง พวกเขาเห็นพระนามยะโฮวาเป็นครั้งแรกเมื่ออ่านบทเพลงสรรเสริญ 83:18 ในคัมภีร์ไบเบิล. ในฉบับแปลโลกใหม่ ข้อนี้อ่านว่า “เพื่อพวกเขาจะได้รู้ว่า พระองค์ผู้เดียวผู้ทรงพระนามว่ายะโฮวาทรงเป็นพระผู้สูงสุดเหนือแผ่นดินโลกทั้งสิ้น.” แต่คุณเคยสงสัยไหมว่าบทเพลงสรรเสริญบท 83 เขียนเพื่ออะไร? เหตุการณ์อะไรที่จะทำให้ทุกคนต้องยอมรับว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว? บทเพลงสรรเสริญบทนี้มีข่าวสารอะไรสำหรับเราในทุกวันนี้? เราจะพิจารณาคำถามดังกล่าวในบทความนี้.a
คบคิดกันต่อต้านประชาชนของพระยะโฮวา
3, 4. ใครแต่งบทเพลงสรรเสริญบท 83 และผู้แต่งพรรณนาถึงการคุกคามอะไร?
3 ตามจ่าหน้าบทในต้นฉบับภาษาฮีบรู บทเพลงสรรเสริญบท 83 เป็น “เพลงสดุดีของอาซาฟ.” ผู้แต่งเพลงสรรเสริญบทนี้คงเป็นลูกหลานของอาซาฟซึ่งเป็นชาวเลวี นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในช่วงรัชกาลของกษัตริย์ดาวิด. ในเพลงสรรเสริญบทนี้ ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญวิงวอนขอพระยะโฮวาให้ลงมือกระทำเพื่อเชิดชูพระบรมเดชานุภาพและทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่รู้จัก. เพลงสรรเสริญบทนี้คงต้องแต่งหลังจากที่โซโลมอนสิ้นพระชนม์. เพราะเหตุใด? เพราะในช่วงที่ดาวิดและโซโลมอนครองราชย์ กษัตริย์เมืองไทระ (ตุโร) เป็นมิตรกับชาติอิสราเอล. เมื่อถึงตอนที่แต่งบทเพลงสรรเสริญบท 83 ประชากรเมืองไทระได้หันไปเข้ากับฝ่ายศัตรูของอิสราเอล.
4 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบทนี้กล่าวถึงชื่อของสิบชาติที่คบคิดกันเพื่อจะทำลายประชาชนของพระเจ้า. ศัตรูเหล่านี้ซึ่งอยู่ในพื้นที่โดยรอบชาติอิสราเอลมีรายชื่อดังต่อไปนี้: “พวกที่อาศัยกะท่อมในเมืองอะโดมและชาติยิศมาเอ็ล; ชาติโมอาบ, และชาตินางฮาฆาร; พวกฆะบาละ, พวกอำโมน, พวกอะมาเล็ก; พวกฟะลิศตีม และชาวเมืองตุโร. ชนประเทศอาซูเรียก็เข้าพวกด้วย.” (เพลง. 83:6-8) เพลงสรรเสริญบทนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์? บางคนให้ความเห็นว่าเพลงสรรเสริญบทนี้กล่าวถึงการโจมตีชาติอิสราเอลของกองกำลังผสมซึ่งประกอบด้วยอัมโมน, โมอาบ, และชาวภูเขาเซอีร์ในสมัยกษัตริย์ยะโฮซาฟาด. (2 โคร. 20:1-26) ส่วนคนอื่นเชื่อว่าเพลงสรรเสริญบทนี้กล่าวถึงความจงเกลียดจงชังโดยทั่วไปที่ประเทศข้างเคียงมีต่อชาติอิสราเอลตลอดประวัติศาสตร์ของชาตินี้.
5. คริสเตียนในปัจจุบันได้รับประโยชน์อย่างไรจากบทเพลงสรรเสริญบท 83?
