จงได้มาซึ่งสติปัญญาและยอมรับการตีสอน
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นพระบรมครูแห่งไพร่พลของพระองค์. พระองค์ทรงสอนพวกเขาไม่เพียงเกี่ยวกับพระองค์เองเท่านั้น แต่เกี่ยวกับชีวิตด้วย. (ยะซายา 30:20; 54:13; บทเพลงสรรเสริญ 27:11) ตัวอย่างเช่น ที่พระยะโฮวาทรงประทานแก่ชาติยิศราเอลก็มีผู้พยากรณ์, พวกเลวี—โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกปุโรหิต—และชายที่มีปัญญาคนอื่น ๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอน. (2 โครนิกา 35:3; ยิระมะยา 18:18) พวกผู้พยากรณ์สอนประชาชนเกี่ยวกับพระประสงค์และคุณลักษณะของพระเจ้าอีกทั้งชี้แจงถึงแนวทางถูกต้องที่พึงยึดเอา. พวกปุโรหิตและพวกเลวีมีหน้าที่รับผิดชอบในการสอนพระบัญญัติของพระยะโฮวา. และพวกผู้ชายที่มีปัญญา หรือพวกผู้เฒ่าผู้แก่ ให้คำแนะนำที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตแต่ละวัน.
ซะโลโม ราชบุตรของดาวิด เป็นผู้ที่โดดเด่นในบรรดาชายที่มีปัญญาแห่งชาติยิศราเอล. (1 กษัตริย์ 4:30, 31) ราชินีแห่งชีบา หนึ่งในผู้มาเยือนที่มีชื่อเลื่องลือที่สุดคนหนึ่ง เมื่อเห็นสง่าราศีและความมั่งคั่งของซะโลโม ได้ยอมรับว่า “ซึ่งข้าพเจ้าได้ยินนั้นมิได้ถึงครึ่งพระสติปัญญา: และความเจริญของพระองค์ก็ยิ่งกว่ากิตติศัพท์ซึ่งข้าพเจ้าได้ยินนั้น.” (1 กษัตริย์ 10:7) ความลับแห่งสติปัญญาของซะโลโมคืออะไร? เมื่อท่านขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งยิศราเอลในปี 1037 ก.ส.ศ. ซะโลโมทูลอธิษฐานขอ “สติปัญญาและความรู้.” พระยะโฮวาพอพระทัยคำทูลขอของท่าน จึงทรงประทานความรู้, สติปัญญา, และหัวใจที่ประกอบด้วยความเข้าใจแก่ท่าน. (2 โครนิกา 1:10-12, ฉบับแปลใหม่; 1 กษัตริย์ 3:12) จึงไม่น่าประหลาดใจที่ซะโลโมได้ “แต่งคำสุภาษิตสามพันข้อ”! (1 กษัตริย์ 4:32) สุภาษิตเหล่านั้นส่วนหนึ่งพร้อมกับ “ถ้อยคำของอาฆูร” และถ้อยคำของ “ละมูเอลกษัตริย์” ถูกบันทึกไว้ในพระธรรมสุภาษิต. (สุภาษิต 30:1; 31:1) ความจริงเรื่องต่าง ๆ ที่มีกล่าวไว้ในสุภาษิตเหล่านั้นสะท้อนถึงพระสติปัญญาของพระเจ้าและดำรงนิรันดร์. (1 กษัตริย์ 10:23, 24) สำหรับใครก็ตามที่ปรารถนาชีวิตที่เป็นสุขและประสบความสำเร็จ สุภาษิตเหล่านั้นคือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในทุกวันนี้เหมือนในคราวที่มีการกล่าวครั้งแรก.
ความสำเร็จและความสะอาดทางศีลธรรม—โดยวิธีใด?
