-
ความสว่างที่แวบขึ้นในสมัยอัครสาวกหอสังเกตการณ์ 1995 | 15 พฤษภาคม
-
-
ความสว่างที่แวบขึ้นในสมัยอัครสาวก
“มีความสว่างแวบขึ้นสำหรับคนชอบธรรม และความยินดีกระทั่งสำหรับผู้มีหัวใจซื่อตรง.”—บทเพลงสรรเสริญ 97:11, ล.ม.
1. พยานพระยะโฮวาสมัยนี้คล้ายกันกับคริสเตียนสมัยแรกอย่างไร?
พวกเรา ฐานะคริสเตียนแท้ หยั่งรู้ค่าบทเพลงสรรเสริญ 97:11 มากเพียงใด! “มีแสงแวบขึ้น” สำหรับพวกเราครั้งแล้วครั้งเล่า. จริง ๆ แล้ว พวกเราบางคนได้เห็นความสว่างแวบขึ้นมาแต่พระยะโฮวานานหลายสิบปีแล้ว. ทั้งหมดนี้เตือนใจเราให้นึกถึงสุภาษิต 4:18 (ล.ม.) ที่ว่า “วิถีของเหล่าคนชอบธรรมเป็นดุจแสงสว่างอันรุ่งโรจน์ซึ่งส่องแสงกล้าขึ้นทุกทีจนกระทั่งถึงวันได้ตั้งขึ้นมั่นคง.” เนื่องจากพวกเราถือว่าคัมภีร์ไบเบิลมีค่ายิ่งกว่าคำสอนสืบปาก เราพยานพระยะโฮวาจึงคล้ายกันกับคริสเตียนสมัยแรก. ทัศนะของคริสเตียนเหล่านั้นเห็นได้ชัดจากพระธรรมต่าง ๆ เชิงประวัติศาสตร์และจดหมายต่าง ๆ แห่งคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ซึ่งเขียนโดยการดลใจจากพระเจ้า.
2. ในความสว่างแวบแรก ๆ ซึ่งสาวกของพระเยซูได้รับมีอะไรบ้าง?
2 ในบรรดาความสว่างแวบแรก ๆ ที่สาวกรุ่นแรกของพระเยซูคริสต์ได้รับนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระมาซีฮา. อันดะเรอาบอกซีโมน เปโตรพี่ชายของตนดังนี้: “เราได้พบพระมาซีฮาแล้ว.” (โยฮัน 1:41, ล.ม.) ไม่นานหลังจากนั้น พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ทรงดลใจอัครสาวกเปโตรให้พูดเป็นพยานถึงเรื่องนี้เมื่อท่านได้ทูลพระเยซูคริสต์ว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์บุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.”—มัดธาย 16:16, 17; โยฮัน 6:68, 69.
ความสว่างในด้านการมอบหมายเขาให้ทำงานเผยแพร่
3, 4. ภายหลังพระเยซูได้รับการปลุกคืนพระชนม์แล้ว พระองค์ได้ประทานความกระจ่างอะไรแก่สาวกของพระองค์เกี่ยวด้วยกิจกรรมของพวกเขาในวันข้างหน้า?
3 ภายหลังการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ให้ “แสงแวบขึ้น” เกี่ยวกับภาระหน้าที่ซึ่งตกอยู่กับสาวกทั้งสิ้นของพระองค์. คงเป็นในโอกาสที่สาวก 500 คนชุมนุมกัน ณ ฆาลิลาย ที่พระองค์ตรัสว่า: “จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้. และนี่แน่ะ! เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายตลอดไปจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบนี้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.; 1 โกรินโธ 15:6) หลังจากนั้น สาวกทุกคนของพระคริสต์ต้องเป็นผู้เผยแพร่ และงานมอบหมายให้ประกาศนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแก่ “แกะชาติยิศราเอลที่หายไป.” (มัดธาย 10:6) และพวกเขาจะไม่ให้คนรับบัพติสมาของโยฮันซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงการกลับใจเพื่อรับการให้อภัยบาป. แต่เขาต้องให้ผู้คนรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.”
4 ไม่นานก่อนพระเยซูเสด็จขึ้นสวรรค์ อัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คนได้ทูลถามพระองค์ว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์จะทรงกู้อาณาจักรให้แก่ชาวยิศราเอลคราวนี้หรือ?” แทนการตอบคำถามข้อนี้ พระเยซูได้ทรงให้คำสั่งต่อไปอีกในเรื่องงานเผยแพร่ที่เขาได้รับมอบหมาย โดยตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายจะรับฤทธิ์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์มาประทับบนเจ้าทั้งหลาย และเจ้าทั้งหลายจะเป็นพยานของเรา ทั้งในกรุงยะรูซาเลมและสิ้นทั้งยูเดียและซะมาเรียและจนกระทั่งถึงที่สุดปลายแห่งแผ่นดินโลก.” ก่อนหน้านี้ พวกเขาเป็นเพียงแต่พยานของพระยะโฮวา แต่พอถึงตอนนี้เขาจะเป็นพยานของพระเยซูด้วย.—กิจการ 1:6-8, ล.ม.
5, 6. มีแสงอะไรบ้างที่แวบขึ้นซึ่งเหล่าสาวกของพระเยซูได้รับในวันเพนเตคอสเต?
5 เพียงสิบวันต่อมา เหล่าสาวกของพระเยซูได้รับความสว่างแวบเจิดจ้าอะไรเช่นนั้น! ณ วันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 นับเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเข้าใจเต็มที่ถึงความหมายของพระธรรมโยเอล 2:28, 29 (ฉบับแปลใหม่) ซึ่งว่าดังนี้: “เรา [พระยะโฮวา] จะเทพระวิญญาณของเรามาเหนือมนุษย์ทั้งปวง บุตรชายบุตรหญิงของเจ้าทั้งหลายจะเผยพระวจนะ. คนชราของเจ้าจะฝัน. และคนหนุ่มของเจ้าจะเห็นนิมิต ในกาลครั้งนั้นเราจะเทพระวิญญาณของเรามาเหนือกระทั่งคนใช้ชายหญิง.” เหล่าสาวกของพระเยซูได้เห็นพระวิญญาณบริสุทธิ์รูปลักษณ์ดังเปลวไฟ อยู่บนศีรษะเขาสิ้นทุกคน—ชายหญิงประมาณ 120 คน—ซึ่งร่วมชุมนุมกันในกรุงยะรูซาเลม.—กิจการ 1:12-15; 2:1-4.
6 อนึ่ง ณ วันเพนเตคอสเต เหล่าสาวกเพิ่งได้มาเข้าใจถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 16:10 เป็นครั้งแรกว่าหมายถึงพระเยซูคริสต์ผู้คืนพระชนม์. ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวดังนี้: “พระองค์ [พระเจ้ายะโฮวา] จะไม่ทรงสละทิ้งจิตต์วิญญาณของข้าพเจ้าไว้ในเมืองผี [เชโอล]; ทั้งจะไม่ทรงยอมให้ผู้บริสุทธิ์ของพระองค์ถึงซึ่งเปื่อยเน่า.” เหล่าสาวกตระหนักว่า ถ้อยคำดังกล่าวไม่อาจใช้ได้กับกษัตริย์ดาวิด เพราะอุโมงค์ศพของท่านยังอยู่กับเขาจนกระทั่งเวลานั้น. จึงไม่น่าแปลก เมื่อมีผู้คนจำนวนถึง 3,000 ในท่ามกลางคนเหล่านั้นที่ได้ฟังคำชี้แจงเรื่องความสว่างใหม่นี้ต่างก็มีความเชื่อมั่นมากถึงขนาดที่พวกเขาได้รับบัพติสมาวันนั้นทันที!—กิจการ 2:14-41.
7. อัครสาวกเปโตรได้รับความสว่างเจิดจ้าอะไรระหว่างที่ท่านไปเยี่ยมโกระเนเลียว นายทหารโรมัน?
