การฝึกฝนตัวให้รู้จักยำเกรงพระเจ้า
“จงยำเกรงพระยะโฮวา, และละจากความชั่ว.”—สุภาษิต 3:7.
1. พระธรรมสุภาษิตได้รับการจารึกไว้สำหรับใคร?
พระธรรมสุภาษิตอุดมด้วยคำแนะนำสั่งสอนมากมายฝ่ายวิญญาณ. ในตอนแรก พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมหนังสือคู่มือนี้ขึ้นมาก็เพื่อสอนชาวประชายิศราเอล ชาติแบบอย่างของพระองค์. ทุกวันนี้ พระธรรมเล่มนี้ยังมีภาษิตอันคมคายสำหรับชนคริสเตียน ชาติบริสุทธิ์ของพระองค์ “ผู้ซึ่งกำลังอยู่ในกาลสิ้นสุดแห่งระเบียบการนี้.”—1 โกรินโธ 10:11, ล.ม.; สุภาษิต 1:1-5; 1 เปโตร 2:9.
2. ทำไมคำเตือนที่สุภาษิต 3:7 จึงเหมาะอย่างยิ่งกับสมัยปัจจุบัน?
2 เมื่อเปิดพระธรรมสุภาษิต 3:7 เราอ่านว่า “อย่าอวดว่าตนเป็นคนฉลาด; จงยำเกรงพระยะโฮวา, และละจากความชั่ว.” เริ่มตั้งแต่สมัยบิดามารดาคู่แรกของเรา เมื่องูได้ล่อใจฮาวาด้วยคำสัญญาว่า เขา “จะรู้จักความดีและชั่ว” สติปัญญาของมนุษย์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษยชาติได้เลย. (เยเนซิศ 3:4, 5; 1 โกรินโธ 3:19, 20) เรื่องนี้ไม่เคยปรากฏในสมัยใดแห่งประวัติศาสตร์แจ่มชัดเหมือนในศตวรรษที่ 20 “สมัยสุดท้าย” ที่มนุษยชาติซึ่งกำลังเก็บเกี่ยวผลแห่งแนวคิดที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า แต่เชื่อในวิวัฒนาการนั้น ถูกกระหน่ำด้วยความทุกข์เดือดร้อนโดยการถือเชื้อชาติ, ความรุนแรง และการผิดศีลธรรมทุกรูปแบบ. (2 ติโมเธียว 3:1-5, 13, ล.ม.; 2 เปโตร 3:3, 4, ล.ม.) นี้เป็น ‘ความสับสนใหม่สำหรับโลก’ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติหรือศาสนาต่าง ๆ ที่แตกแยกของโลกก็แก้ไม่ได้.
3. เหตุการณ์อะไรบ้างมีพยากรณ์ไว้ถึงสมัยของเรา?
3 พระคำของพระเจ้าเชิงพยากรณ์บอกพวกเราว่า กองกำลังฝ่ายผีปีศาจได้ออกไปยัง “กษัตริย์ทั้งหลายทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่เพื่อรวบรวมกษัตริย์เหล่านั้นสู่สงครามแห่งวันใหญ่ของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ . . . ยังสถานที่ซึ่งเรียกในภาษาฮีบรูว่าฮาร์-มาเกดโอน.” (วิวรณ์ 16:14, 16, ล.ม.) อีกไม่นาน พระยะโฮวาจะยังให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในบรรดากษัตริย์หรือผู้ครอบครองเหล่านั้น. จะเป็นเหมือนความสะดุ้งกลัวที่เกิดแก่ชาวคะนาอันในคราวที่ยะโฮซูอะกับพวกยิศราเอลมาเพื่อสำเร็จโทษพวกเขา. (ยะโฮซูอะ 2:9-11) แต่สมัยนี้ พระองค์ซึ่งยะโฮซูอะเป็นภาพเล็งถึง คือพระเยซูคริสต์ “กษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลายและเจ้านายแห่งเจ้านายทั้งหลาย” เป็นผู้ซึ่งจะ “ฟาดฟันชาติต่าง ๆ . . . และ . . . จะทรงเลี้ยงดูพวกเขาด้วยคทาเหล็ก” ซึ่งแสดงถึง “ความกริ้วของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.”—วิวรณ์ 19:15, 16, ล.ม.