วัตถุประสงค์ของพระธรรมสุภาษิตมีชี้แจงไว้ในคำขึ้นต้นของพระธรรมที่ว่า “สุภาษิตของซะโลโมราชบุตรดาวิด กษัตริย์แห่งยิศราเอล เพื่อคนเราจะรู้จักสติปัญญาและวินัย, เพื่อจะสังเกตเข้าใจถ้อยคำแห่งความเข้าใจ, เพื่อรับการตีสอนที่ให้เกิดความหยั่งเห็นเข้าใจ ความชอบธรรม ดุลพินิจและความเที่ยงธรรม เพื่อทำให้เกิดความเฉียบแหลมแก่ผู้ขาดประสบการณ์ ให้ความรู้และความสามารถในการคิดแก่คนหนุ่ม.”— สุภาษิต 1:1-4, ล.ม.
“สุภาษิตของซะโลโม” ทำหน้าที่เพื่อวัตถุประสงค์อันสูงส่งจริง ๆ! สุภาษิตเหล่านั้น “เพื่อคนเราจะรู้จักสติปัญญาและวินัย.” สติปัญญาเกี่ยวข้องกับการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เป็นอยู่และใช้ความรู้นั้นเพื่อแก้ไขปัญหา, บรรลุเป้าหมาย, หลีกเลี่ยงอันตราย, หรือช่วยคนอื่น ๆ ให้ทำเช่นนั้น. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “ในพระธรรมสุภาษิต ‘สติปัญญา’ หมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างชำนิชำนาญ—เป็นความสามารถที่จะเลือกอย่างสุขุมและดำเนินชีวิตอย่างประสบความสำเร็จ.” นับว่าสำคัญจริง ๆ ที่พึงได้มาซึ่งสติปัญญา!—สุภาษิต 4:7.
สุภาษิตของซะโลโมยังให้การตีสอนด้วย. เราจำเป็นต้องได้รับการอบรมด้านนี้ไหม? ในพระคัมภีร์ การตีสอนมีความหมายของการแก้ไข, ว่ากล่าว, หรือลงโทษ. ตามที่ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งกล่าว คำนี้ “บ่งความหมายถึงการอบรมเกี่ยวกับนิสัยทางศีลธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขแนวโน้มไปในทางไม่ดี.” การตีสอนไม่ว่าที่ทำกับตนเองหรือโดยผู้อื่น ไม่เพียงยับยั้งเราไว้จากการทำผิดเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นเราให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วย. ถูกแล้ว เราจำเป็นต้องได้รับการตีสอนจริง ๆ ถ้าเราอยากจะคงความสะอาดทางศีลธรรมเอาไว้.
ดังนั้น วัตถุประสงค์ของสุภาษิตมีสองต่อ—คือเพื่อถ่ายทอดสติปัญญาและเพื่อให้การตีสอน. การตีสอนทางศีลธรรมและความสามารถทางจิตใจมีหลายด้าน. ตัวอย่างเช่น ความชอบธรรมและความยุติธรรมเป็นคุณสมบัติทางศีลธรรม และคุณสมบัติสองอย่างนี้ช่วยเราให้ยึดมั่นกับมาตรฐานอันสูงส่งของพระยะโฮวา.
สติปัญญาเป็นสิ่งที่ประสมจากส่วนประกอบหลายอย่างซึ่งรวมถึงความเข้าใจ, ความหยั่งรู้, ความมีไหวพริบ, และความสามารถในการคิด. ความเข้าใจคือความสามารถมองลึกเข้าไปในเรื่องราวและสังเกตเข้าใจส่วนประกอบของเรื่องโดยรู้ถึงความเกี่ยวพันระหว่างส่วนต่าง ๆ ของเรื่องกับเรื่องทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ จึงเข้าใจความหมายของเรื่อง. ส่วนความหยั่งเห็นเข้าใจเรียกร้องให้มีความรู้เกี่ยวกับเหตุผลต่าง ๆ และความเข้าใจถึงสาเหตุที่แนวทางบางอย่างถูกหรือผิด. ตัวอย่างเช่น คนที่มีความเข้าใจสามารถสังเกตเห็นเมื่อมีคนกำลังมุ่งไปในทิศทางที่ผิด และเขาอาจเตือนคนนั้นทันทีถึงอันตราย. แต่เขาต้องมีความหยั่งเห็นเข้าใจเพื่อเข้าใจสาเหตุที่คนนั้นมุ่งไปในทิศทางนั้นและเสนอวิธีที่ได้ผลที่สุดเพื่อช่วยเขา.
