พระยะโฮวาทรงเป็นที่พึ่งพำนักของเรา
“เพราะท่านบอกว่า ‘พระยะโฮวาเป็นที่พึ่งพำนักของข้าพเจ้า’ . . . ไม่มีการร้ายใด ๆ จะบังเกิดแก่ท่าน.”—บทเพลงสรรเสริญ 91:9, 10, ล.ม.
1. เหตุใดเรากล่าวได้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นที่พึ่งพำนักของเรา?
พระยะโฮวาทรงเป็นที่พึ่งพำนักอันแท้จริงสำหรับไพร่พลของพระองค์. หากเราอุทิศชีวิตทั้งสิ้นแด่พระองค์ เราอาจ ‘ถูกกดดันจากทุกทาง แต่ก็ไม่ถูกบีบจนกระดิกไม่ไหว; งงงัน แต่ก็ไม่ถึงกับหาทางออกไม่ได้; ถูกข่มเหง แต่ก็ไม่ถูกทอดทิ้ง; ถูกตีล้มลง แต่ก็ไม่ถูกทำลาย.’ เพราะเหตุใด? เพราะพระยะโฮวาประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” แก่เรา. (2 โกรินโธ 4:7-9, ล.ม.) ถูกแล้ว พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราช่วยเราให้ดำเนินชีวิตในวิถีทางของพระเจ้า และเราควรพิจารณาคำกล่าวของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ที่ว่า “เพราะท่านบอกว่า ‘พระยะโฮวาเป็นที่พึ่งพำนักของข้าพเจ้า’ ท่านได้รับพระองค์ผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุดให้เป็นที่อาศัยของท่าน; ไม่มีการร้ายใด ๆ จะบังเกิดแก่ท่าน.”—บทเพลงสรรเสริญ 91:9, 10, ล.ม.
2. อาจกล่าวได้อย่างไรสำหรับเพลงสรรเสริญบท 91 และสิ่งที่เพลงบทนี้ให้คำมั่นสัญญา?
2 คำกล่าวนี้ในเพลงสรรเสริญบท 91 อาจเขียนโดยโมเซ. จ่าหน้าเพลงสรรเสริญบท 90 ระบุว่าท่านเป็นผู้แต่ง และเพลงสรรเสริญบท 91 ก็ตามมาโดยไม่มีข้อความคั่นที่ระบุว่าผู้อื่นเป็นคนเขียน. อาจเป็นได้ว่าเพลงสรรเสริญบท 91 เขียนขึ้นสำหรับใช้ร้องโต้ตอบกัน; นั่นคือ อาจมีคนหนึ่งร้องขึ้นมาก่อน (91:1, 2) แล้วก็มีคณะนักร้องประสานเสียงร้องตอบ (91:3-8). อาจเป็นได้ว่า นักร้องเดี่ยวจะร้องประโยคถัดไป (91:9ก) และนักร้องกลุ่มก็ร้องตอบ (91:9ข-13). หลังจากนั้น นักร้องเดี่ยวอาจร้องท่อนสุดท้าย (91:14-16). ไม่ว่าจะอย่างไร เพลงสรรเสริญบท 91 ให้คำมั่นสัญญาในเรื่องความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณแก่ชนจำพวกคริสเตียนผู้ถูกเจิม และให้คำรับรองคล้าย ๆ กันแก่สหายของพวกเขาผู้อุทิศตัวแด่พระเจ้าทั้งกลุ่ม.a ขอให้เรามาพิจารณาเพลงสรรเสริญบทนี้จากมุมมองที่เกี่ยวข้องกับผู้รับใช้ทุกคนของพระยะโฮวา.
ปลอดภัยใน ‘ที่อันลับแห่งพระเจ้า’
3. (ก) “ที่อันลับแห่งผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด” คืออะไร? (ข) เราได้รับประโยชน์เช่นไรจากการ “อาศัยอยู่ในร่มของพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง”?