4, 5. ใครจะประสบความรอด, และเพราะเหตุใด?
4 ใครจะประสบความรอดคราวนั้น? เหล่าคนที่จะรอดไม่ใช่คนที่หวาดกลัวท่วมท้น แต่ทุกคนซึ่งปลูกฝังความเกรงกลัวด้วยความเคารพในพระยะโฮวา. แทนที่คนเหล่านี้จะพึ่งความเข้าใจของตนเอง เขาจะ “ละจากความชั่ว.” ด้วยความถ่อมใจ เขาเลี้ยงบำรุงจิตใจด้วยสิ่งดี ๆ เพื่อสิ่งชั่วจะถูกเบียดออกไปจากความคิดของเขา. เขายึดมั่นกับความเคารพยำเกรงอันถูกต้องดีงามอันพึงมีต่อพระยะโฮวาองค์บรมมหิศร “ผู้พิพากษาทั้งโลก” ผู้ซึ่งจวนจะสำเร็จโทษทุกคนที่ติดอยู่กับความชั่ว เหมือนพระองค์ได้ทำลายชาวซะโดมที่ชั่วช้า. (เยเนซิศ 18:25) อันที่จริง สำหรับไพร่พลของพระเจ้า “ความยำเกรงพระยะโฮวาเป็นน้ำพุแห่งชีวิต, เพื่อว่าคนจะได้พ้นจากบ่วงแร้วแห่งความตายได้.”—สุภาษิต 14:27.
5 ในสมัยแห่งการพิพากษาของพระเจ้านี้ บรรดาผู้ที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาอย่างเต็มที่ด้วยความกลัวว่าตนจะทำให้พระองค์ไม่พอพระทัยย่อมตระหนักในความจริงซึ่งกล่าวเป็นนัยที่สุภาษิต 3:8 ดังนี้: “นั่นแหละ [การยำเกรงพระยะโฮวา] จะเป็นสุขภาพแก่ร่างกายของเจ้า, และสดชื่นแก่กระดูกของเจ้า.”
การถวายเกียรติยศแด่พระยะโฮวา
6. อะไรน่าจะกระตุ้นเราให้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่สุภาษิต 3:9?
6 การยำเกรงพระยะโฮวาด้วยความหยั่งรู้ค่า รวมเข้ากับความรักอันแรงกล้าที่เรามีต่อพระองค์นั้น น่าจะกระตุ้นเราให้เอาใจใส่สุภาษิต 3:9 ที่ว่า “จงถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ของเจ้า, และด้วยผลแรกทั้งหมดที่เพิ่มพูนแก่เจ้านั้น.” เราไม่ถูกกดดัน ให้ถวายสิ่งของต่าง ๆ เพื่อเป็นการให้เกียรติพระยะโฮวา. การถวายควรเป็นไปด้วยความสมัครใจ ตามที่ระบุไว้ประมาณ 12 ครั้งจากเอ็กโซโด 35:29 ถึงพระบัญญัติ 23:23 เกี่ยวกับเครื่องบูชาต่าง ๆ สมัยยิศราเอลโบราณ. ผลแรกที่ถวายแด่พระยะโฮวาควรเป็นของถวายดีที่สุดเท่าที่เราถวายได้ เนื่องด้วยเรารู้ซึ้งถึงความดีและความรักกรุณาที่เราได้รับจากพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 23:6) ผลแรกเหล่านั้นน่าจะสะท้อนถึงการตั้งใจของเราที่จะ “แสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน เสมอไป.” (มัดธาย 6:33, ล.ม.) และผลเป็นอย่างไรจากการที่เราถวายเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ของเรา? “เมื่อกระทำเช่นนั้นแล้วยุ้งฉางของเจ้าจะเต็มบริบูรณ์, และถังของเจ้าจะเปี่ยมล้นด้วยน้ำองุ่นสด.”—สุภาษิต 3:10.
7. ผลแรกที่เราควรถวายแด่พระยะโฮวาได้แก่อะไร และจะมีผลอะไรตามมา?
