การจัดเตรียมด้วยความรักของพระยะโฮวาในด้านครอบครัว
“โดยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงคุกเข่าต่อพระบิดาซึ่งแต่ละครอบครัวในสวรรค์ก็ดี ที่แผ่นดินโลกก็ดีมีนามเนื่องด้วยพระองค์.”—เอเฟโซ 3:14, 15, ล.ม.
1, 2. (ก) พระยะโฮวาทรงสร้างหน่วยครอบครัวเพื่อวัตถุประสงค์อะไร? (ข) ทุกวันนี้ ครอบครัวน่าจะมีส่วนอะไรในการจัดเตรียมของพระยะโฮวา?
พระยะโฮวาได้ทรงสร้างหน่วยครอบครัว. โดยวิธีนี้พระองค์ไม่เพียงแต่ให้มนุษย์อิ่มใจพอใจกับการมีเพื่อนคู่คิด, การสนับสนุน, หรือการอยู่ใกล้ชิดสนิทกัน. (เยเนซิศ 2:18) โดยทางครอบครัวนี้แหละ พระประสงค์ที่ดีเยี่ยมของพระเจ้าจะบรรลุผลคือมีมนุษย์อยู่เต็มแผ่นดินโลก. พระองค์ทรงบัญชาคู่สมรสแรกสุดว่า “จงมีลูกดกทวีมากขึ้นจนเต็มแผ่นดิน จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน.” (เยเนซิศ 1:28, ฉบับแปลใหม่) สภาพแวดล้อมอันอบอุ่นของครอบครัวและการบำรุงเลี้ยงอย่างทะนุถนอมย่อมเป็นคุณประโยชน์สำหรับลูกหลานมากมายซึ่งเกิดจากอาดามกับฮาวารวมทั้งเทือกเถาเหล่ากอของเขาด้วย.
2 อย่างไรก็ดี สามีภรรยาคู่แรกเลือกเอาแนวทางไม่เชื่อฟัง—ยังผลเสียหายอย่างร้ายกาจแก่ตัวเขาทั้งสองและบุตรหลานด้วย. (โรม 5:12) ชีวิตครอบครัวทุกวันนี้จึงผิดไปจากรูปแบบที่พระเจ้าประสงค์ให้เป็น. ถึงกระนั้น ครอบครัวก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการจัดเตรียมของพระยะโฮวา ทำหน้าที่เป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมคริสเตียน. ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าจะขาดการหยั่งรู้ค่าต่อการงานอันดีซึ่งได้กระทำโดยคริสเตียนหลายคนผู้ไม่สมรสในท่ามกลางพวกเรา. ทว่า พวกเรารับรู้การช่วยเหลือเกื้อกูลมากมายที่บรรดาครอบครัวต่าง ๆ ส่งเสริมสุขภาพฝ่ายวิญญาณขององค์การคริสเตียนโดยส่วนรวม. ครอบครัวแข็งแรงมั่นคงย่อมก่อให้เกิดประชาคมที่แข็งแรงมั่นคง. กระนั้น ครอบครัวของคุณ จะพัฒนาเติบใหญ่ได้อย่างไรขณะที่เผชิญแรงกดดันในทุกวันนี้? เพื่อได้คำตอบ ให้เราตรวจสอบสิ่งที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการจัดเตรียมด้านครอบครัว.
ครอบครัวในสมัยที่มีการจารึกพระคัมภีร์
3. สามีและภรรยามีบทบาทอย่างไรในครอบครัวสมัยปฐมบรรพบุรุษ?
