นั่นเป็นการขโมยจริง ๆ หรือ?
อะบีโอดุนเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริการในโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไนจีเรีย. ขณะที่ใส่กุญแจห้องโถงจัดงานเลี้ยงในตอนค่ำวันหนึ่ง เขาพบกระเป๋าถือบรรจุเงินสดอยู่มีค่าเท่ากับ 45,675 บาท. โดยไม่ชักช้า เขาส่งเงินให้แก่ผู้จัดการ และต่อมาผู้เป็นเจ้าของเงินซึ่งเป็นแขกคนหนึ่งที่โรงแรมได้มาขอรับไป. ฝ่ายบริหารของโรงแรมให้รางวัลอะบีโอดุนด้วยการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการและมอบรางวัล “คนงานดีเด่นแห่งปี” ให้เขา. เจ้าของเงินให้รางวัลแก่เขาด้วย.
คุณภาพ (ภาษาอังกฤษ) วารสารข่าวประจำท้องถิ่นเสนอเรื่องนั้นเป็นข่าวเด่น เรียกอะบีโอดุนว่า “ชาวซะมาเรียผู้ใจดี.” เมื่อคุณภาพ ถามว่าเขาถูกล่อใจให้เก็บเงินนั้นไว้เองหรือไม่ อะบีโอดุนตอบว่า ‘ผมเป็นพยานพระยะโฮวา. ดังนั้น หากผมพบอะไรที่ไม่ใช่ของผม ผมก็ส่งคืนเจ้าของ.’
หลายคนในชุมชนนั้นประหลาดใจเนื่องจากการแสดงความซื่อสัตย์อย่างเด่นชัดของอะบีโอดุน. เพื่อนพยานฯของอะบีโอดุนรู้สึกยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พวกเขาไม่แปลกใจ. ตลอดทั่วแผ่นดินโลก พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักในด้านหลักการอันสูงส่งของพวกเขา. ท่ามกลางพวกเขา ความซื่อสัตย์ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่เป็นกฎ เป็นส่วนสำคัญของหลักการคริสเตียน.
อย่างไรก็ดี บางครั้งสภาพการณ์อาจดูเหมือนยากที่จะแยกออกระหว่างความซื่อสัตย์กับไม่ซื่อสัตย์. จงพิจารณาสถานการณ์นี้. เฟสตัสซึ่งดูแลเงินบริจาคและบัญชีในประชาคมของพยานพระยะโฮวาในแอฟริกาตะวันตกนั้นมีความจำเป็นเหลือเกินในเรื่องเงิน.a ภรรยาของเขาต้องรับการผ่าตัดใหญ่ซึ่งแพทย์ของเธอบอกว่าไม่ควรชักช้า. โรงพยาบาลเรียกร้องเอาเงินล่วงหน้าครึ่งหนึ่ง.
เฟสตัสขาดเงิน. เมื่อเขาเข้าหาหลายคนเพื่อขอกู้ยืมเงิน เขาถูกปฏิเสธ. แล้วเขาก็คิดถึงเงินที่อยู่ในความดูแลของเขาและหาเหตุผลว่า ‘เป็นเรื่องถูกต้องไหมที่ผมจะปล่อยให้ภรรยาเสี่ยงต่อความตายในเมื่อผมทำอะไรบางอย่างได้เพื่อป้องกันเรื่องนี้? ทำไมไม่ “ยืม” จากเงินสดของประชาคมล่ะ? ผมจะคืนเงินนั้นได้เมื่อคนที่เป็นหนี้ผมเอาเงินมาใช้ผม.’
เฟสตัสใช้เงินซึ่งไม่ใช่ของเขาเพื่อจ่ายให้กับโรงพยาบาล. การชักเหตุผลของเขาถูกต้องไหม? การกระทำของเขาชอบด้วยเหตุผลไหมเมื่อคำนึงถึงภาวะฉุกเฉินที่เขาเผชิญนั้น?
เงินนั้นเป็นของใคร?
ในการวิเคราะห์คำถามเหล่านี้ ขอให้เราทบทวนสั้น ๆ บางจุดเกี่ยวกับแหล่งที่มาและจุดมุ่งหมายของเงินที่เฟสตัสเอาไปนั้น. เงินนั้นได้มาโดยการบริจาคด้วยความสมัครใจจากสมาชิกในประชาคมผู้ซึ่งต้องการส่งเสริมการนมัสการบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. (2 โกรินโธ 9:7) เงินนั้นไม่ได้ใช้เพื่อจ่ายเงินเดือน เนื่องจากไม่มีใครได้รับค่าจ้างสำหรับสิ่งที่เขาทำในประชาคม. ตรงกันข้าม มีการใช้เงินบริจาคนั้นส่วนใหญ่เพื่อให้มีสถานที่ประชุมและดูแลรักษาสถานที่นั้น ตามปกติเป็นหอประชุม. เงินนี้ช่วยให้มีสถานที่สะดวกสบายที่ทั้งคนหนุ่มสาวและคนชรา, คนรวยและคนจนสามารถประชุมกันได้เพื่อรับคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิล.