3 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “ผู้ใดอาศัยอยู่ในที่อันลับแห่งผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุดผู้นั้นจะได้อาศัยอยู่ในร่มของพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง. ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงพระยะโฮวาว่า, พระองค์เป็นที่พึ่งพำนักและเป็นป้อมของข้าพเจ้า; พระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า ๆ วางใจในพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 91:1, 2) “ที่อันลับแห่งผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด” เป็นที่ซึ่งให้การปกป้องโดยนัยสำหรับเรา และโดยเฉพาะสำหรับผู้ถูกเจิมซึ่งเป็นเป้าหมายพิเศษของพญามาร. (วิวรณ์ 12:15-17) มันคงทำลายเราไปจนหมดสิ้นหากเราไม่ได้รับการปกป้องด้วยการเป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่กับพระเจ้าในฐานะแขกฝ่ายวิญญาณของพระองค์. โดย “อาศัยอยู่ในร่มของพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง” เราได้รับร่มเงาแห่งการปกป้องจากพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 15:1, 2; 121:5) ไม่มีที่พึ่งพำนักที่ปลอดภัยกว่าหรือป้อมที่น่าเกรงขามไปกว่าพระยะโฮวา พระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศร.—สุภาษิต 18:10.
4. ซาตานผู้เป็น “พรานดักนก” ใช้เครื่องมืออะไร และเรารอดได้อย่างไร?
4 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวเสริมอีกว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงช่วยท่านให้พ้นจากกับดักของพรานดักนก และให้พ้นจากโรคร้ายที่ทำให้เกิดความทุกข์.” (บทเพลงสรรเสริญ 91:3, ล.ม.) พรานดักนกในอิสราเอลโบราณมักจับนกโดยใช้บ่วงแร้วหรือกับดัก. ส่วนหนึ่งที่เป็นบ่วงแร้วของซาตานผู้เป็น “พรานดักนก” ได้แก่องค์การอันชั่วช้าและ “การกระทำอันมีเล่ห์เหลี่ยม” ของมัน. (เอเฟโซ 6:11, ล.ม., เชิงอรรถ) กับดักที่ซ่อนเร้นจะถูกวางไว้บนทางที่เราเดินเพื่อชักนำเราเข้าสู่ความชั่วร้ายและทำให้เราประสบความหายนะฝ่ายวิญญาณ. (บทเพลงสรรเสริญ 142:3) แต่เนื่องจากเราได้ละทิ้งความอธรรม “จิตต์วิญญาณของเราเป็นดุจนกที่รอดจากบ่วงแร้ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 124:7, 8) เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงช่วยเราให้รอดพ้นจาก “พรานดักนก” ผู้ชั่วร้าย!—มัดธาย 6:13.
5, 6. “โรคร้าย” อะไรได้ก่อให้เกิด “ความทุกข์” แต่เหตุใดไพร่พลของพระยะโฮวาไม่พ่ายแพ้แก่โรคร้ายนี้?
5 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึง “โรคร้ายที่ทำให้เกิดความทุกข์.” เช่นเดียวกับโรคที่แพร่ระบาด มีบางสิ่งที่ทำให้เกิด “ความทุกข์” ต่อครอบครัวมนุษย์และต่อคนที่เชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. นักประวัติศาสตร์อาร์โนลด์ ทอยน์บี เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “นับตั้งแต่ตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ชาตินิยมได้ทำให้จำนวนรัฐเอกราชที่แยกตัวเป็นอิสระมีเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า . . . มนุษยชาติในปัจจุบันมีน้ำใจแบ่งแยกกันมากขึ้น.”
6 ตลอดหลายศตวรรษ ผู้ปกครองบางคนได้กระพือเปลวไฟแห่งความขัดแย้งแตกแยกในระดับนานาชาติ. พวกเขายังได้เรียกร้องให้เคารพบูชาพวกเขา หรือไม่ก็บูชารูปหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ. แต่พระยะโฮวาไม่เคยปล่อยให้ไพร่พลที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ต้องพ่ายแพ้แก่ “โรคร้าย” เช่นนั้น. (ดานิเอล 3:1, 2, 20-27; 6:7-10, 16-22) ในฐานะสังคมพี่น้องนานาชาติซึ่งเปี่ยมด้วยความรัก เราถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวา, รักษาความเป็นกลางตามหลักพระคัมภีร์, และยอมรับอย่างไม่ลำเอียงว่า “ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัว [พระเจ้า] และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” (กิจการ 10:34, 35; เอ็กโซโด 20:4-6; โยฮัน 13:34, 35; 17:16; 1 เปโตร 5:8, 9) แม้ว่าเราประสบ “ความทุกข์” ด้วยการถูกข่มเหงเพราะเป็นคริสเตียน เรายินดีและมีความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณ “ในที่อันลับแห่งผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด.”
