พระยะโฮวาทรงสอนเราให้นับวันคืนของเรา
“ขอทรงโปรดสอนให้ข้าพเจ้านับวันคืนทั้งหลายของพวกข้าพเจ้าเป็น, เพื่อจะได้มีใจประกอบไปด้วยสติปัญญา.”—บทเพลงสรรเสริญ 90:12.
1. เหตุใดจึงเหมาะสมที่จะทูลขอให้พระยะโฮวาสอนเราเกี่ยวกับวิธี ‘นับวันคืนทั้งหลายของเรา’?
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นพระผู้สร้างและพระผู้ประทานชีวิต. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9; วิวรณ์ 4:11) ด้วยเหตุนั้น ไม่มีผู้ใดจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าพระองค์ในการสอนเราเกี่ยวกับวิธีใช้วันเวลาในชีวิตอย่างฉลาดสุขุม. ดังนั้น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญจึงวิงวอนต่อพระเจ้าอย่างเหมาะสมว่า “ขอทรงโปรดสอนให้ข้าพเจ้านับวันคืนทั้งหลายของพวกข้าพเจ้าเป็น, เพื่อจะได้มีใจประกอบไปด้วยสติปัญญา.” (บทเพลงสรรเสริญ 90:12) เพลงสรรเสริญบท 90 ซึ่งเราพบคำวิงวอนดังกล่าว เป็นบทที่เราสมควรจะพิจารณาโดยละเอียดอย่างแน่นอน. แต่ก่อนอื่น ขอให้เราดูเนื้อหาคร่าว ๆ ของบทเพลงที่เขียนขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้านี้ก่อน.
2. (ก) ใครได้รับการระบุชื่อว่าเป็นผู้แต่งเพลงสรรเสริญบท 90 และเพลงสรรเสริญบทนี้อาจเขียนขึ้นเมื่อไร? (ข) เพลงสรรเสริญบท 90 ควรก่อผลอย่างไรต่อทัศนะของเราในเรื่องชีวิต?
2 จ่าหน้าเพลงสรรเสริญบท 90 ระบุไว้ว่าเป็น “คำอธิษฐานของโมเซ คนของพระเจ้าเที่ยงแท้.” เนื่องจากเพลงบทนี้เน้นว่าชีวิตมนุษย์นั้นแสนสั้น จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะแต่งหลังจากชาวอิสราเอลได้รับการช่วยให้รอดจากการเป็นทาสในอียิปต์ ระหว่างช่วง 40 ปีที่เดินทางรอนแรมในถิ่นทุรกันดาร เมื่อหลายแสนคนเสียชีวิตและชั่วอายุที่ขาดความเชื่อถึงที่สิ้นสุด. (อาฤธโม 32:9-13) ไม่ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเช่นไร เพลงสรรเสริญบท 90 ชี้ว่าชีวิตมนุษย์ไม่สมบูรณ์นั้นสั้น. ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าเราควรใช้วันเวลาอันมีค่าในชีวิตของเราอย่างฉลาดสุขุม.
3. เนื้อหาหลักของเพลงสรรเสริญบท 90 คืออะไร?
3 ข้อ 1 ถึง 6 ในเพลงสรรเสริญบท 90 บอกว่าพระยะโฮวาทรงเป็นที่อาศัยถาวรของเรา. ข้อ 7 ถึง 12 ชี้ว่าเราจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อใช้เวลาในชีวิตของเราซึ่งผันผ่านไปอย่างรวดเร็วในแบบที่พระองค์ทรงยอมรับได้. และดังแสดงไว้ในข้อ 13 ถึง 17 เราปรารถนาอย่างจริงจังที่จะเป็นผู้ได้รับความรักกรุณาและพระพรจากพระยะโฮวา. แน่นอน เพลงสรรเสริญบทนี้ไม่ได้บอกล่วงหน้าถึงประสบการณ์ของเราแต่ละคนที่เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม เราเองควรใส่ใจเจตคติอันเปี่ยมด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าซึ่งแสดงไว้ในเพลงบทนี้ในรูปคำอธิษฐาน. ดังนั้น ให้เรามาพิจารณาเพลงสรรเสริญบท 90 อย่างละเอียดด้วยสายตาของคนที่อุทิศตัวแด่พระเจ้า.
