ความซื่อสัตย์มั่นคงนำทางคนซื่อตรง
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “อันมนุษย์ซึ่งเกิดจากเพศหญิงย่อมมีแต่วันเวลาน้อยนัก, และประกอบไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก.” (โยบ 14:1) ความเจ็บปวดและความทุกข์ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ประสบในชีวิต. กระทั่งชีวิตประจำวันก็อาจเต็มไปด้วยความกังวลและความยุ่งยากมากมาย! อะไรจะชี้นำเราให้รับมือกับสภาพการณ์ที่ยากลำบากได้อย่างเป็นผลสำเร็จและช่วยเราให้รักษาฐานะอันชอบธรรมต่อพระเจ้าไว้ได้?
จงพิจารณาตัวอย่างของชายผู้มั่งคั่งชื่อโยบ ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อน ในดินแดนที่ปัจจุบันคือคาบสมุทรอาหรับ. ช่างเป็นความหายนะอะไรเช่นนั้นที่ซาตานได้ทำให้เกิดกับชายผู้เกรงกลัวพระเจ้าคนนี้! ท่านต้องสูญเสียฝูงปศุสัตว์ทั้งหมดและระทมทุกข์เนื่องจากลูก ๆ ที่รักเสียชีวิต. ต่อมาไม่นาน ซาตานเล่นงานโยบโดยทำให้ท่านเป็นฝีร้ายตั้งแต่ศีรษะจนถึงเท้า. (โยบ บท 1, 2) โยบไม่ทราบเลยว่าเพราะเหตุใดสิ่งเลวร้ายเหล่านี้จึงเกิดแก่ท่าน. กระนั้น “ท่านโยบหาได้กระทำผิดด้วยริมฝีปากของท่านไม่.” (โยบ 2:10) ท่านกล่าวว่า “ข้าจะไม่ทิ้งความสัตย์จริง [“ความซื่อสัตย์มั่นคง,” ล.ม.] ของข้าจนข้าตาย.” (โยบ 27:5, ฉบับแปลใหม่) ถูกแล้ว ความซื่อสัตย์มั่นคงของโยบได้ชี้นำท่านตลอดช่วงเวลาแห่งการทดลอง.
ความซื่อสัตย์มั่นคง ได้รับการนิยามว่าเป็นความมั่นคงหรือความครบถ้วนทางศีลธรรมและเกี่ยวข้องกับการปราศจากซึ่งตำหนิและข้อบกพร่องในสายพระเนตรของพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม ความซื่อสัตย์มั่นคงมิได้หมายถึงความสมบูรณ์ในด้านคำพูดและการกระทำของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ผู้ซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ที่จะบรรลุถึงมาตรฐานของพระเจ้าอย่างครบถ้วน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ความซื่อสัตย์มั่นคงของมนุษย์บ่งนัยถึงความเลื่อมใสจากหัวใจอย่างหมดสิ้นหรืออย่างครบถ้วนต่อพระยะโฮวารวมถึงต่อพระทัยประสงค์และจุดมุ่งหมายของพระองค์. ความเลื่อมใสในพระเจ้าเช่นนี้จะชี้นำหรือนำทางบรรดาคนซื่อตรงในทุกสภาพการณ์และทุกเวลา. ส่วนแรกของพระธรรมสุภาษิตบทที่ 11 แสดงให้เห็นวิธีที่ความซื่อสัตย์มั่นคงสามารถชี้นำเราในหลายแง่มุมของชีวิตและให้ความมั่นใจแก่เราในเรื่องพระพรที่จะตามมา. ดังนั้น ขอให้เราพิจารณาสิ่งที่มีการบันทึกไว้ที่นั่นด้วยความสนใจจริง ๆ.
ความซื่อสัตย์มั่นคงนำไปสู่ความซื่อสัตย์ในการดำเนินธุรกิจ
เมื่อเน้นถึงหลักการเรื่องความซื่อสัตย์โดยใช้คำพรรณนาเชิงกวีแทนการใช้คำศัพท์ทางกฎหมาย กษัตริย์ซะโลโมแห่งอิสราเอลโบราณกล่าวดังนี้: “ตราชูขี้ฉ้อนั้นพระยะโฮวาทรงสะอิดสะเอียน; แต่ลูกตุ้มที่ครบถ้วนเป็นที่ชื่นชมแก่พระองค์.” (สุภาษิต 11:1) นี่เป็นครั้งแรกในสี่ครั้งในพระธรรมสุภาษิตที่มีใช้คำตราชูและลูกตุ้มเพื่อชี้ว่าพระยะโฮวาทรงปรารถนาให้ผู้นมัสการพระองค์เป็นคนซื่อสัตย์ในการดำเนินธุรกิจ.—สุภาษิต 16:11; 20:10, 23.
