“ริมฝีปากที่กล่าวคำจริงจะตั้งมั่นคงถาวร”
เช่นเดียวกับที่เปลวไฟน้อยนิดสามารถลุกไหม้และเผาผลาญป่าทั้งสิ้น สิ่งนี้ก็สามารถก่อผลเสียหายแก่ชีวิตทั้งสิ้นของคนเราเช่นกัน. มันอาจเต็มไปด้วยพิษร้าย แต่ก็อาจเป็น “ต้นไม้แห่งชีวิต” ได้เช่นกัน. (สุภาษิต 15:4) ชีวิตกับความตายอยู่ในอำนาจของมัน. (สุภาษิต 18:21) สิ่งที่กล่าวมานี้คืออานุภาพของอวัยวะเล็ก ๆ—ลิ้นของเรา—ซึ่งสามารถทำให้ทั้งกายด่างพร้อยไป. (ยาโกโบ 3:5-9, ล.ม.) นับว่าสุขุมที่จะระวังการใช้ลิ้นของเรา.
ในส่วนที่สองของพระธรรมสุภาษิตบทที่ 12 กษัตริย์ซะโลโมแห่งอิสราเอลโบราณให้คำแนะนำอันทรงคุณค่าซึ่งจะช่วยให้เราระวังคำพูด. โดยทางสุภาษิตที่กระชับแต่เปี่ยมไปด้วยความหมาย กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดแสดงให้เห็นว่าคำพูดก่อผลติดตามมาและเปิดเผยอย่างมากเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้พูด. คำแนะนำของซะโลโมที่มีขึ้นโดยการดลใจนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคนที่ปรารถนาจะ ‘รักษาประตูปากของตนไว้.’—บทเพลงสรรเสริญ 141:3.
‘ความผิดที่เป็นกับดัก’
ซะโลโมกล่าวว่า “ความผิดอันเกิดจากริมฝีปากย่อมเป็นเครื่องดักสำหรับคนชั่ว; แต่คนชอบธรรมจะพ้นจากความยากลำบากได้.” (สุภาษิต 12:13) การพูดโกหกเป็นความผิดอันเกิดจากริมฝีปากซึ่งกลายเป็นกับดักที่ยังผลเป็นความตายแก่ผู้พูด. (วิวรณ์ 21:8) การโกหกอาจดูเหมือนเป็นทางออกที่ง่ายสำหรับหนีพ้นการลงโทษหรือเลี่ยงสถานการณ์ที่ไม่น่ายินดี. แต่บ่อยครั้ง การโกหกอย่างหนึ่งมักนำไปสู่การโกหกอื่น ๆ มิใช่หรือ? คนที่เริ่มเล่นการพนันด้วยเงินเพียงเล็กน้อยถูกดึงดูดเข้าไปสู่การเล่นพนันด้วยเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อพยายามจะได้เงินคืนฉันใด ในไม่ช้าคนที่โกหกก็จะพบว่าตัวเองเข้าไปติดอยู่ในกับดักของวงจรอุบาทว์ฉันนั้น.
ยิ่งกว่านั้น ความผิดอันเกิดจากริมฝีปากทำให้ติดกับดักเนื่องจากว่าคนที่โกหกคนอื่นนั้นในที่สุดก็อาจโกหกตัวเอง. เพื่อเป็นตัวอย่าง คนที่โกหกอาจหลอกตัวเองได้ง่ายว่าเขาเป็นคนรอบรู้อย่างมาก และฉลาดปราดเปรื่อง ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเขามีความรู้น้อยมาก. ด้วยเหตุนั้น เขาจึงเริ่มดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการโกหก. อันที่จริง “เขาป้อยอตนเองในสายตาของตนว่า ไม่มีผู้ใดพบและเกลียดชังความบาปผิดของเขา.” (บทเพลงสรรเสริญ 36:2, ฉบับแปลใหม่) การโกหกช่างเป็นบ่วงแร้วอะไรอย่างนั้น! ในทางตรงกันข้าม คนชอบธรรมจะไม่ทำให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ยุ่งยากดังกล่าว. แม้ว่าตกอยู่ในความยากลำบาก เขาจะไม่หันไปพึ่งการพูดโกหก.