7 วิธีที่พระยะโฮวาทรงอวยพรแก่เรานั้นประการแรกเป็นฝ่ายวิญญาณ. (มาลาคี 3:10) ดังนั้น ผลแรกที่เราถวายแด่พระองค์ควรเป็นสิ่งฝ่ายวิญญาณในอันดับแรก. เราควรใช้เวลา, กำลังความสามารถ และพลังชีวิตของเราเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. สิ่งนั้นก็จะบำรุงเลี้ยงตัวเรา ในทำนองเดียวกับที่การทำเช่นนั้นเป็นเสมือน “อาหาร” ที่เสริมกำลังแก่พระเยซู. (โยฮัน 4:34) คลังทรัพย์ฝ่ายวิญญาณของเราจะเต็มบริบูรณ์ และความยินดีของเรา น้ำองุ่นใหม่โดยนัยนั้น จะมีล้นเหลือ. นอกจากนั้น ขณะที่เราอธิษฐานด้วยความไว้วางใจขออาหารเพียงพอสำหรับแต่ละวัน เราก็สามารถบริจาคด้วยใจเอื้อเฟื้อได้เรื่อย ๆ จากที่เรามีอยู่ เพื่อสนับสนุนงานราชอาณาจักรทั่วโลก. (มัดธาย 6:11) ทุกสิ่งที่เป็นของของเรา รวมทั้งทรัพย์ฝ่ายวัตถุ ล้วนมาจากพระบิดาทางภาคสวรรค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก. พระองค์จะทรงหลั่งพระพรให้เราอีก ตราบเท่าที่เราใช้ทรัพย์สินอันมีค่าเหล่านั้นเพื่อสรรเสริญพระองค์.—สุภาษิต 11:4; 1 โกรินโธ 4:7.
การว่ากล่าวด้วยความรัก
8, 9. เราน่าจะคำนึงถึงการว่ากล่าวและการตีสอนอย่างไร?
8 สุภาษิตบท 3 ข้อ 11 และ 12 พูดอีกครั้งหนึ่งถึงความสัมพันธ์อันน่าชื่นใจระหว่างบิดากับบุตรในครอบครัวที่เลื่อมใสในพระเจ้า เช่นเดียวกับระหว่างพระยะโฮวากับบุตรที่รักของพระองค์ทางฝ่ายวิญญาณที่อยู่บนแผ่นดินโลก. เราอ่านว่า “บุตรชายของเราเอ๋ย, อย่าประมาทต่อบทวินัยของพระยะโฮวา; และอย่าอ่อนระอาต่อการเตือนสอนของพระองค์: เพราะผู้ใดที่พระยะโฮวาทรงรัก พระองค์ทรงเตือนสอนผู้นั้น, เช่นบิดากระทำต่อบุตรที่ตนชื่นชม.” ชาวโลกเกลียดการเตือนสอน. ไพร่พลของพระยะโฮวาควรยินดีรับการเตือนสอน. อัครสาวกเปาโลได้ยกถ้อยคำเหล่านี้จากพระธรรมสุภาษิตมากล่าวดังนี้: “บุตรของเราเอ๋ย อย่าดูถูกการตีสอนจากพระยะโฮวา และอย่าหยุดกลางคันเมื่อพระองค์ทรงแก้ไขเจ้า; เพราะว่าพระยะโฮวารักผู้ใด พระองค์ทรงตีสอนผู้นั้น . . . จริงอยู่ ไม่มีการตีสอนใดดูเหมือนน่าชื่นใจเมื่อได้รับอยู่ แต่น่าเศร้าใจ; กระนั้นในภายหลังผู้ที่ได้รับการฝึกโดยการตีสอนก็ได้ผลที่ก่อให้เกิดสันติสุข คือความชอบธรรม.”—เฮ็บราย 12:5, 6, 11, ล.ม.
