เราจะทำให้วันคืนของเรามีค่าจำเพาะพระยะโฮวาได้อย่างไร?
“สองชั่วโมงทองซึ่งแต่ละนาทีมีค่าดุจเพชรได้หายไปวานนี้ ที่ไหนสักแห่งระหว่างเช้าถึงค่ำ. ไม่มีรางวัลให้ถ้าจะได้มันคืนมา เพราะมันผ่านไปตลอดกาล!”—ลิเดีย เอช. ซิเกอร์นีย์ นักเขียนชาวอเมริกัน (1791-1865).
วันคืนในชีวิตเราดูเหมือนมีน้อยและผ่านไปเร็วเหมือนติดปีกบิน. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ไตร่ตรองดูช่วงชีวิตที่สั้นและได้รับการกระตุ้นให้อธิษฐานว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอโปรดให้ข้าพเจ้ารู้ที่สุดปลายอายุของข้าพเจ้า, วันปีของข้าพเจ้าจะนานสักเท่าใด; ขอให้รู้ว่ากำลังของข้าพเจ้าอ่อนเพลียเพียงไร. ดูเถิด, พระองค์ทรงบันดาลให้วันคืนทั้งหลายของข้าพเจ้าสั้นเข้าเท่าฝ่ามือ; และชั่วอายุของข้าพเจ้าไม่เท่าไรเลยเฉพาะพระองค์.” ดาวิดเป็นห่วงเรื่องการดำเนินชีวิตในวิธีที่จะทำให้พระเจ้าพอพระทัย ทั้งโดยคำพูดและการกระทำของท่าน. โดยแสดงให้เห็นการพึ่งอาศัยในพระเจ้า ท่านกล่าวว่า “ความหวังใจของข้าพเจ้าก็อยู่ในพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 39:4, 5, 7) พระยะโฮวาทรงสดับฟัง. พระองค์ทรงพิจารณาดูการกระทำของดาวิดจริง ๆ และประทานบำเหน็จให้แก่ท่านตามนั้น.
เป็นเรื่องง่ายที่จะมีธุระยุ่งต่อเนื่องทั้งวันและติดกับอยู่ในชีวิตที่รีบเร่งและเต็มไปด้วยกิจการงาน. นี่อาจทำให้เราเกิดความเป็นห่วงกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีมากมายหลายสิ่งที่จะทำและประสบ แต่มีเวลาน้อยเหลือเกินที่จะทำสิ่งเหล่านั้น. เรามีความเป็นห่วงเหมือนดาวิดไหม คือดำเนินชีวิตอย่างที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า? แน่นอน พระยะโฮวาทรงสังเกตและพิจารณาดูเราแต่ละคนอย่างถี่ถ้วน. โยบ บุรุษผู้เกรงกลัวพระเจ้าได้ยอมรับราว ๆ 3,600 ปีมาแล้วว่า พระยะโฮวาทรงเห็นแนวทางของท่านและทรงพิจารณาดูการกระทำทั้งสิ้นของท่าน. โยบได้ถามโดยไม่ต้องการคำตอบว่า “เมื่อพระองค์ทรงสอบถาม ข้าจะทูลตอบพระองค์อย่างไร?” (โยบ 31:4-6, 14, ฉบับแปลใหม่) เป็นไปได้ที่จะทำให้วันคืนของเรามีค่าจำเพาะพระเจ้าโดยการจัดเอาสิ่งฝ่ายวิญญาณไว้เป็นอันดับแรก, เชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์, และใช้เวลาของเราอย่างฉลาด. ขอเราพิจารณาเรื่องเหล่านี้อย่างถี่ถ้วนยิ่งขึ้น.
จงจัดเรื่องฝ่ายวิญญาณไว้เป็นอันดับแรกของเรา
พระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจกระตุ้นเราอย่างเหมาะสมให้จัดเอาสิ่งฝ่ายวิญญาณไว้เป็นอันดับแรกเมื่อกล่าวว่า “[จง] ตรวจดูให้รู้แน่ถึงสิ่งที่สำคัญกว่า.” สิ่งที่สำคัญเหล่านี้คืออะไร? คำตอบเกี่ยวข้องกับ “ความรู้ถ่องแท้และความสังเกตเข้าใจครบถ้วน.” (ฟิลิปปอย 1:9, 10, ล.ม.) การได้มาซึ่งความรู้เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระยะโฮวาเรียกร้องให้เราใช้เวลาอย่างฉลาด. อย่างไรก็ดี การจัดเรื่องฝ่ายวิญญาณไว้เป็นอันดับแรกจะทำให้เราแน่ใจในเรื่องชีวิตที่ให้บำเหน็จและเป็นที่น่าพอใจ.
