บท 12
“พูดแต่สิ่งดี ๆ ซึ่งให้กำลังใจ”
“อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากพวกคุณ ให้พูดแต่สิ่งดี ๆ ซึ่งให้กำลังใจ”—เอเฟซัส 4:29
1-3. (ก) ของดีอย่างหนึ่งที่พระยะโฮวาให้เราคืออะไร? เราอาจใช้สิ่งนี้อย่างผิด ๆ ได้อย่างไร? (ข) เราควรใช้ความสามารถในการพูดอย่างไร?
พ่อให้จักรยานกับลูกชายวัยรุ่น เขามีความสุขที่ได้ให้ของขวัญพิเศษกับลูก แต่ถ้าลูกชายขี่จักรยานไม่ระวังแล้วไปชนคนอื่นหรือได้รับบาดเจ็บล่ะ พ่อจะรู้สึกอย่างไร?
2 พระยะโฮวาเป็นผู้ให้ “ของดี ๆ และสมบูรณ์ทุกอย่าง” (ยากอบ 1:17) ของดีอย่างหนึ่งที่พระองค์ให้เราคือความสามารถในการพูด การพูดทำให้เราอธิบายความคิดและความรู้สึกของเราได้ เราสามารถพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นและทำให้พวกเขามีความสุข แต่คำพูดของเราก็อาจทำร้ายคนอื่นและทำให้พวกเขาเจ็บใจได้เหมือนกัน
3 คำพูดมีพลังมาก และพระยะโฮวาสอนเราว่าจะใช้ความสามารถนี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร พระองค์บอกเราว่า “อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากพวกคุณ ให้พูดแต่สิ่งดี ๆ ซึ่งให้กำลังใจคนที่ต้องการกำลังใจ เพื่อให้คนฟังได้รับประโยชน์” (เอเฟซัส 4:29) ให้เรามาดูว่าเราจะใช้ความสามารถในการพูดเพื่อทำให้พระยะโฮวาพอใจและทำให้คนอื่นมีกำลังใจได้อย่างไร?
คิดให้ดีก่อนพูด
4, 5. เราได้เรียนอะไรจากหนังสือสุภาษิตเกี่ยวกับพลังของคำพูด?
4 คำพูดมีพลัง ดังนั้น เราต้องระวังว่าเราจะพูดอะไรและจะพูดอย่างไร สุภาษิต 15:4 บอกว่า “คำพูดที่สุภาพอ่อนโยนเป็นต้นไม้ที่ให้ชีวิต แต่คำพูดที่บิดเบือนทำให้ท้อใจ” คำพูดที่ดีทำให้คนที่ได้ยินชื่นใจเหมือนกับต้นไม้ที่สวยงามทำให้สดชื่นมีชีวิตชีวา ในทางตรงข้าม คำพูดที่ไม่ดีทำร้ายคนอื่นและทำให้เจ็บใจ—สุภาษิต 18:21
5 สุภาษิต 12:18 บอกว่า “คำพูดที่ไม่คิดเป็นเหมือนดาบที่ทิ่มแทง” คำพูดแรง ๆ ทำให้เจ็บใจและทำลายความสัมพันธ์ที่ดี บางทีคุณอาจรู้สึกฝังใจเมื่อมีใครพูดไม่ดีกับคุณ แต่สุภาษิตข้อนั้นยังบอกอีกว่า “คำพูดของคนฉลาดจะช่วยเยียวยารักษา” คำพูดที่มาจากการคิดอย่างดีช่วยทำให้หายเจ็บใจ ช่วยแก้ไขความเข้าใจผิด และทำให้ความสัมพันธ์กลับมาดีเหมือนเดิม (อ่านสุภาษิต 16:24) ถ้าเราจำไว้เสมอว่าคำพูดของเรามีผลต่อคนอื่น เราก็จะคิดให้ดีก่อนพูด
6. ทำไมการควบคุมคำพูดถึงเป็นเรื่องยาก?