เงินนั้นเป็นของใคร? เงินนั้นเป็นของประชาคมโดยส่วนรวม. ไม่มีสมาชิกเป็นรายบุคคลคนใดตัดสินว่าจะใช้เงินนั้นอย่างไร. ขณะที่คณะผู้ปกครองควบคุมการชำระค่าใช้จ่ายประจำของประชาคม เมื่อจำเป็นต้องมีการใช้จ่ายพิเศษ ผู้ปกครองเสนอเรื่องนั้นต่อทั้งประชาคมเพื่อความเห็นชอบ.
การยืมหรือการขโมย?
เนื่องจากคิดว่าจะเอาเงินมาคืนเร็วเท่าที่เป็นไปได้ เฟสตัสจึงถือว่าการกระทำของเขาเป็นการยืม. อย่างไรก็ดี พจนานุกรมคำเหมือนเล่มใหม่ของเว็บสเตอร์ (ภาษาอังกฤษ) ใช้คำอื่นเกี่ยวกับ “การเอาไปและการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของคนอื่น ซึ่งมักจะเป็นการแอบทำ หรือทำโดยที่ผู้นั้นไม่รู้และโดยปราศจากความเห็นชอบของผู้นั้นเสมอ.” คำนั้นคือ “การลักทรัพย์” และ “ขโมย.” เฟสตัสเอาเงินที่เป็นของประชาคมไปโดยไม่ได้ขออนุญาตหรือได้รับการอนุมัติ. ดังนั้น ใช่แล้ว เขามีความผิดฐานลักทรัพย์. เขาเป็นขโมย.
แน่นอน มีระดับของความน่าตำหนิในพลังกระตุ้นที่อยู่เบื้องหลังการขโมย. เราเข้าใจเรื่องนั้นได้จากตัวอย่างของยูดาอิศการิโอดผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากพระเยซูและพวกอัครสาวกผู้ซื่อสัตย์ให้ดูแลรักษาเงิน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “[ยูดา] เป็นขโมยและถือกล่องเก็บเงินและเคยยักยอกเงินที่ใส่ไว้ในนั้น.” (โยฮัน 12:6, ล.ม.) เพราะได้รับการกระตุ้นจากหัวใจที่ชั่วและความโลภอย่างโจ่งแจ้ง ยูดาเสื่อมลงทางศีลธรรม. ในที่สุด เขาทำให้ตัวเองตกต่ำลงทางด้านศีลธรรมถึงขั้นทรยศต่อพระบุตรของพระเจ้า—ด้วยเงิน 30 แผ่น.—มัดธาย 26:14-16.
อย่างไรก็ดี เฟสตัสได้รับการกระตุ้นจากความห่วงใยต่อภรรยาของเขาที่ป่วยอยู่. นี้หมายความว่า เขาปราศจากตำหนิไหม? ไม่เลย. จงพิจารณาสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับการขโมยในสถานการณ์ที่ดูเหมือนฉุกเฉินว่า “ถ้าขโมยลักอะไรไปเพื่อดับความหิว: คนเราก็ยังเหยียดขโมยนั้น, แต่เมื่อเขาถูกจับ, เขาจะต้องใช้คืนถึงเจ็ดเท่า; เขาจะต้องใช้ด้วยสิ่งของทุกอย่างที่เขามีอยู่ในเรือนของเขา.” (สุภาษิต 6:30, 31) อีกนัยหนึ่ง เมื่อถูกจับ ขโมยต้องเผชิญการลงโทษอย่างครบถ้วนจากกฎหมาย. ตามพระบัญญัติของโมเซ ขโมยต้องชดใช้สำหรับความผิดของเขา. ดังนั้น แทนที่จะสนับสนุนหรือแก้ต่างให้กับการขโมย คัมภีร์ไบเบิลเตือนว่า แม้แต่ในภาวะฉุกเฉิน การขโมยก็อาจยังผลด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจ, ความอัปยศอดสู, และที่ร้ายแรงที่สุด คือการสูญเสียความพอพระทัยของพระเจ้า.
ในฐานะพยานพระยะโฮวา คริสเตียนแท้ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเหล่านั้นที่ได้รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบภายในประชาคมต้องเป็นแบบอย่าง “ปราศจากข้อกล่าวหา.” (1 ติโมเธียว 3:10, ล.ม.) เฟสตัสไม่ได้รับเงินที่คนอื่นเป็นหนี้เขา และด้วยเหตุนี้ เขาไม่สามารถคืนเงินที่เขาเอาไปนั้นได้. สิ่งที่เขาทำจึงแดงขึ้นมา. เกิดอะไรขึ้นกับเขา? หากเขาเป็นขโมยที่ไม่กลับใจแล้ว เขาคงถูกขับไล่ออกจากประชาคมคริสเตียนที่สะอาด. (1 เปโตร 4:15) แต่เขาสำนึกผิดและได้กลับใจ. เนื่องจากเหตุนี้ เขาจึงคงอยู่ในประชาคมต่อไปได้ แม้ว่าเขาสูญเสียสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ของเขา.