5 ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาพระเจ้าทรงดลใจให้เขียนบทเพลงซึ่งเป็นคำอธิษฐานนี้ในช่วงที่ชาติของพระองค์ตกอยู่ในอันตราย. เพลงสรรเสริญบทนี้ยังให้กำลังใจผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวันนี้ด้วย ซึ่งตลอดมาในประวัติบันทึกพวกเขาถูกโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่าจากศัตรูที่มุ่งจะทำลายพวกเขา. และในอีกไม่ช้าเรื่องนี้จะช่วยเสริมกำลังเราอย่างแน่นอน เมื่อโกกแห่งมาโกกจัดทัพรวมพลเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อจะทำลายทุกคนที่นมัสการพระเจ้าด้วยพระวิญญาณและความจริง.—อ่านยะเอศเคล 38:2, 8, 9, 16.
เรื่องที่สำคัญเป็นอันดับแรก
6, 7. (ก) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอธิษฐานขออะไรในตอนต้นของบทเพลงสรรเสริญบท 83? (ข) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเป็นห่วงเรื่องใดมากที่สุด?
6 ขอให้ฟังผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญระบายความรู้สึกในใจออกมาในคำอธิษฐานดังต่อไปนี้: “ข้าแต่พระเจ้า, ขออย่าทรงนิ่งเฉยเสีย; ข้าแต่พระเจ้า, ขออย่าทรงเงียบงดพระดำรัสเลย. เพราะดูเถิด, พวกปัจจามิตรแห่งพระองค์ขู่คำรามอยู่; และคนทั้งหลายที่เกลียดชังพระองค์ก็ผงกหัวขึ้น. เขาปรึกษากันออกอุบายปองร้ายพลไพร่ของพระองค์, . . . เพราะเขาปรึกษาพร้อมใจกันแล้ว; สัญญากันไว้ว่าจะขัดขืนพระองค์.”—เพลง. 83:1-3, 5.
7 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเป็นห่วงเรื่องใดมากที่สุด? แน่นอน เขาคงต้องเป็นห่วงอย่างมากในเรื่องความปลอดภัยของตัวเขาเองและครอบครัว. ถึงกระนั้น เรื่องที่เขาเน้นด้วยความเป็นห่วงในคำอธิษฐานก็คือพระนามพระยะโฮวากำลังถูกติเตียนและชาติที่ถือพระนามนั้นกำลังถูกขู่เข็ญคุกคาม. ขอเราทุกคนมีทัศนะที่สมดุลคล้าย ๆ กันนั้นเมื่อเราอดทนกับช่วงสุดท้ายของโลกเก่าที่ยุ่งยากลำบากนี้.—อ่านมัดธาย 6:9, 10.
8. ชาติต่าง ๆ ที่สมคบกันคิดร้ายต่อชาติอิสราเอลมีความมุ่งหมายอะไร?
8 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญยกคำพูดของบรรดาศัตรูของชาติอิสราเอลที่บอกว่า “มาเถิด, ให้เราผลาญพวกนั้นเสียอย่าให้ตั้งเป็นประเทศได้; เพื่อชื่อเสียงพวกยิศราเอลจะไม่เป็นที่ระลึกถึงต่อไปอีก.” (เพลง. 83:4) ชาติเหล่านั้นจงเกลียดจงชังประชาชนที่พระเจ้าทรงเลือกจริง ๆ! แต่มีแรงกระตุ้นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเขาสมคบกันคิดร้ายต่อชาติอิสราเอล. พวกเขาอยากได้ดินแดนของชาติอิสราเอลและคุยโตว่า “ให้เรายื้อแย่งที่ประทับของพระเจ้าไว้เป็นที่ของเราเถิด.” (เพลง. 83:12) มีบางสิ่งคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นในสมัยของเราด้วยไหม? มี!
“ที่สถิตอันบริสุทธิ์ของพระองค์”
9, 10. (ก) ในสมัยโบราณ ที่สถิตอันบริสุทธิ์ของพระเจ้าคือที่ใด? (ข) ชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” ได้รับพระพรอะไรบ้างในทุกวันนี้?
