การสื่อความไม่ใช่แค่พูด
นึกภาพนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งกำลังชมทัศนียภาพที่งามวิจิตร. ถึงแม้ทั้งกลุ่มมองทิวทัศน์เดียวกันอยู่ก็ตาม แต่ละคนก็เห็นภาพต่างกัน. ทำไม? เพราะแต่ละคนมีมุมมองที่ต่างกัน. คนสองคนไม่อาจยืนอยู่ในตำแหน่งเดียวกันพอดี. นอกจากนี้ ไม่ใช่ทุกคนเพ่งเล็งในส่วนเดียวกันของทิวทัศน์. แต่ละคนพบแง่มุมที่ต่างกันซึ่งดึงดูดใจโดยเฉพาะ.
เป็นจริงเช่นเดียวกันในชีวิตสมรส. แม้แต่เมื่ออยู่ร่วมกันอย่างปรองดองทีเดียวก็ตาม ก็ไม่มีสามีภรรยาคู่ไหนที่มีทัศนะเหมือนกันพอดีในเรื่องต่าง ๆ. สามีและภรรยาต่างกันในปัจจัยต่าง ๆ เช่น โครงสร้างทางด้านความรู้สึก, ประสบการณ์ในวัยเด็ก, และอิทธิพลของครอบครัว. ทัศนะต่างกันที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นต้นเหตุของการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน. อัครสาวกเปาโลแถลงอย่างตรงไปตรงมาว่า “คนเหล่านั้นที่สมรสจะมีความเจ็บปวดและความระทมทุกข์.”—1 โกรินโธ 7:28, เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล.
การสื่อความนับรวมความพยายามที่จะปรับความแตกต่างเหล่านี้ให้เป็นความสัมพันธ์แบบเนื้อหนังอันเดียวกัน. สิ่งนี้เรียกร้องการจัดเวลาเพื่อสนทนากัน. (โปรดดูกรอบในหน้า 7.) แต่มีมากกว่านั้นที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย.
การแสดงความหยั่งเห็นเข้าใจ
สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลแถลงว่า “หัวใจของคนฉลาดสุขุมเป็นเหตุให้ปากของเขาแสดงออกซึ่งความหยั่งเห็นเข้าใจ และเพิ่มคำแนะนำชักชวนให้แก่ริมฝีปากของเขา.” (สุภาษิต 16:23, ล.ม.) คำภาษาฮีบรูในที่นี้ที่ได้รับการแปลว่า ‘เป็นเหตุให้แสดงออกซึ่งความหยั่งเห็นเข้าใจ’ หมายถึงคิดรอบคอบ, ชั่งดูเรื่องราวอย่างระมัดระวังในจิตใจ. เพราะฉะนั้น จุดรวมของการสื่อความที่มีประสิทธิภาพคือหัวใจ ไม่ใช่ปาก. ผู้สื่อความที่ดีต้องเป็นยิ่งกว่าคนช่างพูด เขาต้องเป็นผู้ฟังที่ร่วมความรู้สึก. (ยาโกโบ 1:19) เขาต้องสังเกตออกถึงความรู้สึกและปัญหาที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาของคู่สมรส.—สุภาษิต 20:5.
โดยวิธีใด? บางครั้งอาจสัมฤทธิ์ผลในเรื่องนี้ได้โดยการสังเกตดูสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ การขัดแย้ง. คู่ชีวิตของคุณอยู่ภายใต้ความตึงเครียดทางด้านความรู้สึกหรือด้านกายภาพขนาดหนักไหม? ความไม่สบายมีส่วนส่งเสริมอารมณ์คู่สมรสของคุณไหม? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “การได้ประสบถ้อยคำที่ถูกต้องในโอกาสที่เหมาะสมทีเดียวช่างเป็นความยินดีเสียนี่กระไร!” (สุภาษิต 15:23, ทูเดย์ส อิงลิช เวอร์ชัน) ดังนั้นการพิจารณาดูสภาพแวดล้อมจะช่วยคุณตอบสนองตามนั้น.—สุภาษิต 25:11.
