รักษาชื่อเสียงของคุณให้ดี
นักออกแบบอาคารที่งามวิจิตรสร้างชื่อเสียงสำหรับตัวเองฐานะเป็นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญ. เด็กสาวที่เรียนเก่งจึงเป็นที่รู้จักกันในฐานะนักเรียนที่ฉลาด. แม้แต่คนที่ไม่ทำอะไรเลยก็อาจได้ชื่อว่าเป็นคนเกียจคร้าน. เพื่อเน้นคุณค่าของการสร้างชื่อเสียงดี คัมภีร์ไบเบิลกล่าวดังนี้: “ชื่อเสียงดีเป็นที่น่าปรารถนายิ่งกว่าการมีทรัพย์สมบัติมากมาย, การมีชื่อเสียงเป็นที่น่าปรารถนายิ่งกว่าเงินและทอง.”—สุภาษิต 22:1, แอน อเมริกัน แทรนสเลชัน.
ชื่อเสียงดีค่อย ๆ ปรากฏชัดขึ้นมาจากการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายอย่างในช่วงเวลาหนึ่ง. แต่ชื่อเสียงอาจเสียหายได้ด้วยการกระทำอันโง่เขลาแค่ครั้งเดียว. ยกตัวอย่าง การประพฤติผิดทางเพศเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ชื่อเสียงดีด่างพร้อยได้. ในบทที่หกของพระธรรมสุภาษิตแห่งคัมภีร์ไบเบิล กษัตริย์ซะโลโมในแผ่นดินยิศราเอลโบราณได้เตือนให้ระวังทัศนคติและการกระทำซึ่งอาจทำลายชื่อเสียงของเราและยังความเสียหายแก่สัมพันธภาพระหว่างเรากับพระยะโฮวาพระเจ้าได้. บางอย่างในบรรดาการกระทำเหล่านี้ได้แก่ การค้ำประกันโดยขาดความรอบคอบ, ความเกียจคร้าน, การหลอกลวง, และการผิดศีลธรรมทางเพศ ซึ่งโดยแท้แล้วเป็นสิ่งที่พระยะโฮวาทรงชัง. การเชื่อฟังคำแนะนำนี้จะช่วยเราป้องกันชื่อเสียงที่ดีของเรา.
ถอนตัวออกจากการค้ำประกันอย่างโง่เขลา
พระธรรมสุภาษิตบทหกเริ่มต้นด้วยถ้อยคำดังนี้: “ศิษย์ของเราเอ๋ย, ถ้าเจ้าได้เป็นนายประกันให้เพื่อนบ้านของเจ้า, ถ้าเจ้าร่วมจับมือกับผู้หนึ่งผู้ใด; เจ้าก็ติดกับโดยคำทั้งหลายซึ่งออกมาจากปากของเจ้า, เจ้าก็ถูกดักโดย [คำ] ทั้งหลายซึ่งออกมาจากปากของเจ้า. ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงทำอย่างนี้, เมื่อเห็นอยู่แล้วว่าเจ้าอยู่ในกำมือของเพื่อนบ้านของเจ้า: ก็จงถอนตัวของเจ้าออกเสีย; จงรีบไปวิงวอนขอต่อเพื่อนบ้านของเจ้า.”—สุภาษิต 6:1-3.
สุภาษิตข้อนี้แนะนำไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการดำเนินธุรกิจของผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ตนไม่รู้จักคุ้นเคย. จริงอยู่ ชาวยิศราเอลจะต้อง ‘ค้ำจุนพวกพี่น้องของเขาซึ่งยากจนและขัดสนเงินทอง.’ (เลวีติโก 25:35-38) แต่ชาวยิศราเอลบางคนที่มีความคิดริเริ่มได้ทำธุรกิจบางอย่างที่เสี่ยงและได้เงินทุนสนับสนุนโดยโน้มน้าวคนอื่นให้ ‘ค้ำประกัน’ ตน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เขาต้องรับผิดชอบหนี้สิน. สภาพการณ์คล้าย ๆ กันอาจเกิดขึ้นได้ในสมัยนี้. เป็นต้นว่า สถาบันการเงินอาจกำหนดให้มีผู้ร่วมลงนามก่อนอนุมัติเงินกู้ในรายที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการเสี่ยง. ไม่สุขุมเสียเลยที่จะรีบร้อนผูกมัดตัวเองโดยวิธีนี้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น! เราอาจถูกหลอกล่อไปติดกับทางการเงิน มิหนำซ้ำเราเองอาจพลอยเสียชื่อกับธนาคารและกับเจ้าหนี้คนอื่นด้วย!
