พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมสุภาษิต
กษัตริย์ซะโลโมแห่งอิสราเอลโบราณ “ทรงแต่งคำสุภาษิตสามพันข้อ.” (1 กษัตริย์ 4:32) เราจะมีโอกาสอ่านสุภาษิตอันฉลาดสุขุมของท่านไหม? ใช่แล้ว. สุภาษิตมากมายหลายข้อของซะโลโมบันทึกอยู่ในพระธรรมสุภาษิตที่เขียนเสร็จประมาณปี 717 ก่อนสากลศักราช. มีเพียงสองบทสุดท้ายเท่านั้นที่เชื่อกันว่าคนอื่นเป็นผู้เขียน นั่นคือ อาฆูรบุตรชายของยาเฆและกษัตริย์ละมูเอล. อย่างไรก็ตาม บางคนเชื่อว่าละมูเอลเป็นอีกชื่อหนึ่งของซะโลโม.
สุภาษิตที่มีขึ้นโดยการดลใจถูกรวบรวมไว้ในพระธรรมสุภาษิตโดยมีจุดประสงค์สองต่อ นั่นคือ “เพื่อให้คนเรามีปัญญาและยอมรับการตีสอน.” (สุภาษิต 1:2, ล.ม.) สุภาษิตเหล่านี้จะช่วยให้เรามีสติปัญญา ซึ่งเป็นความสามารถที่จะเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างแจ่มชัดและนำความรู้ไปใช้เพื่อแก้ปัญหา. นอกจากนั้น โดยทางสุภาษิตเหล่านี้ เราได้รับการตีสอนหรือการฝึกอบรมทางศีลธรรมอีกด้วย. การเอาใจใส่และฟังคำแนะนำในพระธรรมสุภาษิตจะส่งผลกระทบต่อหัวใจของเรา ทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จ.—เฮ็บราย 4:12.
‘จงรับเอาพระปัญญา และยึดคำสั่งสอนไว้ให้มั่น’
ซะโลโมกล่าวว่า “ปัญญาร้องเสียงดังอยู่ที่ถนน.” (สุภาษิต 1:20, ฉบับแปลใหม่) เหตุใดเราควรฟังเสียงที่ดังและชัดเจนนี้? บท 2 กล่าวถึงผลประโยชน์มากมายของการได้มาซึ่งสติปัญญา. มีการพิจารณาวิธีที่จะมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาในบท 3. ต่อมาซะโลโมกล่าวว่า “พระปัญญาเป็นหลักเอก; เพราะฉะนั้นจงรับเอาพระปัญญาให้ได้; เออ, ให้สรรพสิ่งที่เจ้าหาได้นั้นให้มีความเข้าใจอยู่ด้วย, จงยึดคำสั่งสอนไว้ให้มั่น; อย่าปล่อยเสียเลย.”—สุภาษิต 4:7, 13.
อะไรจะช่วยเราต้านทานแนวทางที่ผิดศีลธรรมของโลก? พระธรรมสุภาษิตบท 5 ให้คำตอบว่า จงใช้ความสามารถในการคิดและมองออกว่าอะไรคือแนวทางที่ล่อลวงของโลก. จงพิจารณาผลเสียหายร้ายแรงของการกระทำผิดศีลธรรมด้วย. บทถัดมาเตือนเรื่องกิจปฏิบัติและทัศนะที่ส่งผลเสียต่อสัมพันธภาพระหว่างเรากับพระยะโฮวา. บท 7 เปิดโปงวิธีการของคนทำผิดศีลธรรมซึ่งเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ต่อเราอย่างยิ่ง. คุณค่าและความน่าดึงดูดใจของสติปัญญาถูกกล่าวถึงอย่างน่าประทับใจในบท 8. บท 9 เป็นการสรุปที่กระตุ้นใจสำหรับสุภาษิตต่าง ๆ ที่ได้พิจารณามาถึงบทนี้ โดยใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่น่าเร้าใจเพื่อกระตุ้นเราให้แสวงหาสติปัญญา.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:7; 9:10—ความยำเกรงพระยะโฮวาเป็น “บ่อเกิดแห่งความรู้” และเป็น “บ่อเกิดแห่งปัญญา” อย่างไร? หากไม่มีความยำเกรงพระยะโฮวาก็ไม่มีความรู้ เพราะพระองค์เป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่งและเป็นผู้ประพันธ์พระคัมภีร์. (โรม 1:20; 2 ติโมเธียว 3:16, 17) พระองค์เป็นแหล่งแห่งความรู้แท้ทั้งมวล. ฉะนั้น ความรู้เกิดจากความเคารพยำเกรงพระยะโฮวา. ความเกรงกลัวพระเจ้ายังเป็นบ่อเกิดแห่งสติปัญญาด้วยเพราะถ้าไม่มีความรู้ก็ไม่มีสติปัญญา. ยิ่งกว่านั้น คนที่ไม่ยำเกรงพระยะโฮวาก็จะไม่ใช้ความรู้ใด ๆ ที่มีเพื่อถวายเกียรติแด่พระผู้สร้าง.