3 อาดามกับฮาวาทั้งสองคนได้ปฏิเสธการจัดเตรียมของพระเจ้าว่าด้วยตำแหน่งประมุข. แต่ผู้มีความเชื่อ อาทิ โนฮา, อับราฮาม, ยิศฮาค, และโยบ ต่างก็รับเอาตำแหน่งประมุขอย่างถูกต้อง. (เฮ็บราย 7:4) ครอบครัวสมัยปฐมบรรพบุรุษเหมือนกับรัฐบาลขนาดย่อม, บิดาทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านศาสนา, เป็นผู้สั่งสอนแนะนำ, และผู้ตัดสินความ. (เยเนซิศ 8:20; 18:19) ภรรยามีบทบาทสำคัญเช่นกัน มิใช่รับใช้เยี่ยงทาส แต่ในฐานะเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบ้านเรือน.
4. ชีวิตครอบครัวได้เปลี่ยนไปอย่างไรภายใต้พระบัญญัติของโมเซ แต่บิดามารดาก็ยังคงมีบทบาทเช่นไรอยู่เสมอ?
4 เมื่อชาวยิศราเอลได้กลายมาเป็นชาติในปี 1513 ก่อนสากลศักราช กฎหมายครอบครัวได้เข้ามาเป็นอันดับรองจากกฎหมายของประเทศซึ่งพระเจ้าได้ประทานผ่านทางโมเซ. (เอ็กโซโด 24:3-8) ในครั้งนั้น อำนาจในการตัดสินใจ รวมถึงเรื่องสำคัญถึงเป็นถึงตายได้มอบไว้กับผู้พิพากษาที่รับการแต่งตั้ง. (เอ็กโซโด 18:13-26) ผู้มีตำแหน่งปุโรหิตจากตระกูลเลวีรับเอางานถวายเครื่องบูชาอันเกี่ยวเนื่องกับการนมัสการ. (เลวีติโก 1:2-5) กระนั้นก็ดี บิดาก็ยังครองบทบาทสำคัญอยู่มิได้ขาด. โมเซตักเตือนบิดาทั้งหลายดังนี้: “และถ้อยคำเหล่านี้, ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้, ก็ให้ตั้งอยู่ในใจเจ้าทั้งหลาย; และจงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้, และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง, หรือนอนลง, และตื่นขึ้น.” (พระบัญญัติ 6:6, 7) ฝ่ายมารดาก็มีอิทธิพลมาก. สุภาษิต 1:8 กำชับเยาวชนดังนี้: “ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงฟังโอวาทบิดาของเจ้า, และอย่าละทิ้งคำสอนของมารดาเจ้า.” ใช่แล้ว ภายในกรอบแห่งอำนาจสามีของตน, ภรรยาที่เป็นชาวฮีบรูสามารถใช้—และบังคับใช้—กฎหมายครอบครัวได้. นางสมควรได้รับเกียรติจากบุตรของเธอแม้นในยามที่นางแก่ชราด้วยซ้ำไป.—สุภาษิต 23:22.
5. พระบัญญัติของโมเซพรรณนาสถานะของบุตรภายใต้การจัดเตรียมด้านครอบครัวไว้อย่างไร?
5 สถานภาพของบุตรก็เช่นกันได้รับการกำหนดไว้ชัดเจนในกฎหมายของพระเจ้า. พระบัญญัติ 5:16 ระบุดังนี้: “จงนับถือบิดามารดาของตน, ตามคำยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าตรัสสั่งนั้น; เพื่อเจ้าจะมีชีวิตยืนนาน, และจำเริญอยู่บนแผ่นดิน, ซึ่งยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าประทานให้แก่เจ้า.” ภายใต้พระบัญญัติของโมเซนั้น การไม่นับถือบิดาหรือมารดาของตนเป็นความผิดมหันต์. (เอ็กโซโด 21:15, 17) ดังที่ระบุในพระบัญญัติว่า “ผู้ใดได้แช่งด่าบิดาหรือมารดาของตนต้องฆ่าผู้นั้นเสีย.” (เลวีติโก 20:9) การทรยศต่อบิดามารดาของตนเท่ากับเป็นกบฏต่อพระเจ้าโดยตรง.