7 นานตลอดหลายศตวรรษ ชาติยิศราเอลรู้สึกหยั่งรู้ค่าสิ่งที่พระเจ้าตรัสถึงพวกเขาว่า “แต่บรรดาครอบครัวทั้งหลายแห่งแผ่นดิน เราได้รู้จักแต่ท่านพวกเดียว.” (อาโมศ 3:2) ดังนั้น จึงเป็นความสว่างที่แวบขึ้นเจิดจ้าอย่างแท้จริงซึ่งอัครสาวกเปโตรกับพวกที่ร่วมเดินทางไปยังบ้านนายทหารโรมันชื่อโกระเนเลียวได้รับ เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ลงมาสถิตอยู่กับผู้เชื่อถือชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตเป็นครั้งแรก. น่าสนใจ คราวนี้เท่านั้นที่ได้มีการประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อนรับบัพติสมา. แต่จำต้องเป็นเช่นนี้. มิฉะนั้นแล้ว เปโตรไม่มีทางล่วงรู้ได้ว่า ชาวต่างชาติที่ไม่รับสุหนัตเหล่านั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับการรับบัพติสมา. ด้วยความเข้าใจเต็มที่ต่อความหมายของปรากฏการณ์ครั้งนี้ เปโตรได้ถามดังนี้: “มีผู้ใดหรืออาจจะห้ามคนเหล่านี้ [ชาวต่างชาติ] ซึ่งได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เหมือนกับเรามิให้เขารับบัพติศมา?” แน่นอน ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่อยู่ตรงนั้นมีเหตุผลจะคัดค้าน, และด้วยเหตุนี้ คนต่างชาติเหล่านี้จึงรับบัพติสมา.—กิจการ 10:44-48; เทียบกับกิจการ 8:14-17.
การรับสุหนัตได้ยุติไปแล้ว
8. เหตุใดคริสเตียนสมัยแรกบางคนรู้สึกว่าเป็นการยากที่จะละเลิกคำสอนเรื่องการรับสุหนัต?
8 ความสว่างเจิดจ้าแห่งความจริงอีกแวบหนึ่งปรากฏขึ้นเกี่ยวเนื่องกับประเด็นการรับสุหนัต. การทำสุหนัตได้เริ่มต้นเมื่อปี 1919 ก่อนสากลศักราช คราวที่พระยะโฮวาได้ตั้งคำสัญญาไมตรีกับอับราฮาม. ครั้งนั้น พระเจ้ามีบัญชาว่า อับราฮามพร้อมด้วยผู้ชายทุกคนแห่งครัวเรือนของท่านต้องรับสุหนัต. (เยเนซิศ 17:9-14, 23-27) ฉะนั้น การรับสุหนัตจึงกลายเป็นหมายสำคัญแห่งเชื้อวงศ์ของอับราฮาม. และพวกเขาช่างภูมิใจเสียจริง ๆ กับกิจปฏิบัติเช่นนี้! ผลที่ตามมา “คนไม่รับสุหนัต” กลายเป็นคำพูดเย้ยหยันดูหมิ่น. (ยะซายา 52:1; 1 ซามูเอล 17:26, 27) เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายว่าทำไมคริสเตียนชาวยิวสมัยต้น ๆ บางคนยังคงต้องการรักษาสัญลักษณ์นี้ให้มีอยู่สืบไป. บางคนถึงกับถกเถียงเรื่องนี้กับเปาโลและบาระนาบา. เพื่อยุติประเด็นนี้ เปาโลและคนอื่น ๆ ได้ไปกรุงยะรูซาเลมเพื่อปรึกษาคริสเตียนคณะกรรมการปกครอง.—กิจการ 15:1, 2.
9. ความสว่างอะไรบ้างที่แวบขึ้นซึ่งได้รับการเปิดเผยต่อคณะกรรมการปกครองสมัยศตวรรษแรก ดังมีบันทึกไว้ที่พระธรรมกิจการบท 15?
9 คราวนี้ ไม่ใช่เพราะคริสเตียนสมัยแรกเหล่านั้นได้เห็นการอัศจรรย์อย่างชัดแจ้ง แล้วจึงมีความเข้าใจเรื่องการรับสุหนัตว่าไม่ใช่ข้อเรียกร้องสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอีกต่อไป. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาได้รับความสว่างกระจ่างชัดมากขึ้นโดยการค้นคว้าข้อคัมภีร์ต่าง ๆ, หมายพึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อการชี้นำ, และได้ยินได้ฟังประสบการณ์ของเปโตรและเปาโลเกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนาของชาวต่างชาติที่ไม่รับสุหนัต. (กิจการ 15:6-21) ผลการตัดสินได้แถลงในจดหมายซึ่งบางตอนอ่านดังนี้: “พระวิญญาณบริสุทธิ์และข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นชอบที่จะไม่เพิ่มภาระให้ท่านอีก นอกจากสิ่งจำเป็นเหล่านี้คือ ละเว้นเสมอจากสิ่งของซึ่งเขาได้บูชาแก่รูปเคารพและจากเลือดและจากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากการผิดประเวณี.” (กิจการ 15:28, 29, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนสมัยแรกจึงไม่อยู่ใต้คำสั่งให้ทำสุหนัตและพ้นจากข้อเรียกร้องอื่น ๆ แห่งพระบัญญัติของโมเซ. ดังนั้น เปาโลสามารถกล่าวต่อคริสเตียนที่ฆะลาเตียว่า “เพื่อเสรีภาพนั้นเองพระคริสต์ได้ทรงโปรดให้เราทั้งหลายเป็นไทย.”—ฆะลาเตีย 5:1.
ความสว่างที่มีอยู่ในกิตติคุณ
10. มีความสว่างอะไรบ้างแวบขึ้นซึ่งเปิดเผยในหนังสือกิตติคุณของมัดธาย?
10 ไม่มีข้อสงสัยที่กิตติคุณของมัดธาย ซึ่งได้รับการเขียนราว ๆ ปีสากลศักราช 41 บรรจุความสว่างที่แวบขึ้นหลายครั้งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านกิตติคุณนี้. คริสเตียนในศตวรรษแรกมีจำนวนค่อนข้างน้อยที่ได้ยินโดยตรงเมื่อพระเยซูชี้แจงคำสอนของพระองค์. กิตติคุณของมัดธายได้เน้นว่า สาระสำคัญแห่งงานเผยแพร่ของพระเยซูคือเรื่องราชอาณาจักรเป็นประการสำคัญ. และพระเยซูทรงย้ำหนักแน่นเพียงไรถึงความสำคัญของการมีเจตนาถูกต้อง! ช่างมีความสว่างที่แวบขึ้นมากมายอะไรเช่นนั้นในคำเทศน์บนภูเขาของพระองค์, ในอุทาหรณ์ของพระองค์ (ดังบันทึกไว้ในบท 13), ในคำพยากรณ์สำคัญในบท 24 และ 25! ทั้งหมดนี้ถูกยกขึ้นมากล่าวในบันทึกกิตติคุณที่มัดธายเรียบเรียงประมาณแปดปีเท่านั้นภายหลังวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 เพื่อให้คริสเตียนสมัยแรกเอาใจใส่.
11. อาจพูดได้อย่างไรเกี่ยวด้วยเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในกิตติคุณของลูกาและมาระโก?
11 ประมาณ 15 ปีต่อมา ลูกาได้เขียนพระธรรมกิตติคุณของท่าน. ถึงแม้เรื่องราวส่วนมากคล้ายคลึงกับกิตติคุณของมัดธาย แต่เนื้อหา 59 เปอร์เซ็นต์ไม่ปรากฏในพระธรรมมัดธาย. ลูกาได้บันทึกการอัศจรรย์ของพระเยซูหกเรื่องและอุทาหรณ์ของพระองค์มากกว่าสิบสองเรื่องซึ่งผู้เขียนกิตติคุณคนอื่น ๆ ไม่ได้กล่าวถึง. ดูเหมือนสองสามปีต่อมา มาระโกได้เขียนหนังสือกิตติคุณของท่าน โดยได้เน้นว่าพระเยซูคริสต์เป็นนักปฏิบัติ เป็นผู้ทำการอัศจรรย์. แม้ส่วนใหญ่แล้ว มาระโกถ่ายทอดเหตุการณ์ซึ่งมัดธายและมาระโกได้บันทึกไว้ก่อน แต่ท่านบันทึกอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งซึ่งบุคคลทั้งสองไม่ได้บันทึก. ในอุทาหรณ์เรื่องนั้น พระเยซูทรงเปรียบราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นพืชที่งอกขึ้น, เจริญเติบโต, และเกิดผลเป็นลำดับ.a—มาระโก 4:26-29.