9 ในสมัยโบราณ แผ่นดินที่ทรงสัญญาถูกกล่าวถึงว่าเป็นที่สถิตอันบริสุทธิ์ของพระเจ้า. ขอให้นึกถึงเพลงแห่งชัยชนะที่ชาวอิสราเอลร้องหลังจากได้รับการช่วยให้เป็นอิสระจากอียิปต์ ที่ว่า “พระองค์ได้ทรงพระกรุณานำหน้าพลไพร่ซึ่งพระองค์ได้ทรงไถ่ไว้. พระองค์ได้ทรงพาเขามาถึงที่สถิตอันบริสุทธิ์ของพระองค์โดยเดชานุภาพของพระองค์.” (เอ็ก. 15:13) ต่อมา “ที่สถิตอันบริสุทธิ์” นั้นก็มีพระวิหารตั้งอยู่พร้อมกับคณะปุโรหิตและเมืองหลวงคือกรุงเยรูซาเลม รวมทั้งกษัตริย์หลายองค์ที่สืบราชสมบัติต่อจากดาวิดซึ่งนั่งบนราชบัลลังก์ของพระยะโฮวา. (1 โคร. 29:23) จึงนับว่าเหมาะเจาะทีเดียวที่พระเยซูทรงเรียกกรุงเยรูซาเลมว่า “ราชธานีของพระมหากษัตริย์.”—มัด. 5:35.
10 จะว่าอย่างไรสำหรับสมัยของเรา? ในสากลศักราช 33 ชาติใหม่คือ “อิสราเอลของพระเจ้า” ถือกำเนิดขึ้น. (กลา. 6:16) ชาตินี้ ซึ่งประกอบด้วยพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระเยซูคริสต์ ได้ทำงานที่ชาติอิสราเอลโดยกำเนิดทำไม่สำเร็จ คือการเป็นพยานที่เชิดชูพระนามของพระเจ้า. (ยซา. 43:10; 1 เป. 2:9) พระยะโฮวาประทานคำสัญญาแก่พวกเขาอย่างเดียวกับที่เคยประทานแก่ชาติอิสราเอลโบราณว่า “เราจะเป็นพระเจ้าของพวกเขาและพวกเขาจะเป็นประชาชนของเรา.” (2 โค. 6:16; เลวี. 26:12) ในปี 1919 พระยะโฮวาทรงนำชนที่เหลือของ “อิสราเอลของพระเจ้า” เข้าสู่ฐานะที่พระองค์ทรงโปรดปราน และในตอนนั้นเองที่พวกเขาได้ครอบครอง “แผ่นดิน” ซึ่งก็คือขอบข่ายแห่งกิจกรรมฝ่ายวิญญาณซึ่งทำให้พวกเขาอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณ. (ยซา. 66:8) นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 “แกะอื่น” หลายล้านคนได้พากันเข้ามาสมทบกับพวกเขา. (โย. 10:16) ความสุขและความรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณของคริสเตียนเหล่านี้ในสมัยปัจจุบันให้หลักฐานอันทรงพลังถึงความถูกต้องเที่ยงธรรมของการปกครองของพระยะโฮวา. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 91:1, 2.) นั่นทำให้ซาตานโกรธมาก!
11. ศัตรูของพระเจ้ายังคงมีเป้าหมายหลักอะไร?
11 ตลอดช่วงอวสานนี้ ซาตานได้กระตุ้นตัวแทนของมันที่อยู่บนโลกให้ต่อต้านชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิมและแกะอื่นสหายของพวกเขา. การต่อต้านดังกล่าวเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกที่นาซีปกครองและในยุโรปตะวันออกที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตปกครอง. การต่อต้านเช่นนั้นเกิดขึ้นในอีกหลายดินแดนด้วย และจะเกิดขึ้นอีกโดยเฉพาะเมื่อถึงช่วงที่โกกแห่งมาโกกโจมตีครั้งสุดท้าย. ในการโจมตีนั้น พวกผู้ต่อต้านอาจยึดทรัพย์สินของประชาชนของพระยะโฮวาเหมือนกับที่พวกศัตรูได้ทำในสมัยอดีต. แต่ที่เป็นเป้าหมายหลักของซาตานเสมอได้แก่การทำให้พวกเราแตกกันเพื่อจะไม่มีใครจำชื่อที่พระเจ้าประทานแก่เราในฐานะประชาชนของพระองค์ได้อีกต่อไป. พระยะโฮวาทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการท้าทายพระบรมเดชานุภาพของพระองค์เช่นนั้น? ขอให้พิจารณาคำกล่าวของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอีกครั้งหนึ่ง.