พระยะโฮวา—“ที่อาศัยอันแท้จริง” ของเรา
4-6. พระยะโฮวาทรงเป็น “ที่อาศัยอันแท้จริง” สำหรับเราอย่างไร?
4 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเริ่มด้วยคำกล่าวที่ว่า “โอ้ พระยะโฮวา พระองค์เองได้พิสูจน์ว่าเป็นที่อาศัยอันแท้จริงสำหรับข้าพเจ้าทั้งหลายชั่วอายุแล้วชั่วอายุเล่า. ก่อนภูเขาทั้งหลายได้บังเกิด หรือก่อนพระองค์ให้กำเนิดแผ่นดินโลกและแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ เสมือนหญิงเจ็บครรภ์คลอดบุตร ถูกแล้ว พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าตั้งแต่เวลาไม่กำหนดจนกระทั่งเวลาไม่กำหนด.”—บทเพลงสรรเสริญ 90:1, 2, ล.ม.
5 สำหรับเราแล้ว พระยะโฮวา “พระเจ้าผู้ทรงดำรงชั่วนิรันดร์” ทรงเป็น “ที่อาศัยอันแท้จริง” หรือที่คุ้มภัยฝ่ายวิญญาณ. (โรม 16:26, ล.ม.) เรารู้สึกมั่นคงเพราะพระองค์ทรงอยู่พร้อมเสมอที่จะช่วยเราในฐานะที่ทรงเป็น “ผู้สดับคำอธิษฐาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) เนื่องจากเราฝากความกระวนกระวายของเราไว้กับพระบิดาฝ่ายสวรรค์โดยทางพระบุตรผู้เป็นที่รักของพระองค์ ‘สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของเราไว้.’—ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.; มัดธาย 6:9; โยฮัน 14:6, 14.
6 เรามีความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณ เพราะกล่าวโดยนัยได้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “ที่อาศัยอันแท้จริง” สำหรับเรา. นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงจัด “ห้องชั้นใน” ให้—ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับประชาคมต่าง ๆ แห่งไพร่พลของพระองค์—เพื่อเป็นที่คุ้มภัยฝ่ายวิญญาณซึ่งผู้เลี้ยงแกะที่เปี่ยมด้วยความรักมีส่วนอย่างมากทำให้เรารู้สึกปลอดภัย. (ยะซายา 26:20; 32:1, 2; กิจการ 20:28, 29) นอกจากนั้น บางคนในพวกเรายังมาจากครอบครัวที่มีประวัติยาวนานในการรับใช้พระเจ้าและได้มีประสบการณ์โดยตรงกับพระองค์ในฐานะ ‘ที่อาศัยอันแท้จริงชั่วอายุแล้วชั่วอายุเล่า.’
7. ภูเขาทั้งหลายได้ “บังเกิด” และพระเจ้าทรงให้กำเนิดแผ่นดินโลกราวกับ “หญิงเจ็บครรภ์คลอดบุตร” ในแง่ใด?
7 พระยะโฮวาทรงดำรงอยู่ก่อนภูเขาทั้งหลายได้ “บังเกิด” หรือก่อนพระองค์ทรงให้กำเนิดแผ่นดินโลกเสมือน “หญิงเจ็บครรภ์คลอดบุตร.” เมื่อมองจากแง่คิดของมนุษย์ การสร้างแผ่นดินโลกนี้พร้อมกับลักษณะ, องค์ประกอบทางเคมี, และกลไกอันซับซ้อนทุกอย่างต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก. และโดยที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่าภูเขา “บังเกิด” และพระเจ้าทรงให้กำเนิดแผ่นดินโลกเสมือน “หญิงเจ็บครรภ์คลอดบุตร” ท่านแสดงความนับถืออย่างยิ่งต่อพระยะโฮวาสำหรับงานมากมายที่พระองค์ต้องจัดการเมื่อทรงสร้างสิ่งเหล่านี้. เราควรมีความนับถือและความหยั่งรู้ค่าคล้าย ๆ กันนี้มิใช่หรือต่อพระยะโฮวาสำหรับพระหัตถกิจเหล่านี้ของพระองค์?