12. กิตติคุณของโยฮันให้ความกระจ่างยิ่งขึ้นถึงขนาดไหน?
12 แล้วก็มีหนังสือกิตติคุณของโยฮัน ซึ่งเขียน 30 กว่าปีภายหลังมาระโกได้เขียนบันทึกของท่าน. ช่างเป็นลำแสงที่ให้ความกระจ่างชัดจริง ๆ เมื่อโยฮันได้บันทึกเรื่องงานรับใช้ของพระเยซู โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการกล่าวพาดพิงไว้มากมายถึงสภาพชีวิตของพระองค์ก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์! มีแต่โยฮันผู้เดียวได้บันทึกเรื่องการปลุกลาซะโรเป็นขึ้นจากตาย, และโยฮันคนเดียวเท่านั้นที่ได้พูดถึงคำตรัสที่ดีมากมายของพระเยซูต่ออัครสาวกผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ และคำอธิษฐานของพระองค์อันเป็นที่อบอุ่นใจในคืนที่มีการทรยศพระองค์ ดังบันทึกอยู่ในบท 13 ถึง 17. ที่จริง กล่าวกันว่าเนื้อหา 92 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือกิตติคุณโยฮันไม่มีบันทึกในกิตติคุณของมัดธาย, มาระโก, และลูกา.
ความสว่างต่าง ๆ ที่แวบขึ้นในจดหมายของเปาโล
13. เพราะเหตุใดบางคนถือว่าจดหมายที่เปาโลเขียนไปถึงชาวโรมันนั้นเทียบเท่ากับหนังสือกิตติคุณ?
13 อัครสาวกเปาโลถูกใช้เป็นพิเศษให้นำความสว่างแห่งความจริงที่แวบขึ้นไปยังคริสเตียนที่อยู่ในสมัยอัครสาวก. ตัวอย่างเช่น มีจดหมายของเปาโลถึงชาวโรมัน เขียนราว ๆ ปีสากลศักราช 56—ประมาณเวลาเดียวกันกับที่ลูกาเขียนกิตติคุณของท่าน. ในจดหมายฉบับนี้ เปาโลเน้นข้อเท็จจริงที่ว่า ความชอบธรรมที่ได้มานั้นเป็นผลสืบเนื่องจากความกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าและโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์. การเน้นของเปาโลในแง่นี้เกี่ยวกับข่าวดีเป็นเหตุให้บางคนมองว่าจดหมายที่ท่านมีไปถึงชาวโรมันเป็นเสมือนกิตติคุณเล่มที่ห้า.
14-16. (ก) ในจดหมายฉบับแรกที่เขียนถึงคริสเตียนในเมืองโกรินโธ เปาโลได้ฉายความสว่างอะไรถึงความจำเป็นที่ต้องมีเอกภาพ? (ข) มีความสว่างอะไรอีกว่าด้วยการประพฤติบรรจุไว้ในพระธรรมโกรินโธฉบับต้น?
14 เปาโลได้เขียนเรื่องราวบางอย่างซึ่งทำให้คริสเตียนที่เมืองโกรินโธลำบากใจ. จดหมายของท่านถึงชาวโกรินโธรวมเอาคำแนะนำหลายประการซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจที่เป็นประโยชน์แก่คริสเตียนเรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน. ประการแรก ท่านจำต้องให้ความกระจ่างแก่ชาวโกรินโธเกี่ยวกับความผิดที่พวกเขาก่อขึ้นด้วยการตั้งกลุ่มที่ยึดถือบุคคลเด่นดัง. อัครสาวกได้ชี้แจงแก้ไขความคิดของเขา ท่านบอกเขาอย่างกล้าหาญว่า “พี่น้องทั้งหลาย โดยพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ข้าพเจ้ากระตุ้นเตือนท่านทั้งหลาย คือพวกท่านทุกคนควรพูดจาปรองดองกัน และไม่ควรมีการแบ่งแยกกันในท่ามกลางท่าน แต่ให้ท่านเป็นหนึ่งเดียวโดยมีจิตใจและแนวความคิดเดียวกัน.”—1 โกรินโธ 1:10-15, ล.ม.
15 ประชาคมคริสเตียนที่เมืองโกรินโธได้ยอมทนต่อการประพฤติผิดศีลธรรมร้ายแรง. ชายผู้หนึ่งได้เอาภรรยาบิดาเป็นเมียของตน ซึ่งทำ ‘การล่วงประเวณีแบบซึ่งไม่เคยมีแม้แต่ในพวกต่างประเทศ.’ เปาโลเขียนตรงไปตรงมาดังนี้: “จงขับไล่คนชั่วนั้นออกเสียจากพวกท่าน.” (1 โกรินโธ 5:1, 11-13) สิ่งนั้นเป็นเรื่องใหม่สำหรับประชาคมคริสเตียน คือการตัดสัมพันธ์. อีกเรื่องหนึ่งซึ่งประชาคมโกรินโธจำเป็นต้องได้รับความกระจ่างนั้น คือข้อเท็จจริงที่สมาชิกบางคนในประชาคมได้ยื่นฟ้องพี่น้องฝ่ายวิญญาณของตนต่อศาลฝ่ายโลกเพื่อจัดการกับความโต้แย้งกัน. เปาโลได้ตำหนิพวกเขาอย่างแรงที่ทำเช่นนั้น.—1 โกรินโธ 6:5-8.
16 อีกเรื่องหนึ่งซึ่งรบกวนใจประชาคมในเมืองโกรินโธเกี่ยวข้องกับการเกี่ยวพันทางเพศ. ใน 1 โกรินโธบท 7 เปาโลชี้แจงว่า เนื่องจากการผิดศีลธรรมทางเพศมีดาษดื่น คงจะดีหากผู้ชายทุกคนมีภรรยาเป็นสิทธิ์ของตนและผู้หญิงก็เช่นกันมีสามีเป็นสิทธิ์ของตนเสีย. เปาโลชี้ให้เห็นด้วยว่า ขณะที่คนโสดสามารถรับใช้พระยะโฮวาอย่างมีการว้าวุ่นใจน้อยกว่าคนที่สมรสแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนมีของประทานจะอยู่เป็นโสด. และถ้าสามีของหญิงตายแล้ว นางก็จะมีอิสระสมรสได้อีก แต่ “ต้องสมรสกับผู้ที่เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—1 โกรินโธ 7:39.
17. เปาโลได้ให้ความสว่างอะไรเกี่ยวกับคำสอนเรื่องการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย?
17 ช่างเป็นความสว่างที่แวบขึ้นจริง ๆ ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้เปาโลเพื่อให้ความกระจ่างเรื่องการเป็นขึ้นจากตาย! คริสเตียนผู้ถูกเจิมเมื่อได้รับการปลุกขึ้นจากตายจะมีร่างกายเช่นไร? เปาโลเขียนดังนี้: “เมื่อหว่านลงนั้นก็เป็นกายเนื้อหนัง ครั้นเมื่อถูกปลุกขึ้นมาแล้วก็เป็นกายวิญญาณ.” ร่างกายที่เป็นเลือดเนื้อจะไม่ถูกรับขึ้นสวรรค์ เพราะว่า “เนื้อและเลือดจะรับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดกไม่ได้.” เปาโลกล่าวเสริมว่า ไม่ใช่ผู้ถูกเจิมทุกคนจะหลับอยู่ในความตาย แต่ระหว่างการประทับของพระเยซู บางคนจะถูกรับเข้าสู่อมตชีพทันทีเมื่อตาย.—1 โกรินโธ 15:43-53, ล.ม.
18. จดหมายฉบับแรกที่เปาโลเขียนถึงชาวเธซะโลนิเกให้ความสว่างอย่างไรเกี่ยวกับอนาคต?
