“ความยำเกรงพระยะโฮวานั่นแหละคือปัญญา”
“ให้เราฟังคำสรุปของเรื่องทั้งหมด: จงเกรงกลัวพระเจ้า, จงถือรักษาบัญญัติทั้งปวงของพระองค์; เพราะว่าการนี้เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน.” (ท่านผู้ประกาศ 12:13) ช่างเป็นข้อสรุปที่ลึกซึ้งอะไรเช่นนี้ที่กษัตริย์ซะโลโมแห่งชาติอิสราเอลโบราณได้กล่าวไว้ภายใต้การดลใจ! โยบปฐมบรรพบุรุษได้เข้าใจคุณค่าของการเกรงกลัวพระเจ้าด้วย เพราะท่านกล่าวว่า “ดูเถิด, ความยำเกรงพระยะโฮวานั่นแหละคือปัญญา; และการที่ละทิ้งการชั่วนั่นแหละคือความรู้.”—โยบ 28:28.
คัมภีร์ไบเบิลเน้นความสำคัญอย่างยิ่งในการเกรงกลัวพระเจ้า. เหตุใดการที่เราปลูกฝังความเคารพยำเกรงพระเจ้าจึงเป็นแนวทางแห่งสติปัญญา? ในทางใดที่ความเกรงกลัวพระเจ้าเป็นประโยชน์แก่เรา ทั้งเป็นรายบุคคลและในฐานะเป็นกลุ่มผู้นมัสการแท้? พระธรรมสุภาษิตบท 14 ข้อ 26 ถึง 35 ตอบคำถามเหล่านี้.a
บ่อเกิดแห่ง “ความวางใจที่มั่นคง”
ซะโลโมกล่าวว่า “ความวางใจที่มั่นคงอยู่ในการยำเกรงพระยะโฮวา; และลูกหลานของเขานั้นจะมีที่พำนักอันปลอดภัย.” (สุภาษิต 14:26) บ่อเกิดแห่งความไว้วางใจของคนที่เกรงกลัวพระเจ้าไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพระยะโฮวา พระเจ้าผู้ภักดี องค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ. ไม่น่าแปลกที่คนเช่นนั้นเผชิญกับอนาคตด้วยความวางใจที่มั่นคง! อนาคตของเขายืนยาวและมีความสุข.
แต่จะกล่าวได้เช่นไรเกี่ยวกับอนาคตของคนเหล่านั้นที่วางใจในสิ่งต่าง ๆ ทางโลก ซึ่งก็ได้แก่ แผนการ, องค์การ, คตินิยม, และสิ่งของต่าง ๆ ของโลก? อนาคตไม่ว่าแบบใดก็ตามที่พวกเขาหวังไว้ก็เป็นช่วงสั้น ๆ เพราะคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “โลกนี้กับความใคร่ของโลกกำลังผ่านพ้นไป แต่ผู้ที่ประพฤติตามพระทัยของพระเจ้าคงจะตั้งอยู่เป็นนิตย์.” (1 โยฮัน 2:17) ถ้าเช่นนั้น มีเหตุผลใด ๆ ไหมที่เราจะ “รักโลกหรือสิ่งของในโลก”?—1 โยฮัน 2:15.
บิดามารดาผู้เกรงกลัวพระเจ้าจะใช้มาตรการอะไรเพื่อรับประกันว่า “จะมีที่พำนักอันปลอดภัย” สำหรับบุตรของตน? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ร้องเพลงว่า “บุตรทั้งหลายเอ๋ย, จงมาฟังคำข้าเถิด: ข้าจะสอนให้เจ้ารู้ถึงความเกรงกลัวพระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:11) เมื่อเด็ก ๆ ได้รับการสอนโดยตัวอย่างและคำสั่งสอนของบิดามารดาให้เกรงกลัวพระเจ้าแล้ว ก็มีโอกาสมากขึ้นที่พวกเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความวางใจที่มั่นคงในพระยะโฮวา.—สุภาษิต 22:6.