บทบาทของสามีคริสเตียน
6, 7. เหตุใดผู้อ่านถ้อยคำของเปาโลที่เอเฟโซ 5:23-29 เมื่อศตวรรษแรกจึงรู้สึกประหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่?
6 หลักการคริสเตียนให้ความสว่างมากขึ้นในเรื่องการจัดเตรียมด้านครอบครัว โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของสามี. ภายนอกประชาคมคริสเตียน เป็นสิ่งปกติสำหรับสามีในศตวรรษที่หนึ่งจะปฏิบัติต่อภรรยาด้วยกิริยาเกรี้ยวกราด กดขี่. สิทธิพื้นฐานและศักดิ์ศรีไม่มีให้สำหรับสตรี. ดิ เอ็กซ์โพซิเตอร์สไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) แจ้งดังนี้: “ชาวกรีกรับการปลูกฝังให้หาภรรยาก็เพื่อผลิตลูก. เธอไม่มีสิทธิยับยั้งความต้องการทางเพศของเขา. ความรักไม่มีอยู่เลยในสัญญาการสมรส . . . . ผู้หญิงทาสไม่มีสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น. ร่างกายของเธออยู่ในอำนาจจัดการของผู้เป็นเจ้าของตัวเธอ.”
7 ภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าว เปาโลได้เขียนไว้ที่เอเฟโซ 5:23-29 ดังนี้: “เพราะว่าสามีนั้นเป็นศีรษะของภรรยา, เหมือนพระคริสต์เป็นศีรษะของคริสต์จักร [ประชาคม], โดยที่พระองค์เป็นผู้ทรงช่วยคริสต์จักร [ประชาคม] ให้รอด . . . . ฝ่ายสามี จงรักภรรยาของตน, เหมือนอย่างพระคริสต์ได้ทรงรักคริสต์จักรด้วย, และได้ทรงประทานพระองค์เองเพื่อคริสต์จักร [ประชาคม] นั้น . . . สามีควรจะรักภรรยาของตนเหมือนรักกายของตนเองด้วย. ผู้ที่รักภรรยาของตนเองก็รักตัวเอง ด้วยว่าไม่มีผู้ที่เกลียดชังเนื้อหนังของตนเอง, แต่ย่อมเลี้ยงบำรุงไว้.” สำหรับผู้อ่านในศตวรรษแรก ถ้อยคำเหล่านี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปทีเดียว. ดิ เอ็กซ์โพสิเตอร์สไบเบิล กล่าวว่า “เมื่อเทียบกับความเหลวแหลกทางศีลธรรมในยุคนั้นแล้ว ไม่มีอะไรในหลักการคริสเตียนที่แปลกและเข้มงวดกว่าทัศนะของคริสเตียนในเรื่องชีวิตสมรส . . . [ทัศนะนั้น] เปิดศักราชใหม่สำหรับมนุษยชาติ.”
8, 9. ทัศนะไม่ถูกต้องบางอย่างอะไรบ้างที่มีต่อสตรีอันเป็นเรื่องปกติในหมู่ผู้ชาย, และทำไมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ชายคริสเตียนไม่ยอมรับทัศนะเช่นนั้น?