18 โดยทางจดหมายถึงคริสเตียนที่เมืองเธซะโลนิเก พระเจ้าทรงใช้เปาโลฉายความสว่างเกี่ยวกับอนาคต. วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนขโมยดอดมาตอนกลางคืน. เปาโลได้ชี้แจงด้วยว่า “เมื่อไรก็ตามที่พวกเขากล่าวว่า: ‘สันติภาพและความปลอดภัย!’ แล้วความพินาศโดยฉับพลันก็จะมาถึงเขาทันที เหมือนความปวดร้าวมาถึงหญิงมีครรภ์; และเขาจะไม่มีทางหนีให้พ้น.”—1 เธซะโลนิเก 5:2, 3, ล.ม.
19, 20. คริสเตียนในกรุงยะรูซาเลมและในยูเดียได้รับความสว่างที่แวบขึ้นเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้างในจดหมายที่เปาโลมีไปถึงชาวฮีบรู?
19 โดยการเขียนจดหมายถึงชาวฮีบรู เปาโลได้ถ่ายทอดความสว่างที่แวบขึ้นไปยังคริสเตียนสมัยแรกในกรุงยะรูซาเลมและยูเดีย. ท่านได้ชี้แจงอย่างหนักแน่นมั่นคงถึงความเยี่ยมยอดแห่งระบบการนมัสการของคริสเตียนว่าเลิศลอยกว่าระบบการนมัสการของโมเซ! แทนการติดตามพระบัญญัติที่ถ่ายทอดผ่านทูตสวรรค์ คริสเตียนมีความเชื่อในความรอดซึ่งแรกทีเดียวตรัสโดยพระบุตรพระเจ้า ผู้ทรงเป็นเลิศยิ่งกว่าบรรดาทูตสวรรค์ผู้ส่งข่าวสาร. (เฮ็บราย 2:2-4) โมเซเป็นเพียงคนรับใช้ในราชนิเวศของพระเจ้า. แต่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้ดูแลราชนิเวศนั้นทั้งหมด. พระคริสต์ทรงเป็นมหาปุโรหิตอย่างมัลคีเซเด็ค ทรงมีตำแหน่งสูงกว่าตำแหน่งปุโรหิตแห่งเชื้อวงศ์ของอาโรน. อนึ่ง เปาโลได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ชาติยิศราเอลไม่สามารถเข้าถึงที่สงบสุขแห่งพระเจ้าได้ เพราะขาดความเชื่อและไม่เชื่อฟัง แต่คริสเตียนได้ไปถึงที่สงบนั้นเนื่องจากพวกเขามีความซื่อสัตย์และเชื่อฟัง.—เฮ็บราย 3:1–4:11.
20 นอกจากนี้ คำสัญญาไมตรีใหม่ดีเยี่ยมยิ่งกว่าคำสัญญาไมตรีโดยทางพระบัญญัติ. ดังมีการพยากรณ์ไว้ก่อนหน้านาน 600 ปี ที่พระธรรมยิระมะยา 31:31-34 บรรดาผู้ที่อยู่ใต้คำสัญญาไมตรีใหม่มีกฎหมายของพระเจ้าจารึกอยู่ในหัวใจของเขาและได้รับการให้อภัยบาปอย่างแท้จริง. แทนการมีมหาปุโรหิตที่ต้องถวายเครื่องบูชาทุกปีเพื่อไถ่บาปตัวเองและบาปไพร่พลของพระเจ้า คริสเตียนมีพระเยซูคริสต์เป็นมหาปุโรหิตของเขา ผู้ซึ่งปราศจากบาปและทรงถวายเครื่องบูชาสำหรับความผิดแต่เพียงครั้งเดียวและใช้ได้ตลอดไป. แทนที่พระองค์จะเข้าไปถวายเครื่องบูชาในห้องบริสุทธิ์ซึ่งสร้างด้วยมือมนุษย์ พระองค์ได้เสด็จเข้าในสวรรค์ เพื่อปรากฏจำเพาะพระยะโฮวา. ยิ่งกว่านั้น การใช้สัตว์บูชายัญภายใต้คำสัญญาแห่งพระบัญญัติของโมเซไม่อาจเพิกถอนบาปได้โดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นเขาคงไม่ต้องถวายเครื่องบูชาเป็นประจำทุกปี. แต่เครื่องบูชาของพระคริสต์ซึ่งนำถวายครั้งเดียวสำหรับตลอดกาลนั้นลบล้างบาป. ทั้งหมดนี้ฉายแสงไปยังพระวิหารยิ่งใหญ่ฝ่ายวิญญาณ ซึ่งทุกวันนี้ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมกับ “แกะอื่น” ต่างก็พากันปฏิบัติรับใช้อยู่ในลานพระวิหารนั้น.—โยฮัน 10:16; เฮ็บราย 9:24-28.
21. การพิจารณาคราวนี้แสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวข้องกับความสำเร็จสมจริงแห่งบทเพลงสรรเสริญ 97:11 และสุภาษิต 4:18 ในสมัยอัครสาวก?
21 ไม่มีเนื้อที่พอสำหรับการยกตัวอย่างมากกว่านี้ เป็นต้นว่า ความสว่างที่แวบขึ้นซึ่งเห็นได้ในจดหมายของอัครสาวกเปโตรและในจดหมายของสาวกยาโกโบและยูดา. แต่ที่กล่าวมาข้างต้นก็น่าจะพอเพื่อแสดงว่าบทเพลงสรรเสริญ 97:11 และสุภาษิต 4:18 สำเร็จสมจริงอย่างน่าทึ่งในสมัยอัครสาวก. ความจริงได้เริ่มพัฒนาจากการเป็นแบบอย่างหรือเงา ไปสู่ความสำเร็จสมจริงและเป็นความจริง.—ฆะลาเตีย 3:23-25; 4:21-26.
22. เกิดอะไรขึ้นหลังจากพวกอัครสาวกล่วงลับไปแล้ว และบทความต่อจากนี้จะชี้แจงเรื่องอะไร?
22 หลังจากเหล่าอัครสาวกของพระเยซูได้ล่วงลับไป และการออกหากตามที่บอกล่วงหน้าเริ่มปรากฏ ความสว่างแห่งความจริงริบหรี่ลงไปมาก. (2 เธซะโลนิเก 2:1-11) แต่ตามคำสัญญาของพระเยซู เมื่อเวลาล่วงผ่านไปหลายศตวรรษ องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับและทรงพบ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” กำลังแจกอาหารแก่ “คนรับใช้ทั้งหลาย” ตามเวลาที่สมควร. ผลก็คือ พระเยซูคริสต์ได้ทรงแต่งตั้งทาสผู้นั้น “ให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) มีความสว่างอะไรที่แวบขึ้นตามมา? บทความถัดไปจะมีการพิจารณาเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
a ดินในอุทาหรณ์หมายถึงสภาพแวดล้อมซึ่งคริสเตียนเลือกที่จะเพาะคุณลักษณะต่าง ๆ แห่งบุคลิกภาพ.—ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 ธันวาคม 1980 หน้า 24-27.
-
-
ความสว่างแวบใหญ่และความสว่างแวบเล็ก—ตอนหนึ่งหอสังเกตการณ์ 1995 | 15 พฤษภาคม
-
-
ความสว่างแวบใหญ่และความสว่างแวบเล็ก—ตอนหนึ่ง
“วิถีของเหล่าคนชอบธรรมเป็นดุจแสงสว่างอันรุ่งโรจน์ซึ่งส่องแสงกล้าขึ้นทุกทีจนกระทั่งถึงวันได้ตั้งขึ้นมั่นคง.”—สุภาษิต 4:18, ล.ม.
1. ทำไมจึงมีการเปิดเผยความจริงเป็นขั้น ๆ?