5:3—เหตุใดโสเภณีจึงถูกเรียกว่า “หญิงชั่ว [“หญิงแปลกหน้า,” ล.ม.]”? สุภาษิต 2:16, 17 พรรณนาว่า “หญิงชั่ว [“หญิงแปลกหน้า,” ล.ม.]” คือคนที่ “ลืมคำมั่นสัญญาต่อพระเจ้าของเขา.” ใครก็ตามที่นมัสการพระเท็จหรือเลือกที่จะละเลยพระบัญญัติของโมเซ ซึ่งรวมถึงโสเภณี ถูกเรียกว่าคนแปลกหน้า.—ยิระมะยา 2:25; 3:13.
7:1, 2—อะไรถูกนับรวมอยู่ใน “คำของเรา” และ “บัญญัติของเรา”? นอกจากคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลแล้ว ยังมีกฎหรือข้อบังคับในครอบครัวที่บิดามารดาเป็นผู้กำหนดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัว. เยาวชนต้องยอมรับกฎเหล่านี้รวมทั้งคำสอนจากพระคัมภีร์ที่ได้รับจากบิดามารดาของตน.
8:30—“ลูกมือ [“นายช่าง,” ฉบับแปลใหม่] คือใคร? พระปัญญาซึ่งเป็นประหนึ่งบุคคลเรียกตัวเองว่านายช่าง. นอกจากจะมีการใช้ในความหมายตามตัวอักษรเพื่ออธิบายว่าพระปัญญาเป็นอย่างไรแล้ว พระปัญญาซึ่งเป็นประหนึ่งบุคคลนี้ยังมีความหมายเป็นนัยถึงพระเยซูคริสต์พระบุตรหัวปีของพระเจ้าก่อนจะบังเกิดเป็นมนุษย์. เป็นเวลานานก่อนที่พระองค์จะบังเกิดเป็นมนุษย์บนแผ่นดินโลก พระองค์ ‘ถูกสร้างเป็นปฐมแห่งทางการ.’ (สุภาษิต 8:22) ฐานะ “นายช่าง” พระองค์ทำงานอย่างแข็งขันกับพระบิดาของพระองค์ในการสร้างสิ่งทั้งปวง.—โกโลซาย 1:15-17.
9:17, ฉบับแปลใหม่—“น้ำที่ขโมยมา” คืออะไร และเหตุใดจึง “หวาน”? เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลเปรียบความเพลิดเพลินของเพศสัมพันธ์ในสายสมรสเหมือนการดื่มน้ำที่สดชื่นจากบ่อน้ำ น้ำที่ขโมยมาจึงเปรียบได้กับการลักลอบทำผิดศีลธรรมทางเพศ. (สุภาษิต 5:15-17) ความคิดที่ว่าการทำเช่นนั้นคงไม่มีใครจับได้ทำให้น้ำดังกล่าวดูเหมือนหวานสำหรับเขา.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:10-14. เราควรระวังการถูกชักนำให้เข้าสู่แนวทางชั่วของคนบาปโดยคำสัญญาของพวกเขาที่ว่าจะร่ำรวย.
3:3. เราควรถือว่าความกรุณารักใคร่และความจริงมีค่าสูงยิ่งและควรแสดงคุณลักษณะนั้นอย่างเปิดเผยประหนึ่งสวมสร้อยคอที่ล้ำค่า. นอกจากนั้น เราต้องจารึกคุณลักษณะเหล่านี้ไว้ในหัวใจของเรา ให้เป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา.
4:18. ความรู้ฝ่ายวิญญาณเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้น. เพื่อจะอยู่ในความสว่างต่อไป เราต้องแสดงความถ่อมใจและความอ่อนน้อมเรื่อยไป.