แต่ทว่า บ่อยครั้งสาเหตุของการขัดแย้งมีต้นตออยู่ในเรื่องซึ่งอยู่ภายนอกสภาพแวดล้อมปัจจุบัน.
การเข้าใจอดีต
ประสบการณ์ในวัยเด็กมีส่วนมากมายในการนวดปั้นความคิดของเราในวัยผู้ใหญ่. เนื่องจากคู่สมรสมาจากครอบครัวที่ต่างกัน ความเห็นที่ขัดกันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น.
เหตุการณ์หนึ่งที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นเรื่องนี้. เมื่อหีบคำสัญญาไมตรีถูกนำกลับคืนสู่กรุงยะรูซาเลม ดาวิดได้แสดงความกระตือรือร้นของท่านอย่างเปิดเผย. แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับมีคัล มเหสีของท่าน? คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาว่า “มีคัล ราชธิดาของซาอูลทอดพระเนตรดูตามช่องพระแกลเห็นกษัตริย์ดาวิดเต้นโลดเฉพาะพระยะโฮวา, แล้วมีคัลก็มีพระทัยหมิ่นประมาท.”—2 ซามูเอล 6:14-16.
มีคัลได้แสดงอุปนิสัยที่ขาดความเชื่อของซาอูล ราชบิดาผู้ไม่ชอบธรรมของเธอ. คาร์ล เอฟ. ไคล์ และ เอฟ. เดลิทช์ ผู้ให้อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลชวนให้คิดว่านี้เป็นเหตุที่มีคัลถูกกล่าวพาดพิงถึงในข้อ 16 ว่าเป็น “ราชธิดาของซาอูล” แทนที่จะเป็นมเหสีของดาวิด. ถึงอย่างไรก็ดี การโต้เถียงที่ตามมาระหว่างทั้งสองทำให้ปรากฏชัดว่าดาวิดและมีคัลมิได้มีทัศนะเหมือนกันในเหตุการณ์ที่น่ายินดีนี้.—2 ซามูเอล 6:20-23.
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าผลกระทบที่ละเอียดอ่อนจากการเลี้ยงดูอาจเป็นสาเหตุให้สามีและภรรยามองดูเรื่องราวต่างกันทีเดียว. นี้เป็นความจริงแม้แต่ในกรณีที่ทั้งคู่ร่วมกันรับใช้พระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น ภรรยาผู้ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านความรู้สึกเพียงพอขณะเป็นเด็กอาจแสดงออกซึ่งความต้องการอย่างผิดปรกติในเรื่องการชมเชยและการทำให้มั่นใจ. เรื่องนี้อาจทำให้สามีของเธอฉงนสนเท่ห์. เขาอาจอุทานออกมาว่า “ผมได้บอกเธอว่าผมรักเธอนับร้อยครั้ง และนั่นก็ยัง ไม่พออยู่ดี!”
ในกรณีนี้ การสื่อความเกี่ยวข้องกับการ “เอาใจใส่ไม่เพียงแต่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น แต่เอาใจใส่ประโยชน์ของคนอื่น ๆ ด้วย.” (ฟิลิปปอย 2:4, ล.ม.) เพื่อจะสื่อความ สามีต้องมองภรรยาจากทัศนะของประสบการณ์ในอดีตของเธอ แทนที่จะมองดูจากทัศนะของตนเอง. และแน่นอน ภรรยาควรทำอย่างเดียวกันต่อสามีของเธอ.—1 โกรินโธ 10:24.
เมื่อในอดีตเคยถูกข่มขืน
ความสนใจเป็นส่วนตัวนับว่าสำคัญยิ่งโดยเฉพาะเมื่อคู่สมรสเคยถูกข่มขืนหรือถูกทารุณทางเพศขณะเป็นเด็ก—เป็นปัญหาที่เพิ่มทวีขึ้นอย่างน่าเศร้าในทุกวันนี้. ตัวอย่างเช่น ภรรยาอาจรู้สึกว่าในคราวที่มีความใกล้ชิดกันทางเพศนั้น เธอไม่สามารถแยกปัจจุบันออกจากอดีตได้ แยกคู่สมรสของเธอจากผู้ทำร้าย, หรือเพศสัมพันธ์จากการข่มขืน. เรื่องนี้อาจทำให้คับข้องใจก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสามีไม่คำนึงถึงเรื่องที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้จากทัศนะของภรรยา.—1 เปโตร 3:8.