อัครสาวกเปาโลเตือนใจเราว่า “จงทำให้แน่ใจต่อ ๆ ไปว่า อะไรเป็นสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้ายอมรับ.” การที่เราทำให้แน่ใจ ต้องเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบตัวเองเกี่ยวกับแรงจูงใจและความปรารถนาในหัวใจของเรา. อัครสาวกกล่าวต่อไปว่า “จงสังเกตเข้าใจต่อไปว่าพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาเป็นเช่นไร.” (เอเฟโซ 5:10, 17, ล.ม.) ดังนั้น พระยะโฮวาทรงพบอะไรที่พระองค์ยอมรับ? สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลตอบว่า “พระปัญญาเป็นหลักเอก; เพราะฉะนั้นจงรับเอาพระปัญญาให้ได้; เออ, ให้สรรพสิ่งที่เจ้าหาได้นั้นให้มีความเข้าใจอยู่ด้วย, จงตีราคาพระปัญญาให้สูง, และพระปัญญาก็จะเลื่อนเจ้าขึ้นสู่ระดับสูง.” (สุภาษิต 4:7, 8) พระยะโฮวาทรงยินดีในบุคคลที่ได้มาซึ่งสติปัญญาของพระเจ้าและใช้สติปัญญานั้น. (สุภาษิต 23:15) ความงดงามแห่งสติปัญญาดังกล่าวคือการที่ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่จะพรากเอาไปไม่ได้หรือไม่สามารถทำลายได้. ที่จริง สติปัญญานั้นจะกลายเป็นเครื่องป้องกันและปกป้อง ‘พ้นจากแนวทางชั่วและจากคนที่พูดสิ่งเสื่อมทราม.’—สุภาษิต 2:10-15, ล.ม.
ดังนั้นแล้ว นับว่าฉลาดสักเพียงไรที่จะต้านทานแนวโน้มใด ๆ ในการรับเอาเจตคติที่ไม่แยแสต่อเรื่องฝ่ายวิญญาณ! เราต้องปลูกฝังเจตคติที่สำนึกถึงคุณค่าต่อคำตรัสของพระยะโฮวาและความเกรงกลัวพระองค์อย่างที่เป็นประโยชน์. (สุภาษิต 23:17, 18) ขณะที่อาจได้มาซึ่งเจตคติดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ในช่วงชีวิต แต่ก็นับว่าดีที่สุดที่จะวางแบบแผนอันถูกต้องนี้และให้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลประทับอยู่ในบุคลิกภาพของเราในช่วงหนุ่มสาว. กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดตรัสว่า “บัดนี้ จงระลึกถึงพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเจ้าในช่วงวัยหนุ่มของเจ้า.”—ท่านผู้ประกาศ 12:1, ล.ม.
วิธีที่เป็นแบบใกล้ชิดสนิทสนมที่สุดในการปลูกฝังความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาคือโดยการอธิษฐานถึงพระองค์เป็นส่วนตัวในแต่ละวัน. ดาวิดได้ยอมรับความสำคัญของการเผยความในใจต่อพระยะโฮวา เพราะท่านได้อ้อนวอนว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอพระองค์ทรงฟังคำอธิษฐานของข้าพเจ้า, และทรงเงี่ยพระโสตสดับเสียงร้องทุกข์ของข้าพเจ้า; เมื่อข้าพเจ้าร้องไห้น้ำตาไหล ขอพระองค์อย่าทรงนิ่งเฉย.” (บทเพลงสรรเสริญ 39:12) สัมพันธภาพที่ใกล้ชิดระหว่างเรากับพระเจ้าทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งจนถึงกับบางครั้งน้ำตาไหลไหม? ที่จริง ยิ่งเราบอกความในใจอันเป็นเรื่องส่วนตัวของเราให้พระยะโฮวารับรู้และคิดรำพึงถึงพระคำของพระองค์มากเท่าใด พระองค์ก็ทรงเข้าใกล้เรามากเท่านั้น.—ยาโกโบ 4:8.