รูปแบบชัยชนะของพระยะโฮวา
12-14. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนถึงชัยชนะสองครั้งใดอันมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ เมืองเมกิดโด?
12 ขอให้สังเกตว่าผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญมีความเชื่ออันเข้มแข็งในเรื่องความสามารถของพระยะโฮวาที่จะขัดขวางแผนการของชาติศัตรูทั้งหลาย. ในบทเพลงสรรเสริญ เขากล่าวรวม ๆ กันถึงชัยชนะที่เด็ดขาดสองครั้งของชาติอิสราเอลเหนือเหล่าศัตรูใกล้ ๆ กับเมกิดโดอันเป็นเมืองโบราณซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ในที่ราบหุบเขาชื่อเดียวกัน. ในช่วงฤดูร้อน จะเห็นท้องแม่น้ำคีโชนที่เหือดแห้งคดเคี้ยวเลี้ยวลดไปตามที่ราบหุบเขานี้. หลังจากฝนตกหนักในฤดูหนาว แม่น้ำนี้ก็จะเอ่อท่วมที่ราบแห่งนี้. อาจเป็นเพราะเหตุนี้ซึ่งทำให้แม่น้ำแห่งนี้ถูกเรียกด้วยว่า “แม่น้ำมะฆีโด [เมกิดโด].”—วินิจ. 4:13; 5:19.
13 จากเมืองเมกิดโดข้ามหุบเขาไปประมาณ 15 กิโลเมตรก็จะเป็นที่ตั้งของภูเขาโมเรห์ ซึ่งในสมัยผู้วินิจฉัยกิดโอนกองทัพผสมของพวกมิดยาน, อะมาเลค, และชนชาวเขตตะวันออกได้รวมตัวกันทำสงครามกับชาติอิสราเอล. (วินิจ. 7:1, 12) กองทัพเล็ก ๆ ของกิดโอนในที่สุดมีจำนวนทหารเพียง 300 คน แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา พวกเขาเอาชนะกองทัพใหญ่ของศัตรูได้อย่างง่ายดาย. โดยวิธีใด? โดยทำตามการชี้นำจากพระเจ้า พวกเขาโอบล้อมค่ายศัตรูตอนกลางคืน มือถือหม้อที่ครอบคบเพลิงซ่อนไว้. เมื่อกิดโอนให้สัญญาณ คนของเขาก็ต่อยหม้อให้แตกทำให้เห็นคบเพลิงที่ซ่อนไว้ทันที. ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็เป่าแตรและตะโกนว่า “กระบี่พระยะโฮวาและฆิดโอน!” ยุทธวิธีนี้ทำให้ศัตรูแตกตื่นและหันมาฆ่ากันเอง; ส่วนคนที่รอดชีวิตได้หนีข้ามแม่น้ำจอร์แดนไป. ในช่วงเวลานี้เอง ก็มีชาวอิสราเอลมาเสริมทัพแล้วไล่ตามศัตรูไป. รวมแล้วมีทหารศัตรูทั้งหมด 120,000 คนถูกฆ่า.—วินิจ. 7:19-25; 8:10.
14 จากเมกิดโด ข้ามหุบเขาเลยภูเขาโมเรห์ไปประมาณหกกิโลเมตรก็จะเป็นที่ตั้งของภูเขาทาโบร์. ที่นั่น ก่อนหน้านั้นผู้วินิจฉัยบาราคได้รวบรวมกองทัพชาวอิสราเอล 10,000 คนมารบกับกองทัพของยาบิน เจ้าเมืองฮาโซร์ชาวคะนาอัน ซึ่งอยู่ใต้การบัญชาการของแม่ทัพซีซะรา. กองทัพคะนาอันมีรถรบ 900 คันซึ่งติดใบมีดยาวสังหารไว้ที่ล้อรถ. ขณะที่กองทัพของอิสราเอลซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์น้อยมากรวมตัวกันบนภูเขาทาโบร์ กองทัพของซีซะราจึงได้เข้ามาที่หุบเขานี้ด้วยความมั่นใจว่าจะเอาชนะพวกเขาได้. จากนั้น “พระยะโฮวาให้ซีซะรา, และรถ, และพลโยธา, พ่ายแพ้.” ดูเหมือนว่าเกิดฝนตกกะทันหันซึ่งทำให้รถรบติดหล่มโคลนเนื่องจากแม่น้ำคีโชนที่ไหลหลากมา. ทั้งกองทัพถูกชาวอิสราเอลฆ่าจนหมดสิ้น.—วินิจ. 4:13-16; 5:19-21.