ขณะที่คุณไม่สามารถขจัดอดีตหรือแก้ผลกระทบของอดีตนั้นได้อย่างสิ้นเชิง คุณอาจมีส่วนช่วยได้มากในการปลอบโยนคู่สมรสที่ระทมทุกข์. (สุภาษิต 20:5) โดยวิธีใด? เปโตรเขียนว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นสามี ควรพยายามเข้าใจภรรยาที่ท่านอยู่กินด้วย.” (1 เปโตร 3:7, ฟิลลิปส์) การเข้าใจอดีตของคู่ชีวิตเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการสื่อความ. ถ้าปราศจากความเมตตาสงสารแบบร่วมความรู้สึกแล้ว คำพูดของคุณก็จะไร้ประโยชน์.
พระเยซู “ทรงสงสาร” เมื่อพบคนเหล่านั้นที่เป็นโรค ถึงแม้พระองค์ไม่เคยประสบโรคภัยของพวกเขาด้วยตัวพระองค์เองก็ตาม. (มัดธาย 14:14, ฉบับแปลใหม่) ในทำนองเดียวกัน คุณอาจไม่ได้ประสบการถูกละเลยหรือถูกทำทารุณเช่นภรรยาของคุณได้รับ แต่แทนที่จะถือว่าความทุกข์ทรมานของเธอนั้นไม่สำคัญ จงยอมรับอดีตของเธอ แล้วให้การสนับสนุนเธอ. (สุภาษิต 18:13) เปาโลเขียนว่า “มาตรว่าเรา ซึ่งเป็นคนที่เข้มแข็ง ก็ควรจะอดใจทนต่อความอ่อนแอต่าง ๆ ของคนเหล่านั้นที่ไม่เข้มแข็ง และไม่ควรกระทำตามที่ชอบใจของตัวเอง.”—โรม 15:1, ล.ม.
ความแค้นเคืองเข้าครอบงำ
ชีวิตสมรสเป็นเหมือนภาชนะที่ล้ำค่า. เมื่อชีวิตสมรสถูกทำลายโดยการเล่นชู้ ความเสียหายสุดคณนาเกิดขึ้น. (สุภาษิต 6:32) จริงอยู่ หากฝ่ายที่ไม่มีความผิดตัดสินใจให้อภัย อาจทำให้ชิ้นส่วนติดกันแน่นได้โดยการคืนดีกัน. แต่ทว่ารอยร้าวยังคงมีอยู่ และระหว่างการโต้เถียงกัน อาจมีแนวโน้มที่จะมองดูรอยร้าวเหล่านั้นและใช้อดีตเป็นอาวุธ.
ความแค้นเคืองเป็นปฏิกิริยาปรกติต่อความไม่ซื่อสัตย์ของคู่สมรส. แต่หากคุณได้ให้อภัยคู่ของคุณแล้ว จงระวังการปล่อยให้ความขุ่นเคืองที่ค้างอยู่ทำลายผลดีที่คุณบรรลุถึงโดยการให้อภัย. ไม่ว่าความแค้นเคืองเดือดพล่านอยู่ภายในอย่างเงียบ ๆ หรือว่าถูกปล่อยออกมาอย่างไร้ความเมตตาหรือไม่ก็ตาม ความแค้นเคืองที่ไม่หยุดยั้งก่อความเสียหายต่อคู่สมรสทั้งสองฝ่าย. ทำไม? แพทย์คนหนึ่งชี้แนะว่า “หากคุณรู้สึกเจ็บปวดเนื่องจากคู่ชีวิตของคุณ นั่นเป็นเพราะคุณยังเป็นห่วงตัวเขาอยู่. ดังนั้น โดยการถอนตัวออกห่าง หรือโดยการหาทางแก้แค้น คุณไม่เพียงแต่ทำให้คู่ของคุณชอกช้ำเท่านั้น แต่ทำลายตัวคุณเองด้วย. คุณทำลายความสัมพันธ์ที่คุณประสงค์ให้เป็นหนึ่งเดียวนั้นมากขึ้นอีก.”