นับว่าเป็นข้อพิสูจน์ถึงพระปัญญาของพระเจ้า ที่การเปิดเผยความจริงฝ่ายวิญญาณเกิดขึ้นเป็นขั้น ๆ โดยทางความสว่างที่แวบขึ้นหลายครั้งซึ่งสอดคล้องกับพระธรรมสุภาษิต 4:18. ในบทความก่อนหน้านี้ เราได้เห็นว่าพระคัมภีร์ข้อนี้สำเร็จเป็นจริงอย่างไรในสมัยอัครสาวก. ถ้าความจริงทั้งมวลแห่งคัมภีร์ไบเบิลได้รับการเปิดเผยพร้อมกันคราวเดียวก็คงจะเกิดความมึนงงและสับสน คล้าย ๆ กับการออกมาจากถ้ำมืดสู่แสงแดดกล้านั่นเอง. ยิ่งกว่านั้น ความจริงที่เปิดเผยเป็นขั้น ๆ ย่อมเสริมความเชื่อของคริสเตียนอย่างต่อเนื่อง. การเปิดเผยเช่นนั้นทำให้ความหวังของเขาแจ่มชัดยิ่งขึ้นและทางเดินซึ่งพวกเขาจะก้าวย่างต่อไปนั้นยิ่งสว่างขึ้น.
“ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”
2. พระเยซูทรงระบุว่าพระองค์จะใช้ผู้ใดนำความสว่างฝ่ายวิญญาณไปให้สาวกของพระองค์ และมีใครบ้างที่พระองค์ทรงใช้เป็นเครื่องมือนั้น?
2 ในสมัยอัครสาวก พระเยซูคริสต์ทรงเห็นชอบจะใช้วิธีการเหนือธรรมชาติเพื่อส่องความสว่างแวบแรก ๆ แก่เหล่าสาวกของพระองค์. เกี่ยวกับเรื่องนี้เรามีสองตัวอย่าง คือ วันเพนเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 และการเปลี่ยนความเชื่อของโกระเนเลียวเมื่อปีสากลศักราช 36. ต่อมาภายหลัง พระคริสต์ทรงเห็นชอบจะใช้ตัวแทนที่เป็นมนุษย์ ตามที่พระองค์ตรัสล่วงหน้าว่า “ที่จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมซึ่งนายได้แต่งตั้งให้ดูแลคนรับใช้ทั้งหลายของท่าน ให้แจกจ่ายอาหารแก่เขาตามเวลาที่สมควร? ทาสผู้นั้นก็เป็นสุขเมื่อนายมาถึงพบเขากำลังกระทำอย่างนั้น. เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ทาสนี้จะเป็นปัจเจกบุคคลคนเดียวไม่ได้เนื่องจากเขาต้องจัดหาอาหารฝ่ายวิญญาณนับตั้งแต่เริ่มมีประชาคมคริสเตียนในวันเพนเตคอสเตกระทั่งถึงเวลาพระเยซูคริสต์นายของตนกลับมาคิดบัญชี. ข้อเท็จจริงต่าง ๆ บ่งชี้ว่า ชนจำพวกทาสสัตย์ซื่อและสุขุมประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิมทั้งหมดในฐานะเป็นกลุ่มชนที่อยู่บนแผ่นดินโลกไม่ว่าเวลาใด.
3. มีใครอยู่ในกลุ่มสมาชิกรุ่นแรกแห่งชนจำพวกทาส?
3 ใครบ้างถูกนับรวมเข้ากับสมาชิกรุ่นแรกแห่งทาสสัตย์ซื่อและสุขุม? คนหนึ่งก็คืออัครสาวกเปโตร ผู้ซึ่งเอาใจใส่ฟังพระบัญชาของพระเยซูที่ว่า “จงเลี้ยงดูแกะเล็ก ๆ ของเราเถิด.” (โยฮัน 21:17, ล.ม.) สมาชิกรุ่นแรกคนอื่น ๆ แห่งจำพวกทาสก็มีมัดธาย ผู้เขียนกิตติคุณตามชื่อของท่าน, และเปาโล, ยาโกโบ, และยูดา ผู้ได้เขียนจดหมายโดยการดลใจจากพระเจ้า. ส่วนอัครสาวกโยฮัน ซึ่งบันทึกพระธรรมวิวรณ์, หนังสือกิตติคุณของท่าน, และเขียนจดหมายสามฉบับก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในจำพวกทาสสัตย์ซื่อและสุขุมเช่นกัน. บุคคลเหล่านี้ได้เขียนพระธรรมต่าง ๆ แห่งคัมภีร์ไบเบิลตามการมอบหมายจากพระเยซู.
4. ใครคือ “คนรับใช้ทั้งหลาย”?
4 ถ้าผู้ถูกเจิมทุกคนในฐานะเป็นกลุ่มชน ไม่ว่าเขาอยู่ที่ไหนในโลก เป็นสมาชิกจำพวกทาส “คนรับใช้ทั้งหลาย” เป็นใคร? พวกเขาเป็นผู้ถูกเจิมเหมือนกัน แต่พิจารณาจากแง่มุมที่ต่างกัน—คือเป็นรายบุคคล. ใช่แล้ว ในฐานะเป็นรายบุคคล เขาจะอยู่ในจำพวก “ทาส” หรือเขาอาจเป็น “คนรับใช้” ขึ้นอยู่กับว่าเขาแจกจ่ายอาหารหรือร่วมรับประทานอาหารนั้น. เพื่อเป็นตัวอย่าง: ตามบันทึกที่ 2 เปโตร 3:15, 16 อัครสาวกเปโตรกล่าวพาดพิงถึงจดหมายของเปาโล. เมื่ออ่านจดหมายเหล่านี้ เปโตรก็เป็นหนึ่งในหมู่คนรับใช้ที่รับการเลี้ยงดูด้วยอาหารฝ่ายวิญญาณ ซึ่งเปาโลฐานะตัวแทนจำพวกทาสได้จัดเตรียมให้.
5. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับทาสในช่วงศตวรรษต่าง ๆ หลังยุคอัครสาวก? (ข) พอมาถึงช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น?
5 เกี่ยวกับเรื่องนี้ หนังสือราชอาณาจักรพันปีของพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว (ภาษาอังกฤษ) ชี้แจงว่า “ในเรื่องที่ว่าจำพวก ‘ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม’ มีอยู่และปฏิบัติงานอย่างไรตลอดหลายศตวรรษนับตั้งแต่การตายของเหล่าอัครสาวกและของพระเยซูคริสต์ผู้เป็นนาย เราไม่มีบันทึกชัดเจนทางประวัติศาสตร์. ดูเหมือนว่า จำพวก ‘ทาส’ ชั่วอายุหนึ่งเลี้ยงอาหารทาสอีกชั่วอายุหนึ่งที่ตามมา. (2 ติโมเธียว 2:2) แต่ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้าได้มีบุคคลผู้เกรงกลัวพระเจ้า ซึ่งชอบและปรารถนาจะได้กินอาหารฝ่ายวิญญาณในคัมภีร์ไบเบิลอันศักดิ์สิทธิ์นั้น . . . จึงได้จัดชั้นเรียนพระคัมภีร์แล้วก้าวหน้าด้านความเข้าใจเกี่ยวด้วยความจริงพื้นฐานแห่งพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์. ผู้มีความจริงใจเหล่านี้ที่ไม่เห็นแก่ตัวจากกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลต่างก็กระตือรือร้นแบ่งปันอาหารที่จำเป็นฝ่ายวิญญาณแก่คนอื่น. พวกเขามีใจที่ซื่อสัตย์อย่าง ‘ทาส’ ผู้ซึ่งรับการแต่งตั้งให้แจก ‘อาหารฝ่ายวิญญาณตามความต้องการในเวลาที่สมควร’ แก่ ‘คนรับใช้ทั้งหลาย.’ พวกเขา ‘สุขุม’ ในการสังเกตเข้าใจว่า เมื่อใดถึงเวลาอันสมควรและการให้อาหารวิธีใดเหมาะสมที่สุด. พวกเขาบากบั่นพยายามที่จะนำอาหารออกมาแจกจ่ายให้จงได้.”—หน้า 344-345.a
ความสว่างที่แวบขึ้นในช่วงต้นยุคปัจจุบัน
6. ข้อเท็จจริงอะไรปรากฏอย่างเด่นชัดเกี่ยวกับการเปิดเผยความจริงเป็นขั้น ๆ?
