จงดำเนินใน ‘ทางแห่งความเที่ยงตรง’
ผู้พยากรณ์ยะซายาได้ประกาศว่า “จะเป็นมงคลแก่ [คนชอบธรรม] เพราะเขาจะได้รับประทานผลแห่งการกระทำของเขา.” ยะซายายังได้กล่าวด้วยว่า “ทางของผู้ชอบธรรมนั้นเที่ยงตรง.” (ยะซายา 3:10; 26:7, ล.ม.) ปรากฏชัดว่า เพื่อการกระทำของเราจะก่อผลดีแล้ว เราต้องทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้า.
แต่เราจะดำเนินในทางแห่งความเที่ยงตรงได้อย่างไร? เราอาจคาดหมายพระพรอะไรจากการทำเช่นนั้น? และคนอื่นอาจได้รับประโยชน์อย่างไรจากการที่เราปฏิบัติตามมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้า? ในบท 10 ของพระธรรมสุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิล กษัตริย์ซะโลโมแห่งยิศราเอลโบราณทรงให้คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ขณะที่ท่านเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคนชอบธรรมกับคนชั่ว. ในการเปรียบเทียบนั้น ท่านใช้ถ้อยคำ “คน [ผู้] ชอบธรรม” 13 ครั้ง. จากจำนวนนี้มีเก้าครั้งปรากฏในข้อ 15 ถึงข้อ 32. ฉะนั้น การพิจารณาสุภาษิต 10:15-32 จะทำให้มีกำลังใจอย่างแท้จริง.a
จงยึดมั่นกับการตีสอน
ซะโลโมชี้ถึงความสำคัญของความชอบธรรม. ท่านกล่าวว่า “ความมั่งคั่งของเศรษฐีคือเมืองที่มั่นคงของเขา; ความหายนะของคนอนาถาก็คือความยากจนของเขา. การงานของคนชอบธรรมย่อมพาไปสู่ชีวิต; แต่การทวีผลงานของคนชั่วย่อมนำไปสู่ความบาป.”—สุภาษิต 10:15, 16.
ทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องปกป้องไว้จากความไม่แน่นอนบางอย่างในชีวิต เช่นเดียวกับเมืองที่มีกำแพงแน่นหนาให้ความปลอดภัยระดับหนึ่งแก่คนเหล่านั้นที่อยู่ในเมือง. และความยากจนอาจยังความหายนะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด. (ท่านผู้ประกาศ 7:12) อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดอาจบอกเป็นนัยด้วยถึงอันตรายอันเกี่ยวข้องกับความมั่งมีและความยากจน. เศรษฐีอาจมีแนวโน้มที่จะให้ความไว้วางใจอย่างหมดสิ้นต่อทรัพย์ของเขา โดยคิดเอาเองว่าสิ่งของมีค่าของตนเป็น “เหมือนกำแพงอันสูง.” (สุภาษิต 18:11) และคนยากจนอาจมีทัศนะที่สำคัญผิดไปว่าความยากจนทำให้อนาคตของเขามืดมน. ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงไม่ได้สร้างชื่อเสียงที่ดีกับพระเจ้า.
ในอีกด้านหนึ่ง ไม่ว่าคนชอบธรรมมีมากหรือน้อยทางด้านวัตถุ การงานที่ซื่อสัตย์ของเขานำไปสู่ชีวิต. โดยวิธีใด? เขาอิ่มใจในสิ่งที่ตนมี. เขาไม่ยอมให้สภาพทางการเงินของตนขัดขวางฐานะอันเป็นที่โปรดปรานกับพระเจ้า. ไม่ว่ามั่งมีหรือยากจน แนวทางชีวิตของคนชอบธรรมนำความสุขมาให้เขาในปัจจุบันและทำให้มีความหวังเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์ในอนาคต. (โยบ 42:10-13) คนชั่วไม่ได้รับประโยชน์ถึงเขาจะมีทรัพย์สมบัติ. แทนที่จะสำนึกถึงคุณค่าของทรัพย์ที่ให้การปกป้องและดำเนินชีวิตประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า เขากลับใช้ทรัพย์ของตนเพื่อส่งเสริมชีวิตที่เป็นบาป.