ถูกแล้ว คุณไม่สามารถไกล่เกลี่ยความผิดใจกันในชีวิตสมรสของคุณได้นอกเสียจากทำให้ความโกรธของคุณสงบลง. เพราะฉะนั้น ในตอนที่อารมณ์ไม่พลุ่งพล่าน จงแจกแจงความรู้สึกของคุณกับคู่สมรส. อธิบายสาเหตุที่คุณรู้สึกเจ็บปวด, สิ่งที่คุณต้องการเพื่อที่จะรู้สึกมั่นใจอีก, และสิ่งที่คุณจะทำเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้. อย่าใช้อดีตเพียงเพื่อเป็นอาวุธที่จะได้เปรียบในการโต้เถียง.
การติดสิ่งเสพย์ติดทำลายการสื่อความ
ชีวิตสมรสประสบความทุกข์อย่างรุนแรงเมื่อคู่สมรสใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพย์ติดในทางผิด. ฝ่ายที่ไม่ติดอาจอยู่ในสภาพคล้ายคลึงกับอะบีฆายิล ตามที่รายงานไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. ขณะที่นาบาลสามีของเธอ “มึนเมามาก” อะบีฆายิลพยายามบากบั่นสุดความสามารถที่จะพลิกผันผลลัพธ์จากการประพฤติตัวแบบไม่ฉลาดของเขา. (1 ซามูเอล 25:18-31, 36, ฉบับแปลใหม่) ชีวิตสมรสซึ่งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งอยู่ในสภาพปั่นป่วนเนื่องจากการติดสิ่งเสพย์ติด และอีกฝ่ายหนึ่งมุ่งความพยายามที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่ติดสิ่งเสพย์ติดนั้นบ่อยครั้งคล้ายกับครอบครัวของนาบาลกับอะบีฆายิล.a
เป็นที่เข้าใจได้ว่า จะรู้สึกโล่งอกเป็นอย่างยิ่งเมื่อคนที่ติดสิ่งเสพย์ติดนั้นหายเป็นปรกติ. แต่นี้เป็นเพียงการเริ่มต้น. ขอนึกภาพพายุเฮอริเคนที่ก่อให้เกิดความหายนะกับเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่ง. บ้านเรือนพังทลาย, ต้นไม้ถูกถอนรากถอนโคน, สายโทรศัพท์ตกมาอยู่ที่พื้นดิน. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อพายุผ่านพ้นไปแล้ว. แต่ตอนนี้จำเป็นต้องมีงานซ่อมแซมอย่างกว้างขวาง. เป็นจริงเช่นเดียวกันเมื่อคู่สมรสเริ่มหายเป็นปรกติ. สัมพันธภาพที่พังทลายจำต้องได้รับการสร้างขึ้นใหม่. ต้องสร้างความไว้วางใจและความซื่อสัตย์มั่นคงขึ้นอีก. ข่ายสายของการสื่อความจำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่. สำหรับคนที่ติดสิ่งเสพย์ติดที่กำลังแก้ไขปรับปรุงตัว การฟื้นฟูแบบค่อยเป็นค่อยไปนี้เป็นส่วนแห่ง “บุคลิกลักษณะใหม่” ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลเรียนร้องให้คริสเตียนปลูกฝัง. บุคลิกลักษณะใหม่นี้ต้องคลุมไปถึง “พลังที่กระตุ้นจิตใจของท่าน”.—เอเฟโซ 4:22-24, ล.ม.
การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทำให้เลโอนาร์ด และเอเลนสามารถเลิกการใช้ยาอย่างผิด ๆ ได้ แต่พลังที่กระตุ้นจิตใจเช่นนั้นไม่ได้มีบทบาทเต็มที่.b ไม่ช้าก็เริ่มติดยาอย่างอื่นอีก. เอเลนบอกว่า “เราพยายามนำหลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้เป็นเวลาถึง 20 ปีเพื่อจะมีชีวิตสมรสที่น่าพึงพอใจ แต่ก็ยังไกลเกินกว่าที่เราจะคว้าเอาไว้ได้. นิสัยติดยาของเรายังฝังลึก. ไม่ว่าเราศึกษาหรืออธิษฐานเท่าไรก็ยังเลิกนิสัยนี้ไม่ได้.”
เลโอนาร์ดกับเอเลนเสาะหาคำแนะนำเพื่อจะเข้าใจสาเหตุที่ทำให้พวกเขาติดยา. บทความที่เหมาะกับเวลาจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เกี่ยวกับการกระทำผิดต่อเด็ก, โรคพิษสุราเรื้อรัง, และการให้ความนับถือแก่สตรีเป็นเครื่องช่วยที่เหมาะเจาะพอดี.c (มัดธาย 24:45-47) “เราได้รับการช่วยเหลือให้แก้ไขความเสียหายแล้วคืนดีกัน.” เอเลนกล่าว.
การแก้ปัญหา
ริบะคารู้สึกกลัดกลุ้มสุดจะทนเกี่ยวกับภรรยาของเอซาวบุตรชายของเธอ. เพราะเกรงว่ายาโคบบุตรชายอีกคนหนึ่งของเธอจะติดตามแบบอย่างของเอซาว ริบะคาจึงระบายความคับข้องใจของเธอออกมาโดยพูดกับยิศฮาคสามีว่า “ฉันเบื่อหน่ายชีวิตของฉันเหลือเกิน เพราะหญิงฮิตไทต์. ถ้ายาโคบแต่งงานกับหญิงฮิตไทต์ หญิงดินแดนนี้ ชีวิตฉันจะเป็นประโยชน์อะไรแก่ฉันเล่า.”—เยเนซิศ 27:46, ฉบับแปลใหม่.
โปรดสังเกตว่าขณะที่ริบะคาพูดอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับความรู้สึกของเธอนั้น เธอไม่ได้โจมตีตัวยิศฮาคเอง. เธอไม่ได้พูดว่า “เป็นความผิดของคุณ!” หรือ “คุณน่าจะควบคุมสถานการณ์นี้ได้ดีกว่า!” แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ริบะคาใช้สรรพนาม “ฉัน” เพื่อพรรณนาว่าปัญหานั้นกระทบกระเทือนเธออย่างไร. การพูดเช่นนี้ทำให้ยิศฮาคเกิดความรู้สึกร่วม ไม่ได้เร้าความปรารถนาของท่านที่จะรักษาศักดิ์ศรี. โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกโจมตี ดูเหมือนว่ายิศฮาคตอบสนองต่อคำอ้อนวอนของริบะคาทันที.—เยเนซิศ 28:1, 2.
สามีและภรรยาอาจเรียนได้จากตัวอย่างของริบะคา. เมื่อเกิดความขัดแย้งกันขึ้นมา จงโจมตีปัญหาแทนที่จะโจมตีกันและกัน. เช่นเดียวกับริบะคา จงแสดงความคับข้องใจของคุณออกมาจากทัศนะที่ว่าเรื่องนั้นกระทบกระเทือนคุณอย่างไร. “ฉันคับข้องใจเพราะ . . . ” หรือ “ฉันรู้สึกว่าคนอื่นเข้าใจผิดเพราะ . . . ” นับว่าเกิดผลมากยิ่งกว่า “คุณทำให้ฉันคับข้องใจ!” หรือ “คุณไม่เคยเข้าใจฉันเลย!”