เรียนรู้ที่จะเชื่อฟัง
โมเซเป็นบุรุษอีกคนหนึ่งที่มีความเชื่อซึ่งยอมรับว่าท่านต้องพึ่งอาศัยพระเจ้า. เช่นเดียวกับดาวิด โมเซเห็นได้ว่าชีวิตเต็มไปด้วยความยุ่งยาก. เพราะฉะนั้น ท่านได้อ้อนวอนขอพระเจ้าแสดงให้ท่านเห็น ‘วิธีนับวันคืนทั้งหลายของท่านเป็น, เพื่อจะได้มีใจประกอบไปด้วยสติปัญญา.’ (บทเพลงสรรเสริญ 90:10-12) หัวใจที่ประกอบด้วยสติปัญญาจะเกิดจากการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตตามกฎหมายและหลักการของพระยะโฮวาเท่านั้น. โมเซทราบเรื่องนี้และต่อมาได้พยายามทำให้ความจริงที่สำคัญนั้นประทับอยู่ในใจชาติอิสราเอลโดยการกล่าวซ้ำกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ของพระเจ้าแก่พวกเขาก่อนเข้ายึดครองแผ่นดินที่ทรงสัญญาไว้. กษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ไม่ว่าองค์ใดที่พระยะโฮวาจะทรงเลือกให้ปกครองเหนือชาติอิสราเอลในภายหลังจะต้องเขียนพระบัญญัติสำหรับตัวเองฉบับหนึ่งแล้วอ่านพระบัญญัตินั้นตลอดช่วงชีวิตของเขา. เพราะเหตุใด? เพื่อเขาจะเรียนที่จะเกรงกลัวพระเจ้า. นี่คงจะเป็นการทดสอบการเชื่อฟังของกษัตริย์. นั่นจะป้องกันเขามิให้มีใจสูงกว่าพี่น้องของตนและทำให้ชีวิตเขายืนยาวในอาณาจักรของตนด้วย. (พระบัญญัติ 17:18-20) มีการกล่าวซ้ำคำสัญญานี้เมื่อพระยะโฮวาตรัสแก่ซะโลโมราชบุตรของดาวิดว่า “ถ้าเจ้าดำเนินตามทางของเรา, รักษาข้อกฎหมาย, และข้อบัญญัติของเรา, เหมือนอย่างดาวิดบิดาของเจ้าได้ประพฤติ, เมื่อนั้นเราจะให้อายุของเจ้ายืนยาวไป.”—1 กษัตริย์ 3:10-14.
การเชื่อฟังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระเจ้า. หากเราทำให้บางแง่มุมเกี่ยวกับข้อเรียกร้องและพระบัญชาของพระยะโฮวาดูเหมือนเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ พระองค์จะสังเกตเห็นเจตคติดังกล่าวแน่ ๆ. (สุภาษิต 15:3) การทราบเช่นนี้ควรกระตุ้นเราให้รักษาไว้ซึ่งความนับถืออย่างสูงส่งต่อพระบัญชาทั้งสิ้นของพระยะโฮวา ถึงแม้การทำเช่นนั้นอาจไม่ง่ายเสมอไป. ซาตานพยายามทำทุกสิ่งเท่าที่มันทำได้เพื่อจะ “ขัดขวางเราไว้” ขณะที่เราพยายามเอาใจใส่ฟังกฎหมายและพระบัญชาของพระเจ้า.—1 เธซะโลนิเก 2:18.
นับว่าสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะทำตามคำแนะนำของพระคัมภีร์ที่ให้ประชุมร่วมกันเพื่อการนมัสการและการคบหาสมาคม. (พระบัญญัติ 31:12, 13; เฮ็บราย 10:24, 25) ดังนั้น เราสมควรถามตัวเองว่า ‘ฉันมีความตั้งใจแน่วแน่และความบากบั่นที่จำเป็นเพื่อจะทำสิ่งที่คุ้มค่าอย่างแท้จริงไหม?’ การละเลยการคบหาสมาคมและคำสั่งสอนแนะนำ ณ การประชุมคริสเตียนเพื่อพยายามจะได้มาซึ่งความมั่นคงทางด้านการเงินจะบั่นทอนสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวา. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “จงให้วิถีชีวิตของท่านพ้นจากการรักเงิน ขณะที่ท่านอิ่มใจด้วยสิ่งของที่มีอยู่นั้น. เพราะ [พระยะโฮวา] ได้ตรัสไว้แล้วว่า ‘เราจะไม่ละท่านไว้เลยและจะไม่ทิ้งท่านเสียเลย.’” (เฮ็บราย 13:5, ล.ม.) การเต็มใจเชื่อฟังพระบัญชาของพระยะโฮวาแสดงถึงความไว้วางใจอย่างไม่มีข้อสงสัยว่าพระองค์จะทรงใฝ่พระทัยในเรา.