5:8. เราควรหลีกหนีให้ไกลจากอิทธิพลของการผิดศีลธรรมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะผ่านทางเพลง, สื่อบันเทิง, อินเทอร์เน็ต, หรือหนังสือและนิตยสาร.
5:21. ผู้ที่รักพระยะโฮวาจะยอมแลกสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าเที่ยงแท้กับความสนุกแค่ชั่วคราวไหม? ไม่อย่างแน่นอน! แรงกระตุ้นที่เข้มแข็งที่สุดที่จะรักษาความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมก็คือการตระหนักว่าพระยะโฮวาเห็นแนวทางของเราและทรงถือว่าเราต้องรับผิดชอบ.
6:1-5. ข้อเหล่านี้ช่างเป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับเราจริง ๆ ที่จะไม่เป็น “นายประกัน” หรือทำข้อตกลงทางการเงินที่ไม่สุขุม! ถ้าได้ตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วว่าสิ่งที่เราทำไปแล้วดูเหมือนไม่สุขุม เราไม่ควรรอช้าที่จะ ‘วิงวอนขอต่อเพื่อนบ้านของเรา’ อย่างไม่ละลดและทำทุกสิ่งที่เราทำได้เพื่อแก้ไข.
6:16-19. ทั้งเจ็ดอย่างในที่นี้เป็นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดแทบจะทุกรูปแบบ. เราควรพัฒนาความเกลียดชังต่อสิ่งเหล่านี้.
6:20-24. การถูกอบรมด้วยพระคัมภีร์ตั้งแต่เด็กอาจจะป้องกันคนเราไว้จากการตกเข้าสู่หลุมพรางของการทำผิดศีลธรรมทางเพศ. บิดามารดาไม่ควรละเลยที่จะให้การอบรมเช่นนั้นแก่ลูก ๆ.
7:4. เราควรพัฒนาความรักต่อสติปัญญาและความเข้าใจ.
สุภาษิตเพื่อนำทางเรา
สุภาษิตที่เหลือของซะโลโมเป็นสุภาษิตที่สั้นกระชับและเป็นข้อ ๆ ไปไม่ต่อเนื่องกัน. สุภาษิตเหล่านี้ถ่ายทอดบทเรียนที่ทรงพลังเกี่ยวกับความประพฤติ, คำพูด, และทัศนคติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในรูปการกล่าวถึงสิ่งที่ตรงข้ามกัน, คล้ายคลึงกัน, และการเปรียบเทียบกัน.
บท 10 จนถึงบท 24 เน้นคุณค่าของความยำเกรงพระยะโฮวา. สุภาษิตบท 25 จนถึงบท 29 คัดลอกโดย “พวกอาลักษณ์ของท่านฮิศคียากษัตริย์แผ่นดินยะฮูดา.” (สุภาษิต 25:1) สุภาษิตเหล่านี้สอนให้หมายพึ่งพระยะโฮวาและให้บทเรียนที่สำคัญอื่น ๆ ด้วย.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
10:6 (ล.ม.)—“ปากของคนชั่วปกปิดความรุนแรง” อย่างไร? อาจจะเป็นเช่นนั้นในความหมายที่ว่าคนชั่วใช้คำพูดอ่อนหวานเพื่อปกปิดเจตนาที่จะทำร้ายคนอื่น. หรืออาจหมายความว่า เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วคนอื่นปฏิบัติต่อคนชั่วด้วยความเกลียดชัง ความเป็นปรปักษ์ที่ได้รับจากคนอื่นจึงทำให้พวกเขาเงียบลง.
10:10—“บุคคลผู้ขยิบหูขยิบตา” เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อย่างไร? “คนไร้ค่า” อาจไม่เพียงแต่ใช้ “วาจาคดเคี้ยว” แต่เขาอาจพยายามซ่อนเจตนาของตนโดยสีหน้าท่าทางด้วย เช่น “ตาของเขาก็ขยิบ.” (สุภาษิต 6:12, 13, ฉบับแปลใหม่) การหลอกลวงในลักษณะนี้อาจเป็นเหตุให้ผู้ตกเป็นเหยื่อปวดร้าวใจ.