กษัตริย์ยิศราเอลตรัสต่อไปว่า “บุคคลผู้อยู่ในคำสั่งสอนย่อมอยู่ในทางของชีวิต; แต่บุคคลผู้ละเลยคำตักเตือน [“การว่ากล่าว,” ล.ม.] ย่อมหลงไป.” (สุภาษิต 10:17) ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งชี้แนะว่าอาจเข้าใจข้อนี้ได้ในสองประการ. ประการหนึ่งที่เป็นไปได้คือการที่บุคคลซึ่งยอมรับการตีสอนและติดตามความชอบธรรมอยู่บนทางสู่ชีวิต ส่วนคนที่ละเลยการว่ากล่าวก็อยู่ห่างจากทางนั้น. ข้อนั้นยังอาจหมายความด้วยว่า “ผู้ที่เอาใจใส่การตีสอนก็แสดงให้เห็นแนวทางสู่ชีวิต [แก่คนอื่นเพราะตัวอย่างที่ดีของเขาเป็นประโยชน์ต่อคนเหล่านั้น] แต่ผู้ใดที่ละเลยการแก้ไขก็นำคนอื่นให้หลงทาง.” (สุภาษิต 10:17, นิว อินเตอร์แนชันแนล เวอร์ชัน) ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่เราจะยึดมั่นกับการตีสอนและไม่ละเลยการว่ากล่าว!
เอาความรักมาแทนความเกลียดชัง
ต่อจากนั้นซะโลโมเสนอสุภาษิตสองท่อนที่มีแนวคิดคล้ายกัน ท่อนสองเสริมน้ำหนักให้กับท่อนแรก. ท่านกล่าวว่า “บุคคลผู้ซ่อนการเกลียดชังไว้ย่อมเป็นคนที่มีริมฝีปากมุสา.” ถ้าคนเรามีความเกลียดชังอยู่ในหัวใจต่ออีกคนหนึ่งและปกปิดความเกลียดชังนั้นไว้เบื้องหลังคำพูดอ่อนหวานหรือการประจบประแจง เขาก็กำลังหลอกลวง—เขามี “ริมฝีปากมุสา.” กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดตรัสเสริมเกี่ยวกับคนเช่นนี้ว่า “บุคคลผู้กล่าววาจาใส่ร้ายคนอื่นก็เป็นคนโฉดเขลา.” (สุภาษิต 10:18) แทนที่จะปกปิดความเกลียดชังของตนไว้ บางคนใช้ข้อกล่าวหาเท็จหรือแพร่คำพูดที่ดูถูกเหยียดหยามเกี่ยวกับคนที่ตนเกลียด. นี่เป็นความโง่เขลาเพราะคำเล่าลือที่ใส่ร้ายมิได้เปลี่ยนสิ่งที่คนนั้นเป็นอย่างแท้จริง. และผู้ฟังที่เข้าใจจะมองออกถึงความมุ่งร้ายและมีความนับถือน้อยลงต่อผู้ที่ใส่ร้ายนั้น. ดังนั้น ผู้แพร่ข่าวลือที่เลวร้ายก็ก่อผลเสียหายให้กับตัวเอง.
แนวทางความประพฤติที่ชอบธรรมย่อมไม่ใช้ทั้งการหลอกลวงหรือการใส่ร้าย. พระเจ้าตรัสสั่งชนยิศราเอลว่า “อย่าเกลียดชังพี่น้องของเจ้าอยู่ในใจ.” (เลวีติโก 19:17, ฉบับแปลใหม่) และพระเยซูทรงแนะนำเหล่าผู้ฟังพระองค์ว่า “จงรัก [กระทั่ง] ศัตรูของท่านทั้งหลายต่อ ๆ ไป และอธิษฐานเผื่อผู้ที่ข่มเหงท่านทั้งหลาย; เพื่อท่านทั้งหลายจะได้พิสูจน์ตัวว่าเป็นบุตรแห่งพระบิดาของท่านทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์.” (มัดธาย 5:44, 45, ล.ม.) เป็นสิ่งที่ดีกว่ามากสักเพียงไรที่จะบรรจุหัวใจเราด้วยความรักแทนความเกลียดชัง!