แล้วจะว่าอย่างไรถ้าเราพบว่ากิจการที่ดำเนินอยู่ซึ่งทีแรกก็ดูเหมือนเป็นการตัดสินใจที่ดี แต่ครั้นตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วปรากฏว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่สุขุมเลย? คำแนะนำคือละความหยิ่งไว้และ “จงรีบไปวิงวอนขอต่อเพื่อนบ้านของเจ้า.” เราต้องทำทุกทางเท่าที่ทำได้เพื่อจัดเรื่องราวให้เรียบร้อย. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่า “พยายามทุกวิธีเท่าที่จะทำได้จนกว่าตกลงกันได้กับคู่กรณี และจัดการเรื่องราวระหว่างกันให้เป็นที่เรียบร้อย เพื่อว่าข้อสัญญาการค้ำประกันจะไม่กระทบคุณหรือครอบครัวของคุณ.” และควรจัดการเรื่องนี้โดยไม่ชักช้า เพราะกษัตริย์ตรัสเสริมดังนี้: “อย่าให้ตาของเจ้าหลับ, หรืออย่าให้หนังตาของเจ้าปรือไป; จงปลีกตัวของเจ้าให้พ้นร้ายเหมือนอย่างเนื้อสมันพ้นจากมือของนายพราน, และเหมือนอย่างนกพ้นจากมือของผู้ดัก.” (สุภาษิต 6:4, 5) เมื่อมีทางทำได้ การถอนตัวออกจากคำมั่นสัญญาที่ทำอย่างไม่รอบคอบก็ย่อมดีกว่าจะติดกับเพราะคำสัญญาดังกล่าว.
ขยันหมั่นเพียรเหมือนมด
“ไปดูมดซิ, เจ้าขี้เกียจ; จงพิจารณาทางทั้งหลายของมัน, และจงฉลาดขึ้น” ซะโลโมเตือน. เราอาจได้ปัญญาแบบไหนจากการพิจารณาทางทั้งหลายของมดตัวกระจิด? กษัตริย์ตรัสตอบดังนี้: “มันไม่มีหัวหน้า, ผู้กำกับการ, หรือผู้ปกครอง. ถึงกระนั้นมันก็ยังสะสมอาหารไว้เมื่อฤดูร้อน, และรวบรวมเสบียงของมันไว้เมื่อฤดูเกี่ยวข้าว.”—สุภาษิต 6:6-8.
มดอยู่รวมกันเป็นฝูงอย่างมีระเบียบน่าอัศจรรย์และร่วมมือกันอย่างน่าทึ่ง. โดยสัญชาตญาณ มันสะสมอาหารไว้เผื่อวันข้างหน้า. มัน “ไม่มีหัวหน้า, ผู้กำกับการ, หรือผู้ปกครอง.” จริงอยู่ ในรังมดมีมดนางพญา ทว่า มันเป็นนางพญาในแง่ที่มันวางไข่และเป็นแม่รังเท่านั้นเอง. มันไม่ออกคำสั่ง. แม้ไม่มีหัวหน้ามดงานที่คอยสั่งการหรือตรวจตรา แต่ฝูงมดทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา.
ไม่ควรหรือที่เราก็เช่นกันพึงขยันหมั่นเพียรอย่างมด? การขยันและบากบั่นเพื่อแก้ไขปรับปรุงการงานของเราเป็นผลดีสำหรับตัวเรา ไม่ว่าจะมีคนคอยดูแลชี้แนะหรือไม่มีก็ตาม. ใช่แล้ว เราควรทำดีที่สุดทั้งในโรงเรียน, ณ ที่ทำงานรับจ้าง, และขณะที่มีส่วนร่วมกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ. มดได้ประโยชน์จากความขยันหมั่นเพียรของมันฉันใด พระเจ้าก็ทรงประสงค์จะให้พวกเรา ‘เห็นสิ่งดีจากงานหนักทั้งสิ้นของเรา’ ฉันนั้น. (ท่านผู้ประกาศ 3:13, 22, ล.ม.; 5:18) สติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและความอิ่มใจพอใจเป็นส่วนตัวคือบำเหน็จของความขยันขันแข็ง.—ท่านผู้ประกาศ 5:12.
