จงหว่านความชอบธรรม แล้วเกี่ยวเก็บความกรุณารักใคร่ของพระเจ้า
“คนใดที่รับประกันคนที่ตนไม่รู้จักนั้นย่อมจะได้รับความเจ็บใจ; แต่คนใดชังการรับประกันนั้นย่อมมีหลักมั่นคง.” (สุภาษิต 11:15) สุภาษิตที่รวบรัดนี้กล่าวไว้อย่างน่าเชื่อเพียงไรที่กระตุ้นการกระทำด้วยสำนึกถึงความรับผิดชอบ! เซ็นสัญญากู้ให้แก่ “คนที่ตนไม่รู้จัก” และเพิ่มปัญหายุ่งยากทางการเงิน. หลีกเลี่ยงการจับมือสัญญา อันเป็นท่าทางที่ใช้แทนการเซ็นชื่อตกลงกันในสมัยชาติอิสราเอลโบราณ และไม่เอาตัวเข้าไปติดกับดักในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ.
เห็นได้ชัดว่าความจริงพื้นฐานที่นำมาใช้ที่นี่คือ “คนใดหว่านอะไรลงก็จะเกี่ยวเก็บสิ่งนั้น.” (ฆะลาเตีย 6:7, ล.ม.) ผู้พยากรณ์โฮเซอาได้แถลงว่า “พึงหว่านความชอบธรรมให้แก่ตนเอง, จงพึงเกี่ยวเก็บผลแห่งความดี [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.].” (โฮเซอา 10:12) ใช่แล้ว จงหว่านความชอบธรรมโดยกระทำสิ่งต่าง ๆ ในทางของพระเจ้า และเกี่ยวเก็บความกรุณารักใคร่ของพระองค์. โดยการใช้หลักการนี้อยู่เนือง ๆ กษัตริย์ซะโลโมแห่งชาติอิสราเอลทรงสนับสนุนอย่างแข็งขันให้กระทำอย่างถูกต้อง, พูดซื่อตรง, และมีแนวโน้มทางความคิดหรือการกระทำที่เหมาะสม. แน่นอน การตรวจสอบถ้อยคำอันประกอบด้วยสติปัญญาของซะโลโมอย่างถี่ถ้วนย่อมจะกระตุ้นให้เราหว่านความชอบธรรมสำหรับตัวเองอย่างแท้จริง.—สุภาษิต 11:15-31.
หว่าน “อัธยาศัยดีงาม” แล้วจะได้รับ “เกียรติ”
กษัตริย์องค์ชาญฉลาดตรัสว่า “สตรีผู้มีอัธยาศัยดีงามย่อมได้รับเกียรติ. ฝ่ายชายหน้าเลือดย่อมได้แต่สินทรัพย์.” (สุภาษิต 11:16) ข้อนี้ชี้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างสตรีผู้มีอัธยาศัยดีงามซึ่งได้รับเกียรติยืนยงกับคนหน้าเลือดผู้ได้มาซึ่งสินทรัพย์มั่งคั่งเพียงชั่วครู่ชั่วยาม.
คนเราอาจทำประการใดเพื่อจะได้มาซึ่งอัธยาศัยดีงามจนได้รับเกียรติเช่นนั้น? ซะโลโมทรงแนะนำว่า “จงรักษาสติปัญญาที่ใช้ได้จริงและความสามารถในการคิด และสิ่งเหล่านี้จะเป็น . . . เครื่องประดับที่ลำคอของเจ้า.” (สุภาษิต 3:21, 22, ล.ม.) และผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้กล่าวถึง ‘เสน่ห์หลั่งลงบนริมฝีปากของกษัตริย์.’ (บทเพลงสรรเสริญ 45:1, 2, ล.ม.) ใช่แล้ว สติปัญญาที่ใช้ได้จริง, ความสามารถในการคิด, และการใช้ลิ้นอย่างถูกต้องล้วนมีส่วนต่อการเสริมคุณค่าและสร้างเสน่ห์แก่คนเรา. แน่นอน เรื่องนี้เป็นจริงกับหญิงที่สุขุมรอบคอบ. ตัวอย่างหนึ่งได้แก่อะบีฆายิลภรรยาของนาบาลชายโฉดชั่ว. นางเป็น “ผู้มีความรู้รอบคอบทั้งรูปร่างก็น่าดู” และกษัตริย์ดาวิดทรงยกย่องนางเนื่องด้วย “สติปัญญา” ของนาง.—1 ซามูเอล 25:3, 33.