8 คำแนะนำของพระคัมภีร์สำหรับสามีทั้งหลายนั้นจะเป็นการปฏิรูปในปัจจุบันไม่น้อยกว่า. ทั้งที่มีการพูดถึงสิทธิเสรีภาพของสตรี แต่ยังมีผู้ชายอีกมากที่ถือว่าผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุสำหรับสนองความพอใจทางกามารมณ์. โดยการเชื่อนิยายที่ว่าแท้จริงผู้หญิงชอบให้ผู้ชายใช้อำนาจเหนือตน, ชอบอยู่ใต้การควบคุม, หรือชอบถูกรังแก, ผู้ชายหลายคนทำร้ายร่างกายและจิตใจภรรยาของตน. เป็นสิ่งน่าอับอายเพียงไรถ้าผู้ชายคริสเตียนถูกชักพาไปตามความคิดแบบชาวโลก แล้วกระทำทารุณกับภรรยาตัวเอง! สตรีคริสเตียนคนหนึ่งบอกว่า “สามีดิฉันเคยเป็นผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้งและให้คำบรรยายสาธารณะ.” แต่เธอเปิดเผยว่า “ดิฉันเคยเป็นเหยื่อของคนที่ชอบทุบตีภรรยาตัวเอง.” เห็นได้ชัดว่าการกระทำดังกล่าวไม่ประสานกับการจัดเตรียมของพระเจ้า. ชายคนนั้นเป็นกรณียกเว้นที่ไม่ค่อยจะมี เขาจำเป็นต้องแสวงหาการช่วยเหลือเพื่อจัดการกับความบ้าคลั่งของตัวเอง หากเขาหวังจะรับความพอพระทัยของพระเจ้า.—ฆะลาเตีย 5:19-21.
9 พระเจ้าสั่งสามีทั้งหลายให้รักภรรยาเหมือนรักกายของตนเอง. การไม่ยอมทำอย่างนั้นเป็นการขัดขืนการจัดเตรียมของพระเจ้า และอาจทำให้สัมพันธภาพของตนกับพระเจ้าพลอยเสียไปด้วย. คำพูดของอัครสาวกเปโตรชัดเจนที่ว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นสามี จงอยู่กับเขา [ภรรยา] ต่อ ๆ ไปในลักษณะเดียวกันตามความรู้ ให้เกียรติแก่เขาทั้งหลายเหมือนหนึ่งเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า . . . เพื่อคำอธิษฐานของท่านจะไม่ถูกขัดขวาง.” (1 เปโตร 3:7, ล.ม.) การปฏิบัติอย่างเกรี้ยวกราดกับภรรยาของตนอาจยังผลเสียหายหนักหนาแก่สภาพฝ่ายวิญญาณของเธอและสภาพฝ่ายวิญญาณของบุตรได้เช่นกัน.
10. สามีสามารถแสดงความเป็นประมุขในลักษณะเยี่ยงพระคริสต์ได้ในทางใดบ้าง?
10 คุณที่เป็นสามี ครอบครัวของคุณจะเฟื่องฟูภายใต้ความเป็นประมุขของคุณ หากคุณใช้ตำแหน่งประมุขเยี่ยงพระคริสต์. พระคริสต์ไม่เคยเกรี้ยวกราดหรือหยาบคาย. ตรงกันข้าม พระองค์สามารถตรัสอย่างนี้: “เรียนจากเรา เพราะเรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม และเจ้าทั้งหลายจะได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเจ้า.” (มัดธาย 11:29, ล.ม.) ครอบครัวของคุณจะใช้ถ้อยคำเหล่านี้หมายถึงคุณได้ไหม? พระคริสต์ทรงปฏิบัติต่อสาวกของพระองค์ฉันมิตรสหาย และทรงไว้ใจพวกเขา. (โยฮัน 15:15) คุณยอมให้ภรรยามีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกันไหม? คัมภีร์ไบเบิลพูดถึง “สตรีที่เป็นแม่เรือนดี” ดังนี้ “สตรีนั้นเป็นที่ไว้วางใจของสามี.” (สุภาษิต 31:10, 11) ทั้งนี้ย่อมหมายถึงการให้อิสระแก่เธอพอสมควร มิใช่ว่าวางข้อจำกัดให้เธออย่างไม่สมเหตุสมผล. นอกจากนั้น พระเยซูยังได้สนับสนุนสาวกของพระองค์แสดงออกซึ่งความรู้สึกและความคิดเห็น. (มัดธาย 9:28; 16:13-15) คุณทำเช่นนั้นกับภรรยาของคุณไหม? หรือคุณมองดูการไม่เห็นพ้องต้องกันแต่ทำด้วยความซื่อสัตย์เป็นการท้าทายต่ออำนาจของคุณไหม? โดยที่คุณคำนึงถึงความรู้สึกของภรรยาแทนที่จะมองข้าม แท้จริงแล้ว คุณเสริมสร้างความนับถือของเธอสำหรับความเป็นประมุขของคุณ.