7. พระยะโฮวาทรงปกป้องเราไว้ “ด้วยปีกของพระองค์” อย่างไร?
7 โดยมีพระยะโฮวาเป็นที่พึ่งพำนัก เราได้รับคำปลอบโยนจากถ้อยคำดังต่อไปนี้: “พระองค์จะทรงปกคลุมท่านไว้ด้วยปีกของพระองค์, และท่านจะอาศัยอยู่ใต้ปีกของพระองค์. ความสัตย์ธรรมของพระองค์เป็นโล่และเป็นดั้ง [“ที่มั่นสำหรับต้านทาน,” ล.ม.].” (บทเพลงสรรเสริญ 91:4) พระเจ้าทรงปกป้องเรา เหมือนพ่อนกแม่นกที่บินลอยอยู่เหนือลูกเพื่อให้การคุ้มครองป้องกัน. (ยะซายา 31:5) ‘พระองค์จะทรงปกคลุมเราไว้ด้วยปีกของพระองค์.’ นกใช้ปีกปกคลุมลูกน้อยของมันไว้เพื่อป้องกันลูกจากสัตว์ล่าเหยื่อ. เช่นเดียวกับลูกนกที่ขนเพิ่งขึ้น เราปลอดภัยอยู่ภายใต้ปีกโดยนัยของพระยะโฮวา เนื่องจากเราได้พึ่งพำนักในองค์การคริสเตียนแท้ของพระองค์.—ประวัตินางรูธ 2:12; บทเพลงสรรเสริญ 5:1, 11.
8. “ความสัตย์ธรรม” ของพระยะโฮวาเป็นโล่ใหญ่และที่มั่นสำหรับต้านทานอย่างไร?
8 เราไว้วางใจใน “ความสัตย์ธรรม” หรือความซื่อสัตย์. ความสัตย์ธรรมเป็นเหมือนโล่ใหญ่ในสมัยโบราณ ซึ่งมักทำเป็นรูปคล้ายกับประตูและใหญ่พอที่จะบังร่างกายของคนคนหนึ่งได้ทั้งตัว. (บทเพลงสรรเสริญ 5:12) ความเชื่อมั่นในการคุ้มครองเช่นนั้นทำให้เราปราศจากความกลัว. (เยเนซิศ 15:1; บทเพลงสรรเสริญ 84:11) เช่นเดียวกับความเชื่อของเรา ความสัตย์ธรรมของพระเจ้าเป็นโล่ใหญ่ที่ให้การปกป้องซึ่งกันธนูเพลิงของซาตานและป้องปัดการโจมตีของศัตรู. (เอเฟโซ 6:16) ความสัตย์ธรรมของพระเจ้ายังเป็นเหมือนที่มั่นสำหรับต้านทานด้วย ซึ่งเป็นเนินดินที่ช่วยป้องกันเราไว้ให้ยืนหยัดมั่นคง.
‘เราจะไม่กลัว’
9. เหตุใดกลางคืนอาจเป็นเวลาที่น่ากลัว แต่เพราะเหตุใดเราจึงไม่กลัว?