สตรีผู้เลื่อมใสพระเจ้าซึ่งมีเสน่ห์อย่างแท้จริงจะได้รับเกียรติอย่างแน่นอน. คนอื่นจะพูดถึงเธอในทางที่ดี. ถ้าเธอแต่งงานแล้ว เธอจะเป็นที่ยกย่องชมเชยในสายตาสามี. อันที่จริง เธอจะนำเกียรติมาสู่ทั้งครอบครัว. และเกียรติที่เธอได้รับนั้นไม่ใช่เพียงชั่วคราว. “ชื่อเสียงดีเป็นสิ่งควรเลือกยิ่งกว่าความมั่งคั่งมากมาย และซึ่งเป็นที่โปรดปรานก็ดีกว่ามีเงินหรือทอง.” (สุภาษิต 22:1, ฉบับแปลใหม่) ชื่อเสียงดีที่เธอสร้างไว้กับพระเจ้ามีค่าถาวร.
สถานภาพนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับผู้กดขี่ หรือ “ชายหน้าเลือด.” (สุภาษิต 11:16) คนหน้าเลือดจัดอยู่ในจำพวกคนชั่วร้ายและเป็นปรปักษ์กับผู้ที่นมัสการพระยะโฮวา. (โยบ 6:23; 27:13) คนจำพวกนี้ ‘ไม่ยกพระเจ้าไว้ตรงหน้าเขาเลย.’ (บทเพลงสรรเสริญ 54:3) โดยการบีบบังคับและฉกฉวยประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัวจากคนซื่อ คนจำพวกนี้อาจจะ “กอบโกยเอาเงินไว้มากอย่างผงคลีดิน.” (โยบ 27:16, ฉบับแปลใหม่) กระนั้น ไม่เวลาใดเวลาหนึ่ง เขาอาจล้มตัวลงนอนและไม่ลุกขึ้นอีกเลย และวันที่เขาลืมตาตื่นขึ้นมา วันนั้นอาจเป็นวาระสุดท้ายของเขา. (โยบ 27:19) ในตอนนั้น ทรัพย์สินเงินทองทุกอย่างของเขาและความสำเร็จทั้งมวลจะไร้ค่า.—ลูกา 12:16-21.
สุภาษิต 11:16 สอนบทเรียนสำคัญอะไรเช่นนั้น! โดยการจัดฉากอย่างรวบรัดให้เรามองเห็นผลซึ่งผู้มีอัธยาศัยดีงามและผู้กดขี่จะเกี่ยวเก็บ กษัตริย์ชาติอิสราเอลทรงสนับสนุนพวกเราให้หว่านความชอบธรรม.
“ความกรุณารักใคร่” นำมาซึ่งรางวัล
บทเรียนสอนใจอีกข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องมนุษยสัมพันธ์ ซะโลโมตรัสดังนี้: “ชายที่มีความกรุณารักใคร่ปฏิบัติอย่างที่เป็นประโยชน์กับจิตวิญญาณของตนเอง แต่บุคคลที่โหดร้ายนำความน่ารังเกียจสู่กายของตนเอง.” (สุภาษิต 11:17, ล.ม.) ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งพูดว่า “สาระสำคัญของสุภาษิตข้อนี้คือการประพฤติของเราต่อผู้อื่น ไม่ว่าประพฤติดีหรือเลว มีผลสนองอย่างที่ไม่ตั้งใจเอาไว้หรือไม่ได้คาดหมาย.” ขอพิจารณากรณีของสตรีสาวคนหนึ่งชื่อลิซา.a แม้มีความมุ่งมั่นที่ดี ทว่าเธอมักจะผิดนัด ไม่ทันเวลาอยู่เสมอ. เป็นเรื่องปกติสำหรับเธอที่จะมาช้าครึ่งชั่วโมงหรือสายกว่านั้นเมื่อมีการนัดหมายออกไปในงานเผยแพร่กับเพื่อนผู้ประกาศราชอาณาจักร. ลิซาไม่ได้ปฏิบัติอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง. เธอจะกล่าวโทษคนอื่นได้ไหมหากพวกเขาระอาที่ต้องเสียเวลาอันมีค่า และหลีกเลี่ยงการนัดหมายกับเธอครั้งต่อไป?