11. (ก) โดยวิธีใดผู้เป็นบิดาสามารถจะเอาใจใส่ต่อความจำเป็นต่าง ๆ ของบุตรด้านฝ่ายวิญญาณ? (ข) เหตุใดผู้ปกครองและผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้งจึงต้องวางตัวอย่างที่ดีในการเอาใจใส่ดูแลครอบครัวของตน?
11 ถ้าคุณอยู่ในฐานะบิดา คุณก็จะต้องเป็นผู้นำในการเอาใจใส่ดูแลความจำเป็นของบุตรในด้านวิญญาณ, จิตใจ, และร่างกาย. ที่ว่านี้รวมไปถึงระเบียบการที่ดีฝ่ายวิญญาณซึ่งทำเป็นประจำสำหรับครอบครัวเช่น การออกไปประกาศด้วยกันกับบุตร, การนำการศึกษาพระคัมภีร์ที่บ้าน, การพิจารณาข้อคัมภีร์ประจำวัน. น่าสนใจ พระคัมภีร์ชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองหรือผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้งควร “เป็นคนที่ปกครองครอบครัวของตนเองอย่างดีงาม.” บุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้จึงควรเป็นหัวหน้าครอบครัวตัวอย่าง. ขณะที่เขาแบกภาระหนักเกี่ยวด้วยความรับผิดชอบต่าง ๆ ของประชาคม เขาต้องถือว่าครอบครัวตัวเองเป็นอันดับแรก. เปาโลให้เหตุผลดังนี้: “ถ้าชายคนใดไม่รู้จักวิธีปกครองครอบครัวของตนเองแล้ว เขาจะเอาใจใส่ดูแลประชาคมของพระเจ้าอย่างไรได้?”—1 ติโมเธียว 3:4, 5, 12, ล.ม.
ภรรยาคริสเตียนที่ให้การสนับสนุน
12. ภรรยามีบทบาทอะไรในการจัดเตรียมทางฝ่ายคริสเตียน?
12 คุณเป็นภรรยาคริสเตียนหรือ? เช่นนั้นแล้ว คุณก็เช่นกันต้องมีบทบาทสำคัญภายใต้การจัดเตรียมในด้านครอบครัว. ภรรยาคริสเตียนได้รับคำตักเตือน “ให้รักสามีและรักบุตรของตน, และให้เป็นคนมีสติสัมปชัญญะ, เป็นคนบริสุทธิ์, เป็นคนเอาใจใส่ในการบ้านเรือน, เป็นคนใจเมตตา, และฟังถ้อยคำของสามีตน.” (ติโต 2:4, 5) ฉะนั้น คุณควรพยายามเป็นภรรยาตัวอย่าง, ดูแลรักษาบ้านเรือนให้สะอาดน่าอยู่สำหรับครอบครัวของคุณ. งานบ้านบางครั้งก็อาจเป็นงานน่าเบื่อ แต่ก็ไม่ใช่งานต่ำหรือเป็นงานไม่สำคัญ. ในฐานะภรรยา คุณ “ดูแลบ้านเรือน” และมีความอิสระมากพอประมาณในด้านนี้. (1 ติโมเธียว 5:14, ฉบับแปลใหม่) ยกตัวอย่าง “แม่เรือนดี” จัดซื้อหาเสบียง, เครื่องใช้ไม้สอย, ทำธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์, และผันเงินหารายได้ด้วยการทำธุรกิจขนาดย่อม. ไม่แปลกที่สามีกล่าวสรรเสริญเธอ! (สุภาษิต บท 31) แน่นอน ความคิดริเริ่มดังกล่าวได้ทำภายในขอบเขตแห่งการชี้แนะของสามีผู้เป็นประมุขของเธอนั้นเอง.