ความเจริญรุ่งเรืองของคนที่ใช้ตราชูขี้ฉ้อ—คนที่ไม่ซื่อสัตย์—นั้นอาจดึงดูดใจ. แต่เราต้องการจริง ๆ หรือที่จะละทิ้งมาตรฐานของพระเจ้าในเรื่องความดีและความชั่วโดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจที่ผิดหลักจรรยา? คงไม่เป็นเช่นนั้นหากเราได้รับการชี้นำจากความซื่อสัตย์มั่นคง. เราหลีกห่างจากความไม่ซื่อสัตย์ เนื่องจากลูกตุ้มที่ครบถ้วน คือ น้ำหนักที่เที่ยงตรงซึ่งแสดงถึงความซื่อสัตย์นั้นทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย.
“สติปัญญาอยู่กับคนเจียมตัว”
กษัตริย์ซะโลโมกล่าวต่อไปว่า “มีการทำเกินสิทธิ์หรือ? ถ้าเช่นนั้น ก็จะมีความอัปยศ; แต่สติปัญญาอยู่กับคนเจียมตัว.” (สุภาษิต 11:2, ล.ม.) การทำเกินสิทธิ์ ไม่ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบของความหยิ่ง, การไม่เชื่อฟัง, หรือความอิจฉาริษยา ล้วนนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย. ตรงกันข้าม การสำนึกอย่างเจียมตัวต่อข้อจำกัดของเราเป็นวิถีทางแห่งสติปัญญา. ตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลได้ทำให้ความจริงแห่งสุภาษิตข้อนี้เห็นภาพชัดสักเพียงไร!
โครา ชาวเลวีที่อิจฉา ได้นำฝูงชนที่กบฏต่อต้านอำนาจของโมเซและอาโรน ผู้รับใช้ที่ได้รับการแต่งตั้งของพระยะโฮวา. อะไรคือผลของการทำเกินสิทธิ์เช่นนั้น? ‘แผ่นดินได้อ้าปากกลืน’ พวกที่กบฏเหล่านั้นบางคน ขณะที่คนอื่น ๆ รวมถึงโคราถูกทำลายด้วยไฟ. (อาฤธโม 16:1-3, 16-35; 26:10; พระบัญญัติ 11:6) ช่างเป็นความอัปยศอะไรเช่นนี้! ขอให้คิดถึงอุซาด้วย เขาได้ทำเกินสิทธิ์โดยเอื้อมมือไปจับหีบแห่งคำสัญญาไมตรีไว้ไม่ให้ตกลงมา. เขาต้องตายในทันที. (2 ซามูเอล 6:3-8) นับเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่เราจะหลีกเว้นจากการทำเกินสิทธิ์!
บุคคลที่ถ่อมและเจียมตัวไม่ต้องทนทุกข์เนื่องจากความอัปยศ แม้แต่เมื่อพวกเขาทำผิดพลาด. โยบ แม้จะเป็นแบบอย่างที่ดีในหลายด้าน แต่ท่านก็ไม่สมบูรณ์. การทดลองที่เกิดขึ้นกับท่านเผยให้เห็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่งที่ร้ายแรงในความคิดบางอย่างของท่าน. ขณะที่ท่านแก้ตัวกับผู้ที่กล่าวหา โยบแสดงความไม่สมดุลออกมาอยู่บ้าง. ท่านถึงกับบอกเป็นนัย ๆ ว่าท่านชอบธรรมกว่าพระเจ้าด้วยซ้ำ. (โยบ 35:2, 3) พระยะโฮวาทรงแก้ไขความคิดของโยบโดยวิธีใด?