9 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึงการคุ้มครองของพระเจ้าว่า “ท่านจะไม่กลัวสิ่งน่าสะดุ้งใด ๆ ในเวลากลางคืน หรือลูกธนูที่ปลิวไปในเวลากลางวัน หรือโรคระบาดที่แผ่ไปในเวลามืด หรือการทำลายที่ล้างผลาญในเวลาเที่ยงวัน.” (บทเพลงสรรเสริญ 91:5, 6, ล.ม.) เนื่องจากมีการทำความชั่วมากมายโดยอาศัยความมืดช่วยปกปิด กลางคืนจึงอาจเป็นเวลาอันน่ากลัว. ในท่ามกลางความมืดฝ่ายวิญญาณที่ปกคลุมแผ่นดินโลกอยู่ในเวลานี้ ศัตรูของเรามักหันมาใช้การกระทำที่มีเงื่อนงำเพื่อจะทำลายสภาพฝ่ายวิญญาณของเราและเพื่อให้เราเลิกทำงานประกาศ. แต่ ‘เราไม่กลัวสิ่งน่าสะดุ้งใด ๆ ในเวลากลางคืน’ เพราะพระยะโฮวาทรงคุ้มกันเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 64:1, 2; 121:4; ยะซายา 60:2.
10. (ก) “ลูกธนูที่ปลิวไปในเวลากลางวัน” ดูเหมือนว่าหมายถึงอะไร และเราแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อลูกธนูนี้? (ข) “โรคระบาดที่แผ่ไปในเวลามืด” มีลักษณะอย่างไร และเหตุใดเราไม่กลัวโรคระบาดนี้?
10 “ลูกธนูที่ปลิวไปในเวลากลางวัน” ดูเหมือนว่าหมายถึงการโจมตีด้วยวาจา. (บทเพลงสรรเสริญ 64:3-5; 94:20) ขณะที่เราเพียรพยายามในการเสนอข้อมูลที่เป็นจริง การต่อต้านอย่างเปิดเผยเช่นนั้นต่อการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของเราปรากฏว่าไม่เป็นผลสำเร็จ. นอกจากนั้น เราไม่กลัว “โรคระบาดที่แผ่ไปในเวลามืด.” นี่เป็นโรคระบาดโดยนัยที่เกิดขึ้นท่ามกลางความมืดมนของโลกนี้ที่ติดโรคร้ายทางศีลธรรมและทางศาสนาซึ่งตกอยู่ในอำนาจของซาตาน. (1 โยฮัน 5:19) โรคนี้ก่อให้เกิดสภาพจิตใจและหัวใจที่นำไปสู่ความตาย ทำให้ผู้คนเพิกเฉยต่อพระยะโฮวา, พระประสงค์ของพระองค์, และการจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยความรักของพระองค์. (1 ติโมเธียว 6:4) เราไม่กลัวแม้จะอยู่ท่ามกลางความมืดอย่างนี้ เนื่องจากเรามีความสว่างฝ่ายวิญญาณอย่างอุดม.—บทเพลงสรรเสริญ 43:3.
11. เกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่ ‘ถูกล้างผลาญในเวลาเที่ยงวัน’?
11 “การทำลายที่ล้างผลาญในเวลาเที่ยงวัน” ก็ไม่ทำให้เรากลัวเช่นเดียวกัน. “เที่ยงวัน” อาจหมายถึงสิ่งที่โลกเรียกกันว่าความสว่าง. ผู้ที่ยอมแพ้แก่ทัศนะแบบนิยมวัตถุของโลกนี้ประสบกับความพินาศฝ่ายวิญญาณ. (1 ติโมเธียว 6:20, 21) ขณะที่เราประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรอย่างกล้าหาญ เราไม่กลัวศัตรูใด ๆ เพราะพระยะโฮวาทรงเป็นผู้คุ้มครองเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 64:1; สุภาษิต 3:25, 26.
12. คนนับพันนับหมื่น “ล้มลง” ข้าง ๆ ใคร และพวกเขาล้มลงอย่างไร?
12 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวต่อไปว่า “พันคนจะล้มลงข้าง ๆ ท่าน และหมื่นคนที่มือขวาของท่าน; แต่ภัยนั้นจะไม่เข้ามาใกล้ท่านเลย. ตาของท่านจะแลดูเท่านั้น และจะได้เห็นการตอบแทนต่อคนชั่ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 91:7, 8, ล.ม.) เนื่องจากไม่ได้ให้พระยะโฮวาเป็นที่พึ่งพำนักของตน หลายคน “ล้มลง” ในความตายฝ่ายวิญญาณ “ข้าง ๆ” เรา. ที่จริง “หมื่นคน” ได้ล้มลงที่ “มือขวา” ของอิสราเอลฝ่ายวิญญาณในสมัยปัจจุบัน. (ฆะลาเตีย 6:16) แต่ไม่ว่าเราจะเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมหรือสหายผู้อุทิศตัวของพวกเขา เราปลอดภัยอยู่ใน “ที่อันลับ” ของพระเจ้า. เราเพียงแต่ “แลดูเท่านั้น และจะได้เห็นการตอบแทนต่อคนชั่ว” ซึ่งกำลังเกี่ยวเก็บความยุ่งยากลำบากในทางการค้า, ศาสนา, และอื่น ๆ.—ฆะลาเตีย 6:7.