13. (ก) เหตุใดจึงเป็นการยากที่ผู้หญิงบางคนจะยอมเชื่อฟัง? (ข) ทำไมจึงถือว่าเป็นการได้เปรียบสำหรับสตรีคริสเตียนที่จะยอมเชื่อฟังอยู่ในอำนาจสามี?
13 การยอมตัวเชื่อฟังสามีของคุณอาจไม่ง่ายเสมอไป. ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนปฏิบัติอย่างน่านับถือ. และคุณอาจเป็นคนมีความสามารถไม่น้อยเมื่อจัดการในเรื่องการเงิน, การวางแผน, หรือการจัดระเบียบสิ่งต่าง ๆ. คุณอาจมีงานอาชีพและมีรายได้ช่วยครอบครัวด้านการเงิน. หรือในอดีต คุณอาจเคยประสบความทุกข์มาบ้างจากการวางอำนาจของผู้ชาย และอาจรู้สึกว่าการจะเชื่อฟังผู้ชายนั้นยาก. กระนั้นก็ดี การแสดง “ความนับถืออย่างสุดซึ้ง” หรือการ “ยำเกรง” ต่อสามี ย่อมแสดงว่าคุณนับถือตำแหน่งประมุขของพระเจ้า. (เอเฟโซ 5:33, ล.ม.; 1 โกรินโธ 11:3) อีกประการหนึ่ง การนอบน้อมเชื่อฟังเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ครอบครัวประสบความสำเร็จ ทั้งยังช่วยมิให้การสมรสของคุณต้องถูกบีบคั้นและเหนื่อยยากโดยไม่จำเป็น.
14. ภรรยาอาจทำประการใดเมื่อเธอไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของสามี?
14 แต่นี้หมายความว่าคุณต้องไม่ปริปากเลยไหมเมื่อคุณรู้สึกว่าการตัดสินใจของสามีขัดต่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของครอบครัว? อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น. ซารา ภรรยาของอับราฮามไม่เงียบเมื่อนางได้สังเกตการคุกคามสวัสดิภาพของยิศฮาคบุตรชายของเธอ. (เยเนซิศ 21:8-10) ในทำนองเดียวกัน บางครั้ง คุณอาจสำนึกถึงพันธะที่จะต้องแสดงความรู้สึก. หากได้กระทำด้วยความนับถือ และ “เหมาะกับกาลเทศะ” ผู้ชายคริสเตียนที่เลื่อมใสในพระเจ้าจะฟัง. (สุภาษิต 25:11) แต่ถ้าเขาไม่ฟังข้อเสนอแนะของคุณ และสิ่งนั้นไม่เป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อหลักการคริสเตียน การทัดทานความประสงค์ของสามีจะไม่เป็นการทำความเสียหายตัวเองหรอกหรือ? จำไว้ “สตรีที่มีปัญญาย่อมก่อสร้างบ้านเรือนของตนขึ้น; แต่ผู้ที่โฉดเขลาย่อมรื้อบ้านลงด้วยมือตนเอง.” (สุภาษิต 14:1) วิธีหนึ่งที่จะสร้างเสริมบ้านเรือนของคุณคือให้การสนับสนุนความเป็นประมุขของสามี, กล่าวยกย่องความสำเร็จของเขา, รับมือกับการผิดพลาดของเขาอย่างไม่สะทกสะท้านหรือหัวเสีย.
15. ภรรยาอาจร่วมมือได้ในทางใดบ้างเกี่ยวกับการอบรมตีสอนบุตรของเธอ?