คนฉลาดเป็นคนรอบคอบ—ไม่ใช่คนหูเบา. (สุภาษิต 14:15) เขาสามารถเห็นการชั่วล่วงหน้าและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ. และสติปัญญาทำให้เราสามารถสำแดงความคิดที่ดีงามและแนวคิดที่ให้การชี้นำที่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต. การศึกษาสุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลมีผลตอบแทนจริง ๆ เพราะสุภาษิตเหล่านั้นมีบันทึกไว้เพื่อเราจะรู้จักสติปัญญาและวินัย. แม้แต่ “คนขาดประสบการณ์” ที่เอาใจใส่สุภาษิตก็จะได้ความเฉลียวฉลาด และ “คนหนุ่ม” จะได้ความรู้และความสามารถในการคิด.
สุภาษิตสำหรับคนมีปัญญา
อย่างไรก็ตาม สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลไม่เพียงสำหรับคนขาดประสบการณ์กับคนหนุ่มเท่านั้น. สุภาษิตเหล่านั้นมีไว้สำหรับคนใดก็ตามที่มีปัญญาพอจะรับฟัง. กษัตริย์ซะโลโมตรัสว่า “ผู้มีปัญญาจะฟังและรับคำสั่งสอนมากขึ้น และคนที่มีความเข้าใจคือผู้นั้นซึ่งรับการชี้นำที่ชำนาญ, เพื่อจะเข้าใจสุภาษิตและถ้อยคำที่เข้าใจยาก, ถ้อยคำของคนมีปัญญาและคำปริศนาของพวกเขา.” (สุภาษิต 1:5, 6, ล.ม.) ผู้ที่ได้มาซึ่งสติปัญญาแล้วจะเพิ่มการเรียนรู้ของตนด้วยการเอาใจใส่สุภาษิตต่าง ๆ และคนที่มีความเข้าใจจะขัดเกลาความสามารถของตนเพื่อควบคุมทิศทางชีวิตของเขาอย่างประสบผลสำเร็จ.
บ่อยครั้งที่สุภาษิตแสดงถึงความจริงอันลึกซึ้งด้วยคำไม่กี่คำ. สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลอาจอยู่ในรูปของถ้อยคำที่เข้าใจยาก. (สุภาษิต 1:17-19) สุภาษิตบางข้อเป็นคำปริศนา—เป็นคำกล่าวที่ซับซ้อนและมีเงื่อนปมซึ่งต้องแก้. นอกจากนี้ สุภาษิตอาจมีอุปมา, อุปลักษณ์, และภาพพจน์แบบอื่น ๆ อีก. การเข้าใจสุภาษิตเหล่านั้นต้องใช้เวลาและการไตร่ตรอง. เป็นเรื่องแน่นอนว่าซะโลโม ผู้แต่งสุภาษิตหลายข้อ ต้องรู้ถึงความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในความเข้าใจสุภาษิต. ในพระธรรมสุภาษิต ท่านจึงทำงานถ่ายทอดความสามารถเช่นนั้นแก่ผู้อ่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมีปัญญาพึงเอาใจใส่.
การเริ่มต้นซึ่งนำไปสู่เป้าหมาย
คนเราเริ่มแสวงหาสติปัญญาและวินัยที่ไหน? ซะโลโมตอบว่า “ความเกรงกลัวพระยะโฮวาเป็นการเริ่มต้นของความรู้. สติปัญญาและวินัยคือสิ่งที่คนโง่จริง ๆ ดูถูก.” (สุภาษิต 1:7, ล.ม.) ความรู้เริ่มต้นด้วยความเกรงกลัวพระยะโฮวา. ถ้าไม่มีความรู้ก็ไม่อาจมีสติปัญญาหรือวินัยได้. ฉะนั้น ความเกรงกลัวพระยะโฮวาจึงเป็นตอนเริ่มต้นแห่งสติปัญญาและวินัย.—สุภาษิต 9:10; 15:33.