คนที่มุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อม—คนที่ตั้งมาตรฐานด้านความสำเร็จไว้สูงเกินไป—ยังก่อความทุกข์ให้ตัวเองอีกด้วย. โดยพยายามไม่ว่างเว้นจะทำให้ได้ตามเป้าซึ่งตนเองไม่อาจบรรลุ เขาพาตัวเองเข้าสู่สถานการณ์ที่ทำให้เกิดความอ่อนล้า, หมดแรง, และไม่สมหวัง. ในทางกลับกัน เมื่อเรามุ่งเป้าตามที่เป็นไปได้จริงและสมเหตุสมผล ตัวเราเองนั่นแหละจะประสบความพึงพอใจ. บางทีเราอาจเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ไม่ไวเหมือนคนอื่น. หรือการเจ็บป่วยและชราภาพอาจเป็นข้อจำกัดที่รั้งเราไว้. ขออย่าให้เราหงุดหงิดโทษตัวเองในเรื่องความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ แต่จงสำแดงความมีเหตุผลให้ปรากฏแจ้งต่อ ๆ ไปขณะที่รับมือกับข้อจำกัดต่าง ๆ. เรามีความสุขตราบที่ได้ “ทำสุดความสามารถ” ของเรา.—2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.; ฟิลิปปอย 4:5.
เมื่อให้คำชี้แจงละเอียดมากขึ้นที่ว่าคนชอบธรรมก่อประโยชน์ให้ตัวเองอย่างไร ขณะที่คนอำมหิตกลับนำความเจ็บปวดสู่ตัวเอง กษัตริย์องค์ชาญฉลาดแถลงดังนี้: “คนชั่วได้รับผลค่าจ้างเป็นสิ่งที่หลอกลวง; แต่ผู้ที่หว่านความชอบธรรมย่อมได้รับบำเหน็จยั่งยืน. บุคคลผู้แน่แน่วในความชอบธรรมจะได้ชีวิต; และบุคคลผู้ติดตามความชั่วย่อมทำให้เกิดความตายแก่ตนเอง. คนทั้งหลายที่มีใจหลงผิดเป็นที่สะอิดสะเอียนแก่พระยะโฮวา: แต่คนทั้งหลายที่ประพฤติรอบคอบเป็นที่ชื่นชมยินดีแก่พระองค์. จับมือขันต่อได้เทียวว่าคนบาปจะไม่ถูกลงโทษนั้นหามิได้; แต่พงศ์พันธุ์ของคนชอบธรรมจะมีผู้ช่วยให้รอดพ้น.”—สุภาษิต 11:18-21.
ข้อคัมภีร์เหล่านี้เน้นจุดหลักนี้ในหลาย ๆ ทางด้วยกัน คือ จงหว่านความชอบธรรมและเกี่ยวเก็บผลดีเป็นรางวัล. คนชั่วอาจอาศัยวิธีหลอกลวงหรือเล่นพนันโดยหวังจะได้บางสิ่งและไม่เสียอะไรเลย. เนื่องจากได้เงินดังกล่าวมาโดยไม่สุจริต เขาอาจประสบแต่ความผิดหวัง. คนทำงานด้วยความสุจริตซื่อตรงย่อมรับบำเหน็จยั่งยืน เพราะเขามีความปลอดภัย. คนประพฤติดีปราศจากตำหนิเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเห็นชอบ เขาอยู่ในเส้นทางจะได้ชีวิตนิรันดร์. แต่คนชั่วจะเป็นอย่างไร? แม้ว่า “จับมือขันต่อได้เทียว” เกี่ยวกับเรื่องการวางแผนร้าย คนชั่วจะหนีไม่พ้นการถูกลงโทษ. (สุภาษิต 2:21, 22) คำกระตุ้นเตือนที่ให้หว่านความชอบธรรมช่างดีสักเพียงไร!