6 ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่โดดเด่นชัดเจนเกี่ยวกับคนเหล่านั้นที่พระยะโฮวาทรงใช้ให้ฉายความสว่างฝ่ายวิญญาณเป็นขั้น ๆ คือพวกเขาไม่ได้หาเกียรติยศหรือชื่อเสียงสำหรับตนเอง. ทัศนะของซี. ที. รัสเซลล์ นายกคนแรกของสมาคมว็อช เทาเวอร์ คือว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพอพระทัยจะใช้ความสามารถอันต่ำต้อยของพวกเขา. เกี่ยวกับสมญานามที่พวกปฏิปักษ์มักจะใช้ บราเดอร์รัสเซลล์ประกาศอย่างแข็งขันว่า ท่านเองไม่เคยพบใครที่เป็น “พวกรัสเซลล์” และไม่มี “ลัทธินิยมรัสเซลล์.” เกียรติคุณทั้งสิ้นเป็นของพระเจ้า.
7. บราเดอร์รัสเซลล์และเพื่อนร่วมงานกับท่านให้หลักฐานอะไรซึ่งแสดงว่า บุคคลเหล่านี้ได้ร่วมงานประสานกันกับทาสสัตย์ซื่อและสุขุมจริง ๆ?
7 เมื่อวินิจฉัยผลต่าง ๆ ที่ตามมา ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาได้ชี้นำความบากบั่นของบราเดอร์รัสเซลล์และของผู้ร่วมงานกับท่าน. พวกเขาให้หลักฐานว่าเขาร่วมประสานกับทาสสัตย์ซื่อและสุขุม. ถึงแม้นักเทศน์นักบวชหลายคนสมัยนั้นอ้างว่าเขาเชื่อคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำที่มีขึ้นโดยการดลบันดาลจากพระเจ้า และเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่ทว่าพวกเขาเห็นชอบกับคำสอนเท็จแห่งบาบูโลน เช่น เรื่องตรีเอกานุภาพ, จิตวิญญาณของมนุษย์เป็นอมตะ, และการทรมานชั่วกัปชั่วกัลป์. สอดคล้องกับคำสัญญาของพระเยซู เป็นเพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์แท้ ๆ ที่ความพยายามด้วยใจถ่อมของบราเดอร์รัสเซลล์และของผู้ร่วมงานกับท่านเป็นเหตุให้ความจริงฉายแสงออกไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน. (โยฮัน 16:13) นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลผู้ถูกเจิมเหล่านั้นได้ให้หลักฐานว่า ตนเป็นส่วนของทาสสัตย์ซื่อและสุขุมอย่างแท้จริง ซึ่งงานที่มอบหมายให้เขาทำคือให้อาหารฝ่ายวิญญาณแก่คนรับใช้ทั้งหลายของนาย. ความบากบั่นของเขาช่วยได้มากในการรวบรวมชนผู้ถูกเจิม.
8. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงพื้นฐานอะไรเรื่องพระยะโฮวา, พระคัมภีร์, พระเยซูคริสต์, และพระวิญญาณบริสุทธิ์?
8 เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะสังเกตว่า โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์พระยะโฮวาทรงให้การสนับสนุนนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลรุ่นแรกด้วยการฉายความสว่างมากมายเพียงใด. ประการแรก พวกเขาได้ให้หลักฐานแน่นหนาว่ามีพระผู้สร้าง และพระองค์มีพระนามโดดเด่นไม่มีชื่อใดเหมือนคือยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 83:18; โรม 1:20) พวกเขาเห็นว่าพระยะโฮวาทรงมีคุณลักษณะสำคัญสี่อย่างคือ อำนาจ, ความยุติธรรม, สติปัญญา, และความรัก. (เยเนซิศ 17:1; พระบัญญัติ 32:4; โรม 11:33; 1 โยฮัน 4:8) คริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้ให้หลักฐานชัดแจ้งว่า คัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลบันดาลและเป็นความจริง. (โยฮัน 17:17; 2 ติโมเธียว 3:16, 17) ยิ่งกว่านั้น เขายึดมั่นว่าพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า ถูกสร้างขึ้นมาและได้สละชีวิตของพระองค์เป็นค่าไถ่สำหรับมนุษยชาติทั้งมวล. (มัดธาย 20:28; โกโลซาย 1:15) เขาเข้าใจว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์คือพลังปฏิบัติการของพระเจ้า จึงเป็นบุคคลที่สามแห่งตรีเอกานุภาพไม่ได้.—กิจการ 2:17.
9. (ก) ความจริงที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเข้าใจแจ่มแจ้งนั้นมีอะไรบ้างเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และจุดหมายปลายทางที่กล่าวในคัมภีร์ไบเบิล? (ข) ความจริงอื่น ๆ อะไรอีกที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้เข้าใจแจ่มชัด?
9 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเข้าใจกระจ่างชัดว่า มนุษย์ไม่มีจิตวิญญาณอมตะ แต่เป็นจิตวิญญาณที่ตายได้. พวกเขาตระหนักว่า “ค่าจ้างของบาปคือความตาย” ไม่ใช่การทรมานชั่วกัปชั่วกัลป์, ไม่มีนรกที่ร้อนไหม้. (โรม 5:12; 6:23; เยเนซิศ 2:7; ยะเอศเคล 18:4) ยิ่งกว่านั้น พวกเขาเข้าใจอย่างชัดเจนว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการไม่เพียงแต่ไม่ถูกต้องตามหลักคัมภีร์ไบเบิล แต่ยังขาดพื้นฐานที่เป็นจริงอย่างสิ้นเชิงด้วย. (เยเนซิศ บท 1 และ 2) พวกเขาเข้าใจด้วยว่า คัมภีร์ไบเบิลแจ้งถึงจุดหมายปลายทางสองอย่าง คือทางภาคสวรรค์สำหรับผู้ถูกเจิมจำนวน 144,000 คนซึ่งเป็นสาวกติดตามรอยพระบาทพระคริสต์ และทางแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานสำหรับ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” ที่ไม่จำกัดจำนวน. (วิวรณ์ 7:9; 14:1; โยฮัน 10:16) นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลรุ่นแรก ๆ นั้นตระหนักว่า แผ่นดินโลกตั้งมั่นคงอยู่เป็นนิตย์และจะไม่ถูกไฟเผาผลาญ อย่างที่หลายศาสนาสอนกัน. (ท่านผู้ประกาศ 1:4; ลูกา 23:43) อนึ่ง พวกเขาเรียนรู้ว่าการเสด็จกลับของพระคริสต์จะไม่ประจักษ์แก่ตา และครั้นแล้วพระองค์จะสำเร็จโทษชนนานาชาติตามการพิพากษา แล้วจะตั้งอุทยานบนแผ่นดินโลก.—กิจการ 10:42; โรม 8:19-21; 1 เปโตร 3:18.
10. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้เรียนความจริงอะไรเกี่ยวกับการบัพติสมา, การแบ่งชั้นระหว่างนักเทศน์นักบวชและฆราวาส, และการรำลึกถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์?
10 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้เรียนรู้ว่า บัพติสมาตามหลักพระคัมภีร์นั้นหาใช่การเอาน้ำประพรมตัวเด็กทารก แต่ตามพระบัญชาของพระเยซูที่มัดธาย 28:19, 20 นั้น บัพติสมาหมายถึงการจุ่มตัวผู้เชื่อถือที่รับการสอนในน้ำ. นอกจากนี้ นักศึกษาเหล่านี้ได้มาเข้าใจว่า การแบ่งชั้นระหว่างนักเทศน์นักบวชกับฆราวาสไม่เป็นตามหลักคัมภีร์ไบเบิล. (มัดธาย 23:8-10) ในทางตรงกันข้าม คริสเตียนทุกคนต้องเป็นผู้เผยแพร่ข่าวดี. (กิจการ 1:8) นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหยั่งรู้เข้าใจว่า การรำลึกถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์นั้นควรถือรักษาเพียงครั้งเดียวในรอบปี คือวันที่ 14 เดือนไนซาน. นอกจากนั้น พวกเขาเข้าใจว่า วันอีสเตอร์เป็นวันฉลองของพวกนอกรีต. ยิ่งกว่านั้น เหล่าผู้ถูกเจิมมีความมั่นใจว่าพระเจ้าทรงสนับสนุนการงานของพวกเขาถึงขนาดเขาไม่เคยมีการเรี่ยไร. (มัดธาย 10:8) นับตั้งแต่เริ่มแรก พวกเขาเข้าใจว่า คริสเตียนต้องดำเนินชีวิตตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งรวมไปถึงการปลูกฝังผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าด้วย.—ฆะลาเตีย 5:22, 23.