9 ใช่แล้ว การว่ากล่าวและการตีสอนเป็นสิ่งจำเป็นในการอบรมพวกเราแต่ละคน ไม่ว่าเรารับจากบิดามารดา, จากประชาคมคริสเตียน หรือเมื่อเราพิจารณาไตร่ตรองเนื้อความในพระคัมภีร์ขณะที่เราศึกษาเป็นส่วนตัว. เป็นเรื่องสำคัญถึงชีวิตสำหรับเราที่จะใส่ใจต่อการตีสอน ดังสุภาษิต 4:1, 13 กล่าวไว้เช่นกันว่า “ศิษย์ทั้งหลายเอ๋ย, จงฟังโอวาทของผู้ที่เป็นบิดา, และสนใจเพื่อให้รู้ในความเข้าใจ. จงยึดคำสั่งสอน [การตีสอน, ล.ม.] ไว้ให้มั่น; อย่าปล่อยเสียเลย: จงรักษาไว้ให้ดี; เพราะว่านั่นคือชีวิตของเจ้า.”
ความสุขอันล้ำเลิศ
10, 11. อะไรเป็นแง่มุมบางอย่างจากถ้อยคำที่หวานหูที่สุภาษิต 3:13-18?
10 ถ้อยคำที่ตามมานั้นไพเราะเสียจริง ๆ เป็น “ถ้อยคำที่หวานหูและ . . . ถูกต้องแห่งความจริง”! (ท่านผู้ประกาศ 12:10, ล.ม.) คำกล่าวนี้ของซะโลโมโดยการดลบันดาลพรรณนาถึงความสุขที่แท้จริง. เป็นถ้อยคำที่พึงจารึกอยู่ในหัวใจของเรา. เราอ่านว่า:
11 “ความผาสุกมีแก่คนนั้นที่พบพระปัญญา, และแก่คนนั้นที่รับความเข้าใจ. เพราะว่าการหาพระปัญญามาได้นั้นก็ดีกว่าได้เงิน, และผลกำไรนั้นก็ประเสริฐกว่าทองคำบริสุทธิ์. พระปัญญามีค่ายิ่งกว่าทับทิม: และไม่มีสิ่งใด ๆ ซึ่งเจ้าพึงปรารถนาเอามาเทียบกับพระปัญญาได้. ในระยะพระหัตถ์เบื้องขวาของพระปัญญานั้นมีวันคืนอยู่ยืดยาว; และในพระหัตถ์เบื้องซ้ายมีทรัพย์มั่งคั่งและเกียรติศักดิ์. วิถีของพระปัญญานั้นคือทางความโสมนัส, และทางทั้งหลายของพระปัญญานั้นคือสันติสุข. พระปัญญาเป็นต้นไม้แห่งชีวิตแก่คนนั้น ๆ ที่ฉวยเอาพระองค์ไว้ได้: และทุกคนที่ยึดถือพระองค์ไว้นั้นก็จะมีความผาสุก.”—สุภาษิต 3:13-18.
12. ปัญญาและความเข้าใจเป็นประโยชน์แก่พวกเราอย่างไร?
12 พระปัญญา คำนี้มีกล่าวบ่อยครั้งเพียงไรในพระธรรมสุภาษิต ทั้งหมด 46 ครั้ง!. “ความยำเกรงพระยะโฮวาเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา.” นี้แหละคือปัญญาซึ่งได้มาโดยความเลื่อมใสในพระเจ้าและใช้การได้จริง ที่อาศัยความรู้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าซึ่งทำให้ไพร่พลของพระองค์ถือท้ายเรือแห่งชีวิตฝ่าความยุ่งเหยิงที่เป็นอันตรายซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลกของซาตานไปได้อย่างปลอดภัย. (สุภาษิต 9:10) ความเข้าใจ ซึ่งได้รับการเอ่ยถึง 19 ครั้งในพระธรรมสุภาษิตนั้น เป็นสิ่งช่วยเสริมสติปัญญา ช่วยเราต่อสู้กับวิธีการต่าง ๆ ของซาตาน. ในการทำชั่วด้วยอุบายอันมีเล่ห์เหลี่ยมของมัน ปรปักษ์ตัวสำคัญนี้เคยมีประสบการณ์มานานนับพัน ๆ ปี. แต่เรามีบางสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าประสบการณ์ที่เป็นครูนั้น นั่นคือความเข้าใจที่สืบเนื่องจากความเลื่อมใสในพระเจ้า ความสามารถจะแยกแยะระหว่างถูกกับผิด และเลือกดำเนินในทางถูก. นี้แหละเป็นสิ่งที่พระยะโฮวาทรงสอนเราโดยทางพระวจนะของพระองค์.—สุภาษิต 2:10-13; เอเฟโซ 6:11.