โดยใช้คำถามสองข้อที่ไม่มุ่งหมายให้ตอบ ซะโลโมพยายามจะปลุกคนเกียจคร้านให้ตื่นขึ้นจากความขี้เกียจของตัวเองดังนี้: “เจ้าจะนอนอยู่นานสักเท่าใด, เจ้าขี้เกียจ? เมื่อไรเจ้าจะตื่นลุกขึ้นจากการหลับใหลของเจ้า?” โดยการใช้คำพูดล้อเลียนคนเกียจคร้าน กษัตริย์ทรงกล่าวเพิ่มเติมว่า “อยากนอนอีกนิด, อยากงีบอีกหน่อย อยากกอดมือนอนอีกประเดี๋ยว. ดังนั้นแหละความเข็ญใจของเจ้าจะจู่เข้ามาดุจโจรเข้าปล้น, และความขาดแคลนของเจ้าจะจู่เข้ามาดุจคนมีอาวุธครบมือ.” (สุภาษิต 6:9-11) ขณะที่คนเกียจคร้านยังเฉื่อยชาอยู่ ความยากจนจะจู่เข้ามาดุจโจรปล้น และความขาดแคลนจะจู่โจมเขาดุจคนมีอาวุธครบมือ. ไร่นาของคนเกียจคร้านจะมีหญ้ารกและต้นหนามเต็มไปหมด. (สุภาษิต 24:30, 31) การทำธุรกิจของเขาประสบการขาดทุนในเวลาอันสั้น. นายจ้างจะอดทนกับคนเกียจคร้านได้นานสักเท่าไร? และนักเรียนที่ขี้เกียจเรียนหนังสือจะคาดหวังได้หรือว่าจะทำคะแนนได้ดี?
จงซื่อสัตย์
ซะโลโมตรัสต่อไปเกี่ยวด้วยความประพฤติอีกแบบหนึ่งซึ่งทำลายชื่อเสียงของคนเราในชุมชนและสัมพันธภาพระหว่างผู้นั้นกับพระเจ้าดังนี้: “คนผู้ร้ายฆ่าคน, คนอสัตย์อธรรม, ได้แก่ผู้ที่เดินไปมาใช้ปากกล่าวคำที่หลงผิด. ที่ขยิบหูขยิบตา, ที่เสือกเท้าไปมา, ที่ให้อาณัติสัญญาด้วยนิ้วมือของเขา; ส่วนในใจของเขานั้นเต็มไปด้วยการหลงผิด, เขาคิดทำร้ายอยู่เสมอ, เขาแพร่ความแตกสามัคคี.”—สุภาษิต 6:12-14.
คำพรรณนานี้ส่อลักษณะคนหลอกลวง. ปกติคนพูดปดมักจะพยายามปกปิดความไม่สัตย์จริงของตน. โดยวิธีใด? ไม่เพียงแต่ “คำที่หลงผิด” แต่จะใช้ลักษณะท่าทางด้วย. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งชี้ว่า “ท่าทาง, น้ำเสียง, และแม้กระทั่งสีหน้าถูกใช้เป็นวิธีหลอกลวงทั้งสิ้น ความสุจริตใจซึ่งปรากฏให้เห็นภายนอก ในเบื้องหลังแล้วแฝงด้วยใจชั่วเสื่อมทรามและน้ำใจที่ชอบก่อการวิวาท.” คนชั่วร้ายดังกล่าวคิดวางแผนชั่วและก่อให้เกิดการโต้แย้งกันตลอดเวลา. การกระทำเหล่านั้นจะก่อผลอย่างไรแก่เขา?
กษัตริย์แห่งยิศราเอลทรงตอบว่า “เพราะฉะนั้นความหายนะของเขาจะจู่มาโดยฉับพลัน; ในทันใดนั้นเขาจะแหลกลาญจนไม่มีทางเยียวยาเลย.” (สุภาษิต 6:15) เมื่อคนโกหกถูกเปิดโปง ชื่อเสียงของเขาเสียหายทันที. ใครเล่าจะเชื่อใจเขาอีก? อวสานของเขาคือความหายนะอย่างแท้จริง เพราะ “คนทั้งปวงที่พูดมุสา” ถูกจัดอยู่ในจำพวกคนตายชั่วนิรันดร์. (วิวรณ์ 21:8) ในทุกวิถีทาง ขอให้เรา “ประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.”—เฮ็บราย 13:18, ล.ม.
เกลียดสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเกลียด
การเกลียดชังความชั่วร้าย—นับเป็นปัจจัยสกัดกั้นอะไรเช่นนั้นที่ช่วยเราเลี่ยงการกระทำใด ๆ ซึ่งยังความเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงของเรา! เช่นนั้นแล้ว ไม่สมควรหรือที่เราจะปลูกฝังความเกลียดต่อสิ่งชั่วร้าย? กระนั้น เราควรเกลียดชังอะไรจริง ๆ? ซะโลโมทรงแถลงดังนี้: “มีอยู่หกอย่างที่พระยะโฮวาทรงชัง; เออ, มีถึงเจ็ดอย่างซึ่งพระองค์ทรงสะอิดสะเอียน: ตาหยิ่งยโส; ลิ้นพูดปด; มือที่ประหารคนที่ไม่มีผิดให้โลหิตตก; ใจที่คิดกะการชั่วร้ายนานา, เท้าที่วิ่งปราดไปกระทำผิด; พยานเท็จที่ระบายลมออกมาเป็นคำเท็จ, และคนที่แพร่การแตกสามัคคีในหมู่พี่น้อง.”—สุภาษิต 6:16-19.
เจ็ดอย่างที่กล่าวไว้ในพระธรรมสุภาษิตล้วนเป็นพื้นฐานและโดยแท้แล้วครอบคลุมความผิดแทบทุกประเภท. “ตาหยิ่งยโส” และ “ใจที่คิดกะการชั่วร้ายนานา” เป็นบาปที่เกิดขึ้นในความคิด. “ลิ้นพูดปด” และ “พยานเท็จที่ระบายลมออกมาเป็นคำเท็จ” เป็นบาปทางคำพูด. “มือที่ประหารคนที่ไม่มีผิดให้โลหิตตก” และ “เท้าที่วิ่งปราดไปกระทำผิด” เป็นการกระทำอันชั่วร้าย. และที่พระยะโฮวาทรงเกลียดชังโดยเฉพาะก็คือคนประเภทที่สนุกกับการยุแหย่ให้ผู้คนทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งถ้าไม่มีการยุแหย่ก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข. การเพิ่มจำนวนจากหกเป็นเจ็ดบ่งชี้ว่า ไม่ควรคิดว่าทั้งหมดมีแค่ที่ลงไว้ในรายการ เนื่องจากมนุษย์มีแต่จะเพิ่มการชั่วของตนมากขึ้นเรื่อย ๆ.
อันที่จริง เราจำต้องปลูกฝังความเกลียดต่อสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเกลียดชัง. ตัวอย่างเช่น เราต้องหลีกเลี่ยง “ตาหยิ่งยโส” หรือการแสดงตัวถือดีในทางใดทางหนึ่ง. แน่นอน เราต้องหลีกเลี่ยงการนินทาว่าร้าย เพราะสิ่งนี้สามารถก่อให้เกิด “การแตกสามัคคีในหมู่พี่น้อง” ได้ง่าย ๆ. โดยการแพร่ข่าวลืออย่างไม่เห็นอกเห็นใจ, วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรม, หรือโกหก เราอาจไม่ถึงกับ “ประหารคนที่ไม่มีผิดให้โลหิตตก” แต่ที่แน่ ๆ คือเราได้ทำลายชื่อเสียงที่ดีของคนอื่น.
‘อย่ามีราคะตัณหาเนื่องด้วยรูปงามของเขา’
ซะโลโมเริ่มต้นคำแนะนำของท่านในส่วนถัดไป โดยตรัสว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย จงรักษาบัญญัติแห่งบิดาของเจ้าไว้, และอย่าลืมโอวาทแห่งมารดาของเจ้า: จงมัดไว้กับดวงใจของเจ้าเสมอ; จงผูกไว้รอบคอของเจ้า.” ด้วยเหตุผลอะไร? “ยามที่เจ้าเดินไป. คำสั่งสอนนั้นจะนำเจ้าไป; ยามที่เจ้านอนลงคำสั่งสอนนั้นจะอยู่เฝ้ารักษาเจ้าไว้; และยามที่เจ้าตื่นขึ้นคำสั่งสอนนั้นจะสนทนากับเจ้า.”—สุภาษิต 6:20-22.