ความสว่างที่แวบเพิ่มขึ้น
11. มีการฉายความสว่างอะไรในเรื่องหน้าที่มอบหมายของคริสเตียน และเกี่ยวกับอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องแกะกับแพะ?
11 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 1919 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้พระพรเนื่องด้วยความสว่างที่แวบเพิ่มขึ้น. ช่างเป็นความสว่างเจิดจ้าจริง ๆ ที่แวบขึ้น ณ การประชุมใหญ่ที่ซีดาร์ พอยต์ ปี 1922 เมื่อ เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด นายกคนที่สองของสมาคมว็อช เทาเวอร์ ได้เน้นหนักแน่นว่า หน้าที่รับผิดชอบประการแรกของผู้รับใช้พระยะโฮวาคือ “โฆษณา, โฆษณา, โฆษณาพระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรของพระองค์”! จากนั้นเพียงปีเดียว ความสว่างอันเจิดจ้าได้ส่องไปยังอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะ. เป็นที่เข้าใจว่า คำพยากรณ์ข้อนี้จะต้องสำเร็จเป็นจริงในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้ายุคปัจจุบัน ไม่ใช่ในอนาคตระหว่างสมัยพันปีอย่างที่เคยคิด. ในช่วงรัชสมัยพันปี พี่น้องของพระคริสต์จะไม่เจ็บป่วย และจะไม่ถูกจองจำ. นอกจากนี้ ตอนสิ้นรัชสมัยพันปี พระยะโฮวาพระเจ้าจะทรงดำเนินการพิพากษา ไม่ใช่พระเยซูคริสต์.—มัดธาย 25:31-46.
12. มีความสว่างอะไรที่แวบขึ้นเกี่ยวด้วยอาร์มาเก็ดดอน?
12 ในปี 1926 ความสว่างเจิดจ้าที่แวบขึ้นอีกครั้งหนึ่งเปิดเผยว่า สงครามอาร์มาเก็ดดอนหาได้หมายถึงการปฏิรูปสังคม อย่างที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเคยคิดไม่. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น สงครามอาร์มาเก็ดดอนจะเป็นสงครามซึ่งพระยะโฮวาจะทรงสำแดงฤทธานุภาพของพระองค์อย่างชัดแจ้ง เพื่อมนุษย์ทั้งมวลจะได้รู้แน่ว่าพระองค์คือพระเจ้า.—วิวรณ์ 16:14-16; 19:17-21.
คริสต์มาส—เทศกาลนอกรีต
13. (ก) มีความสว่างสว่างอะไรที่ส่องออกมาเกี่ยวกับการฉลองคริสต์มาส? (ข) เหตุใดไม่มีการฉลองวันเกิดอีกต่อไป? (รวมเชิงอรรถ.)
13 ไม่นานหลังจากนั้น ความสว่างที่แวบขึ้นทำให้นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเลิกฉลองคริสต์มาส. ก่อนหน้านั้น นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทั่วโลกได้ฉลองเทศกาลคริสต์มาสทุกปี และการฉลองคริสต์มาส ณ สำนักงานใหญ่ที่บรุกลินเป็นวาระที่มีการรื่นเริงมาก. แต่แล้วมีการสังเกตเข้าใจว่าการฉลองในวันที่ 25 ธันวาคมนั้น จริง ๆ แล้วเป็นแบบนอกรีตและคริสต์ศาสนจักรที่ออกหากได้เลือกเอาวันนี้ก็เพื่อคนนอกรีตจะเปลี่ยนศาสนาง่ายขึ้น. ยิ่งกว่านั้น มีการค้นพบว่า เป็นไปไม่ได้ที่พระเยซูจะประสูติในฤดูหนาว เพราะในช่วงที่พระองค์ประสูติคนเลี้ยงแกะกำลังเฝ้าฝูงแกะของตนในทุ่งหญ้า—ซึ่งเขาจะไม่ทำเช่นนั้นยามค่ำคืนตอนปลายเดือนธันวาคม. (ลูกา 2:8) แต่คัมภีร์ไบเบิลระบุว่า พระเยซูทรงประสูติราว ๆ วันที่ 1 ตุลาคม. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลก็ตระหนักเช่นกันว่า พวกนักปราชญ์ตามที่เรียกกันซึ่งเข้าเยี่ยมพระเยซูหลังการประสูติของพระองค์ประมาณสองปีคือนักโหราศาสตร์ชาวนอกรีต.b
ชื่อใหม่
14. เหตุใดสมญานามนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจึงไม่ได้ระบุถึงไพร่พลของพระยะโฮวาอย่างครบถ้วน?
14 ในปี 1931 ความสว่างเจิดจ้าที่แวบขึ้นแห่งความจริงได้เปิดเผยชื่ออันเหมาะสมถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์แก่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเหล่านั้น. ไพร่พลของพระยะโฮวาได้เข้าใจว่า พวกตนไม่อาจยอมรับสมญานามใด ๆ ที่คนอื่นตั้งให้ เป็นต้นว่าพวกรัสเซลล์, นักนิยมยุคพันปีที่จะมา, “พวกไม่เชื่อว่ามีนรก.”c แต่พวกเขาก็เริ่มเข้าใจอีกด้วยว่า ชื่อที่พวกเขาเรียกตัวเองนั้น คือนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติ ยังไม่ได้ระบุถึงตัวเขาอย่างครบถ้วน. พวกเขาไม่ได้เป็นแค่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. นอกจากนั้น ยังมีคนอื่นอีกมากมายซึ่งทำการค้นคว้าศึกษาคัมภีร์ไบเบิล แต่ก็ไม่มีส่วนคล้ายคลึงกันเลยกับนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเหล่านี้.
15. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้รับเอาชื่ออะไรในปี 1931 เพราะเหตุใดชื่อนี้จึงเหมาะสม?
15 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ชื่อใหม่โดยวิธีใด? วารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ได้ทำให้พระนามของพระยะโฮวาโดดเด่นตลอดมาเป็นเวลาหลายปี. ดังนั้น จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลพึงรับรองเอาชื่อที่พบในยะซายา 43:10 ที่ว่า “พระยะโฮวาตรัสว่า, ‘เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา และเป็นผู้รับใช้ของเราที่เราได้เลือกสรรไว้ เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักและเชื่อถือเรา และจะได้เข้าใจว่า, เราคือผู้นั้น. ไม่มีพระเจ้าเกิดขึ้นก่อนเรา, และภายหลังเราก็จะไม่มีดุจกัน.’”
การพิสูจน์ว่าถูกต้องและ “ชนฝูงใหญ่”
16. เหตุใดคำพยากรณ์ต่าง ๆ ที่บอกถึงการบูรณะฟื้นฟูไม่อาจนำมาใช้กับชนชาติยิวโดยกำเนิดที่กลับคืนสู่ปาเลสไตน์ แต่ทว่านำมาใช้ได้กับใคร?
16 ในหนังสือการพิสูจน์ว่าถูกต้อง เล่มสอง (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อช เทาเวอร์ ในปี 1932 ความสว่างที่แวบขึ้นเผยให้เห็นว่า คำพยากรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการบูรณะฟื้นฟูที่ยะซายา, ยิระมะยา, ยะเอศเคล และผู้พยากรณ์อื่น ๆ บันทึกไว้ไม่ได้ใช้กับชาวยิวโดยกำเนิด (อย่างที่เคยคิด) ซึ่งได้กลับคืนสู่ปาเลสไตน์อย่างคนไม่มีความเชื่อ พร้อมด้วยการจูงใจทางการเมือง. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คำพยากรณ์เกี่ยวกับการบูรณะฟื้นฟูซึ่งได้สำเร็จเป็นจริงในส่วนเล็ก ๆ เมื่อพวกยิวกลับจากการเป็นเชลยในบาบูโลนเมื่อปี 537 ก่อนสากลศักราช ได้สำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญเมื่อยิศราเอลฝ่ายวิญญาณได้รับการช่วยให้รอดและฟื้นฟูสภาพซึ่งเริ่มในปี 1919 และมีผลเป็นความเจริญมั่งคั่งภายในอุทยานฝ่ายวิญญาณซึ่งผู้รับใช้แท้ของพระยะโฮวาชื่นชมอยู่เวลานี้.