13. อะไรสามารถป้องกันเราได้ในยามเศรษฐกิจย่ำแย่ และโดยวิธีใด?
13 ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจในโลกทุกวันนี้แสดงล่วงหน้าถึงความสมจริงตามคำพยากรณ์ในยะเอศเคล 7:19 ที่ว่า “เขาจะทิ้งเงินของเขาที่ถนนทั้งหลาย, และทองคำของเขาจะเป็นดุจของโสโครก, เงินและทองคำของเขาจะไม่อาจช่วยเขาให้รอดในวันพิโรธของพระยะโฮวา.” ทรัพย์สินเงินทองทั้งสิ้นบนแผ่นดินจะเทียบกันไม่ได้เลยกับอำนาจที่จะช่วยให้รอดแห่งสติปัญญาและความเข้าใจ. กษัตริย์ซะโลโมผู้ทรงปัญญาเปรื่องปราดตรัสไว้ ณ อีกโอกาสหนึ่งว่า “ด้วยว่าสติปัญญาเป็นเครื่องปกป้องกันฉันใด, เงินก็เป็นเครื่องปกป้องกันฉันนั้น; แต่ความประเสริฐซึ่งมีอยู่ในความรู้นั้นคือมีปัญญารู้รักษาชีวิตของเจ้าของความรู้นั้นให้รอด.” (ท่านผู้ประกาศ 7:12) แท้จริง ความสุขมีแก่บรรดาผู้ที่ดำเนินในทางแห่งความพอใจยินดีของพระยะโฮวาเวลานี้ และผู้ซึ่ง ด้วยความสุขุม เลือกเอา “วันคืนอยู่ยืดยาว” คือชีวิตนิรันดรอันเป็นของประทานจากพระเจ้าแก่ทุกคนที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู!—สุภาษิต 3:16; โยฮัน 3:16; 17:3.
ปลูกฝังสติปัญญาแท้
14. พระยะโฮวาทรงสำแดงพระสติปัญญาอันเป็นแบบอย่างที่ดีในทางใด?
14 เป็นการเหมาะสมที่มนุษย์เราซึ่งถูกสร้างตามแบบฉายาของพระเจ้าจะบากบั่นปลูกฝังสติปัญญาและความเข้าใจ คุณลักษณะที่พระยะโฮวาทรงสำแดงให้ปรากฏในงานสร้างสรรค์อันน่าพิศวงของพระองค์. “โดยพระปัญญานั้นเอง พระยะโฮวาได้ทรงประดิษฐานโลกไว้, โดยความเข้าใจนั่นเองพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งฟ้าสวรรค์.” (สุภาษิต 3:19, 20) หลังจากนั้น พระองค์ทรงสร้างสรรพสัตว์ที่มีชีวิต หาใช่โดยกรรมวิธีที่ลึกลับไม่ หรืออธิบายไม่ได้อย่างวิวัฒนาการ แต่เป็นการสร้างขึ้นโดยตรง แต่ละชนิด “ตามชนิดของมัน” และเพื่อจุดมุ่งหมายอันรอบคอบ. (เยเนซิศ 1:25) ในที่สุด เมื่อมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมด้วยการมีเชาวน์ฉลาดและความสามารถเหนือกว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งปวง การเปล่งเสียงโห่ร้องของบรรดาทูตสวรรค์บุตรของพระเจ้าคงต้องก้องสะท้อนกลับทั่วฟ้าสวรรค์ซ้ำแล้วซ้ำอีก. (เทียบกับโยบ 38:1, 4, 7.) การหยั่งรู้การณ์ไกล, สติปัญญา และความรักของพระยะโฮวาปรากฏชัดแจ้งในผลงานทุกอย่างของพระองค์บนแผ่นดินโลก.—บทเพลงสรรเสริญ 104:24.
15. (ก) เพราะเหตุใดการที่เพียงแต่ปลูกฝังให้มีสติปัญญาเท่านั้นจึงไม่พอ? (ข) สุภาษิต 3:25, 26 น่าจะกระตุ้นเราให้มีความมั่นใจในสิ่งใด?