15. (ก) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาทำอะไร? (ข) ชื่อสงครามสุดท้ายของพระเจ้าทำให้เรานึกถึงอะไร?
15 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญวิงวอนขอพระยะโฮวาให้ทำบางสิ่งคล้าย ๆ กันนั้นกับชาติต่าง ๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติอิสราเอลในสมัยของเขา. เขาอธิษฐานว่า “ขอทรงกระทำแก่เขาเหมือนพระองค์ได้ทรงกระทำแก่พวกมิดยาน, พวกซีซะรา, พวกยาบินที่ลำธารคีโซน; ซึ่งต้องพินาศที่ตำบลเอนโดร, กลายเป็นเหมือนหยากเยื่อที่พื้นแผ่นดิน.” (เพลง. 83:9, 10) น่าสนใจที่สงครามสุดท้ายของพระเจ้ากับโลกของซาตานมีชื่อว่าฮาร์มาเกโดน (หมายถึง “ภูเขาแห่งเมกิดโด”) หรืออาร์มาเก็ดดอน. ชื่อนี้ทำให้เรานึกถึงการสู้รบขั้นเด็ดขาดที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ กับเมกิดโด. ชัยชนะของพระยะโฮวาในสงครามเหล่านั้นในสมัยโบราณเป็นการรับรองกับเราว่าพระองค์จะมีชัยอย่างแน่นอนในสงครามอาร์มาเก็ดดอน.—วิ. 16:13-16.
จงอธิษฐานขอให้อำนาจปกครองของพระยะโฮวาได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง
16. หน้าของพวกผู้ต่อต้าน “มีความอาย” อย่างไรในปัจจุบัน?
16 ตลอด “สมัยสุดท้าย” นี้ พระยะโฮวาได้ขัดขวางความพยายามทุกอย่างที่มุ่งจะกำจัดประชาชนของพระองค์. (2 ติโม. 3:1) ผลก็คือ ผู้ต่อต้านทั้งหลายถูกทำให้อับอาย. บทเพลงสรรเสริญ 83:16 (ฉบับแปลใหม่) บอกล่วงหน้าอย่างนั้นเมื่อกล่าวว่า “ทรงให้หน้าของเขามีความอาย ข้าแต่พระเจ้า เพื่อเขาจะได้แสวงพระนามของพระองค์.” ในประเทศแล้วประเทศเล่า เหล่าศัตรูได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการพยายามทำให้พยานพระยะโฮวาเงียบเสียง. ในประเทศเหล่านั้น ความมั่นคงแน่วแน่และความเพียรอดทนของผู้นมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวเป็นการให้คำพยานอย่างดีแก่คนที่มีหัวใจสุจริต และหลายคน ‘ได้แสวงพระนามพระยะโฮวา.’ ในบางดินแดนที่พยานพระยะโฮวาเคยถูกข่มเหงอย่างรุนแรง เดี๋ยวนี้มีผู้สรรเสริญพระยะโฮวาอย่างมีความสุขอยู่หลายหมื่นคน และในบางแห่งมีหลายแสนคนด้วยซ้ำ. นับเป็นชัยชนะจริง ๆ สำหรับพระยะโฮวา! และเป็นเรื่องน่าอับอายสักเพียงไรสำหรับศัตรูของพระองค์!—อ่านยิระมะยา 1:19.
17. พวกผู้ต่อต้านยังมีโอกาสอะไรอยู่ซึ่งในไม่ช้าจะปิดลง และเราจะนึกขึ้นได้ถึงคำกล่าวอะไร?