‘ไม่มีการร้ายใด ๆ จะบังเกิดแก่เรา’
13. การร้ายอะไรที่ไม่บังเกิดแก่เรา และเพราะเหตุใด?
13 แม้ว่าความปลอดภัยหาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกนี้ เราจัดให้สิ่งที่เกี่ยวกับพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกและได้กำลังใจจากถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “เพราะท่านบอกว่า ‘พระยะโฮวาเป็นที่พึ่งพำนักของข้าพเจ้า’ ท่านได้รับพระองค์ผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุดให้เป็นที่อาศัยของท่าน; ไม่มีการร้ายใด ๆ จะบังเกิดแก่ท่าน และแม้แต่ภัยอันใดจะเข้ามาใกล้เต็นท์ของท่านก็หามิได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 91:9, 10, ล.ม.) ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงเป็นที่พึ่งพำนักของเรา. อย่างไรก็ตาม เรายังรับพระเจ้าองค์ยิ่งใหญ่สูงสุดให้เป็น ‘ที่อาศัยของเรา’ ด้วย ซึ่งเป็นที่ที่เราจะได้รับความปลอดภัย. เรายกย่องเชิดชูพระยะโฮวาในฐานะองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ ‘พักอาศัย’ ในพระองค์ฐานะที่ทรงเป็นแหล่งแห่งความปลอดภัยของเรา และประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระองค์. (มัดธาย 24:14) ด้วยเหตุนั้น ‘ไม่มีการร้ายใด ๆ จะบังเกิดแก่เรา’ ไม่ว่าจะเป็นการร้ายใด ๆ ก็ตามที่ได้พรรณนาไปก่อนหน้านี้ในเพลงสรรเสริญบทนี้. แม้แต่เมื่อเราประสบเหตุการณ์อันเลวร้ายเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ เช่น แผ่นดินไหว, พายุ, น้ำท่วม, โรคระบาด, และความเสียหายยับเยินจากสงคราม สิ่งเหล่านี้ไม่อาจทำลายความเชื่อหรือความมั่นคงปลอดภัยฝ่ายวิญญาณของเรา.
14. ในฐานะผู้ที่รับใช้พระยะโฮวา เหตุใดเราไม่ได้รับผลกระทบจากโรคร้ายที่ทำให้ถึงตาย?
14 คริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นเหมือนกับคนต่างด้าวที่อาศัยในเต็นท์ แยกอยู่ต่างหากจากระบบนี้. (1 เปโตร 2:11) ‘แม้แต่ภัยอันใดก็หาได้เข้ามาใกล้เต็นท์ของพวกเขาไม่.’ ไม่ว่าเรามีความหวังที่จะมีชีวิตที่สวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก เราไม่เป็นส่วนของโลก และเราไม่ได้รับผลกระทบจากโรคร้ายที่ทำให้ถึงตายฝ่ายวิญญาณ เช่น การประพฤติผิดศีลธรรม, การนิยมวัตถุ, ศาสนาเท็จ, และการนมัสการ “สัตว์ร้าย” รวมทั้ง “รูป” ของมัน คือสหประชาชาติ.—วิวรณ์ 9:20, 21; 13:1-18; โยฮัน 17:16.
15. เราได้รับการช่วยเหลือจากเหล่าทูตสวรรค์ในแง่ใด?