ความงามที่แท้จริงเหมาะกับคนที่มีสติรอบคอบ
ซะโลโมทรงแถลงต่อดังนี้: “สตรีรูปงามแต่ปราศจากสติรอบคอบก็เหมือนกับแหวนทองอันประดับไว้ที่จมูกหมู.” (สุภาษิต 11:22) ห่วงจมูกเป็นเครื่องประดับที่นิยมแพร่หลายในสมัยพระคัมภีร์. ห่วงจมูกทองคำที่สอดประดับข้างจมูกผู้หญิงหรือสอดผ่านผนังระหว่างรูจมูกนั้นเป็นเครื่องประดับที่สังเกตเห็นได้ง่าย. ไม่เหมาะอย่างยิ่งหากเครื่องประดับอันงามวิจิตรจะไปอยู่ที่จมูกหมู! ทำนองเดียวกันนั้นอาจเป็นไปได้กับคนสวยเพียงรูปกายภายนอก แต่ขาด “สติรอบคอบ.” เครื่องประดับจึงไม่เหมาะกับคนประเภทดังกล่าวเอาเสียเลย ไม่ว่าเป็นชายหรือหญิง. ไม่เหมาะสมเลย ไม่ดึงดูดใจด้วยประการทั้งปวง.
จริงอยู่ เป็นเรื่องปกติที่เรากังวลว่าคนอื่นจะมองการปรากฏตัวของเราอย่างไร. แต่ไยจะต้องวิตกกังวลมากไปหรือไม่พอใจกับหน้าตาทรวดทรงองค์เอวของตัวเอง? เราไม่สามารถยับยั้งริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าของเราได้. และรูปลักษณ์ทางกายก็ใช่ว่าสำคัญที่สุด. ไม่จริงหรือที่ว่าคนที่เรานิยมชมชอบส่วนใหญ่มักมีรูปร่างหน้าตาค่อนข้างธรรมดา ๆ? ความสวยงามทางกายหาใช่เคล็ดนำสู่ความผาสุกไม่. สิ่งที่มีค่าและยั่งยืนแท้จริงคือความงามภายในอันได้แก่คุณลักษณะต่าง ๆ ที่สะท้อนคุณลักษณะของพระเจ้า. เช่นนั้นแล้ว ขอให้เรามีสติรอบคอบและปลูกฝังคุณลักษณะดังที่กล่าวมา.
“จิตวิญญาณที่ใจกว้างนั้นเองจะถูกทำให้อ้วนพี”
“ความอยากได้ของคนชอบธรรมนั้นล้วนแต่ดี” กษัตริย์ซะโลโมทรงแถลงไว้ “แต่ความหวังได้ของคนชั่วนั้นก็คือพระพิโรธ.” เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นอย่างไร ท่านตรัสเสริมดังนี้: “ยิ่งจ่ายทรัพย์ ๆ ก็ยิ่งทวีขึ้น; ยิ่งหวงทรัพย์ที่ควรจ่าย, ก็ยิ่งทำให้ทรัพย์หมดไปถึงขัดสน.”—สุภาษิต 11:23, 24.
ขณะที่เราจ่ายแจกไปมาก ซึ่งหมายถึงการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าให้คนอื่น แน่นอน เราได้ปรับปรุงความเข้าใจของตัวเองให้เฉียบแหลมยิ่งขึ้นว่า “อะไรเป็นความกว้าง, อะไรเป็นความยาว, อะไรเป็นความสูง, อะไรเป็นความลึก” แห่งพระคำของพระเจ้า. (เอเฟโซ 3:18) ฝ่ายคนที่ไม่ยอมใช้ความรู้ของตน น่ากลัวว่าความรู้ที่เขามีอยู่จะสูญไป. ใช่แล้ว “คนที่หว่านเล็กน้อยจะเกี่ยวเก็บเล็กน้อย, แต่คนที่หว่านมากจะเกี่ยวเก็บมาก.”—2 โกรินโธ 9:6.