ยิ่งกว่าความยั่งยืน
ชีวิตสมรสของอาดามและฮาวามนุษย์คู่แรก ยั่งยืนอยู่เป็นเวลาหลายศตวรรษและบังเกิดครอบครัวที่มีบุตรชายและบุตรหญิง. (เยเนซิศ 5:3-5) แต่นี้มิได้หมายความว่าชีวิตสมรสของเขาทั้งสองคู่ควรแก่การเลียนแบบ. ในช่วงต้น ๆ น้ำใจเป็นเอกเทศและความไม่นับถือต่อกฎหมายอันชอบธรรมของพระผู้สร้างได้ก่อความเสียหายต่อความผูกพันที่เป็นเนื้อหนังอันเดียวกันของเขาทั้งสอง.
ในทำนองเดียวกัน ชีวิตสมรสในทุกวันนี้อาจยั่งยืนได้ ถึงกระนั้น ก็อาจขาดปัจจัยสำคัญยิ่งในการสื่อความ. การอ้างเหตุผลแบบก้าวร้าวอย่างแรงและลักษณะของบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสมอาจต้องถอนรากออกไป. (เทียบกับ 2 โกรินโธ 10:4, 5.) นี้เป็นขั้นตอนทางการศึกษาที่ดำเนินอย่างไม่หยุดยั้ง. แต่ความพยายามนับว่าคุ้มค่า. พระเจ้ายะโฮวาทรงสนพระทัยอย่างสุดซึ้งในการจัดเตรียมเกี่ยวกับการสมรส เนื่องจากพระองค์เป็นพระผู้สร้างการจัดเตรียมนั้น. (มาลาคี 2:14-16; เฮ็บราย 13:4) เพราะฉะนั้น หากเราทำส่วนของเรา เราก็มั่นใจได้ว่าพระองค์จะยอมรับความพยายามของเราและจัดเตรียมสติปัญญาและพลังที่จำเป็นให้เราเพื่อยุติความล้มเหลวใด ๆ ในการสื่อความในชีวิตสมรส.—เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 25:4, 5; 119:34.
[เชิงอรรถ]
a ความช่วยเหลือสำหรับครอบครัวที่มีคนติดสุรานั้นมีการพิจารณาใน ตื่นเถิด ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 1992 หน้า 3-7.
b ชื่อสมมุติ
c โปรดดูอะเวก ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม 1991, 8 กรกฎาคม 1992 และตื่นเถิด ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 1992.
[กรอบหน้า 6]
“ให้เวลากับขยะมากกว่า!”
มีการขอให้สามีภรรยาคู่หนึ่งที่ประสบความยุ่งยากในชีวิตสมรสคำนวณว่าเขาใช้เวลามากเท่าไรในการเอาขยะไปทิ้งนอกบ้านแต่ละสัปดาห์. คำตอบของเขาคือประมาณสัปดาห์ละ 35 นาที หรือวันละ 5 นาที. ครั้นแล้วก็มีการถามเขาว่า เขาใช้เวลามากเท่าไรในการสนทนากัน. สามีตกตะลึง. เขาเปิดเผยว่า “ให้เวลากับขยะมากกว่า!” ทั้งเสริมอีกว่า “เรากำลังหลอกตัวเองหากเราคิดว่าเวลาวันละห้านาทีนั้นเพียงพอที่จะรักษาชีวิตสมรสให้คงอยู่. และเวลาแค่นั้นไม่พอแน่ ๆ ที่จะทำให้ชีวิตสมรสงอกงาม.”
[กรอบหน้า 7]
จงตั้งกฎปฏิบัติ
▫ พิจารณาแต่ละครั้งเพียงเรื่องเดียว (1 โกรินโธ 14:33, 40)
▫ แสดงความรู้สึกออกมา ไม่พูดตำหนิ (เยเนซิศ 27:46)
ไม่ทุบตีกัน (เอเฟโซ 5:28, 29)
▫ ไม่ด่ากัน (สุภาษิต 26:20)
▫ มุ่งที่จะคืนดีกัน ไม่ใช่เอาชนะกัน (เยเนซิศ 13:8, 9)
[รูปภาพหน้า 4]
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น จงโจมตีปัญหาแทนที่จะโจมตีกันและกัน
[รูปภาพหน้า 8]
แสดงความรู้สึกออกมาอย่าพูดตำหนิ