พระยะโฮวาทรงอยู่พร้อมเสมอจะช่วยเรา
8. คำกล่าวที่ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้า “ตั้งแต่เวลาไม่กำหนดจนกระทั่งเวลาไม่กำหนด” หมายความอย่างไร?
8 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าตั้งแต่เวลาไม่กำหนดจนกระทั่งเวลาไม่กำหนด.” “เวลาไม่กำหนด” อาจใช้ในการกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีที่สิ้นสุด แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลา. (เอ็กโซโด 31:16, 17; เฮ็บราย 9:15) แต่ที่บทเพลงสรรเสริญ 90:2 (ล.ม.) และที่อื่น ๆ บางแห่งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู “เวลาไม่กำหนด” หมายถึง “ตลอดไป.” (ท่านผู้ประกาศ 1:4) ความคิดของเราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นไปได้อย่างไรที่พระเจ้าทรงดำรงอยู่เสมอมา. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาไม่มีเบื้องต้นและจะไม่มีเบื้องปลาย. (ฮะบาฆูค 1:12) พระองค์จะทรงพระชนม์ชีพอยู่เสมอไปและทรงพร้อมจะช่วยเรา.
9. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเทียบพันปีแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ว่าเท่ากับอะไร?
9 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้รับการดลใจให้กล่าวเทียบการดำรงอยู่ของมนุษย์ในช่วงหนึ่งพันปีว่าเท่ากับประสบการณ์ในชั่วเวลาที่สั้นมากของพระผู้สร้างองค์ถาวร. ท่านเขียนกล่าวถึงพระเจ้าดังนี้: “พระองค์ทรงบันดาลให้มนุษย์โลกกลับเป็นผงคลีดิน, และตรัสว่า, ลูกหลานมนุษย์เอ๋ย, จงกลับคืนเถิด. เพราะในพระเนตรของพระองค์พันปีก็เหมือนเวลาวานนี้ที่ล่วงไปแล้วและเหมือนยามเดียวในเวลากลางคืน.”—บทเพลงสรรเสริญ 90:3, 4.
10. พระเจ้าทรงทำให้มนุษย์ “กลับเป็นผงคลีดิน” อย่างไร?
10 มนุษย์ต้องตาย และพระเจ้าทรงทำให้เขา “กลับเป็นผงคลีดิน.” ที่จริง พระยะโฮวาตรัสว่า ‘เจ้าต้องกลับไปเป็นดินเพราะเจ้าถูกสร้างมาจากดิน.’ (เยเนซิศ 2:7; 3:19) ข้อนี้ใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าแข็งแรงหรืออ่อนแอ รวยหรือจน เพราะมนุษย์ไม่สมบูรณ์คนใด ๆ ‘ไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใด ๆ ก็ไถ่ชีวิตน้องชายของเขาไม่ได้, หรือจะเอาทรัพย์ถวายพระเจ้าเพื่อไถ่ชีวิตน้องให้มีชีวิตนิรันดร์ก็ไม่ได้.’ (บทเพลงสรรเสริญ 49:6-9) แต่เราขอบพระคุณสักเพียงไรที่ ‘พระเจ้าทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์นั้นจะมีชีวิตนิรันดร์’!—โยฮัน 3:16, ล.ม.; โรม 6:23.
11. เหตุใดเรากล่าวได้ว่าเวลาอันยาวนานสำหรับเรานั้นสั้นมากสำหรับพระเจ้า?
