‘พระพรมีแก่คนชอบธรรม’
เมื่ออยู่ในวัยชราดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้กล่าวว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นคนหนุ่ม, จนบัดนี้เป็นคนชราแล้ว; ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยเห็นคนสัตย์ธรรมต้องถูกละทิ้งเสีย, ไม่เคยเห็นพงศ์พันธุ์ของเขาขอทาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:25) พระยะโฮวาพระเจ้าทรงรักคนชอบธรรมและใฝ่พระทัยในพวกเขาอย่างยิ่ง. ในคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์ พระองค์ทรงกระตุ้นเตือนผู้นมัสการแท้ให้แสวงหาความชอบธรรม.—ซะฟันยา 2:3.
การเป็นคนชอบธรรมหมายถึงการทำตามมาตรฐานของพระเจ้าในเรื่องความดีและความชั่ว. โดยสนับสนุนเราให้ทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า บท 10 ของพระธรรมสุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลชี้ถึงพระพรฝ่ายวิญญาณอันอุดมซึ่งคนเหล่านั้นที่ทำเช่นนั้นได้รับ. ในบรรดาพระพรเหล่านี้ก็มีอาหารที่บำรุงเลี้ยงทางฝ่ายวิญญาณซึ่งจัดเตรียมไว้อย่างบริบูรณ์, งานที่ให้ผลตอบแทนและทำให้พอใจ, อีกทั้งสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าและมนุษย์. ดังนั้นแล้ว ขอให้เราไตร่ตรองดูพระธรรมสุภาษิต 10:1-14.
แรงกระตุ้นที่ดีเลิศ
ถ้อยคำเริ่มต้นของบทนี้ไม่ได้ปล่อยให้สงสัยว่าใครเป็นผู้เขียนส่วนต่อจากนี้ไปของพระธรรมสุภาษิต. ถ้อยคำนั้นอ่านว่า “สุภาษิตของซะโลโม.” โดยกล่าวถึงแรงกระตุ้นที่ดีเลิศในการทำสิ่งที่ถูกต้อง กษัตริย์ซะโลโมแห่งยิศราเอลโบราณตรัสว่า “บุตรที่มีปัญญาย่อมทำให้บิดาปลื้มใจยินดี; แต่บุตรโง่เขลาย่อมเป็นที่หนักอก [“ความเศร้าระทม,” ล.ม.] แก่มารดาตน.”—สุภาษิต 10:1.
บิดามารดาประสบความเศร้าระทมเสียจริง ๆ เมื่อบุตรคนหนึ่งของเขาละทิ้งการนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ผู้ทรงพระชนม์อยู่! กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดทรงเลือกพูดถึงความเศร้าระทมของผู้เป็นมารดา บางทีเพื่อบ่งบอกว่าผู้เป็นมารดาย่อมเศร้าระทมยิ่งกว่าผู้เป็นบิดา. นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับดอริส.a เธอเล่าว่า “เมื่อลูกชายวัย 21 ปีของเราทิ้งความจริงไป ดิฉันกับแฟรงก์สามีชอกช้ำใจมาก. ดิฉันรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวยิ่งกว่าแฟรงก์. เวลา 12 ปีที่ผ่านไปก็ไม่ได้เยียวยาความปวดร้าวนั้น.”
บุตรอาจส่งผลกระทบต่อความสุขของบิดาและอาจทำให้มารดาของตนปวดร้าวใจได้. ขอให้เราแสดงสติปัญญาและนำความยินดีมาสู่บิดามารดาของเรา. และสำคัญยิ่งกว่านั้น ขอเราทำให้พระยะโฮวา พระบิดาของเราทางภาคสวรรค์มีพระทัยยินดี.
‘ทำให้จิตวิญญาณของคนชอบธรรมอิ่ม’
กษัตริย์ตรัสว่า “ทรัพย์สมบัติได้มาจากการทุจริตก็หาคุณประโยชน์มิได้: แต่ความชอบธรรมย่อมช่วยให้พ้นจากความตาย.” (สุภาษิต 10:2) สำหรับคริสเตียนแท้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงท้ายของเวลาอวสาน ถ้อยคำเหล่านี้นับว่าเป็นประโยชน์จริง ๆ. (ดานิเอล 12:4) ความพินาศของโลกที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าอยู่ในอนาคตอันใกล้นี้. ไม่มีวิถีทางแห่งความมั่นคงปลอดภัยใดที่มนุษย์ตั้งขึ้น—ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวัตถุ, ด้านการเงิน, หรือการทหาร—จะให้การปกป้องระหว่าง “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ที่กำลังจะมาถึงนี้. (วิวรณ์ 7:9, 10, 13, 14, ล.ม.) เฉพาะแต่ “คนตรงจะได้พำนักอยู่ในแผ่นดิน, และคนดีรอบคอบจะได้ดำรงอยู่บนแผ่นดินนั้น.” (สุภาษิต 2:21) ดังนั้น ขอให้เรา “แสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรม [ของพระเจ้า]ก่อน” เสมอไป.—มัดธาย 6:33, ล.ม.
ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาไม่ต้องคอยจนกระทั่งถึงโลกใหม่ที่ทรงสัญญาไว้นั้นเพื่อจะได้รับพระพรจากพระเจ้า. “พระยะโฮวาจะไม่ทรงปล่อยให้วิญญาณของคนชอบธรรมหิวกระหาย; แต่พระองค์ทรงขัดขวางความโลภของคนชั่วร้าย.” (สุภาษิต 10:3) พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างบริบูรณ์โดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) คนชอบธรรมมีเหตุผลอย่างแน่นอนที่จะ “โห่ร้องด้วยความดีใจ.” (ยะซายา 65:14) ความรู้เป็นที่น่ายินดีสำหรับจิตวิญญาณของเขา. การเสาะหาทรัพย์สมบัติฝ่ายวิญญาณเป็นความยินดีสำหรับเขา. คนชั่วไม่รู้จักความยินดีดังกล่าว.
‘ความขยันขันแข็งกระทำให้คนมั่งคั่ง’
คนชอบธรรมได้รับพระพรในอีกวิธีหนึ่งด้วย. “บุคคลผู้ทำการด้วยมือเกียจคร้านย่อมยากจนลง; แต่มือซึ่งขยันขันแข็งกระทำให้เกิดความมั่งคั่ง, บุคคลผู้สะสมไว้ในฤดูร้อนก็เป็นบุตรที่มีปัญญา; แต่บุคคลผู้หลับใหลในฤดูเกี่ยวเก็บก็เป็นบุตรที่เป็นเหตุให้ได้รับความอับอาย.”—สุภาษิต 10:4, 5.
ถ้อยคำของกษัตริย์มีความหมายโดยเฉพาะสำหรับคนที่ทำงานระหว่างการเก็บเกี่ยว. ฤดูเก็บเกี่ยวไม่ใช่เวลาสำหรับการหลับใหล แต่เป็นเวลาสำหรับความขยันขันแข็งและการทำงานนานหลายชั่วโมง. ที่จริง เป็นเวลาของความเร่งด่วน.
โดยคำนึงถึงการเก็บเกี่ยว ไม่ใช่ข้าว แต่เป็นผู้คน พระเยซูทรงแจ้งเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “การเกี่ยวนั้นเป็นการใหญ่นักหนา, แต่คนทำการยังน้อยอยู่. เหตุฉะนั้นจงอธิษฐานขอต่อเจ้าของของการเกี่ยวนั้น [พระยะโฮวาพระเจ้า], ให้ใช้คนทำการหลายคนไปในการเกี่ยวของพระองค์.” (มัดธาย 9:35-38) ในปี 2000 มีมากกว่า 14 ล้านคนได้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์เกี่ยวกับการวายพระชนม์ของพระเยซู—มากกว่าจำนวนของพยานพระยะโฮวาสองเท่า. ดังนั้น ใครหรือจะปฏิเสธได้ว่า “ทุ่งนาเหลืองถึงฤดูเกี่ยวแล้ว”? (โยฮัน 4:35) ผู้นมัสการแท้ทูลขอเจ้าของนาเพื่อให้มีคนงานมากขึ้น ขณะที่ทุ่มเทตัวเองอย่างแข็งขันในงานทำให้คนเป็นสาวกอย่างที่สอดคล้องกับคำอธิษฐานของพวกเขา. (มัดธาย 28:19, 20) และพระยะโฮวาได้อวยพระพรความพยายามของพวกเขาอย่างอุดมสักเพียงไร! ระหว่างปีรับใช้ 2000 มีคนใหม่มากกว่า 280,000 คนได้รับบัพติสมา. คนเหล่านี้พยายามจะเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้าด้วย. ขอให้เราประสบความยินดีและความพอใจในฤดูเก็บเกี่ยวนี้โดยการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงานทำให้คนเป็นสาวก.
‘พรอยู่เหนือศีรษะของเขา’
ซะโลโมกล่าวต่อไปว่า “พรอยู่เหนือศีรษะของคนชอบธรรม; แต่คำหยาบช้าท่วมอยู่ที่ปากของคนชั่ว [“ปากของคนชั่วปกปิดความรุนแรงไว้,” ล.ม.].”—สุภาษิต 10:6.