6 อีกเหตุผลหนึ่งที่เราต้องระวังคำพูดคือ เราทุกคนไม่สมบูรณ์แบบ “มนุษย์มักคิดแต่เรื่องชั่ว” และคำพูดของเรามักจะทำให้รู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ (ปฐมกาล 8:21; ลูกา 6:45) การควบคุมคำพูดอาจยากมาก (อ่านยากอบ 3:2-4) แต่เราจำเป็นต้องพยายามปรับปรุงวิธีที่เราพูดกับคนอื่นอยู่เสมอ
7, 8. คำพูดของเรามีผลต่อความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาอย่างไร?
7 เราต้องระวังคำพูดด้วย เพราะไม่ว่าเราจะพูดอะไรหรือพูดวิธีไหนเราต้องรับผิดชอบต่อพระยะโฮวา ยากอบ 1:26 บอกว่า “ถ้าใครคิดว่าเขานมัสการพระเจ้าอยู่ แต่ไม่ได้ควบคุมลิ้นของตัวเอง เขากำลังหลอกตัวเอง และการนมัสการของเขาก็ไร้ประโยชน์” ถ้าเราไม่ระวัง คำพูดของเราอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระยะโฮวาเสียหาย หรือถึงกับทำลายความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์—ยากอบ 3:8-10
8 เรามีเหตุผลที่ดีจริง ๆ ที่จะระวังคำพูดและวิธีพูดของเรา และเพื่อจะใช้ความสามารถในการพูดตามที่พระยะโฮวาต้องการ เราต้องรู้ว่าเราควรหลีกเลี่ยงคำพูดแบบไหน
คำพูดที่ทำให้เสียหาย
9, 10. (ก) การใช้คำพูดแบบไหนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในทุกวันนี้? (ข) ทำไมเราควรหลีกเลี่ยงคำพูดลามก?
9 การใช้คำพูดลามกและคำหยาบเป็นเรื่องธรรมดาในทุกวันนี้ หลายคนคิดว่าการพูดหยาบคายแสดงถึงความจริงใจ นักแสดงตลกมักจะใช้เรื่องตลกลามกและภาษาหยาบคายเพื่อทำให้คนดูขำ อย่างไรก็ตาม อัครสาวกเปาโลบอกว่า “พวกคุณต้องกำจัดสิ่งต่อไปนี้ออกไป คือ ความโมโห ความโกรธ ความชั่ว การพูดดูถูกเหยียดหยาม และอย่าให้คำพูดลามกออกมาจากปากพวกคุณ” (โคโลสี 3:8) เขายังบอกคริสเตียนแท้ด้วยว่า ‘อย่าพูดคุยกันในเรื่องตลกลามก’—เอเฟซัส 5:3, 4
10 คำพูดลามกน่ารังเกียจและไม่สะอาดสำหรับพระยะโฮวาและคนที่รักพระองค์ ในคัมภีร์ไบเบิล “การกระทำที่ไม่สะอาด” รวมอยู่ใน “การกระทำที่เกิดจากความต้องการของร่างกายที่มีบาป” (กาลาเทีย 5:19-21) “การกระทำที่ไม่สะอาด” รวมถึงการทำบาปหลายอย่าง การกระทำที่ไม่ดีอย่างหนึ่งอาจนำไปสู่การกระทำที่ไม่ดีอีกอย่างหนึ่ง ถ้าใครพูดลามกและใช้คำพูดที่ไม่ดีจนติดเป็นนิสัยและไม่ยอมเลิก เขาอาจจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอีกต่อไป—2 โครินธ์ 12:21; เอเฟซัส 4:19; ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 23
11, 12. (ก) การซุบซิบนินทาคืออะไร? (ข) ทำไมเราต้องหลีกเลี่ยงการใส่ร้ายคนอื่น?