11 จากมุมมองของพระยะโฮวา แม้แต่มะธูเซลาที่อายุยืนถึง 969 ปีมีชีวิตไม่ถึงหนึ่งวัน. (เยเนซิศ 5:27) สำหรับพระเจ้าแล้ว พันปีก็เป็นแต่เพียงวันวาน—ช่วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมง—ที่ผ่านไป. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญยังกล่าวด้วยว่าสำหรับพระเจ้าแล้ว พันปีเป็นเหมือนกับเวรยามสี่ชั่วโมง ณ ค่ายพักในเวลากลางคืน. (วินิจฉัย 7:19) ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าเวลาอันยาวนานสำหรับเรานั้นสั้นมากสำหรับพระยะโฮวา พระเจ้าองค์ถาวร.
12. มนุษย์ถูกพระเจ้า ‘กวาดไป’ อย่างไร?
12 เมื่อเทียบกับการดำรงอยู่ตลอดกาลของพระเจ้าแล้ว ชีวิตมนุษย์ในปัจจุบันสั้นจริง ๆ. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “พระองค์ทรงกวาดเขาไปเสียเช่นน้ำท่วมกวาดไป; เหมือนนอนหลับไปงีบเดียว: ครั้นเวลาเช้าเขาก็เหมือนต้นหญ้าที่งอกขึ้น. ในเวลาเช้ามันก็สดใสเบิกบาน; ครั้นเวลาเย็นก็ถูกหวดลง, เหี่ยวแห้งไป.” (บทเพลงสรรเสริญ 90:5, 6) โมเซเห็นชาวอิสราเอลหลายแสนคนตายในถิ่นทุรกันดาร ถูกพระเจ้า ‘กวาดไป’ ราวกับในน้ำท่วม. ฉบับแปลหนึ่งแปลเพลงสรรเสริญส่วนนี้ว่า “พระองค์ทรงกวาดมนุษย์ไปเสียในความหลับใหลมรณา.” (ฉบับแปลนิว อินเตอร์แนชันแนล) ในอีกด้านหนึ่ง ช่วงชีวิตของมนุษย์ไม่สมบูรณ์เป็นเพียงแค่ช่วงสั้น ๆ ของการ “นอนหลับไปงีบเดียว” เทียบได้กับการนอนหลับชั่วคืนเดียว.
13. เราเป็น “เหมือนต้นหญ้า” อย่างไร และเรื่องนี้ควรส่งผลอย่างไรต่อแนวคิดของเรา?
13 เราเป็น ‘เหมือนต้นหญ้าที่ออกดอกตอนเช้า’ แต่เมื่อถึงตอนเย็นก็เหี่ยวแห้งไปเนื่องด้วยความร้อนกล้าของแสงอาทิตย์. ถูกแล้ว ชีวิตเราสั้นเหมือนต้นหญ้าที่เหี่ยวแห้งไปในวันเดียว. ด้วยเหตุนั้น ขอเราอย่าได้ผลาญเวลาอันมีค่าให้สูญเปล่า. แทนที่จะทำอย่างนั้น เราควรแสวงหาการชี้นำจากพระเจ้าเกี่ยวกับวิธีที่เราควรใช้วันเวลาในชีวิตที่เหลืออยู่ในระบบนี้.
พระยะโฮวาทรงช่วยเรา ‘ให้นับวันคืนของเราเป็น’
14, 15. บทเพลงสรรเสริญ 90:7-9 สำเร็จอย่างไรกับชาวอิสราเอล?
14 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเจ้าว่า “พวกข้าพเจ้าเสื่อมเสียไปเพราะความกริ้วของพระองค์, และเพราะความพิโรธของพระองค์ข้าพเจ้าก็เดือดร้อน. พระองค์ได้ทรงตั้งการอสัตย์อธรรมของพวกข้าพเจ้าไว้ต่อพระพักตร์พระองค์, และทรงตั้งการผิดอันลับลึกนั้นให้แจ้งอยู่ในแสงสว่างแห่งพระพักตร์ของพระองค์. เพราะวันคืนของพวกข้าพเจ้าล่วงไปหมดโดยถูกความพิโรธของพระองค์: ปีเดือนทั้งหลายของพวกข้าพเจ้าย่อมสิ้นไปดุจเสียงถอนใจ [“เสียงกระซิบ,” ล.ม.].”—บทเพลงสรรเสริญ 90:7-9.