กษัตริย์ตรัสต่อไปว่า “จิตวิญญาณที่ใจกว้างนั้นเองจะถูกทำให้อ้วนพี [เจริญรุ่งเรือง] และผู้ที่ให้น้ำผู้อื่นอย่างไม่อั้น ตนเองจะได้รับน้ำอย่างไม่อั้นเช่นกัน.” (สุภาษิต 11:25, ล.ม.) เมื่อเราใช้เวลาและทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างไม่อั้นเพื่อส่งเสริมการนมัสการแท้ พระยะโฮวาจะทรงพอพระทัยพวกเรา. (เฮ็บราย 13:15, 16) พระองค์จะทรง ‘เปิดบัญชรท้องฟ้าและเทพรให้เราจนเกินความต้องการ.’ (มาลาคี 3:10) ลองพิจารณาดูความเจริญรุ่งเรืองแห่งผู้รับใช้ของพระองค์ในทุกวันนี้ก็แล้วกัน!
เมื่อยกอีกตัวอย่างหนึ่งขึ้นมาเป็นการเปรียบเทียบความปรารถนาที่ต่างกันของคนชอบธรรมกับของคนชั่ว ซะโลโมตรัสว่า “ประชาชนแช่งบุคคลที่กักข้าว แต่พระพรอยู่บนศีรษะของผู้ที่ขายข้าว.” (สุภาษิต 11:26, ฉบับแปลใหม่) การกว้านซื้อสินค้าเกษตรกักตุนไว้ในช่วงราคาต่ำ และนำออกขายในยามที่ของขาดแคลนและราคาพุ่งสูงจะได้กำไรดี. ถึงแม้การมีกำไรบ้างอาจเนื่องด้วยได้ปล่อยสินค้าออกขายในปริมาณจำกัดและยังคงกักตุนไว้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ดูถูกเหยียดหยามคนแบบนั้น เพราะเป็นคนเห็นแก่ตัว. ในทางกลับกัน ผู้คนมักนิยมชมชอบบุคคลที่ละเว้นการทำกำไรให้ได้มาก ๆ โดยไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบในยามคับขัน.
เพื่อสนับสนุนให้เราปรารถนาแต่สิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมอยู่เรื่อยไป กษัตริย์ชาติอิสราเอลตรัสดังนี้: “บุคคลที่เพียรแสวงหาความดีย่อมแสวงหาความชอบ; แต่บุคคลผู้ค้นคว้าหาความบาป, ความชั่วบาปก็จะพลันมาสู่ตน. บุคคลผู้ไว้วางใจในทรัพย์สินของตนจะล้มคะมำลง; แต่คนชอบธรรมจะจำเริญวัฒนาดุจดังใบไม้อันเขียวสด.”—สุภาษิต 11:27, 28.
คนชอบธรรมย่อมได้รับความนิยมชมชื่น
เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำอันโง่เขลาก่อผลเลวร้าย กษัตริย์ซะโลโมทรงกล่าวว่า “บุคคลผู้นำความเดือดร้อนให้แก่ครัวเรือนของตัวเองจะได้รับลมเป็นมรดก.” (สุภาษิต 11:29ก) การกระทำผิดของอาคาน ‘นำความเดือดร้อนสู่ตัวเอง’ และตัวเขากับคนในครัวเรือนถูกหินขว้างให้ตาย. (ยะโฮซูอะบท 7) ปัจจุบันนี้ หัวหน้าครอบครัวคริสเตียนรวมทั้งคนในครัวเรือนอาจพัวพันกับการกระทำผิดซึ่งยังผลให้พวกเขาต้องถูกตัดสัมพันธ์จากประชาคมคริสเตียน. เมื่อหัวหน้าครอบครัวไม่ได้ปฏิบัติสอดคล้องกับข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้า และยินยอมให้การกระทำผิดร้ายแรงเกิดขึ้นภายในครอบครัว เขาจึงนำความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัวของตนเอง. บางทีทั้งเขาและคนอื่นด้วยในครอบครัวอาจถึงขั้นถูกตัดขาดจากสังคมคริสเตียนฐานกระทำผิดไม่กลับใจ. (1 โกรินโธ 5:11-13) และเขาจะได้อะไรเล่า? ได้แค่ลม ซึ่งก็หมายถึงสิ่งที่ไร้แก่นสารหรือไม่มีค่าอย่างแท้จริง.