‘ยับยั้งริมฝีปากไว้’
ในการเน้นความจำเป็นที่จะควบคุมลิ้น กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดตรัสว่า “การพูดมากมักมีความผิด; แต่ผู้ที่ยับยั้งริมฝีปากของตนย่อมประพฤติเป็นคนมีปัญญา.”—สุภาษิต 10:19.
“คนเขลาพูดมากซ้ำซาก.” (ท่านผู้ประกาศ 10:14, ฉบับแปลใหม่) “ความโฉดเขลาย่อมพลุ่งออกมาจาก” ปากของเขา. (สุภาษิต 15:2) นี่มิได้หมายความว่าทุกคนที่ช่างพูดเป็นคนโง่. แต่ง่ายสักเพียงไรที่บุคคลซึ่งพูดมากเกินไปจะกลายเป็นช่องทางแพร่การซุบซิบนินทาหรือข่าวลือที่ยังความเสียหาย! ชื่อเสียงที่ถูกทำลาย, ความรู้สึกเจ็บปวด, ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด, และกระทั่งการทำร้ายร่างกาย บ่อยครั้งอาจเป็นผลมาจากคำพูดที่โง่เขลา. “ที่ไหนมีการพูดมาก บาปก็จะไม่ขาดหายไป.” (สุภาษิต 10:19, แอน อเมริกัน แทรนสเลชัน) นอกจากนี้ เป็นเรื่องทำให้ขัดเคืองใจที่จะอยู่ใกล้ ๆ คนที่พูดได้ทุกเรื่อง. ขอให้เราอย่าพูดมากเกินไป.
ไม่เพียงแต่หลีกเลี่ยงความเท็จเท่านั้น คนที่ยับยั้งริมฝีปากของตนนั้นปฏิบัติอย่างฉลาดสุขุม. เขาคิดก่อนพูด. โดยได้รับแรงจูงใจจากความรักต่อมาตรฐานของพระยะโฮวาและความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะช่วยเพื่อนมนุษย์ เขาคำนึงถึงผลกระทบที่คำพูดของเขามีต่อคนอื่น. คำพูดของเขาแสดงความรักและความกรุณา. เขาคิดรำพึงถึงวิธีทำให้สิ่งที่ตนพูดนั้นดึงดูดใจและเป็นประโยชน์. คำพูดของเขาเป็นเหมือน “ผลแอปเปิลทำด้วยทองคำใส่ไว้ในกระเช้าเงิน”—งามวิจิตรและสูงค่าอยู่ตลอดเวลา.—สุภาษิต 25:11.
“เลี้ยงบำรุงคนไว้เป็นอันมาก”
ซะโลโมตรัสต่อไปว่า “ลิ้นของผู้ชอบธรรมเป็นเหมือนอย่างเงินเนื้อแท้; ใจของคนชั่วมีค่าน้อยนิดเดียว.” (สุภาษิต 10:20) สิ่งที่คนชอบธรรมพูดนั้นไม่มีอะไรเจือปน—เหมือนเงินเนื้อแท้ที่ถูกถลุงให้บริสุทธิ์, ไม่มีอะไรปนเปื้อน. นี่เป็นความจริงอย่างแน่นอนกับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาขณะที่พวกเขาแจกจ่ายความรู้ที่ช่วยชีวิตเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าแก่คนอื่น. พระยะโฮวาพระเจ้า พระบรมครูได้ให้การศึกษาอบรมพวกเขาและ ‘ได้ทรงประทานลิ้นของคนที่ได้รับการสั่งสอนแก่พวกเขา เพื่อพวกเขาจะรู้วิธีตอบคนที่เหนื่อยล้าด้วยถ้อยคำ.’ (ยะซายา 30:20; 50:4, ล.ม.) ที่จริง ลิ้นของพวกเขาเป็นเหมือนเงินเนื้อแท้ขณะที่พูดความจริงในคัมภีร์ไบเบิลออกมา. คำพูดของพวกเขาช่างมีคุณค่าล้นเหลือสำหรับคนที่มีหัวใจสุจริตยิ่งกว่าความมุ่งหมายของคนชั่วสักเพียงไร! ขอให้เรากระตือรือร้นที่จะพูดถึงราชอาณาจักรของพระเจ้าและพระราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระองค์.