11 เราต้องหลีกเลี่ยงการซุบซิบนินทาด้วย เป็นธรรมดาที่เราจะสนใจคนอื่นและบอกข่าวคราวเกี่ยวกับเพื่อนและครอบครัว คริสเตียนในศตวรรษแรกก็อยากรู้ว่าพี่น้องของเขาเป็นอย่างไรและจะช่วยพวกเขาได้อย่างไรบ้าง (เอเฟซัส 6:21, 22; โคโลสี 4:8, 9) แต่การคุยกันเรื่องคนอื่นอาจกลายเป็นการซุบซิบนินทาได้ และถ้าเราเอาเรื่องซุบซิบนั้นไปพูดต่อ ก็อาจกลายเป็นว่าเราพูดเรื่องไม่จริงหรือเปิดเผยเรื่องส่วนตัวของคนอื่น ถ้าไม่ระวัง การพูดแบบนี้อาจกลายเป็นการกล่าวหาหรือการใส่ร้าย พวกฟาริสีใส่ร้ายพระเยซูโดยกล่าวหาในสิ่งที่ท่านไม่ได้ทำ (มัทธิว 9:32-34; 12:22-24) การใส่ร้ายทำให้เสียชื่อเสียง ทำให้เจ็บใจ ทำให้ทะเลาะกัน และทำลายความเป็นเพื่อน—สุภาษิต 26:20
12 พระยะโฮวาอยากให้เราใช้คำพูดเพื่อช่วยคนอื่นและให้กำลังใจพวกเขา ไม่ใช่ทำให้เสียเพื่อนและสร้างศัตรู พระยะโฮวาเกลียด “คนที่ยุยงให้พี่น้องแตกแยกกัน” (สุภาษิต 6:16-19) มารซาตานเป็นบุคคลแรกที่เป็นผู้ใส่ร้าย มันใส่ร้ายพระเจ้า (วิวรณ์ 12:9, 10) ในโลกทุกวันนี้ ผู้คนพูดไม่จริงเกี่ยวกับคนอื่นจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในประชาคมคริสเตียนไม่ควรเป็นแบบนั้น (กาลาเทีย 5:19-21) ดังนั้น เราต้องระวังคำพูดและคิดก่อนพูดเสมอ ก่อนจะเอาเรื่องของคนอื่นไปพูดต่อ ให้ถามตัวเองว่า ‘เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงไหม? การพูดเรื่องนี้เป็นการแสดงความกรุณาและเป็นประโยชน์ไหม? ฉันอยากให้คนที่ฉันกำลังพูดถึงได้ยินเรื่องนี้ไหม? ฉันจะรู้สึกอย่างไรถ้ามีคนพูดถึงฉันอย่างนี้?’—อ่าน 1 เธสะโลนิกา 4:11
13, 14. (ก) การพูดดูถูกเหยียดหยามส่งผลต่อผู้คนอย่างไร? (ข) การเป็นคนปากร้ายหมายถึงอะไร? ทำไมคริสเตียนต้องหลีกเลี่ยงการด่าว่าคนอื่น?
13 บางครั้งเราอาจพูดเรื่องที่ทำให้เสียใจภายหลัง แต่จริง ๆ แล้วเราไม่อยากมีนิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดแรง ๆ เราต้องไม่พูดดูถูกเหยียดหยาม อัครสาวกเปาโลบอกว่า “พวกคุณต้องขจัดความอาฆาตแค้น ความโกรธ ความโมโห การตวาด การพูดดูถูกเหยียดหยาม” (เอเฟซัส 4:31) คัมภีร์ไบเบิลฉบับอื่นแปล “การพูดดูถูกเหยียดหยาม” ว่า “คำพูดชั่วร้าย” “คำพูดที่ทำให้เจ็บปวด” และ “คำพูดดูหมิ่น” การพูดดูถูกเหยียดหยามทำให้คนอื่นเสียศักดิ์ศรีและรู้สึกไร้ค่า โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ เพราะเด็กมักจะเสียใจได้ง่าย ดังนั้น เราต้องระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ทำร้ายพวกเขาด้วยคำพูด—โคโลสี 3:21
14 คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราด้วยเกี่ยวกับการพูดดูถูกเหยียดหยามอีกแบบหนึ่ง คือการด่าว่าคนอื่นอยู่เรื่อย ๆ โดยตั้งใจทำให้พวกเขาเจ็บใจ น่าเศร้ามากถ้าใครทำแบบนั้นกับคู่ของตัวเองหรือลูก ๆ! ที่จริง ถ้าใครไม่เลิกเป็นคนปากร้ายเขาจะต้องถูกตัดออกจากประชาคม (1 โครินธ์ 5:11-13; 6:9, 10) เราได้เรียนรู้แล้วว่า ถ้าเราพูดลามก พูดเรื่องไม่จริง หรือใช้คำพูดแรง ๆ เราจะทำลายความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวาและกับคนอื่น ๆ
คำพูดที่ให้กำลังใจ
15. คำพูดแบบไหนที่ช่วยทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่นดีขึ้น?