การวางใจในพระเจ้า
อัครสาวกเปาโลได้เตือนว่า การขโมยโดยบุคคลที่อ้างว่ารับใช้พระยะโฮวาจะนำคำติเตียนมาสู่พระนามของพระเจ้าและชื่อเสียงของไพร่พลของพระองค์ได้. เปาโลเขียนว่า “ท่านผู้สอนคนอื่นไม่ได้สอนตัวเองหรือ ท่านผู้ประกาศว่าไม่ควรลักทรัพย์, ตัวท่านเองยังลักหรือ? ด้วยว่าคนต่างประเทศพูดหยาบคายต่อพระนามของพระเจ้าก็เพราะท่าน.”—โรม 2:21, 24.
อาฆูร บุรุษผู้ฉลาดในสมัยโบราณ ได้เน้นจุดเดียวกันนี้. ในคำอธิษฐานของเขานั้น เขาทูล “ขออย่าให้ข้าพเจ้ายากจน . . . เกรงว่า . . . จะลักของ ๆ เขาและจะทำให้พระนามพระเจ้าของข้าพเจ้าเป็นที่เสื่อมเสีย.” (สุภาษิต 30:8, 9) จงสังเกตว่า บุรุษผู้ฉลาดได้ยอมรับว่าความยากจนอาจก่อให้เกิดสภาพการณ์ที่อาจล่อใจกระทั่งบุคคลผู้ชอบธรรมให้ขโมยได้. ถูกแล้ว ช่วงที่มีความยากลำบากอาจทดสอบความเชื่อของคริสเตียนในเรื่องพระปรีชาสามารถของพระยะโฮวาที่จะเอาพระทัยใส่ต่อความจำเป็นแห่งไพร่พลของพระองค์ได้.
ถึงกระนั้น พยานผู้ภักดีของพระยะโฮวา รวมทั้งคนเหล่านั้นที่ยากจน มีความเชื่อที่ว่า พระเจ้า “เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์.” (เฮ็บราย 11:6) พวกเขาทราบว่า พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่ชนผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์โดยการช่วยพวกเขาให้เอาใจใส่ต่อความจำเป็นของตน. พระเยซูทรงชี้ชัดเรื่องนั้นในคำเทศน์ของพระองค์บนภูเขา โดยตรัสว่า “อย่ากระวนกระวายและบอกว่า, ‘เราจะเอาอะไรกิน?’ หรือ ‘เราจะเอาอะไรดื่ม?’ หรือ ‘เราจะเอาอะไรนุ่งห่ม?’ . . . เพราะพระบิดาของท่านทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องมีสิ่งทั้งปวงเหล่านี้. ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งอื่นเหล่านี้ทั้งหมดแก่ท่าน.”—มัดธาย 6:31-33, ล.ม.
พระเจ้าทรงจัดเตรียมโดยวิธีใดสำหรับคนที่ขัดสนในประชาคมคริสเตียน? มีหลายวิธี. วิธีหนึ่งคือโดยทางเพื่อนร่วมความเชื่อ. ไพร่พลของพระเจ้าแสดงความรักแท้ต่อกันและกัน. พวกเขาปฏิบัติตามคำตักเตือนจากคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจังที่ว่า “คนใดที่มีทรัพย์สมบัติในโลกนี้, และเห็นพี่น้องของตนขัดสน, แล้วและกระทำใจแข็งกระด้างไม่สงเคราะห์เขา, ความรักของพระเจ้าจะอยู่ในคนนั้นอย่างไรได้? ดูก่อนลูกเล็ก ๆ ทั้งหลาย, อย่าให้เรารักเพียงแต่ถ้อยคำและลิ้นเท่านั้น, แต่ให้เรารักด้วยการประพฤติและด้วยความจริง.”—1 โยฮัน 3:17, 18.
ตลอดทั่วโลก ในมากกว่า 73,000 ประชาคม พยานพระยะโฮวากว่าสี่ล้านห้าแสนคนพยายามอย่างขยันขันแข็งที่จะรับใช้พระเจ้าตามหลักการอันชอบธรรมของพระองค์. พวกเขาทราบว่า พระเจ้าจะไม่ละทิ้งผู้ภักดีของพระองค์เลย. คนเหล่านั้นที่ได้รับใช้พระยะโฮวามาเป็นเวลาหลายปีเปล่งเสียงเห็นพ้องด้วยกับกษัตริย์ดาวิดผู้ซึ่งเขียนว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นคนหนุ่ม, จนบัดนี้เป็นคนชราแล้ว; ข้าพเจ้าก็ยังไม่เห็นคนสัตย์ธรรมต้องถูกละทิ้งเสีย, ไม่เคยเห็นพงศ์พันธุ์ของเขาขอทาน.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:25.
ดีกว่าสักเพียงไรที่จะมีความเชื่อในพระเจ้าผู้ทรงดลบันดาลถ้อยคำเหล่านั้น แทนที่จะปล่อยตัวให้ถูกล่อใจอยู่เรื่อย ๆ ให้ขโมย และอาจจะสูญเสียความพอพระทัยของพระเจ้าตลอดกาลได้!—1 โกรินโธ 6:9, 10.
[เชิงอรรถ]
a มีการเปลี่ยนชื่อ.