15 ชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ ‘เสื่อมเสียไปเพราะความกริ้วของพระเจ้า.’ พวกเขา ‘เดือดร้อนเพราะความพิโรธของพระองค์’ หรือ ‘ตกใจกลัวเพราะความขุ่นเคืองของพระองค์.’ (ฉบับแปลนิว อินเตอร์แนชันแนล) บางคน “ล้มตายกลาดเกลื่อนอยู่ในป่า” เพราะการพิพากษาของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 10:5) พระยะโฮวา ‘ทรงตั้งการอสัตย์อธรรมของพวกเขาไว้ต่อพระพักตร์ของพระองค์.’ พระองค์ทรงเรียกพวกเขามาให้การสำหรับการผิดอย่างเปิดเผยของพวกเขา ทว่าแม้แต่ “การผิดอันลึกลับ” ของพวกเขา หรือบาปที่ถูกปกปิดไว้ ก็อยู่ใน “แสงสว่างแห่งพระพักตร์ของพระองค์.” (สุภาษิต 15:3) ในฐานะเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงพิโรธ ปีเดือนทั้งหลายของชาวอิสราเอลที่ไม่กลับใจ “ย่อมสิ้นไปดุจเสียงกระซิบ.” ในเมื่อเป็นอย่างนั้น ชีวิตของเราเองที่แสนสั้นก็เป็นเหมือนกับลมหายใจที่ผ่านริมฝีปากของเราอย่างเป็นแต่เพียงเสียงกระซิบ.
16. หากมีใครได้ทำบาปอย่างลับ ๆ เขาควรทำอะไร?
16 หากมีใครในพวกเราทำบาปอย่างลับ ๆ เราอาจปิดบังการกระทำดังกล่าวไม่ให้เพื่อนมนุษย์รู้ได้ชั่วระยะหนึ่ง. แต่การทำผิดที่ถูกปิดบังไว้นั้นจะ ‘แจ้งอยู่ในแสงสว่างแห่งพระพักตร์ของพระยะโฮวา’ และการกระทำของเราย่อมทำให้สัมพันธภาพของเรากับพระองค์เสียหาย. เพื่อฟื้นฟูความใกล้ชิดกับพระยะโฮวา เราต้องอธิษฐานขอการให้อภัยจากพระองค์, ละเลิกการล่วงละเมิดของเรา, และยอมรับการช่วยเหลือทางฝ่ายวิญญาณจากผู้ปกครองคริสเตียนด้วยความรู้สึกขอบคุณ. (สุภาษิต 28:13; ยาโกโบ 5:14, 15) ดีกว่าสักเพียงไรที่จะไม่ปล่อยให้ ‘ปีเดือนของเราเป็นแต่เพียงเสียงกระซิบ’ และเสี่ยงต่อการสูญเสียความหวังของเราเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์!
17. ผู้คนโดยทั่วไปมีช่วงชีวิตสักเท่าไร และวันเวลาของเราเต็มไปด้วยอะไร?
17 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวเกี่ยวกับช่วงชีวิตของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ว่า “ในชั่วอายุของข้าพเจ้ามีสักเจ็ดสิบปีเท่านั้น, ถ้าแม้ว่ามีกำลังมากก็จะยืนได้ถึงแปดสิบปี; กำลังที่ตนอวดนั้นย่อมประกอบไปด้วยการลำบากและความทุกข์; เพราะไม่ช้าก็จะเสียไปและข้าพเจ้าทั้งหลายจะล่วงลับไป.” (บทเพลงสรรเสริญ 90:10) ผู้คนโดยทั่วไปมีช่วงชีวิตประมาณ 70 ปี และเมื่อคาเล็บมีอายุได้ 85 ปี ท่านกล่าวว่าท่านมีกำลังวังชาพิเศษกว่าปกติ. มีกรณียกเว้นอยู่บ้าง เช่น อาโรน (123 ปี), โมเซ (120 ปี), และยะโฮซูอะ (110 ปี). (อาฤธโม 33:39; พระบัญญัติ 34:7; ยะโฮซูอะ 14:6, 10, 11; 24:29) แต่สำหรับคนชั่วอายุที่ขาดความเชื่อซึ่งออกมาจากอียิปต์ ประชาชนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปตายภายในเวลา 40 ปี. (อาฤธโม 14:29-34) ปัจจุบัน ช่วงชีวิตของผู้คนโดยทั่วไปในหลายประเทศยังคงอยู่ในช่วงที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้กล่าวไว้. วันเวลาของเราเต็มไปด้วย “การลำบากและความทุกข์.” เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว “และข้าพเจ้าทั้งหลายจะล่วงลับไป.”—โยบ 14:1, 2.