15 พวกเราจำต้องไม่เพียงแต่ปลูกฝังคุณลักษณะของพระยะโฮวาในด้านสติปัญญาและความเข้าใจเท่านั้น แต่จำต้องยึดมั่นกับคุณลักษณะเหล่านั้นด้วย คือไม่เฉื่อยชาลงในการศึกษาพระคำของพระองค์. พระองค์ทรงเตือนเราว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงสงวนพระปัญญาอันเลิศและความสุขุมรอบคอบไว้: อย่าพ้นจากสายตาของเจ้าไป: เพื่อว่าจะได้เป็นชีวิตแก่วิญญาณของเจ้า, และเป็นคุณประดับคอของเจ้า.” (สุภาษิต 3:21, 22) ด้วยเหตุนี้ เราจะดำเนินอย่างปลอดภัยและด้วยใจสงบ แม้อยู่ในระหว่างช่วงเวลาที่วันแห่ง “ความพินาศโดยฉับพลัน” ซึ่งจะเกิดขึ้นกับโลกของซาตานนั้นกำลังมาเหมือนขโมย. (1 เธซะโลนิเก 5:2, 3, ล.ม.) ในระหว่างความทุกข์ครั้งใหญ่ คุณไม่ต้อง “วิตกถึงเหตุน่ากลัวอันจะเกิดขึ้นฉับพลัน, หรือวิตกถึงพายุแห่งความพินาศของคนชั่วอันจะเกิดขึ้น: เพราะว่าพระยะโฮวาจะเป็นที่ไว้วางใจของเจ้า, และจะทรงรักษามิให้เท้าของเจ้าพลาดพลั้งไป.”—สุภาษิต 3:23-26.
รักการกระทำความดี
16. นอกจากกระตือรือร้นในงานรับใช้แล้ว คริสเตียนยังต้องมีการปฏิบัติเช่นไรอีก?
16 สมัยนี้เป็นโอกาสสำหรับการแสดงความกระตือรือร้นด้วยการประกาศข่าวดีแห่งราชอาณาจักรเพื่อให้คำพยานแก่นานาประเทศ. แต่งานให้คำพยานนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากกิจกรรมคริสเตียนด้านอื่น ดังมีคำพรรณนาที่สุภาษิต 3:27, 28 ดังนี้: “อย่ากีดกันความดีไว้จากคนใด ๆ ที่เขาควรจะได้ความดีนั้น, ในเมื่อเจ้ามีอำนาจอยู่ในกำมืออาจจะทำได้. อย่าพูดกับเพื่อนบ้านของเจ้าว่า, ‘ไปก่อนเถอะแล้วค่อยมาอีกที, พรุ่งนี้เถอะฉันจะให้,’ ในเมื่อเจ้ามีสิ่งนั้นอยู่ใกล้ตัวของเจ้า.” (เทียบกับยาโกโบ 2:14-17.) เมื่อโลกส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอดอยาก มีการเรียกร้องอย่างเร่งด่วนที่พวกเราพึงช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะพี่น้องฝ่ายวิญญาณของเรา. พยานพระยะโฮวาตอบสนองเรื่องนี้อย่างไร?
17-19. (ก) มีการรับมือกับความต้องการอย่างเร่งด่วนด้านไหนในช่วงปี 1993, พร้อมกับมีการตอบสนองอย่างไร? (ข) อะไรแสดงว่าพี่น้องของเราที่มีปัญหายุ่งยาก “มีชัยชนะเหลือล้น”?