พระเยซูทรงเรียนรู้การเชื่อฟังและได้รับผลประโยชน์. เราสามารถทำได้เช่นกัน. (เฮ็บราย 5:8) ยิ่งเราปลูกฝังการเชื่อฟังมากเท่าใด ก็ยิ่งจะง่ายขึ้นเท่านั้นที่จะเชื่อฟัง แม้แต่ในเรื่องเล็กน้อย. จริงอยู่ เนื่องจากความซื่อสัตย์มั่นคงของเรา เราอาจต้องทนกับการที่คนอื่นปฏิบัติต่อเราอย่างที่ไม่น่ายินดีและถึงกับรุนแรงด้วยซ้ำ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจเป็นเช่นนั้นในที่ทำงาน, ที่โรงเรียน, หรือในครอบครัวที่มีความแตกต่างทางศาสนา. ถึงกระนั้น เราพบการปลอบประโลมใจในคำประกาศที่แจ้งแก่ชนอิสราเอลว่า หากพวกเขา ‘รักพระยะโฮวาโดยรับฟังพระสุรเสียงของพระองค์และโดยยึดมั่นอยู่กับพระองค์ พระองค์จะเป็นชีวิตและอายุยืนนานของพวกเขา.’ (พระบัญญัติ 30:20, ล.ม.) มีการเสนอคำสัญญาอย่างเดียวกันนี้แก่เราด้วย.
ใช้เวลาอย่างฉลาด
การใช้เวลาอย่างฉลาดจะช่วยเราทำให้วันคืนของเรามีค่าจำเพาะพระยะโฮวาด้วยเช่นกัน. ไม่เหมือนกับเงินซึ่งอาจเก็บออมไว้ได้ เวลาเป็นสิ่งที่ต้องใช้ มิฉะนั้นก็จะหมดไปเปล่า ๆ. ทุก ๆ ชั่วโมงที่ผ่านไปไม่สามารถเอาคืนได้. เนื่องจากสิ่งที่จะทำมีมากกว่าที่เราจะทำได้เสมอ เราใช้เวลาอย่างที่จะช่วยเราให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตไหม? การมีส่วนร่วมเป็นประจำในงานประกาศราชอาณาจักรและการทำให้คนเป็นสาวกน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของคริสเตียนทุกคน.—มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
เราจะใช้เวลาอย่างฉลาดก็ต่อเมื่อเราสำนึกอย่างแรงกล้าถึงคุณค่าของเวลาเท่านั้น. เอเฟโซ 5:16 (ล.ม.) กระตุ้นเราอย่างเหมาะสมให้ “ใช้ประโยชน์เต็มที่จากเวลาอันเหมาะ” และนี่หมายถึงการตัดสิ่งที่มีความสำคัญน้อยกว่าออกไป การลดกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้เสียเวลา. การดูโทรทัศน์มากเกินไปหรือการท่องอินเทอร์เน็ต, การอ่านหนังสือทางโลกที่มีเนื้อหาไม่เป็นประโยชน์, หรือการมุ่งติดตามนันทนาการและความบันเทิงมากเกินไปอาจทำให้เราหมดแรงได้. นอกจากนี้ การสะสมสมบัติพัสดุมากเกินไปอาจทำให้เปลืองเวลาที่จำเป็นเพื่อจะได้มาซึ่งหัวใจอันประกอบด้วยสติปัญญา.
คนที่สนับสนุนการจัดตารางเวลาอย่างรอบคอบกล่าวว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ประโยชน์จากเวลาของคุณโดยไม่มีเป้าที่กำหนดไว้ชัดเจน.” พวกเขาเสนอแนะมาตรการห้าอย่างสำหรับการตั้งเป้าดังนี้: เจาะจง, วัดได้, บรรลุได้, ตรงกับสภาพจริง, และกำหนดเวลา.