ซะโลโมกล่าวต่อไปว่า “ความยำเกรงพระยะโฮวาเป็นน้ำพุแห่งชีวิต, เพื่อว่าคนจะได้พ้นจากบ่วงแร้วแห่งความตายได้.” (สุภาษิต 14:27) ความยำเกรงพระยะโฮวาเป็น “น้ำพุแห่งชีวิต” เพราะพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ทรงเป็น “น้ำพุประกอบด้วยน้ำมีชีวิต.” (ยิระมะยา 2:13) การรับเอาความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ทำให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์. (โยฮัน 17:3) ความเกรงกลัวพระเจ้ายังทำให้เราพ้นจากบ่วงแร้วแห่งความตายด้วย. โดยวิธีใด? สุภาษิต 13:14 กล่าวว่า “โอวาทของคนมีปัญญาเป็นเหมือนน้ำพุแห่งชีวิต; เพื่อคนจะได้หนีจากเครื่องดักแห่งความตาย.” เมื่อเราเกรงกลัวพระยะโฮวา, เชื่อฟังกฎหมายของพระองค์, และยอมให้พระคำของพระองค์ชี้นำก้าวเดินของเราแล้ว เราได้รับการปกป้องไว้จากกิจปฏิบัติและความรู้สึกที่ก่อผลเสียหายซึ่งอาจนำไปถึงความตายก่อนวัยอันควรมิใช่หรือ?
‘เครื่องประดับของกษัตริย์’
ระหว่างช่วงการปกครองส่วนใหญ่ของท่าน ซะโลโมเป็นกษัตริย์ผู้ยำเกรงพระเจ้าซึ่งได้เชื่อฟังพระยะโฮวา. นี่ส่งเสริมให้การปกครองของท่านประสบผลสำเร็จ. อะไรเป็นตัวกำหนดว่ากษัตริย์ปกครองประสบผลสำเร็จแค่ไหน? สุภาษิต 14:28 ให้คำตอบว่า “กษัตริย์มีสง่าราศี [“เครื่องประดับ,” ล.ม.] ก็เพราะมีพลเมืองมาก; แต่เมื่อขาดพลเมืองก็เป็นความหายนะของเจ้านาย.” ความสำเร็จของกษัตริย์วัดได้จากความผาสุกของเหล่าประชาราษฎร์. ถ้าผู้คนจำนวนมากมายปรารถนาจะอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ นั่นบ่งชี้ว่ากษัตริย์องค์นี้เป็นผู้ปกครองที่ประสบผลสำเร็จ. ซะโลโม “ทรงครอบครอง [“มีประชากร,” ล.ม.] ตั้งแต่มหาสมุทรข้างนี้ [ทะเลแดง] ถึงมหาสมุทรข้างโน้น [ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน], และตั้งแต่แม่น้ำ [ยูเฟรทิส] จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (บทเพลงสรรเสริญ 72:6-8) การปกครองของท่านโดดเด่นเนื่องจากความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน. (1 กษัตริย์ 4:24, 25) การปกครองของซะโลโมประสบผลสำเร็จ. ในอีกด้านหนึ่ง การที่ประชาชนไม่ยอมรับย่อมเป็นเรื่องน่าอายสำหรับเจ้านายที่ปกครอง.
ในเรื่องนี้ จะกล่าวได้เช่นไรเกี่ยวกับสง่าราศีของซะโลโมผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ พระมหากษัตริย์มาซีฮา? ขอให้คิดถึงประชากรที่พระองค์ทรงมีอยู่แม้แต่ในทุกวันนี้. ตลอดทั่วทั้งแผ่นดินโลก มีชายและหญิงผู้ยำเกรงพระเจ้ามากกว่าหกล้านคนได้ตัดสินใจเลือกแล้วที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของพระคริสต์. พวกเขาแสดงความเชื่อในพระเยซูและเป็นเอกภาพในการนมัสการแท้ที่ถวายแด่พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่. (โยฮัน 14:1) ครั้นถึงตอนปลายรัชสมัยพันปี บรรดาผู้ที่อยู่ในความทรงจำของพระเจ้าจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสิ้นทุกคน. สมัยนั้นแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานจะเต็มด้วยผู้คนที่มีความสุข เป็นคนชอบธรรมซึ่งได้แสดงความรู้สึกขอบคุณพระมหากษัตริย์ของพวกเขา. นั่นจะเป็นหลักฐานพยานที่ดีเลิศจริง ๆ ถึงความสำเร็จแห่งการปกครองของพระคริสต์! ขอให้เรายึดมั่นกับความหวังอันยอดเยี่ยมของเราในเรื่องราชอาณาจักร.