15 เราจะใช้ความสามารถในการพูดแบบที่พระยะโฮวาพอใจได้อย่างไร? ถึงแม้คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าเราควรพูดอะไรหรือไม่ควรพูดอะไร แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกให้ “พูดแต่สิ่งดี ๆ ซึ่งให้กำลังใจ” (เอเฟซัส 4:29) คำพูดที่ให้กำลังใจคือ คำพูดที่เหมาะสม คำพูดที่กรุณา และเป็นความจริง พระยะโฮวาต้องการให้เราใช้คำพูดเพื่อให้กำลังใจและช่วยคนอื่น เรื่องนี้อาจไม่ง่าย เราต้องพยายามมากที่จะพูดในแง่บวกแทนที่จะพูดเรื่องไม่ดีหรือพูดโดยไม่คิด (ทิตัส 2:8) ให้เรามาดูบางวิธีที่เราจะใช้คำพูดเพื่อให้กำลังใจคนอื่น
16, 17. (ก) ทำไมเราควรชมเชยคนอื่น? (ข) เราชมเชยใครได้บ้าง?
16 ทั้งพระยะโฮวาและพระเยซูชมเชยคนอื่นอยู่บ่อย ๆ เราก็อยากเลียนแบบตัวอย่างที่ดีนี้ด้วย (มัทธิว 3:17; 25:19-23; ยอห์น 1:47) คำชมเชยที่ให้กำลังใจคนอื่นได้ดี มักเป็นคำพูดที่คิดมาอย่างดีและแสดงถึงความสนใจจริง ๆ ต่อคนนั้น สุภาษิต 15:23 บอกว่า “คำพูดที่ถูกกาลเทศะก็ดีจริง ๆ” เราได้กำลังใจเมื่อคนอื่นชมเราอย่างจริงใจที่เราทำงานหนักหรือขอบคุณสำหรับสิ่งที่เราทำ—อ่านมัทธิว 7:12; ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 27
17 ถ้าคุณพยายามมองคนอื่นในแง่ดีเสมอ คุณก็จะชมเชยเขาอย่างจริงใจได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น คุณอาจสังเกตว่าบางคนในประชาคมเตรียมส่วนมอบหมายอย่างดี บางคนก็พยายามออกความคิดเห็น เด็ก ๆ พยายามรักษาความเชื่อตอนอยู่ที่โรงเรียน หรือผู้สูงอายุพยายามออกประกาศเป็นประจำ พวกเขาน่าจะได้รับคำชมเชยจากเรา และเป็นเรื่องสำคัญด้วยที่สามีจะบอกรักและขอบคุณภรรยา (สุภาษิต 31:10, 28) น้ำและแสงแดดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับต้นไม้ คำชมเชยก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนเราเช่นกัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ เราควรหาโอกาสชมเชยคุณลักษณะที่ดีและความพยายามของพวกเขา คำชมเชยทำให้พวกเขามีกำลังใจ มีความมั่นใจ และพยายามที่จะทำดีมากขึ้น
18, 19. ทำไมเราควรพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้กำลังใจและช่วยให้คนอื่นรู้สึกสบายใจ? เราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?