คนชอบธรรมเป็นพระพรแก่คนเหล่านั้นที่อยู่รอบตัวเขา. ซะโลโมตรัสต่อไปว่า “ลิ้นของผู้ชอบธรรมย่อมเลี้ยงบำรุงคนไว้เป็นอันมาก; แต่คนโฉดย่อมตายไปเพราะขาดความเข้าใจ [“ด้านหัวใจ,” ล.ม.].”—สุภาษิต 10:21.
“ผู้ชอบธรรมย่อมเลี้ยงบำรุงคนไว้เป็นอันมาก” โดยวิธีใด? คำภาษาฮีบรูที่ใช้ในที่นี้ถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับการเลี้ยงแกะ. คำนี้แฝงไว้ด้วยความคิดเกี่ยวกับการชี้นำอีกทั้งการบำรุงเลี้ยง คล้ายกันมากกับผู้เลี้ยงแกะในสมัยโบราณเอาใจใส่ดูแลแกะของเขา. (1 ซามูเอล 16:11; บทเพลงสรรเสริญ 23:1-3; เพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม 1:7) คนชอบธรรมชี้แนะหรือนำคนอื่นไปสู่ทางแห่งความชอบธรรม คำพูดของเขาบำรุงกำลังผู้ที่ฟังเขา. ผลก็คือ พวกเขาดำเนินชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น, น่าพอใจมากขึ้น, และอาจถึงกับได้รับชีวิตนิรันดร์ด้วยซ้ำ.
แต่จะว่าอย่างไรกับคนโง่? เนื่องจากขาดด้านหัวใจ เขาแสดงให้เห็นการขาดเจตนาที่ดีหรือไม่มีความเป็นห่วงเป็นใยเกี่ยวกับผลจากการกระทำของเขา. บุคคลดังกล่าวทำอะไรก็ตามที่เขาอยากทำ โดยไม่คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้น. ฉะนั้น เขาได้รับผลเสียหายเนื่องจากการกระทำของเขา. ขณะที่คนชอบธรรมช่วยคนอื่นให้มีชีวิตอยู่ คนที่ขาดด้านหัวใจไม่สามารถรักษาแม้แต่ชีวิตของตัวเองให้รอดได้.
หลบเลี่ยงความประพฤติหละหลวม
บ่อยครั้งสิ่งที่คนเราชอบหรือไม่ชอบมักเผยให้เห็นบุคลิกภาพของเขา. โดยกล่าวถึงข้อเท็จจริงนี้ กษัตริย์แห่งยิศราเอลตรัสว่า “คนโง่กระทำความผิด [“ประพฤติหละหลวม,” ล.ม.] เหมือนการเล่นสนุก แต่ความประพฤติอันกอปรด้วยปัญญาเป็นความเพลิดเพลินแก่คนที่มีความเข้าใจ.”—สุภาษิต 10:23, ฉบับแปลใหม่.
บางคนถือว่าความประพฤติหละหลวมเป็นเหมือนกีฬาหรือการเล่น และเข้าร่วมในการประพฤติเช่นนั้นเพื่อ “ความสนุก.” คนเช่นนั้นไม่คำนึงถึงพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ที่ทุกคนต้องให้การ และพวกเขาไม่เต็มใจยอมรับว่าแนวทางของตนนั้นผิด. (โรม 14:12) พวกเขากลายเป็นคนบิดเบือนในการอ้างเหตุผลถึงขั้นที่ทึกทักเอาว่าพระเจ้าไม่ทรงเห็นการทำผิดของเขา. โดยการกระทำของเขา ที่แท้แล้วเขากล่าวว่า “พระเจ้าไม่มี.” (บทเพลงสรรเสริญ 14:1-3; ยะซายา 29:15, 16) ช่างโง่เขลาสักเพียงไร!