การอบรมตามหลักพระคัมภีร์จะปกป้องเราจากหลุมพรางการผิดศีลธรรมทางเพศได้จริง ๆ ไหม? ได้แน่นอน. เรามีคำรับรองให้มั่นใจดังนี้: “พระบัญญัติเป็นดวงประทีป; และคำโอวาทเป็นแสงสว่าง; และคำสั่งสอนห้ามปรามเป็นทางแห่งชีวิต: เพื่อพิทักษ์ให้เจ้าพ้นจากหญิงชั่ว, ให้พ้นจากลิ้นเล่ห์สวาทของหญิงแพศยา.” (สุภาษิต 6:23, 24) การระลึกถึงคำแนะนำจากพระคำของพระเจ้าและใช้คำแนะนำนั้นประหนึ่ง ‘โคมสำหรับเท้าของเราและเป็นแสงสว่างตามทางเดินของเรา’ จะช่วยเราต้านทานคำพูดชักชวนที่รื่นหูของหญิงชั่ว หรือของชายชั่วด้วยเช่นกัน.—บทเพลงสรรเสริญ 119:105.
“อย่ามีราคะตัณหาในใจของเจ้าเนื่องด้วยรูปงามของเขา” กษัตริย์องค์ชาญฉลาดทรงเตือน “หรืออย่ายอมให้นางจับตัวเจ้าไปด้วยหนังตาของเขา.” ทำไม? “เพราะว่าค่าของหญิงโสเภณีก็เท่ากับอาหารชิ้นหนึ่ง; ส่วนหญิงทำการนอกใจสามีนั้นล่าชีวิตอันประเสริฐ.”—สุภาษิต 6:25, 26.
ซะโลโมกล่าวพาดพิงภรรยาที่มีชู้เป็นเสมือนหญิงโสเภณีหรือ? อาจเป็นเช่นนั้น. หรืออาจเป็นได้ที่ท่านแยกแยะระหว่างผลสืบเนื่องจากการประพฤติผิดประเวณีกับหญิงโสเภณี และผลจากการเป็นชู้กับภรรยาของชายอื่น. คนที่มีสัมพันธ์ทางเพศกับโสเภณีอาจถูกลดฐานะลงจนเหลือแค่ “ขนมปังก้อนเดียว” (ฉบับแปลใหม่)—นั่นคืออัตคัดสุดขีด. เขาอาจถึงกับติดโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งทำให้เจ็บปวดและร่างกายทรุดโทรม รวมถึงโรคเอดส์ที่ทำให้ถึงตาย. อีกด้านหนึ่ง คนที่มีสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับคู่สมรสของผู้อื่น ภายใต้พระบัญญัติแล้วนับว่าเป็นอันตรายโดยตรงมากกว่า. ภรรยาที่มีชู้ทำให้ “ชีวิตอันประเสริฐ” ของชายที่นางลักลอบเป็นชู้ด้วยนั้นตกอยู่ในอันตราย. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “ไม่ใช่เพียงแค่การบั่นทอนชีวิตให้สั้นลงโดยการใช้ชีวิตแบบไม่บันยะบันยัง . . . ที่ผู้เขียนตั้งใจพูดถึง. ผู้ทำบาปต้องได้รับโทษถึงตาย.” (เลวีติโก 20:10; พระบัญญัติ 22:22) ในกรณีใดก็ตาม ถึงแม้รูปโฉมของนางสวยงามปานใด ผู้หญิงแบบนี้ไม่เป็นที่น่าปรารถนาเสียเลย.
‘อย่าหอบไฟไว้ที่หน้าอกของตน’
เพื่อตอกย้ำต่อในเรื่องอันตรายของการเล่นชู้ ซะโลโมตรัสถามว่า “ผู้ชายจะหอบไฟไว้ที่อกของเขาโดยไม่ให้เสื้อผ้าของเขาไหม้ได้หรือ หรือผู้ใดจะเดินบนถ่านที่ลุกโพลงโดยไม่ให้เท้าของเขาถูกไฟลวกได้หรือ.” เพื่ออธิบายความหมายของอุทาหรณ์นี้ท่านตรัสว่า “บุคคลผู้เข้าหาภรรยาของเพื่อนบ้านก็เป็นอย่างนั้นแหละ ไม่มีผู้ใดที่แตะต้องนางแล้วจะไม่ถูกปรับโทษ.” (สุภาษิต 6:27-29, ฉบับแปลใหม่) ผู้ทำบาปดังกล่าวจะได้รับโทษแน่นอน.