คนที่หัวใจบริสุทธิ์และชอบธรรมอย่างแท้จริงนั้นให้หลักฐานมากมายในเรื่องความชอบธรรมของเขา. คำพูดของเขากรุณาและเสริมสร้าง การกระทำของเขาเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. คนอื่น ๆ ยินดีคบหาสมาคมกับเขา. บุคคลดังกล่าวได้รับความนับถือ—ความพึงพอใจจากพวกเขา—ในประการที่ว่าคนเหล่านั้นพูดถึงเขาในแง่ดี.
ในอีกด้านหนึ่ง คนชั่วจงเกลียดจงชังหรือมุ่งร้าย และจริง ๆ แล้วตั้งใจทำความเสียหายแก่คนอื่น. คำพูดของเขาอาจหวานหู และอาจ ‘ปกปิดความรุนแรง’ ซึ่งซ่อนอยู่ในหัวใจของเขา แต่ในที่สุดเขาก็ทำร้ายไม่ทางกายก็ทางวาจา. (มัดธาย 12:34, 35) หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง “ความรุนแรงจะปกปิด [หรือปิด] ปากของคนชั่ว.” (สุภาษิต 10:6, ล.ม., เชิงอรรถ) ข้อนี้บ่งบอกว่าคนชั่วมักจะได้รับจากคนอื่นในสิ่งที่ตัวเขาแสดงออกนั้น กล่าวคือความเป็นปรปักษ์. ประหนึ่งว่าสิ่งนี้ปกปิดหรือปิดปากของเขา ทำให้เขาเงียบ. คนเช่นนั้นจะคาดหวังสิ่งดี ๆ อะไรจากคนอื่นได้เล่า?
กษัตริย์ของยิศราเอลทรงเขียนว่า “การระลึกถึงผู้ชอบธรรมย่อมนำมาซึ่งความสุข; แต่ชื่อเสียงของคนชั่วนั้นย่อมเสื่อมเสียไป.” (สุภาษิต 10:7) ผู้ชอบธรรมย่อมได้รับการระลึกถึงด้วยความชื่นชอบจากคนอื่น สำคัญที่สุดจากพระยะโฮวาพระเจ้า. โดยรักษาความซื่อสัตย์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ พระเยซู “ได้ทรงรับพระนามที่เยี่ยม” กว่านามของพวกทูตสวรรค์. (เฮ็บราย 1:3, 4) ชายและหญิงผู้ซื่อสัตย์ก่อนยุคคริสเตียนได้รับการระลึกถึงจากคริสเตียนแท้ทุกวันนี้ในฐานะเป็นตัวอย่างที่ควรแก่การเลียนแบบ. (เฮ็บราย 12:1, 2) นี่ช่างแตกต่างจากชื่อของคนชั่วสักเพียงไร ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่น่าสะอิดสะเอียนและน่ารังเกียจ! ถูกแล้ว “ชื่อเสียงดีเป็นสิ่งควรเลือกยิ่งกว่าความมั่งคั่งมากมายและซึ่งเป็นที่โปรดปรานก็ดีกว่ามีเงินหรือทอง.” (สุภาษิต 22:1, ฉบับแปลใหม่) ขอให้เราสร้างชื่อเสียงอันเป็นที่ชื่นชอบกับพระยะโฮวาและเพื่อนมนุษย์ของเรา.
‘คนซื่อตรงจะเดินอย่างไว้ใจได้’
โดยเปรียบความแตกต่างระหว่างคนมีปัญญากับคนโง่ ซะโลโมกล่าวว่า “ผู้ที่มีใจประกอบด้วยปัญญาย่อมรับเอาพระบัญญัติ; แต่คนปากร้าย [“พูดโง่ ๆ,” ฉบับแปลใหม่] ย่อมล้มคะมำลง.” (สุภาษิต 10:8) บุคคลที่มีปัญญาทราบดีว่า “ไม่ใช่ที่มนุษย์ซึ่งดำเนินนั้นจะได้กำหนดก้าวของตัวได้.” (ยิระมะยา 10:23) เขาตระหนักถึงความจำเป็นที่จะแสวงหาการนำทางจากพระยะโฮวาและเต็มใจยอมรับพระบัญญัติของพระเจ้า. ในอีกด้านหนึ่ง คนที่พูดโง่ ๆ ไม่สามารถเข้าใจข้อเท็จจริงพื้นฐานนี้. การพูดเพ้อเจ้ออย่างโง่ ๆ นำเขาไปสู่ความพินาศ.