18, 19. (ก) ‘การนับวันคืนทั้งหลายของเรา เพื่อจะได้มีใจประกอบไปด้วยสติปัญญา’ หมายความอย่างไร? (ข) การใช้สติปัญญาจะกระตุ้นเราให้ทำอะไร?
18 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงต่อไปดังนี้: “ใครจะรู้อำนาจแห่งความพิโรธของพระองค์, และความกริ้วของพระองค์พอเป็นที่ให้เกรงกลัวพระองค์ตามสมควร? เพราะฉะนั้นขอทรงโปรดสอนให้ข้าพเจ้านับวันคืนทั้งหลายของพวกข้าพเจ้าเป็น, เพื่อจะได้มีใจประกอบไปด้วยสติปัญญา.” (บทเพลงสรรเสริญ 90:11, 12) ไม่มีใครในพวกเราทราบอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับพลังแห่งพระพิโรธของพระเจ้าหรือขอบเขตแห่งความกริ้วของพระองค์ และนั่นน่าจะทำให้เรายำเกรงพระยะโฮวายิ่งขึ้น. ที่จริง นั่นน่าจะกระตุ้นเราให้ถามพระองค์ว่า “[เราจะ] นับวันเวลาของเราอย่างที่จะมีใจประกอบด้วยสติปัญญาได้อย่างไร.”
19 ถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเป็นคำอธิษฐานที่พระยะโฮวาทรงสอนไพร่พลของพระองค์เกี่ยวกับวิธีใช้สติปัญญาในการประเมินค่าและใช้วันเวลาที่เหลืออยู่ในแบบที่พระเจ้าทรงเห็นชอบ. ช่วงชีวิต 70 ปีที่คาดหวังได้คือเวลาประมาณ 25,500 วัน. แต่ไม่ว่าเราอายุเท่าไร ‘เราไม่รู้ว่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตของเราพรุ่งนี้ เพราะเราก็เป็นเหมือนหมอกที่ปรากฏอยู่แต่ประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็หายไป.’ (ยาโกโบ 4:13-15) เนื่องจาก ‘วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้าย่อมบังเกิดแก่เราทุกคน’ เราไม่อาจบอกได้ว่าชีวิตเราจะอยู่ต่อไปอีกนานเท่าไร. ด้วยเหตุนั้น ให้เราอธิษฐานขอสติปัญญาเพื่อจะรับมือการทดลองต่าง ๆ, ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม, และรับใช้พระยะโฮวาให้ดีที่สุดเสียแต่บัดนี้—ในวันนี้เลย! (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.; ยาโกโบ 1:5-8) พระยะโฮวาทรงนำทางเราโดยทางพระคำ, พระวิญญาณ, และองค์การของพระองค์. (มัดธาย 24:45-47; 1 โกรินโธ 2:10; 2 ติโมเธียว 3:16, 17) การใช้สติปัญญากระตุ้นเราให้ ‘แสวงหาราชอาณาจักรของพระเจ้าก่อน’ และให้ใช้วันเวลาของเราอย่างที่จะนำพระเกียรติมาสู่พระยะโฮวาและทำให้พระทัยของพระองค์ยินดี. (มัดธาย 6:25-33, ล.ม.; สุภาษิต 27:11) จริงอยู่ การนมัสการพระองค์อย่างสุดหัวใจจะไม่ขจัดปัญหาทุกอย่างของเราให้หมดไป แต่นั่นย่อมก่อให้เกิดความยินดีอย่างยิ่งแน่นอน.