เป้าหมายที่คุ้มค่าอย่างหนึ่งคือปรับปรุงการอ่านคัมภีร์ไบเบิลของเรา. ขั้นแรกคือตั้งเป้าอย่างเจาะจง นั่นคืออ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม. ขั้นต่อไปคือทำให้เป้าหมายของเราสามารถวัดได้. โดยการทำเช่นนี้ เราจะเห็นความก้าวหน้าของเราได้. เป้าหมายต่าง ๆ ควรส่งเสริมเราให้ทุ่มเทตัวเองและพัฒนาขึ้น. เป้าหมายนั้นต้องเป็นสิ่งที่บรรลุได้และตรงกับสภาพจริงด้วย. ต้องคำนึงถึงความสามารถของตนเอง, ทักษะต่าง ๆ, และเวลาที่มีอยู่. สำหรับบางคน อาจต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จลุล่วง. สุดท้าย เป้าหมายของเราจำเป็นต้องมีการกำหนดเวลา. การกำหนดวันเวลาเพื่อทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จนั้นอาจเพิ่มแรงจูงใจที่จะทำสิ่งนั้นให้แล้วเสร็จ.
สมาชิกทุกคนของครอบครัวเบเธลทั่วโลกซึ่งรับใช้ ณ สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาหรือสำนักงานสาขาทั่วโลกมีเป้าหมายเจาะจงที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มระหว่างช่วงปีแรกที่เขาอยู่เบเธล. พวกเขาตระหนักว่าการอ่านคัมภีร์ไบเบิลแบบที่ก่อประโยชน์มีส่วนส่งเสริมความเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณของพวกเขาและทำให้มีสัมพันธภาพใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระยะโฮวา ผู้ทรงสอนพวกเขาเพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาเอง. (ยะซายา 48:17) เราจะตั้งเป้าอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำเช่นกันได้ไหม?
ผลประโยชน์จากการทำให้วันคืนของเรามีค่า
การให้ความสนใจต่อเรื่องฝ่ายวิญญาณเป็นประการสำคัญจะยังผลด้วยพระพรนานัปการ. ประการหนึ่ง นั่นช่วยเราให้มีความรู้สึกประสบผลสำเร็จมากขึ้นและมีจุดมุ่งหมายในชีวิต. การติดต่อกับพระยะโฮวาเป็นประจำในการอธิษฐานอย่างจริงใจจะทำให้เราใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น. การอธิษฐานนั่นแหละที่แสดงว่าเราไว้วางใจในพระองค์. การอ่านคัมภีร์ไบเบิลและสิ่งพิมพ์ที่อาศัยพระคัมภีร์ซึ่งจัดเตรียมไว้โดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ทุกวันแสดงให้เห็นว่าเราเต็มใจจะฟังพระเจ้าขณะที่พระองค์ตรัสกับเรา. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) นี่ช่วยเราได้มาซึ่งหัวใจอันประกอบด้วยสติปัญญาเพื่อจะทำการตัดสินใจและเลือกอย่างถูกต้องในชีวิต.—บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3.
เรามีความยินดีในการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระยะโฮวา เพราะการทำเช่นนั้นไม่เป็นภาระหนัก. (1 โยฮัน 5:3) ขณะที่เราทำให้แต่ละวันมีค่าจำเพาะพระยะโฮวา เราทำให้สัมพันธภาพของเรากับพระองค์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. เรายังกลายเป็นผู้เกื้อหนุนที่แท้จริงทางฝ่ายวิญญาณสำหรับเพื่อนคริสเตียนของเราด้วย. การกระทำดังกล่าวทำให้พระยะโฮวาพระเจ้าทรงยินดี. (สุภาษิต 27:11) และไม่มีบำเหน็จอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวาทั้งขณะนี้และตลอดไป!
[ภาพหน้า 21]
คริสเตียนถือว่าเรื่องฝ่ายวิญญาณสำคัญ
[ภาพหน้า 22]
คุณใช้เวลาอย่างฉลาดไหม?
[ภาพหน้า 23]
เราทำให้สัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นขณะที่เราทำให้แต่ละวันมีค่าสำหรับพระองค์