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่มีความเข้าใจตระหนักว่าความประพฤติหละหลวมไม่ใช่กีฬา. เขาทราบว่าความประพฤติเช่นนั้นทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัยและอาจทำลายสัมพันธภาพของคนเรากับพระองค์ได้. ความประพฤติดังกล่าวนับว่าโง่ เพราะทำให้คนเราสูญเสียความนับถือตัวเอง, ทำลายชีวิตสมรส, ก่อผลเสียหายแก่ทั้งจิตใจและร่างกาย, และนำไปสู่การสูญเสียสภาพฝ่ายวิญญาณ. เราฉลาดที่หลบเลี่ยงความประพฤติหละหลวมและปลูกฝังความรักใคร่ต่อสติปัญญาเหมือนเป็นพี่สาวหรือน้องสาวที่รักยิ่ง.—สุภาษิต 7:4.
สร้างบนรากฐานที่ถูกต้อง
โดยชี้ถึงคุณค่าของการสร้างชีวิตคนเราบนรากฐานที่เหมาะสม ซะโลโมกล่าวว่า “ความหวาดกลัวของคนชั่วจะมาทับถมตัวเขาไว้; และความปรารถนาของคนชอบธรรมก็จะทรงโปรดให้สมประสงค์. เมื่อพายุร้ายแรงผ่านไปแล้ว, คนชั่วก็จะไม่มีเหลือ; แต่คนชอบธรรมคงเป็นฐานถาวรชั่วกัลปาวสาน.”—สุภาษิต 10:24, 25.
คนชั่วอาจทำให้คนอื่นเกิดความหวาดกลัวมาก. แต่ในที่สุด ตัวเขาเองจะประสบความหวั่นกลัว. เนื่องจากไม่มีรากฐานอยู่ในหลักการที่ชอบธรรม เขาเป็นเหมือนอาคารที่ไม่มั่นคงซึ่งพังทลายระหว่างที่มีพายุรุนแรง. เขายอมจำนนต่อความกดดัน. ในอีกด้านหนึ่ง คนชอบธรรมเป็นเหมือนคนที่ปฏิบัติสอดคล้องกับคำตรัสของพระเยซู. เขาเป็น “คนมีปัญญาคนหนึ่งที่สร้างเรือนของตนไว้บนศิลา.” พระเยซูตรัสว่า “ฝนก็ตกและน้ำก็ไหลเชี่ยว, ลมก็พัดปะทะเรือนนั้น, แต่เรือนมิได้พังลง เพราะว่ารากตั้งอยู่บนศิลา.” (มัดธาย 7:24, 25) บุคคลดังกล่าวเป็นคนมั่นคง—ความคิดและการกระทำของเขาตั้งมั่นอยู่บนหลักการของพระเจ้า.
ก่อนเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคนชั่วกับคนชอบธรรมต่อไปอีก กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดทรงให้คำเตือนที่รวบรัดทว่าสำคัญ. ท่านกล่าวว่า “น้ำส้มทำให้เข็ดฟัน, และควันทำให้แสบตาฉันใด, คนเกียจคร้านย่อมทำให้คนที่ใช้เขาเข็ดรำคาญฉันนั้น.” (สุภาษิต 10:26) น้ำส้มสายชูก่อผลเสียให้ฟัน. กรดน้ำส้มที่มีอยู่ในน้ำส้มสายชูทำให้เกิดรสเปรี้ยวในปากและอาจทำให้คนเราเสียวฟัน. ควันทำให้แสบตา. ฉะนั้น ใครก็ตามที่จ้างคนเกียจคร้านหรือใช้เขาให้ทำงานแทนก็ต้องรำคาญใจและคงจะประสบการสูญเสีย.