บุคคลที่ชอบธรรมยังประสบความปลอดภัยชนิดที่คนชั่วไม่ได้พานพบ. “บุคคลผู้ใดเดินไปตามทางซื่อตรงย่อมเดินอย่างไว้ใจได้; แต่บุคคลผู้หลงไปนั้นทางของเขาจะได้ประจักษ์แจ้ง. บุคคลผู้ขยิบหูขยิบตาย่อมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์; แต่ผู้ที่ปากร้ายย่อมล้มคะมำลง.”—สุภาษิต 10:9, 10.
คนที่มีความซื่อสัตย์มั่นคงเป็นคนซื่อตรงในการปฏิบัติของเขา. เขาได้รับความนับถือและความไว้ใจจากคนอื่น. บุคคลที่ซื่อตรงเป็นลูกจ้างที่มีคุณค่าและมักได้รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น. ชื่อเสียงของเขาในเรื่องความซื่อตรงทำให้เขาได้รับการว่าจ้างให้ทำงานเสมอ แม้แต่เมื่องานหายาก. นอกจากนี้ ความซื่อตรงของเขายังส่งเสริมบรรยากาศที่น่ายินดีและสงบสุขที่บ้าน. (บทเพลงสรรเสริญ 34:13, 14) เขารู้สึกปลอดภัยในสัมพันธภาพของเขากับสมาชิกในครอบครัว. ความปลอดภัยเป็นผลของความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างแท้จริง.
สภาพการณ์ต่างกันกับคนที่ยอมให้กับความไม่ซื่อตรงเพื่อผลประโยชน์อันเห็นแก่ตัว. ผู้หลอกลวงอาจพยายามจะปกปิดความไม่ซื่อสัตย์ของตนไว้ด้วยคำพูดที่ลดเลี้ยวหรือด้วยการทำท่าทำทาง. (สุภาษิต 6:12-14) การขยิบตาอย่างมุ่งร้ายของเขาหรือด้วยเจตนาที่หลอกลวงอาจทำให้ผู้เป็นเหยื่อการหลอกลวงของเขามีความเจ็บปวดรวดร้าวทางจิตใจยิ่งนัก. แต่ไม่ช้าก็เร็ว ความคดโกงของคนเช่นนั้นก็เป็นที่รู้กันทั่ว. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “การผิดของบางคนย่อมปรากฏเด่นขึ้นก่อน, แล้วก็นำเขาไปถึงที่พิพากษา แต่การผิดของบางคนนั้นมักจะตามหลังเขาไป. ฝ่ายการดีก็ปรากฏเด่นขึ้นด้วยเหมือนกัน, และการนอกนั้นจะปิดบังไว้ทีเดียวก็ไม่ได้.” (1 ติโมเธียว 5:24, 25) ไม่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยจะเป็นใครก็ตาม—บิดาหรือมารดา, เพื่อน, คู่ชีวิต, หรือคนรู้จักคุ้นเคย—ในที่สุดความไม่ซื่อตรงก็ถูกเปิดเผย. ใครหรือจะไว้ใจคนที่มีชื่อเสียงในเรื่องความไม่ซื่อตรง?
‘ปากของเขาเป็นน้ำพุแห่งชีวิต’
ซะโลโมกล่าวว่า “ปากของคนชอบธรรมนั้นเป็นน้ำพุแห่งชีวิต; แต่คำหยาบช้าท่วมอยู่ที่ปากของคนชั่ว.” (สุภาษิต 10:11) คำพูดจากปากอาจเยียวยาหรือไม่ก็ทำให้เจ็บปวดได้. คำพูดนั้นอาจทำให้คนเราสดชื่นและมีชีวิตชีวาหรือทำให้หมดกำลังใจได้.
โดยระบุแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังคำพูด กษัตริย์แห่งยิศราเอลตรัสว่า “ความเกลียดชังย่อมส่งเสริมการทะเลาะวิวาทให้เกิดขึ้น; แต่ความรักย่อมปกปิดสรรพความผิด.” (สุภาษิต 10:12) ความเกลียดชังก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทในสังคมมนุษย์ ปลุกเร้าการต่อสู้. ผู้รักพระยะโฮวาต้องถอนรากความเกลียดชังออกไปจากชีวิตของเขา? โดยวิธีใด? โดยเอาความรักมาแทนที่ความเกลียดชัง. “ความรักก็ปกปิดความผิดไว้มากหลาย.” (1 เปโตร 4:8) “ความรักทนรับเอาทุกสิ่ง.” (1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) ความรักแบบพระเจ้าไม่คาดหมายความสมบูรณ์จากคนที่ไม่สมบูรณ์. แทนที่จะโฆษณาข้อผิดพลาดของคนอื่น ความรักดังกล่าวช่วยเรามองข้ามความผิดพลาดของเขา นอกเสียจากว่าจะเกี่ยวข้องกับการทำผิดร้ายแรง. ความรักถึงกับทนรับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายในงานเผยแพร่ตามบ้าน, ณ ที่ทำงานของเรา, หรือที่โรงเรียน.
กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดตรัสต่อไปว่า “ปัญญาย่อมพบได้ที่ริมฝีปากของบุคคลผู้เห็นแจ้งแล้ว; แต่แส้มีไว้สำหรับคนที่ไร้ความเข้าใจ.” (สุภาษิต 10:13) สติปัญญาของบุคคลที่มีความเข้าใจชี้นำย่างเท้าของเขา. คำพูดที่เสริมสร้างจากริมฝีปากของเขาช่วยคนอื่นให้ดำเนินในทางแห่งความชอบธรรม. ทั้งตัวเขาและคนเหล่านั้นที่ฟังเขาไม่ต้องถูกนำไปในทิศทางที่ถูกต้องโดยการบีบบังคับ—ไม้เรียวที่ใช้ในการลงโทษ.
“สะสมความรู้ไว้”
อะไรช่วยให้คำพูดของเราเป็น ‘ธารน้ำไหลแห่งปัญญา’ แทนที่จะเป็นธารน้ำของเรื่องที่ไร้แก่นสาร? (สุภาษิต 18:4) ซะโลโมตอบว่า “คนมีปัญญาย่อมสะสมความรู้ไว้; แต่ปากของคนโฉดย่อมเกิดหายนะทันที.”—สุภาษิต 10:14.
ข้อเรียกร้องประการแรกคือจิตใจของเราควรเต็มด้วยความรู้ที่เสริมสร้างขึ้นเกี่ยวกับพระเจ้า. มีแหล่งเดียวเท่านั้นของความรู้ดังกล่าว. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม, เพื่อคนของพระเจ้าจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน, เตรียมพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17, ล.ม.) เราต้องสะสมความรู้และขุดค้นในพระคำของพระเจ้าประหนึ่งเสาะหาทรัพย์ที่ซ่อนอยู่. การเสาะหาเช่นนั้นช่างน่าตื่นเต้นและให้ผลตอบแทนสักเพียงไร!
เพื่อจะพบสติปัญญาจากริมฝีปากของเรา ความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ต้องเข้าถึงหัวใจของเราด้วย. พระเยซูตรัสกับผู้ฟังของพระองค์ว่า “คนดีก็ย่อมเอาของดีออกจากคลังดีแห่งใจของตน, และคนชั่วก็ย่อมเอาของชั่วออกจากคลังชั่วแห่งใจของตน เพราะว่าใจเต็มบริบูรณ์อย่างไรปากก็พูดออกอย่างนั้น.” (ลูกา 6:45) เพราะฉะนั้น เราต้องคิดรำพึงเป็นประจำในสิ่งที่เราเรียนรู้. จริงอยู่ การศึกษาและการคิดรำพึงต้องใช้ความพยายาม แต่การศึกษาเช่นนั้นทำให้เพิ่มพูนฝ่ายวิญญาณสักเพียงไร! ไม่มีเหตุผลที่ใคร ๆ จะติดตามแนวทางที่ยังความเสียหายของการเป็นเพียงคนพูดฉอด ๆ อย่างไร้ความคิด.
ถูกแล้ว บุคคลที่มีปัญญาทำสิ่งถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้าและมีผลกระทบในทางที่ดีต่อคนอื่น. เขามีคลังอาหารฝ่ายวิญญาณอุดมและมีมากมายที่จะทำในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งให้ผลตอบแทน. (1 โกรินโธ 15:58) เนื่องจากเป็นคนซื่อสัตย์มั่นคง เขาจึงดำเนินอยู่ในความปลอดภัยและได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า. พระพรของคนชอบธรรมมีมากมายจริง ๆ. ขอให้เราแสวงหาความชอบธรรมโดยการทำให้ชีวิตของเราประสานกับมาตรฐานของพระเจ้าในเรื่องความดีและความชั่ว.
[เชิงอรรถ]
a นามสมมุติ.
[ภาพหน้า 25]
ความซื่อตรงส่งเสริมชีวิตครอบครัวที่มีความสุข
[ภาพหน้า 26]
‘คนมีปัญญาสะสมความรู้’