ความเกรงกลัวพระเจ้าไม่ใช่ความกลัวพระองค์จนลาน แต่เป็นความเคารพยำเกรงอย่างลึกซึ้ง. ถ้าไม่มีความเกรงกลัวเช่นนี้ก็ไม่อาจมีความรู้แท้ได้. ชีวิตมาจากพระยะโฮวาพระเจ้า และแน่นอนว่าชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการที่เราจะมีความรู้ไม่ว่าเรื่องใด. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9; กิจการ 17:25, 28) นอกจากนี้ พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่ง ดังนั้น ความรู้ทั้งปวงของมนุษย์จึงอาศัยการศึกษาผลแห่งพระหัตถกิจของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 19:1, 2; วิวรณ์ 4:11) พระเจ้ายังทรงดลใจให้มีการเขียนพระคำของพระองค์ไว้อีกด้วย ซึ่ง “เป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17, ล.ม.) ดังนั้น ส่วนสำคัญที่สุดแห่งความรู้แท้ทั้งปวงคือพระยะโฮวา และผู้ที่แสวงหาความรู้แท้ต้องมีความเคารพยำเกรงพระองค์.
ความรู้ของมนุษย์และสติปัญญาแบบโลกที่ปราศจากความเกรงกลัวพระเจ้าจะมีค่าอะไร? อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ดังนี้: “คนมีปัญญาอยู่ไหน? อาลักษณ์อยู่ไหน? นักถกเถียงแห่งระบบนี้อยู่ไหน? พระเจ้าทรงทำให้สติปัญญาของโลกนี้กลายเป็นโง่เขลาไปแล้วมิใช่หรือ?” (1 โกรินโธ 1:20, ล.ม.) เมื่อขาดความเกรงกลัวพระเจ้า คนมีปัญญาแบบโลกเอาข้อสรุปผิด ๆ มาจากข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้จักกันและลงความเห็นอย่าง “คนโง่จริง ๆ.”
“สายสร้อยเส้นงามสำหรับสวมคอเจ้า”
จากนั้นกษัตริย์ผู้ทรงปัญญาตรัสกับคนหนุ่มสาวว่า “บุตรของเราเอ๋ย จงฟังการตีสอนจากบิดาเจ้า และอย่าละเลยข้อบังคับจากมารดาเจ้า. เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นดุจมาลางดงามสำหรับศีรษะเจ้าและดุจสายสร้อยเส้นงามสำหรับสวมคอเจ้า.”—สุภาษิต 1:8, 9, ล.ม.
ในยิศราเอลโบราณ บิดามารดามีหน้าที่รับผิดชอบซึ่งพระเจ้าทรงประทานในการสอนเหล่าบุตรของตน. โมเซกระตุ้นเตือนผู้ที่เป็นบิดาว่า “ถ้อยคำเหล่านี้ที่เราสั่งเจ้าวันนี้ต้องปรากฏว่าอยู่บนหัวใจเจ้า; และเจ้าต้องพร่ำสอนถ้อยคำเหล่านี้แก่บุตรของเจ้าและพูดถึงถ้อยคำเหล่านี้เมื่อเจ้านั่งอยู่ในเรือนและเมื่อเจ้าเดินในหนทางและเมื่อเจ้านอนลงและเมื่อเจ้าลุกขึ้น.” (พระบัญญัติ 6:6, 7, ล.ม.) มารดาก็มีอำนาจชักจูงไม่น้อยเช่นกัน. ภายในกรอบอำนาจของสามี ภรรยาชาวฮีบรูอาจบังคับให้เป็นไปตามกฎครอบครัวได้.
ตามจริงแล้ว ตลอดคัมภีร์ไบเบิล ครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานสำหรับการให้การศึกษา. (เอเฟโซ 6:1-3) สำหรับเด็ก ๆ ที่เชื่อฟังบิดามารดาที่มีความเชื่อ พวกเขาเปรียบเสมือนได้รับการประดับด้วยมาลาอันงดงามและสายสร้อยแห่งเกียรติยศ.