17 ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง: ช่วงปีที่แล้ว มีการร้องขออย่างเร่งด่วนจากอดีตประเทศยูโกสลาเวีย. บรรดาพี่น้องในประเทศใกล้เคียงต่างก็แสดงอาการตอบสนองอย่างน่าทึ่ง. ในช่วงหลายเดือนที่เยือกเย็นของฤดูหนาวปีกลาย มีทางเป็นไปได้ที่ขบวนรถบรรทุกจะนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ผ่านพื้นที่ที่มีการรบกัน สิ่งของที่บรรทุกไปก็มีหนังสือและวารสารออกใหม่, เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่น, อาหาร และหยูกยาสำหรับพยานฯที่ขัดสน. มีอยู่ครั้งหนึ่ง พวกพี่น้องได้ขออนุญาตนำเข้าสิ่งของบรรเทาทุกข์หนัก 15 ตัน แต่เมื่อได้รับใบอนุญาต กลับกลายเป็นว่าให้นำเข้าได้ถึง 30 ตัน! พยานพระยะโฮวาที่ประเทศออสเตรียจึงเร่งจัดสิ่งของช่วยเหลือใส่รถบรรทุกอีกสามคัน. รวมน้ำหนัก สิ่งของทั้งสิ้น 25 ตันได้ไปถึงปลายทางสมดังใจ. พี่น้องของเรารู้สึกปลาบปลื้มเพียงใดที่ได้รับสิ่งของมากมายสำหรับฝ่ายวิญญาณและฝ่ายร่างกาย!
18 คนเหล่านั้นที่ได้รับสิ่งของแสดงอาการตอบรับอย่างไร? ต้นปีนี้เอง ผู้ปกครองคนหนึ่งเขียนว่า: “พี่น้องชายหญิงในซาราเจโวมีชีวิตอยู่และมีสุขภาพดี และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ พวกเรายังคงเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ ที่จะทนต่อไปกับสงครามที่ไร้เหตุผล. สภาพการณ์ในเรื่องอาหารนั้นลำบากมาก. ขอพระยะโฮวาโปรดอวยพรและประทานบำเหน็จแก่พวกคุณ เพราะคุณได้บากบั่นช่วยเหลือเรา. ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้แสดงความนับถือเป็นพิเศษต่อพยานพระยะโฮวา เพราะการดำเนินชีวิตของเขาเป็นตัวอย่างที่ดี และเนื่องจากพยานฯให้ความนับถือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง. อนึ่ง พวกเรารู้สึกขอบคุณเช่นเดียวกันที่คุณได้ส่งอาหารฝ่ายวิญญาณไปให้พวกเรา.”—เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 145:18.
19 พี่น้องเหล่านี้ที่ล่อแหลมต่ออันตรายได้แสดงการหยั่งรู้คุณค่าเช่นกัน โดยมีความกระตือรือร้นออกไปในงานประกาศ. เพื่อนบ้านหลายคนได้มาหาเขาและขอศึกษาพระคัมภีร์ด้วย. ที่เมืองทุสลา อาหารถูกส่งไปช่วยในเมืองนั้นถึงห้าตัน ผู้ประกาศ 40 คนรายงานการประกาศโดยเฉลี่ยคนละ 25 ชั่วโมงต่อเดือน เป็นการสนับสนุนไพโอเนียร์เก้าคนในประชาคมนั้นอย่างดี. พวกเขามี 243 คนที่ได้เข้าร่วมประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู. จริง ๆ แล้ว พี่น้องที่รักเหล่านี้ “มีชัยชนะเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ได้ทรงรักเราทั้งหลาย.”—โรม 8:37.
20. “การให้กันไปให้กันมา” แบบไหนที่มีขึ้นในอดีตสหภาพโซเวียต?
20 ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ปรากฏให้เห็นโดยรถขนสิ่งของบรรเทาทุกข์ขบวนใหญ่ส่งอาหารและเครื่องนุ่งห่มที่ให้ความอบอุ่นจำนวนมากเข้าไปในอดีตสหภาพโซเวียต ได้รับการตอบรับอย่างเหมาะสมโดยความกระตือรือร้นของพี่น้องที่นั่นเช่นกัน. ตัวอย่างเช่น ในมอสโก ผู้ร่วมประชุมอนุสรณ์ปีนี้มี 7,549 คน เทียบกับปีกลายซึ่งมี 3,500 คน. ในช่วงเดียวกัน ประชาคมเพิ่มขึ้นจาก 12 เป็น 16 ประชาคม. สำหรับอดีตสหภาพโซเวียตทั้งหมด (ยกเว้นสาธารณรัฐแถบทะเลบอลติก) การเพิ่มทวีของจำนวนประชาคม 14 เปอร์เซ็นต์, จำนวนผู้ประกาศ 25 เปอร์เซ็นต์, และไพโอเนียร์ 74 เปอร์เซ็นต์. นับว่าเป็นการแสดงน้ำใจที่กระตือรือร้นและการเสียสละตัวเองอย่างแท้จริง! สิ่งนี้ทำให้เรานึกถึงศตวรรษแรกเมื่อมี “การให้กันไปให้กันมา.” คริสเตียนผู้มีสินทรัพย์ทั้งทางฝ่ายวิญญาณและทางด้านวัตถุได้เอื้อเฟื้อแบ่งปันให้แก่คนเหล่านั้นที่อยู่ในสภาพอัตคัดขาดแคลน ขณะที่ความกระตือรือร้นของคนทุกข์ยากเหล่านั้นได้ทำให้ผู้บริจาคเกิดความชื่นชมยินดีและมีกำลังใจ.—2 โกรินโธ 8:14.