18 เมื่อเราให้กำลังใจและทำให้คนอื่นสบายใจ เราก็กำลังเลียนแบบพระยะโฮวา พระองค์ห่วงใย “คนที่ต่ำต้อย” และ “คนที่ถูกกดขี่” (อิสยาห์ 57:15) พระยะโฮวาอยากให้เรา “คอยให้กำลังใจกัน” และ “พูดปลอบใจคนที่ซึมเศร้า” (1 เธสะโลนิกา 5:11, 14) พระยะโฮวาเห็นเมื่อเราพยายามทำสิ่งเหล่านี้ และพระองค์เห็นคุณค่าความพยายามของเรา
19 คุณอาจสังเกตว่าพี่น้องบางคนในประชาคมกำลังท้อแท้หรือซึมเศร้า คุณจะพูดอะไรที่ช่วยเขาได้? ถึงคุณจะช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ แต่คุณก็บอกเขาได้ว่าคุณเป็นห่วง ตัวอย่างเช่น คุณอาจอยู่เป็นเพื่อนเขา อาจอ่านข้อคัมภีร์ที่ให้กำลังใจหรืออธิษฐานกับเขา (สดุดี 34:18; มัทธิว 10:29-31) ทำให้เขามั่นใจว่าพี่น้องในประชาคมรักเขา (1 โครินธ์ 12:12-26; ยากอบ 5:14, 15) คุณต้องพูดจากใจจริงซึ่งเขาจะรับรู้ได้ว่าคุณเป็นห่วงเขาจริง ๆ—อ่านสุภาษิต 12:25
20, 21. อะไรช่วยให้คนเรายอมรับคำแนะนำง่ายขึ้น?
20 เรายังใช้คำพูดให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้โดยการให้คำแนะนำที่ดี เราทุกคนไม่สมบูรณ์แบบ จึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำในบางครั้ง สุภาษิต 19:20 บอกว่า “ให้ฟังคำแนะนำและรับการอบรมสั่งสอน แล้ววันข้างหน้าคุณจะฉลาดขึ้น” คนที่ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาอาจไม่ใช่ผู้ดูแลในประชาคมก็ได้ ส่วนพ่อแม่ก็จำเป็นต้องอบรมสั่งสอนลูก ๆ (เอเฟซัส 6:4) พี่น้องหญิงก็สามารถให้คำแนะนำที่ดีกับคนอื่นได้ (ทิตัส 2:3-5) เรารักพี่น้อง เราจึงอยากให้คำแนะนำในวิธีที่ไม่ทำให้พวกเขารู้สึกแย่ แต่อะไรจะช่วยให้เราทำอย่างนั้นได้?
21 คุณอาจจำได้เมื่อมีคนให้คำแนะนำที่ดีและคุณอยากทำตามคำแนะนำนั้น ทำไมคุณถึงเต็มใจเอาคำแนะนำของเขาไปใช้? เพราะคุณอาจรู้สึกว่าเขาเป็นห่วงคุณจริง ๆ หรือเขาอาจพูดกับคุณด้วยความรักและความอ่อนโยน (โคโลสี 4:6) เป็นไปได้ที่คำแนะนำเหล่านั้นมาจากคัมภีร์ไบเบิล (2 ทิโมธี 3:16) แต่ไม่ว่าเราจะยกข้อคัมภีร์มาหรือไม่ คำแนะนำของเราก็ควรมาจากคัมภีร์ไบเบิล เราไม่ควรบังคับให้คนอื่นทำตามความเห็นของเราหรือใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตัวเอง การคิดถึงวิธีให้คำแนะนำที่คุณเคยได้รับมา จะช่วยคุณเมื่อต้องให้คำแนะนำคนอื่น
22. คุณอยากใช้ความสามารถในการพูดอย่างไร?
22 ความสามารถในการพูดเป็นของขวัญจากพระเจ้า เพราะเรารักพระองค์ เราจึงอยากใช้ของขวัญนี้ในวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม อย่าลืมว่าคำพูดมีพลังที่อาจทำร้ายจิตใจหรือให้กำลังใจก็ได้ ดังนั้น ให้เราพยายามสุดความสามารถที่จะใช้คำพูดเพื่อช่วยให้คนอื่นมีกำลังใจและเข้มแข็ง