‘ผลที่ทำให้อิ่มใจ’
อัครสาวกเปาโลเตือนว่า “อย่าหลงเลย จะหลอกพระเจ้าเล่นไม่ได้ เพราะว่า คนใดหว่านพืชอย่างใดลง, ก็จะเกี่ยวเก็บผลอย่างนั้น.” (ฆะลาเตีย 6:7) หลักการนี้นำมาใช้ได้กับคำพูดและการกระทำของเราอย่างแน่นอน. ซะโลโมกล่าวว่า “จากผลแห่งถ้อยคำของตนคนก็อิ่มใจในความดี และผลงานแห่งมือของเขาก็กลับมาหาเขา.”—สุภาษิต 12:14, ฉบับแปลใหม่.
ปากที่ “กล่าว . . . สติปัญญา” เกิดผลเป็นความอิ่มใจ. (บทเพลงสรรเสริญ 37:30) เพื่อจะมีสติปัญญาต้องมีความรู้ แต่ไม่มีมนุษย์คนใดเป็นคลังแห่งความรู้ทุกอย่าง. ทุกคนจำเป็นต้องฟังคำแนะนำที่ดีและปฏิบัติตาม. กษัตริย์อิสราเอลผู้นี้กล่าวว่า “ทางของคนโง่นั้นถูกต้องในสายตาของเขาเอง แต่ปราชญ์ย่อมฟังคำแนะนำ.”—สุภาษิต 12:15, ฉบับแปลใหม่.
พระยะโฮวาประทานคำแนะนำที่ดีแก่เราผ่านทางพระคำ และองค์การของพระองค์ โดยใช้สรรพหนังสือที่จัดเตรียมโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:16) ช่างเป็นการโฉดเขลาสักเพียงไรที่จะปฏิเสธคำแนะนำที่ดีและดึงดันที่จะทำตามวิถีทางของเราเอง! เราต้อง “ว่องไวในการฟัง” เมื่อพระยะโฮวา “ผู้ทรงสั่งสอนมนุษยชาติให้มีความรู้” แนะนำเราผ่านทางช่องทางสื่อสารของพระองค์.—ยาโกโบ 1:19; บทเพลงสรรเสริญ 94:10.
คนมีปัญญาและคนโฉดเขลาตอบสนองอย่างไรเมื่อถูกสบประมาทหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรม? ซะโลโมตอบดังนี้: “ความโกรธของคนโฉดเขลาก็ปรากฏแจ้งทันที, แต่คนที่มีปัญญาย่อมไม่เอาใจใส่เมื่อถูกประมาท.”—สุภาษิต 12:16.
เมื่อคนโฉดเขลาถูกสบประมาท เขาแสดงความโกรธออกมา “ทันที.” แต่คนที่ฉลาดสุขุมอธิษฐานขอพระวิญญาณของพระเจ้าเพื่อที่จะสำแดงการรู้จักบังคับตน. เขาใช้เวลาตรึกตรองคำแนะนำที่พบในพระคำของพระเจ้าและใคร่ครวญคำตรัสของพระเยซูด้วยความรู้สึกขอบคุณในข้อที่กล่าวว่า “ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน ให้หันแก้มซ้ายให้เขาด้วย.” (มัดธาย 5:39) เนื่องจากปรารถนาจะไม่ “ทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” คนมีปัญญาเหนี่ยวรั้งริมฝีปากไว้ไม่ให้พูดโดยไม่ไตร่ตรอง. (โรม 12:17) ถ้าเราไม่ใส่ใจในทำนองเดียวกันนั้นเมื่อถูกสบประมาท เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้งมากไปกว่านั้น.
‘ลิ้นที่ให้การรักษา’
ความผิดอันเกิดจากริมฝีปากสร้างความเสียหายได้อย่างมากในกระบวนการพิจารณาคดี. กษัตริย์อิสราเอลผู้นี้กล่าวว่า “บุคคลผู้กล่าวความจริงย่อมสำแดงความชอบธรรมให้ประจักษ์; แต่พยานเท็จนั้นย่อมสำแดงการล่อลวงออกมา.” (สุภาษิต 12:17) พยานสัตย์จริงกล่าวแต่ความจริงเนื่องจากคำพยานของเขาเชื่อถือได้และไว้วางใจได้. คำให้การของเขาส่งเสริมให้เกิดความยุติธรรมในการดำเนินคดี. ในทางตรงกันข้าม พยานเท็จกล่าวแต่คำหลอกลวงและทำให้เกิดความผิดพลาดในการตัดสิน.