จงเกลียดสิ่งชั่ว!
21. คำพูดปิดท้ายในสุภาษิตบท 3 มีการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างอย่างไรระหว่างคนมีปัญญากับคนโง่?
21 ต่อจากนั้น พระธรรมสุภาษิตบทสามก็เสนอชุดคำกล่าวเทียบเคียง ปิดท้ายด้วยคำตักเตือนดังนี้: “อย่าอิจฉาคนห้าว, และอย่าเลือกทางประพฤติของเขาไว้. เพราะผู้หลงผิดเป็นที่สะอิดสะเอียนแด่พระยะโฮวา; แต่ทรงเป็นมิตรกับคนตรง. การสาปสรร [คำสาปแช่ง, ล.ม.] ของพระยะโฮวาตกอยู่ในเรือนของคนชั่วร้าย; แต่พระองค์ทรงอวยพระพรต่อบ้านเรือนของผู้ชอบธรรม. พระองค์ทรงประมาทเยาะเย้ยผู้ประมาทเยาะเย้ยเป็นแน่; แต่พระราชทานพระคุณต่อผู้ถ่อมตัวลง. คนมีปัญญาจะได้สง่าราศีเป็นมรดก, แต่ความอับอายขายหน้าจะเป็นรางวัลสำหรับคนโง่.”—สุภาษิต 3:29-35.
22. (ก) โดยวิธีใดเราจะไม่ถูกนับเข้ากับหมู่คนโง่? (ข) คนมีปัญญาเกลียดอะไร และเขาปลูกฝังสิ่งใด พร้อมกับมีรางวัลอะไร?
22 โดยวิธีใดเราจะเลี่ยงการถูกนับรวมอยู่ในจำพวกคนโง่? เราต้องเรียนรู้ที่จะเกลียดสิ่งชั่ว คือรังเกียจ สิ่งที่พระยะโฮวาทรงรังเกียจ—การชั่วร้ายต่าง ๆ นานาแห่งโลกที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและมีความผิดฐานฆ่าคน. (โปรดดูสุภาษิต 6:16-19 ด้วย.) ในทางกลับกัน เราต้องปลูกฝังสิ่งที่ดีคือ ความเที่ยงตรง, ความชอบธรรม และความอ่อนน้อม ด้วยว่าเมื่อเราถ่อมใจและยำเกรงพระยะโฮวา เราอาจบรรลุถึง “ทรัพย์สมบัติและเกียรติศักดิ์และชีวิต.” (สุภาษิต 22:4) นี้แหละจะเป็นรางวัลสำหรับพวกเราทุกคนซึ่งเชื่อฟังปฏิบัติตามคำตักเตือนที่ว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจของเจ้า.”
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ข้อคัมภีร์ที่เป็นอรรถบทของการศึกษานี้ให้ประโยชน์อย่างไรในเวลานี้?
▫ พวกเราอาจจะถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาอย่างไร?
▫ เหตุใดเราไม่ควรประเมินค่าการตีสอนว่าไม่สำคัญ?
▫ ความสุขที่ล้ำเลิศจะพบได้ที่ไหน?
▫ โดยวิธีใดเราจะรักสิ่งดีและเกลียดสิ่งชั่ว?
[รูปภาพหน้า 18]
บรรดาผู้ที่ถวายแด่พระยะโฮวาสุดความสามารถย่อมได้รับพระพรอย่างอุดม