17 แน่นอน เรารู้ว่าสงครามยังไม่จบ. และเราประกาศข่าวดีต่อ ๆ ไป—แม้แต่กับคนที่ต่อต้านเรา. (มัด. 24:14, 21) อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ในเวลานี้ยังเปิดอยู่ให้ผู้ต่อต้านเหล่านั้นกลับใจและได้รับความรอดจะปิดลงในไม่ช้า. การทำให้พระนามพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าความรอดของมนุษย์มาก. (อ่านยะเอศเคล 38:23.) เมื่อชาติทั้งหมดในโลกรวมตัวกันเพื่อพยายามทำลายประชาชนของพระเจ้าตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้า เราจะนึกขึ้นได้ถึงคำอธิษฐานของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “ให้เขาทั้งหลายอับอายและสะดุ้งกลัวอยู่เป็นนิตย์; พระองค์เจ้าค่ะ, ขอให้เขาเกิดอลหม่านและวินาศไป.”—เพลง. 83:17.
18, 19. (ก) ในอีกไม่ช้าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่ต่อต้านอำนาจปกครองของพระยะโฮวาอย่างไม่ละลด? (ข) คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการพิสูจน์ความถูกต้องในเรื่องอำนาจปกครองของพระยะโฮวาในขั้นสุดยอดที่ใกล้จะถึง?
18 ผู้ที่ต่อต้านพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาอย่างไม่ละลดจะพบจุดจบอันน่าอัปยศอดสู. พระคำของพระเจ้าเปิดเผยว่าคนที่ “ไม่เชื่อฟังข่าวดี”—ซึ่งเพราะเหตุนั้นจึงถูกประหารในอาร์มาเก็ดดอน—จะถูกลงโทษให้ “พินาศตลอดไป.” (2 เทส. 1:7-9) ความพินาศของพวกเขาและความรอดของคนที่นมัสการพระยะโฮวาจะเป็นหลักฐานยืนยันว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว. ในโลกใหม่ ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ดังกล่าวนี้จะไม่มีวันเลือนไปจากความทรงจำ. ‘คนชอบธรรมและคนไม่ชอบธรรมที่กลับเป็นขึ้นจากตาย’ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา. (กิจ. 24:15) ในโลกใหม่ พวกเขาจะเห็นหลักฐานที่ทำให้มั่นใจว่าการดำเนินชีวิตอยู่ใต้อำนาจปกครองของพระยะโฮวาเป็นแนวทางแห่งปัญญา. และคนอ่อนน้อมในหมู่พวกเขาจะมั่นใจอย่างรวดเร็วว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว.
19 ช่างเป็นอนาคตอันยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่พระบิดาของเราที่อยู่ในสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรักได้จัดเตรียมไว้สำหรับผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระองค์! นั่นคงกระตุ้นใจคุณให้อธิษฐานขอให้พระยะโฮวาประทานคำตอบขั้นสุดยอดในเร็ว ๆ นี้ต่อคำอธิษฐานของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ที่ว่า “ขอให้ [ศัตรูของพระองค์] เกิดอลหม่านและวินาศไป; เพื่อให้เขารู้ว่าพระองค์ผู้เดียว, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.”—เพลง. 83:17, 18.
[เชิงอรรถ]
a ก่อนพิจารณาบทความนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ที่คุณจะอ่านบทเพลงสรรเสริญบท 83 เพื่อทำความคุ้นเคยกับเนื้อหาของบทนี้.
คุณอธิบายได้ไหม?
• ชาวอิสราเอลเผชิญกับสถานการณ์เช่นไรเมื่อมีการเขียนบทเพลงสรรเสริญบท 83?
• ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 83 เป็นห่วงเรื่องใดมากที่สุด?
• ใครตกเป็นเป้าที่ซาตานมุ่งร้ายในปัจจุบัน?
• ในที่สุดพระยะโฮวาจะตอบคำอธิษฐานที่กล่าวไว้ในบทเพลงสรรเสริญ 83:18 อย่างไร?
[แผนที่หน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
การรบที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ กับเมืองเมกิดโดโบราณเกี่ยวข้องอย่างไรกับอนาคตของเรา?
แม่น้ำคีโชน
ฮาโรเชท
ภ. คาร์เมล
หุบเขายิศเรเอล
เมกิดโด
ทานัค
ภ. กิลโบอา
บ่อน้ำฮาโรด
ภ. โมเรห์
เอน-โดร์
ภ. ทาโบร์
ทะเลแกลิลี
แม่น้ำจอร์แดน
[ภาพหน้า 12]
อะไรกระตุ้นผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญให้แต่งเพลงที่เป็นคำอธิษฐานจากหัวใจ?