กษัตริย์ซะโลโมกล่าวต่อไปว่า “คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่; แต่ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.” (สุภาษิต 12:18) คำพูดอาจทิ่มแทงเหมือนกระบี่ โดยทำลายความสัมพันธ์และก่อปัญหา. หรือคำพูดอาจทำให้มีความพอใจยินดี และทะนุถนอมมิตรภาพ. การให้สมญาเชิงดูหมิ่น, การตะคอก, การตำหนิวิจารณ์อยู่ร่ำไป, และการใช้คำพูดหยาบหยาม เป็นการทิ่มแทงที่ก่อแผลลึกทางอารมณ์มิใช่หรือ? จะดีสักเพียงไรที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดใด ๆ ที่เราอาจทำไปในขอบเขตที่ว่ามานี้ด้วยคำขอโทษที่จริงใจซึ่งให้การเยียวยา!
ในสมัยยุ่งยากที่เรามีชีวิตอยู่นี้ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่หลายคน “หัวใจสลาย” และ “จิตใจชอกช้ำ.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:18, ล.ม.) เมื่อเรา “พูดปลอบโยนจิตวิญญาณที่หดหู่ใจ” และ “เกื้อหนุนคนที่อ่อนแอ” จริง ๆ แล้วเรากำลังนำเอาพลังของคำพูดในการเยียวยาไปใช้มิใช่หรือ? (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) ใช่แล้ว คำพูดที่แสดงความเห็นอกเห็นใจสามารถหนุนกำลังใจวัยรุ่นที่กำลังต่อสู้กับแรงกดดันจากคนรุ่นเดียวกันที่ก่อความเสียหาย. คำพูดที่แสดงการคำนึงถึงสามารถให้ความมั่นใจแก่ผู้สูงอายุว่าเขาเป็นที่ต้องการและเป็นที่รักของคนอื่น. คำพูดที่กรุณาสามารถทำให้โลกสดใสขึ้นสำหรับผู้ป่วยอย่างแน่นอน. แม้แต่การว่ากล่าวก็รับได้ง่ายขึ้นหากทำด้วย “ใจอ่อนสุภาพ.” (ฆะลาเตีย 6:1) และลิ้นของคนที่แบ่งปันข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าช่างมีพลังในการเยียวยาสักเพียงไรสำหรับคนเหล่านั้นที่รับฟัง!
‘ริมฝีปากที่ถาวร’
โดยใช้คำ “ริมฝีปาก” ให้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ลิ้น” ซะโลโมกล่าวว่า “ริมฝีปากที่กล่าวคำจริงจะตั้งมั่นคงถาวร, แต่ลิ้นมุสาจะคงอยู่ได้แต่ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น.” (สุภาษิต 12:19) ถ้อยคำที่ว่า “ริมฝีปากที่กล่าวคำจริง” ในภาษาฮีบรูอยู่ในรูปเอกพจน์และมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าเพียงคำพูดที่เป็นจริง. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “ถ้อยคำนี้แฝงความหมายของคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างเช่น ความคงทนถาวร, ความเป็นนิรันดร์, และความน่าเชื่อถือ. คำพูดที่มีลักษณะเช่นนี้จะยืนยง . . . ตลอดไป เนื่องจากจะพบว่าคำพูดนั้นวางใจได้ ซึ่งตรงข้ามกับลิ้นมุสา . . . ซึ่งอาจใช้หลอกได้ชั่วระยะหนึ่งแต่ไม่ทนการทดสอบ.”
กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดกล่าวว่า “การล่อลวงย่อมอยู่ในใจของเหล่าชนที่คิดทำการชั่วร้าย; แต่ความปลาบปลื้มยินดีย่อมมีแก่ผู้ให้คำหารือเพื่อสันติสุข.” ท่านกล่าวเสริมว่า “ภัยอันตรายใด ๆ จะเกิดแก่คนชอบธรรมก็หามิได้; แต่ความทุกข์ยากลำบากคงจะได้แก่คนชั่วร้ายเต็มขนาด.”—สุภาษิต 12:20, 21.
สิ่งที่ผู้คิดแผนการชั่วร้ายก่อให้เกิดขึ้นมีแต่ความปวดร้าวและระทมทุกข์. ในทางตรงข้าม ผู้ให้คำหารือเพื่อสันติสุขจะมีความพึงพอใจที่ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง. นอกจากนี้ พวกเขายังได้รับความยินดีเนื่องจากเห็นผลที่ดีอีกด้วย. ที่สำคัญที่สุด พวกเขาได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า เนื่องจาก “ริมฝีปากที่พูดมุสาเป็นที่สะอิดสะเอียนแก่พระยะโฮวา; แต่ผู้ที่ประพฤติสัตย์จริงเป็นที่ชื่นชมยินดีแด่พระองค์.”—สุภาษิต 12:22.