10:29—“ทางของพระยะโฮวา” หมายถึงอะไร? นี่หมายถึงแนวทางของพระยะโฮวาที่ทรงปฏิบัติต่อมนุษยชาติ และไม่ได้หมายถึงทางแห่งชีวิตที่เราควรดำเนิน. การปฏิบัติของพระเจ้าต่อมนุษย์หมายถึงความปลอดภัยสำหรับคนที่ปราศจากความผิด แต่หมายถึงความพินาศสำหรับคนชั่ว.
11:31—เหตุใดคนชั่วควรได้รับโทษมากยิ่งกว่าคนชอบธรรม? คำว่าโทษที่ใช้ในที่นี้เกี่ยวข้องกับระดับการลงโทษ. เมื่อคนชอบธรรมทำผิดพลาด เขาจะได้รับโทษคือการตีสอน. คนชั่วเจตนาทำบาปและปฏิเสธที่จะหันไปทำสิ่งดี. ด้วยเหตุนั้น เขาจึงสมควรถูกลงโทษอย่างหนัก.
12:23, (ฉบับแปลใหม่)—คนเราจะ “เก็บความรู้ไว้” ในทางใด? การเก็บความรู้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เปิดเผยความรู้เลย. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น นี่หมายถึงการแสดงความรู้อย่างสุขุม ไม่ใช่การแสดงความรู้โดยการโอ้อวด.
14:17 (ล.ม.)—“ชายที่รู้จักคิดถูกเกลียดชัง” ในแง่ใด? คำภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “รู้จักคิด” อาจหมายถึงการมีความหยั่งรู้เข้าใจหรือไม่ก็หมายถึงการคิดมุ่งร้ายก็ได้. ชายที่มีความคิดชั่วร้ายย่อมถูกเกลียดชังแน่ ๆ. แต่ถ้าชายที่มีความหยั่งรู้เข้าใจถูกเกลียดชังก็เนื่องจากเขารู้จักคิดและเลือกที่จะ ‘ไม่อยู่ฝ่ายโลก.’—โยฮัน 15:19.
18:19 (ล.ม.)—“พี่น้องที่ถูกล่วงละเมิดก็แข็งยิ่งกว่าเมืองที่แข็งแรง” อย่างไร? เช่นเดียวกับเมืองแข็งแรงที่ถูกปิดล้อม คนเช่นนั้นก็อาจปฏิเสธอย่างเด็ดขาดที่จะยอมอ่อนข้อ. ง่ายเหลือเกินที่ความขัดแย้งระหว่างเขากับคนที่ล่วงละเมิดจะกลายเป็นที่ขวางกั้นดังเช่น “ดาลประตูป้อม.”
บทเรียนสำหรับเรา:
10:11-14. เพื่อที่คำพูดของเราจะเป็นการเสริมสร้าง เราควรบรรจุจิตใจของเราด้วยความรู้ถ่องแท้, หัวใจของเราควรถูกกระตุ้นด้วยความรัก, และสติปัญญาควรควบคุมคำพูดของเรา.
10:19; 12:18; 13:3; 15:28; 17:28. เราควรคิดก่อนพูดและไม่พูดมากเกินไป.
11:1; 16:11; 20:10, 23. พระยะโฮวาประสงค์ให้เราเป็นคนซื่อสัตย์ในการทำธุรกิจ.
11:4. นับเป็นเรื่องโง่เขลาที่จะติดตามความมั่งคั่งฝ่ายวัตถุและละเลยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว, การเข้าร่วมประชุม, การอธิษฐาน, และการประกาศ.
13:4. เพียงแค่ “อยากได้” หน้าที่รับผิดชอบในประชาคมหรือชีวิตในโลกใหม่นั้นยังไม่พอ. เราต้องขยันขันแข็งและทุ่มเทความพยายามเพื่อจะบรรลุข้อเรียกร้องด้วย.
13:24; 29:15, 21. บิดามารดาที่เปี่ยมด้วยความรักไม่ตามใจบุตรหรือมองข้ามความผิดของเขา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น บิดาหรือมารดาควรแก้ไขเพื่อขจัดข้อบกพร่องนั้นก่อนที่จะฝังรากลึก.
14:10. เนื่องจากเราไม่อาจเผยความรู้สึกส่วนลึกแก่คนอื่นได้ทุกครั้งและคนที่เห็นเราอาจไม่เข้าใจเราเสมอไป การปลอบโยนของคนอื่นจึงทำได้จำกัด. เราอาจต้องอดทนต่อความยากลำบากบางอย่างโดยวางใจในพระยะโฮวาแต่ผู้เดียว.