15 อีกวิธีหนึ่งในการเสริมสร้างครอบครัวของคุณคือมีส่วนร่วมให้การฝึกฝนและอบรมบุตร. ยกตัวอย่าง คุณสามารถทำส่วนของคุณเพื่อให้การศึกษาพระคัมภีร์สำหรับครอบครัวเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและเสริมสร้างซึ่งกันและกัน. ‘อย่าวางมือ’ เมื่อถึงคราวที่ต้องให้สัจธรรมประการต่าง ๆ ของพระเจ้าแก่บุตรของคุณในทุกโอกาส—เมื่อเดินทาง หรือแม้ในเวลาไปซื้อของกับบุตร. (ท่านผู้ประกาศ 11:6) ช่วยเตรียมคำตอบที่เขาจะให้ ณ การประชุมต่าง ๆ และส่วนในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบการของพระเจ้า. เฝ้าระวังระไวเรื่องการสมาคมคบเพื่อนของบุตร. (1 โกรินโธ 15:33) ในกรณีที่ต้องพูดถึงมาตรฐานของพระเจ้าและการอบรมตีสอนด้วยความเลื่อมใสศรัทธา จงแสดงให้บุตรรู้ว่าคุณกับสามีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน. อย่ายอมให้เด็กเป็นตัวการยุคุณกับสามีให้ผิดใจกัน เพื่อเขาจะได้สิ่งที่ต้องการ.
16. (ก) มีตัวอย่างอะไรในพระคัมภีร์ซึ่งใช้สนับสนุนบิดาหรือมารดาไร้คู่และคนเหล่านั้นที่สมรสกับผู้ไม่เชื่อพระเจ้า? (ข) คนอื่นในประชาคมอาจจะให้การช่วยเหลือบุคคลดังกล่าวอย่างไร?
16 ถ้าคุณเป็นบิดาหรือมารดาไร้คู่หรือมีสามีหรือภรรยาที่ถือศาสนาต่างไปจากคุณ จึงจำเป็นอยู่เองที่คุณต้องเป็นผู้นำทางฝ่ายวิญญาณ. ทั้งนี้อาจเป็นงานที่ยากและบางครั้งทำให้ท้อแท้ได้. แต่อย่าละความพยายาม. นางยูนิเก มารดาติโมเธียวประสบความสำเร็จในการสอนท่านให้รู้พระธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ “ตั้งแต่เป็นทารก” ทั้งที่นางได้สมรสกับคนที่ไม่เชื่อพระเจ้า. (2 ติโมเธียว 1:5; 3:15, ล.ม.) และหลายคนท่ามกลางพวกเราต่างก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน. ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือด้านนี้ คุณอาจหารือกับผู้ปกครองให้เขารู้ถึงความต้องการของคุณ. คณะผู้ปกครองอาจจัดบางคนช่วยคุณไปยังการประชุมและออกไปในงานประกาศ. พวกเขาอาจกระตุ้นคนอื่นชวนครอบครัวของคุณไปเที่ยวหย่อนใจหรือสังสรรค์ด้วยกัน. หรืออาจจัดผู้ประกาศที่มีประสบการณ์ช่วยคุณเริ่มการศึกษาในครอบครัว.
บุตรที่หยั่งรู้ค่า
17. (ก) เยาวชนอาจมีส่วนช่วยส่งเสริมสวัสดิภาพของครอบครัวได้โดยวิธีใด? (ข) ในเรื่องนี้พระเยซูได้ทรงวางตัวอย่างอะไร?