‘ริมฝีปากที่เก็บความรู้ไว้’
เพื่ออธิบายข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างคนที่ระวังคำพูดกับคนที่ไม่ระวัง กษัตริย์แห่งอิสราเอลกล่าวดังนี้: “คนที่หยั่งรู้ย่อมเก็บความรู้ไว้ แต่คนโง่ป่าวร้องความโง่ของตน.”—สุภาษิต 12:23, ฉบับแปลใหม่.
คนที่หยั่งรู้หรือฉลาดสุขุมรู้ว่าเมื่อไรควรพูดและเมื่อไรไม่ควรพูด. เขาเก็บความรู้ไว้โดยควบคุมตัวเองไม่ให้พูดอวดภูมิความรู้ของตน. นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาเก็บงำความรู้ไว้โดยไม่ยอมบอกใครเลย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขาสุขุมรอบคอบในการแสดงความรู้ของตน. ในทางตรงกันข้าม คนโง่จะรีบพูดและทำให้คนอื่นได้รู้ถึงความโง่ของตน. ดังนั้น ขอให้เราพูดแต่น้อยและยับยั้งลิ้นเราไว้จากการโอ้อวด.
เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างต่อไปอีก ซะโลโมชี้ถึงจุดที่น่าสนใจเกี่ยวกับความขยันและความขี้เกียจ. ท่านกล่าวว่า “มือของคนขยันจะได้ถือการปกครองไว้; แต่คนเกียจคร้านจะต้องเป็นคนรับใช้การงาน.” (สุภาษิต 12:24) คนที่ขยันจะเจริญและไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทางการเงิน ส่วนคนเกียจคร้านจำต้องทำงานที่ใช้แรงกายและรับใช้ผู้อื่น. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งให้คำอธิบายว่า “ในที่สุดแล้ว คนเกียจคร้านจะกลายเป็นทาสของคนขยัน.”
‘ถ้อยคำที่ทำให้หัวใจชื่นชม’
กษัตริย์ซะโลโมกลับไปให้ข้อคิดต่อในเรื่องถ้อยคำที่ได้จากการเฝ้าสังเกตธรรมชาติของมนุษย์. “ความกระวนกระวายในหัวใจคนจะทำให้หัวใจท้อแท้ แต่ถ้อยคำที่ดีจะทำให้หัวใจชื่นชม.”—สุภาษิต 12:25, ล.ม.
ความกระวนกระวายและความวิตกกังวลหลายอย่างอาจทำให้หัวใจห่อเหี่ยว. สิ่งที่จำเป็นเพื่อจะบรรเทาและทำให้หัวใจชื่นบานก็คือถ้อยคำที่ดีซึ่งให้กำลังใจจากคนที่มีความเข้าใจ. แต่คนอื่นจะรู้ถึงความว้าวุ่นใจของเราว่ามีมากแค่ไหนได้อย่างไรถ้าเราไม่เผยความรู้สึกหรือพูดออกมา? ถูกแล้ว เมื่อเรามีความทุกข์กังวลหรือซึมเศร้า เราจำเป็นต้องเผยความในใจกับคนที่สามารถเข้าใจความรู้สึกของเราและช่วยเราได้. นอกจากนั้น การได้ระบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดยังช่วยคลายความทุกข์กังวลใจ. จึงมีประโยชน์ที่จะเผยความรู้สึกแก่คู่สมรส, บิดามารดา, หรือเพื่อนที่มีความเห็นอกเห็นใจและมีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณ.
ถ้อยคำที่ให้กำลังใจจากแหล่งไหนจะดีไปกว่าที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล? ด้วยเหตุนั้น เราต้องเข้าใกล้พระเจ้าโดยตรึกตรองด้วยความรู้สึกหยั่งรู้ค่าในพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระองค์. การใคร่ครวญเช่นนั้นจะนำความชื่นบานมาสู่หัวใจที่ห่อเหี่ยวและนำความสว่างมาสู่ดวงตาที่เศร้าหมองอย่างแน่นอน. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวยืนยันความจริงข้อนี้ว่า “กฎหมายของพระยะโฮวาดีรอบคอบ, เป็นที่ให้จิตต์วิญญาณฟื้นตื่นขึ้น; คำโอวาทของพระยะโฮวาก็แน่นอน, เตือนสติคนรู้น้อยให้มีปัญญา. ข้อสั่งสอนของพระยะโฮวานั้นเที่ยงตรง, ทำให้จิตต์วิญญาณได้ความชื่นบาน ข้อบัญญัติของพระยะโฮวาก็บริสุทธิ์, กระทำให้ดวงตากระจ่างสว่างไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 19:7, 8.