โดยการชี้ไปที่แผ่นดินโลก, ทะเล, ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว, สัตว์บางชนิด, และความมหัศจรรย์แห่งการสร้างอื่น ๆ พระยะโฮวาทรงให้บทเรียนแก่ท่านโยบในเรื่องความต่ำต้อยของมนุษย์เมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า. (โยบ บท 38-41) ไม่มีตอนใดในพระดำรัสของพระยะโฮวาที่พระองค์ทรงบอกโยบถึงสาเหตุที่ท่านต้องทนทุกข์. พระองค์ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น. โยบเป็นคนถ่อม. ท่านรู้สำนึกอย่างเจียมตัวถึงความแตกต่างอย่างมหาศาลระหว่างพระเจ้ากับท่าน ระหว่างความไม่สมบูรณ์และความอ่อนแอของท่านกับความชอบธรรมและพลังอำนาจของพระยะโฮวา. ท่านกล่าวว่า “ข้าฯ จึงชังตัวของข้าฯ เองอย่างยิ่ง [“ถอนคำพูด,” ล.ม.] และกลับใจรับผิดด้วยอาการเกลือกลงในฝุ่นและขี้เถ้า.” (โยบ 42:6) ความซื่อสัตย์มั่นคงของโยบกระตุ้นท่านให้ยอมรับการว่ากล่าวในทันที. จะว่าอย่างไรสำหรับพวกเรา? โดยให้ความซื่อสัตย์มั่นคงกระตุ้นเรา เราพร้อมจะยอมรับการว่ากล่าวและการแก้ไขเมื่อจำเป็นไหม?
โมเซก็เป็นคนถ่อมและเจียมตัวเช่นกัน. เมื่อท่านเหนื่อยล้ากับการจัดการปัญหาของคนอื่น ยิธโรผู้เป็นพ่อตาได้เสนอทางแก้ที่ใช้ได้จริง นั่นคือ การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบให้กับผู้ชายคนอื่น ๆ ที่มีคุณวุฒิ. โดยยอมรับในขีดจำกัดของตนเอง โมเซตอบรับคำแนะนำนั้นอย่างฉลาดสุขุม. (เอ็กโซโด 18:17-26; อาฤธโม 12:3) คนที่เจียมตัวจะเต็มใจมอบอำนาจหน้าที่ให้ผู้อื่น และไม่กลัวว่าการแบ่งสรรหน้าที่รับผิดชอบอย่างเหมาะสมให้แก่ผู้อื่นที่มีคุณวุฒิจะทำให้ตนเองสูญเสียอำนาจ. (อาฤธโม 11:16, 17, 26-29) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขากลับกระตือรือร้นที่จะช่วยคนเหล่านั้นให้ก้าวหน้าทางฝ่ายวิญญาณ. (1 ติโมเธียว 4:15) สิ่งนั้นควรเป็นจริงกับพวกเราด้วยมิใช่หรือ?
‘ทางของคนปราศจากตำหนิก็เที่ยงตรง’
โดยตระหนักว่าความซื่อสัตย์มั่นคงไม่ได้ป้องกันผู้ซื่อตรงไว้จากอันตรายหรือความหายนะเสมอไป ซะโลโมกล่าวว่า “ความสุจริต [“ความซื่อสัตย์มั่นคง,” ล.ม.] ของคนตรงนั้นจะนำเขาไปให้ถูกทาง; แต่การลวงให้หลงผิดของคนเจ้าเล่ห์จะทำลายเขาเสีย.” (สุภาษิต 11:3) แท้จริงแล้ว ความซื่อสัตย์มั่นคงชี้นำผู้ซื่อตรงให้ทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรพระเจ้าแม้แต่ในสภาพการณ์ที่ยากลำบาก และนำประโยชน์มากมายมาให้ในที่สุด. โยบได้ปฏิเสธที่จะละทิ้งความซื่อสัตย์มั่นคงของท่าน และพระยะโฮวา “ทรงอวยพรชีวิตบั้นปลายของโยบให้รุ่งเรืองยิ่งกว่าชีวิตในบั้นต้นของท่าน.” (โยบ 42:12) คนเหล่านั้นที่ประพฤติอย่างไม่ซื่อสัตย์อาจรู้สึกว่าพวกเขากำลังได้ดีจากความเสียหายของคนอื่นและอาจดูเหมือนว่าเจริญรุ่งเรืองอยู่ชั่วระยะหนึ่งด้วยซ้ำ. แต่ในที่สุดความเจ้าเล่ห์เพทุบายของพวกเขาจะทำลายตัวเขาเอง.
กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดกล่าวว่า “ทรัพย์สมบัติจะไม่เป็นประโยชน์ในวันพระพิโรธ; แต่ความชอบธรรมจะช่วยให้พ้นจากความตาย.” (สุภาษิต 11:4) ช่างเป็นการโง่เขลาเพียงไรที่จะทำงานเยี่ยงทาสเพื่อทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุแต่กลับละเลยการศึกษาส่วนตัว, การอธิษฐาน, การเข้าร่วมประชุม, และการประกาศ ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ความรักของเราต่อพระเจ้าลึกซึ้งยิ่งขึ้นและเสริมความเลื่อมใสที่เรามีต่อพระองค์ให้แรงกล้าขึ้น! ความมั่งคั่ง ไม่ว่าจะมากมายเพียงไรก็ไม่สามารถนำมาซึ่งความรอดผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่ที่กำลังจะมาถึงได้. (มัดธาย 24:21) เฉพาะแต่ความชอบธรรมของผู้ซื่อตรงเท่านั้นที่จะช่วยให้รอดได้. (วิวรณ์ 7:9, 14) ดังนั้น เป็นการฉลาดที่เราจะเอาใจใส่คำวิงวอนของซะฟันยาที่ว่า “ก่อนที่วันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวามาถึงเจ้า จงแสวงหาพระยะโฮวา เจ้าผู้มีใจอ่อนน้อมทั้งปวงบนแผ่นดินโลก ผู้ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของพระองค์เอง. จงแสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความอ่อนน้อม.” (ซะฟันยา 2:2, 3, ล.ม.) ขณะเดียวกัน ขอให้เราตั้งเป้าหมายที่จะ ‘ถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ของเรา.’—สุภาษิต 3:9.
โดยเน้นต่อไปอีกถึงคุณค่าของการติดตามความชอบธรรม ซะโลโมเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผลของคนปราศจากตำหนิกับผลของคนชั่ว ท่านกล่าวว่า “ความชอบธรรมของคนดีรอบคอบ [“คนปราศจากตำหนิ,” ล.ม.] ย่อมปราบทางของเขาให้ตรง; แต่คนชั่วจะล้มลงเพราะความชั่วของเขาเอง. ความชอบธรรมของคนตรงจะช่วยเขาให้พ้น; แต่คนเจ้าเล่ห์ทั้งหลายจะติดกับเพราะความชั่วของตน. เมื่อคนชั่วตายแล้ว, ความมุ่งหวังของเขาจะตายไปด้วย; คือความหวังของคนอสัตย์อธรรมก็จะพินาศไป. ผู้ชอบธรรมย่อมรอดพ้นจากความยากลำบาก; และคนชั่วก็มารับทุกข์แทนเขา.” (สุภาษิต 11:5-8) คนที่ปราศจากตำหนิจะไม่ล้มพลาดในทางของตน ทั้งจะไม่ติดกับแห่งการกระทำของตนเอง. ทางของเขานั้นเที่ยงตรง. ในที่สุดแล้ว คนซื่อตรงจะได้รับการช่วยให้พ้นจากความทุกข์เดือดร้อน. คนชั่วอาจดูเหมือนมีอำนาจ แต่จะไม่มีการช่วยให้รอดสำหรับเขาในอนาคต.
“บ้านเมืองก็เปรมปรีดิ์”
ความซื่อสัตย์มั่นคงของคนซื่อตรงและความชั่วร้ายของคนกระทำชั่วนั้นส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ เช่นกัน. กษัตริย์แห่งอิสราเอลกล่าวว่า “คนไร้พระเจ้าทำลายเพื่อนบ้านของเขาด้วยปาก แต่คนชอบธรรมได้รับการช่วยให้พ้นด้วยอาศัยความรู้.” (สุภาษิต 11:9, ฉบับแปลใหม่) ใครเลยจะปฏิเสธได้ว่าการให้ร้าย, การนินทาที่มุ่งร้าย, การพูดเรื่องลามก, และการพูดจาไร้สาระไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเสียหาย? ในทางตรงกันข้าม คำพูดของคนชอบธรรมนั้นบริสุทธิ์สะอาด, ใคร่ครวญอย่างดี, และคำนึงถึงผู้อื่น. เนื่องด้วยความรู้ เขาจึงได้รับการช่วยให้รอดพ้น เพราะความซื่อสัตย์มั่นคงทำให้เขามีหลักฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อจะแสดงว่าผู้ที่กล่าวหาเขานั้นพูดเท็จ.