17 เยาวชนคริสเตียนสามารถส่งเสริมสวัสดิภาพของครอบครัวได้โดยการเชื่อฟังคำแนะนำจากเอเฟโซ 6:1-3, (ล.ม.) ที่ว่า “ฝ่ายบุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนร่วมสามัคคีกันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าการนี้ชอบธรรม: ‘จงให้เกียรติบิดามารดาของตน’ ซึ่งเป็นบัญญัติแรกพร้อมด้วยคำสัญญา: ‘เพื่อท่านทั้งหลายจะได้อยู่เย็นเป็นสุข. และมีชีวิตยืนยาวที่แผ่นดินโลก.’” โดยการร่วมมือกับบิดามารดาของคุณ คุณแสดงให้เห็นถึงความนับถือต่อพระยะโฮวา. พระเยซูคริสต์ทรงสมบูรณ์พร้อม และอาจชักเหตุผลได้โดยง่ายว่าการยอมเชื่อฟังบิดามารดาของพระองค์นั้นเป็นการเสื่อมเกียรติ. กระนั้น “พระกุมารก็กลับไป . . . . อยู่ใต้ความปกครองของเขา . . . และพระเยซูก็ได้จำเริญขึ้นในฝ่ายสติปัญญา, ในฝ่ายกาย, และเป็นที่ชอบจำเพาะพระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งปวงด้วย.”—ลูกา 2:51, 52.
18, 19. (ก) การให้เกียรติบิดามารดาหมายความอย่างไร? (ข) บ้านจะกลายเป็นแหล่งให้ความสดชื่นได้อย่างไร?
18 ไม่ควรหรือที่คุณพึงให้เกียรติบิดามารดาของคุณเช่นเดียวกัน? “ให้เกียรติ” ในที่นี้หมายถึงการยอมรับอย่างสมควรต่อสิทธิอำนาจที่ถูกตั้งขึ้นอย่างถูกต้อง. (เทียบกับ 1 เปโตร 2:17.) การให้เกียรติดังกล่าวเป็นสิ่งสมควรแทบทุกสถานการณ์ทีเดียว ถึงแม้บิดามารดาไม่มีความเชื่อในพระเจ้า หรือไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดี. คุณพึงให้เกียรติบิดามารดาของคุณยิ่งกว่านั้นหากว่าท่านทั้งสองเป็นคริสเตียนตัวอย่าง. อนึ่ง จำไว้ว่า การที่คุณรับการอบรมว่ากล่าวและการชี้แนะเช่นนั้นก็ใช่ว่าเพื่อจำกัดเสรีภาพของคุณเกินจำเป็น. ท่านมุ่งหมายจะป้องกันคุณต่างหาก เพื่อคุณจะ “ดำรงชีวิตอยู่.”—สุภาษิต 7:1, 2, ฉบับแปลใหม่.
19 นับว่าครอบครัวเป็นการจัดเตรียมที่เปี่ยมด้วยความรักอะไรเช่นนั้น! เมื่อสามี, ภรรยา, และบุตรต่างคนก็เชื่อฟังกฎข้อบังคับของพระเจ้าสำหรับชีวิตครอบครัว บ้านจึงเป็นสถานพักพิงที่ยังความสดชื่น. ถึงกระนั้น อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการสื่อความและการอบรมบุตร. บทความถัดไปจะพิจารณาวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้บางข้อ.
คุณจำได้ไหม?
▫ สามี, ภรรยา, และบุตรที่เกรงกลัวพระเจ้าได้วางแบบอย่างอะไรไว้ในสมัยที่มีการจารึกพระคัมภีร์?
▫ หลักการคริสเตียนได้ให้ความกระจ่างอย่างไรเกี่ยวด้วยบทบาทของสามี?
▫ ภรรยาควรมีบทบาทอะไรในครอบครัวคริสเตียน?
▫ เยาวชนคริสเตียนอาจมีส่วนส่งเสริมสวัสดิภาพของครอบครัวได้อย่างไร?
[รูปภาพหน้า 9]
“เมื่อเทียบกับความเหลวแหลกทางศีลธรรมในยุคนั้นแล้ว ไม่มีอะไรในหลักการคริสเตียนที่แปลกและเข้มงวดกว่าทัศนะของคริสเตียนในเรื่องชีวิตสมรส . . . [ทัศนะนั้น] เปิดศักราชใหม่สำหรับมนุษยชาติ”
[รูปภาพหน้า 10]
สามีคริสเตียน, สนับสนุนภรรยาของตนแสดงความรู้สึกออกมาและใส่ใจกับความรู้สึกเหล่านี้