ทางที่ให้บำเหน็จ
โดยเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างทางของคนชอบธรรมกับทางของคนชั่ว กษัตริย์อิสราเอลกล่าวว่า “คนชอบธรรมสำรวจทุ่งหญ้าของตน แต่ทางของคนชั่วช้าทำให้เขาต้องร่อนเร่.” (สุภาษิต 12:26, ล.ม.) คนชอบธรรมระมัดระวังทุ่งหญ้าของตน คือเพื่อนและคนที่เขาคบหา. เขาทำการเลือกอย่างสุขุมรอบคอบ พยายามหลีกเลี่ยงการติดต่อคบหาที่จะนำไปสู่อันตราย. แต่ไม่เป็นเช่นนั้นกับคนชั่วซึ่งปฏิเสธคำแนะนำและดึงดันที่จะทำตามวิถีทางของตนเอง. เขาจึงถูกหลอกและร่อนเร่.
จากนั้น กษัตริย์ซะโลโมชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างคนเกียจคร้านกับคนขยันในอีกแง่มุมหนึ่ง. ท่านกล่าวว่า “คนเกียจคร้านจะจับเหยื่อของเขาไม่ได้ แต่คนขยันขันแข็งจะได้ทรัพย์ศฤงคารประเสริฐ.” (สุภาษิต 12:27, ฉบับแปลใหม่) “คนเกียจคร้าน” ไม่ “จับ” หรือ “ปิ้ง” เหยื่อ. (ฉบับแปล นิว อินเตอร์แนชันแนล) ที่จริงแล้ว เขาไม่สามารถสานต่อสิ่งที่ตนเริ่มให้สำเร็จ. ตรงกันข้าม ความขยันขันแข็งมักเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความมั่งคั่ง.
ความเกียจคร้านก่อผลเสียหายถึงขนาดที่อัครสาวกเปาโลเห็นความจำเป็นที่จะเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนในเทสซาโลนีกาและแก้ไขบางคนที่นั่นซึ่ง “ประพฤติเกะกะ” คือไม่ทำการงานอะไรเลย แต่เข้าไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่น. คนเหล่านั้นเป็นภาระอย่างมากแก่คนอื่น ๆ. ด้วยเหตุนั้น เปาโลจึงให้คำแนะนำแก่พวกเขาอย่างตรงไปตรงมา กระตุ้นเตือนพวกเขาให้ “กินอาหารที่ตนหามาเองด้วยการทำงานอย่างสงบ.” และหากใครไม่ยอมทำตามคำแนะเตือนที่หนักแน่นนี้ เปาโลแนะนำคนอื่น ๆ ในประชาคมให้ “ปลีกตัว” คือไม่คบหากับพวกเขา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องของการจำกัดการคบหาทางสังคม.—2 เธซะโลนิเก 3:6-12, ล.ม.
เราต้องเอาใจใส่คำแนะนำของซะโลโมไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเป็นคนขยันขันแข็งเท่านั้น แต่รวมถึงคำแนะนำของท่านที่ให้ใช้ลิ้นอย่างเหมาะสมด้วย. ขอให้เราพยายามใช้อวัยวะเล็ก ๆ นี้เพื่อเยียวยาและทำให้เกิดความชื่นบานในขณะที่เราหลีกเลี่ยงความผิดอันเกิดจากริมฝีปากและมุ่งติดตามแนวทางอันชอบธรรม. ซะโลโมรับรองแก่เราว่า “ทางของคนชอบธรรมก็คือชีวิต; และในทางนั้นไม่มีความตาย.”—สุภาษิต 12:28.
[ภาพหน้า 27]
“ปราชญ์ย่อมฟังคำแนะนำ”
[ภาพหน้า 28]
“ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย”
[ภาพหน้า 29]
การเผยความรู้สึกกับเพื่อนที่วางใจได้จะช่วยคลายความทุกข์กังวล
[ภาพหน้า 30]
การตรึกตรองด้วยความรู้สึกหยั่งรู้ค่าในพระคำของพระเจ้าทำให้หัวใจชื่นบาน