กษัตริย์ซะโลโมตรัสต่อไปว่า “เมื่อคนชอบธรรมอยู่เย็นเป็นสุขบ้านเมืองก็เปรมปรีดิ์ และเมื่อคนชั่วร้ายพินาศก็มีเสียงโห่ร้องด้วยความยินดี.” (สุภาษิต 11:10, ฉบับแปลใหม่) ตามปกติแล้ว คนชอบธรรมมักเป็นที่รักของผู้อื่นและพวกเขาทำให้เพื่อนบ้านของตนเปรมปรีดิ์ คือมีความสุขและชื่นชมยินดี. ไม่มีใครจะชอบ “คนชั่วร้าย” จริง ๆ. เมื่อคนชั่วตายไป คนทั่วไปมักจะไม่ทุกข์โศกถึงเขา. แน่นอนว่า จะไม่มีความโศกเศร้าเมื่อพระยะโฮวาจะ ‘ตัดขาดคนชั่วจากแผ่นดินโลกและกระชากคนทรยศไปจากแผ่นดิน.’ (สุภาษิต 2:21, 22, ล.ม.) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จะมีความชื่นชมยินดีเพราะคนเหล่านี้จะไม่มีอีกต่อไป. แต่จะว่าอย่างไรสำหรับพวกเรา? นับว่าดีที่จะพิจารณาดูว่าวิธีที่เราประพฤติตัวนั้นนำความยินดีมาสู่ผู้อื่นหรือไม่.
“บ้านเมืองก็จำเริญขึ้น”
โดยเปรียบเทียบผลของคนดีรอบคอบกับคนชั่วที่มีต่อชุมชนต่อไปอีก ซะโลโมกล่าวว่า “โดยพรของคนตรงบ้านเมืองก็จำเริญขึ้น; แต่ปากของคนชั่วเป็นที่บ้านเมืองทรุดลง.”—สุภาษิต 11:11.
คนในชุมชนที่ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อตรงส่งเสริมสันติสุขและสวัสดิภาพ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนอื่นในชุมชนด้วย. ด้วยเหตุนี้ บ้านเมืองจึงจำเริญรุ่งเรืองขึ้น. คนเหล่านั้นที่พูดจาให้ร้าย, พูดให้ผู้อื่นเจ็บใจ, หรือพูดไม่ดีต่าง ๆ นานานั้นก่อให้เกิดความไม่สงบ, ไม่มีความสุข, เกิดการแตกแยก, และปัญหายุ่งยาก. นี่เป็นความจริงโดยเฉพาะหากคนเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งที่มีอิทธิพล. บ้านเมืองที่มีคนเช่นนี้ย่อมต้องประสบกับความวุ่นวาย, การฉ้อราษฎร์บังหลวง, และความเสื่อมทรุดทางศีลธรรมและอาจจะทางเศรษฐกิจด้วย.
หลักการที่กล่าวไว้ในสุภาษิต 11:11 ใช้ได้กับไพร่พลของพระยะโฮวาด้วยเนื่องจากพวกเขามีการคบหาสมาคมกันภายในประชาคมคริสเตียนซึ่งเป็นเสมือนชุมชนหนึ่ง. ประชาคมที่มีมนุษย์ฝ่ายวิญญาณ—คนซื่อตรงที่ได้รับการชี้นำโดยความซื่อสัตย์มั่นคง—เป็นอิทธิพลชักจูงในทางดีย่อมเป็นกลุ่มชนที่มีความสุข, มีชีวิตชีวา, และเป็นประโยชน์ ซึ่งนำพระเกียรติมาสู่พระเจ้า. พระยะโฮวาทรงอวยพระพรประชาคมเช่นนั้น และประชาคมจะเจริญรุ่งเรืองทางฝ่ายวิญญาณ. เป็นครั้งคราว บางคนที่แค้นเคืองหรือไม่พอใจซึ่งมักวิพากษ์วิจารณ์และพูดไม่ดีเกี่ยวกับวิธีจัดการกับเรื่องต่าง ๆ จะเป็นเหมือน “รากขมขื่น” ซึ่งอาจแผ่ออกไปและแพร่พิษร้ายทำลายคนอื่น ๆ ซึ่งตอนแรกไม่ได้รับผลกระทบ. (เฮ็บราย 12:15) คนเช่นนั้นมักต้องการมีอำนาจและมีชื่อเสียงมากขึ้น. พวกเขาปล่อยข่าวลือว่ามีความไม่ยุติธรรม, อคติทางเชื้อชาติ, หรืออะไร ๆ ทำนองนั้นเกิดขึ้นในประชาคมหรือในหมู่ผู้ปกครอง. ที่จริง ปากของคนเหล่านี้สามารถทำให้ประชาคมแตกแยกได้. เป็นการสมควรมิใช่หรือที่เราจะปิดหูของเราต่อคำพูดของพวกเขาและเพียรพยายามที่จะเป็นมนุษย์ฝ่ายวิญญาณผู้ซึ่งส่งเสริมสันติสุขและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในประชาคม?