15 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวเพิ่มเติมอีกเกี่ยวกับการคุ้มครองที่เราได้รับว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] จะสั่งพวกทูตสวรรค์ของพระองค์คุ้มครองท่าน ให้ระวังรักษาท่านตามมรคาของท่านทั้งสิ้น. พวกทูตสวรรค์นั้นจะประคองรับท่านไว้ด้วยมือ เพื่อเท้าของท่านจะไม่กระทบหินใด ๆ.” (บทเพลงสรรเสริญ 91:11, 12, ล.ม.) เหล่าทูตสวรรค์ได้รับมอบอำนาจให้คุ้มครองเรา. (2 กษัตริย์ 6:17; บทเพลงสรรเสริญ 34:7-9; 104:4; มัดธาย 26:53; ลูกา 1:19) พวกเขาคุ้มครองเรา ‘ตามมรคาทั้งสิ้นของเรา.’ (มัดธาย 18:10) เราได้รับการชี้นำและการคุ้มกันจากเหล่าทูตสวรรค์ในฐานะที่เป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรและเป็นผู้ที่ไม่สะดุดฝ่ายวิญญาณ. (วิวรณ์ 14:6, 7) แม้แต่ “หิน” อย่างเช่นการสั่งห้ามงานของเราก็ไม่ทำให้เราสะดุดและสูญเสียความโปรดปรานของพระเจ้า.
16. การโจมตีของ “สิงโตหนุ่ม” กับการโจมตีของ “งูเห่า” ต่างกันอย่างไร และเราโต้ตอบการโจมตีเหล่านั้นอย่างไร?
16 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวต่อไปว่า “ท่านจะเหยียบสิงโตหนุ่มและงูเห่า; ท่านจะเหยียบย่ำสิงโตหนุ่มที่มีแผงคอและงูใหญ่ลงใต้เท้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 91:13, ล.ม.) เช่นเดียวกับสิงโตหนุ่มที่โจมตีอย่างเปิดเผยและซึ่งหน้า ศัตรูบางคนก็แสดงตัวต่อต้านเราอย่างเปิดเผยด้วยการผ่านกฎหมายที่มุ่งหมายจะยุติงานประกาศของเรา. แต่การโจมตีโดยไม่คาดคิดแบบเดียวกับการโจมตีของงูเห่าซึ่งจู่โจมจากที่อันซ่อนเร้นก็เกิดขึ้นกับเราด้วย. โดยซ่อนอยู่หลังฉาก บางครั้งพวกนักเทศน์นักบวชโจมตีเราโดยอาศัยผู้บัญญัติกฎหมาย, ผู้พิพากษา, และคนอื่น ๆ. แต่ด้วยการสนับสนุนจากพระยะโฮวา เราแสวงหาการแก้ไขอย่างสันติในศาล และด้วยเหตุนั้น จึง “ปกป้องและทำให้ข่าวดีได้รับการรับรองตามกฎหมาย.”—ฟิลิปปอย 1:7, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 94:14, 20-22.
17. เราเหยียบย่ำ “สิงโตหนุ่มที่มีแผงคอ” อย่างไร?
17 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึงการเหยียบย่ำ “สิงโตหนุ่มที่มีแผงคอและงูใหญ่.” สิงโตหนุ่มที่มีแผงคออาจดุร้ายมากทีเดียว และงูใหญ่อาจเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่. (ยะซายา 31:4) แต่ไม่ว่าสิงโตหนุ่มที่มีแผงคออาจดุร้ายเพียงไรเมื่อโจมตีซึ่งหน้า เราเหยียบย่ำมันในความหมายโดยนัยด้วยการเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่ามนุษย์หรือองค์การที่เป็นดุจสิงโต. (กิจการ 5:29) ดังนั้น “สิงโต” ที่คุกคามไม่ทำให้เราบาดเจ็บฝ่ายวิญญาณ.
18. คำว่า “งูใหญ่” อาจทำให้เรานึกถึงใคร และเราจำเป็นต้องทำอะไรหากเราถูกโจมตี?