เราได้รับการเตือนว่า “ถ้าขโมยลักอะไรไปเพื่อดับความหิว: คนเราก็ยังเหยียดขโมยนั้น,” กระนั้นก็ตาม “เมื่อเขาถูกจับ, เขาจะต้องใช้คืนถึงเจ็ดเท่า; เขาจะต้องใช้ด้วยสิ่งของทุกอย่างที่เขามีอยู่ในเรือนของเขา.” (สุภาษิต 6:30, 31) ในแผ่นดินยิศราเอลโบราณ มีข้อกำหนดให้ขโมยชดใช้ แม้ว่าต้องชดใช้ด้วยสิ่งของที่เขามีอยู่ทั้งหมด.a มากกว่านั้นสักเพียงใดที่คนเล่นชู้ซึ่งไม่มีข้อแก้ตัวสำหรับสิ่งที่เขาได้ทำลงไป สมควรจะได้รับโทษสาสมกับการผิดของตน!
ซะโลโมทรงแถลงดังนี้: “ผู้ใดเล่นชู้กับผู้หญิง ก็เป็นผู้ขาดด้านหัวใจ.” ชายผู้ขาดด้านหัวใจก็ขาดวิจารณญาณที่ดี เนื่องจากเขา “นำจิตวิญญาณของตนเองไปสู่ความหายนะ.” (สุภาษิต 6:32, ล.ม.) มองภายนอก เขาอาจดูเป็นคนมีชื่อเสียงดี แต่บุคคลภายในนั้นกำลังขาดซึ่งพัฒนาการที่เหมาะสมอย่างร้ายแรง.
ผลสืบเนื่องมีอีกมากที่คนเล่นชู้จะเก็บเกี่ยว. “เขาจะได้รับภัยพิบัติและความอัปยศ และคำตำหนิติเตียนจะไม่ถูกลบล้างออกไปเลย. เพราะความเกรี้ยวกราดของชายฉกรรจ์คือความริษยา และเขาจะไม่ยอมแสดงความสงสารในวันแก้แค้นนั้น. เขาจะไม่คำนึงถึงค่าไถ่ใด ๆ และเขาจะไม่แสดงความเต็มใจ ไม่ว่าเจ้าจะเสนอของกำนัลมากเท่าใด.”—สุภาษิต 6:33-35, ล.ม.
ขโมยสามารถชดใช้ตามที่เขาได้ขโมยไป แต่คนเล่นชู้ไม่อาจหาสิ่งใดมาชดใช้ให้ได้. เขาจะเสนอให้การชดเชยสักเท่าไรแก่สามีที่โกรธแค้น? แม้วิงวอนเพียงใดผู้กระทำผิดก็จะไม่ได้รับความเมตตา. ไม่มีทางที่คนเล่นชู้จะสามารถลบล้างบาปที่ตนก่อขึ้น. ความอับอายขายหน้าและการเสื่อมเสียชื่อเสียงของตัวเองคงมีอยู่เรื่อยไป. ยิ่งกว่านั้น เขาไม่สามารถไถ่ถอนตัวเองหรือซื้ออิสรภาพเพื่อให้พ้นการลงโทษที่เขาต้องได้รับ.
นับว่าสุขุมรอบคอบอย่างแท้จริงที่จะหลีกให้ไกลการเล่นชู้ เช่นเดียวกันกับการประพฤติและท่าทีอื่น ๆ ซึ่งทำลายชื่อเสียงที่ดีของเรา และอาจนำคำตำหนิมาสู่พระเจ้า! ดังนั้น ขอให้เราระมัดระวังที่จะไม่เป็นผู้ค้ำประกันอย่างโง่เขลา. จงให้ความขยันหมั่นเพียรและความสัตย์จริงประดับชื่อเสียงของเรา. และขณะที่เรามุ่งมั่นเกลียดสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเกลียด ขอให้เราสร้างชื่อเสียงดีกับพระองค์และกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน.
[เชิงอรรถ]
a ตามพระบัญญัติของโมเซ ขโมยต้องจ่ายคืนสองเท่า, สี่เท่า, หรือห้าเท่า. (เอ็กโซโด 22:1-4) คำศัพท์ “เจ็ดเท่า” อาจระบุถึงโทษสูงสุด ซึ่งอาจจะมากเป็นหลายเท่าของสิ่งที่เขาขโมยไป.
[ภาพหน้า 25]
ระมัดระวังการร่วมลงนามเกี่ยวกับเงินกู้
[ภาพหน้า 26]
ขยันขันแข็งเหมือนมด
[ภาพหน้า 27]
ระมัดระวังการนินทาว่าร้าย