พระพรของพระยะโฮวาทำให้เรายินดี
20. (ก) พระเจ้าทรง “เสียพระทัย” ในลักษณะใด? (ข) พระยะโฮวาจะทรงดำเนินการอย่างไรกับเราหากเราทำผิดพลาดร้ายแรงแต่แสดงการกลับใจอย่างแท้จริง?
20 ช่างจะวิเศษสักเพียงไรหากเราสามารถชื่นชมยินดีตลอดช่วงเวลาที่เหลือในชีวิตของเรา! โมเซทูลวิงวอนในเรื่องนี้ว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอเสด็จกลับมา, นานอีกสักเท่าไรพระองค์จึงจะเสด็จมา? ขอทรงกลับพระทัยเพื่อ [“เสียพระทัยเพราะ,” ล.ม.] พวกทาสของพระองค์. ขอทรงโปรดให้พวกข้าพเจ้าอิ่มใจในเวลาเช้าด้วยพระกรุณาคุณของพระองค์ [หรือ “ความรักภักดี,” ล.ม., เชิงอรรถ], เพื่อจะได้ชื่นชมยินดีตลอดวันคืนแห่งอายุของพวกข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 90:13, 14) พระเจ้าไม่ทรงมีข้อผิดพลาด. อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรง “เสียพระทัย” และ “หันหวน” จากพระพิโรธและการลงโทษ เมื่อคำเตือนของพระองค์ที่ให้ลงมือทำดังกล่าวทำให้ผู้ทำผิดที่กลับใจเปลี่ยนแปลงเจตคติและการกระทำของตน. (พระบัญญัติ 13:17) ดังนั้น แม้แต่เมื่อเราผิดพลาดอย่างร้ายแรงแต่ได้แสดงการกลับใจอย่างแท้จริง พระยะโฮวาจะทรง ‘ทำให้เราอิ่มใจด้วยพระกรุณาคุณของพระองค์’ และเราจะมีเหตุผลที่จะ “ชื่นชมยินดี.” (บทเพลงสรรเสริญ 32:1-5) และด้วยการติดตามแนวทางอันชอบธรรม เราจะรู้สึกได้ถึงความรักอันภักดีของพระเจ้าที่ทรงแสดงต่อเรา และจะสามารถ ‘ชื่นชมยินดีตลอดวันคืนแห่งอายุของเรา’ ซึ่งก็คือตลอดชีวิตของเรานั่นเอง.
21. ตามถ้อยคำที่บันทึกไว้ที่บทเพลงสรรเสริญ 90:15, 16 โมเซอาจกำลังทูลขออะไร?
21 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอธิษฐานอย่างจริงจังดังนี้: “ขอทรงโปรดให้พวกข้าพเจ้ามีใจยินดีเท่าวันคืนทั้งหลายที่พระองค์ทรงบันดาลให้มีความทุกข์ยากแล้ว, และเท่ากับปีเดือนที่พวกข้าพเจ้าได้เห็นการร้ายนั้น. ขอทรงโปรดให้กิจการของพระองค์ปรากฏแจ้งแก่พวกทาสของเขานั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 90:15, 16) โมเซอาจกำลังทูลขอพระเจ้าเพื่อโปรดอวยพรชาติอิสราเอลให้ประสบความชื่นชมยินดีเท่า ๆ กับวันเวลาแห่งความทุกข์ลำบากที่พวกเขาได้ประสบภัยพิบัติ. ท่านทูลขอให้ “กิจการ” ของพระเจ้าในการอวยพรชาวอิสราเอลเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ผู้รับใช้ของพระองค์และสง่าราศีของพระองค์ปรากฏแจ้งแก่ลูกหลานของพวกเขา. เราก็สามารถอธิษฐานได้อย่างเหมาะสมขอให้พระพรเทลงเหนือมนุษยชาติที่เชื่อฟังในโลกใหม่ที่พระเจ้าทรงสัญญา.—2 เปโตร 3:13.
22. ตามที่กล่าวในบทเพลงสรรเสริญ 90:17 เป็นเรื่องเหมาะสมที่เราจะอธิษฐานขออะไร?