18 ในฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ “งูใหญ่” ถูกเรียกเป็น “พญานาค.” นี่อาจทำให้เรานึกถึง “พญานาคใหญ่ . . . งูตัวแรกเดิมนั้น ผู้ถูกเรียกว่าพญามารและซาตาน.” (วิวรณ์ 12:7-9, ล.ม.; เยเนซิศ 3:15) มันเป็นเหมือนกับสัตว์ประหลาดที่เลื้อยคลานซึ่งสามารถรัดและขย้ำกลืนเหยื่อของมัน. (ยิระมะยา 51:34) เมื่อซาตานพยายามเหวี่ยงหางของมันโอบรัดเราไว้, บดขยี้เราด้วยแรงกดดันของโลกนี้, และขย้ำกลืนเรา จงให้เราสลัดให้หลุดและเหยียบย่ำ “งูใหญ่” นี้. (1 เปโตร 5:8) ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมต้องทำอย่างนี้หากพวกเขาปรารถนาจะมีส่วนร่วมในความสำเร็จของโรม 16:20.
พระยะโฮวา—แหล่งแห่งความรอดของเรา
19. เหตุใดเราจึงพึ่งอาศัยพระยะโฮวา?
19 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวแทนพระเจ้าซึ่งตรัสถึงผู้นมัสการแท้ดังนี้: “เพราะเขาได้มีความรักใคร่เรา เราจึงจะช่วยเขาให้รอด. เราจะป้องกันเขาไว้ เพราะว่าเขาได้มารู้จักนามของเรา.” (บทเพลงสรรเสริญ 91:14, ล.ม.) วลี “เราจะป้องกันเขาไว้” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “เราจะตั้งเขาไว้ในที่สูง” ซึ่งก็คือ ในที่ที่เอื้อมไม่ถึง. เราพึ่งอาศัยพระยะโฮวาในฐานะที่เราเป็นผู้นมัสการพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจาก ‘เรามีความรักใคร่พระองค์.’ (มาระโก 12:29, 30; 1 โยฮัน 4:19) เมื่อเป็นอย่างนี้ พระเจ้า ‘ทรงช่วยเราให้รอด’ จากศัตรูของเรา. เราจะไม่มีทางถูกกวาดล้างทำลาย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราจะได้รับการช่วยให้รอดเนื่องจากเรารู้จักพระนามของพระเจ้าและร้องเรียกพระนามนั้นด้วยความเชื่อ. (โรม 10:11-13) และเราตั้งใจแน่วแน่จะ ‘ดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาตลอดไป.’—มีคา 4:5, ล.ม.; ยะซายา 43:10-12.
20. ตามคำลงท้ายของเพลงสรรเสริญบท 91 พระยะโฮวาทรงสัญญาอะไรกับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์?
20 ในคำลงท้ายของเพลงสรรเสริญบท 91 พระยะโฮวาตรัสเกี่ยวกับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ว่า “เขาจะร้องเรียกเรา และเราจะตอบเขา. เราจะอยู่กับเขาในยามทุกข์ยาก. เราจะช่วยเขาให้รอดพ้น และจะให้เกียรติยศแก่เขา. เราจะให้มีอายุยืนเป็นที่พอใจเขา และเราจะสำแดงความรอดโดยเราให้เขาเห็น.” (บทเพลงสรรเสริญ 91:15, 16, ล.ม.) เมื่อเราร้องเรียกพระเจ้าในคำอธิษฐานตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ พระองค์ทรงตอบเรา. (1 โยฮัน 5:13-15) เราได้ผ่านความทุกข์ยากมามากมายเนื่องด้วยความเป็นปฏิปักษ์ที่ซาตานปลุกเร้าให้เกิดขึ้น. แต่ถ้อยคำที่ว่า “เราจะอยู่กับเขาในยามทุกข์ยาก” ช่วยเตรียมเราให้พร้อมรับการทดลองในอนาคต และให้ความมั่นใจแก่เราว่าพระเจ้าจะทรงค้ำจุนเราเมื่อระบบชั่วนี้ถูกทำลาย.
21. ชนผู้ถูกเจิมได้รับเกียรติยศอยู่แล้วอย่างไร?