17, 18. (ก) ในเวลาต่อมา โดยทางความสว่างที่แวบขึ้น ได้เผยให้เห็นว่าพระประสงค์ที่สำคัญยิ่งของพระยะโฮวาคืออะไร? (ข) ในปี 1935 มีความสว่างอะไรที่แวบขึ้นเกี่ยวด้วยวิวรณ์ 7:9-17?
17 ต่อมา ความสว่างที่แวบขึ้นได้เผยให้รู้ว่าพระประสงค์ที่สำคัญยิ่งของพระยะโฮวานั้นไม่ใช่ความรอดของมนุษย์ แต่เป็นการพิสูจน์ว่า พระบรมเดชานุภาพของพระองค์นั้นถูกต้อง. สาระสำคัญที่สุดของคัมภีร์ไบเบิลปรากฏว่า หาใช่เรื่องค่าไถ่ แต่เป็นเรื่องราชอาณาจักร เพราะราชอาณาจักรนี้เองจะพิสูจน์ว่า พระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาถูกต้อง. ช่างเป็นความสว่างที่แวบขึ้นอย่างเจิดจ้าอะไรเช่นนั้น! คริสเตียนผู้อุทิศตัวจึงไม่พะวงเป็นประการแรกอีกต่อไปถึงเรื่องโอกาสที่ตนจะไปสวรรค์.
18 ในปี 1935 ความสว่างเจิดจ้าที่แวบขึ้นเผยให้เห็นว่า ชนฝูงใหญ่ที่มีกล่าวในวิวรณ์ 7:9-17 ไม่ใช่ชนชั้นสองทางภาคสวรรค์. เคยเข้าใจกันว่าชนที่ได้มีการเอ่ยถึงในข้อคัมภีร์เหล่านี้เป็นบางคนในพวกผู้ถูกเจิมซึ่งไม่ซื่อสัตย์เต็มที่จึงได้ยืนตรงหน้าราชบัลลังก์แทนการนั่งบัลลังก์ครองราชย์เป็นกษัตริย์และปุโรหิตกับพระเยซูคริสต์. ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีภาวะดังกล่าวที่ว่าซื่อสัตย์ไม่ครบถ้วน. คนเราจะเป็นได้แค่ซื่อสัตย์หรือไม่ก็ไม่ซื่อสัตย์. ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า คำพยากรณ์ข้อนี้พาดพิงถึงชนฝูงใหญ่ไม่จำกัดจำนวนจากทุกชาติผู้ซึ่งถูกรวบรวมเข้ามาในเวลานี้และมีความหวังทางแผ่นดินโลก. พวกเขาคือ “แกะ” ตามที่กล่าวในมัดธาย 25:31-46 และ “แกะอื่น” ในโยฮัน 10:16.
ไม้กางเขน—ไม่ใช่สัญลักษณ์คริสเตียน
19, 20. เหตุใดจะเอาไม้กางเขนมาเป็นสัญลักษณ์ศาสนาคริสเตียนแท้ไม่ได้?
19 นานหลายปีที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลถือเอาไม้กางเขนเป็นสิ่งเด่นฐานะเป็นสัญลักษณ์คริสเตียน. พวกเขาถึงกับติดเข็มกลัดรูปกางเขนสอดมงกุฎด้วยซ้ำ. ในคัมภีร์ฉบับแปลคิงเจมส์ พระเยซูได้ขอร้องให้เหล่าสาวกของพระองค์แบก “กางเขน” ของตัวเอง และหลายคนเชื่อว่า พระองค์ถูกประหารบนไม้กางเขน. (มัดธาย 16:24; 27:32) อนึ่ง สัญลักษณ์นี้ปรากฏอยู่บนหน้าปกวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) หลายสิบปี.
20 หนังสือความมั่งคั่ง (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยสมาคมฯเมื่อปี 1936 ให้ความกระจ่างว่า พระเยซูคริสต์ถูกประหารบนเสาหรือหลักที่ตั้งตรง ไม่ใช่บนไม้กางเขน. ตามหลักฐานอ้างอิงแหล่งหนึ่ง คำกรีก (staurosʹ) ที่ได้รับการแปล “ไม้กางเขน” ในคัมภีร์ฉบับแปลคิงเจมส์ “แรกทีเดียวหมายถึงเสาหรือหลักที่ตั้งตรง แตกต่างจากรูปแบบกางเขนของบาทหลวงที่มีสองท่อน . . . อันหลังนี้มีต้นตอในบาบูโลนโบราณ และถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระทัมมูส.” แทนที่จะใช้เพื่อกราบไหว้บูชา น่าจะถือว่าเครื่องมือที่ใช้ตรึงพระเยซูนั้นเป็นสิ่งน่ารังเกียจ.
21. จะมีการพิจารณาเรื่องอะไรในบทความถัดไป?
21 มีอีกหลายตัวอย่างเกี่ยวกับความสว่างแวบใหญ่และที่อาจถือว่าเป็นความสว่างแวบเล็ก. สำหรับการพิจารณาสิ่งเหล่านี้ โปรดดูบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก.
b ต่อมา เป็นที่เข้าใจว่าถ้าประสูติกาลครั้งสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมาไม่ได้มีการเฉลิมฉลองแต่อย่างใด เราก็ไม่ควรฉลองวันเกิดใด ๆ ทั้งสิ้น. นอกจากนี้ ชาวยิศราเอลหรือคริสเตียนยุคแรกก็ไม่ได้ฉลองวันเกิด. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงวันเกิดสองครั้งเท่านั้น วันเกิดฟาโรห์และวันเกิดเฮโรด อันติปา. การฉลองวันเกิดแต่ละรายทำให้เกิดเรื่องร้ายโดยมีการประหารชีวิต. พยานพระยะโฮวาไม่ฉลองวันเกิดเพราะการฉลองอย่างนี้มีต้นกำเนิดจากพวกนอกรีต และมีแนวโน้มจะยกย่องบุคคลเจ้าของวันเกิด.—เยเนซิศ 40:20-22; มาระโก 6:21-28.
c นี้เป็นข้อผิดพลาดของนิกายต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรหลายนิกาย. ลูเทอรันเป็นสมญานามซึ่งฝ่ายปรปักษ์ตั้งให้แก่ผู้ติดตามมาร์ติน ลูเทอร์ ต่อมา พวกเขาก็ได้รับเอาชื่อนี้. เช่นเดียวกัน พวกแบพติสต์ได้รับเอาชื่อซึ่งคนนอกตั้งให้ เนื่องจากพวกแบพติสต์สั่งสอนเรื่องการรับบัพติสมาโดยการจุ่มตัว. เมโทดิสต์ก็คล้ายกัน คือรับเอาชื่อที่คนนอกตั้งให้. เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า สมาคมแห่งมิตรสหายถูกเรียกว่าเควกเกอร์ (ผู้กลัวจนตัวสั่น) นั้นได้อย่างไร สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก ชี้แจงดังนี้: “คำว่า เควกเกอร์ แต่เดิมมีความมุ่งหมายให้เป็นคำเหยียดหยามฟอกซ์ [ผู้ก่อตั้งสมาคมฯ] ซึ่งบอกผู้พิพากษาชาวอังกฤษให้ ‘กลัวจนตัวสั่นเมื่อได้ฟังพระคำขององค์พระผู้เป็นเจ้า.’ ผู้พิพากษาจึงตั้งชื่อฟอกซ์ว่า ‘เควกเกอร์.’”
-