22 เพลงสรรเสริญบท 90 ปิดท้ายด้วยคำวิงวอนดังนี้: “ขอให้คุณงามความดีของพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกข้าพเจ้าอยู่กับข้าพเจ้า; ขอทรงบำรุงการหัตถกรรมของพวกข้าพเจ้าให้ตั้งมั่นคงอยู่; ขอโปรดตั้งการฝีมือของพวกข้าพเจ้าให้ถาวรด้วยเถิดพระเจ้าค่ะ.” (บทเพลงสรรเสริญ 90:17) ถ้อยคำดังกล่าวแสดงว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่เราจะอธิษฐานขอให้พระเจ้าทรงอวยพรความพยายามของเราในการรับใช้พระองค์. ในฐานะคริสเตียนผู้ถูกเจิมหรือ “แกะอื่น” สหายของพวกเขา เราชื่นใจยินดีที่ “คุณงามความดีของพระยะโฮวา” อยู่กับเรา. (โยฮัน 10:16) เรามีความสุขสักเพียงไรที่พระเจ้าได้ทรง ‘บำรุงหัตถกรรมของเราให้ตั้งมั่นคงอยู่’ ในฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักรและในด้านอื่น ๆ!
ขอให้เรานับวันคืนของเราต่อ ๆ ไป
23, 24. เราจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากการคิดรำพึงเกี่ยวกับเพลงสรรเสริญบท 90?
23 การคิดรำพึงเพลงสรรเสริญบท 90 น่าจะทำให้เราหมายพึ่งพระยะโฮวาผู้ทรงเป็น “ที่อาศัยอันแท้จริง” ของเรามากยิ่งขึ้น. โดยคิดใคร่ครวญคำกล่าวเกี่ยวกับชีวิตซึ่งแสนสั้น เราน่าจะสำนึกมากขึ้นเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะได้รับการชี้นำจากพระเจ้าในการนับวันคืนของเรา. และหากเราบากบั่นแสวงหาและสำแดงสติปัญญาของพระเจ้า เราจะเป็นผู้ที่ได้รับความรักกรุณาและพระพรจากพระยะโฮวาแน่นอน.
24 พระยะโฮวาจะทรงสอนเราอยู่เรื่อย ๆ ให้นับวันคืนของเรา. และหากเรายอมอ่อนน้อมต่อการสอนของพระองค์ เราจะสามารถนับวันคืนของเราได้ต่อ ๆ ไปจนชั่วนิรันดร์. (โยฮัน 17:3) แต่เพื่อที่เราจะรักษาภาพความหวังชีวิตนิรันดร์ไว้เสมอ เราต้องให้พระยะโฮวาเป็นที่พึ่งพำนักของเรา. (ยูดา 20, 21) ดังที่เราจะเห็นในบทความถัดไป จุดนี้แสดงไว้ชัดเจนมากในถ้อยคำที่ให้กำลังใจของเพลงสรรเสริญบท 91.
คุณจะตอบอย่างไร?
• พระยะโฮวาทรงเป็น “ที่อาศัยอันแท้จริง” สำหรับเราอย่างไร?
• เหตุใดเรากล่าวได้ว่าพระยะโฮวาทรงอยู่พร้อมเสมอที่จะช่วยเรา?
• พระยะโฮวาทรงช่วยเราอย่างไรให้ ‘นับวันคืนของเรา’?
• อะไรจะช่วยเราให้ ‘ชื่นชมยินดีตลอดวันคืนแห่งอายุของเรา’?
[ภาพหน้า 10]
พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้า “ก่อนภูเขาทั้งหลายได้บังเกิด”
[ภาพหน้า 12]
จากมุมมองของพระยะโฮวา มะธูเซลาซึ่งมีอายุ 969 ปีมีชีวิตไม่ถึงหนึ่งวัน
[ภาพหน้า 14]
พระยะโฮวาได้ ‘ทรงบำรุงหัตถกรรมของเราให้ตั้งมั่นคงอยู่’