21 แม้ประสบการต่อต้านอย่างรุนแรงจากซาตาน ผู้ถูกเจิมทุกคนที่อยู่ท่ามกลางพวกเราซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ครบถ้วนตามจำนวนจะได้รับเกียรติยศในสวรรค์ตามเวลากำหนดของพระยะโฮวา—หลังจากช่วงหนึ่งที่ “มีอายุยืน” บนแผ่นดินโลก. แม้กระนั้น การช่วยให้รอดพ้นอันน่าทึ่งของพระเจ้าได้นำเกียรติยศฝ่ายวิญญาณมาสู่ชนผู้ถูกเจิมอยู่แล้ว. และช่างเป็นเกียรติสักเพียงไรสำหรับพวกเขาที่ได้นำหน้าเหล่าพยานของพระยะโฮวาบนแผ่นดินโลกในสมัยสุดท้ายนี้! (ยะซายา 43:10-12) การช่วยไพร่พลของพระองค์ให้รอดพ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจะเกิดขึ้นในสงครามใหญ่แห่งอาร์มาเก็ดดอน เมื่อพระองค์ทรงพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และทำให้พระนามบริสุทธิ์ของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.—บทเพลงสรรเสริญ 83:18; ยะเอศเคล 38:23; วิวรณ์ 16:14, 16.
22. ใครที่จะ ‘ได้เห็นความรอดโดยพระยะโฮวา’?
22 ไม่ว่าเราเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมหรือสหายของพวกเขาผู้อุทิศตัวแด่พระเจ้า เราหมายพึ่งพระเจ้าในเรื่องความรอด. ในระหว่าง “วันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัวของพระยะโฮวา” คนเหล่านั้นที่รับใช้พระเจ้าอย่างภักดีจะได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัย. (โยเอล 2:30-32) พวกเราซึ่งจะเป็น “ชนฝูงใหญ่” แห่งผู้รอดชีวิตเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้าและรักษาความซื่อสัตย์ในช่วงการทดสอบครั้งสุดท้ายจะ ‘ได้มีอายุยืนยาว’—ชีวิตอันไม่มีที่สิ้นสุด. พระองค์จะทรงปลุกผู้คนมากมายให้กลับมีชีวิตอีกครั้งด้วย. (วิวรณ์ 7:9; 20:7-15) พระยะโฮวาจะทรงยินดีอย่างแท้จริงในการ ‘สำแดงความรอดให้เราเห็น’ โดยทางพระเยซูคริสต์. (บทเพลงสรรเสริญ 3:8) โดยมีความคาดหวังอันยิ่งใหญ่เช่นนั้นอยู่ต่อหน้าเรา ขอให้เราหมายพึ่งพระเจ้าต่อ ๆ ไปให้ช่วยเรานับวันคืนของเราเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์. ขอให้เราพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นที่พึ่งพำนักของเราต่อ ๆ ไปทั้งในทางคำพูดและการกระทำของเรา.
[เชิงอรรถ]
a ผู้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกไม่ได้พิจารณาเพลงสรรเสริญบท 91 จากมุมมองที่เกี่ยวข้องกับคำพยากรณ์เรื่องพระมาซีฮา. แน่นอน พระยะโฮวาทรงเป็นที่พึ่งพำนักและเป็นป้อมสำหรับพระเยซูคริสต์ตอนที่ทรงเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับสำหรับเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซูและสหายของพวกเขาที่อุทิศตัวแด่พระเจ้าใน “เวลาอวสาน” นี้ทั้งกลุ่ม.—ดานิเอล 12:4, ล.ม.
คุณจะตอบอย่างไร?
• “ที่อันลับแห่งผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด” คืออะไร?
• เหตุใดเราไม่กลัว?
• ‘ไม่มีการร้ายใด ๆ จะบังเกิดแก่เรา’ อย่างไร?
• เหตุใดเราจึงกล่าวได้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งแห่งความรอดของเรา?
[ภาพหน้า 17]
คุณทราบไหมว่าความสัตย์ธรรมของพระยะโฮวาเป็นโล่ใหญ่สำหรับเราอย่างไร?
[ภาพหน้า 18]
พระยะโฮวาทรงช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ให้ทำงานรับใช้แม้ถูกโจมตีโดยไม่คาดคิดและถูกต่อต้านอย่างเปิดเผย
[ที่มาของภาพ]
Cobra: A. N. Jagannatha Rao, Trustee, Madras Snake Park Trust