ซะโลโมตรัสต่อไปดังนี้: “ผู้ที่บกพร่องด้านหัวใจก็ดูหมิ่นเพื่อนมนุษย์ แต่คนที่มีความสังเกตเข้าใจลึกซึ้งคือคนที่นิ่งเงียบอยู่. ผู้ที่เที่ยวพูดนินทาเปิดเผยเรื่องที่พูดคุยกันเป็นความลับ แต่ผู้ที่มีใจซื่อสัตย์ปกปิดเรื่องไว้.”—สุภาษิต 11:12, 13.
การที่ใครคนหนึ่งขาดความสังเกตเข้าใจหรือ “บกพร่องด้านหัวใจ” ย่อมก่อผลเสียมากเพียงไร! เขาพูดโดยไม่ยั้งคิดอยู่เรื่อยจนกลายเป็นการให้ร้ายหรือการว่าผู้อื่นอย่างเสีย ๆ หาย ๆ. ผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งควรยุติอิทธิพลที่ไม่ดีนี้โดยเร็ว. ไม่เหมือนกับ “ผู้ที่บกพร่องด้านหัวใจ” บุคคลที่มีความสังเกตเข้าใจรู้ว่าเมื่อไรที่เขาควรจะเงียบเสียง. แทนที่จะแพร่งพรายความลับ เขาจะปิดเรื่องนั้นไว้มิด. โดยรู้ว่าลิ้นที่ไม่ได้ควบคุมอาจก่อผลเสียมากมาย คนที่สังเกตเข้าใจจะมี “ใจซื่อสัตย์.” เขาภักดีต่อเพื่อนร่วมความเชื่อและไม่เปิดเผยเรื่องที่เป็นความลับซึ่งอาจทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตราย. คนที่รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงเช่นนั้นช่างเป็นพระพรสำหรับประชาคมสักเพียงไร!
เพื่อช่วยพวกเราให้ดำเนินในแนวทางของคนปราศจากตำหนิ พระยะโฮวาทรงประทานอาหารฝ่ายวิญญาณให้เราอย่างอุดม ซึ่งมีการจัดเตรียมภายใต้การชี้นำของ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) นอกจากนี้ เรายังได้รับการช่วยเหลือเป็นส่วนตัวหลายอย่างโดยทางคริสเตียนผู้ปกครองในประชาคมที่เป็นเสมือนชุมชนด้วย. (เอเฟโซ 4:11-13) เรารู้สึกขอบคุณอย่างแท้จริงสำหรับสิ่งเหล่านี้ เพราะ “ถ้าไม่มีการชี้นำอย่างชำนาญ ประชาชนก็ล้มลง; แต่มีความรอดเมื่อมีที่ปรึกษาจำนวนมาก.” (สุภาษิต 11:14, ล.ม.) ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะ ‘ประพฤติตามความสุจริต [“ความซื่อสัตย์มั่นคง,” ล.ม.] ของเรา.’—บทเพลงสรรเสริญ 26:1.
[คำโปรยหน้า 26]
ช่างเป็นการโง่เขลาที่จะทำงานเยี่ยงทาสเพื่อทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุแต่ละเลยกิจกรรมตามระบอบของพระเจ้า!
[ภาพหน้า 24]
โยบได้รับการชี้นำโดยความซื่อสัตย์มั่นคงของท่าน และพระยะโฮวาทรงอวยพรท่าน
[ภาพหน้า 25]
อุซาเสียชีวิตเพราะการทำเกินสิทธิ์