ข้อคัมภีร์นี้บอกอีกว่า “คนโฉดเขลาจะเป็นทาสของคนมีปัญญา.” (สุภาษิต 11:29ข) เนื่องจากคนโฉดเขลาขาดสติปัญญาที่ใช้ได้จริง เขาจึงไม่อาจเป็นที่ไว้วางใจให้ทำงานซึ่งเรียกร้องความรับผิดชอบสูง. ยิ่งกว่านั้น การจัดการเรื่องส่วนตัวผิดพลาด อาจเป็นสาเหตุที่เขาตกอยู่ใต้พันธะผูกมัดบางประการกับคนอื่น. คนโฉดเขลาแบบนั้นอาจกลายเป็น “ทาสของคนมีปัญญา” ได้จริง ๆ. จึงเห็นได้ชัดว่าสำคัญเพียงใดที่เราพึงใช้การวินิจฉัยอันดีและสติปัญญาที่ใช้ได้จริงในการปฏิบัติทุกอย่างของเรา.
กษัตริย์องค์ชาญฉลาดรับรองเราว่า “ผลของคนชอบธรรมก็คือต้นไม้แห่งชีวิต; และบุคคลผู้มีปัญญาย่อมมีชัยแก่วิญญาณหลายดวง.” (สุภาษิต 11:30) เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างไร? โดยคำพูดและการกระทำ คนชอบธรรมให้อาหารบำรุงฝ่ายวิญญาณแก่คนอื่น. คนเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนให้รับใช้พระยะโฮวา แล้วในที่สุดพวกเขาอาจรับชีวิตซึ่งพระเจ้าทรงจัดให้.
“คนบาปจะได้รับโทษมากยิ่งกว่านั้น”
สุภาษิตหลายข้อที่กล่าวก่อนหน้านี้ช่างโน้มน้าวใจเสียนี่กระไรด้วยการกระตุ้นเตือนเราให้หว่านความชอบธรรม! ซะโลโมนำหลักการที่ว่า “คนใดหว่านอะไรลงก็จะเกี่ยวเก็บสิ่งนั้น” มาใช้อีกวิธีหนึ่งเมื่อทรงชี้แจงว่า “นี่แน่ะเมื่อคนชอบธรรมจะต้องรับโทษในโลกนี้แล้ว; คนชั่วและคนบาปจะได้รับโทษมากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด!”—สุภาษิต 11:31.
ถึงแม้คนชอบธรรมบากบั่นพยายามทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่บางครั้งเขาเพลี่ยงพล้ำ. (ท่านผู้ประกาศ 7:20) และเมื่อเขาผิดพลาด เขาจะได้ “รับโทษ” โดยการตีสอน. แต่จะเป็นอย่างไรสำหรับคนชั่วที่จงใจดำเนินในทางชั่วร้าย ทั้งไม่พยายามหวนกลับมาสู่แนวทางที่ถูกต้อง? เขาสมควรได้ “รับโทษ” มากยิ่งกว่านั้นมิใช่หรือ คือการลงโทษสถานหนัก? อัครสาวกเปโตรเขียนไว้ว่า “ถ้าคนชอบธรรมจะรอดด้วยความยากลำบาก คนที่ดูหมิ่นพระเจ้าและคนบาปจะปรากฏที่ไหนกัน?” (1 เปโตร 4:18, ล.ม.) ดังนั้น ให้เราตั้งใจแน่วแน่เสมอที่จะหว่านความชอบธรรมเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง.
[เชิงอรรถ]
a นี่เป็นชื่อสมมุติ.
[ภาพหน้า 28]
อะบีฆายิลได้รับ “เกียรติ” เนื่องด้วย “อัธยาศัยดีงาม”
[ภาพหน้า 30]
‘คนชั่วได้รับผลค่าจ้างเป็นสิ่งที่หลอกลวง แต่ผู้ชอบธรรมได้รับบำเหน็จยั่งยืน’
[ภาพหน้า 31]
‘หว่านมากก็เกี่ยวเก็บมาก’