ผลประโยชน์ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม
ความเคารพยำเกรงพระเจ้าสามารถทำให้เราใจเย็นและจิตใจสงบ. ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในหลายแง่มุมของสติปัญญานั้นมีวิจารณญาณที่ดีและความสังเกตเข้าใจรวมอยู่ด้วย. สุภาษิต 14:29 (ล.ม.) กล่าวว่า “ผู้ที่ช้าในการโกรธบริบูรณ์ด้วยความสังเกตเข้าใจ แต่ผู้ที่ไม่อดทนก็ยกย่องความโง่เขลา.” ความสังเกตเข้าใจช่วยเราให้ตระหนักว่าความโกรธที่ไม่มีการควบคุมก่อผลเสียหายต่อสัมพันธภาพระหว่างเรากับพระเจ้า. “การเป็นศัตรูกัน, การต่อสู้, การริษยา, การบันดาลโทสะ, การทุ่มเถียง” ถูกจัดอยู่ในบรรดาการกระทำซึ่งจะขัดขวางไม่ให้เรา “ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก.” (ฆะลาเตีย 5:19-21, ล.ม.) เราได้รับคำแนะนำที่จะไม่เก็บความโกรธไว้แม้ว่าจะเป็นความโกรธที่มีเหตุอันควร. (เอเฟโซ 4:26, 27) และการขาดความอดทนอาจนำไปสู่คำพูดและการกระทำที่โง่เขลาซึ่งทำให้เราเสียใจในภายหลัง.
โดยชี้ถึงผลเสียหายทางกายที่เกิดจากความโกรธ กษัตริย์อิสราเอลตรัสว่า “ใจที่สงบเป็นความจำเริญชีวิตฝ่ายกาย; แต่ความอิจฉาริษยาคือความเปื่อยเน่าของกะดูก.” (สุภาษิต 14:30) ความเจ็บป่วยที่เป็นผลมาจากความโกรธและการบันดาลโทสะนั้นรวมไปถึงปัญหาระบบทางเดินหายใจ, ความดันโลหิตสูงขึ้น, ความผิดปกติของตับ, และผลเสียหายต่อตับอ่อน. แพทย์ยังจัดความโกรธและการบันดาลโทสะไว้ในรายการของอารมณ์ที่เพิ่มอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ หรือกระทั่งเป็นต้นเหตุของโรคต่าง ๆ ด้วยซ้ำ เช่น แผลเปื่อย, ลมพิษ, โรคหอบหืด, โรคผิวหนัง, และอาหารไม่ย่อย. ในอีกด้านหนึ่ง “หัวใจที่สงบสุขให้ชีวิตแก่ร่างกาย.” (สุภาษิต 14:30, นิว อินเตอร์แนชันแนล เวอร์ชัน) ดังนั้น เราเป็นคนฉลาดสุขุมที่ “ประพฤติตามสิ่งเหล่านั้นซึ่งทำให้เกิดความสงบสุขแก่กันและกัน และสิ่งเหล่านั้นซึ่งทำให้เกิดมีความเจริญแก่กันและกัน.”—โรม 14:19.
ความเกรงกลัวพระเจ้าช่วยให้เราไม่ลำเอียง
ซะโลโมกล่าวว่า “บุคคลผู้กดขี่เบียดเบียนคนจนก็ทำความอัปยศแก่พระผู้สร้างตน; แต่บุคคลผู้มีความเมตตาแก่คนยากจนก็ถวายเกียรติยศแก่พระองค์.” (สุภาษิต 14:31) คนที่เกรงกลัวพระเจ้าตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนมีพระผู้สร้างองค์เดียวกัน คือพระยะโฮวาพระเจ้า. เพราะฉะนั้น คนจนก็เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง และการปฏิบัติต่อเขาย่อมส่งผลถึงพระผู้สร้างมวลมนุษย์. เพื่อถวายเกียรติยศแด่พระเจ้า เราต้องปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างยุติธรรมและไม่ลำเอียง. คริสเตียนที่ยากจนควรได้รับความเอาใจใส่ทางฝ่ายวิญญาณโดยไม่ลำเอียง. เราต้องนำข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าไปให้ทั้งคนจนและคนรวย.
เมื่ออ้างอิงถึงผลประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของความเกรงกลัวพระเจ้า กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดตรัสว่า “คนชั่วร้ายก็ถูกคว่ำลงตามการกระทำชั่วร้ายของเขา แต่คนชอบธรรมพบที่ลี้ภัยด้วยใจแน่วแน่ [“ในความซื่อสัตย์มั่นคง,” ล.ม.] ของเขา.” (สุภาษิต 14:32, ฉบับแปลใหม่) คนชั่วถูกคว่ำลงอย่างไร? มีการบ่งชี้ว่าข้อนี้หมายความว่าเขาไม่มีทางที่จะฟื้นตัวได้แต่อย่างใดเมื่อประสบความหายนะ. ส่วนคนที่เกรงกลัวพระเจ้ามีที่ลี้ภัยในความซื่อสัตย์มั่นคงของเขาต่อพระเจ้าเมื่อเกิดความทุกข์ยาก. เนื่องจากมีความไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มเปี่ยมแม้ว่าจะเสียชีวิต เขาแสดงความตั้งใจแน่วแน่อย่างเดียวกับโยบผู้ซึ่งกล่าวว่า “ข้าฯ จะไม่เอาความซื่อสัตย์มั่นคงไปจากตัวข้าฯ จนกว่าข้าฯ จะสิ้นลม!”—โยบ 27:5, ล.ม.
การรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงจำเป็นต้องมีความเกรงกลัวพระเจ้าและสติปัญญา. และจะพบสติปัญญาได้ที่ไหน? สุภาษิต 14:33 ให้คำตอบว่า “ปัญญาอยู่ในใจของผู้ที่มีความเข้าใจ; แต่สิ่งที่อยู่ภายในของคนโฉดจะปรากฏออกมา.” ใช่แล้ว จะพบสติปัญญาได้ในหัวใจของคนที่มีความเข้าใจ. แต่ในทางใดที่สิ่งที่อยู่ภายในของคนโง่ปรากฏออกมา? ตามที่หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวไว้ “คนโง่กระตือรือร้นที่จะให้ดูเหมือนว่าตนเป็นคนฉลาด พูดโพล่งสิ่งที่คิดว่าเป็นสติปัญญาออกมา แต่เมื่อทำเช่นนั้นก็กลับกลายเป็นความโง่เขลา.”
“เชิดชูประชาชาติหนึ่ง ๆ”
เพื่อจะเปลี่ยนความสนใจของเราจากเรื่องความเกรงกลัวพระเจ้ามีผลกระทบอย่างไรต่อตัวบุคคลไปเป็นเรื่องความเกรงกลัวดังกล่าวมีผลกระทบอย่างไรต่อคนทั้งชาติ กษัตริย์อิสราเอลตรัสว่า “ความชอบธรรมเชิดชูประชาชาติหนึ่ง ๆ แต่บาปเป็นเหตุให้ชนชาติหนึ่ง ๆ ถูกตำหนิ.” (สุภาษิต 14:34, ฉบับแปลใหม่) มีการแสดงให้เห็นหลักการข้อนี้อย่างชัดเจนสักเพียงไรในกรณีของชาติอิสราเอล! การยึดมั่นกับมาตรฐานอันสูงส่งของพระเจ้ายังผลให้ชาติอิสราเอลได้รับการยกชูเหนือชาติต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบ. อย่างไรก็ดี การกระทำที่แสดงความไม่เชื่อฟังครั้งแล้วครั้งเล่านำไปสู่ความอัปยศอดสูและพระยะโฮวาทรงปฏิเสธชาติอิสราเอลในที่สุด. หลักการนี้นำมาใช้ได้กับประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้. ประชาคมคริสเตียนต่างจากโลกเพราะยึดมั่นกับหลักการอันชอบธรรมของพระเจ้า. เพื่อจะรักษาฐานะที่สูงส่งนั้น เราแต่ละคนต้องดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์สะอาด. การทำบาปเป็นอาจิณรังแต่จะนำความอัปยศอดสูมาสู่ตัวเราอีกทั้งนำคำตำหนิมาสู่ประชาคมและพระเจ้าด้วย.
ซะโลโมกล่าวเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้กษัตริย์มีพระทัยยินดีว่า “ความโปรดปรานของกษัตริย์ย่อมมีแก่ข้าราชการผู้ประกอบกิจด้วยสติปัญญา; แต่พระพิโรธของพระองค์จะตกแก่เขาผู้เป็นเหตุให้เกิดความอับอายขายหน้า.” (สุภาษิต 14:35) และสุภาษิต 16:13 กล่าวว่า “กษัตริย์ทรงชื่นชมยินดีต่อริมฝีปากที่ชอบธรรม; และทรงรักเขาผู้นั้นที่พูดถูกต้อง.” ใช่แล้ว พระเยซูคริสต์ ผู้นำและพระมหากษัตริย์ของเราทรงพอพระทัยเมื่อเราปฏิบัติด้วยความชอบธรรมและความเข้าใจอีกทั้งใช้ริมฝีปากของเราในงานประกาศราชอาณาจักรและการทำให้คนเป็นสาวก. ดังนั้น ในทุกวิถีทาง ขอให้เราหมกมุ่นในงานนั้นขณะที่เราได้รับพระพรที่มาจากการเกรงกลัวพระเจ้าองค์เที่ยงแท้.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาสุภาษิต 14:1-25 โปรดดูหอสังเกตการณ์ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2004 หน้า 26-29, และวันที่ 15 กรกฎาคม 2005 หน้า 17-20.
[ภาพหน้า 15]
ความเกรงกลัวพระเจ้าเป็นเรื่องที่สอนได้