15:7. เราไม่ควรเล่าทุกสิ่งที่เรารู้ให้คนอื่นฟังในคราวเดียว เช่นเดียวกับที่ชาวนาจะไม่หว่านเมล็ดลงที่จุดเดียว. คนฉลาดจะแพร่ความรู้ของตนทีละน้อยตามที่จำเป็น.
15:15; 18:14. การรักษาทัศนคติในแง่บวกจะช่วยเราพบความยินดี แม้อยู่ในสภาพการณ์ที่ทุกข์ยากลำบาก.
17:24. ต่างจาก “คนโฉด” ที่ดวงตาและจิตใจของเขามองส่ายไปทั่วแทนที่จะจดจ่ออยู่กับเรื่องที่สำคัญ เราควรแสวงหาความเข้าใจเพื่อจะประพฤติอย่างมีสติปัญญา.
23:6-8. เราควรหลีกเลี่ยงการเสแสร้งว่ามีน้ำใจรับรองแขก.
27:21. คำสรรเสริญเยินยออาจเผยให้รู้ว่าเราเป็นคนเช่นไร. หากคำสรรเสริญนั้นกระตุ้นเราให้ยอมรับว่าเราเป็นหนี้พระยะโฮวาและสนับสนุนเราให้รับใช้พระองค์ต่อไปก็แสดงว่าเราเป็นคนถ่อมใจ. เมื่อคำสรรเสริญเยินยอทำให้เรารู้สึกว่าเหนือกว่าคนอื่น นั่นอาจเผยให้เห็นว่าเราขาดความถ่อมใจ.
27:23-27. โดยใช้ตัวอย่างเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ สุภาษิตเหล่านี้เน้นคุณค่าของการแสวงหาความอิ่มใจพอใจในชีวิตแบบเรียบง่ายซึ่งเป็นผลจากการทำงานอย่างขยันขันแข็ง. สุภาษิตเหล่านี้น่าจะกระทบใจเราเป็นพิเศษให้เห็นความจำเป็นที่ต้องพึ่งพระเจ้า.a
28:5. หากเรา “แสวงหาพระยะโฮวา” โดยการอธิษฐานและศึกษาพระคำของพระองค์ เราจะ “เข้าใจได้ทุกประการ” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรับใช้พระองค์อย่างที่ยอมรับได้.
“ข้อความหนักใจ”
พระธรรมสุภาษิตลงท้ายด้วย “ข้อความหนักใจ” สองครั้ง. (สุภาษิต 30:1; 31:1) โดยใช้การเปรียบเทียบที่กระตุ้นความคิด ข่าวสารของอาฆูรแสดงให้เห็นความโลภที่ไม่รู้จักพอและวิถีทางที่ชายหนุ่มโน้มน้าวใจหญิงสาวนั้นช่างดูออกยากสักเพียงไร.b ทั้งยังเตือนเรื่องการยกย่องตัวเองและการพูดด้วยความโกรธ.
ข้อความหนักใจที่ละมูเอลได้รับจากมารดาของท่านเป็นคำแนะนำที่ดีในเรื่องการดื่มเหล้าองุ่นและเครื่องดื่มที่ทำให้เมารวมทั้งเรื่องการพิพากษาด้วยความชอบธรรม. คำพรรณนาเรื่องภรรยาที่ดีจบลงด้วยถ้อยคำที่ว่า “จงให้เกียรติยศแก่นางสมกับเกียรติยศของเขา; และให้การงานของนางเป็นที่สรรเสริญ.”—สุภาษิต 31:31.
สุภาษิตที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งสอนเรื่องการรับเอาสติปัญญา, การยอมรับการตีสอน, การปลูกฝังความยำเกรงพระเจ้า, การวางใจในพระยะโฮวา ให้บทเรียนอันมีค่าสักเพียงไร! ด้วยเหตุนั้น ให้เรานำคำแนะนำในสุภาษิตเหล่านี้ไปใช้และได้รับความสุขจากการเป็น “ผู้ที่เกรงกลัวพระยะโฮวา.”—บทเพลงสรรเสริญ 112:1.
[เชิงอรรถ]
[ภาพหน้า 16]
พระยะโฮวาเป็นแหล่งแห่งความรู้แท้ทั้งมวล
[ภาพหน้า 18]
‘การแพร่ความรู้’ หมายความเช่นไร?