“กำไรเช่นนั้นย่อมพรากเอาจิตวิญญาณเจ้าของกำไรนั้นไป”
ก่อนส่งบุตรชายไปสหรัฐเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้น บิดาชาวเอเชียคนหนึ่งแนะนำบุตรชายอายุ 16 ปีของเขาไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนไม่ดี. คำแนะนำนั้นเหมือนกล่าวซ้ำคำเตือนของซะโลโมที่ว่า “บุตรของเราเอ๋ย ถ้าคนบาปพยายามล่อลวงเจ้า อย่ายอมตาม.” (สุภาษิต 1:10, ล.ม.) แต่ซะโลโมเน้นวิธีหลอกล่อที่คนเหล่านั้นใช้ดังนี้: “พวกเขาพูดอยู่เรื่อยว่า ‘ไปกับพวกเราเถิด. ให้เราซุ่มคอยเลือด. ให้เราซ่อนตัวดักคนไร้ความผิดโดยไม่มีสาเหตุใด ๆ. ให้เรากลืนพวกเขาลงทั้งเป็นเหมือนเชโอล กระทั่งทั้งตัว เหมือนคนเหล่านั้นที่ลงไปในหลุม. ให้เราหาของล้ำค่าทุกอย่าง. ให้เราทำให้บ้านของเราเต็มด้วยของปล้น. เจ้าน่าจะมาร่วมชะตากรรมกับพวกเรา. ให้มีถุงเพียงใบเดียวเป็นของเราทุกคน.’”—สุภาษิต 1:11-14, ล.ม.
ปรากฏชัดว่าเหยื่อล่อคือความมั่งมี. โดยอาศัยการทำกำไรอย่างรวดเร็ว “คนบาป” ล่อลวงคนอื่น ๆ ให้เข้าไปเกี่ยวข้องในการรุนแรงหรือแผนร้าย. เพื่อประโยชน์ทางวัตถุแล้วคนชั่วเหล่านี้ไม่รีรอจะทำให้เลือดตก. พวกเขา ‘กลืนเหยื่อของเขาทั้งเป็นเหมือนเชโอล กระทั่งทั้งตัว’ ปล้นเอาทุกสิ่งที่เหยื่อมี เหมือนหลุมฝังศพที่รับเอาร่างทั้งร่าง. คำเชิญของพวกเขาคือให้เข้าสู่อาชีพอาชญากรรม—พวกเขาอยากจะ ‘ทำให้บ้านของเขาเต็มไปด้วยของปล้น’ และพวกเขาอยากได้คนขาดประสบการณ์ ‘มาร่วมชะตากรรมกับพวกเขา.’ นี่นับว่าเป็นคำเตือนที่เหมาะกับเวลาสำหรับพวกเราจริง ๆ! พวกแก๊งวัยรุ่น และพวกขายยาก็ใช้วิธีการหาพรรคพวกใหม่คล้ายกันนี้มิใช่หรือ? คำสัญญาจะให้รวยเร็วเป็นสิ่งล่อใจในข้อเสนอของธุรกิจที่น่าสงสัยหลายอย่างมิใช่หรือ?
กษัตริย์ผู้ทรงปัญญาแนะนำว่า “บุตรของเราเอ๋ย อย่าเข้าไปในทางนั้นกับพวกเขา. จงยั้งเท้าของเจ้าจากทางของพวกเขา. ด้วยว่าเท้าพวกเขาคือเท้าที่วิ่งไปหาความชั่วล้วน ๆ และพวกเขารีบเร่งเสมอเพื่อทำให้เลือดตก.” ท่านบอกเพิ่มเติมซึ่งเป็นการพยากรณ์จุดจบอันเป็นความหายนะของคนเหล่านั้นว่า “เพราะที่ตาข่ายถูกกางไว้เบื้องหน้านัยน์ตาของสิ่งใดก็ตามที่มีปีกนั้นก็ไร้ประโยชน์. ฉะนั้น พวกเขาเองที่ซุ่มคอยเลือดของสิ่งเหล่านั้นแหละ; พวกเขาซ่อนตัวดักจิตวิญญาณของสิ่งเหล่านั้น. ทางของทุกคนที่ทำกำไรโดยมิชอบเป็นเช่นนั้นแหละ. กำไรเช่นนั้นพรากเอาจิตวิญญาณเจ้าของกำไรนั้นไป.”—สุภาษิต 1:15-19, ล.ม.