“ทางของพระยะโฮวาเป็นป้อม”
กษัตริย์ยิศราเอลตรัสต่อไปว่า “ความยำเกรงพระยะโฮวาย่อมเพิ่มเติมวันคืนแห่งอายุ: แต่ปีเดือนของคนชั่วจะสั้นเข้า. ความหวังใจของคนชอบธรรมจะเป็นที่ให้ปีติยินดีแต่ความมุ่งหวังของคนชั่วจะพินาศไป.”—สุภาษิต 10:27, 28.
คนชอบธรรมได้รับการชี้นำจากความเกรงกลัวพระเจ้าและพยายามจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยโดยความคิด, คำพูด, และการกระทำของเขา. พระเจ้าทรงใฝ่พระทัยเขาและทำให้ความคาดหวังที่ชอบธรรมของเขาเป็นจริง. อย่างไรก็ตาม คนชั่วดำเนินชีวิตที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า. ความหวังของเขาอาจดูเหมือนว่าเป็นจริงในบางครั้ง แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราว เพราะวันเวลาที่เขามีชีวิตอยู่มักสั้นลงเนื่องจากความรุนแรงหรือความเจ็บป่วยอันเป็นผลมาจากรูปแบบชีวิตของเขา. ในวันที่เขาตาย ความหวังทั้งสิ้นของเขาก็พังทลาย.—สุภาษิต 11:7.
ซะโลโมกล่าวว่า “ทางของพระยะโฮวาเป็นป้อมของคนตรง; แต่เป็นความพินาศแก่ผู้ประพฤติชั่ว.” (สุภาษิต 10:29) ทางของพระยะโฮวาในที่นี้มิได้เกี่ยวข้องกับทางแห่งชีวิตซึ่งเราควรดำเนิน แต่เป็นแนวทางของพระเจ้าในการปฏิบัติกับมนุษยชาติ. โมเซกล่าวว่า “พระองค์เป็นศิลา กิจการของพระองค์สมบูรณ์พร้อม เพราะทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม.” (พระบัญญัติ 32:4, ล.ม.) แนวทางที่ชอบธรรมของพระเจ้าหมายถึงความปลอดภัยสำหรับคนชอบธรรมและความพินาศสำหรับคนชั่ว.
พระยะโฮวาทรงพิสูจน์ว่าเป็นป้อมมั่นคงอะไรเช่นนี้สำหรับไพร่พลของพระองค์! “ผู้ชอบธรรมจะไม่ถูกกำจัดออกไป; แต่คนชั่วจะอาศัยอยู่ในแผ่นดินโลกไม่ได้. ปากของคนชอบธรรมย่อมผลิปัญญาออกมา; แต่ลิ้นที่ลวงให้หลงผิดนั้นจะถูกตัดออกเสีย. ริมฝีปากของผู้ชอบธรรมรู้จักพูดในสิ่งพอหูคน; แต่ปากของคนชั่วนั้นพูดแต่สิ่งที่หลงผิด.”—สุภาษิต 10:30-32.
ผู้ชอบธรรมย่อมประสบผลดีและได้รับพระพรอย่างแน่นอนเนื่องจากดำเนินในทางแห่งความเที่ยงตรง. ที่จริง “พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่ง; และพระองค์จะไม่เพิ่มความทุกข์ยากให้เลย.” (สุภาษิต 10:22) ดังนั้นแล้ว ให้เราระมัดระวังเสมอที่จะปฏิบัติสอดคล้องกับหลักการของพระเจ้า. ขอให้เรายับยั้งริมฝีปากของเราไว้และใช้ลิ้นเพื่อเลี้ยงบำรุงคนอื่นด้วยความจริงแห่งพระคำของพระเจ้าที่ช่วยชีวิตและชี้นำพวกเขาไปสู่ทางแห่งความชอบธรรม.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาที่ละเอียดเกี่ยวกับสุภาษิต 10:1-14 โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2001 หน้า 24-27.
[ภาพหน้า 26]
ลิ้นอาจเป็นเหมือน “เงินเนื้อแท้” ได้