“ทุกคนที่ทำกำไรโดยมิชอบ” จะพินาศในแนวทางของเขาเอง. ที่ดักซึ่งคนชั่วซุ่มคอยคนอื่นนั้นแหละจะกลายเป็นกับดักตัวเขาเอง. คนที่เจตนาทำชั่วจะเปลี่ยนแนวทางของตนไหม? ไม่. ตาข่ายอาจเห็นได้เต็มตา แต่ไม่ว่าอย่างไร พวกนก—สัตว์ต่าง ๆ “ที่มีปีก”—ก็บินตรงเข้าหามัน. ในทำนองเดียวกัน คนชั่วซึ่งโลภจนหน้ามืดก็มุ่งหน้าก่ออาชญากรรม แม้ว่าพวกเขาจะถูกจับในไม่ช้าก็เร็วก็ตาม.
ใครจะฟังเสียงแห่งสติปัญญา?
คนบาปจะรู้ตัวจริง ๆ ไหมว่าแนวทางของตนเป็นความหายนะ? พวกเขาเคยได้รับคำเตือนไหมถึงผลแห่งแนวทางของเขา? จะแก้ตัวว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะมีการประกาศข่าวสารที่ตรงจุดไปแล้วในที่สาธารณะ.
ซะโลโมแถลงดังนี้: “พระปัญญาแท้นั่นเองส่งเสียงดังอยู่ในท้องถนน. ในที่ลานเมืองพระปัญญาก็ส่งเสียงออกไป. ณ หัวถนนที่จอแจ พระปัญญาส่งเสียง. ณ ประตูเข้าเมือง พระปัญญากล่าวถ้อยคำของตน.” (สุภาษิต 1:20, 21, ล.ม.) ด้วยเสียงดังชัดเจน พระปัญญากำลังส่งเสียงดังที่ลานเมืองให้ทุกคนได้ยิน. ในยิศราเอลโบราณ ผู้เฒ่าผู้แก่ให้คำแนะนำที่สุขุมและทำการตัดสินความต่าง ๆ ที่ประตูเมือง. ส่วนพวกเรา พระยะโฮวาทรงทำให้สติปัญญาแท้ถูกบันทึกไว้ในพระคำของพระองค์ คือคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งมีให้หาได้ทั่วไป. และผู้รับใช้ของพระองค์ในทุกวันนี้กำลังเอาการเอางานประกาศข่าวสารในพระคำอย่างเปิดเผยในทุกหนทุกแห่ง. พระเจ้าทรงให้มีการประกาศสติปัญญาแก่ทุกคนจริง ๆ.
พระปัญญาแท้กล่าวอะไร? กล่าวอย่างนี้: “เจ้าคนขาดประสบการณ์จะรักการขาดประสบการณ์ต่อไปอีกนานเท่าใด และเจ้าคนเยาะเย้ยจะอยากได้การเยาะเย้ยแท้ ๆ อีกนานเท่าใด . . . ? เราได้ส่งเสียงเรียกแล้วแต่เจ้าปฏิเสธร่ำไป เราได้เหยียดมือเราออกไปแต่ไม่มีใครสนใจ.” คนโง่ไม่ใส่ใจเสียงแห่งสติปัญญา. ฉะนั้น “พวกเขาจะกินจากผลแห่งแนวทางของเขา.” ‘การออกหากและความเรื่อยเฉื่อยของพวกเขาเองจะทำลายพวกเขา.’—สุภาษิต 1:22-32, ล.ม.
แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับคนที่ใช้เวลาฟังเสียงแห่งสติปัญญา? “เขาจะอาศัยอยู่ด้วยความปลอดภัยและไม่ถูกรบกวนจากความหวาดกลัวความหายนะ.” (สุภาษิต 1:33, ล.ม.) ขอให้คุณอยู่ท่ามกลางผู้ที่ได้มาซึ่งสติปัญญาและรับเอาการตีสอนโดยการเอาใจใส่สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิล.
[รูปภาพหน้า 15]
สติปัญญาแท้มีให้หาได้ทั่วไป